Advance search

กุฎีจีน

กะดีจีน

เป็นชุมชนที่ประกอบไปด้วยผู้คนที่นับถือ 3 ศาสนา คือ พุทธ คริสต์ และอิสลาม ที่อาศัยอยู่ด้วยกันอย่างไม่มีข้อขัดแย้ง รวมทั้งยังมีศาสนสถานของทั้ง 3 ศาสนา อยู่บริเวณชุมชนอีกด้วย

ริมแม่น้ำเจ้าพระยา, ถนนเทศบาลสาย 1
วัดกัลยาณ์
ธนบุรี
กรุงเทพมหานคร
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
1 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
26 เม.ย. 2023
กุฎีจีน
กะดีจีน

ชื่อของชุมชนกุฎีจีน มาจากข้อคิดเห็น 2 มุมมองที่แตกต่างกัน คือ 1. เกิดขึ้นจากการที่พ่อค้าชาวจีนมาหยุดตรวจสภาพเรือและสินค้า ก่อนจะเดินทางต่อไปยังกรุงศรีอยุธยา โดยได้มาสร้างศาลเจ้าไว้ และในศาลเจ้า มีพระภิกษุจีนมาพำนักอยู่จึงเป็นที่มาของชื่อกุฎีจีน 2. เกิดจากพื้นที่บริเวณนี้มีศาลเจ้าจีนตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าพ่อกวนอู หรือศาลโจวซือกง ที่ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว หรือศาลเกียนอังเกง ที่ยังเหลืออยู่เป็นประจักษ์พยานมาจนทุกวันนี้


เป็นชุมชนที่ประกอบไปด้วยผู้คนที่นับถือ 3 ศาสนา คือ พุทธ คริสต์ และอิสลาม ที่อาศัยอยู่ด้วยกันอย่างไม่มีข้อขัดแย้ง รวมทั้งยังมีศาสนสถานของทั้ง 3 ศาสนา อยู่บริเวณชุมชนอีกด้วย

ริมแม่น้ำเจ้าพระยา, ถนนเทศบาลสาย 1
วัดกัลยาณ์
ธนบุรี
กรุงเทพมหานคร
10600
พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน โทร. 08-1772-5182, สำนักงานเขตธนบุรี โทร. 0-2465-0025
13.731730
100.479362
กรุงเทพมหานคร

กุฎีจีน หรือกะดีจีน เป็นชุมชนเก่าแก่ของพ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยนที่ตั้งอยู่ริมคลองวัดกัลยาณ์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และกลุ่มคนหลายเชื้อชาติทั้งชาวไทย จีน ฝรั่ง ญวน มอญ ฯลฯ ที่อพยพจากกรุงศรีอยุธยามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณด้านทิศใต้ของคลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่มาของชื่อ 'กุฎีจีน'

แต่เดิมที่มาของชื่อ กุฎีจีน นั้นมีเรื่องเล่ามุขปาฐะต่อ ๆ กันมาว่ามีที่มาจากการที่เคยมีพระภิกษุสงฆ์ชาวจีนเข้ามาพำนักอาศัยอยู่ ก็เลยเรียกว่าบ้านกุฎีจีน คือหมู่บ้านที่มีกุฏิของพระภิกษุจีนตั้งอยู่

ตามบันทึกประวัติศาลเจ้าเกียนอันเกง บันทึกเรื่องราวในสมัยกรุงธนบุรีโดยชาวจีนที่ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสิน แล้วได้สร้างศาลเจ้า 2 ศาล คือ ศาลเจ้าโจวซือกง และศาลเจ้ากวนอู ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 ย้ายพระนครไปอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา คนจีนเหล่านี้จึงอพยพไปรวมกับพวกที่ย่านตลาดน้อยและสำเพ็ง ศาลเจ้าจึงถูกทิ้งร้าง

กาลล่วงเลยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี บรรพชนต้นตระกูลตันติเวชกุล และสิมะเสถียร ซึ่งเป็นชาวจีนเชื้อสายฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาในสยาม ได้ทำการสักการะศาลเจ้าทั้งสองแห่งดังกล่าว แล้วเห็นว่าศาลเจ้าทั้งสองแห่งมีสภาพทรุดโทรม จึงรื้อศาลทั้งสองแห่งนี้ออก จากนั้นก็สร้างศาลใหม่ขึ้นมาแทนที่หลังหนึ่ง พร้อมนำเจ้าแม่กวนอิมเก่าแก่องค์หนึ่งในเมืองแชฮุนเต็ง ประเทศจีน มาประดิษฐานเป็นประธานของศาลเจ้าใหม่แห่งนี้แทน จากนั้นมาศาลเจ้าแห่งนี้เลยถูกเรียกว่า “ศาลเกียนอันเกง” ซึ่งก็หมายถึงศาลเจ้าแม่กวนอิมนั่นเอง

จากข้อมูลข้างต้นจึงนำไปสู่ข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมที่ว่า ชื่อของชุมชน “กุฎีจีน” ควรจะมีที่มาจากการที่พื้นที่บริเวณนี้มีศาลเจ้าจีนตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าพ่อกวนอู หรือศาลโจวซือกง ที่ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว หรือศาลเกียนอังเกง ที่ยังเหลืออยู่เป็นประจักษ์พยานมาจนทุกวันนี้ เช่นเดียวกับที่มีการเรียก “มัสยิด” ในศาสนาอิสลามว่า “กุฎี” ไม่ว่าจะเป็นมัสยิดกุฎีขาว, มัสยิดกุฎีหลวง และมัสยิดกุฎีช่อฟ้า เป็นต้น

กลุ่มคนบริเวณพื้นที่ชุมชนกุฎีจีน

นอกจากชาวจีนที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่กุฎีจีนตามที่ได้กล่าวไปยังหัวข้อก่อนหน้าแล้ว ยังมีกลุ่มชาวคริสตัง และมุสลิมที่เข้ามาอยู่อาศัยบริเวณพื้นที่ชุมชนกุฎีจีน ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

ชาวคริสตัง

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ในครั้งนั้น ชาวคริสตังในกรุงศรีอยุธยาต่างหนีกระจัดกระจายไปในที่ต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แต่ปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสเหล่านั้น แทบไม่เหลือเค้าลางของรูปร่างหน้าตาแบบตะวันตกแล้ว

ในปี พ.ศ. 2312 คุณพ่อยาโกเบ กอรร์ (Jacues Corre) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้เดินทางมายังบางกอกพร้อมชาวคริสตัง และชาวโปรตุเกสจำนวนหนึ่ง เพื่อหวังพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และก็ได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระองค์ ด้วยพระเมตตาที่ทรงมีต่อคุณพ่อกอร์และชาวบ้านทั้งปวง พระองค์ได้พระราชทานเงิน 20 เหรียญ (กษาปณ์) และเรือลำหนึ่ง รวมทั้งสัญญาว่าจะพระราชทานที่ดินสำหรับสร้างวัดคาทอลิกให้

ในปีเดียวกัน คุณพ่อกอรร์และชาวบ้านที่อพยพมาด้วยกันจึงได้ชักชวนชาวคริสตังที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ในบางกอกได้จำนวนราว 400 คน ได้เข้าเฝ้าขอพระราชทานที่ดินจากสมเด็จพระเจ้าตากสินตามสัญญา  ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งให้บริเวณริมน้ำเจ้าพระยา โดยตั้งชื่อที่ดินนี้ว่า ‘ค่ายซางตาครูส’ จากนั้นคุณพ่อกอรร์และชาวคริสตังได้ช่วยกันสร้างวัดขึ้น เรียกว่า ‘วัดซางตาครูส’ ซึ่งโบสถ์แห่งนี้นับเป็นโบสถ์คาทอลิกแห่งที่ 2 ในประเทศไทย

จากวันเวลาที่ผันผ่านทำให้วัดชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จึงต้องมีการบูรณะวัดขึ้นมาใหม่อีกถึง 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2456 บาทหลวงกูเลียล โมกิ๊น ดาครูส ได้สร้างโบสถ์ขึ้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบเรเนสซองส์ หรือที่เรียกว่า แบบนีโอคลาสสิก อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ชาวมุสลิม

สำหรับชาวมุสลิมเป็นกลุ่มชนที่มาตั้งรกรากในกรุงธนบุรีจำนวนมากรองจากชาวจีน ส่วนใหญ่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน ภายหลังสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สถาปนากรุงธนบุรีแล้ว อย่างไรก็ดีมีมุสลิมบางส่วนที่อาศัยอยู่ในธนบุรีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะธนบุรีเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ จึงมีพ่อค้ามุสลิมจากหัวเมืองมลายูเข้ามาทำการค้ากับกรุงศรีอยุธยา และอยู่อาศัยเรื่อยมา

ย่านกุฎีจีนช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 2 – รัชกาลที่ 4 จากบริเวณวัดประยุรวงศาวาส ไปจนถึงวัดอรุณราชวราราม เคยเป็นที่พำนักของราชทูตตะวันตก และมิชชันนารีโปรเตสแตนท์กลุ่มแรก ๆ บุคคลเหล่านี้นอกจากจะเข้ามาเผยแพร่ศาสนาแล้วยังมีคุณูปการต่อวงการแพทย์ การศึกษา และการพิมพ์ของไทย เช่น หมอบรัดเลย์ ที่นอกจากรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการแพทย์สมัยใหม่แล้ว ยังได้ตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกขึ้นในประเทศไทย คณะมิชชันนารี และคณะเพรสไบทีเรียน ได้แก่ หมอแมททูนและภรรยา หมอบุชและภรรยา กับหมอเฮ้าส์ ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นบริเวณบ้านพัก ต่อมาเมื่อมีนักเรียนมากขึ้นจึงย้ายไปตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตำบลสำเหร่ ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน

จากความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชนที่มีคนอยู่ร่วมกันถึงสามศาสนา คือ พุทธ คริสต์ และอิสลาม มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี ทำให้เกิดกิจกรรมสืบสานมรดกวัฒนธรรมย่านกุฎีจีน ‘สามศาสนา สี่ความเชื่อ สู่ความยั่งยืน เพื่อชุมชน โดยชุมชน’ มาจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนกุฎีจีน ซอยกุฎีจีน (ซอยวัดซางตาครู้ส) ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เป็นแบบรวมศูนย์กลาง โดยมีการกระจายเส้นทางออกจากบริเวณใจกลางพื้นที่คล้ายใยแมงมุมมีโบสถ์หรือ วัดซางตาครู้สเป็นศูนย์กลางเหมือนในอดีต และมีทางเดินหลักทุกเส้นเชื่อมจากชุมชนเข้าหาโบสถ์ ซึ่งเป็นที่ทำกิจกรรมหลักโดยตรง

ชุมชนมีลักษณะปิดเนื่องจากทางเท้าที่เดินเข้าออกชุมชนกับภายนอกนั้นต้องผ่าน ศาสนสถาน อาคารหันหน้าเข้าสู่โบสถ์ ยกเว้นที่ติดแม่น้ำหันหน้าไปทางแม่น้ำ สภาพการตั้งบ้านเรือนค่อนข้างกระจุกตัวหนาแน่น ลักษณะอาคารส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นอาคารไม้ มีบางส่วนเปลี่ยนเป็นแบบตึก และแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ ในชุมชนกุฎีจีนมีพื้นที่โล่งเพียงบริเวณสนามเด็กเล่น และลานสาธารณะรอบ ๆ วัด ซึ่งเป็นบริเวณที่คนในชุมชนมาทำกิจกรรมต่าง ๆ

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ชุมชนวัดกัลยาณ์
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ โรงเรียนซางตาครูสศึกษา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แม่น้ำเจ้าพระยา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนเทศบาลสาย 1

ชุมชนกุฏีจีนนับว่าเป็นชุมชนที่มีมรดกทางด้านวัฒนธรรมที่หลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ เห็นได้จากการอยู่ร่วมกันอย่างพหุวัฒนธรรม อาทิเช่น กลุ่มชาวจีน ชาวโปรตุเกส ชาวมุสลิม โดยแต่ละกลุ่มนั้นก็ได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมของตนผสมผสานร่วมกันกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ จนกลายมาเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมที่ลงตัวในเวลาต่อมานั่นเอง

ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า ชุมชนกุฏีจีน มีพื้นที่อาณาเขต ราว 32 ไร่ จำนวนหลังคาเรือนประมาณ 230 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 1,500 คน

จีน
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1. คุณปิ่นทอง วงษ์สกุล  ประธานชุมชนกุฎีจีน มีหน้าที่คอยช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนเมื่อมีปัญหา รวมถึงคอยประสานงานกับลูกบ้าน ภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชนที่เข้ามาในพื้นที่ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้สนับสนุนด้านการให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนอีกด้วย

ทุนทางวัฒนธรรม

ขนมฝรั่งกุฎีจีน เป็นขนมดั้งเดิมของชาวชุมชนกุฎีจีนเชื้อสายโปรตุเกส มีลักษณะเหมือนขนมไข่ รูปร่างคล้ายถ้วยปากกว้าง ทำจากแป้งสาลี ผสมน้ำตาลและไข่เป็ด ทำให้สุกด้วยการอบมีลักษณะกรอบนอกนุ่มใน หน้าขนมโรยด้วยน้ำตาลและแต่งหน้าด้วยลูกเกด ลูกพลับแห้ง และฟักเชื่อม การทำขนมฝรั่งกุฎีจีนมีมาช้านานเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงมากกว่า 200 ปี โดยชาวโปรตุเกสถ่ายทอดการทำขนมฝรั่งให้แก่คนในชุมชน และมีการสืบทอดการทำขนมฝรั่งมาจนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 5 โดยสืบทอดกันในครอบครัวต่อ ๆ กันมา โดยวิธีการทำเริ่มต้นด้วยการนำไข่เป็ดและน้ำตาลทรายตีจนฟู นำแป้งสาลีที่ร่อนแล้วผสมลงไปให้พอเหมาะคนให้เข้ากัน เทลงแม่พิมพ์ วางบนเตาอบที่มีความร้อนสูงมาก จนขนมสุกได้ที่แล้วจึงเคาะขนมออกจากพิมพ์

ขนมฝรั่งกุฎีจีน เป็นขนมตำรับโบราณสืบทอดในกลุ่มชาวคริสต์เชื้อสายโปรตุเกส ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนกุฎีจีนฝั่งธนบุรีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี จนมีคำกล่าวคุ้นหูคนกรุงเทพ ฯ ว่า “ข้าวหลามตัดวัดระฆังขนมฝรั่งกุฎีจีน” ปัจจุบันคงเหลือบ้านที่ทำอยู่เพียง 3 ตระกูล ได้แก่ บ้านธนูสิงห์ บ้านหลานแม่เป้าและบ้านป้าเล็ก ซึ่งยังคงสูตรต้นตำรับดั้งเดิมที่ยังคงเหลืออยู่

โบสถ์ซางตาครูส (วัดกุฎีจีน)

"ซางตาครูส" เป็นภาษาโปรตุเกส แปลว่า กางเขนศักดิ์สิทธิ์ โบสถ์ซางตาครูสเป็นโบสถ์คาธอลิกเก่าแก่ที่ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2313 โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้พระราชทานที่ดินเพื่อสร้างวัดแห่งนี้แก่ชาวโปรตุเกส แต่เดิมเป็นไม้สักทั้งหลังแต่ถูกไฟไหม้จึงได้รับการบูรณะใหม่โดยมีโครงสร้างเป็นปูน สถาปัตยกรรมเด่นของเป็นแบบเรอเนสซองส์ผสมนีโอคลาสสิก ส่วนยอดโดมสีแดงนั้นมีความเด่นเป็นสง่า มีรูปร่างคล้ายคลึงกับโดมของมหาวิหารฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี

โบสถ์วัดซางตาครูส อาคารหลังปัจจุบันสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2459 ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอิตาลี ก่อเป็นอาคารชั้นเดียว เฉพาะด้านหน้าซึ่งหันสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ก่อสูงเป็นหอระฆังยอดโดม รูปอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าเป็นโถงประกอบด้วยซุ้มโค้งกลมประดับปูนปั้นลายพวงมาลัย เหนือขึ้นไปเจาะช่องลมติดบานเกล็ดไม้เป็นช่อง ๆ สลับกับเสากลมแบบ Corinthian ขนาดเล็ก ส่วนหลังคากั้นด้วยแนวลูกกรงก่อหัวเสารูปกรวย ส่วนที่เป็นหอคอยประกอบด้วยหอทรงสี่เหลี่ยมรองรับหอแปดเหลี่ยมยอดโดม เหนือโดมประดับด้วยซุ้มแปดเหลี่ยมเล็ก ๆ ยอดสุดติดตั้งไม้กางเขน ส่วนหอคอยนี้ประดับลายปูนปั้นอย่างงดงาม ภายในแขวนระฆังหลายสิบใบ ใช้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสผ่านหน้าวัด เป็นต้น ผนังด้านยาวภายนอกอาคาร เจาะช่องหน้าต่างข้างละ 7 ช่อง ซุ้มหน้าต่างโค้งกลมเดินลายเส้นลวดและประดับปูนปั้นลายพวงมาลัยเหมือนซุ้มโถงกรอบบนของหน้าตางซึ่งเป็นรูปครึ่งวงกลมติดกระจกสี ผนังตอนบนเหนือช่องหน้าต่างเจาะช่องกลมใหญ่กรุกระจกสีเช่นกัน ส่วนใต้หลังดาประดับปูนปั้นลายพวงมาลัย ช่องระบายน้ำตกแต่งด้วยประติมากรรมรูปหัวสัตว์มีเสาอิงทรงเหลี่ยมระหว่างช่องหน้าต่าง บริเวณด้านสกัดด้านหลัง หลังคาลดต่ำลง ผนังหักมุมหกเหลี่ยมจัดเป็นห้องด้านหลังโบสถ์

ศาลเจ้าเกียนอันเกง

เป็นศาลเจ้าจีนฮกเกี้ยนของชุมชนกุฎีจีนที่สร้างถวายเจ้าแม่กวนอิม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในฝั่งธนบุรี ที่แม้จะมีความเก่าแก่ร่วมร้อยปี แต่ยังคงความสวยงามด้วยงานไม้แกะสลักที่แสนปราณีตและละเอียด รวมถึงภาพวาดที่ยังสมบูรณ์อยู่อีกด้วย

ศาลเจ้านี้สร้างในสมัยธนบุรี โดยชาวจีนที่ตามเสด็จพระเจ้าตากสินมาตั้งกรุงใหม่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงย้ายพระนครไปยังฝั่งตะวันออก คนจีนเหลานี้จึงอพยพไปอยู่รวมกับพวกพ้องในย่านตลาดน้อย สำเพ็ง ศาลเจ้าเดิมซึ่งมีสองหลังติดกันคือ ศาลเจ้าโจวซือกงกับศาลเจ้ากวนอู ถูกทิ้งร้างทรุดโทรม จนมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวจีนฮกเกี้ยนจำนวนหนึ่งได้มารื้อศาลทั้งสองแล้วสร้างขึ้นใหม่เป็นหลังเดียว แล้วอัญเชิญเจ้าแม่กวนอิมขึ้นประดิษฐานแทนและให้ชื่อว่า ศาลเจ้าเกียนอันเกง ส่วนเทพสององค์เดิมนั้นไม่ปรากฏว่าย้ายไปประดิษฐานที่ใด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2478  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพเสด็จมาร่วมงานหล่อระฆังใบใหญ่ที่วัดกัลยาณมิตรจึงได้มาพบศาลนี้เข้า และเขียนให้สมเด็จฯ กรมพระยานริศรนุวัดติวงศ์ว่า "ปัจจุบัน ศาลเจ้าเกียนอันเกงอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก จิตรกรรมฝาผนังกำลังจะกะเทาะหลุดหล่น และบางภาพถูกน้ำฝนและค้างคาวทำให้เกิดความเสียหาย มีความจำเป็นเร่งด่วน ฝีมือจิตรกรหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว อีกทั้งเครื่องตราแต่งเบื้องบนซึ่งเป็นไม้แกะสลักงดงามและเก่าแก่ก็กำลังทรุดโทรม อยู่ในสภาพที่จำเป็นจะต้องรีบอนุรักษ์บำรุงและที่ชำรุดเสียหายมากกว่าที่ใด คือรูปปั้น เครื่องตกแต่งอันวิจิตรบนหลังคาของศาลเจ้าเหล่านี้เป็นโบราณวัตถุที่จำเป็นจะต้องรีบอนุรักษ์ในเวลาอันรวดเร็วที่สุด" ปัจจุบัน ศาลเจ้าเกียนอันเกงอยู่ในความดูแลของตระกูลสิมะเสถียร หรือเดิมแซ่ซิม ตระกูลเก่าแก่ตระกูลหนึ่งในย่านนี้ และได้รับการปฏิสังขรณ์บูรณะตามสมควร

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ต้นสกุลกัลยาณมิตร ได้อุทิศที่ดินบริเวณบ้านของท่าน รวมทั้งซื้อที่ดินรอบข้างเพิ่มเติมเพื่อสร้างวัดแห่งนี้ในปี พ.ศ. 2368 แล้วถวายรัชกาลที่ 3 ให้เป็นพระอารามหลวง พระองค์จึงพระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตร พร้อมกันนั้นทรงร่วมสร้างพระวิหารหลวงและพระประธานหรือซำปอกง ต่อมาในรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (รอด) บุตรเจ้าพระยานิกรบดินทร์ได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม

วัดกัลยาณมิตรวรวิหาร เป็นพระอารามหลวง ภายในวัดมี ‘พระพุทธไตรรัตนนายก’ หรือที่คนจีนเรียกกันติดปากว่า ‘ซำปอกง’ ซึ่งจำลองมาจากวัดพนัญเชิง อยุธยา ภายในพระอุโบสถยังมีพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปหล่อปางป่าเลไลยก์ ซึ่งถือได้ว่าแปลกไปจากพระประธานทั่วไปที่มันเป็นปางสมาธิหรือปางมารวิชัย โดยภายในวัดประกอบด้วยดังนี้

  • พระอุโบสถ ฐานที่ตั้งเดิมเป็นบ้านของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีน ไม่มีช่อผ้า ใบระกา และหางหงส์ ประดับหน้าบันปั้นลายดอกไม้ กระเบื้องเคลือบสลับสีลายจีน ซุ้มประตูหน้าต่างปั้นลายดอกไม้ประดับกระจก ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ เสาเขียนลายทรงข้าวบิณฑ์ มีพระพุทธรูปหล่อปางปาลิไลยก์เป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ
  • พระวิหารหลวง(พระวิหารหลวงพ่อโต หรือซำปอกง) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2380 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าๆ ให้สร้าง เป็นพระวิหารที่สร้างได้สัดส่วนงดงาม สร้างวางรากฐานโดยไม่ได้ตอกเสาเข็ม ใช้วิธีชุดพื้นรูปสี่เหลี่ยมฐานกว้าง และใช้ไม้ซุงทั้งท่อนเรียงทับซ้อนกัน 2 – 3 ชั้น ลักษณะเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย  หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เชิงชายหน้าบันสลักลายดอกไม้ปูนปั้นประดับกระจก ประตูหน้าต่างเป็นไม้สักแผ่นเดียวลายรดน้ำ ลายทองรูปธรรมบาลด้านในมีผนังเป็นลายดอกไม้ เสาภายในพระวิหารเขียนเป็นลายดอกไม้ หน้าพระวิหารมีซุ้มประตูหินและตุ๊กตาหินศิลปะจีน มีหลวงพ่อโต หรือพระพุทธไตรรัตนนายกเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง
  • พระวิหารน้อย มีขนาดรูปทรงเดียวกับพระอุโบสถ มีลักษณะเป็นศิลปะแบบจีน ภายในมีภาพเขียนพุทธประวัติฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปบปางต่าง ๆ จำนวนมาก มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน

บ้านไม้สีครีม 3 ชั้น ก่อตั้งขึ้นโดย คุณนาวินี พงศ์ไทย เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลชุมชนชาวสยาม-โปรตุเกส ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงปัจจุบัน และเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ภาษา ศาสนาและรากเหง้าของชาวชุมชน ภายในบ้าน 3 ชั้น แบ่งเป็น

  • ชั้นที่ 1 ร้านกาแฟและร้านขายของที่ระลึก
  • ชั้นที่ 2 จัดแสดงนิทรรศการ “กำเนิดสยามโปรตุเกส” บอกเล่าประวัติศาสตร์ของชาวโปรตุเกสตั้งแต่เข้ามาสยามครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา
  • ชั้นที่ 3 แบ่งเป็น 2 โซน โซนแรก “กำเนิดกุฎีจีน” เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งเมืองธนบุรี โซนสอง จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ อาทิ มุมเตียงนอนสมัยก่อน มุมแสดงผืนผ้าสามวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ผ้าคลุมร่วมมิสซา”
  • ชั้นที่ 4 (ชั้นด่านฟ้า) สามารถขึ้นไปชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยา โบสถ์วัดซางตาครูส วัดประยุรวงศาวาสวรวิหารศาลเจ้าเกียนอันเกง วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากคลองบางกอกใหญ่ลงมาจนถึงสะพานพระพุทธยอดฟ้า บริเวณนี้เป็นย่านชุมชนเก่าแก่ที่มีความต่างทางด้านความเชื่อและวัฒนธรรม อันได้แก่ ชุมชนชาวพุทธบริเวณวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารและวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ชุมชนชาวคริสต์หรือชุมชนกุฎีจีนบริเวณวัดซางตาครู้สซึ่งมีเชื้อสายเดิมมาจากชาวโปรตุเกส และชุมชนมุสลิมหรือกุฎีขาวบริเวณริมคลองบางกอกใหญ่เยื้องกับมัสยิดต้นสน และเป็นพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างที่มีสถาปัตยกรรมงดงามและมีเอกลักษณ์ อันได้แก่พระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร ศาลเจ้าแม่กวนอิม (ศาลเจ้าเกียนอันเกง) เจดีย์วัดประยุรวงศาวาส โบสถ์ซางตาครู้ส เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2561). มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช 2561. กรุงเทพ ฯ : สถาบันวัฒนธรรมศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.

กิตติพร ใจบุญ และคณะ. (2544). โครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาแหล่งวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งหารายได้ของประชาชน : กรณีศึกษาย่านกุฏีจีนและพื้นที่ใกล้เคียง. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

ไทยรัฐออนไลน์. (กันยายน 2, 2560). ย้อนอดีต..โปรตุเกสในสยาม ผ่านวิถีชุมชน ‘กุฎีจีน’ . [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2566, จาก https://www.thairath.co.th/

นริศรา ซื่อไพศาล. (พฤศจิกายน 30, 2563). ‘กุฎีจีน’ ชุมชนเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ค้นหาเสน่ห์ชุมชนกับ Dusit Local Experience. สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2566, จาก https://thematter.co/entertainment/

ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม. (มกราคม 9, 2563). เที่ยวชุมชนกุฎีจีน ย้อนเวลา เยือนย่านหลากวัฒนธรรม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2566, จาก https://thai.tourismthailand.org/

Lovethailand. (ม.ป.ป.). ชุมชนกุฎีจีน (กะดีจีน) . [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2566, จาก https://www.lovethailand.org/

Thai Local Wisdom. (2561). ประวัติชุมชนกุฎีจีน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2566, จาก https://www.thailocalwisdom.com/

Wikipidia. (ตุลาคม 17, 2565). ชุมชนกุฎีจีน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2566, จาก https://th.wikipedia.org/