Advance search

ชุมชนของสองกลุ่มชาติพันธุ์คือ ชาวกะเหรี่ยงสะกอและโปว์ ที่ได้อพยพเข้ามาเพื่อมีโอกาสได้ร่วมบารมีกับครูบาวงศ์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของกลุ่มชาติพันธุ์

นาทราย
ลี้
ลำพูน
อบต.นาทราย โทร. 0-5309-2879
มะลิวัลย์ คำมานิตย์
30 ก.ค. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
ปวินนา เพ็ชรล้วน
1 ส.ค. 2024
วัดพระบาทห้วยต้ม

มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าเมื่อครั้งพุทธกาลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับ ณ สถานที่แห่งนี้ มีนายพรานแปดคนแบกสัตว์เดินผ่านมาเกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงแล่เนื้อสัตว์ถวาย แต่พระพุทธองค์ไม่รับประเคน นายพรานจึงพร้อมใจกันไปหุงต้มข้าวและผักต่าง ๆ มาถวาย พระองค์ฉันเฉพาะข้าวต้มเท่านั้นและตรัสกับนายพรานทั้งแปดว่า สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ ต่อไปภายหน้าจะถูกเรียกว่า ห้วยข้าวต้ม หรือ ห้วยต้มข้าว และได้เทศน์โปรดนายพรานทั้งแปดให้รู้จักรักษาศีลและรู้ถึงโทษของการผิดศีลคือการฆ่าสัตว์อันเป็นเวรกรรมไม่มีที่สิ้นสุด พระองค์จึงไม่ปรารถนาให้นายพรานทั้งแปดซึ่งเป็นผู้มีใจปรารถนาจะทำความดีต้องทำบาปโดยการฆ่าสัตว์


ชุมชนของสองกลุ่มชาติพันธุ์คือ ชาวกะเหรี่ยงสะกอและโปว์ ที่ได้อพยพเข้ามาเพื่อมีโอกาสได้ร่วมบารมีกับครูบาวงศ์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของกลุ่มชาติพันธุ์

นาทราย
ลี้
ลำพูน
51110
17.726402176011412
98.9546537421003
องค์การบริหารส่วนตำบลนาทราย

ชุมชนวัดพระบาทห้วยต้มในปัจจุบันได้เริ่มก่อตั้งขึ้นในลักษณะของหมู่บ้านใน ปี พ.ศ. 2513 โดยมีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงประมาณ 6 หลังคาเรือน ซึ่งมีศรัทธาในพุทธศาสนา และครูบาวงศ์หรือครูบาชัยวงศาพัฒนาอย่างแรงกล้า หลวงปู่ครูบาวงศ์เป็นพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ ณ วัดพระบาทห้วยต้ม และได้จาริกเผยแพร่พระธรรมคําสอนตามหมู่บ้านชาวเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงในเขตจังหวัดตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำพูน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 เป็นต้นมา ต่อมาชาวบ้านจึงได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่รอบ ๆ บริเวณวัดพระบาทห้วยต้มเพื่อที่จะได้มีโอกาสทำบุญและปฏิบัติตนเป็นพุทธมามกะที่ดี ในปี พ.ศ. 2514 ได้มีการอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนเพิ่มอีก 50 หลังคาเรือน และในปี พ.ศ. 2516 มีการอพยพเข้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ถึง 300 หลังคาเรือน จำนวนชาวกะเหรี่ยงที่มาตั้งถิ่นฐานรอบ ๆ บริเวณวัดพระบาทห้วยต้มนั้นเพิ่มขึ้นเป็นประจำทุกปี เพราะชาวบ้านในชุมชนเมื่อกลับไปเยี่ยมญาติพี่น้องก็จะบอกเล่าต่อกันว่าการได้อยู่ใกล้ครูบาวงศ์ทำให้มีโอกาสได้ร่วมบารมีกับครูบาวงศ์ ถือศีล กินเจ ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม อันเป็นการพัฒนาจิตใจ อีกทั้งแหล่งทำมาหากินแห่งนี้ก็อุดมสมบูรณ์กว่าถิ่นที่อยู่เดิมจึงทำให้ชุมชนวัดพระบาทห้วยต้มกลายเป็นชุมชนใหญ่ในเวลาต่อมา และในปี พ.ศ. 2519 ทางราชการได้ยกฐานะของชุมชนแห่งนี้ให้เป็นหมู่บ้านของทางราชการ

ลักษณะทางกายภาพของชุมชนวัดพระบาทห้วยต้ม ตั้งอยู่ในตําบลนาทราย อําเภอลี้ จังหวัดลําพูน ความสูงจากระดับน้ำทะเล 520 เมตร ระยะทางจาก อําเภอเมือง จ.ลําพูน 112 กิโลเมตร ระยะทางจาก อําเภอลี้ 12 กิโลเมตร ลักษณะของพื้นที่ที่ตั้งหมู่บ้านและรอบ ๆ มีความลาดชันน้อย ประมาณ 2-8% ดินมีลักษณะเป็นเนื้อร่วนปนทาย (Red Yellow Latosoil) เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และใต้ผิวดินลึกลงไปจะเป็นลานศิลาแลง (Laterite) แม่น้ำสายสําคัญที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ได้แก่ ห้วยแม่ปู ไหลผ่านทางทิศเหนือ ห้วยแม่หละ ไหลผ่านทางทิศตะวันออก ห้วยต้ม ไหลผ่านทางทิศใต้ และห้วยแม่ลอง ไหลผ่านทางทิศตะวันตก แต่ปริมาณของน้ำน้อยมากไม่เพียงพอสําหรับการทําการเกษตร เพราะมีน้ำเฉพาะฤดู ฝนเท่านั้น มีอาณาเขตของหมู่บ้าน ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแพะหนองห้า ตำบลลี้
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านนาเลี่ยง ตำบลนาทราย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านแม่หละ ตำบลนาทราย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านเด่นเหม้า ตำบลแม่ลาน

ประชากรในชุมชนวัดพระบาทห้วยต้ม เป็นชาวกะเหรี่ยงสะกอและโปว์ ส่วนใหญ่ประชาชนที่อพยพมาจากอําเภอสามเงา อําเภอแม่ระมาด อําเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก อําเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อําเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นกะเหรี่ยงสะกอ ส่วนกลุ่มที่อพยพมาจากอําเภอฮอด กิ่งอําเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกะเหรี่ยงโปว์

ปกาเกอะญอ, โพล่ง

การประกอบอาชีพชุมชนวัดพระบาทห้วยต้มเป็นชุมชนกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นสังคมที่มีการผลิตเพื่อการยังชีพเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันวิถีการดํารงชีวิตได้เปลี่ยนแปลงไปเกิดการพัฒนาวิถีชีวิตดั้งเดิมมาเป็นอาชีพที่หลากหลาย ซึ่งสามารถจําแนกได้ดังต่อไปนี้ คือ อาชีพการเกษตร อาชีพศิลปหัตถกรรมในครัวเรือน อาชีพช่างฝีมือ อาชีพการค้าขาย อาชีพรับจ้าง อาชีพส่วนตัว และอาชีพรับราชการ การประกอบอาชีพของชาวบ้านในชุมชนวัดพระบาทห้วยต้มจะขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด โดยมีรายละเอียดของแต่ละอาชีพดังนี้

อาชีพการเกษตร ชาวบ้านจะปลูกข้าวไร่และข้าวนาคํา พืชสวนครัว ปลูกผสมการทํานาดํา ข้าวโพด ถั่วต่าง ๆ กล้วย อ้อย และมีการปลูกพืชเศรษฐกิจคือ ดอกดาวเรือง ดอกเบญจมาศ ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะมีนายทุนเป็นผู้เข้ามารับซื้อ และในบริเวณลานบ้านก็จะปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานเอง อาชีพด้านการเกษตรนี้ชุมชนจะมีผู้ให้คําปรึกษา คือ โครงการหลวงพัฒนาภาคเหนือ แต่ปัญหาหลักก็คือดินไม่เหมาะกับการเกษตรและปริมาณน้ําไม่เพียงพอต่อการทําการเกษตรเป็นอาชีพ แต่ชุมชนก็มีรายได้หลักและรายได้เสริมจากอาชีพซึ่งจะกล่าวถึงดังต่อไปนี้

อาชีพศิลปหัตถกรรมในครัวเรือน ชุมชนวัดพระบาทห้วยต้มนี้ประกอบอาชีพศิลปหัตถกรรมในครัวเรือน มี 6 รูปแบบดังนี้

1.อาชีพการทอผ้าและการเย็บเสื้อผ้า ชาวกะเหรี่ยงมีเสื้อผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองไม่สามารถซื้อหาจากท้องตลาดได้ แม่จึงต้องสอนลูกสาวทุกคนให้ทอผ้าเป็นเมื่อลูกออกเรือนแล้วจะได้ทอไว้ใช้ในครอบครัวของตน ดังนั้นอาชีพการทอผ้าและการเย็บเสื้อผ้าจึงเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับชาวกะเหรี่ยง ในชุมชนวัดพระบาทห้วยต้มก็เช่นกันหญิงชาวกะเหรี่ยงทุกคนทอผ้าเป็นและได้พัฒนามาเป็นอาชีพหลักอาชีพหนึ่งในปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมได้ผลิตเพื่อใช้ภายในครอบครัวและพัฒนามาเป็นอาชีพ ซึ่งสามารถจําแนกได้หลายประเภท คือ ทอใช้เองอย่างเดียว ทอขายเองอย่างเดียว รับจ้างทออย่างเดียว จ้างผู้อื่นทอชายอย่างเดียว จ้างผู้อื่นทอและทอขายเองด้วย รับจ้างทอและทอขายเองด้วย ซึ่งในปัจจุบันรูปแบบในการทอผ้านี้ก็มีทั้งคงรูปแบบดั้งเดิม ประยุกต์ ให้เข้ากับสมัยนิยมและทอเป็นชิ้น (เป็นผืน)

2.อาชีพการทําเครื่องเงิน การแต่งชุดของชาวกะเหรี่ยงจะใช้เครื่องเงินในการแต่งกายน้อยมาก หากเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ ชาวกะเหรี่ยงจะใช้เครื่องเงินประดับในโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น วันไปทําบุญที่วัดหรือมีงานประจําปี แต่การที่เครื่องเงินได้กลายมาเป็นอาชีพหลักสําหรับชาวบ้านในชุมชนนี้ สืบเนื่องมาจากการนําเงินติดตัวมาเพื่อเป็นทรัพย์สินขณะที่อพยพมาตั้งหมู่บ้าน ส่วนหนึ่งก็ได้ใช้ทําบุญเพื่อการสร้างวัดพระบาทห้วยต้ม อีกส่วนหนึ่งก็นํามาทําเป็นเครื่องประดับเพื่อเสนอขายที่ตลาดในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจึงทําให้เกิดการประกอบอาชีพการทําเครื่องเงินเป็นอาชีพหลัก 

3.อาชีพการตีเหล็ก แต่เดิมในชุมชนวัดพระบาทห้วยต้มได้ผลิตเครื่องมือทางการเกษตร เช่น มีด จอบ และเสียมในรูปแบบง่าย ๆ โดยใช้วิธีการตีเหล็กแบบดั้งเดิมด้วยการเผาเหล็กจากไฟให้ร้อนแล้วตี ต่อมาศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาได้จัดให้มีโรงตีเหล็กขึ้น 1 แห่ง และได้จัดฝึกอบรมร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและโครงการยูนิเซฟเพื่อให้ความรู้ด้านการตีเหล็กที่สูงขึ้นและได้จัดทํางบประมาณอบรมส่งเสริมวิชาชีพให้กับชาวบ้านที่สนใจเพื่อเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือการเกษตรรูปแบบต่าง ๆ

4.อาชีพการพันศิลาแลง การสกัดศิลาแลงแต่ชาวบ้านชุมชนวัดพระบาทห้วยต้มเรียก "การสกัด" ว่า "การฟัน" ตามกรรมวิธีในการผลิตโดยใช้มีดเป็นอุปกรณ์ในการฟื้นศิลาแลง การผลิตศิลาแลงนั้นเริ่มมาตั้งแต่เมื่อชาวบ้านอพยพมาตั้งรกรากในชุมชนแห่งนี้ พวกเขาได้รับการบอกเล่าต่อ ๆ กันว่าก้อนหินที่เห็นอยู่ทั่วไปในบริเวณหมู่บ้านนั้นที่หมู่บ้านอื่นสามารถนํามาแปรสภาพโดยไม่ต้องใช้ความชํานาญมากนัก ต่อมาผู้สนใจจึงได้ไปดูวิธีการสกัดศิลาแลงที่เขาวัดพระบาทตากผ้า อําเภอป่าซาง จังหวัดลําพูน เมื่อกลับจากการไปดูงานชาวบ้านจึงเริ่มทําอย่างจริงจัง แต่เนื่องจากขาดประสบการณ์ผู้ประกอบการค้าเกี่ยวกับศิลาแลง ในอําเภอลี้ จึงได้จัดให้มีการสาธิตการฟันศิลาแลงที่ชุมชนอีกครั้ง ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันอาชีพฟันศิลาแลง ซึ่งมีทั้งการเป็นคนกลางในการขาย เป็นผู้ผลิตเอง เป็นผู้รับจ้างในการผลิตและตกแต่งศิลาแลง จึงเป็นรายได้สําคัญของครอบครัวอีกอาชีพหนึ่งในชุมชน

5.อาชีพจักสาน อาชีพการทําเครื่องจักสานเกิดขึ้นเพราะการทําเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ตะกร้าใส่ของเสื้อผ้าของสําคัญและเครื่องมือการเกษตร ซึ่งชาวกะเหรี่ยงล้วนประดิษฐ์ด้วยตนเองทั้งสิ้น ต่อมามีพ่อค้าให้ความสนใจและนํารูปแบบที่เป็นที่นิยมเข้ามาให้ชาวบ้านดู และลองทําปรากฏว่างานที่ทําไม่ละเอียดและสวยงามตามความต้องการของพ่อค้าจึงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร แต่กระนั้นก็ยังมีบางกลุ่มที่ผลิตได้มาตรฐานจึงยังคงผลิตเครื่องจักสานมาจนถึงปัจจุบันแต่อาชีพนี้ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในชุมชนและสร้างรายได้เฉพาะกลุ่มที่ทําเท่านั้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิหารพระเมืองแก้ว เป็นสถานที่สำคัญที่ประดิษฐานพระสรีระของหลวงปู่ครูบาวงศ์และพระพุทธรูปปางเปิดโลก โดยหลวงปู่ครูบาวงศ์มรณภาพเมื่อปี 2543 และในวันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันละสังขารของหลวงปู่ครูบาวงศ์ ชุมชนพระบาทห้วยต้มจะมีการทำบุญเปลี่ยนครองสรีระเป็นประจำทุกปี

พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่สีเหลืองทองงามอร่ามตั้งโดดเด่นเห็นได้แต่ไกล และเป็นเจดีย์ที่ชาวปกาเกอะญอให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยแห่งนี้หลวงปู่ครูบาวงศ์สร้างขึ้น เพราะว่าเมื่อก่อนที่ตรงนี้มีการขุดค้นพบมูลและเขาของพระโคอุศุภราชก็คือเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้าซึ่งกลายสภาพเป็นหิน ท่านก็เลยอธิษฐานสร้างครอบมูลและเขาของพระโคไว้ และจำลองรูปแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองที่ประเทศพม่า

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เนตรชนก นันที. (2544). การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม : กรณีศึกษาชุมชนวัดพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

MGR Online. (2554). “ชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้ม” มากหลายวัฒนธรรม ผูกพันพุทธศาสนา. https://mgronline.com/travel/

อบต.นาทราย โทร. 0-5309-2879