Advance search

บ้านแม่ผาปู เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตคู่กับลำห้วย "แม่ผาปูโกละ" พร้อมด้วยวัฒนธรรมประเพณีผูกข้อมือ "กี่จึ๊" อันสะท้อนให้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอกับการทำเกษตรกรรม

หมู่ที่ 1
บ้านแม่ผาปู
แม่แดด
กัลยาณิวัฒนา
เชียงใหม่
อบต. แม่แดด โทร. 0-5331-7453
จรัสศรี สมตน
2 ส.ค. 2024
จรัสศรี สมตน
2 ส.ค. 2024
บ้านแม่ผาปู

หมู่บ้านแม่ผาปู ตั้งชื่อตามลำห้วย "แม่ผาปูโกละ" เป็นลำห้วยที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่บ้านแม่ผาปู


บ้านแม่ผาปู เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตคู่กับลำห้วย "แม่ผาปูโกละ" พร้อมด้วยวัฒนธรรมประเพณีผูกข้อมือ "กี่จึ๊" อันสะท้อนให้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอกับการทำเกษตรกรรม

บ้านแม่ผาปู
หมู่ที่ 1
แม่แดด
กัลยาณิวัฒนา
เชียงใหม่
58130
18.93197421
98.35097328
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่แดด

การตั้งถิ่นฐานของประชากรในพื้นที่บ้านแม่ผาปูเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2464 โดยประชากรในหมู่บ้านเป็นชุมชนชาติพันธ์ุกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ กระจายอาศัยอยู่ตามบริเวณลุ่มบ้านแม่ผาปูและตั้งอยู่ห่างจากลำห้วยบ้านแม่ผาปูประมาณ 1 กิโลเมตร โดยในแต่ละหลังคาเรือนจะอาศัยน้ำจากลำห้วยดังกล่าวในการดำรงชีวิตทั้งในการอุปโภค บริโภค รวมไปถึงด้านเกษตรกรรม

ในด้านประวัติศาสตร์การปกครอง แต่เดิมหมู่บ้านแม่ผาปูอยู่ในเขตการปกครองต่อตำบลแม่นาจร เมื่อรวมเป็นหมู่บ้านหมู่ที่ 11 จึงอยู่ในเขตการปกครองตำบลบ้านจันทร์ ต่อมาใน พ.ศ. 2538 บ้านแม่แดดได้ยกระดับเป็นตำบลบ้านแม่แดด จึงทำให้บ้านแม่ผาปูอยู่ภายใต้การปกครอง เป็นบ้านแม่ผาปู หมู่ที่ 1 ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงปัจจุบัน

บ้านแม่ผาปู หมู่ที่ 1 ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวอำเภอกัลยาณิวัฒนา 55 กิโลเมตร โดยประมาณ มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 800-1,200 เมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 34 ตารางกิโลเมตร 

มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยปู ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านแม่ตะละใต้ ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสบแม่แดด ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านปกกะโหล่ง ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่

มีประชากรจำนวนทั้งสิ้น 63 หลังคาเรือน แยกย่อยออกเป็น 68 ครัวเรือน จำนวนประชากรจำนวนทั้งสิ้น 237 คน ประกอบด้วย ประชากรชายจำนวน 123 คน ประชากรหญิงจำนวน 114 คน  

ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีอาศรมพระธรรมจาริกในการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และมีครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์จำนวน 3 หลังคาเรือน 

ปกาเกอะญอ

ชาวบ้านแม่ผาปูมีวิถีชิวิตเรียบง่าย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประกอบด้วย การปลูกข้าวโพด และพืชไร่อื่น ๆ การปลูกข้าวประมาณ 20 หลังคาเรือน มีการเลี้ยงไก่และหมูทุกหลังคาเรือน และมีการเลี้ยงวัวและควายบางหลังคาเรือน รวมไปถึงองค์กรในชุมชน ประกอบไปด้วย ร้านค้า จำนวน 3 แห่ง

ประเพณีผูกข้อมือ (กี่จึ๊)

ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ มีการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับวิถีชีวิตอยู่หลายพิธีกรรม พิธีกรรมที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตหลัก นั้น ประกอบด้วย พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด พิธีกรรมเกี่ยวกับการตาย พิธีกรรมเกี่ยวกับการเจ็บป่วย พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกษตรกรรม ซึ่งพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีชีวิตของปกาเกอะญอ เนื่องจากยุคสมัยปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากขึ้น ส่งผลต่อการคงอยู่ของพิธีกรรม

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านผาแม่ปูยังคงมีการสืบทอดประเพณีผูกข้อมือ (กี่จึ๊) ซึ่งเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกษตรกรรม พิธีกรรมนี้จะประกอบพิธีกรรมเฉพาะประชากรที่นับถือศาสนาพุทธ ส่วนประชากรที่นับถือศาสนาคริสต์จะไม่มีการประกอบพิธีกรรมนี้ โดยจะประกอบพิธีกรรมครั้งแรกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงหาพื้นที่ในการทำไร่หมุนเวียน ในครั้งที่สองจะประกอบพิธีกรรมในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ข้าวไร่กำลังตั้งท้อง การประกอบพิธีกรรมดังกล่าวจะเป็นการบอกให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าป่า เจ้าเขา เพื่อให้รับรู้ว่าได้เวลาที่จะทำการเกษตร การประกอบพิธีกรรมผูกข้อมือ เปรียบเสมือนเป็นการเรียกขวัญที่อยู่ในตัวเราให้กลับมา เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ และเป็นการขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สุขภาพแข็งแรง ก่อนที่จะลงมือทำการเกษตร หากไม่ได้ทำตามพิธีกรรมหรือประเพณีดั้งเดิมจะเกิดการผิดผีบรรพบุรุษ ชีวิตจะเกิดการติดขัดไม่ราบรื่น เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ก็ไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร

ในวันพิธีผูกข้อมือ คนในครอบครัวทุกคนจะอยู่ในบ้านโดยพร้อมเพียงกัน ขั้นแรกผู้นำครอบครัวจะเรียกขวัญโดยใช้ไม้เคาะหัวบันไดพร้อมกับคำขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือให้มาอวยพรและเรียกขวัญของทุกคนในบ้านให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวกับครอบครัว เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะเข้ามาในบ้านแล้วถามลูกหลานว่า เก่อลาเกลีฮ่า (ขวัญมาหรือยัง) ลูกหลานก็ตอบว่า เกลี (กลับมาแล้ว) จากนั้นก็จะฆ่าหมูหรือไก่ที่เตรียมไว้ทำเป็นอาหาร เมื่ออาหารสุกแล้วก็จะเตรียมข้าว กับข้าวพร้อมด้วยเครื่องเรียกขวัญมาวางไว้รวมกัน จากนั้นผู้นำครอบครัวหรือผู้อาวุโสจะทำพิธีเรียกขวัญด้วยเอาไม้เคาะที่ขันโตกพร้อมกับคำขอพรขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บุญบารมีคุ้มครองลูกหลานไม่ให้เจอสิ่งชั่วร้ายไม่เจ็บไข้ได้ป่วย หลีกหนีจากผีน้ำผีพรายผีป่าหนีให้พ้นจากสิ่งเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวง เมื่อผูกข้อมือเสร็จเรียบร้อยก็จะทำพิธีขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์พร้อมกับรินสุราไปพร้อมกับคำอวยพร จากนั้นก็ดื่มสุราคนละนิดหน่อยพอเป็นพิธี และก่อนที่จะเริ่มรับประทานอาหารก็จะนำข้าว อาหาร น้ำและสุราเทให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลประจำบ้าน จากนั้นจึงรับประทานอาหารพร้อมกันกับแขกที่มา ทั้งนี้จะมีการผูกข้อมือก็จะดำเนินไปตลอดทั้งวันโดยมีการเชิญสมาชิกในหมู่บ้านไปร่วมผูกข้อมือกัน และมีการดื่มสุราพร้อมกับขับลำนำหรืออึธากันอย่างสนุกสนานตลอดวัน

หมู่บ้านแม่ผาปูมีผู้นำธรรมชาติ คือ ขะตี้ โอภาคเมฆี จนกระทั้งใน พ.ศ. 2538 ได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการ คนแรก คือ นายสิงค์คำ โอภาคเมฆี ต่อมา คือ นายอำนวย แดงฤทัย และนายมนูญ กล้าณรงค์ชีพ ปัจจุบันมีนายเอกวี สุภาพวรนาถเป็นผู้ใหญ่บ้าน และมีนายเสาร์คำ สานุวิตร เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในปัจจุบันประชากรที่เป็นชนรุ่นหลังส่วนใหญ่ที่เข้าไปใช้ชีวิตในเมืองเมื่อกลับมามีครอบครัว มักขาดความตระหนักและไม่เห็นความสำคัญของการดำเนินชีวิตในแบบชนเผ่าปกาเกอะญอดั้งเดิม มีการรับเอาวัฒนธรรมภายนอกเข้ามาประกอบกับกระแสนิยมจากสื่อต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเชื่อดั้งเดิมของคนในชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ระบบฐานข้อมูลศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง".  (ม.ป.ป.). สืบค้น 1 สิงหาคม 2567, https://www.ศศช.com/

ศศช. บ้านแม่ผาปู. (2567). สืบสานวัฒนธรรมอนุรักษ์วิธีปาเก่อกญอ(กี่จึ๊). สืบค้น 2 สิงหาคม 2567, https://www.facebook.com/

อบต. แม่แดด โทร. 0-5331-7453