บ้านใหม่เฮาะคี บ้านของชาวปกาเกอะญอ โดดเด่นวัฒนธรรมประเพณี
ความเป็นมาของชื่อหมู่บ้าน "บ้านใหม่เฮาะคี" เดิมที่ตั้งของหมู่บ้านเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านใช้ประกอบพิธีเลี้ยงผีบ้านของชาวบ้านในละแวกนี้ เรียกว่า "โฮะคี" ต่อมามีชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านใหม่โฮะคี" แต่จากการที่ชาวบ้านสื่อสารกับทางราชการไม่ค่อยชัดเจนจึงกลายเป็น "บ้านใหม่เฮาะคี" ในปัจจุบัน
บ้านใหม่เฮาะคี บ้านของชาวปกาเกอะญอ โดดเด่นวัฒนธรรมประเพณี
บ้านใหม่เฮาะคี เป็นหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ ซึ่งได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยย้ายมามาจากบ้านพุย หมู่ 7 ต.บ่อหลวง เข้ามาอาศัยครั้งแรกมีประชากรประมาณ 5 ครัวเรือน และได้มีชาวบ้านย้ายติดตามเข้ามาอาศัยมากขึ้นในเวลาต่อมา โดยบ้านใหม่เฮาะคีขึ้นกับ หมู่ 7 ต.บ่อสลี อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ โดยมี บ้านใหม่กองปะ เป็นหมู่บ้านหลักและมีหย่อมบ้านอีก 3 หย่อมบ้าน คือ บ้านใหม่เฮาะคี บ้านแม่เตียน บ้านห้วยตาทบ
เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนที่สูง มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรป่าไม้ โดยมี "ต้นก่อ" เป็นพืชพรรณประจำท้องถิ่น
ชาวปกาเกอะญอมีจำนวนทั้งหมด 222 คน และครัวเรือนจำนวน 62 ครัวเรือน
ปกาเกอะญอมีสถานประกอบการ ประกอบด้วย กลุ่มเลี้ยงสัตว์ (สุกร) 1 กลุ่ม ร้านค้าจำนวน 2 แห่ง และปั้มน้ำมันจำนวน 2 แห่ง
ประเพณีแต่งงาน ผู้หญิงจะเป็นผู้เลือกคู่ครองเอง เจ้าสาวจะต้องทอเสื้อผ้า กางเกง ย่ามไว้ให้ เจ้าบ่าว ทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องฆ่าหมูฆ่าไก่เพื่อทำพิธีกรรมบอกต่อผีบรรพบุรุษและเป็นอาหาร เลี้ยงแขก แต่งงานแล้วฝ่ายชายต้องมาอยู่บ้านฝ่ายหญิง 1 ฤดูเก็บเกี่ยว ก่อนแยกไปปลูกบ้านใกล้กัน
การเลี้ยงผี การเลี้ยงผีมีหลายพิธีและต่างวาระกัน เช่น การเลี้ยงผีเพื่อขอขมาลาโทษต่อเจ้าบ้านเจ้าเมือง ซึ่งเป็นผีป่า ผีหลวง ผีฟ้า และการเลี้ยงผีเพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น
ประเพณีปีใหม่ โดยหัวหน้าหมู่บ้านจะเป็นผู้ระบุวันล่วงหน้า แต่ละหมู่บ้านจะมีปีใหม่แต่ละปีไม่ตรงกัน เพราะเป็นพิธีที่หมายถึงการเริ่มต้นของฤดูกาลการเกษตร และอยู่เย็นเป็นสุข
วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย ปกาเกอะญอทอผ้าจนเป็นวัฒนธรรมประจำเผ่า เสื้อเด็กและหญิงสาวจะเป็นชุดทรงกระสอบ ผ้าฝ้ายพื้นขาว ทอหรือปักประดับลวดลายให้งดงาม ส่วนหญิงที่มีครอบครัวแล้วจะสวมเสื้อสีดำ น้ำเงิน และผ้านุ่งสีแดงคนละท่อน ตกแต่งด้วยลูกเดือยหรือทอยกดอก ยกลาย สำหรับผู้ชายกะเหรี่ยงนั้นส่วนมากจะสวมเสื้อตัวยาวถึงสะโพก ตัวเสื้อจะมีการตกแต่ง ด้วยแถบสีไม่มีการปักประดับเหมือนเสื้อผู้หญิง นุ่งกางเกงสะดอ นิยมใช้สร้อยลูกปัดเป็นเครื่อง ประดับ และสวมกำไลเงินหรือตุ้มหู
กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ. (ม.ป.ป.). บ้านใหม่เฮาะคี. สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2567. ระบบฐานข้อมูลศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง". https://www.ศศช.com
TODAY. (7 ธันวาคม 2560). มูลนิธิเวิร์คพอยท์ "หนาวนี้แบ่งกันอุ่น" ช่วยภัยหนาวให้กับชาวบ้าน. สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2567. https://workpointtoday.com/