ห้วยหีบเด่นเป็นสง่า ทุ่งนาเขียวขจี ธรรมชาติงามสดศรี ฝีมือดีผ้าทอพื้นเมือง งามลือเลื่องสาวภูไท ถิ่นมั่นในคุณธรรม
ครั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์การรุกรานของชาวจีนฮ่อ ประกอบกับภาวะฝนแล้ง ทำให้ชาวผู้ไทประสบกับความอดอยาก จึงได้อพยพลงมาตามลำน้ำโขงตอนล่างโดยการนำของนาย "ฮ่ม" มีผู้ร่วมเดินทางเป็นชาวบ้านประมาณ 10 ครอบครัว ภายหลังคนกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานและสร้างหมู่บ้านในป่าใกล้ลำห้วยสายหนึ่งที่เกิดจากเทือกเขาภูพาน ปัจจุบันตั้งชื่อชุมชนนั้นว่า "บ้านป่ง" สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ วันหนึ่ง ชาวบ้านพากันออกไปหาปลาในลำห้วยใกล้หมู่บ้าน พบหีบในห้วยใบหนึ่ง กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร และยาว 1 เมตร จึงช่วยกันยกหีบใบนั้นขึ้นมา แต่ยกเท่าไรก็ยกไม่ขึ้นจนเข้าใจว่าหีบใบนั้นคือหีบภูตผีหรือมีเทวดาอารักขา ในขณะเดียวกันก็จับปลาไม่ได้เลยแม้แต่ตัวเดียวในวันนั้น หีบดังกล่าวปรากฏขึ้นเป็นครั้งคราวและมักจะหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อลำห้วยนี้ว่า "ลำห้วยหีบ" และเปลี่ยนชื่อชุมชนเป็น "ห้วยหีบ" เพื่อความเป็นสิริมงคล
ห้วยหีบเด่นเป็นสง่า ทุ่งนาเขียวขจี ธรรมชาติงามสดศรี ฝีมือดีผ้าทอพื้นเมือง งามลือเลื่องสาวภูไท ถิ่นมั่นในคุณธรรม
แต่เดิม บ้านห้วยหีบเป็นชุมชนเล็ก ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทที่อพยพมาจากภูวังอ่างคำ (เมืองวีละบุรีในปัจจุบัน) ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของประเทศลาว เมื่อประมาณ พ.ศ. 2373 สมัยรัชกาลที่ 3 เกิดเหตุการณ์การรุกรานของชาวจีนฮ่อ ประกอบกับภาวะฝนแล้ง ทำให้ชาวผู้ไทประสบกับความอดอยาก จึงได้อพยพลงมาตามลำน้ำโขงตอนล่างโดยการนำของนาย "ฮ่ม" มีผู้ร่วมเดินทางเป็นชาวบ้านประมาณ 10 ครอบครัว ภายหลังคนกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานและสร้างหมู่บ้านในป่าใกล้ลำห้วยสายหนึ่งที่เกิดจากเทือกเขาภูพาน ปัจจุบันตั้งชื่อชุมชนนั้นว่า "บ้านป่ง" สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ วันหนึ่ง ชาวบ้านพากันออกไปหาปลาในลำห้วยใกล้หมู่บ้าน พบหีบในห้วยใบหนึ่ง กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร และยาว 1 เมตร จึงช่วยกันยกหีบใบนั้นขึ้นมา แต่ยกเท่าไรก็ยกไม่ขึ้นจนเข้าใจว่าหีบใบนั้นคือหีบภูตผีหรือมีเทวดาอารักขา ในขณะเดียวกันก็จับปลาไม่ได้เลยแม้แต่ตัวเดียวในวันนั้น หีบดังกล่าวปรากฏขึ้นเป็นครั้งคราวและมักจะหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อลำห้วยนี้ว่า "ลำห้วยหีบ" และเปลี่ยนชื่อชุมชนเป็น "ห้วยหีบ" เพื่อความเป็นสิริมงคล บริเวณที่พบหีบ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศาลปู่ตา ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนทั้งชุมชนให้ความเคารพนับถือ ทุกปีในเดือน 3 ออกใหม่ 3 ค่ำ จะมีพิธีการที่เรียกว่า "เลี้ยงผีปู่ตา"
เมื่อ พ.ศ. 2460 เกิดโรคฝีดาษระบาดในหมู่บ้าน ทำให้มีชาวบ้านส่วนหนึ่งเสียชีวิตจนเกิดการอพยพครั้งใหญ่มาทางทิศเหนือเพื่อหนีโรคร้าย ซึ่งไม่ไกลจากที่เดิมมากนัก ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งแยกตัวออกจากบ้านห้วยหีบไปตั้งหมู่บ้านใหม่ทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตรห่างจากบ้านห้วยหีบ เรียกว่า "บ้านนาสีนวล" ในปัจจุบัน
ใน พ.ศ. 2485 นายเตียง ศิริขันธ์ ได้รวบรวมกำลังชาวบ้านให้สมัครใจเข้าร่วมกระบวนการเสรีไทย เพื่อสร้างค่ายต่อต้านกองกำลังญี่ปุ่นบนเทือกเขาภูพาน ณ บริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า "คำปลาชิว" เป็นเขตติดกับอำเภอเต่างอย เมื่อผู้ชายในหมู่บ้านออกไปฝึก จึงทำให้เหลือแต่ผู้หญิง เด็ก และคนแก่ในหมู่บ้าน ด้วยเหตุนี้ พื้นที่เชิงเขาในหมู่บ้าน รวมทั้งบ้านห้วยหีบ จึงเป็นพื้นที่ที่ทหารญี่ปุ่นและทหารไทยให้ความสนใจเป็นพิเศษ ครั้งหนึ่ง ทหารญี่ปุ่นและทหารไทยจำนวน 600 นาย เข้าปิดล้อมหมู่บ้านเพื่อค้นหา นายเตียง ศิริขันธ์ แต่ล้มเหลวเนื่องจากไม่มีทหารนายใดรู้จักนายเตียง ภายหลังพบว่านายเตียงสร้างบ้านในบริเวณที่ตั้งโรงเรียนบ้านห้วยหีบวิทยาธารในปัจจุบัน
บ้านห้วยหีบ ตั้งอยู่ในตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ห่างจากตัวเมืองสกลนครไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 28.5 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอโคกศรีสุพรรณ 6.6 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเชิงเขาภูพานประมาณ 4.6 กิโลเมตร ทิศใต้จรดเทือกเขาภูพาน ชุมชนบ้านห้วยหีบเป็นชุมชนที่ราบลุ่มสลับกันเป็นดอน โดยมีลำห้วยหีบไหลผ่านหมู่บ้านทางทิศตะวันตก มีแหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยทราย อ่างเก็บน้ำห้วยหมูโตนเชิงเขาภูพาน มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรม เพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์
ภายในบ้านชุมชนบ้านห้วยหีบ มีสถานที่สำคัญ ได้แก่
- อุโบสถ (สิม) วัดโพธิ์ศรีจันทร์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก ใช้ศิลปะพื้นถิ่น สกุลช่างญวน (เวียดนาม) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2478 ภายในประดิษฐานพระประธาน 3 องค์ โดยเฉพาะพระประธานองค์กลางที่เรียกว่า "หลวงพ่อสิมน้อย" เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางมารวิชัย ถือเป็นที่เคารพและยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านห้วยหีบ
- หอผีปู่ตา เป็นที่สถิตของปู่ตา ตั้งอยู่ริมห้วยหีบด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของชุมชนห้วยหีบ
- หนองฮ่องโข เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญของชุมชน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของชุมชน เป็นแหล่งทำกินตามธรรมชาติ และใช้เป็นสถานที่จัดงานวันลอยกระทงของชาวชุมชนห้วยหีบ
- ภูผาด่าง ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาภูพานด้านทิศใต้ของชุมชน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผายล ประกอบด้วยแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม เช่น หน้าผา ถ้ำ และภาพสัตว์ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีภาพเขียนสีโบราณบริเวณก้อนหิน และมีถ้ำที่นายเตียง ศิริขันธ์นำเอาอาวุธสงครามมาซุกซ่อนไว้ในช่วงขบวนการเสรีไทยในอดีต เพื่อเตรียมการสู้รบกับทหารญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันถ้ำดังกล่าวได้พังทลายไปแล้ว
บ้านห้วยหีบ หมู่ที่ 6 มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 234 หลังคาเรือน ประกอบไปด้วยประชากรเพศชาย จำนวน 1,118 คน และเพศหญิง จำนวน 1,147 รวมทั้งสิ้น 2,255 คน
ผู้ไทชุมชนบ้านห้วยหีบมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ประชากรส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรมและทำนาเป็นอาชีพหลัก นอกจากนี้ ชุมชนผู้ไทบ้านห้วยหีบยังโดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งมีกิจกรรมที่สอนโดยปราชญ์ชุมชน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทอผ้าชุมชนภูไทห้วยหีบ กลุ่มเกษตรกรจักสานชุมชนภูไทห้วยหีบ กลุ่มปักผ้า กลุ่มเย็บเครื่องหนัง และกลุ่มสมุนไพร โดยนักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตตามกลุ่มต่าง ๆ ได้
กิจกรรมทางศาสนา
ชาวผู้ไทนับถือผีอยู่บ้างตามความเชื่อที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้แก่ ผีปู่ตา ผีตาแฮก และผีบรรพบุรุษ แต่คนผู้ไทส่วนมากในปัจจุบันหันมานับถือศาสนาพุทธมากขึ้น กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ คือ การตักบาตรย้อนยุควิถีผู้ไท ดังนั้น ทุกวันอังคาร ชาวบ้านจะรวมตัวกันบริเวณด้านหน้าวัดเพื่อตักบาตรพระสงฆ์ นอกจากนี้ การรวมตัวกันทุกวันอังคารยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้พูดคุยกันและจรรโลงถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพุทธศาสนา
กิจกรรมทางวัฒนธรรม
บ้านห้วยหีบมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น 3 กิจกรรม ได้แก่
1.ประเพณีสงกรานต์บ้านห้วยหีบ (บุญเดือนห้าหรือตรุษสงกรานต์) เป็นประเพณีสำคัญที่มีขึ้นในเดือนเมษายน โดยถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่มาแต่โบราณ คำว่าสงกรานต์เป็นคำสันสกฤต แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไป ในที่นี้หมายถึงพระอาทิตย์ที่ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในจักรราศีหนึ่ง เป็นเดือนที่เริ่มต้นปีใหม่ โดยมักถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันเริ่มต้นการประกอบพิธีกรรม โดยจะมีพิธีการทำบุญตักบาตร ทำบุญสรงน้ำพระด้วยการเอาน้ำอบและน้ำหอมไปสรงพระพุทธรูป พระภิกษุสงฆ์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และก่อเจดีย์ทรายเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข
ประเพณีสงกรานต์บ้านห้วยหีบเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ มีการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านชุมชนผู้ไทบ้านห้วยหีบ ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน แบ่งออกเป็น 15 คุ้ม ในแต่ละคุ้มจะร่วมกันจัดเตรียมคุ้มเพื่อเข้าร่วมประกวดอย่างสวยงามในลักษณะต่าง ๆ เช่น ซุ้มประตู กระท่อม เรือนผู้ไทจำลอง และประดับประดาด้วยวัสดุจากธรรมชาติที่หาได้ในพื้นที่
ในวันที่ 13 เมษายน ถือเป็นวันแรกของประเพณีสงกรานต์ พระภิกษุสงฆ์ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกาบ้านห้วยหีบ พร้อมกันประกอบพิธีการทางศาสนา อาราธนาพระพุทธรูปลงเพื่อสรงน้ำ และญาติพี่น้องทำบุญให้อัฐิของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูปในการสวดมาติกาที่ธาตุบรรจุอัฐิ จากนั้นจะมีการเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน
ในวันที่ 14 เมษายน ชาวบ้านบ้านห้วยหีบจะจัดขบวนนำพระพุทธรูปแห่ไปทุกคุ้ม เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมสรงน้ำพระและสาดน้ำ และจะมีการตัดสินการประกวดคุ้มต่าง ๆ เมื่อตกเย็นจะจัดให้มีกิจกรรมตุ้มโฮมพาแลงพร้อมแลกเปลี่ยนการแสดงทางวัฒนธรรม ถือได้ว่าประเพณีสงกรานต์ชุมชนบ้านห้วยหีบจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในจังหวัดสกลนคร ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างช้านาน
2.พิธีกรรมเหยา เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวผู้ไทเชื่อว่าความรู้สึกไม่สบายดังกล่าวเกิดจากการกระทำของบุคคลที่ทำให้ผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็นเกิดความไม่พอใจ จึงทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุแก่บุคคลนั้น อาจเกิดจากการดลบันดาลของบรรพบุรุษที่ต้องการจะสื่อสารกับบุคคลนั้น ดังนั้น การเยียวยาหรือการรักษาอาการเจ็บป่วย สามารถทำได้โดยพิธีเหยา เป็นการรักษาโรคโดยใช้ "แม่หมอ" หรือ "หมอเหยา" เป็นผู้นำในการประกอบพิธี ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการติดต่อสื่อสารกับผีหรือวิญญาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หมอเหยาจะเริ่มจากการร่ายรำประกอบเสียงแคน เพื่อส่องทำนายให้เห็นถึงสาเหตุที่อาจเกิดจากการกระทำล่วงเกินผี หมอเหยาจะเป็นตัวแทนของผีเพื่อกล่าวแก่ผู้เจ็บป่วยหรือญาติของผู้ป่วยในรูปแบบภาษากาพย์กลอนภาษาถิ่น นำไปสู่การเยียวยาโรคภัยตามความเชื่อต่อไป
อาการเจ็บป่วย 2 ประการ ได้แก่ 1) เกิดจากความไม่พอใจของผีหรือดวงวิญญาณ แก้ไขได้ด้วยการดูความต้องการของผีหรือดวงวิญญาณโดยการแต่งขันสมมา สำรับคาวหวาน และบูชาบวงสรวง เมื่อผู้รับการเหยารู้สึกดีขึ้นแล้ว บุคคลผู้ได้รับการเหยาต้อง "ส่งฮีต" หากหมอเหยาทำการเลี้ยงหมอประจำปี กล่าวคือ การสนับสนุนใจด้านต่าง ๆ แก่หมอเหยา เช่น เงิน สุรา ฯลฯ 2) เกิดจากผีบรรพบุรุษหรือของรักษาต้องการมาเทียมอยู่ด้วย แก้ไขได้ด้วยการดูความต้องการของผี ผู้รับการเหยาต้องยอมรับเอาผีบรรพบุรุษหรือของรักษามาเทียมอยู่ด้วย โดยหมอเหยาจะเป็นผู้คุมผี ผู้ได้รับการเหยาต้องแต่งเครื่องบูชาของรักษาและเข้าร่วมพิธีเลี้ยงผีประจำทุก ๆ ปี
3.ฟ้อนผู้ไท เป็นการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ และได้รับการปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยผู้ชายจะนุ่งกางเกง ใส่เสื้อคอกลม มีผ้าขาวม้าคาดพุง และมีผ้าพันศีรษะ เพื่อเล่นดนตรีประกอบการฟ้อน ส่วนผู้หญิงจะแต่งตัวแบบพื้นเมืองเดิม เกล้ามวยผม ใส่เล็บยาว และผูกแถบผ้าสีแดงบนมวยที่เกล้าไว้เพื่อฟ้อนรำอย่างสวยงาม เครื่องดนตรีในการฟ้อนประกอบด้วย กลองสั้น ตะโพน ม้าล่อรำมะนา แคน ฉิ่ง และฉาย ใช้แสดงในพิธีมงคลหรืองานบุญต่าง ๆ
1.นายอดิศักดิ์ เครือคำ ผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยหีบ หมู่ที่ 6 (ข้อมูล ณ พ.ศ. 2563)
อาหารและยารักษาโรค
บ้านห้วยหีบมีทุนเรื่องอาหารและยารักษาโรค มีอาหารพื้นถิ่นที่ขึ้นชื่อของชุมชน ได้แก่ แกงหน่อไม้ แจ๋วแมงแคง นึ่งปลา แกงหอย เป็นต้น ในด้านยารักษาโรค มีหมอสมุนไพรที่สืบทอดความรู้มาจากบรรพบุรุษที่ยังคงถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ลูกหลาน และเนื่องจากบ้านห้วยหีบตั้งอยู่ใกล้เทือกเขาภูพาน ทำให้มีสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาในการใช้รักษาโรคจำนวนมาก นอกจากนี้ หากมีการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชน บ้านห้วยหีบจะจัดทำ "พาแลง" ในช่วงเย็นไว้เป็นสำรับกับข้าวให้นักท่องเที่ยว ซึ่งสื่อถึงการต้อนรับอีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
ภายในชุมชนห้วยหีบ มีกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน กลุ่มเหล่านี้สามารถนำเปลือกไม้มาย้อมสีธรรมชาติบนผ้า และออกแบบลวดลายที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เช่น ลายดอกแก้วและลายดอกพิกุล ที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของชุมชน
การใช้ภาษาผู้ไทในชุมชนบ้านห้วยหีบยังคงหลงเหลืออยู่ ซึ่งมีสำเนียงตามแบบของชาวผู้ไท อย่างไรก็ตาม ควรมีการอนุรักษ์ภาษาผู้ไทไว้ไม่ให้สูญหายไป และควรปลูกจิตสำนึกให้แก่คนรุ่นหลัง
ชุมชนผู้ไทบ้านห้วยหีบมีการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้นผ่านการท่องเที่ยว โดยชาวบ้านร่วมใจกันทำโฮมสเตย์ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 28 หลัง ในจำนวนนี้ผ่านเกณฑ์สมาคมโฮมสเตย์ทั้งสิ้น 13 หลัง และส่วนที่เหลือกำลังดำเนินการปรับปรุงเพื่อให้ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานต่อไป แต่ละหลังมีค่าใช้จ่ายคืนละ 200 บาท และนักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมร่วมกับเจ้าของบ้านได้ ผ่านการทำอาหารร่วมกัน รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ (ข้อมูล ณ พ.ศ. 2564)
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยวภูไท บ้านห้วยหีบ. https://www.thailandtourismdirectory.go.th/
กลุ่มทอผ้าชุมชนภูไทห้วยหีบ. (2564, 8 มีนาคม). ภาพถ่ายการทอผ้า. https://www.facebook.com/
ชุมชนต้องเที่ยว. (2564, 31 มีนาคม). มนต์เสน่ห์อีสานภูไท บ้านห้วยหีบ สกลนคร. https://www.facebook.com/watch/
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านห้วยหีบ. นวนุรักษ์. https://www.navanurak.in.th/BanHuayHeep/
บ่าวนาย สาระดีโอ. (2563, 16 มีนาคม). กลุ่มทอผ้าภูไทห้วยหีบ (การต่ำหูก) บ้านห้วยหีบ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร. https://www.youtube.com/
ประพนธ์ รอบรู้. (ม.ป.ป.). เรื่อง “วันสงกรานต์ 13 เมษายน”. https://www.finearts.go.th/chantaburilibrary/
เพจแนะนำหมู่บ้านห้วยหีบ. (2563). ภาพถ่ายกิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์. https://www.facebook.com/Milin25391148/photos/
ภูไทห้วยหีบ (Phutai Huayhib). (2567). ภาพถ่ายประเพณีสงกรานต์บ้านห้วยหีบ. https://www.facebook.com/photo.php
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
หยกทิพย์ และในสิงห์. (2554). แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชาวภูไท บ้านห้วยหีบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร. การศึกษาอิสระปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยขอนแก่น.