ชุมชนชาวชาติพันธ์ุลาหู่ ชุมชนที่มีประเพณีที่สำคัญ วิถีชีวิตที่เรียบง่าย และการอยู่ร่วมกันของคนกับป่าอย่างยั่งยืน
ชุมชนซึ่งตั้งอยู่บริเวณเดียวกับลำห้วย ซึ่งชื่อว่า "ห้วยป่าแขม" จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชนดังกล่าว
ชุมชนชาวชาติพันธ์ุลาหู่ ชุมชนที่มีประเพณีที่สำคัญ วิถีชีวิตที่เรียบง่าย และการอยู่ร่วมกันของคนกับป่าอย่างยั่งยืน
บ้านห้วยป่าแขม เดิมทีมีชาวบ้านประมาณ 15 ครัวเรือน อาศัยอยู่ ส่วนใหญ่เป็นชาวลาหู่ (มูเซอ) ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาจาก ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยมี นายดูแล จะมี เป็นผู้นำคนแรก นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านดังนี้
ช่วงเวลา | เหตุการณ์ |
พ.ศ. 2504 | เริ่มมีการย้ายถิ่นฐานและตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว |
พ.ศ. 2523-2524 | หน่วยงานทหารเข้ามาจัดตั้ง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน |
พ.ศ. 2525 | โรงเรียนปิดการเรียนการสอน |
พ.ศ. 2542 | ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแม่อาย เข้ามาจัดตั้งศูนย์บริการให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้านในชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม |
พ.ศ. 2543 | มีการแต่งตั้งผู้นำคนที่ 5 คือ นาย จะดี สล่าแสง |
พ.ศ. 2550 | ทางหน่วยงานราชการเข้ามาก่อสร้างถนนลาดยางให้กับหมู่บ้าน |
พ.ศ. 2555 | มีการเข้ามาติดตั้งระบบไฟฟ้าของทางหน่วยงานราชการให้กับชาวบ้านในชุมชนทุกหลังคาเรือน |
บ้านห้วยป่าแขม ตั้งอยู่ที่หมู่ 13 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหย่อมบ้านของบ้านเมืองงามใต้ มีระยะห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่อาย 37 กิโลเมตร บริเวณหมู่บ้านล้อมรอบด้วย ภูเขา 4 ด้าน ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง มีอากาศที่เย็นสบาย ล้อมด้วยป่าไม้และพืชพันธ์ุต่าง ๆ มีลำห้วยไหลผ่าน 1 สาย
นอกจากนั้นในหมู่บ้านยังมีสถานที่อื่น ๆ ได้แก่
- หอแหย่ (วัด) 1 แห่ง
- ปั้มน้ำมัน 1 แห่ง
- ร้านค้าชุมชน 3 แห่ง
- สถานศึกษาสังกัดอื่น 1 แห่ง
- กองทุนหมู่บ้านบ้านขุนแม่ฮุ 1 แห่ง
แต่ละปี ในชุมชนจะมีการจัดประเพณีตามช่วงเวลา ดังนี้
เดือน | ประเพณีที่เกิดขึ้นในชุมชน |
มกราคม | ประเพณีกินวอ (เทศกาลปีใหม่ของชาวลาหู่) |
เมษายน | ประเพณีก่อทรายและสร้างศาลาเตเว |
กรกฎาคม | ประเพณีเข้าเว่ (เข้าพรรษา) |
ตุลาคม | ประเพณีกินข้าวใหม่ |
ทุนวัฒนธรรม
การเต้นจะคึ (ปอยเตเว)
เป็นการบ่งบอกถึงความหลากหลายในด้านของการประกอบอาชีพ การดำรงชีวิตของชาวบ้าน การเต้นจะคึจะมีขึ้นเทศกาลกินวอ (ปีใหม่ของชาวลาหู่) เพื่อเป็นแสดงออกถึงการเฉลิมฉลองและเพื่อขอบคุณแขกที่มาร่วมงาน
ประเพณีกินวอ (วันปีใหม่ของชาวลาหู่)
เทศกาลปีใหม่ของชาวลาหู่ ชาวบ้านจะเนื้อหมูดำและข้าวปุ๊ก/ออผุ (ข้าวเหนียวตำแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนกลม) เป็นเครื่องเซ่นต่อเทพเจ้าอือซา โดยในช่วงของเทศกาลจะมีการละเล่นต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น การขว้างลูกข่าง การเต้น การโยนลูกบอล
นอกจากนั้น หากมีการจัดงานเดียวกันในชุมชนใกล้เคียง ก็จะมีพิธีกรรมเพิ่มขึ้นมา เรียกกันว่า "ออรีเตดะเว" หรือการไปเยี่ยมหมู่บ้านอื่นพร้อมกับเนื้อหมูและข้าวปุ๊ก เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนอาหาร และสำหรับการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
ประเพณีกินวอ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อ ความศรัทธาของคนในชุมชนต่อเทพเจ้า ซึ่งจะมีแคนเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรม
ทุนทางเศรษฐกิจ
- การสานตะกร้า
- ยาสมุนไพรพื้นบ้าน
- การทอผ้า
คนในชุมชนใช้ "ภาษาลาหู่" ในการติดต่อสื่อสาร
กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ. (ม.ป.ป). ห้วยป่าแขม. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2567, https://www.ศศช.com
ศศช.บ้านห้วยป่าแขม. Facebook. https://www.facebook.com/profile