บ้านห้วยนกกก อันนามกำเนิดจากลำห้วย แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ ผสานวัฒนธรรมลาหู่
ชื่อของหมู่บ้านมาจากการเรียกชื่อตามลำห้วยนกกกที่ไหลผ่านหมู่บ้าน
บ้านห้วยนกกก อันนามกำเนิดจากลำห้วย แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ ผสานวัฒนธรรมลาหู่
"บ้านห้วยนกกก" ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2504 โดยชาวบ้านได้อพยพมาจากบ้านห้วยผักไผ่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแม่มาว ให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวไปยังพื้นที่ใหม่ ได้แก่ หมู่บ้านหนองไผ่ในปัจจุบัน และหมู่บ้านห้วยนกกก ซึ่งนำโดย นายจะแฮ พื้นที่บ้านห้วยนกกกนั้นเป็นที่อยู่ของชาวสวนที่ปลูกพืชกระท่อมมาก่อน ในเวลาต่อมามีชาวบ้านบางส่วนจากหมู่บ้านนากองมู ประเทศพม่า ได้ทำการอพยพมาอาศัยอยู่ด้วย และได้เปลี่ยนชื่อจาก หมู่บ้านห้วยผักไผ่ เป็นชื่อ หมู่บ้านห้วยนกกก มาจนถึงปัจจุบัน
หมู่บ้านห้วยนกกก ตั้งอยู่หมู่ที่ 15 ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ห่างจากตัวอำเภอฝางประมาณ 23 กิโลเมตร อยู่ท่ามกลางภูเขาที่สลับซับซ้อนและใกล้บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา
หมู่บ้านห้วยนกกก เป็นชาวเขาเผ่า มูเซอ (แดง) มีจำนวนประชากรทั้งหมด 249 คน และครัวเรือนจำนวน 61 ครัวเรือน
ลาหู่บ้านห้วยนกกกมีสถานประกอบการร้านค้า จำนวน 3 แห่ง
ประเพณีกินวอ เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาของชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่ เป็นการเต้นเพื่อบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมสำคัญ ทั้งประเพณีกินวอ ทำบุญวันขึ้นปีใหม่ รวมทั้งเมื่อมีคนในชุมชนเกิดการป่วยไข้ โดยชุมชนของชาวลาหู่จะมีลานกว้างอยู่ในชุมชน เรียกว่า ลานจะคึ ใช้ประกอบการทำพิธีดังกล่าว
ประเพณีกินข้าวใหม่ ชาวลาหู่จะจัดขึ้นในช่วงของกลางเดือนตุลาคมของทุกปี โดยก่อนวันงานแต่ละบ้านก็จะมีการฆ่าหมู สำหรับนำมาทำเป็นอาหารและจัดเตรียมอาหารประเภทเครื่องดื่มและขนมไว้ต้อนรับแขกหรือญาติที่มาเยี่ยมเยือน และนำผลผลิตจากการเกษตรโดยเฉพาะข้าวใหม่หรือข้าวไร่ในปีนั้น มากินเลี้ยงกันภายในหมู่บ้านตลอดทั้งวัน โดยประเพณีกินข้าวใหม่ จะมีความคล้ายคลึงกับประเพณีของคนเหนือที่เรียกว่า "กิ๋นข้าวสลาก" คือจะกินกันทั้งวันในวันดา ส่วนอีกวันก็จะเป็นการไปทำบุญที่วัด สำหรับชาวลาหู่วันกินข้าวใหม่ ก็จะมีการดำหัวขอพรคนที่เขานับถือด้วย ส่วนของที่นำมาดำหัวส่วนมากก็จะเป็นอาหาร ถือเป็นการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวลาหู่อีกอย่างหนึ่ง
1.นายจะแฮ ผู้นำชาวบ้านในการอพยพและก่อตั้งบ้านห้วยนกกก
2.นายจะที ปาเด่อ เป็นผู้นำชุมชนปัจจุบัน
กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ. (ม.ป.ป.). บ้านห้วยนกกก. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2567. ระบบฐานข้อมูลศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง". https://www.ศศช.com
ม่อนปิ่น. (2565). วิถีชีวิตบ้านห้วยนกกก. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2567. Facebook. https://www.facebook.com/monpin3d/
องค์การบริหารส่วนตำบลม่อนปิ่น. (2567). ข้อมูลทั่วไปตำบลม่อนปิ่น. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2567. https://monpinfang.go.th/