มวยนึ่งข้าว ถือเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนทุ่งแต้ เป็นภูมิปัญญาที่คนในชุมชนทุ่งแต้ได้รับการเรียนรู้และต่อยอดจนผลักดันให้มวยนึ่งข้าวเป็นสินค้าประจำชุมชน
มวยนึ่งข้าว ถือเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนทุ่งแต้ เป็นภูมิปัญญาที่คนในชุมชนทุ่งแต้ได้รับการเรียนรู้และต่อยอดจนผลักดันให้มวยนึ่งข้าวเป็นสินค้าประจำชุมชน
มีความเชื่อเรื่องการตั้งถิ่นฐานของบ้านทุ่งแต้ว่า ครั้งเมื่อสมัยพระวอพระตาให้ลูกหลานได้แก่ท้าวคำสิงห์ เจ้าคำใส เจ้าคำขุย และเจ้าก่ำ อพยพจากนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลําภูในปัจจุบัน) เพื่อสร้างเมืองใหม่ตามลุ่มน้ำชี เจ้าคำสู ปกครองบ้านสิงห์ท่า (ยโสธรในปัจจุบัน) เจ้าคำขุย สร้างและปกครองบ้านสิงห์หินหรือ สิงห์โคก (ตําบลสิงห์ในปัจจุบัน) เจ้าคำสิงห์ สร้างบ้านเมืองใหม่และปกครองอําเภอป่าติ้วใน ซึ่งอยู่ในเขตอําเภอป่าติ้วเช่นกัน ก่อนที่เจ้าทั้ง 4 ท่าน จะปกครองบ้านเมืองของตนก็ได้นําไพร่พลไปสร้างเมืองใหม่คือ บ้านขั้นไดใหญ่และหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าบ้านโพนเขวาเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งในสมัยนั้น ระหว่าง พ.ศ. 2310-2318 ชาวบ้านอยู่กัน อย่างสงบสุขเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดเหตุอาเพศมีศพตกจากโลงไปที่นอนที่พื้นดินขณะที่ชาวบ้านกําลังหามไปที่ป่าช้า ชาวบ้านตื่นตระหนกและเชื่อกันว่าเป็นลางร้ายที่จำทำให้เกิดภัยพิบัติให้ชาวบ้านล้มตายกันทั้งหมู่บ้านจึงพากันอพยพไปหาที่แหล่งใหม่ โดยบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือระยะทาง ประมาณ 20 กิโลเมตรเศษก็พบหนองน้ำที่มีดอกบัวขึ้นอยู่และได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณรอบ ๆ หนองบัวนั้น ตั้งอยู่ได้ไม่นานเพราะการทำไร่ ทำนา ไม่ได้ผลทำให้เกิดความอดยากจึงพากันคิดหาทำเลใหม่ การหาทําเลใหม่ครั้งนั้นก็มุ่งไปสู่ทิศใต้ระยะทางไปไกลนัก โดยมีพ่อใหญ่ลือ คำหาญ เป็นหัวหน้า ก็พบหนองน้ำและมีป่า "มะค่าแต้" อยู่ทางทิศตะวันออก (คือหนองคำและดอนปู่ตาในปัจจุบัน) ทางทิศเหนือเป็นป่าบริเวณกว้างใหญ่ มีหนองน้ำบริเวณหลายแห่ง ตอนหลังหนองน้ำมีชื่อว่า "หนอง" "หนองต้อน" และ "หนองจั่น" ต้นทิศตะวันออกก็มี "หนองไผ่" และ "หนองหวาย" ชาวบ้านเห็นว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ จึงตัดสินใจตั้งเป็นบ้านใหม่
ตําบลทุ่งแต้ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอําเภอเมืองยโสธร ห่างประมาณ 12 กิโลเมตร ถนนหลวงจังหวัด หมายเลข 2169 ถนนวารีราชเดช มีขนาดเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตที่ติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ 7 บ้านคำน้ำเกลี้ยง ตำบลทุ่งแต้
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลหนองเรือ
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลนาสะไมย์
- ทิศตะวันตก ติดกับหมู่ 5 และหมู่ 10 บ้านคำเม็ก ตำบลทุ่งแต้
ในปัจจุบันการทำมวยนึ่งข้าวถือเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนบ้านทุ่งแต้เป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่สร้างรายได้สร้างชื่อเสียงให้ชาวทุ่งแต้และจังหวัดยโสธรเป็นอย่างมาก มีการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้มีการพัฒนารูปแบบมวยนึ่งข้าวให้เหมาะสมกับการใช้งานได้หลากหลายประเภท อาทิ โคมไฟ กระถางดอกไม้ แจกัน ที่เก็บของ ชุดชงกาแฟ ของชำร่วย ซึ่งรูปแบบหรือลวดลายสามารถออกแบบ ตามความต้องการหรือความเหมาะสมของการใช้งานของลูกค้าได้
มวยนึ่งข้าว
ชาวบ้านทุ่งแต้ ตำบลทุ่งแต้ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ส่วนใหญ่นิยมรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหาร กระบวนการที่ทำข้าวเหนียวให้สุกนั้นจะใช้วิธีการนึ่ง โดยชาวบ้านทุ่งแต้จะใช้มวยในการนึ่งข้าว เดิมจะใช้หวดซึ่งทำมาจากไม้ไผ่เหมือนกันแต่หวดเป็นภาชนะที่มีความแข็งแรงทนทานน้อย ดังนั้นชาวบ้านจึงหันมาใช้มวยในการนึ่งข้าวที่มีความแข็งแรงทนทาน การทำมวยนึ่งข้าวที่บ้านทุ่งแต้เป็นอาชีพที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นและทำเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านแทบทุกครัวเรือน ประวัติความเป็นมาของการทำมวยนึ่งข้าวไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นคนแรกที่ทำขึ้น มีเพียงแต่คำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่าประมาณปี พ.ศ. 2490-2500 ผู้ที่นำมวยนึ่งข้าวมาเผยแพร่ให้ชาวบ้านทุ่งแต้นั้น คือ นายสวัสดิ์ วันทาดี ซึ่งเป็นคนบ้านนาดีน้อย ตำบลนาสะไมย์ อำเภอเมืองยโสธร อยู่ห่างจากบ้านทุ่งแต้ไปทางทิศตะวันออกเพียง 3-4 กิโลเมตร ซึ่งได้แต่งงานกับนางยุ่น กุบแก้ว เป็นคนบ้านทุ่งแต้ หลังจากได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องมวยนึ่งข้าวให้ชาวบ้านทุ่งแต้จนทำกันได้แพร่หลายทั้งหมู่บ้าน
ต่อมา นายสวัสดิ์ วันทาดี เสียชีวิตลงแต่ชาวบ้านทุ่งแต้ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญและมีบุญคุณต่อชุมชนเป็นอย่างยิ่ง ชาวบ้านทุ่งแต้จึงจดจำชื่อ นายสวัสดิ์ วันทาดีและเล่าขานสืบต่อกันมาตลอด ซึ่งนายสวัสดิ์ วันทาดี ได้รับการถ่ายทอดการทำมวยนึ่งข้าวจากพระสงฆ์รูปหนึ่งเดิมทีการทำมวยนึ่งข้าว เป็นการทำเพื่อใช้ในครัวเรือนของตนเอง ทำเป็นของฝากญาติพี่น้องเท่านั้น ต่อมาเพื่อนบ้านเห็นว่ามวยนึ่งข้าว มีอายุการใช้งานมากกว่าหวดนึ่งข้าว จึงเริ่มมีการซื้อขายภายในหมู่บ้านและได้รับความนิยม มีผู้ที่สนใจฝึกหรือเรียนรู้วิธีการทำมวยนึ่งข้าวมากขึ้น จึงทำให้การซื้อขายขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ และชาวบ้านทุ่งแต้มีการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ลองผิด ลองถูก พัฒนา และถ่ายทอดสืบต่อกันมา ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกไม้ไผ่จนถึงกระบวนการจัดเก็บมวยนึ่งข้าว เพื่อพัฒนาให้มวยนึ่งข้าวของบ้านทุ่งแต้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น สวยงาม แข็งแรง และคงทน
ธวัชชัย ภักดีไทย. (2551). การจัดการหัตถกรรมเครื่องจักสานไม้ไผ่เพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน : กรณีศึกษาชุมชนบ้านทุ่งแต้ ตำบลทุ่งแต้ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.
ยโสธร. (2566). มวยนึ่งข้าวบ้านทุ่งแต้. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม http://www.m-culture.in.th/album/