ประเพณีพิธีกรรมอันเนื่องเกี่ยวกับความตายของคนเขมรถิ่นไทย กับการเล่นตุ้มโมงที่เป็นดนตรีชั้นสูงของชาวบ้านปอยตะแบง
ชื่อบ้านปอยตะแบง มีที่มาว่า แต่เดิมนั้นพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ป่าและทุ่ง บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีต้นตะแบงใหญ่ขนาดสองคนโอบไม่มิด ต้นปอยตะแบงต้นนั้นมีลักษณะตุ่มเป็นไม้รอบลำต้น ภาษาท้องถิ่น (เขมร) เรียกกันว่า "ปอย" เมื่อต้นตะแบงมีปอยเต็มต้นจึงเรียก "ปอยตะแบง" เมื่อเดินทางมาถางป่าพงเพื่อเป็นที่ทำกินบริเวณใกล้ ๆ ต้นปอยตะแบงและมีผู้คนจากบ้านนาสามมาทำกินอยู่บริเวณนั้นมากขึ้น จึงเรียกกันว่า "คุ้มปอยตะแบง" อย่างไรก็ตามคนภายนอกที่อยู่เขตตำบลหรืออำเภออื่น ๆ มักไม่ค่อยรู้จักบ้านปอยตะแบง แต่จะรู้จักคุ้มปอยตะแบง บ้านนาสามมากกว่า ต้นตะแบงที่เป็นที่มาที่ไปของชื่อหมู่บ้านยืนต้นตายและถูกตัดลง แต่เรื่องราวต้นปอยตะแบงก็ยังเป็นที่เล่าขานสู่ลูกหลานรุ่นหลังในหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน
ส่วนชื่อ คุ้มตรำระนู๊ด เป็นคุ้มบ้านทางตะวันตกของบ้านปอยตะแบง มีที่มาที่ไปของชื่อจากเหตุการณ์เมื่อ 50 ก่อน เล่ากันว่าในปีที่แล้งจัดเกิดการระบาดของตัวเลือดจำนวนมหาศาล กัดคน สัตว์เลี้ยง และตัวเลือดนี้จะชอบเกาะบริเวณไม้ตงและคานบ้าน สุมไฟไล่เพียงใดก็ยากที่จะกำจัด ในปีนั้นชาวบ้านช่วยกันรื้อบ้าน นำไม้ตงที่มีเลือดเกาะเป็นหมื่นเป็นแสนตัวมาแช่ในหนองน้ำท้ายบ้านภาษาถิ่นไม้ตง เรียกว่า "ระนู๊ด" ส่วนการแช่น้ำเรียกว่า "ตรำ" ภายหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นชาวบ้านจึงเรียกหนองน้ำแห่งนั้นว่า "ตรำระนู๊ด" และเรียกชื่อคุ้มบ้านใกล้หนองว่า "คุ้มตรำระนู๊ด"
ประเพณีพิธีกรรมอันเนื่องเกี่ยวกับความตายของคนเขมรถิ่นไทย กับการเล่นตุ้มโมงที่เป็นดนตรีชั้นสูงของชาวบ้านปอยตะแบง
แต่เดิมนั้นพื้นที่ชุมชนเป็นพื้นที่ป่าและทุ่ง บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีต้นตะแบงใหญ่ขนาดสองคนโอบไม่มิด ต้นปอยตะแบงต้นนั้นมีปุ่มลักษณะเหมือนตาไม้เกิดขึ้นตลอดลำต้นตั้งแต่รากจนถึงยอด ลักษณะตุ่มไม้รอบลำต้นเช่นนี้ภาษาท้องถิ่น (เขมร) เรียกกันว่า "ปอย" เมื่อต้นตะแบงมีปอยเต็มต้นจึงเรียก "ปอยตะแบง" ร่วม 100 ปีก่อน "ตาเบียน ประสานดี" และหมู่พวกชาวบ้านตะแก ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์ เดินทางมาถากถางป่าพงเพื่อเป็นที่ทำกินบริเวณใกล้ ๆ ต้นปอยตะแบงและมีผู้คนจากบ้านนาสามมาทำกินอยู่บริเวณนั้นมากขึ้น จึงเรียกกันว่า "คุ้มปอยตะแบง" ถือเป็นคุ้มหนึ่งของบ้านนาสาม ภายหลังเมื่อผู้คนหนาแน่นขึ้นจึงตั้งเป็นหมู่บ้านราว 80 ปี ก่อน มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ "ผู้ใหญ่ยินสังข์ขาว"
บ้านปอยตะแบง หมู่ที่ 13 ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ มีพื้นที่ 1,122 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเทศบาลเมืองสุรินทร์ ระยะทาง 12 กิโลเมตร ตะวันออกมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 166 เมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอาณาเขตของหมู่บ้านห้วยราชหมู่ที่ 7 ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีป่าชุมชนโคกธมผืนใหญ่ในอาณาบริเวณรอยต่อชุมชน
- ทิศใต้ ติดต่อกับอาณาบริเวณบ้านนาสาม หมู่ที่ 6 ตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ มีพื้นที่ทุ่งนาและลำห้วยปอยตะแบงเป็นอาณาเขตระหว่างหมู่บ้าน
- ทิศตะวันออก ค่อนไปทางทิศเหนือ ติดต่อกับอาณาบริเวณหมู่บ้านสก็อม มีทุ่งนาและป่าชุกชุมโคกธมที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2534 อยู่ในบริเวณรอยต่อหมู่บ้าน
- ทิศตะวันตกค่อนไปทางใต้ ติดต่อกับหมู่บ้านไทรทาบ เป็นหมู่บ้านต่อเนื่องกับบ้านปอยตะแบง ในความเป็นชุมชนถือว่าเป็นหมู่บ้านเดียวกัน แต่ในทางการปกครองถือว่าเป็นคนละหมู่บ้าน
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ลักษณะสัณฐานของหมู่บ้านเป็นพื้นที่สันดอนสลับกับที่ลุ่ม ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของชุมชนตอนกลางระหว่างเทือกเขาพนมดงรักทางตอนใต้ของจังหวัดกับแม่น้ำมูลทางตอนเหนือของจังหวัด ลักษณะสัณฐานเช่นนี้จึงก่อให้เกิดโคกเนินป่าสลับกับลำห้วย ซึ่งพบว่าเขตหมู่บ้านปอยตะแบง ปัจจุบันยังคงมีห้วยปอยตะแบงไหลผ่านทุ่งนาด้านทิศใต้ และมีป่าโคกธม (โคกใหญ่) เป็นแหล่งอาหารยารักษาโรค เลี้ยงสัตว์และใช้สอยอื่น ๆ ของคนในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง แต่ในปัจจุบันผืนป่าแห่งนี้ได้ถูกทำลายลงจำนวนมากทั้งจากบุคคลรอบผืนป่าและคนภายนอก
ทรัพยากรทางธรรมชาติ
- ป่าโคกธม มีเนื้อที่ 530 ไร่ คือคลังทรัพยากรที่มีผลต่อความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและอาหารทรัพยากรธรรมชาติของคนในละแวกใกล้เคียงป่าแห่งนี้ โคกธมเป็นป่าเต็งรัง ที่ยังคงมีพันธุ์ไม้ประเภทเต็ง รัง เหียง พลวง จำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบไม้แดงหนาแน่นในบางจุดซึ่งสะท้อนถึงความชื้นที่มากกว่าป่าเต็งรังทั่วไปในพื้นที่โคกธม เป็นแหล่งหาอยู่หากินของชาวบ้าน บางรายสามารถหาของป่าในโคกจำหน่ายได้ และในฤดูเห็ดและมันเทียน จะพบเห็นคนจากที่อื่นๆ เข้ามาหาของป่าเพื่อขาย บางครั้งมาจากจังหวัดร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ เข้ามา ป่าโคกธมเป็นเหมือนครัว ยาสมุนไพรก็มาก แต่คนไม่ค่อยรู้รักษาทำให้ป่าถูกทำลายไปมาก ราวปี 2534 ชาวบ้านปอยตะแบงได้อนุรักษ์ผืนป่าและขอคืนพื้นที่ที่ถูกบุกรุกช่วยกันดูแลและฟื้นป่ากลับมาได้ในพื้นที่ละแวกหมู่บ้าน และตั้งกฎกติกาการใช้สอยประโยชน์ร่วมกัน แต่ก็ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง เพราะต้องขึ้นอยู่กับสำนึกของคนที่เข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย นอกจากผืนป่าโคกธมและห้วยปอยตะแบงแล้ว หมู่บ้านปอยตะแบงยังมีฐานทรัพยากรที่คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ ได้แก่ ป่าโคกขม๊อจ(โคกผี ) ซึ่งเคยเป็นป่าช้าเก่าของชุมชนแต่อดีต อยู่ทางทิศตะวันตกหมู่บ้านปัจจุบันชาวบ้านอาศัยเป็นพื้นที่เก็บเห็ด หามัน ผักป่าตามฤดูกาล แหล่งน้ำของหมู่บ้าน เป็นแหล่งน้ำในโครงการพัฒนาของภาครัฐสามารถใช้ได้ตลอดทั้งปีในการอุปโภค บริโภคและทำการเกษตรขนาดย่อย ๆ เช่น ปลูกผัก หรือใช้เพื่อเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ หนองโคกธมที่อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หนองตรำระนู๊ดอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้านและสระสหกรณ์ชุมชน
ปัจจุบันบ้านปอยตะแบง มีจำนวนครัวเรือน 153 คน และมีประชากรทั้งหมด 611 คน
ชาวบ้านปอยตะแบงร้อยละ 93 ประกอบอาชีพทำนาและเกษตรกรรม นอกฤดูกาลผลิตจะเปลี่ยนไปทำอาชีพรับจ้างทั่วไปทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดแทน
วิถีชีวิตชาวปอยตะแบงเป็นวิถีของชาวพุทธ สืบทอดประเพณี วัฒนธรรมและความเชื่อในพุทธศาสนามาแต่บรรพบุรุษ ทุกวันพระ บรรยากาศของวัดบ้านนาสามซึ่งถือเป็นวัดของชาวบ้านปอยตะแบง เต็มไปด้วยผู้คน ทั้งคนเฒ่าคนแก่และคนหนุ่มสาวรวมทั้งเด็ก ๆ จะนำภัตราหารมาถวายพระเป็นกิจวัตรอันเป็นปกติ นอกจากวัตรปฏิบัติของอุบาสก อุบาสิกาที่ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอในวันพระ
ประเพณีและเทศกาลที่สำคัญของหมู่บ้าน
- เดือนมกราคม : เป็นปีใหม่สากล ชาวปอยตะแบงยุคใหม่มีเทศกาลปีใหม่เช่นกัน ลักษณะงานที่มีเป็นงานสังสรรค์พบปะกันในหมู่ครอบครัว ญาติพี่น้องและกิจกรรมรวมของหมู่บ้าน
- เดือนสี่ : ทำบุญเทศน์มหาชาติ ทำบุญข้าว ถือเป็นบุญใหญ่ในความเชื่อของชาวพุทธ
- เดือนห้า (แคแจตร) : เป็นช่วงฤดูกาลแห่งการพักผ่อนจากหน้าที่การงานในนา และเป็นเดือนแห่งการทำบุญกิริยาของคนเขมรถิ่นไทย ประเพณีที่ถือเป็นจารีตปฏิบัติ ในเดือนห้า เรียกกันว่าเป็นช่วง "ตอม" ถือเป็นช่วงแห่งการงดเว้น การแบ่งวันตอมจะแบ่งเป็นสองช่วง ได้แก่ "ตอมตู้จ" (หยุดเล็ก) นับตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ถึงขึ้น 3 ค่ำเดือน 5 ซึ่งในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 จะเป็นวันบุญ "เลิงพนม" (ขึ้นเขา) เพื่อทำบุญ โดยเชื่อว่าการทำบุญนี้จะได้รับพรอันประเสริฐ สุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ทำมาหากินโดยสะดวกและในช่วงเดือนห้านับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ จนถึง 14 ค่ำ จะมีการละเล่นที่สำคัญคือ "เรือมตร๊ด" หรือ "รำตรุษสงกรานต์" เป็นการรำเพื่อเรี่ยรายเงินทานไปทำบุญและขนทรายเข้าวัด การเรือมตร๊ดจะต้องมีผู้อาวุโสนำคณะรำไปทั่วหมู่บ้าน แต่ละบ้านจะมีการต้อนรับขันดอกไม้และใส่เงินลงในขัน พร้อมทั้งมีน้ำดื่มหรือบางครั้งมีขนมต้อนรับคณะที่รำมาถึงบ้าน เสร็จแล้วคณะเรือมตร๊ดจะร้องเพลงอวยพรแด่เจ้าของบ้านก่อนจะลาไปบ้านอื่นๆ ต่อไปการเรือมตร๊ดจะสิ้นสุดลงในวันขึ้น 14 ค่ำ และในวันขึ้น 15 ค่ำ จะเป็นวันทำบุญที่วัด เป็นวันมหาสงกรานต์และหลังจากวันสงกรานต์เป็นช่วง "ตอมธม " (หยุดใหญ่) นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 5 ถึง 7ค่ำเดือน 5 เป็นอันสิ้นสุดช่วงวันหยุด หลังจากนั้นจะเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ฤดูการผลิตของเดือน 6
- เดือนหก : เข้าสู่ฤดูกาลผลิต เตรียมดิน หว่านกล้าและงานบุญวิสาขบูชา
- เดือนแปด : บุญอาสาฬหบูชา และเข้าพรรษา
- เดือนสิบ : เป็นช่วงทำบุญไหว้บรรพบุรุษของชาวบ้านปอยตะแบงและชุมชนเขมรถิ่นไทย เรียกกันว่า "แซนโฎนตา" หรือ "ประจุมเบญ" พิธีแซนโฎนตาจะจัดขึ้นทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ลูกหลานที่อยู่ใกล้ไกลต่างต้องกลับมาไหว้บรรพบุรุษ ในระหว่างการปฏิบัติงานโครงการฯ จะพบเห็นเขยฝรั่งจากหลายหมู่บ้านมาจับจ่ายซื้อของเต็มตลาดเมืองสุรินทร์ กล่าวได้ว่าเป็นช่วงประเพณีท้องถิ่นที่บรรยากาศคึกคักยิ่งกว่าตรุษจีน ช่วงประเพณีแซนโฎนตา เป็นช่วงพิเศษที่จะได้รับประทานขนมท้องถิ่น เนื่องจากมีข้อปฏิบัติที่ต้องใช้ขนมบางอย่างในพิธีกรรม อาทิเช่น กันเตรือม เนียงเล็ต กันตราง เป็นต้น
- เดือนสิบเอ็ด : ประเพณีออกพรรษา (กวนข้าวทิพย์) และประเพณีทอดกฐิน
- เดือนสิบสอง : ประเพณีลอยกระทง
1. ครูดัด สังข์ขาว ครูเพลงตุ้มโมง ชาวบ้านปอยตะแบง ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบันอายุ 66 ปี ภรรยาชื่อนางละอาย สังข์ขาว
ขนบของเพลงตุ้มโมง
เพลงตุ้มโมงเป็นเพลงจำเพาะที่เล่นในงานศพเท่านั้น นอกจากการเล่นในงานศพยังมีขนบปลีกย่อยที่สำคัญ คือ ตุ้มโมงจะเล่นในงานศพ พระสงฆ์ ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้ที่เป็นผู้เคารพนับถือของชุมชนหรือครอบครัว สายตระกูลเท่านั้น สันนิษฐานว่าคงเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อเรื่องระดับของงานศพในวัฒนธรรมเขมรสุรินทร์ด้วย ซึ่งการเล่นตุ้มโมงจะถูกมองว่าเป็นดนตรีชั้นสูง การบรรเลงเพลงตุ้มโมงประโคมงานศพ เมื่อ 60 ปีก่อน เป็นการบรรเลงแบบมาราธอนตลอดทั้งคืน โดยเฉพาะคนตีฆ้องโหม่งกับกลองเพลห้ามหยุดพักโดยเด็ดขาด เพราะไม่เช่นนั้นดวงวิญญาณของผู้ตายจะสะดุดหยุดชะงักไปไม่ถึงสรวงสวรรค์ เวลาบรรเลงต้องทำปะรำพิธีแยกออกไปต่างหาก เพราะถือว่าเพลงตุ้มโมงเป็นเพลงอัปมงคล โดยยกปะรำให้สูงจากพื้นดินราว 2-3 เมตร เวลาจะรับประทานอาหารหรือน้ำท่าสุราหมากพลูก็จะมีคนเอาใส่ตะกร้าแล้วผูกเชือกเป็นสายโยงขึ้นไปให้กาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปรูปแบบการปฏิบัติบางประการก็เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย โดยมีการยกปะรำพิธีออกไปต่างหาก เพียงแต่มีการแยกปริมณฑลพิธีออกมาให้ชัดเจน ซึ่งวิถีปฏิบัติในยุคนี้ได้ถ่ายทอดสู่ครูตุ้มโมง มโหรีในปัจจุบันเพื่อสานต่อความรู้เรื่องเพลงตุ้มโมงต่อไป
ชาวบ้านที่บ้านปอยตะแบง มีการใช้ภาษาเขมรถิ่นไทยในการสื่อสารเป็นหลัก แต่เยาวชนรุ่นหลังพูดภาษาถิ่นของตนเองไม่ค่อยได้และไม่ค่อยพูด เนื่องจากครอบครัวและโรงเรียนมีการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกับลูกหลานเป็นหลักแทนภาษาถิ่น
บ้านปอยตะแบงมีเพลงพื้นบ้านและและนักเพลงพื้นบ้านที่ยังมีบทบาทสำคัญกับพิธีกรรม พิธีการงานบุญต่าง ๆ ของชุมชน เนื่องจากสื่อต่าง ๆ ยังไม่มีบทบาทสำคัญกับสังคมคนสุรินทร์ นักเพลงพื้นบ้านจึงมีคนจ้างไปเล่นเกือบทุกวัน ซึ่งขนบการเล่นตุ้มโมงจึงมีความสำคัญต่อชุมชนบ้านปอยตะแบงเป็นอย่างมาก และในปัจจุบันชาวบ้านเกิดการตระหนักรู้ในการร่วมอนุรักษ์การเล่นตุ้มโมง ทำให้เกิดมีการนำเสนอในเชิงสาธารณะให้ผู้คนได้รับรู้เกี่ยวกับตุ้มโมงมากยิ่งขึ้น โดยหมู่บ้านนำเสนอ ตุ้มโมง กันตรึม เรือมอันเรและอาหารพื้นบ้าน เป็นของดีหมู่บ้านปอยตะแบง ในงานเทศกาลของดีเมืองสุรินทร์ เป็นงานของฝ่ายพัฒนาชุมชน จัดร่วมกับ JICA ประเทศญี่ปุ่น
เสมอ ชะโลทร และคณะ. (2556). โครงการฟื้นฟูภูมิปัญญาเพลงตุ้มโมงเมืองสุรินทร์. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 26 เมษายน 2566, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/
KOTAVAREE KOTAVAREE (2556, 26 พฤศจิกายน). ตุ้มโมง วงนายดัด สังข์ขาว [รูปภาพ]. YOUTUBE. https://www.youtube.com/