ชุมชนที่มีการย้ายถิ่นฐานถึง 3 ครั้งจากปัญหาโรคภัยร้ายแรงก่อนที่จะลงหลักปักฐานในพื้นที่ปัจจุบันภายหลังจากการพบพระพุทธรูปไม้ที่ลอยมาติดในพื้นที่ปัจจุบัน
บ้านลาดค่างนั้นเดิมที่ชาวบ้านยังเรียกว่า "ลาดข่าง" ซึ่งมีความหมายว่าลานหินขนาดใหญ่ที่ใช้สําหรับตากครั่ง แต่อีกนัยหนึ่งได้มีผู้สันนิษฐานว่าเนื่องจากป่าบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์อยู่มากจึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมายหนึ่งในจํานวนนั้นได้แก่ ค่าง สัตว์ตระกูลเดียวกับลิงที่ชอบมาเล่นกันบริเวณลาดหินดังกล่าว เมื่อมีผู้ไปพบเห็นจึงได้นํามาเรียกขานจนกลายเป็นชื่อหมู่บ้านไปในที่สุด และในปี พ.ศ. 2522 ซึ่งมีนายทองดํา บานชื่น ดํารงตําแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้มีนโยบายออกสํารวจชื่อหมู่บ้านในจังหวัดเลยทั้งหมดและได้ทําการแก้ไขชื่อหมู่บ้านต่าง ๆ ให้สามารถออกเสียงและเขียนได้ง่ายขึ้น "บ้านลาดข่าง" จึงเปลี่ยนมาเป็น "บ้านลาดค่าง" จนถึงทุกวันนี้
ชุมชนที่มีการย้ายถิ่นฐานถึง 3 ครั้งจากปัญหาโรคภัยร้ายแรงก่อนที่จะลงหลักปักฐานในพื้นที่ปัจจุบันภายหลังจากการพบพระพุทธรูปไม้ที่ลอยมาติดในพื้นที่ปัจจุบัน
บ้านลาดค่างเป็นชุมชนขนาดเล็กซึ่งเป็นหนึ่งในหกชุมชนของตำบลลาดค่าง อําเภอเรือ จังหวัดเลย ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ในอดีตบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านแห่งนี้รวมทั้งเขตอําเภอภูเรือ อําเภอท่าลี่ อําเภอด่านซ้าย และอําเภอนาแห้ว ยังมีสภาพเป็นป่าทึบที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เรื่อยไปจนจรดแม่ฝั่งน้ำเหือง ครั้งนั้นชุมชนบ้านเรือนในแถบนี้ยังไม่ปรากฏ แต่มีผู้คนได้เข้ามาบุกเบิกทําการเพาะปลูกบ้างแต่ไม่มากนัก คนกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนในบริเวณนี้เล่ากันว่าเป็นชาวแขวงไชยบุรี ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเข้ามาจํานวน 3 คน คนแรกชื่อว่า ท้าวบุตรดี คนที่สองชื่อนางบับหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "เอ้ยบับ" (เอ้ย เป็นภาษาลาว แปลว่าพี่สาว) ซึ่งเป็นภรรยาของท้าวบุตรดี และคนที่สามชื่อว่า ท้าวหนุ่ม เป็นน้องชายของนางบับ ทั้งสามได้เข้ามาทําไร่ข้าวและเก็บของป่า โดยได้ปลูกกระท่อมไว้เป็นที่พักชั่วคราวพอจะกลับบ้านก็จะเก็บของป่าจำพวกเห็ด หน่อไม้ ผัก หวาย น้ำผึ้ง และครั่งไปขาย โดยเฉพาะครั่งที่ขายได้ราคาสูง (สําเนียงภาษาลาวออกเสียงว่า "ข่าง") ซึ่งมีมากในป่าบริเวณนี้ ครั่งที่เก็บได้จะต้องนำไปตากแดดให้แห้งสนิทเสียก่อน พื้นที่ที่เหมาะต่อการตากครั้งที่สุดคือบริเวณลาดหินแห่งหนึ่งริมลําน้ำสานซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านในปัจจุบันจึงได้เรียกว่าลาดตากครั่ง ต่อมาผู้คนที่ทราบข่าวได้เข้ามาจับจองที่ดินและบุกเบิกป่าเพื่อทําการเพาะปลูกกันมากขึ้น เนื่องจากระยะทางระหว่างบ้านกับไร่ห่างไกลกันมากจึงไม่สามารถเดินทางไปกลับได้ทุกวันอีกเหตุผลหนึ่งคืออันตรายจากสัตว์ป่าจึงจําเป็นต้องนอนค้างแรมกันเป็นเวลาร่วมเดือนหรือจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสิ้นเสียก่อนจึงจะพากันกลับบ้าน
ในขณะที่บางคนถึงกับปลูกบ้านอยู่อย่างถาวรจนกลายเป็นชุมชนเล็ก ๆ เดิมที่ชุมชน แห่งแรกที่ตั้งขึ้นอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือห่างจากหมู่บ้านในปัจจุบันประมาณ 3 กิโลเมตรโดยตั้งชื่อว่าบ้านคอนตีนเหล่า แต่อยู่มาไม่นานก็มีเหตุร้ายที่สร้างความหวาดหวั่นให้กับชาวบ้านเกิดขึ้น โดยไม่ทราบสาเหตุเพราะมีคนจมน้ำตายหลายคนติดต่อกันแต่ที่เป็นปริศนาก็คือผู้ตายจะจมน้ำในที่เดียวกันบริเวณวังน้ำลึกท้ายหมู่บ้านและพองมศพขึ้นมาได้จะมีปูหนีบชายผ้าขึ้นมาด้วยทุกราย หลังจากนั้นอีกไม่นานก็เกิดโรคห่าระบาดอย่างหนักทําให้มีผู้เสียชีวิตจํานวนมาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชาวบ้านต่างสรุปเป็นเสียงเดียวกันว่าที่วังน้ำแห่งนั้นเป็นที่อยู่ของเงือกหรือผีน้ำ และหมู่บ้านแห่งนั้นตั้งทับเส้นทางผีผ่านจึงตกลงที่จะย้ายชุมชนขึ้นมาอยู่ที่แห่งใหม่ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านในปัจจุบันโดยตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งที่สองนี้ว่า บ้านทุ่งหรือบ้านหนองหญ้าไซ และต่อมาได้มีชาวบ้านจากชุมชนอื่นได้เข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มเติม ชาวบ้านที่มาอยู่ใหม่นี้ มาจากเมืองด่านซ้ายและเมืองปากเรื่อง(ท่าลี่) จนเป็นชุมชนที่ ใหญ่กว่าบ้านคอนตีนเหล่า
ต่อมามีชีปะขาวรูปหนึ่งได้ธุดงค์มาปักกลดอยู่ใกล้กับหมู่บ้านมีนามว่าครูบาอาชญาธรรม เป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านมากเนื่องจากชีปะขาวท่านนี้นอกจากจะมีคาถาอาคมแก่กล้าแล้วยังมีเป็นหมอยาสมุนไพรที่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ อย่างได้ผล โดยเฉพาะการรักษาแผลสดนั้นเป็นที่เล่าลือกันว่าผู้ที่ได้รับการรักษาโดยน้ำมันปลุกเสกของท่านแล้วไม่ว่าแผลนั้นจะกว้างและลึกเพียงใด ก็จะแห้งและตกสะเก็ดภายในสามวัน จึงนับได้ว่าชีปะขาวท่านนี้เป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านทุ่งในเวลานั้น หมู่บ้านทุ่งตั้งเป็นชุมชนอยู่ ได้ประมาณ 15 ปี ชีปะขาวท่านนั้นก็เสียชีวิตลงชาวบ้านจึงได้ช่วยกันประกอบพิธีศพโดยการเผาและได้สร้างธาตุครอบกองเถ้ากระดูกของท่านไว้ที่ทุ่งแห่งหนึ่งทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ทุ่ง แห่งนั้นจึงถูกเรียกชื่อว่าทุ่งธาตุมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากที่ท่านชีปะขาวเสียชีวิตชาวบ้านก็ต้องผจญกับภัยร้ายอีกครั้งเนื่องจากเกิดไข้มาลาเรียระบาดและชาวบ้านเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากสมัยนั้นชาวบ้านยังไม่รู้จักลักษณะอาการของไข้มาลาเลียจึงเชื่อกันว่าเป็นอาการของคนที่ถูกผีเข้าความหวาดกลัวทําให้ชาวบ้านกระจัดกระจายแยกกันไปคนละทิศทาง กลุ่มหนึ่งได้ไปตั้งหมู่บ้านใหม่คือหมู่บ้านบง ในเขตตำบลน้ำทูน อําเภอท่าลี่ในปัจจุบัน อีกกลุ่มหนึ่งได้แยกไปทางอําเภอด่านซ้าย ส่วนกลุ่มที่เหลือยังไม่ยอมไปไหนเพราะความเป็นห่วงเรือกสวนไร่นาที่กําลังจะให้ผลผลิตจึงได้มองหาทําเลใหม่ที่จะตั้งหมู่บ้าน ซึ่งไม่ไกลจากไร่นาของพวกเขามากนัก ระหว่างนั้นมีชาวบ้านได้ไปตากครั่งที่ท่าลาดเห็นพระพุทธรูปไม้ลอยมาติดแก่งหินอยู่ จึงนําไปให้เพื่อนบ้านดูชาวบ้านเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มาชี้จุดที่จะสร้างหมู่บ้านแห่งใหม่ การโยกย้ายครั้งที่สามจึงเกิดขึ้น โดยชาวบ้านทั้งหมดได้พร้อมใจกันปลูกบ้านเรือนขึ้นบริเวณเนินเขาใกล้กับท่าครั่งที่พบพระพุทธรูปไม้ และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านลาดข่าง ตามสําเนียงภาษาถิ่นและได้ยกเอาขุนศรีอักษรซึ่งสืบเชื้อสายมาจากท้าวบุตรดี และนางบับ ขึ้นเป็นผู้น้ำหมู่บ้านคนแรก
ในเวลาต่อมาชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นหนึ่งแห่งภายในหมู่บ้านและให้ชื่อว่า วัดโพนงาม จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปไม้องค์ดังกล่าวไปประดิษฐานอยู่ที่วัดแห่งนั้น ภายหลังได้มีการย้ายวัดอีกครั้งเนื่องจากสถานที่เดิมคับแคบ จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2520 พระพุทธรูปนั้นได้หายไปชาวบ้านได้พยายามสืบหาติดตามเป็นเวลาถึงสองปีจึงทราบว่ามีพระสงฆ์รูปหนึ่งที่เคยมาจําพรรษาที่วัดเป็นผู้นำไปชาวบ้านจึงได้ไปขอร้องให้นำกลับไปไว้ที่เดิม แต่เนื่องจากความกลัวว่าจะเกิดการสูญหายไปอีกชาวบ้านจึงได้นำไปซ่อนไว้ยังสถานที่ที่เป็นความลับที่ทราบกันเฉพาะในกลุ่มชาวบ้านเท่านั้นและจะนำออกมาสรงน้ำในวันสงกรานต์ทุกปี นับตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ปรากฏเหตุการณ์ร้ายแรงใด ๆ เกิดกับชุมชนแห่งนี้อีก ชาวบ้านสามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างปกติสุขสืบมา
บ้านลาดค่างเป็นชุมชนขนาดเล็ก ที่ตั้งอยู่บนไหล่เขาในระดับความสูง 80 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่มีความลาดชันไปทางทิศตะวันตกจรดลําน้ำสาน ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 64 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,000 ไร่เศษ มีอาณาเขตติดต่อดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยติ้ว และตําบลน้ำทูล อําเภอท่าลี่ จังหวัดเลย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโคกหางวัง และอุทยานแห่งชาติภูเรือ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านไฮตาก และอุทยานแห่งชาติภูเรือ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตําบลปากหมัน อําเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
ส่วนมากชาวบ้านลาดค่างจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ในปัจจุบันจำนวนประชากรชุมชนบ้านค่างมีทั้งหมด 116 ครัวเรือน จำนวนประชาผู้หญิง 202 คน 240 คน รวมทั้งสิ้น 442 คน ประชากรในชุมชนบ้านลาดค่างนับถือศาสนาพุทธ นิกายหินยาน
วัดโพนงาม
เป็นวัดประจำชุมชนได้ขึ้นทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2507 แต่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับหมู่บ้าน วัดโพนงามเป็นศูนย์รวมใจของคนทั้งหมู่บ้าน ดังนั้นในวันพระและวันสําคัญทางศาสนาชาวบ้านลาดค่างจะหยุดจากการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นกิจวัตรประจําวันเพื่อเข้าวัดฟังธรรมและร่วมกันพัฒนาวัด ซึ่งเป็นโอกาสที่ชาวบ้านจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นและเรื่องราวต่าง ๆ อันจะนํามาซึ่งความสามัคคีและการแก้ปัญหาของชุมชนร่วมกัน กิจกรรมที่นิยมปฏิบัติในวันพระก็คือการทําบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ดายหญ้า และปัดกวาดลานวัด เป็นต้น
โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำสาน
ผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานน้ำจากฝายน้ำล้น
การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ล่องแก่งลำน้ำสาน
ลำน้ำสานมีเกาะแก่งหินน้อยใหญ่มากกว่า 40 แก่ง ระยะทางล่องแก่งกว่า 13 กิโลเมตร มีความตื่นเต้นท้าทาย ตลอดสายน้ำตั้งแต่ระดับ 2-5 โดยแบ่งกิจกรรมการล่องแก่ง ออกเป็น 3 ช่วง ซึ่งเส้นทางที่ผ่านบริเวณบ้านลาดค่างจะอยู่ในช่วงที่ 3 กิจกรรมล่องแก่งในแต่ละปีจะเริ่มต้นประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคมที่นักท่องเที่ยวจะมาสัมผัสได้
ช่วงที่ 1 เริ่มต้นจากแก่งเกลี้ยงด้านหลังองค์การบริหารส่วนตำบลลาดค่างถึงแก่งโสกบ้านแก่งเกลี้ยง ระยะทาง 1.6 กิโลเมตรใช้เวลาล่องแก่ง 25-30 นาที มีทิวทัศน์สองฝากฝั่งที่สวยงามความยากง่ายอยู่ที่ระดับ 2-3 มีแก่งน้อยใหญ่จำนวน 6 แก่ง ระยะทางจุดนี้จะอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอภูเรือ 9 กิโลเมตร
ช่วงที่ 2 เริ่มต้นความท้าทายจากแก่งลาดนกขี้ถี่บ้านโคกหางวังถึงหน้าฝายโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กบ้านห้วยผักเน่า ระยะทาง 4.4 กิโลเมตร ใช้เวลาในการล่องแก่ง 30-40 นาทีตลอดเส้นทางล่องแก่งจุดนี้มีธรรมชาติที่สวยงามเป็นโขดหินน้อยใหญ่กว่า 10 แก่ง บางแก่งมีความคดเคี้ยวน้ำไหลเชี่ยวแรงความยากง่ายอยู่ที่ระดับ 3-5 ระยะทางจุดนี้จะอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอภูเรือ 13 กิโลเมตร
ช่วงที่ 3 เริ่มจากแก่งคอนบ่าหน้าโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำสานบ้านลาดค่างถึงวังสามพันสุดเขตแดนไทยระยะทาง 7 กิโลเมตร ใช้เวลาล่องแก่ง 2 ชั่วโมง เส้นทางล่องแก่งในช่วงนี้ผู้ล่องแก่งจะเพลิดเพลินไปกับธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ตามแนวเขาและเกาะแก่งน้อยใหญ่น้ำไหลเรื่อยบางแห่งเชี่ยวแรงตื่นเต้นท้าทายที่รอให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสมากมายกว่า 26 แก่ง จุดลงห่างจากอำเภอภูเรือ 19 กิโลเมตร
ศักดิ์ชาย คูณเมือง. (2546). วิถีชุมชนพื้นที่สูง : กรณีศึกษาชุมชนบ้านลาดค่าง ตำบลลาดค่าง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษาเพื่อการพัฒนา สํานักงานบัณฑิตศึกษาสถาบันราชภัฏเลย.
องค์การบริหารส่วนตำบลลาดค่าง. (ม.ป.ป.). ล่องแก่งลำน้ำสาน. https://ladkang.go.th/