Advance search

กุฎีกลาง

กุฎีเจริญพาศน์นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความแปลกตาตามรูปแบบอาคารขนมขิงที่ผสมผสานไปกับของศาสนาอิสลามที่เชื่อมสายสัมพันธ์ของชุมชนและศาสนา

ถนนอิสรภาพ
วัดอรุณ
บางกอกใหญ่
กรุงเทพมหานคร
สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ โทร. 024-651-989
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
25 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
26 เม.ย. 2023
เจริญพาศน์
กุฎีกลาง

การมีขึ้นของชื่อ เจริญพาศน์ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นใด เว้นแต่กับสะพานข้ามคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งชื่อ เจริญพาศน์เข้ามาเกี่ยวข้องกับความเป็นชุมชน เห็นได้จากความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในรัศมีโดยรอบสะพาน รวมถึงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ชายขอบของความเป็นชุมชนเจริญพาศน์


กุฎีเจริญพาศน์นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความแปลกตาตามรูปแบบอาคารขนมขิงที่ผสมผสานไปกับของศาสนาอิสลามที่เชื่อมสายสัมพันธ์ของชุมชนและศาสนา

ถนนอิสรภาพ
วัดอรุณ
บางกอกใหญ่
กรุงเทพมหานคร
10600
13.73693254600185
100.48691966052145
กรุงเทพมหานคร

ชุมชนเจริญพาศน์ นับว่าเป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่มาตั้งแต่ครั้งสร้างกรุงธนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ส่วนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม ในปัจจุบันคือ ‘คลองบางกอกใหญ่’ หรือ ‘คลองบางหลวง’ โดยเกิดจากการขุดคลองลัดบางกอก ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2085 ในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา นับว่าเป็นเวลาหลายร้อยปี จึงเป็นผลต่อกระแสน้ำให้คลองลัดจนกลายมาเป็น ‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ ในปัจจุบันมีช่วงที่ไหลผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ท่าราชวรดิฐวัดอรุณราชวราราม และท่าเตียน ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมมีขนาดแคบลงจนกลายเป็นคลองที่เรียกว่า คลองบางกอกน้อย คลองบางขุนศรี และคลองบางกอกใหญ่

‘กุฎีเจริญพาศน์ หรือกุฎีกลาง’ คือเป็นบ้านล่างของแขกเจ้าเซ็น ซึ่งกุฎีเจ้าเซ็น หรือกุฎีหลวง ถือว่าเป็นศาสนสถานแรกของแขกเจ้าเซ็นที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ความเป็น ‘ชุมชน’ ของแขกเจ้าเซ็นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับศาสนสถาน ชุมชนแรกของแขกเจ้าเซ็นสมัยธนบุรีเกิดขึ้นหลังอพยพลงมาจากกรุงศรีอยุธยาคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ซึ่งมีการตั้งรกรากกันเป็นชุมชนริมน้ำคลองบางหลวงอยู่ก่อนแล้วในย่านที่ไม่ไกลจากพระราชวังของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมากนัก

โดยชุมชนแรกเริ่มของ ‘แขกเจ้าเซ็น’ ในธนบุรีอยู่บริเวณพื้นที่ต่ำจากวัดหงสารามลึกเข้าไปตามแนวคลองบางกอกใหญ่ โดยพิจารณาจากวัดรวมถึงสถานที่สำคัญหลายแห่งที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ทางฝั่งเหนือของคลองบริเวณเดียวกัน ซึ่งเป็นฝั่งที่ตั้งพระราชวังของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สถานที่สำคัญตั้งเรียงรายตามแนวคลองบางกอกใหญ่ นับจากป้อมวิไชยประสิทธิ์ หรือป้อมเมืองบางกอกฝั่งตะวันตกที่อยู่ต่อกับวัดท้ายตลาด หรือวัดโมลีโลกยาราม เป็นวัดเก่าในสมัยอยุธยาแนวปากคลองคูเมืองเดิมฝั่งตะวันตกที่ขุดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อด้วยชุมชนมุสลิมที่ ‘มัดยิดต้นสน’ หรือกุฎีใหญ่ อันเป็นชุมชนเก่าแก่ของมุสลิมในธนบุรีที่มีอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งแนวเขตของชุมชนแรกที่กุฎีต้นสนตั้งประชิดติดกับที่ดินของวัดหงส์รัตนาราม สุดแนวที่ดินของวัดเป็นที่อยู่ของชาวบ้านที่อาศัยรายรอบวัดจนกระทั่งถึงชุมชนแขกเจ้าเซ็น ซึ่งภายหลังต่อมาเมื่อมีการสร้างกุฎีขึ้นจึงเรียกชุมชนตนว่า ‘บ้านล่าง’ หรือ ‘กุฎีล่าง’

จากที่กล่าวถึงในข้างต้น จากข้อมูลพบว่า บ้านล่าง หรือกุฎีล่าง ถูกสร้างขึ้นเป็นกะดีแห่งที่สองในที่ดินรวมตัวกันเป็นชุมชนในต้นกรุงธนบุรีเป็นครั้งแรก ชุมชนแขกเจ้าเซ็นในเวลานั้นน่าจะเป็นชุมชนเรือนแพที่ปลูกบ้านเรือนของพวกตนอาศัยอยู่ริมน้ำเป็นสำคัญ กะดีที่สร้างขึ้นในเวลาต่อมาจึงตั้งอยู่ไม่ไกลจากริมคลองบางกอกใหญ่มากนัก อีกทั้งการตั้งกะดีของพวกตนยังให้ความสำคัญกับเส้นทางน้ำเป็นหลัก

ชื่อเรียกหลังสุดของกะดีแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงดำเนินการสร้างสะพานชุด ‘เจริญ’ ขึ้นในรัชกาลของพระองค์ให้สอดคล้องกับแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงสร้างสะพานชุด ‘เฉลิม’ และเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ทั้งหมด 6 สะพาน ได้แก่ สะพานเจริญรัช 31 ข้ามคลองคูเมืองเดิมด้านปากคลองตลาด, สะพานเจริญราษฎร์ 32 ข้ามคลองมหานาค, สะพานเจริญพาศน์ 33 ข้ามคลองบางกอกใหญ่, สะพานเจริญศรี 34 ข้ามคลองคูเมืองเดิมบริเวณวัดบุรณศิริมาตยาราม, สะพานเจริญทัศน์ 35 ข้ามคลองวัดสุทัศนเทพวราราม และสะพานเจริญสวัสดิ์ 36 ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง โดยหนึ่งในสะพานชุดเจริญที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลานั้นอยู่ทางฝั่งธนบุรี ได้แก่ สะพานเจริญพาศน์ 33 เพื่อใช้ข้ามคลองบางกอกใหญ่บริเวณที่ใกล้กับสถานที่ตั้งกุฎีล่างของพระยาจุฬาราชมนตรี หรืออากาหยี่ หลังจากนั้นมีผลให้ชื่อของกะดีแขกเจ้าเซ็นแห่งนี้เปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่งในชื่อที่เป็นทางการต่อมาว่า ‘กุฎีเจริญพาศน์’ และใช้เรียกมาจนถึงปัจจุบันตามที่ ชาตรี นนทเกษ กล่าวถึงใน อากาหยี่กับกุฎีเจริญพาศน์ ว่า “นับแต่ได้มีการสร้างสะพานเจริญพาศน์ 33 ขึ้นแล้ว ชื่อของสะพานได้ถูกผนวกเข้ากับชื่อของกีล่างและใช้เป็นชื่อทางการในลำดับต่อมาว่า กุฎีเจริญพาศน์ จนถึงทุกวันนี้”

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในบทสัมภาษณ์ของ ชาตรี นนทเกศ ชายวัย 63 ปี ผู้ดูแลหรือทรัสตีกุฎีเจริญพาศน์ กล่าวว่าแต่เดิมย่านชุมชนแห่งนี้เรียกว่า ย่านชุมชนแขกเจ้าเซ็น ตามบรรพบุรุษชาวมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซีย ที่เรียกว่า แขกมะหง่น หรือ แขกเจ้าเซ็น ซึ่งเข้ามาตั้งรกรากเป็นกลุ่มแรก และในปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียกลุ่มนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายชีอะฮ์ และกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จากบทสัมภาษณ์ ธีรนันท์ ช่วงพิชิต นักมานุษยวิทยา – ประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมอิสลาม แห่งศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี ได้กล่าวว่า “กุฎีเจริญพาศน์ ยังคงมีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับชาวมุสลิมทั้งในและนอกพื้นที่ นอกจากจะใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธีสำคัญ อย่าง พิธีแห่เจ้าเซ็น การใช้เป็นสถานที่ประชุมกันระหว่างชาวมุสลิมแล้วกุฎีหลังนี้ยังเป็นสถานที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนศาสนาอิสลามให้แก่เยาวชน” นอกจากนี้ สำหรับชาวมุสลิม การบรรลุนิติภาวะประกอบด้วย 2 สถานะ ได้แก่ สถานะแรกเป็นการบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบตามที่กฎหมายระบุไว้ที่ไม่แตกต่างไปจากศาสนิกชนศาสนาอื่น และอีกสถานะหนึ่ง คือการบรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ กล่าวคือศาสนบัญญัติ ระบุไว้ว่าผู้หญิงจะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 9 ปี และผู้ชายจะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุ 13 ปี หรือมีการเปลี่ยนแปลงใดของร่างกายอันเป็นระบบสัญลักษณ์แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ อาทิ การมีรอบเดือนของผู้หญิง หรือการเปลี่ยนแปลงของเสียงผู้ชาย ให้ถือว่าเป็นการบรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติเช่นกัน ดังนั้นการศึกษาคัมภีร์อัลกุรอาน ตลอดจนจริยธรรม หรือข้อปฏิบัติต่าง ๆ ตามหลักบัญญัติศาสนา อาทิ การละหมาด การอ่านพระคัมภีร์ และการปฏิบัติศาสนพิธี เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชนมุสลิมให้สามารถดำเนินวิถีชีวิตอย่างศาสนิกชนมุสลิมทั่วไป เมื่อถึงการบรรลุนิติภาวะตามศาสนา

ชาตรี นนทเกษ ได้กล่าวเสริมว่า “เด็กหรือเยาวชนที่มาเรียนศาสนา ณ กุฎีเจริญพาศน์นั้นไม่ได้มีเฉพาะเพียงเด็กที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงเด็กที่พักอาศัยอยู่ที่อื่นที่ผู้ปกครองนำมาเรียนอ่านพระคัมภีร์กุรอานภายใต้การดูแลของกุฎีเจริญพาศน์ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับชุมชนแขกเจ้าเซ็นทั้งสิ้น บางคนมีผู้ปกครองที่เคยอาศัยอยู่ในชุมชนเมื่อครั้งยังเด็ก ผู้ปกครองของเด็กบางคนอาจจะไม่เคยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ แต่รุ่นปู่ย่าตายายอาจจะเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งเด็กเหล่านั้นจะถูกนำมาเรียน ณ ที่แห่งนี้เหมือนกับที่ตนเองได้เคยเรียนมาเช่นกัน อีกทั้งครูผู้สอนศาสนาเองเป็นทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ ล้วนแล้วแต่มีความเป็นมาและความเกี่ยวข้องกับชุมชนกุฎีเจริญพาศน์แห่งนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเช่นเดียวกับศาสนิกชนรุ่นเยาว์” เพราะฉะนั้นบรรยากาศในวันอาทิตย์ ภายในกุฎีเจริญพาศน์แห่งนี้จึงคึกครื้นต่างจากวันปกติทั่วไป พื้นที่ภายในทั้งหมดถูกใช้เป็นพื้นที่สอนอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอาน สิ่งเหล่านี้ล้วนคือสายสัมพันธ์ที่ทำให้ชุมชน ชาวมุสลิม และศาสนสถาน มีความเกี่ยวข้องกันจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ลึกซึ้งกว่าการเป็นเพียงหน้าที่สอนศาสนา หรือการใช้สถานที่ประกอบศาสนพิธีเพียงอย่างเดียว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

1. กุฎีเจริญพาศน์ (ก่อนทำการรื้อ) มีลักษณะเป็นอาคารเรือนปั้นหยาเปิดบางส่วนเป็นหน้าจั่ว ด้านหน้ามีหน้ามุข บริเวณหน้าจั่วและเชิงหลังคาประดับไม้ฉลุลายวิจิตร ผนังสอบแบบเรือนไทย ด้านในอาคารเป็นห้องโถงโล่ง ด้านซ้ายและขวาเป็นผนังสองชั้น ผนังด้านในเจาะช่องเรียกว่า ‘มิห์รอบ’ เป็นที่ยืนของอิหม่ามเวลาทำละหมาด หน้ามิห์รอบมีป้ายชื่อพระนามของพระอัลเลาะฮ์ พร้อมพระนามผู้บริสุทธิ์ทั้งห้า หรือที่เรียกว่า ‘ปัญจตัน’ ประกอบด้วยท่านศาสดามุฮัมหมัด (ซ.ล.) ท่านหญิงฟาติมะฮ์ ท่าอะลี, ท่านฮะซัน และท่านฮุเซน นอกจากนี้ ยังมีแท่นไม้กว้างประมาณ 60 เซนติเมตร สูง 2 เมตร ส่วนบนมีที่พักแขน ส่วนล่างเป็นขั้นลดหลั่นคล้ายบันไดที่เรียกว่า ‘มิมบัร’ ใช้สำหรับนั่งแสดงธรรม

ก่อนรื้อทางชาวชุมชนกุฎีเจริญพาศน์ได้ปรึกษากับนักวิชาการท่านหนึ่งของกรมศิลปากร ซึ่งท่านไม่เห็นด้วยกับการที่จะต้องรื้อ ‘กุฎีเจริญพาศน์’ ท่านเล็งเห็นว่ากุฎีเจริญพาศน์ควรที่จะอนุรักษ์ ซึ่งในทางอนุรักษ์ของท่าน คือการยกตัวอาคารขึ้นทั้งหมดเพื่อที่จะทำพื้นใหม่แล้วค่อย ๆ ปฏิสังขรณ์ตัวอาคารไปเรื่อย ๆ ทว่าชาวชุมชนได้ตั้งคำถามว่าหากต้องปฏิสังขรณ์เชิงอนุรักษ์ตามแนวทางดังกล่าวแล้ว อาคารหลังนี้จะมีอายุการใช้งานได้นานเพียงไร เนื่องจากอาคารหลังนี้ย่อมแตกต่างจากอาคารโบราณสถานทั่ว ๆ ไปที่มีรัฐหรือองค์กรเอกชนสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ประการสำคัญอาคารเหล่านั้นไม่ได้ถูกใช้ประจำวันเช่น ‘กุฎี’ ทุนรอนในการดูแลรักษาของสังคมมีความจำกัด หากการใช้งานอาคารที่ได้จากการปฏิสังขรณ์ไม่ยืนยาว และต้องใช้ทุนรอนจำนวนมาก ฉะนั้นการรื้อและสร้างใหม่จึงเป็นทางเลือกที่น่าจะเหมาะสมกว่า และเมื่อสัปปุรุษหรือสมาชิกที่มาทำบุญประจำที่นี่ได้ลงมติเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ จึงลงมือดำเนินการสร้าง ‘อาคารหลังใหม่ด้วยรูปแบบเดิม’

กุฎีเจริญพาศน์ (หลังรื้อและสร้างใหม่) มีรูปทรงอาคารกุฎีที่จะสร้างใหม่ในรูปแบบเดิม แม้ลวดลายต่าง ๆ ที่หน้ามุขด้านหน้าจะเสียหายมาก ได้มีการลอกลายเดิมไว้แล้วทำขึ้นมาใหม่ กระเบื้องหลังคาที่ทำขึ้นมาใหม่ กระเบื้องหลังคาจะนำกระเบื้องว่าวมาใช้ซึ่งในอดีตเป็นกระเบื้องว่าวเช่นกัน พื้นที่ใช้สอยของอาคารจะมีมากกว่าเดิม โดยจะไม่มีผนังชั้นในและขยายด้านหน้าของอาคารออกไปเพิ่ม 

2. นายชาตรี นนทเกษ รุ่นหลานของตระกูล อากาหยี่ ซึ่งเป็นหลานของนายเสนาะ อากาหยี่ ได้รับมอบหมายเป็นผู้ปกครองกุฎีเจริญพาศน์ร่วมกับบุตรสายตรง คือนายเสนีย์ อากาหยี่ ในปี พ.ศ. 2540 ในปัจจุบันกุฎีเจริญพาศน์จึงมีผู้ปกครองในฐานะทรัสตีร่วมสองคนอันเป็นผลจากพินัยกรรม

3. พิธีแห่เจ้าเซ็น เป็นพิธีแห่เจ้าเซ็นที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ปรากฏหลักฐานในสำเภากษัตริย์สุลัยมาน ซึ่งบันทึกโดยอิบนิ มูฮัมหมัด อิบรอฮีม อาลักษณ์ของคณะราชทูตเปอร์เซียของกษัตริย์สุลัยมานแห่งราชวงศ์เศาะฟะวียฮฺ และจดหมายเหตุการเดินทางสู่สยามของบาทหลวงกีย์ ตาชาร์ด และแม้เวลาจะเคลื่อนผ่านจากสมัยอยุธยาสู่สมัยธนบุรีหรือรัตนโกสินทร์แล้ว พิธีนี้ก็ยังคงสืบทอดต่อลงมา และยังมีโอกาสได้แสดงต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้าอยู่หัวด้วย โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ทรงมีพระบรมราชโองการให้ไปจัดพิธีแห่เจ้าเซ็นที่พระนั่งสุทไธสวรรย์ติดต่อกันถึง 2 ปี ในระหว่างปี พ.ศ. 2359 – 2360

โดยทุกเดือนมุฮัรรอมตามปฏิทินอิสลามจะมีพิธีการสำคัญใน ‘วันอาชูรอ’ อย่างพิธีแห่เจ้าเซ็นกุฎีเจริญพาศน์เพื่อระลึกถึงการสูญเสียของผู้นำนิกายชีอะห์ตามประวัติศาสตร์กว่า 1,000 ปีก่อน ซึ่งในปัจจุบันที่ชุมชนมุสลิมในย่านกุฎีเจริญพาศน์ หรือย่านคลองบางหลวง เป็นหนึ่งในชุมชนที่ยังคงพิธีการนี้อย่างเข้มแข็ง กล่าวคือพิธีสำคัญนี้มีขึ้นในคืนวันที่ 10 ของเดือนมุฮัรรอม หรือที่รู้จักในชื่อ ‘แห่เจ้าเซ็น’ ที่ชุมชนมุสลิมนิกายชีอะฮ์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยยึดถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง จากบทสัมภาษณ์ของ ชาตรี นนทเกศ ทรัสตีอิมามบาระฮ “พิธีแห่เจ้าเซ็น นับว่าเป็นพิธีที่รู้จักกันตั้งแต่เด็ก เพราะว่าผู้ใหญ่หรือผู้ปกครอง ต่างจะพาเด็ก ๆ มาในพื้นที่เพื่อร่วมกิจกรรมผ่านพิธี ซึ่งสิ่งที่เขาจะได้รับในแต่ละบริบทของกิจกรรมนี้จะสะท้อนให้เห็นผ่านเรื่องเล่าของบุคคลสำคัญ จนเขาซึมซับตั้งแต่วัยเยาว์”

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จากการศึกษาพบว่า นับตั้งแต่กระบวนการรื้อ กุฎีเจริญพาศน์เริ่มต้นขึ้นราวกลางเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นช่วงเวลาไม่นานหลังจากนั้น พื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งอาคารโบราณหลังนี้ได้เหลือเพียงความว่างเปล่า โดยผู้ดูแลกุฎีเจริญพาศน์ หรือลูกหลานชุมชนเจริญพาศน์ อย่างคุณชาตรี นนทเกษ ได้กล่าวว่าเราเสียดายที่ต้องทำลายสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้ ซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจกับชุมชน ทั้งเสียดายรูปแบบและความเก่าแก่ของมัน แต่มันเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำ ถามว่าอนาคตมันจะเป็นอย่างไรแม้ว่าที่มาของ กุฎีเจริญพาศน์ คาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปีนั้น มีความสำคัญยิ่งต่อสังคมมุสลิมชีอะห์ หรือแขกเจ้าเซ็น ย่านเจริญพาศน์ ด้วยเป็นศูนย์กลางที่ชาวชุมชนแต่ละรุ่นใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ และที่ประชุมจัดกิจกรรมทางสังคมมาเนิ่นนาน พิธีสำคัญของชาวชีอะห์อย่างพิธีแห่งเจ้าเซ็นที่จัดที่นี่ในเดือนมุฮัรรอมของทุกปี นอกจากนั้น กุฎีเจริญพาศน์ ยังเป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม ถือว่าเป็นกุฎีทรงดั้งเดิมเพียงแห่งเดียวที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ขณะที่ศาสนสถานที่เรียกว่ากุฎีของชาวชีอะห์แห่งอื่นที่อายุใกล้เคียงกัน อาทิ กุฎีบนเก่า (ปากคลองมอญ), กุฎีบน (พรานนก) และกุฎีปลายนา หรือกุฎีนอก ทั้งหมดนี้ได้ถูกรื้อถอนหรือเปลี่ยนรูปแบบอาคารไปหมดแล้ว

ทั้งนี้ อาจจะด้วยกาลเวลาที่ผ่านมานาน ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงเห็นว่า กุฎีเจริญพาศน์ ชำรุดทรุดโทรมเกินจะบูรณะซ่อมแซมได้อีก จึงเห็นสมควรว่าต้องทำการรื้อเพื่อสร้างใหม่ เรื่องราวของอาคารที่ทรงคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมแห่งนี้จึงสมควรถูกบันทึกไว้เป็นอนุสรณ์ โดยในอดีตกุฎีเจริญพาศน์ผ่านการบูรณะซ่อมแซมมาหลายครั้ง คุณชาตรี นนทเกษ กล่าวถึงกรณีรื้อสร้างอาคารใหม่ครั้งนี้ว่า แรกเริ่มเดิมทีไม่ได้ตั้งใจรื้อและสร้างใหม่ เพียงแต่ต้องการซ่อมแซมเฉพาะส่วนที่สึกกร่อนหรือปฏิสังขรณ์ ด้วยการจัดตั้งเป็นกองทุนขึ้น ชื่อว่ากองทุนปฏิสังขรณ์กุฎีเจริญพาศน์ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2536 แต่เนื่องจากหลาย ๆ จุดของอาคารมีความทรุดโทรมเกินกว่าจะเยียวยาต่อไปได้ อาทิ ปูนซีเมนต์ตามกรอบหน้าต่างด้านในกะเทาะออกมาให้เห็นโครงเหล็กที่เป็นสนิมข้างในเสาอาคารซึ่งเป็นไม้หุ้มไว้ด้วยปูนซีเมนต์ถูกปลวกทำลายจนยากจะป้องกัน สภาพโดยรอบอาคารต่ำกว่าพื้นที่ข้างเคียงโดยเฉพาะถนนสายอิสรภาพ เป็นเหตุให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังเมื่อฝนตกหนัก สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นบทสรุปการแปรเปลี่ยนเจตนารมณ์

ท้ายที่สุด ชาตรี นทเกษ กล่าวถึงอาคารหลังใหม่ว่าความขลังหรือความผูกพันที่ชุมชนมีต่ออาคารหลังใหม่อาจยังไม่เท่าอาคารหลังเดิมที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน แต่การเป็นศาสนสถานจะเป็นเงื่อนไขให้ทุกคนต้องยำเกรงให้ความเคารพ ซึ่งความเป็นมาของชุมชนที่ยาวนานและยังคงดำรงอยู่ก็จะสามารถลบล้างความรู้สึกนั้นไปได้ในที่สุด

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กุฎีเจริญพาศน์. (ม.ป.ป.). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล. (2565). แห่เจ้าเซ็น. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก http://readthecloud.co/chao-sen-rite-ashura.

ปิยนาถ บุนนาค และคณะ. (2525). คลองในกรุงเทพฯ : ความเป็นมาการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ในรอบ 200 ปี (พ.ศ.2325-2525). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไพฑูรย์ พงศะบุตร. (ม.ป.ป.). คลองขุดในประเทศไทย ใน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ (เล่มที่ 33). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

ภิมรพี ธุรารัตน์. (2558). กุฎีเจริญพาศน์: สายสัมพันธ์ศาสนาและชุมชน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://www.sarakadee.com/2015/08/17/กุฎีเจริญพาศน์.

ระลึกวันอาชูรอ พิธีแห่เจ้าเซ็นกุฎีเจริญพาศน์. [วีดิทัศน์]. (2557, 8 พฤศจิกายนยน). กรุงเทพฯ: Thai PBS News.

สุพาพรรณ สกุลเจริญพร. (2545). อำลากุฎีเจริญพาศน์ ศาสนสถานสำคัญของมุสลิมชีอะห์. สารคดี, 18(212), 40-42.

PS.K. (2563). ความงามของชุมชนเจริญพาศน์...คลองบางกอกใหญ่ และ ถนนอิสรภาพ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/detail/Zm2vvRL1q4vm.

สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ โทร. 024-651-989