บ้านคลองฝรั่งเป็นชุมชนที่มีพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยมีแรงขับเคลื่อนจากผู้คนภายในชุมชน
พ.ศ. 2485 มีการเรียกคลองที่ขุดใหม่ว่า "คลองฝรั่ง" และเรียกชื่อหมู่บ้านตามชื่อคลองว่า "บ้านคลองฝรั่ง"
บ้านคลองฝรั่งเป็นชุมชนที่มีพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยมีแรงขับเคลื่อนจากผู้คนภายในชุมชน
ชุมชนบ้านคลองฝรั่งเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อปี พ.ศ. 2475 มีชาวตะวันตก (ไม่ได้กล่าวว่าเป็นคนชาติใด) ชื่อ มิสเตอร์ ยอห์น มีภรรยาเป็นชาวมอญปากลัด อําเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ได้ชักชวนชาวบ้านขุดคลองแยกจากคลองตาคล้ายเข้ามายังบริเวณหมู่บ้านในปัจจุบัน ต่อมาปี พ.ศ. 2485 มีประชากรอาศัยอยู่บริเวณนี้ประมาณ 27 ครัวเรือน เรียกคลองที่ขุดใหม่ว่า "คลองฝรั่ง" และเรียกชื่อหมู่บ้านตามชื่อคลองว่า "บ้านคลองฝรั่ง" นับจากนั้นเป็นต้นมา ภายหลังการขุดคลองฝรั่งมีประชากรเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้นแต่ชาวบ้านมีวิถีชีวิตยากลําบากอยู่ มิสเตอร์ ยอห์น ซึ่งเป็นชาวต่างชาติเมื่อเห็นความยากลําบากของชาวบ้านจึงได้ช่วยเหลือด้านเงินทองแก่ชาวบ้านที่ประสบความเดือดร้อนด้วยการให้กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และนําเงินดอกเบี้ยที่ได้จากชาวบ้านทั้งหมดบริจาคเป็นเงินทุนในการพัฒนาหมู่บ้านจึงกล่าวได้ว่า "บ้านคลองฝรั่ง" มีวิถีชีวิตดั้งเดิมด้วยความเอื้ออาทร และมีเงินทุนพัฒนาสาธารณประโยชน์ในหมู่บ้านเรื่อยมา
บ้านคลองฝรั่งเป็นชุมชนขนาดกลาง ตั้งอยู่หมู่ 7 ตําบลไทรน้อย ห่างจากอําเภอไทยน้อยประมาณ 5 กิโลเมตร อยู่ในจังหวัดนนทบุรีมีเนื้อที่ทั้งหมด 2,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทําการเกษตร 1,500 ไร่ เป็นที่ราบลุ่มบางปีมีน้ำท่วมมีแหล่งน้ำที่เกิดจากการขุดคลองฝรั่งเชื่อมคลองห้าร้อยกับคลองตาคล้ายและคลองลากค้อม เรียกชื่อว่า คลองฝรั่ง มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ จรด หมู่ที่ 6 ตําบลไทรน้อย
- ทิศใต้ จรด หมู่ที่ 4 ตําบลทวีวัฒนา
- ทิศตะวันออก จรด หมู่ที่ 2 ตําบลไทรน้อย
- ทิศตะวันตก จรด หมู่ที่ 5 ตําบลไทรน้อย
ประชากรทั้งหมดของหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ เพราะการที่สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญจึงทําให้ยึดหลักของศาสนาในการดําเนินชีวิต คือ การเดินทางสายกลางไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นเป็นสังคมเอื้ออาทร ประกอบกับประชากรส่วนใหญ่มีความเป็นเครือญาติกันทําให้อยู่กันด้วยความรัก สามัคคี มีความเอื้ออาทรยึดมั่นในมติประชาคม และหลักประชาธิปไตยในการดําเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามเป็นแนวทางในการดําเนินชีวิตทําให้ชาวบ้านคลองฝรั่งทุกคนมีความสุขอย่างแท้จริง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทํานา ทําสวน ทําไร่ เลี้ยงสัตว์ ทําประมง
ทุนทางสังคมของบ้านคลองฝรั่งที่มีพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนา ได้แก่ การมีส่วนร่วมในการคิดการตัดสินใจ การแก้ปัญหาร่วมกัน การมีพลังในการรวมตัว การเรียนรู้ร่วมกันจากเวทีประชาคมทำให้ค้นพบการใช้ศักยภาพของตนเองในการพัฒนาด้วยการยึดมั่นในการออมชาวบ้านคลองฝรั่งผนึกกําลังในการจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจชุมชนเพื่อเป็นลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ทุนและส่งเสริมสนับสนุนการประกอบอาชีพของชุมชน ได้แก่
1.กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
สืบเนื่องมาจากการรวมตัวกันของสมาชิกกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์เพื่อการเกษตร (ธกส.) เพื่อนำเงินกู้มาเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพทำนาและทำสวน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2530 ชาวบ้านคลองฝรั่ง ปรึกษาหารือกันว่าการกู้เงินมาเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพนั้นหากไม่หาเงินมาเป็นทุนสํารองมีวัตถุประสงค์ให้ชาวบ้านรู้จักการเก็บออม จึงได้ตั้งคณะกรรมการทำงานร่างระเบียบการดําเนินงานด้านต่าง ๆ ขึ้น ในแรกให้สมาชิกส่งเงินสัจจะสะสม คนละ 30-50 บาท โดยกําหนดส่งในวันที่ 6 ของทุกเดือน ปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต มีสมาชิกจำนวน 104 คน เงินสัจจะสะสมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต 1,280,730 บาท สมาชิกส่งเงินสัจจะสะสมรวมเดือนละ 26,130 บาท ระเบียบที่สําคัญในการกู้เงินคือสมาชิกผู้ขอกู้จะต้องมีสมาชิกค้ำประกัน 2 คน และกู้ได้ไม่เกินวงเงินสัจจะสะสมที่สมาชิกทั้ง 3 คน รวมกัน
2.ศูนย์สาธิตการตลาด
เป็นกิจกรรมเครือข่ายของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ดําเนินการจัดซื้อปุ๋ยมาจำหน่ายแก่สมาชิกในราคาถูก เป็นการรวมกันซื้อและลดราคาต้นทุน โดยนางนฤพร กระดี่ เหรัญญิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ได้ดูแลการกู้ยืมเงินของสมาชิก และร่วมดําเนินการจัดซื้อปุ๋ย เพื่อบริการแก่สมาชิกด้วย
3.กลุ่มสตรีแปรรูปน้ำพริก
การพบปะของสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ทุกวันที่ 6 ของเดือนนั้น ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านการประกอบอาชีพมากขึ้น สมาชิกสตรีส่วนหนึ่งเห็นว่านอกจากการประกอบอาชีพประจำวันแล้วสตรีควรหารายได้เสริมแก่ครอบครัว วัตถุดิบในการทำน้ำพริก ได้แก่ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ทุกครัวเรือนซึ่งปลูกไว้มากพอสมควร สมาชิกสตรีดังกล่าวจึงได้จัดตั้งกลุ่มสตรีแปรรูปน้ำพริก เมื่อปี พ.ศ. 2539 ในระยะแรกผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือนก่อน ได้แก่ น้ำพริกแกง เช่น แกงส้ม แกงเขียวหวาน แกงเผ็ด น้ำพริกตาแดง ต่อมาจึงขยายการผลิตและจำหน่ายในหมู่บ้านใกล้เคียง ตลาดนัดตามหมู่บ้านต่าง ๆ เมื่อได้รับการส่งเสริมเครื่องมือในการผลิตจึงได้ขยายปริมาณมากขึ้น โดยผลิตทุกวันอังคารที่บ้านผู้ใหญ่บ้านซึ่งได้ให้ความอนุเคราะห์สถานที่เป็นที่ตั้งกลุ่มสตรีแปรรูปน้ำพริก นางลําสวน ขําใบ ประธานกลุ่มสตรีแปรรูปน้ำพริก กล่าวว่า จากการรวมตัวของสมาชิกเพื่อผลิตน้ำพริกทุกวันอังคาร ผลิตได้เดือนละกว่า 2,000 กิโลกรัม ได้เริ่มขยายตลาดไปยังจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ปทุมธานี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี มีร้านค้าที่รับไปจำหน่ายประจำมากถึง 66 ร้านค้า น้ำพริกของกลุ่มที่ผลิตขึ้นนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นความต้องการของตลาดและผู้บริโภคมากมีความสด ไม่ใส่สารกันบูด ให้รสชาติธรรมชาติอย่างแท้จริง นอกจากนี้สมาชิกสตรีดังกล่าวยังรวมกลุ่มทำน้ำยาล้างจานเพื่อใช้ในครัวเรือน แชมพูสระผม ขนมดอกจอก และพิมเสนน้ำ เป็นการเสริมสร้างรายได้และลดรายจ่ายอีกทางหนึ่ง
4.กลุ่มโรงสีข้าวชุมชนภายน
บ้านคลองฝรั่ง ประกอบอาชีพทำนาเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเก็บเกี่ยวได้ก็ขายให้แก่พ่อค้าทำให้ได้ราคาต่ำจึงเกิดความคิดของกลุ่มผู้ทำนาว่าการจำหน่ายผลผลิตก็เป็นรายได้หลักของครอบครัว ในขณะเดียวกันชาวบ้านกลับไปซื้อข้าวสารเพื่อบริโภคในครัวเรือน เมื่อ ปี พ.ศ. 2544 มีการจัดเวทีประชาคมและมีมติให้จัดตั้งกลุ่มโรงสีข้าวชุมชน โดยได้รับเงินทุนเพื่อจัดตั้งโรงสีข้าวจากกองทุนพัฒนาสังคม (SIF) ปัจจุบันโรงสีข้าวชุมชนบ้านคลองฝรั่งมีกําลังในการผลิตให้แก่สมาชิกในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงวันละ 5 เกวียน โดยบริการสีข้าวฟรีไม่เก็บค่าบริการรายได้ของโรงสีมาจากรําปลายข้าว และแกลบที่จำหน่ายให้สมาชิกเพื่อใช้เป็นอาหารของปลา เป็ด ไก่ วัตถุดิบในการจัดทำปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งนับเป็นเครือข่ายวัตถุดิบในการดำเนินการเศรษฐกิจพอเพียง จากการที่ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมการบริโภคข้าวหอมมะลิแต่ในพื้นที่ปลูกไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร คณะกรรมการได้จัดซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิมาสีจำหน่ายให้แก่ชาวบ้านในราคาถูกและได้วางแผนในการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมแล้ว
5.ศูนย์ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิ
เมื่อปี พ.ศ. 2543 ได้จัดตั้งศูนย์ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนการจัดทำแปลงนาสาธิตเนื้อที่ 200 ไร่ ต่อมาได้รับเงินงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีในการจัดตั้งโรงสีขึ้นอีก 1 โรง เป็นโรงสีขนาดเล็กรับสีข้าวให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งการสีข้าวหอมมะลินี้จะต้องเป็นข้าวเปลือกค้างปีจึงจะได้เมล็ดข้าวที่สวยและไม่หัก การดําเนินงานของกลุ่มโรงสีข้าวชุมชนและโรงสีข้าวของศูนย์ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิบ้านคลองฝรั่งนี้นับเป็นเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง ชาวบ้านทำนาและเก็บข้าวไว้บริโภคในครัวเรือนโดยเก็บไว้ในกระสอบ เมื่อจะบริโภคก็นำไปสีทำให้ค่าครองชีพลดลงและยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพอีก เนื่องจากข้าวสารที่สีได้ไม่ได้ขัดหลายครั้ง ข้าวสารไม่ได้ใส่สารกันบูด และมีการสีข้าวกล้อง
6.กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 เพื่อเป็นการอบรมให้ความรู้สาธิตการจัดทำปุ๋ยชีวภาพเป็นการลดการใช้สารเคมี นายอภิชาติ ขันธ์จำนง เป็นประธานกลุ่ม มีการนำรําปลายข้าวจากโรงสีในหมู่บ้านทั้ง 2 โรง มาใช้ทำปุ๋ยชีวภาพ ปัจจุบันสมาชิกส่วนใหญ่ได้ผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ในการเกษตรของตนเป็นการลดต้นทุนในการผลิตและลดการใช้สารเคมีได้มาก นำไปสู่หมู่บ้านปลอดสารพิษ
7.ศูนย์ซ่อมบํารุงเครื่องมือการเกษตรและอุปกรณ์ไฟฟ้า
จากการได้รับงบประมาณเพื่อซื้อเครื่องมือในการซ่อมเครื่องมือการเกษตรและอุปกรณ์ไฟฟ้าจากองค์การบริหารส่วนตำบลไทรน้อย เครื่องมือและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ โดยจัดตั้งกลุ่มขึ้นที่บ้านของนายสมยศ แสงเปีย ประธานศูนย์ซ่อมบํารุงเครื่องมือการเกษตรและอุปกรณ์ไฟฟ้า สมาชิกกลุ่มได้เปิดให้การบริการซ่อมคิดค่าบริการเป็นค่ากระแสไฟฟ้าเครื่องละ 20 บาท นับเป็นการอยู่ร่วมกันแบบเอื้ออาทร มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยการซ่อมบํารุงเครื่องมือที่ชํารุดให้ใช้ในสภาพที่ดีและจำหน่าย
8.กลุ่มปลูกผักหวานปลอดสารพิษ
นางนฤพร กระดี่ ผู้นำกลุ่มปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษเพื่อบริโภคได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มปลูกผักหวานปลอดสารพิษขึ้นโดยได้รับเงินในการจัดซื้อพันธุ์ผักหวาน จำนวน 4,000 บาท ปัจจุบันสมาชิกได้ปลูกผักหวานปลอดสารพิษเพื่อจำหน่าย มีการกู้เงินจากกลุ่มในการดําเนินงาน
9.กองทุนหมู่บ้าน
บ้านคลองฝรั่งได้จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2542 ได้รับเงินกองทุน 1,000,000 บาท สมาชิกกำหนดส่งเงินสัจจะกองทุนหมู่บ้าน ในวันที่ 6 ของทุกเดือน พร้อมกับการส่งเงินสัจจะสะสมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จากการดําเนินงานที่ผ่านมาสมาชิกได้รับประโยชน์จากกองทุนหมู่บ้านมากมีทุนให้กู้ยืมเงินเพื่อนำไปประกอบอาชีพ สมาชิกได้ยึดถือและปฏิบัติตามระเบียบของกองทุนหมู่บ้านอย่างเคร่งครัด
10.กลุ่มเกษตรกร
จากการรวมกลุ่มสมาชิกเพื่อกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) การเกษตร ชาวบ้านคลองฝรั่งจึงได้รวมกันเป็นกลุ่มเกษตรกรบ้านคลองฝรั่งขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
11.กลุ่มเยาวชนกับการสืบสานภูมิปัญญา
กลุ่มเยาวชนบ้านคลองฝรั่งรวมกันจัดตั้งกลุ่มเพื่อส่งเสริมและสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ได้แก่ การรดน้ำดําหัวผู้สูงอายุ กิจกรรมวันกตัญญู กิจกรรมวันพ่อ กิจกรรมวันแม่ สืบทอดดนตรีและการละเล่นพื้นบ้าน ได้แก่ กลองยาว นอกจากนี้ ยังร่วมกิจกรรมในหมู่บ้าน ได้แก่ การเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต นางสาว ศุภลักษณ์ สร้อยเสม ผู้นํากลุ่มเยาวชนได้มีส่วนร่วมเป็นวิทยากรกระบวนการในการจัดเวทีประชาคมหมู่บ้าน
12.ชมรมกีฬาบ้านคลองฝรั่ง
ชุมชนบ้านคลองฝรั่งมีการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีการส่งเสริมกีฬา ส่งเสริมสุขภาพ ส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การรวมกลุ่มเยาวชนด้านการแข่งขันกีฬาและต่อต้านยาเสพติดในหมู่บ้าน สนามกีฬาบ้านคลองฝรั่งได้รับการอนุเคราะห์ใช้สถานที่ส่วนตัวของชาวบ้านเพื่อจัดทำเป็นสนามฟุตบอล คณะกรรมการกีฬาได้กําหนดการแข่งขันทุกวันอาทิตย์และมีการแข่งขันกีฬาฟุตบอล "คลองฝรั่งคัพ" ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลไทรน้อย
13.โครงการคลองสวยน้ำใส
ชุมชนบ้านคลองฝรั่ง ได้ร่วมมือกันในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยดําเนินการคลองสวยน้ำใสกําจัดผักตบชวา วัชพืช และขยะในคลองฝรั่ง โดยการสนับสนุนโครงการจากองค์การบริหารส่วนตำบลไทรน้อย
จิฬาภรณ์ พยัคฆาภรณ์. (2555). การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : กรณีศึกษาชุมชนบ้านคลองฝรั่ง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช.