สนุกสนานไปกับประเพณีการเต้นรำ บ่อฉ่องตูเออ ร่วมพี่น้องชาติพันธุ์ชาวอ่าข่า
มีที่มาจากชื่อผู้นำคนแรกที่ก่อตั้งหมู่บ้าน ชื่อว่า กอแอ
สนุกสนานไปกับประเพณีการเต้นรำ บ่อฉ่องตูเออ ร่วมพี่น้องชาติพันธุ์ชาวอ่าข่า
เกิดการรวมตัวของชุมชนอย่างไม่เป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2513 เป็นการอพยพมาจากหมู่บ้านยะผ่า มีครัวเรือนจำนวนทั้งสิ้น 27 ครัวเรือน มีสาเหตุมาจากการขาดแคลนพื้นที่ทำกิน โดยชาวบ้านได้รับเหรียญที่ระลึก เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงความเป็นคนไทยเป็นการชั่วคราว จากนั้นทางการจึงได้ออกบัตรประชาชน พร้อมทั้งทะเบียนบ้านให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ใน พ.ศ. 2543 จนกระทั่งใน พ.ศ. 2554 เกิดการก่อตั้งชุมชนขึ้นอย่างเป็นทางการ และมีการย้ายตำแหน่งหมู่บ้านกอแอออกมาตั้งในพื้นที่ใหม่ในทั้ง 27 ครัวเรือน เนื่องจากหมู่บ้านกอแอเก่ามีปัญหาเรื่องป่าต้นน้ำ โดยที่ตั้งใหม่แห่งนี้ห่างจากพื้นที่หมู่บ้านเดิมประมาณ 3.5 กิโลเมตร ในตอนแรกไม่มีผู้นำชุมชน แต่มีผู้ช่วยทางราชการ คือ นายสรพงษ์ เดหลุ่ม และได้มีการแต่งตั้งนายอาเบอะ เดหลุ่ม เป็นผู้นำชุมชนขึ้นมาใน พ.ศ. 2556 โดยชุมชนหมู่บ้านกอแอ เป็นบริวารของบ้านเมืองงาม ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 9 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
ล้อมรอบไปด้วยภูเขาสูง มีน้ำกกไหลผ่านบริเวณตำบลท่าตอน และอยู่ใกล้บริเวณชายแดนไทย-เมียนมาร์
ชาวบ้านเป็นชาวอ่าข่า มีประชากรทั้งหมด 65 คน และจำนวนครัวเรือน 18 ครัวเรือน
อ่าข่าบ้านกอแกมีสถานประกอบการและองค์กรชุมชน ประกอบด้วย สถานประกอบการที่พักจำนวน 1 แห่ง ชาวบ้านประกอบอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรม เช่น ปลูกข้าว ข้าวโพด นอกจากนี้ก็ยังมีการเลี้ยงสัตว์เพื่อหารายได้เสริม เช่น สุกร ไก่ เป็นต้น
การเต้นรำ(บ่อฉ่องตูเออ) เป็นการละเล่นในช่วงที่มีพิธีกรรม หรือประเพณีเท่านั้น โดยชายและหญิงจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าที่งดงาม แล้วมารวมตัวกันที่ลานหมู่บ้านหรือที่ที่มีพื้นที่กว้างขวาง โดยจะมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการเต้นรำ ดังนี้ กลองที่ทำมาจากไม้ หนังวัว-กวาง (ถ่อง), ฆ้อง (โบวโล), ฉิ่ง (แจและ), กระบอกไม้ (บ่อฉ่อง)
สำหรับลักษณะการเต้นมีหลายแบบด้วยกัน ดังนี้
- เต้นเป็นวงกลม โดยทุกคนจะเต้นตามจังหวะตามเสียงกลอง โดยจะเต้นด้านซ้ายไปยังด้านขวาอย่างพร้อมเพรียงกัน
- เต้นแบบราวกระทบไม้ เป็นการเต้นที่เน้นเรื่องของจังหวะ โดยผู้หญิงจะมีกระบอกไม้สำหรับกระทบไม้แล้วให้เกิดเสียงดัง และผู้ชายอาจเต้นเป็นวงกลมล้อมรอบผู้หญิงก็ได้ (แดข่อง) โดยแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า เพื่อร้องรำทำเพลง
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าตอน. (2566). ร่วมงานประเพณีวันขึ้นปีใหม่ร้อยใจรักษ์ ณ ลานเรือนโบราณ กาดหลวงร้อยใจรักษ์. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2567. https://www.thaton.go.th/
กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ. (ม.ป.ป.). บ้านกอแแอ. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2567. ระบบฐานข้อมูลศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง". https://www.ศศช.com