"บ้านห้วยกุ๊บกั๊บ" จุดหมายอันพึงปรารถนาของนักเดินทางพิชิตขุนเขาและสายหมอก
"บ้านห้วยกุ๊บกั๊บ" ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีลำห้วยสายหนึ่งไหลลงสู่ลำน้ำแม่แตงทางทิศเหนือของแก่งกื้ด ตรงทางข้ามลำห้วยมีหินก้อนหนึ่ง หากเดินข้ามลำห้วยและเหยียบหินก้อนนี้จะได้ยินเสียงดัง "กุ๊บกั๊บ" มาจากก้อนหินดังกล่าว ชาวบ้านเมืองกื้ดจึงเรียกลำห้วยนี้ว่า "ห้วยกุ๊บกั๊บ"
"บ้านห้วยกุ๊บกั๊บ" จุดหมายอันพึงปรารถนาของนักเดินทางพิชิตขุนเขาและสายหมอก
ใน พ.ศ. 2525 ชาวเขาเผ่ามูเซอแดงอพยพมาจากบ้านป่าโหล หมู่ที่ 11 ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นำโดย นายจะเงิน อามะ นายจะอี สะจะ และนายจะนุ สะจะ มาจับจองที่ดินทำกินและสร้างที่อยู่อาศัย และต่อมาในปี 2528 ชาวบ้านจากบ้านป่าโหลอพยพมาอยู่เพิ่มขึ้นจำนวน 11 หลังคาเรือน มีการแต่งตั้งให้นายจะเงิน อามะ เป็นผู้นำประจำเผ่า และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อลำห้วยนี้ว่า "บ้านห้วยกุ๊บกั๊บ" ซึ่งมีฐานะเป็นหย่อมบ้านของบ้านเมืองกื้ด หมู่ 1 ตำบลกื้ดช้าง และเป็นปีแรกในการก่อตั้งหมู่บ้านแห่งนี้อีกด้วย
ต่อมาใน พ.ศ. 2537 เกิดการย้ายที่ตั้งของหมู่บ้าน สืบเนื่องจากผู้นำและชาวบ้านมีความเห็นว่า ที่ตั้งของหมู่บ้านไม่เหมาะสมตามความเชื่อของชนเผ่า จึงทำการย้ายหมู่บ้านขึ้นมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบัน และหมู่บ้านห้วยกุ๊บกั๊บยังคงเป็นหย่อมบ้านของบ้านเมืองกื้ด ตำบลกื้ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงปัจจุบัน
บ้านห้วยกุ๊บกั๊บอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 50 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนมากเป็นป่าและรายล้อมไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน ทางเข้าหมู่บ้านมีความลาดชัน มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 23.8 องศาเซลเซียส
ประชากรในหมู่บ้านจำนวนทั้งสิ้น 206 คน มีจำนวนครัวเรือน 51 ครัวเรือน เป็นชาวมูเซอแดง (ลาหู่)
ลาหู่ในปัจจุบันบ้านห้วกุ๊บกั๊บได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ในการสัมผัสอากาศหนาวเย็นและรับชมทัศนียภาพทะเลหมอกบนยอดเขา ทำให้ชาวบ้านเปิดสถานประกอบการ/บ้านพัก/โฮมสเตย์ จำนวน 16 แห่ง และมีร้านค้าในชุมชนจำนวน 3 แห่ง
ประเพณีกินวอ (ปีใหม่ลาหู่) เป็นเทศกาลใหญ่ประจำปี ซึ่งจัดขึ้นปีละครั้งเท่านั้น ชาวเขาที่ถือประเพณีความเชื่อดั้งเดิมจะหยุดงานทางการเกษตร (ทำไร่, นา) มาร่วมฉลองเทศกาล และจัดงานรื่นเริงกันทั้งชุมชนตลอด 7 วัน 7 คืน ชาวลาหู่จะไม่ออกจากชุมชนของตน (นอกจากเดินทางไปร่วมฉลองเทศกาลนี้กับชุมชนอื่น ๆ) ในด้านหนุ่มสาวที่ไปทำงาน หรือแต่งงานอยู่ต่างบ้าน จะกลับมาบ้านมาร่วมทำพิธีกรรมด้วย
กลุ่มผู้บุกเบิกในการตั้งถิ่นฐานบ้านห้วยกุ๊บกั๊บ ได้แก่ นายจะเงิน อามะ นายจะอี สะจะ และนายจะนุ สะจะ แต่เมื่อมีการย้ายที่ตั้งหมู่บ้านมายังที่ตั้งในปัจจุบันได้มีการคัดเลือกผู้นำ โดย นายอธิคม อาหม่า เป็นผู้นำประจำเผ่า และนายอาโหล จะลอ เป็นผู้ช่วยผู้นำประจำเผ่า
เนื่องจากที่ตั้งของบ้านห้วยกุ๊บกั๊บมีทิวทัศน์ที่สวยงาม จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพเปิดที่พักให้กับนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน
ป่าแม่แตง
เขตปฏิรูปที่ดิน (สปก.)
กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ. (ม.ป.ป.). บ้านห้วยกุ๊บกั๊บ. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2567. ระบบฐานข้อมูลศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง". https://www.ศศช.com
องค์การบริหารส่วนตำบลกื๊ดช้าง. สภาพทั่วไป. สืบค้นเมื่อ 19 สิงหาคม 2567. https://www.kuedchang.go.th/.
Kapook Travel. (2566). ห้วยกุ๊บกั๊บ จ.เชียงใหม่ หมู่บ้านลับในยอดดอย กลางคืนมองดาว เช้าดูทะเลหมอก. สืบค้นเมื่อ 19 สิงหาคม 2567. https://travel.kapook.com/
Trip.com. (2566). หมู่บ้านห้วยกุ๊บกั๊บ. สืบค้นเมื่อ 19 สิงหาคม 2567. https://th.trip.com/moments/detail/.