Advance search

ชุมชนชาวอีสานที่ให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนา มีการปฏิบัติฮีตสิบสองคองสิบสี่อันเป็นขนบธรรมเนียมปฏิบัติในสิบสองเดือนตามแนวพุทธศาสนาภายในชุมชน

หมู่ที่ 1
บ้านศรีฐาน
ศรีฐาน
ภูกระดึง
เลย
ทต.ภูกระดึง โทร. 0-4287-1015
มะลิวัลย์ คำมานิตย์
30 ก.ค. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
ปวินนา เพ็ชรล้วน
1 ส.ค. 2024
บ้านศรีฐาน


ชุมชนชาวอีสานที่ให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนา มีการปฏิบัติฮีตสิบสองคองสิบสี่อันเป็นขนบธรรมเนียมปฏิบัติในสิบสองเดือนตามแนวพุทธศาสนาภายในชุมชน

บ้านศรีฐาน
หมู่ที่ 1
ศรีฐาน
ภูกระดึง
เลย
42180
16.88336184162557
101.86130201041466
เทศบาลตำบลภูกระดึง

ชุมชนบ้านศรีฐานตั้งอยู่ห่างจากเชิงเขาภูกระดึงมาทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร ไม่มีหลักฐานใดบ่งชัดว่าชุมชนนี้ตั้งเมื่อใดโดยใครแต่ก็มีการเล่าสืบต่อกันมา คือ คนลาวพวกหนึ่ง ลาว เป็นคําที่ใช้เรียกคนอีสานที่อพยพมาจากห้วยหัน ห้วยทราย มาสร้างบ้านแปลงเมืองอยู่ที่บ้านนาผีถอน ปัจจุบันคือบริเวณกึ่งกลางระหว่างบ้านนาแปนกับบ้านศรีฐาน ชาวบ้านอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขเรื่อยมา โดยมี ตาสี เขาแหลม เป็นผู้ปกครองชุมชนเขาแหลม ครั้นถึง พ.ศ. 2342 เกิดลางร้ายขึ้นในชุมชน คือ ใต้ถุนบ้านตาสีเกิดแผ่นดินแยกแตกเป็นร่องลึกทอดยาวสู่ลําห้วยทางทิศตะวันออก ชาวบ้านเกรงภัยที่ไม่เห็นตัวจึงได้อพยพไปอยู่ที่อื่น แต่บ้านนาผีถอนคงเป็นชุมชนที่หนาแน่นมากไม่สามารถอพยพไปรวมอยู่ที่เดียวกันได้หมด ยังคงมีชาวบ้านบางส่วนที่เหลืออยู่ที่เดิมและบางส่วนได้แยกย้ายออกไปเป็นกลุ่ม ๆ อยู่ตามบริเวณที่มีเครือญาติหรือที่ไร่นาของตน ซึ่งระยะทางก็ไม่ได้ห่างไกลจากชุมชนเดิมนัก โดยกลุ่มที่กระจายออกไปก็มากพอที่จะสร้างชุมชนใหม่ได้ถึง 6 ชุมชน คือ บ้านนาแปนตั้งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านนาผีถอน บ้านศรีฐานตั้งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านนาผีถอน มีแม่น้ำล้อมรอบ คือ ลําน้ำพองโก บ้านทุ่งใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ เลยบ้านศรีฐานออกไปประมาณ 4 กิโลเมตร บ้านนายาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก บ้านนาโก ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ บ้านนาน้อย ตั้งอยู่ทางเชิงภูเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผู้คนทั้ง 6 หมู่บ้านต่างมีความสนิทชิดเชื้อกันเนื่องจากมีความเชื่อว่าแต่ละหมู่บ้านเป็นญาติพี่น้องกัน และภายในหมู่บ้านจะมีนามสกุลใช้เป็นตระกูล ๆ อาทิ เช่น ประชาชนบ้านศรีฐาน ใช้นามสกุล "ถิ่นถาน" เป็นต้น

ชุมชนบ้านศรีฐานเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้กับภูเขาภูกระดึงจึงมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์มีทรัพยากรที่แวดล้อมชุมชนสามารถจําแนกได้ดังต่อไปนี้

แม่น้ำพองโก ซึ่งต้นน้ำเกิดจากเขาภูกระดึงไหลผ่านบ้านวังยาง บ้านอีเลศ บ้านนา แปนเหนือ บ้านนาแปนใต้ บ้านศรีฐาน และไหลผ่านบ้านทุ่งใหญ่ ตําบลภูกระดึงไปบรรจบกับแม่น้ำพอง ซึ่งมีต้นกําเหนิดจากภูกระดึงเช่นกัน แม่น้ำพองไหลผ่านบ้านพองหนีบ บ้านนาน้อย บ้านทานตะวัน บ้านนาโก บ้านน้ำพอง บ้านห้วยเดื่อ บ้านสงป่าเปลือย บ้านนายางใต้ ตําบลภูกระดึง ไปบรรจบลําน้ำพองโกที่บ้านทุ่งใหญ่ ตําบลภูกระดึง แล้วจึงไหลผ่านบ้านผานกเค้า บ้านศรีรักษา บ้านวังลาน บ้านห้วยหมาก ตําบลผานกเค้า สุดท้ายไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น

ภูเขาที่สําคัญคือ "ภูกระดึง" เป็นสถานที่ซึ่งมีธรรมชาติสวยงามน่าชมเป็นอย่างยิ่ง แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวจำนวนมาก บนยอดเขาภูกระดึงมีพื้นที่ราบประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร สูงจากพื้นดินประมาณ 1,045 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากบ้านศรีฐานประมาณ 2 กิโลเมตร 

ตําบลศรีฐานตั้งอยู่ทางหลวงจังหวัดแยกจากทางหลวงแผ่นดิน สาย 14 หมายเลข 201 เลย-ขอนแก่น ที่ กม. 74 หมายเลข 2019 ถึงเชิงเขาภูกระดึง มีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ เขตตําบลปวนพุ กิ่งอําเภอหนองหิน จังหวัดเลย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตตําบลวังสวาป อําเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น 
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตตําบลวังกวาง อําเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ 
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตตําบลภูกระดึง อําเภอภูกระดึง จังหวัดเลย

ชุมชนบ้านศรีฐานมีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองของภาคอีสานหรือคนไทยอีสาน มีภาคอื่นปนอยู่บ้างด้วยวิธีการแต่งงานกับคนในชุมชนบ้านศรีฐาน ภาษาที่ใช้พูดกันระหว่างชุมชนคือภาษาพื้นบ้านไทยอีสาน สำเนียงในภาษาที่พูดคล้ายคลึงกับหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งมีชื่อเรียกภาษาเฉพาะของตนเองว่า ภาษาไทเลย และเรียกภาษาของคนถิ่นอื่นว่า ภาษาไทใต้ เนื่องจากชาวจังหวัดเลยมีความเชื่อว่าพื้นดินของพวกตนอาศัยอยู่สูงกว่าคนถิ่นอื่น ๆ เมื่อดูลักษณะภูมิประเทศจากแผนที่ประเทศไทยแล้วจะเห็นได้ว่า จังหวัดเลย อยู่ตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือเป็นอีสานตอนบนตรงกับความเชื่อของคนในจังหวัดเลย

ชุมชนบ้านศรีฐาน มีประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำไร่ ทำนา ทำสวนกล้วย สวนมะขาม นอกจากนั้นยังมีอาชีพค้าขายรับจ้างทั่วไป ชาวชุมชนศรีฐานจะประกอบอาชีพเสริมทุกครัวเรือนเนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว ชาวชุมชนจึงทำอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น ทำของที่ระลึก ให้บริการเช่าที่พัก ค้าขาย และเป็นลูกหาบ เป็นอาชีพเสริมจากอาชีพหลัก คือ การทำนา ทำไร่ ทำสวน การทําการเกษตรของชาวชุมชนบ้านศรีฐานมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิต เช่น ใช้รถไถ เครื่องสูบน้ำ เครื่องสีข้าว เครื่องนวดข้าวเปลือก ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในการฆ่าแมลง

นอกจากนั้นยังมีการแลกเปลี่ยนแรงงานกันหรือที่ภาษาพื้นบ้านเมืองเลยเรียกว่า การเอาแฮง ส่วนอาชีพเสริมที่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น การผลิตดอกไม้ การทอผ้าไหมพรหม อาทิ หมวกไหมพรหม ผ้าพันคอไหมพรหม การทำผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ อาทิ กรอบรูป แก้วกาแฟ เหยือกใส่กาแฟ กระปุกออกสิน การทำของที่ระลึก อาทิ พวงกุญแจ ดินสอ ที่เสียบปากกา การผลิตสินค้าแปรรูป อาทิ การทำข้าวเกรียบจากฟักทอง การคั่วถั่วลิสง การทำขนมทองม้วน การผลิตสินค้าต่าง ๆ เพื่อขายในลักษณะของอุตสาหกรรมแบบครัวเรือนนี้ชาวชุมชนศรีฐานจะทำเป็นกลุ่มสนใจโดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ เช่น องค์การบริหารส่วนตําบลศรีฐาน หน่วยงานเจ้าหน้าที่ของทางอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เกษตรอําเภอ พัฒนาชุมชน สหกรณ์การเกษตร

ชุมชนบ้านศรีฐาน ประชากรนับถือศาสนาพุทธ ภายในชุมชนจะมีวัดอยู่ 2 วัด คือ วัดศรีทัศน์บ้านศรีฐานเป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งมานานคู่กับชุมชนบ้านศรีฐานตั้งอยู่ระหว่างชุมชนบ้านศรีฐานเก่ากับชุมชนบ้านศรีฐานใหม่ในปัจจุบันและอยู่ระหว่างบ้านนาแปนกับชุมชนบ้านศรีฐาน ส่วนอีกแห่งหนึ่งคือวัดป่าธรรมวิเวก เป็นวัดที่ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2535 ตั้งอยู่ทางไปอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จุดประสงค์ของการตั้งวัดนั้นส่วนมากเพื่อการทำบุญตามความเชื่อในพุทธศาสนา ซึ่งสิ่งที่ชาวบ้านยึดถือในการปฏิบัติก็คือ ฮีตสิบสองคองสิบสี่ อันเป็นขนบธรรมเนียมปฏิบัติในสิบสองเดือนตามแนวพุทธศาสนาและความเชื่อท้องถิ่นประเพณีต่าง ๆ ที่ชาวบ้านยึดถือปฏิบัติ ได้แก่

เดือนอ้าย ประเพณีพระสงฆ์เข้าปริวาสกรรม

เดือนยี่ ประเพณีบุญคูณลาน ทำพิธีสู่ขวัญข้าวเพื่อเป็นสิริมงคลชาวบ้านจะประกอบพิธีหลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้วถวายพระสงฆ์

เดือนสาม ประเพณีบุญข้าวจี่ เมื่อชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จชาวบ้านจะทำบุญข้าวจี่

เดือนสี่ ประเพณีบุญมหาชาติหรือบุญพระเวส หรือบุญกองข้าวใหญ่ ชาวบ้านเชื่อว่าการทำบุญมหาชาติจะทำให้ตนเองได้พบกับพระศรีอาริย์ในชาติหน้าและถ้าฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียวจะได้บุญกุศลมาก

เดือนห้า ประเพณีบุญสงกรานต์ ชาวบ้านจะมีความสนุกสนานร่าเริงในประเพณีนี้มีการรดน้ำขอพรคนเฒ่าคนแก่ ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด สรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์และ ขนทรายเข้าวัด และประเพณีที่สําคัญในเดือนห้าอีกอย่างหนึ่งก็คือ การสรงน้ำพระพุทธเมตตาบนภูกระดึง ซึ่งก่อนจะขึ้นไปสรงน้ำจะต้องทำพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อหรือบางครั้งเรียกว่าการเลี้ยงผีปู่

เดือนหก ประเพณีบุญบั้งไฟในหมู่บ้านศรีฐานนั้น การทำบุญบั้งไฟมีจุดประสงค์เพื่อบูชาแถนผู้มีบุญมีอํานาจ ชาวชุมชนบ้านศรีฐานมีความเชื่อว่า แถนผู้มีบุญเป็นเทวดาอยู่บนฟ้าจะช่วยดลบันดาลฝนฟ้าให้ตกลงมาตามฤดูกาล จึงมีการจัดพิธีบูชาด้วยปั่นไฟและมีการละเล่น การรําเซิ้งที่สนุกสนานมีการจำลองอวัยวะเพศของผู้ชายมาประกอบในการละเล่นด้วย เชื่อว่าอวัยวะเพศของชายจะนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่หมู่บ้านของตนเอง ปัจจุบันนี้ประเพณีบุญบั้งไฟมักมุ่งเน้นไปในเรื่องของการแข่งขันการพนันมากว่า

เดือนเจ็ด ประเพณีบุญเบิกฟ้าเลี้ยงมเหศักดิ์หลักบ้าน และเลี้ยงผีปู่ตาเป็นการขอบคุณต่อผีปู่ที่ให้ความคุ้มครองปกป้องหมู่บ้านให้ความร่มเย็นเป็นสุขมาตลอดทั้งปี

เดือนแปด ประเพณีบุญเข้าพรรษาชาวบ้านจะทำบุญโดยการนำเทียนพรรษาผ้าอาบน้ำฝน และเครื่องอัฐบริขารที่จำเป็นไปถวายแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดศรีทัศน์และวัดป่าธรรมวิเวก เพื่อได้ใช้ในช่วงจำพรรษานอกจากนี้ชาวบ้านยังนําต้นเทียนไปทอดถวายที่วัดหมู่บ้านอื่น ๆ พร้อมกับมีการแข่งขันต้นเทียนกันด้วยในบางปี

เดือนเก้า ประเพณีบุญข้าวประดับดินชาวบ้านจะทำบุญเพื่ออุทิศกุศลต่อผีเปรตที่ไร้ญาติ และอุทิศส่วนกุศล โดยเฉพาะข้าวปลาอาหารแด่ญาติผู้ล่วงลับไป โดยมีข้าวดําข้าวแดงใส่ลง ไปในกระทง นำไปวางไว้ที่เชื่อว่าจะมีพวกเปรตพลีอาศัยมีการร้องเรียกให้มากินข้าวปลาอาหารด้วย

เดือนสิบ ประเพณีบุญข้าวสาก ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวบ้านมุ่งที่จะให้พวกผีต่าง ๆ ทั้งผีไร่ผีนา ผีที่อยู่ตามวัดวาอาราม เมื่อเสร็จพิธีทางสงฆ์ชาวบ้านจะนำข้าวสากวางตามต้นไม้มีทั้งที่อยู่สูง-ต่ำ ตามความเหมาะสม แล้วจะตีเกราะเคาะไม้ให้ผีมากินชาวบ้านส่วนหนึ่งจะยื้อแย่งข้าวสากเพื่อนำไปไว้ตามสวนตามนาของตน เชื่อว่าจะทำให้พืชพันธุ์มีความอุดมสมบูรณ์

เดือนสิบเอ็ด ประเพณีบุญออกพรรษาตามปกติชาวบ้านจะทำบุญที่วัด ในตอนกลางคืน จุดประทีปโคมไฟและเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ

เดือนสิบสอง ประเพณีบุญกฐิน หลังจากที่ชาวบ้านเสร็จจากการทำงานนางานไร่ สามารถขายผลผลิตส่วนแบ่งส่วนหนึ่งจะนำมาทำบุญกฐิน เชื่อว่าได้บุญผลานิสงส์มาก เริ่มทำบุญตั้งแต่แรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด ถึงสิบห้าค่ำเดือนสิบสองเป็นการทำบุญแด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษาแล้ว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาที่ใช้พูดกันระหว่างชุมชนคือ ภาษาพื้นบ้านไทยอีสาน สําเนียงในภาษาที่พูดคล้ายคลึงกับหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งมีชื่อเรียกภาษาเฉพาะของตนเองว่า ภาษาไทเลย และเรียกภาษาของคนถิ่นอื่นว่า ภาษาไทใต้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กษมา ประจง. (2546). ผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อชุมชน กรณีศึกษาชุมชนบ้านศรีฐาน ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษาเพื่อการพัฒนา สํานักงานบัณฑิตศึกษาสถาบันราชภัฏเลย.

ไทยพีบีเอส. (2564, มิถุนายน 14). ซีรีส์วิถีคน วิถีลูกหาบ หัวใจแห่งภูกระดึง บ้านศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย [วิดีโอ]. https://www.thaipbs.or.th/

ทต.ภูกระดึง โทร. 0-4287-1015