Advance search

บ้านท้ายเหมืองเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรม ประกอบด้วยคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมในพื้นที่ คนไทยจากภาคอีสาน ชาวกะเหรี่ยงนอก ทั้งคนพม่า คนทวาย กะเหรี่ยงและมอญ

ท้ายเหมือง
บ้องตี้
ไทรโยค
กาญจนบุรี
อบต.บ้องตี้ โทร. 0-3468-6433
วิไลวรรณ เดชดอนบม
29 ธ.ค. 2022
วิไลวรรณ เดชดอนบม
21 ก.พ. 2023
บ้านท้ายเหมือง

ชื่อชุมชนมีที่มาจากสภาพที่ตั้ง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณท้ายเหมืองเก่า  


บ้านท้ายเหมืองเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรม ประกอบด้วยคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมในพื้นที่ คนไทยจากภาคอีสาน ชาวกะเหรี่ยงนอก ทั้งคนพม่า คนทวาย กะเหรี่ยงและมอญ

ท้ายเหมือง
บ้องตี้
ไทรโยค
กาญจนบุรี
71150
14.060144
98.987144
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้องตี้

ชุมชนบ้านท้ายเหมือง แต่เดิมเคยเป็นหมู่บ้านเดียวกันกับชุมชนบ้านบ้องตี้บน ทำให้ทั้งสองมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาและผู้อยู่อาศัยในชุมชนกลุ่มเดียวกัน มีสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ ประเพณี วัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่เช่นเดียวกับชาวบ้านบ้องตี้บน 

ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของบ้านท้ายเหมือง ตำบลบ้องตี้ ปรากฏคำบอกเล่าและข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการบางส่วน กล่าวว่า ในอดีตบ้องตี้ทำหน้าที่เป็นด่านปราการในช่วงสงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328 พระเจ้าปดุงของพม่าได้เกณฑ์กำลังพลจากเมืองหลวง หัวเมืองและเมืองประเทศราช จัดเป็นกระบวนเก้าทัพ เคลื่อนกำลังพลผ่านทางด่านบ้องตี้เข้ามาตีเมืองราชบุรี เพชรบุรีและไปบรรจบกับกองทัพที่ 1 ที่เมืองชุมพร นอกจากนี้ยังมีความตามเอกสารของผู้ที่เคยเข้ามาจัดกิจกรรมในชุมชน กล่าวว่าชุมชนบ้องตี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2453 มีนายบอ เสือหอม เป็นผู้นำชุมชน และได้รับการยกฐานะเป็นตำบลบ้องตี้เมื่อ พ.ศ. 2519 ภายใต้เขตปกครองอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี 

บ้านท้ายเหมืองเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรม ประกอบด้วยคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมในพื้นที่ คนไทยจากภาคอีสาน ชาวกะเหรี่ยงนอกซึ่งเป็นชาวต่างด้าวประเทศพม่า ทั้งคนพม่า คนทวาย กะเหรี่ยง และมอญ ที่หลบหนีลี้ภัยทางการเมืองและการสู้รบปราบปรามคนกลุ่มน้อยของรัฐบาลทหารพม่า ในอดีตชนกลุ่มนี้เดินทางเข้าออกชายแดนไทย-พม่าเป็นประจำ เพื่อเข้ามาเยี่ยมญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้บริเวณบ้านท้ายเหมืองยังเคยเป็นชุมชนที่ทำเหมืองแร่ กลุ่มชาติพันธุ์จากพม่าจำนวนมากเดินทางข้ามมาประเทศไทยเพื่อทำงานในเหมืองแร่ แต่เมื่อเหมืองแร่ปิดตัวลง ชาวพม่าส่วนใหญ่ที่มาจากเมืองทวายยังคงอยู่ในพื้นที่ต่อไป คนกลุ่มนี้ประกอบด้วยชาวพม่าที่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม อีกทั้งยังปรากฏการเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นเวลากว่าสี่สิบปี ส่งผลให้ชุมชนบ้านท้ายเหมืองเป็นชุมชนที่มีลักษณะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง 

ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในพื้นที่บ้านท้ายเหมือง ตำบลบ้องตี้ จังหวัดกาญจนบุรี มีสาเหตุมาจากการที่กองกำลังทหารพม่าเข้าตีค่ายกะเหรี่ยงอิสระที่อยู่ตามแนวชายแดนเพื่อปราบปรามชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2538 ทำให้ชาวกะเหรี่ยงพม่าในพื้นที่ชายแดนต้องอพยพเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รัฐบาลไทยจึงได้จัดสรรที่ดินเหมืองแร่เก่าบริเวณบ้านท้ายเหมืองจัดตั้งศูนย์ผู้พลัดถิ่นชาวพม่าให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าได้อาศัยอยู่ เพื่อป้องกันการลอบเข้ามาหาข่าวของทหารพม่า ต่อมาในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติมอบสัญชาติไทยให้กับคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย เมื่อประมาณกลางปี 2553 ส่งผลให้คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่อาศัยในหลายอำเภอของจังหวัดกาญจนบุรีได้รับสัญชาติไทย การได้มาซึ่งสัญชาติทำให้คนเหล่านี้มีสิทธิต่าง ๆ และสามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้เทียบเท่าคนไทย เช่น การเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา สามารถออกไปทำงานนอกพื้นที่ มีกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดิน รวมถึงสินค้าจดทะเบียนต่าง ๆ ด้วยชื่อตนเอง  

สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรมชาติ

บ้านท้ายเหมือง ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ติดกับเขตทวาย ภาคตะนาวศรีของพม่า ตามบริเวณรอยต่อเขตแดนระหว่างไทย-พม่า บริเวณนี้ในอดีตเคยอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังกะเหรี่ยงอิสระ (Karen National Union-KNU) ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกลุ่มที่อยู่ศูนย์ผู้พลัดถิ่นชาวพม่า สภาพภูมิประเทศของบ้านท้ายเหมืองมีลักษณะเป็นหุบเขา เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาตะนาวศรี มีลำห้วยบ้องตี้ที่ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเขาพร้าวเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญของชุมชน สำหรับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่บ้านท้ายเหมืองนั้นค่อนข้างที่จะแปรปรวน อากาศร้อนมากในช่วงฤดูร้อน ในฤดูฝน ฝนจะตกลงมาอย่างรวดเร็ว แต่ตกไม่ทั่วบริเวณ ส่วนในฤดูหนาวช่วงกลางวันจะมีแดดร้อนและท้องฟ้าสว่างมาก ทว่าในเวลากลางคืนจะมีอากาศหนาวจัด ลมพัดแรง และมีฝนตกบ่อยครั้ง ด้วยลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าไม้ล้อมรอบด้วยภูเขาน้อยใหญ่ กอปรกับสภาพอากาศที่แปรปรวนตลอดทั้งปี ส่งผลให้บ้านท้ายเหมืองและหมู่บ้านอื่นในบริเวณชายแดนไทย-พม่าเป็นแหล่งชุกชุมของไข้มาลาเรีย 

สถานที่สำคัญ

มัสยิดอัล-มูฮายีริน เป็นศาสนสถานสำคัญสำหรับการประกอบพิธีกรรมและจัดกิจกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ของชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านบ้องตี้และบ้านท้ายเหมือง  

บ้านท้ายเหมืองเป็นชุมชนสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางศาสนา วัฒนธรรม และเชื้อชาติ ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ชาวพม่า ชาวทวาย ชาวกะเหรี่ยง ชาวมอญ ชาวไทยและชาวอินเดีย สืบเนื่องมาจากมาจากการที่กองกำลังทหารพม่าเข้าตีค่ายกะเหรี่ยงอิสระที่อยู่ตามแนวชายแดนเพื่อปราบปรามชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ทำให้ชาวกะเหรี่ยงพม่าในพื้นที่ชายแดนต้องอพยพเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งพื้นที่บ้านท้ายเหมืองเดิมทีเคยเป็นเหมืองเก่า ซึ่งมีชาวพม่าและชาวอินเดียเข้ามาทำงานในเหมือง ภายหลังเหมืองปิดตัวลง แรงงานจำนวนมากไม่ได้เดินทางกลับประเทศ ภาครัฐจึงได้จัดสรรที่ดินบริเวณท้ายเหมืองเก่าจัดตั้งศูนย์ผู้พลัดถิ่นเพื่อเป็นที่พักพิงแก่เหล่าผู้ลี้ภัยชาวพม่า  

ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์จากพม่าในหมู่บ้านท้ายเหมืองได้รับสัญชาติไทย สืบเนื่องจากนโยบายการมอบสัญชาติไทยให้กับคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 แต่หาใช่ชาวต่างด้าวทุกคนจะได้รับสัญชาติไทย เนื่องจากการจะได้มาซึ่งสัญชาติไทยของคนต่างด้าวนั้นต้องพิจารณากฎเกณฑ์และคุณสมบัติหลายประการ จำนวนประชากรบ้านท้ายเหมืองจึงถูกจำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ประชากรผู้มีสัญชาติไทย และประชากรผู้ไร้ซึ่งสัญชาติไทย โดยประชากรผู้มีสัญชาติไทยจำนวน 269 ครัวเรือน 414 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 215 คน และประชากรหญิง 199 คน สำหรับประชากรที่ยังไม่ได้รับสัญชาติมีจำนวน 103 ครัวเรือน  

นอกจากการจำแนกกลุ่มประชากรออกตามกลุ่มชาติพันธ์แล้ว บ้านท้ายเหมืองยังมีการแบ่งประชากรในชุมชนออกเป็นกลุ่มบ้านย่อย ๆ ที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มบ้านพุเตย  กลุ่มบ้านเหนือเขื่อนอ่างเก็บน้ำ และศูนย์อพยพผู้พลัดถิ่นชาวพม่า  

กลุ่มบ้านพุเตย ปัจจุบันเหลือบ้านเรือนเพียง 4 หลัง ชาวบ้านกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะทำซีกจากไม้ไผ่นำมาผ่าเป็นซี่ ๆ ใช้เป็นแท่นรองของขายตามตลาดนัด  

กลุ่มบ้านเหนือเขื่อนอ่างเก็บน้ำ ประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่อพยพมาจากภาคกลาง  ตั้งบ้านเรือนเรียงรายอยู่ในหุบเขา ด้วยความที่อยู่ห่างไกลจากกลุ่มบ้านอื่น ๆ กอปรกับสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าไม้ และล้อมรอบไปด้วยหุบเขา กลุ่มบ้านนี้จึงมีชาวต่างด้าวที่ไม่มีบัตรเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก  

ศูนย์อพยพผู้พลัดถิ่นชาวพม่า ประชากรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในศูนย์ส่วนใหญ่เป็นชาวทวาย ที่อดีตเคยเป็นคนงานเหมืองแร่ ศูนย์อพยพผู้พลัดถิ่นชาวพม่ามีกฎเกณฑ์การรับสมาชิกเข้ามาอยู่อาศัย โดยมีข้อแม้ว่าคนที่สามารถเข้ามาอยู่อาศัยภายในศูนย์ได้ จะต้องเป็นคนที่มาจากเมืองทวาย และเป็นคนพม่าเท่านั้น คนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นจะไม่สามารถเข้ามาอยู่ในศูนย์ได้  

แม้ว่าหมู่บ้านท้ายเหมืองจะเป็นชุมชนในเขตชายแดน แต่สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของชาวบ้านในชุมชนยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดทั้งปี ลักษณะการประกอบอาชีพของคนในชุมชนบ้านท้ายเหมืองจะถูกจำแนกประเภทออกตามกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในหมู่บ้านมีการประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน กลุ่มคนไทยในหมู่บ้านมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย บางส่วนทำงานราชการ เช่น ครู อบต. ตชด. บางส่วนเป็นนายทุนในการทำไร่ โดยจะมีลูกไร่มารับปุ๋ย ยาฆ่าแมลง จ้างไถ จากนายทุน เมื่อได้ผลผลิตแล้วจึงหักค่าใช้จ่ายในภายหลัง โดยฤดูกาลเพาะปลูกของชาวบ้านท้ายเหมืองจะเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ เดือนนี้จะปลูกพริก ข้าว และข้าวโพด เดือนพฤษภาคมเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยว มิถุนายนถึงสิงหาคมปลูกพริก และในเดือนธันวาคมเป็นช่วงของการขุดมัน หักข้าวโพด ตัดอ้อยและเก็บฝ้าย การทำไร่ของชาวบ้านท้ายเหมือง เกษตรกรเจ้าของที่ไร่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาวไทย และมีชาวมอญ พม่า กะเหรี่ยงและทวาย เป็นแรงงานรับจ้างทำไร่ อัตราค่าจ้างในชุมชนจะอยู่ที่ประมาณ 200-250 บาทต่อวัน เหตุผลที่ต้องจ้างชาวมอญ พม่า กะเหรี่ยงและทวาย เนื่องจากการทำไร่นับว่าเป็นงานหนัก ซึ่งงานประเภทนี้คนไทยไม่ค่อยทำ แต่กลุ่มคนจากพม่าจะรับงานเหล่านี้ทันทีโดยไม่อิดออด เพราะการรับจ้างรายวันทำไร่นา เช่น รับจ้างปลูกมัน ดายหญ้า เก็บข้าวโพด เป็นอาชีพหลักของชาวต่างด้าวในชุมชน นอกจากนี้ยังมีประชากรบางส่วนที่ได้รับสัญชาติไทยแล้ว เดินทางออกไปทำงานในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ ด้วยมีบัตรประจำตัวประชาชนยืนยันตัวตน จึงสามารถเดินทางออกไปทำงานต่างถิ่นได้สะดวกกว่าคนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ 

การปกครอง 

ในอดีตบ้านท้ายเหมืองและบ้านบ้องตี้บนเคยตกอยู่ภายใต้อำนาจของอดีตกำนันตระกูลหนึ่งเป็นเวลานาน ก่อนเปลี่ยนมาเป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน บทบาทผู้นำชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของชาวกะเหรี่ยงใน (กะเหรี่ยงสัญชาติไทย) ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองที่ยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่อดีต กลุ่มคนไทยจะเข้ารับราชการในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในชุมชนจะมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันออกไป  เช่น การทำงานในไร่ของคนไทย นอกจากนี้บ้านท้ายเหมืองยังมีผู้นำที่มีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา เรียกว่าผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ เช่น ผู้นำศาสนาคริสต์  เจ้าอาวาสวัดบ้องตี้ และโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ จะมีผู้นำเฉพาะศาสนาอยู่แล้ว ทว่าในการจะจัดพิธีกรรมใดขึ้นในชุมชน จะต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้นำชุมชนหรือผู้นำชุมชนหรือผู้ใหญ่บ้านเสียก่อน 

องค์กรชุมชน 

บ้านท้ายเหมืองมีการจัดองค์กรชุมชนต่าง ๆ ร่วมกับบ้านบ้องตี้บน ดังนี้ 

1. กลุ่มกองทุนเงินล้าน คือกองทุนกู้ยืมสำหรับสมาชิกในชุมชน โดยมีกฎว่าสมาชิกที่ได้รับสัญชาติไทยจะต้องเป็นสมาชิกครบหกเดือนจึงจะสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนได้ เพื่อรับรองว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในพื้นที่จริง และยืนยันเจตนารมณ์ว่าจะไม่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานนอกชุมชนอย่างถาวร 

2. กลุ่มอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพ (อสม.) มีหน้าที่ให้ความรู้เรื่องสุขอนามัย รักษาพยาบาล และให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาให้การรักษาแก่คนในชุมชน  

3. กลุ่มทอผ้า จะทำงานอยู่ที่ศูนย์วัฒนธรรมกะเหรี่ยง ผ้าที่ทอจะมีหลายแบบ เช่น เสื้อกะเหรี่ยง 

นอกจากนี้ยังมี กลุ่มเยาวชน กลุ่มหมอดินอาสา กลุ่มแม่บ้านและกลุ่มอื่น ๆ ที่รวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ภายในชุมชน แสดงออกถึงความเท่าเทียม ความปรองดอง และความสามารถในการอยู่ร่วมกันของคนหลากชาติพันธุ์

บ้านท้ายเหมืองเป็นชุมชนที่ปรากฏเป็นชุมชนที่ความหลากหลายในการนับถือศาสนา มีทั้งศาสนาพุทธ คริสต์และอิสลาม ทว่าชาวบ้านในชุมชนกลับสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่นำเอาความแตกต่างทางศาสนามาแบ่งแยกฝักฝ่าย ลักษณะการนับถือศาสนาลักษณะหนึ่งที่พบได้บ่อยครั้งในชุมชน คือ การแต่งงานข้ามศาสนาระหว่างชาวพุทธและอิสลาม เมื่อแต่งงานกันแล้วฝ่ายที่นับถือศาสนาพุทธจะเปลี่ยนมานับถืออิสลามตามคู่แต่งงาน นอกจากศาสนาแล้วชาวบ้านท้ายเหมืองยังปรากฏการนับถือภูตผี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เช่น ชาวทวายบ้านบ้องตี้บนจะนับถือปูชิดิอี (ศาลเจ้า) ที่ตั้งอยู่เหนือศูนย์ผู้พลัดถิ่นชาวพม่าทางทิศเหนือของหมู่บ้านท้ายเหมือง เป็นต้น 

เนื่องจากบ้านท้ายเหมืองเป็นชุมชุนที่มีลักษณะสังคมแบบพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา การประกอบประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนาจึงถูกแยกออกตามขนบแนวทางการปฏิบัติของศาสนานั้น ๆ ในศาสนสถานประจำชุมชน โดยมีผู้นำทางศาสนาเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม 

พุทธศาสนิกชนชาวบ้านท้ายเหมืองมีศาสนสถานในการประกอบประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ คือ วัดพูลผลารามหรือวัดบ้องตี้ ตั้งอยู่ในเขตบ้านบ้องตี้บน มีเจ้าอาวาสวัดเป็นผู้นำของกลุ่มศาสนาพุทธ กลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธในชุมชนบ้านท้ายเหมือง เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยคึกคักในการทำพิธีกรรมทางศาสนาเทียบเท่าศาสนาอื่นในชุมชน เนื่องจากการประกอบพิธีกรรมทางศาสนานั้นมีคนเข้าร่วมน้อยมากจนในบางครั้งจำต้องยกเลิกการประกอบพิธีกรรมครั้งนั้น ๆ ไป อันมีสาเหตุจากเรื่องเล่าว่าเจ้าอาวาสวัดบ้องตี้รูปเดิมท่านมีอัธยาศัยไม่ดีนัก ชาวบ้านในชุมชนจึงไม่พึงใจจะไปร่วมพิธีกรรมที่วัด เมื่อท่านมรณภาพผลกระทบจึงตกมาอยู่ที่เจ้าอาวาสวัดรุ่นต่อ ๆ มา พุทธศาสนิกชนบ้านท้ายเหมืองจะประกอบด้วย คนไทย คนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง มอญ ทวาย และพม่า เมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหารไปทำบุญที่วัด  

สำหรับศาสนาคริสต์ คริสตชนชาวบ้านบ้องตี้บนจะเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาที่โบสถ์หลังโรงเรียนและโบสถ์ต้นตาลในวันอาทิตย์ ส่วนกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายเซเวนเดย์แอดเวนติสจะเข้าโบสถ์ในวันเสาร์ ผู้นำศาสนาคริสต์ในชุมชนบ้านท้ายเหมืองจะมีสองกลุ่ม ได้แก่ ผู้นำศาสนาคริสต์ วันอาทิตย์ จะมีบทบาทในการดูแลการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง คนต่างด้าวเชื้อสายกะเหรี่ยงที่มาจากพม่า และผู้ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ภายหลังแต่งงานกับคู่สมรส ชาวคริสต์บ้านบ้องตี้บนมีกิจกรรมทางศาสนาที่สำคัญประจำปีในวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี หรือวันคริสต์มาส ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก การเตรียมงานจะเริ่มเตรียมตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน โดยในช่วงคริสต์มาสจะมีกลุ่มเยาวชนชาวคริสต์เดินร้องเพลงอวยพรตามบ้านต่าง ๆ ไม่ว่าบ้านหลังนั้นจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ซึ่งจะยืนร้องจนกว่าเจ้าของบ้านจะลุกมาเปิดประตูและบริจาคเงินให้ตามศรัทธาเพื่อนำเงินบริจาคมาใช้ในการจัดงานคริสต์มาส สำหรับการร้องเพลงนี้ชาวคริสต์ถือว่าเป็นการอวยพรให้มีความสุขในวันคริสต์มาส 

ทางด้านกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลาม มีธรรมเนียมการละหมาด 5 ครั้งต่อวัน และไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทุกวันศุกร์ นอกจากนี้ยังมีงานทำบุญต้อนรับการเกิดของหลานซึ่งมีลักษณะคล้ายประเพณีโกนจุกของไทย ในช่วงเช้าโต๊ะอิหม่ามจะมาอ่านคัมภีร์อัลกุรอานเพื่อขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเด็กที่เกิดมามีแต่ความสุขและตั้งชื่ออิสลามให้ เมื่อเสร็จสิ้นจะมีการเลี้ยงรับประทานอาหารร่วมกัน อาหารที่ใช้ในงานส่วนใหญ่จะเป็นแกงแพะ แกงมาซาลา เป็นต้น กลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามจะมีโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดอัล-มูฮายีริน เป็นผู้นำประกอบพีกรรมพิธีกรรมและทำหน้าที่สอนภาษาอาหรับให้กับเด็กนักเรียนชาวมุสลิม โดยใช้เวลา 30 นาทีหลังโรงเรียนเลิกเป็นคาบเรียนสอนภาษา 

การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในชุมชนบ้านท้ายเหมืองปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกัน โดยส่วนมากแล้วคนรุ่นใหม่ในชุมชนจะนิยมแต่งกายตามสมัยนิยม สวมเสื้อยืด นุ่งกางเกงยีนส์ เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมร่วมกับกลุ่มคนไทย ส่วนผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่บ้านจะสวมใส่ผ้าถุงและเสื้อคอกระบอก นุ่งโสร่ง แต่บางส่วนก็ยังคงรูปแบบการแต่งกายเดิมของชาติพันธุ์ตนเอาไว้เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ดังเช่นในวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง เด็กหญิงชาวกะเหรี่ยงจะสวมเสื้อผ้าฝ้ายสีขาวคอวี บริเวณคอเสื้อประดับด้วยเส้นด้ายหลากสีสัน ยาวคลุมข้อเท้า ผู้หญิงที่มีครอบครัวจะนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อหลากสีสันคอวียาว ลักษณะเสื้อเป็นทรงกระบอกยาวคลุมเอว ผู้ชายสวมเสื้อสีแดง เขียว น้ำเงิน หรืออื่น ๆ คอวี ยาวถึงเอว ประดับด้วยริ้วผ้าหลากสีสัน กางเกงที่สวมจะเป็นแบบใดก็ได้ 

การแต่งกายของชาวทวายจะมีความแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นอยู่บ้าง โดยหนุ่มสาวจะแต่งกายตามสมัยนิยมทั่วไป กลุ่มผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง ผู้สูงอายุจะสวมโสร่ง ชอบทาหน้าด้วยทานาคาสีเหลืองนวล  

คนมุสลิมหนุ่มสาวจะแต่งกายด้วยชุดสมัยนิยมทั่วไป แต่เมื่อไปสุเหร่า ผู้ชายจะสวมโสร่งสีสันต่าง ๆ สวมเชิ้ตหรือเสื้อคอกลม และสวมหมวกสีขาว ผู้หญิงจะโพกหัวด้วยฮิญาบ และนุ่งผ้าถุง 

ทางด้านคนมอญก็มิได้แตกต่างไปจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเท่าใดนัก หนุ่มสาวจะแต่งกายตามสมัยนิยม ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อคอกลมหรือคอปก ทาหน้าด้วยทานาคา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์จากพม่า หากมีงานบุญจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส สวมเครื่องประดับ เช่น สร้อย แหวน กำไล เป็นต้น 

อาหารการกินของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในชุมชนบ้านท้ายเหมืองนั้นมีความใกล้เคียงกัน อาหารส่วนใหญ่จะประกอบด้วยผักจิ้มกับน้ำพริก ในช่วงเทศกาลจะมีอาหารประเภทเนื้อสัตว์และนิยมอาหารที่หาซื้อได้ง่ายตามตลาดนัด แต่อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์จากพม่าจะนิยมใส่มาซาลา ใส่น้ำมันพืชในปริมาณมากทำให้อาหารมีความมันจัด แกงของคนมอญ พม่า กะเหรี่ยง ทวาย จะมีลักษณะเป็นก้อนขนาดใหญ่ ไม่นิยมผัก ซึ่งตรงข้ามกับพฤติกรรมการการบริโภคอาหารของคนไทยที่ไม่นิยมอาหารที่มันความมัน ไม่นิยมมาซาลา และทำแกงโดยใส่เนื้อที่หั่นเป็นชิ้นขนาดเล็กพอดีคำ ใส่ผักในปริมาณมาก นอกจากนี้เอกลักษณ์อย่างหนึ่งในวัฒนธรรมการกินของกลุ่มชาติพันธุ์จากพม่า คือ นิยมดื่มกาแฟตอนเช้าเป็นอย่างมาก หากมีแขกมาเยี่ยมไม่ว่าเวลาใดก็ตามนิยมชงกาแฟร้อนรับแขกคู่กับขนมขบเคี้ยว 

บ้านท้ายเหมืองเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์ผู้พลัดถิ่นชาวพม่า ลักษณะการตั้งบ้านเรือนนั้นจะแยกออกเป็นการตั้งบ้านเรือนภายในศูนย์ และการตั้งบ้านเรือนภายนอกศูนย์ การตั้งบ้านเรือนภายในศูนย์นั้นจะตั้งเรียงรายสองฟากฝั่งถนนที่เป็นดินเข้าไปในศูนย์ กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในส่วนคือชาวพม่าที่มาจากเมืองทวาย ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและมีอิสลามปะปนบ้างบางครัวเรือน สำหรับการตั้งบ้านเรือนภายนอกศูนย์จะเป็นการสร้างบ้านเรือนอยู่รวมกันทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรม โดยไม่มีการแบ่งแยก ลักษณะบ้านเรือนของชาวบ้านท้ายเหมืองในอดีตนิยมกั้นฟากและปูพื้นด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วยสังกะสี แต่เนื่องจากการสร้างบ้านจากไม้ไผ่เกิดความทรุดโทรมและผุพังง่าย ปัจจุบันจึงเปลี่ยนมาเป็นการสร้างบ้านแบบถาวรด้วยปูนซีเมนต์และอิฐบล็อก 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทย ภาษาพม่า (ภาษากลางของคนต่างด้าวที่มาจากพม่า) ภาษาทวาย (ภาษาถิ่น) ภาษากะเหรี่ยง ภาษาอาหรับ (สำหรับชาวมุสลิมที่ต้องศึกษาคัมภีร์อัลกุรอาน) 

ภาษาเขียน : ภาษาไทย ภาษาพม่า ภาษาอาหรับ 


เมื่อประมาณกลางปี 2553 สมัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบสัญชาติไทยให้กับคนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดอื่น ๆ โดยมีข้อกำหนดว่าจะต้องเกิดในประเทศไทย หรือมีพ่อแม่เกิดในประเทศไทย การได้มาซึ่งสัญชาติทำให้คนเหล่านี้มีสิทธิต่าง ๆ และสามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้เทียบเท่าคนไทย เช่น การเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา สามารถออกไปทำงานนอกพื้นที่ มีกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดิน รวมถึงจดทะเบียนสินค้าต่าง ๆ ได้ด้วยชื่อตนเอง ทว่า นโยบายการให้สัญชาติของรัฐบาลไทยนั้นมีแนวทางไม่ชัดเจน มาตรฐานไม่แน่นอน และยังมีแนวโน้มกีดกันเกี่ยวกับการให้สัญชาติ ทำให้มีชาวต่างด้าวจำนวนมากที่ยังประสบกับปัญหาภาวการณ์ไร้ซึ่งสัญชาติ ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวถูกละเลยไร้การเหลียวแลจากภาครัฐ ขาดโอกาสในการเข้าถึงรัฐสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งการรักษาพยาบาล การศึกษา ความคุ้มครองทางสังคม ซึ่งเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่พลเมืองทุกคนพึงได้รับ ด้วยถูกมองว่าเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยไร้ซึ่งสิทธิและเสียงในการแสดงออกเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ตน อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกภายในชุมชน โดยการเรียกต่างด้าวชาวพม่าในชุมชนว่า “กะเหรี่ยงนอก” ซึ่งหมายถึงคนนอก เนื่องจากเป็นบุคคลผู้ที่ยังไม่ได้การรับรองสัญชาติไทยจากรัฐบาล  


บ้านท้ายเหมืองมีการจัดการศึกษาตามรูปแบบการเรียนการสอนของรัฐไทย โรงเรียนประจำชุมชนคือโรงเรียนบ้านบ้องตี้ เปิดสอนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยกลุ่มนักเรียนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใด ศาสนาใด จะถูกกำหนดให้เรียนรู้ระบบการศึกษาและพูดภาษาไทย บางครอบครัวที่มีฐานะดีจะส่งลูกเข้าศึกษาในระดับสูง ๆ กระทั่งจบมหาวิทยาลัยก็มี ส่วนลูกหลานของคนกะเหรี่ยงสัญชาติพม่า ซึ่งมีความสามารถและเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ อันเป็นผลมาจากการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันเป็นประจำ เพราะต้องอ่านพระคัมภีร์ไบเบิลและสนทนากับชาวต่างชาติที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในชุมชน คนกลุ่มนี้มักจะได้รับทุนการศึกษาจากหน่วยงานของศาสนาคริสต์เพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยนานาชาติของศาสนาคริสต์ บางส่วนที่ได้กรีนการ์ดจะได้ทุนสนับสนุนไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภูมิชาย คชมิตร. (2558). การธำรงชาติพันธุ์ของคนทวายในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาลุ่มน้ำโขงศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 

อบต.บ้องตี้ โทร. 0-3468-6433