Advance search

หลวงพรต-ท่านเลี่ยม

หัวตะเข้, ย่านเก่าหัวตะเข้, ตลาดหัวตะเข้

ชุมชนเก่าริมคลองอายุกว่า 100 ปี ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมชาวมอญและจีน ภายในชุมชนยังมีแหล่งเรียนรู้ และสถานที่เก่าแก่ที่คนในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์เอาไว้อีกด้วย

ซอยลาดกระบัง 17 ด้านหลังตลาดสดอุดมผล ถนนลาดกระบัง
ลาดกระบัง
ลาดกระบัง
กรุงเทพมหานคร
วีรวรรณ สาคร
26 ก.พ. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
วีรวรรณ สาคร
26 เม.ย. 2023
หลวงพรต-ท่านเลี่ยม
หัวตะเข้, ย่านเก่าหัวตะเข้, ตลาดหัวตะเข้

ชุมชนหลวงพรต - ท่านเลี่ยม หรือตลาดเก่าเรือนไม้หลวงพรต - ท่านเลี่ยม เป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อของหลวงพรตพิตยพยัต และคุณหญิงเลี่ยม บุญนาค ซึ่งเป็นผู้ที่บริจาคที่ดินในการสร้างตลาดริมน้ำในบริเวณนี้ขึ้นมา แต่ต่อมาผู้คนมักเรียก “ชุมชนหัวตะเข้” อันมาจากการขุดคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งได้มีการขุดพบหัวกะโหลกจระเข้ขนาดใหญ่ ตรงบริเวณเหนือคลองหัวตะเข้จึงเรียกขานย่านชุมชนนี้ว่าหัวตะเข้


ชุมชนเก่าริมคลองอายุกว่า 100 ปี ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมชาวมอญและจีน ภายในชุมชนยังมีแหล่งเรียนรู้ และสถานที่เก่าแก่ที่คนในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์เอาไว้อีกด้วย

ซอยลาดกระบัง 17 ด้านหลังตลาดสดอุดมผล ถนนลาดกระบัง
ลาดกระบัง
ลาดกระบัง
กรุงเทพมหานคร
10520
ชุมชนตลาดหัวตะเข้ โทร. 0-2326-9149, สำนักงานเขตลาดกระบัง โทร. 0-2326-9149
13.724198993491415
100.78850649288248
กรุงเทพมหานคร

จุดเริ่มต้นของชุมชนหัวตะเข้พบว่ามีความสัมพันธ์กับนโยบายที่เกิดหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง โดยสังเกตได้ว่าในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่4) ตลอดจนช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พบว่ามีนโยบายจากส่วนกลางในการกระจายอำนาจไปยังส่วนภูมิภาค ทำให้มีการพัฒนาระบบการขนส่งทางบก และทางน้ำเพื่อเชื่อมโยงไปยังส่วนต่าง ๆ ภายในประเทศ นอกจากนี้การที่ผลผลิตภายในประเทศมีการส่งออกที่มากขึ้น เช่น การผลิตข้าว ยิ่งทำให้มีการปรับปรุงระบบชลประทานที่มากขึ้น จากนโยบายเหล่านี้นำมาซึ่งการขุดคลองเพิ่มมากขึ้นหลายเส้นทางหนึ่งในนั้นคือการขุดคลองประเวศบุรีรมย์ (พ.ศ. 2421 – 2423) จากพระโขนงถึงฉะเชิงเทรา การขุดคลองเส้นนี้นำมาซึ่งการตั้งถิ่นฐานริมฝั่งคลองของผู้คนตลอดเส้นทาง

ทั้งนี้ในพื้นที่ของชุมชนหัวตะเข้พบว่าเริ่มมีชุมชนเกิดขึ้นนับหลังขุดคลองประเวศบุรีรมย์ เกิดเป็นชุมชนริมน้ำ มีตลาดสดและร้านค้าจำนวนมาก โดยพบว่าบริเวณชุมชนหัวตะเข้มีตลาดอันเป็นจุดสำคัญของชุมชนถือเป็นพื้นที่ศูนย์การค้าและแหล่งกระจายสินค้าที่เจริญและคึกคักที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากบริเวณนี้เป็นพื้นที่ติดริมคลองทำให้ผู้คนต่างเข้ามารวมตัวค้าขายจนกระทั่งผู้คนในบริเวณนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น จากการค้าขายที่เจริญนี้จึงส่งผลให้ผู้คนอพยพจากพื้นที่ใกล้เคียงหรือพื้นที่อื่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานจนทำให้ขยายตัวตั้งเป็นชุมชนหัวตะเข้ในที่สุด

โดยการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในชุมชนหัวตะเข้ในพื้นที่ปัจจุบัน เมื่อศึกษาถึงการตั้งชุมชนในช่วงแรกจะพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ชุมชนหัวตะเข้จะอพยพมาจากพื้นที่ใกล้เคียงหลังการขุดคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งแต่เดิมผู้คนในชุมชนหัวตะเข้มีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนขนาดเล็กอยู่ริมคลองในบริเวณที่เรียกว่าริมคลองศีรษะจระเข้ใหญ่ (อยู่ในแนวน้ำไหลทิศเหนือ - ใต้) จนกระทั่งเมื่อมีการขุดคลองประเวศบุรีรมย์ (อยู่ในแนวน้ำไหลทิศตะวันออก - ตะวันตก) ทำให้การค้าเจริญขึ้นผู้คนต่างต้องการความสะดวกในการสัญจรทางน้ำ และการขนส่งสินค้าทางน้ำ ทำให้ผู้คนในบริเวณนี้จึงอพยพไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณแนวลำคลองหรือในพื้นที่ที่เรียกว่า สี่แยกหัวตะเข้ (พื้นที่บริเวณจุดตัดของลำคลองประเวศบุรีรมย์ คลองลำปลาทิว และคลองหัวตะเข้) ซึ่งจุดนี้คือพื้นที่ตั้งชุมชนหัวตะเข้ในปัจจุบัน

ภายในพื้นที่ชุมชนหัวตะเข้นอกจากจะมีคนไทยอาศัยอยู่แล้ว ยังพบว่ามีกลุ่มคนมอญ และคนจีนเข้ามาอาศัยอยู่ด้วย ทำให้ภายในบริเวณใกล้เคียงชุมชนกับชุมชนหัวตะเข้ จึงมีวัดหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเกี่ยวเนื่องกับคนมอญและคนจีนเพื่อตอบสนองต่อการเคารพนับถือของคนภายในชุมชน อาจกล่าวว่าพื้นที่ชุมชนหัวตะเข้ค่อย ๆ มีพัฒนาการเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นจากการการขยายตัวทางการค้าขายสินค้าทางน้ำ และการที่ภาครัฐพัฒนาคมนาคมทางบก เช่น การสร้างเส้นทางรถไฟสายตะวันออกและเกิด ‘สถานีหัวตะเข้’ ผู้คนจึงเข้ามาอยู่อาศัยภายในชุมชนจำนวนมากขึ้นเกิดเรือนร้านค้าแถวไม้ที่ใช้เพื่อการค้าขายและการอยู่อาศัยตลอดสองฝั่งคลองประเวศบุรีรมย์อันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนหัวตะเข้

โดยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชุมชนหัวตะเข้มีผู้อยู่อาศัยมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะในช่วงเวลานี้การสัญจรมีความสะดวกมากขึ้นจากทางบกและทางน้ำ อีกทั้งยังมีบริการสาธารณะ เช่น เรือเมย์หรือเรือนายเลิศ และมีเรือเมย์ยาวหรือเรือลุงนึกบริการภายในพื้นที่ จากจุดนี้จึงส่งผลให้เกิดการขยายตัวของชุมชนไปในทางทิศตะวันตกของพื้นที่ ตลอดจนมีการขยายตัวของชุมชนไปในพื้นที่ด้านหลังของกลุ่มอาคารริมน้ำเดิม ทำให้อาณาเขตของชุมชนหัวตะเข้ขยายไปยังบริเวณที่เคยเป็นไร่นาหรือพื้นที่รกร้างเดิม ทั้งนี้แม้ว่าในปี พ.ศ. 2500 ภายในชุมชนหัวตะเข้จะเกิดเหตุอัคคีภัยในพื้นที่ฝั่งใต้คลองประเวศบุรีรมย์อันเกิดความเสียหายแก่อาคารเรือนไม้จำนวนมาก แต่ก็ได้มีการก่อสร้างอาคารเรือนไม้กลับขึ้นมาใหม่ทั้งหมดเนื่องจากการค้าบริเวณนี้ยังคงเจริญรุ่งเรืองทำให้ความซบเซาภายในชุมชนหัวตะเข้จึงยังไม่หมดไป

อย่างไรก็ตามเมื่อพื้นที่ลาดกระบังอันเป็นที่ตั้งของชุมชนหัวตะเข้มีการพัฒนาโครงสร้างคมนาคมทางบกการตัดถนนเชื่อมโยงทุกพื้นที่ เกิดการสัญจรทางถนนที่มีความสะดวกสะบายและรวดเร็วทำให้การสัญจรทางน้ำและทางรถไฟไม่เป็นที่นิยม บทบาทการค้าถูกเปลี่ยนจากตลาดริมน้ำไปเป็นการค้าขายบริเวณติดริมฝั่งถนนทำให้ตลาดริมน้ำอันเป็นจุดศูนย์รวมของชุมชนซบเซาลง เมื่อผู้คนเข้ามาใช้บริการทางการค้าน้อยลง ส่งผลให้ความเจริญทางเศรษฐกิจในพื้นที่ลดลงไปผู้คนที่อาศัยภายในชุมชนที่ส่วนมากอิงอยู่กับเศรษฐกิจการค้าจึงเริ่มย้ายออกจากพื้นที่ ทั้งนี้เมื่อประกอบเข้ากับความเจริญของห้างสรรพสินค้ารอบนอกชุมชนโดยเฉพาะในพื้นที่เมืองและอิทธิพลวิถีชีวิตและค่านิยมแบบคนเมืองเข้าสู่ผู้คนในชุมชน ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มเคลื่อนย้ายออกจากชุมชนเข้าไปสู่พื้นที่เมืองมากขึ้น นอกจากนี้พื้นที่อาคารภายในชุมชนหัวตะเข้เริ่มทรุดโทรมและยังเกิดอัคคีภัยขึ้นในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งการเกิดอัคคีภัยครั้งนี้ไม่มีการสร้างใหม่เนื่องจากความไม่คุ้มค่าในการก่อสร้างผู้คนส่วนมากจึงต้องย้ายออกจากพื้นที่ จากปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นล้วนส่งผลให้ย่านชุมชนหัวตะเข้ซบเซาลงผู้คนภายในชุมชนอยู่อาศัยน้อยลง 

อย่างไรก็ตามพบว่าในปี พ.ศ. 2552 ได้มีการพยายามฟื้นฟูชุมชนหัวตะเข้ โดยการหาจุดเด่นของชุมชนและใช้ศิลปะเพื่อมาเป็นจุดขาย มีการความร่วมมือระหว่างผู้คนในชุมชน กับสถาบันการศึกษาที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เช่น สถาบันวิทยาลัยช่างศิลป์ลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังวิกฤตอัคคีภัยอีก 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2556 และในปี พ.ศ. 2557 ผู้คนในชุมชนตื่นตัวในการรวมกลุ่มแก้ปัญหามากขึ้นเกิดเป็นการช่วยฟื้นฟูพัฒนาชุมชนขนานใหญ่ ส่งผลให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จนปัจจุบันพื้นที่ชุมชนหัวตะเข้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ มีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตและแหล่งเรียนรู้ในด้านงานศิลปะ ตลอดจนมีร้านค้าขายสินค้าภายในชุมชน มีโฮมสเตย์ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ชุมชนหัวตะเข้ที่เคยซบเซาจึงค่อย ๆ เจริญมากขึ้นในปัจจุบัน

ชุมชนหัวตะเข้เป็นพื้นที่ชุมชนจะซ้อนทับอยู่ภายในบริเวณตลาดหัวตะเข้ ซึ่งอยู่ในบริเวณขนานริมคลองประเวศบุรีรมย์ โดยจุดใหญ่ของชุมชนจะอยู่ในบริเวณตลาดเก่าหัวตะเข้ใกล้บริเวณสี่แยก (ปัจจุบันเรียกกันทั่วไปว่า สี่แยกศีรษะจระเข้ใหญ่หรือสี่แยกหัวตะเข้) อันเป็นจุดตัดของคลอง 3 คลอง คือ คลองจระเข้ (คลองหัวตะเข้) คลองปลาทิว และคลองประเวศบุรีรมย์ โดยหลังมีการขุดคลองประเวศบุรีรมย์สมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เส้นคลองถูกแบ่งตามทิศ คือ ทิศเหนือคือเส้นคลองปลาทิว ทิศใต้คือเส้นคลองหัวตะเข้ ส่วนทิศตะวันตกและออกเป็นเส้นคลองประเวศบุรีรมย์ 

การเดินทางมายังพื้นที่ชุมชนหัวตะเข้สามารถเดินทางโดยหากโดยสารรถยนต์ส่วนตัวสามารถเข้าทางซอยลาดกระบัง 17 และจอดรถในลานจอดรถฝั่งทิศใต้ของชุมชน หากเดินทางรถสาธารณะสามารถเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางมาลงบริเวณตลาดอุดมผลหรือซอยลาดกระบัง 17 นอกจากนี้ยังสามารถโดยสารรถไฟสายตะวันออกจากต้นทางหัวลำโพงมาลงที่สถานีหัวตะเข้จากนั้นเดินลัดริมคลองประมาณ 1.3 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณตลาดและชุมชนหัวตะเข้ ทั้งนี้ในปัจจุบันคมนาคมได้พัฒนาทำให้ผู้คนสามารถเดินทางมาชุมชนหัวตะเข้ด้วยการโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ (สถานีลาดกระบัง) จากนั้นนั่งรถสองแถวมาลงที่ซอยลาดกระบัง 17 ได้ด้วยเช่นกัน

ลักษณะทางกายภาพภายในชุมชนหัวตะเข้พบว่ามีอาคารใช้สอยสำหรับพื้นที่ขนาบข้างคลองยาวประมาณ 500 เมตร และมีคลองประเวศบุรีรมย์เป็นตัวแบ่งชุมชนฝั่งทิศเหนือและทิศใต้ โดยมีสะพานเชื่อมสัญจรสองฝั่งบริเวณกึ่งกลางชุมชน ซึ่งบริเวณชุมชนจะพบว่าริมน้ำส่วนใหญ่จะมีสิ่งก่อสร้างลักษณะเรือนไม้สร้างขนานริมลำน้ำประเวศบุรีรมย์ทั้งสองฝั่ง อยู่ในลักษณะเป็นตลาดเรือนแถวไม้ชั้นเดียวที่มีด้านหน้าเป็นชานไม้มีหลังคาคลุมเป็นทางเดินขนานริมฝั่งคลอง ซึ่งการที่สร้างเรือนเลียบริมคลองเนื่องจากสะดวกต่อระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่สัญจรทางน้ำและการขนถ่ายสินค้าในสมัยก่อน โดยกรรมสิทธิ์ของพื้นที่ชุมชนหัวตะเข้ทั้งสองฝั่งจะแตกต่างกัน ด้านทิศเหนือของชุมชนจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยส่วนหนึ่งและเป็นพื้นที่อาณาเขตตลาดเก่าของชุมชนหัวตะเข้ส่วนใหญ่ แต่เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าพระยาสุรวงศไวยวัฒน์ก่อนตกทอดมาสู่ท่านเลี่ยม บุนนาค ซึ่งต่อมาได้บริจาคที่ดินแก่กรมธนารักษ์ ส่วนในฝั่งใต้พื้นที่ชุมชนเป็นของเอกชนซึ่งมีการเปลี่ยนการครอบครองหลายครั้ง ปัจจุบันที่ดินเป็นของคุณสมบูรณ์ วงศ์อุไร บุตรเขยของตาหยิน แซ่จั๋ง เจ้าของตลาดแต่เดิม ทั้งนี้พื้นที่ริมคลองของชุมชนทิศใต้มีการเปลี่ยนแปลง โดยในปี พ.ศ. 2550 มีการปรับพื้นที่ด้านหน้าอาคารของตลาดในทางทิศใต้เพื่อสร้างเป็นเขื่อนทำให้พื้นที่บริเวณนี้สามารถค้าทางบกได้เพียงอย่างเดียวเพราะทำให้ท่าเรือฝั่งใต้หายไป

ประชากรส่วนใหญ่ภายในชุมชนมักเป็นชาวไทยดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นรอบ ๆ ชุมชนก่อนจะย้ายถิ่นฐานมายังบริเวณชุมชนหัวตะเข้เมื่อเศรษฐกิจทางการค้าในบริเวณนี้เจริญรุ่งเรือง แต่ทั้งนี้ยังพบด้วยว่าเมื่อชุมชนเจริญมากขึ้นจากการค้าได้มีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นย้ายเข้ามาด้วยจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ในชุมชน เช่น

ชาวมอญ ภายในชุมชนหัวตะเข้พบว่ามีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวมอญผสมผสานอยู่ภายในชุมชน เนื่องด้วยในสมัยก่อนพบว่ามีชาวมอญย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัยภายในชุมชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นผลพวงทางเศรษฐกิจที่เจริญของชุมชนในอดีต ทั้งนี้การที่ชาวมอญที่เข้ามาอยู่ในบริเวณชุมชนนี้พบว่าเป็นชาวมอญกลุ่มเดียวกับที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนอื่น ๆ ของเขตลาดกระบัง กล่าวว่า “ชาวมอญเหล่านี้อพยพและขยายตัวมาจากพระประแดงและสมุทรสาคร” เนื่องจากบริเวณเดิมเริ่มแออัดจากจำนวนชาวมอญที่เพิ่มขึ้นทำให้ชาวมอญส่วนหนึ่งเริ่มหาแหล่งทำกินพื้นที่ใหม่ ซึ่งพื้นที่เขตลาดกระบังสามารถตอบสนองต่อการเป็นแหล่งพื้นที่ทำกินได้เนื่องจากบริเวณนี้มีการขุดคลองเพิ่มขึ้น นำมาซึ่งความเจริญในพื้นที่ทั้งการค้าและการเพาะปลูก จะเห็นได้ว่าหลังการขุดคลองประเวศบุรีรมย์ทำให้เกิดชุมชนหัวตะเข้ที่เจริญด้านการติดต่อค้าขายทำให้ชาวมอญอพยพมายังพื้นที่ การอพยพของชาวมอญที่มากในอดีตในเขตบริเวณพื้นที่ทำให้ในบริเวณใกล้เคียงชุมชนหัวตะเข้จึงมีวัดของชาวมอญที่นับถือกันมากชื่อว่า ‘วัดสุทธาโภชน์’ ทั้งนี้อิทธิพลของชาวมอญในชุมชนปรากฏผ่านรูปแบบวิถีชีวิต ภูมิปัญญา อาหารของชาวมอญภายในชุมชนหัวตะเข้ เช่น เครื่องมือช่างที่เรียกว่า ‘แพน’ อาหารอย่างข้าวแช่ของชาวมอญ หรือการสร้างเรือนที่อยู่อาศัยโดยมีการประดับรูปหงส์เหนือประตูบ้าน เป็นต้น

ชาวจีน ชาวจีนแต้จิ๋วเป็นกลุ่มคนหนึ่งที่เข้ามาเมื่อพื้นที่ชุมชนหัวตะเข้มีความเจริญทางเศรษฐกิจและเป็นแหล่งตลาดแลกเปลี่ยนทางการค้าที่เจริญ โดยพบว่าชาวจีนจะมีลักษณะเข้ามาคล้ายกับพื้นที่เจริญทางการค้าอื่น ๆ ภายในกรุงเทพมหานคร โดยจะอพยพเข้ามาอยู่อาศัยและเปิดร้านค้าหรือทำธุรกิจในแหล่งเศรษฐกิจ ซึ่งภายในชุมชนหัวตะเข้ปัจจุบันแม้ชาวจีนจะน้อยลงแต่ยังสามารถพบเห็นร้านค้าที่อนุรักษ์ความเป็นวัฒนธรรมชาวจีนภายในชุมชน เช่น โรงกลึง (โรงงานไพบูลย์การช่าง) โรงไม้ (ฮั่วฮง คายัค คลับ) ร้านโชว์ห่วย ร้านขายขนมมงคลของจีน (ร้านอึ้งกิมเฮงและร้านพงษ์จิวานิช) เป็นต้น นอกจากนี้สิ่งที่แสดงถึงวัฒนธรรมชาวจีนภายในชุมชนหัวตะเข้คือการที่ภายในชุมชนมี ศาลเจ้า (ศาลเจ้าปึงเถ้ากง) และโรงเจ (เทียงป้อฮุกตึ๊ง) เป็นต้น

จีน, มอญ

กลุ่มคนรักหัวตะเข้ เป็นกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่รวมตัวขึ้นของคนในชุมชนเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ชุมชนหัวตะเข้ที่ซบเซาให้กลับมาเจริญอีกครั้ง โดยการหาจุดเด่นของชุมชนมาเป็นจุดขาย โดยในปี พ.ศ. 2551 กลุ่มนี้ได้เริ่มมีการรวมตัวกันของคนในชุมชนได้กับสถาบันศึกษาที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงชุมชน เช่น วิทยาลัยช่างศิลป์ลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการฟื้นฟูชุมชนขึ้นมาโดยการปรับเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชน และพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะของนักศึกษา นอกจากนี้กลุ่มนี้ยังมีบทบาทในการประสานงานสร้างภาคีเครือข่ายกับคนในชุมชนอื่นโดยรอบเพื่อปรับสภาพชุมชนตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังมีบทบาทเป็นกลุ่มที่ประชาสัมพันธ์ ปรับปรุงบริการ ดูแลด้านความปลอดภัยของชุมชนและด้านการรักษาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนเป็นกลุ่มที่อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

พื้นที่ส่วนใหญ่ในชุมชนจะเป็นตลาดและสถานที่ศึกษาและเรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนจะมีการประกอบอาชีพค้าขายภายในชุมชน ทำให้มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจเข้าชม และศึกษาวิถีชีวิตชุมชน รวมถึงเข้ามาซื้อสินค้าในบริเวณตลาดเก่า ทุกวัน ในเวลา 08:00 - 18:00 น.

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ตักบาตรพระร้อยทางเรือวัดสุทธาโภชน์ เป็นประเพณีของชาวไทยเชื้อสายรามัญที่สืบทอดมากว่า 100 ปี โดยหลังวันออกพรรษาของทุกปีจะมีการทำบุญใส่บาตรทางเรือ ซึ่งมีลักษณะเป็นการตักบาตรคล้ายกับการตักบาตรเทโวโรหณะแต่พระภิกษุจะใช้เรือแทนการเดินบิณฑบาตปกติ จุดนี้มาจากสมัยก่อนยังไม่มีถนนตัดผ่านที่สะดวก ผู้คนยังคงใช้แม่น้ำลำคลองในการเดินทาง การทำบุญตักบาตรของชาวบ้านจึงให้พระภิกษุสงฆ์จะออกรับบิณฑบาตโดยทางเรือ

1. คุณหญิงเลี่ยม บุนนาค เป็นธิดาคนที่ 12 ของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น สมุหกลาโหม ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 เป็นผู้ที่สำคัญกับชุมชนหัวตะเข้เป็นอย่างมาก โดยท่านเป็นผู้บริจาคที่ดินเพื่อให้สร้างตลาดเรือนไม้ในบริเวณชุมชนอันเป็นศูนย์กลางในปัจจุบัน นอกจากนี้ระหว่างที่ท่านมีชีวิตจะมาอาศัยที่บริเวณบ้านพักที่อยู่ในชุมชนหัวตะเข้ ทำให้เห็นว่าเด็กในชุมชนยังไม่ค่อยได้รับการศึกษา เนื่องจากในบริเวณชุมชนขณะนั้นไม่มีสถานศึกษาตั้งอยู่ ยิ่งเมื่อประกอบกับ เจ้าคุณทหารหรือเจ้าคุณกลาโหม (บิดา) ก็มีแนวคิดอยากสร้างสถานศึกษาเช่นกันเนื่องจากมาเห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่ไม่ได้รับการศึกษาก็จะก่ออาชญากรรม ทำให้จึงมีแนวคิดในการมีสถานศึกษาในชุมชน ทำให้เมื่อคุณหญิงเลี่ยม บุนนาค ได้รับที่ดินที่สืบทอดในบริเวณริมคลองที่ขุดขึ้นประมาณ 1,500 ไร่ บริเวณชุมชนหัวตะเข้ ท่านจึงยกที่ดินในเขตลาดกระบังให้กระทรวงศึกษาธิการ 1,041 ไร่ เพื่อจัดตั้งสถานศึกษาให้แก่เด็กชาวลาดกระบัง และมอบบ้านพักที่หัวตะเข้ใช้เป็นอาคารเรียนระดับมัธยม ซึ่งโรงเรียนนี้มีชื่อว่า ‘โรงเรียนพรตพิทยพยัต’ นอกจากนี้ยังแบ่งที่ดินเพื่อตั้งเป็นวิทยาลัยช่างศิลป และวิทยาลัยอาชีวะสอนวิชาชีพ (ปัจจุบันทั้งที่นี้รวมอยู่ในสถาบันเทคโนโลยีคุณทหารลาดกระบัง)

2. อำภา บุณยเกต ผู้คนมักเรียกกันว่า ‘ป้าอ้อย’ เป็นประธานกลุ่มชุมชนคนรักหัวตะเข้ทำหน้าดูแลจัดการและฟื้นฟูภายในชุมชนหัวตะเข้ อีกทั้งมีความสำคัญในการขับเคลื่อน ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับชุมชนหัวตะเข้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป

ทุนทางกายภาพ

พื้นที่ชุมชนหัวตะเข้อยู่ติดกับคลองประเวศบุรีรมย์คลองรมย์ คลองลำปลาทิว และคลองหัวตะเข้ ทำให้สามารถเดินทางสัญจรทางน้ำและสามารถจับสัตว์และใช้ประโยชน์จากลำคลองที่ผ่านบริเวณชุมชนได้ ส่วนหนึ่งทำให้สัมพันธ์กับวิถีชีวิตทางน้ำของผู้คนในชุมชน

ทุนวัฒนธรรม

1. อาหาร

  • ขนมสายบัวแดง เป็นขนมรสชาติอร่อยที่อยู่คู่ชุมชนหัวตะเข้ โดยเป็นภูมิปัญญาของคนในชุมชนในการนำสายบัวแดงที่มีมากบริเวณชุมชนมาทำเป็นอาหาร ซึ่งพบว่าบัวแดงมีคุณลักษณะที่มีความหอมและเหนียวหนึบจึงสามารถนำมาทำขนมได้ดี ขนมสายบัวแดงเป็นที่นิยมอย่างมากในชุมชน ผู้คนมักใช้เป็นสำรับที่เหมาะในงานมงคล เช่น งานบวช เป็นต้น
  • ข้าวแช่ของชาวมอญ ข้าวแช่สัมพันธ์อยู่กับความเชื่อพิธีสังเวยเทวดาของชาวมอญในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ข้าวแช่จัดเป็นส่วนหนึ่งของเซ่นไหว้ของคนมอญในชุมชน โดยวิธีทำต้องมีการคัดข้าวอย่างดีซาวน้ำ 7 ครั้ง แล้วตั้งเตาในลานโล่งกว้าง เมื่อหุงสุกจึงนำไปซาวน้ำแล้วขัดกับภาชนะเพื่อให้ยางข้าวออก จากนั้นก็ทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำด้วยวิธีการทำที่พิถีพิถันทำให้ข้าวมีรสชาติอร่อยและน่ารับประทาน

2. สถานที่

  • โรงระหัด กล่าวคือแต่เดิมภายในชุมชนหัวตะเข้มีโรงระหัดสำหรับสร้างระหัดวิดน้ำแต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปเทคโนโลยีเข้าแทนที่โรงระหัดแห่งนี้จึงถูกปิดตัวลงและเลิกผลิตระหัดวิดน้ำอีก ทำให้ในปัจจุบันสถานที่นี้ถูกเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงให้สวยงามและกลายเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมในชุมชน เช่น การทำว่าว ทำพวงมโหตร (เครื่องแขวนของชาวมอญ)
  • บ้านต้นมะขาม มีลักษณะเป็นเรือนไม้เดิมเป็นโรงครัวติดกับโรงเรียนศึกษาพัฒนา แต่ต่อมากลายเป็นพื้นที่แหล่งฝึกอาชีพและเป็นศูนย์กลางสำหรับทำกิจกรรมของคนในชุมชน
  • บ้านสามครู โดยสามครูแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะที่สำคัญของชุมชน เจ้าของที่เป็นคณาจารย์ในวิทยาลัยช่างศิลป 3 ท่าน ได้เปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านให้กลายแหล่งเรียนรู้ศิลปะแก่บุคคลทั่วไป นักเรียน นักศึกษา โดยจะมีกิจกรรมเปิดสอนศิลปะแขนงต่าง ๆ ทั้งนี้สถานที่นี้ยังเป็นแหล่งเปิดในการแสดงผลงานศิลปะของนักศึกษาที่ศึกษาอยู่บริเวณสถานศึกษารอบชุมชนหัวตะเข้อีกด้วย

3. เครื่องมือเครื่องใช้

  • แพน อุปกรณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน โดยเป็นตัวช่วยในการปักเสาลงคลองของคนในชุมชน มีลักษณะเป็นกรอบเสาไม้สามด้านที่เกิดจากการตีตะปูไม้กระดานเข้าด้วยกัน โดยจะเปิดโล่งด้านหนึ่งสำหรับทิ่มโคนเสาเข้ามา เพื่อให้เสาไหลลงตามกรอบไม้ปักลงตำแหน่งที่ต้องการ ถือเป็นเครื่องมือที่ไม่ต้องใช้เครื่องจักรใด ๆ และเรียบง่าย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การซบเซาลงของเศรษฐกิจภายในชุมชนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลง หลังการขุดคลองประเวศบุรีรมย์เพื่อตอบสนองต่อการเพาะปลูกและการค้าได้ส่งผลให้พื้นที่เริ่มฝั่งคลองเจริญรุ่งเรืองจนเกิดเป็นชุมชนอันสำคัญทางเศรษฐกิจฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก โดยในที่นี้คือชุมชนหัวตะเข้อันเป็นจุดตัดสี่แยกของคลอง 3 สาย ผู้คนส่วนใหญ่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อในการประกอบอาชีพค้าขายเพราะมีลำคลองเป็นจุดหลักเหมาะแก่การค้าทางน้ำ อีกทั้งยังมีทำเลที่ดีเนื่องจากคนสัญจรผ่านอยู่เสมอ บริเวณใกล้เคียงก็ไม่มีตลาดที่สามารถแข่งขันได้เท่าบริเวณพื้นที่นี้ ทำให้ชุมชนในอดีตจึงอาศัยอยู่กับระบบการค้าแบบตลาดหรือเศรษฐกิจเพราะผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยคือพ่อค้าหรือกลุ่มแรงงาน อย่างไรก็ตามเมื่อมีการตัดถนนผ่านหลายสายผู้คนหันไปสัญจรทางบกเนื่องจากมีความรวดเร็วและสะดวกสบาย การสัญจรทางน้ำจึงค่อยลดบทบาทลงผู้คนสัญจรผ่านน้อย จุดนี้ส่งผลให้ชุมชนหัวตะเข้ที่เจริญจากการพึ่งพาเศรษฐกิจการค้าทางน้ำค่อย ๆ เข้าสู่การเปลี่ยนแปลง โดยเศรษฐกิจการค้าในชุมชนค่อย ๆ ซบเซา ผู้คนภายในชุมชนเริ่มอพยพย้ายออกจากพื้นที่เพื่อไปค้าขายยังพื้นที่อื่นในที่นี้คือบริเวณข้างทางริมฝั่งถนน


พบว่าสภาพสังคมภายในประเทศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้พื้นที่โดยรอบโดยเฉพาะในเมืองพัฒนาเกิดห้างสรรพสินค้ารอบนอกชุมชน ได้ทำให้อิทธิพลวิถีชีวิตและค่านิยมแบบคนเมืองเข้าสู่ผู้คนในชุมชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ทำให้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ชุมชนหัวตะเข้เริ่มเคลื่อนย้ายออกจากชุมชนเข้าไปสู่พื้นที่เมืองมากขึ้น

การฟื้นฟูชุมชนจากความร่วมมือของคนในชุมชน

สภาพความซบเซาของชุมชนหัวตะเข้นำมาสู่การที่คนในชุมชนรวมกลุ่มกันฟื้นฟูและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยแรกเริ่มในปี พ.ศ. 2552 ชาวชุมชนได้ร่วมมือกัน ตั้งเป็นกลุ่มชื่อว่า ‘คนรักหัวตะเข้’ เข้าประสานงานกับชุมชนโดยรอบและสถาบันการศึกษาที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เช่น สถาบันวิทยาลัยช่างศิลป์ลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในการฟื้นฟูและปรับปรุงชุมชน ช่วงเวลานี้ชาวชุมชนพยายามหาจุดขายของชุมชนร่วมกับการใช้งานวิจัยของนักศึกษาและงานศิลปะเป็นสื่อกลางจุดขายในการฟื้นฟูบริเวณพื้นที่ อย่างไรก็ตามการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นหลังจากชุมชนหัวตะเข้ประสบกับวิกฤตอัคคีภัยอีก 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2556 และในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลให้ผู้คนในชุมชนเกิดการตื่นตัวในการรวมกลุ่มแก้ปัญหาและฟื้นฟูพัฒนาชุมชนอย่างแข็งขันมากขึ้น จุดนี้เริ่มมีการปรับปรุง วางแผน และประชาสัมพันธ์ชุมชน ทำให้ชุมชนหัวตะเข้ที่ซบเซาถูกพัฒนาจนเจริญขึ้นมา ในปัจจุบันชุมชนหัวตะเข้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอัตลักษณ์ที่น่าสนใจ แหล่งการเรียนรู้ วิถีชีวิตวัฒนธรรมภายในชุมชนแหล่งการเรียนรู้ด้านงานศิลปะและแหล่งการค้าของคนในชุมชนอีกครั้งนึง


พื้นที่ชุมชนหัวตะเข้ต้องเจอกับปัญหาความท้าทายเกี่ยวกับอัคคีภัยอยู่บ่อยครั้ง เนื่องด้วยพื้นที่ชุมชนส่วนใหญ่มีสภาพแวดล้อมบ้านเรือน ร้านค้า ที่สร้างขึ้นด้วยเรือนไม้ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย ผู้คนในชุมชนจึงต้องเผชิญกับความเสียหายจากเหตุอัคคีภัยอยู่ตลอด โดยในปี พ.ศ. 2500 ได้เกิดอัคคีภัยขึ้นในชุมชน เกิดความเสียหายกว่า 80 หลัง แต่ในช่วงเวลานี้เศรษฐกิจในชุมชนยังคงแข็งแรงจึงทำให้สามารถฟื้นฟูความเสียหายเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตามหลังการซบเซาของชุมชนเกี่ยวกับเศรษฐกิจได้ส่งผลให้เมื่อเกิดเหตุอัคคีภัยจึงไม่สามารถจะฟื้นฟูพื้นที่ดังเดิมได้ กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2537 ได้เกิดอัคคีภัยในชุมชนฝั่งทิศใต้อาคารเสียหายกว่า 48 หลัง ผู้ที่ถือครองที่ดินชุมชนฝั่งใต้ก็ไม่ได้มีการฟื้นฟูสภาพบ้านเรือนขึ้นมา นอกจากนี้ยังเกิดอัคคีภัยในฝั่งทิศเหนือของชุมชนอีกสองครั้งในปี พ.ศ. 2556 และปี พ.ศ. 2557 ซึ่งในปี พ.ศ. 2556 อาคารในชุมชนได้รับความเสียหาย 5 หลัง ส่วนในปี พ.ศ. 2557 ได้รับความเสียหาย 3 หลัง โดยพบว่าทั้งสองครั้งนี้ไม่ได้มีการสร้างขึ้นทดแทนใหม่ใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นจากเหตุอัคคีภัยทั้ง 3 ครั้งนี้ ทำให้สภาพแวดล้อมในชุมชนทรุดโทรมเกิดเป็นพื้นที่ว่าง อาคารเรือนแถวไม่เรียงต่อกัน ผู้คนหลายครัวเรือนในชุมชนต้องย้ายไปอยู่อาศัยในบริเวณอื่นอาคารบางหลังถูกปล่อยร้าง

ภายในชุมชนหัวตะเข้มีศาลเจ้าที่น่าสนใจอย่างมาก คือ ศาลเจ้าเซียนแห่งหัวตะเข้ โดยศาลเจ้านี้มีองค์เซียนแปะโค้ว ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์และเป็นที่เคารพสำหรับคนเชื้อสายจีนในพื้นที่มายาวนานกว่า 100 ปี เนื่องด้วยขณะองค์เซียนแปะโค้ว เสียชีวิตได้นั่งบำเพ็ญเพียรจนเกิดเรื่องน่าอัศจรรย์ คือ ร่างไม่เน่าเปื่อย ใครที่มาขอพรก็มักจะสมหวัง

กัญญาพัชร วุฒิยา. (2559). แนวทางการพัฒนาการตลาดในแหล่งท่องเที่ยวตลาดเก่าโบราณหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการการโรงแรมและการท่องเที่ยว วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยพะเยา.

เฉลิมชัย กุณประวีณ์. (2560). สามัคคีแบบแพนแพน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.sarakadee.com/.

ชุมชนไทยหัวตะเข้. (2561). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.thailocalwisdom.com/.

ทวีวัฒน์ จิตติเวทย์กุล. (2563). หัวตะเข้ : ภาพทรงจำ วิถีชีวิต และอนาคตภาพ ของความเป็นชุมชนตลาดเก่า. วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล, 4(2), 90-105.

พรนภา พรพันธุ์ไพบูลย์. (2548). โครงการปรับปรุงย่านตลาดหัวตะเข้. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

วีรดา สุขเจริญมิตรและกฤตพร ห้าวเจริญ. (2558). ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอาคารและกิจกรรมของตลาดหัวตะเข้ กรุงเทพมหานคร. วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล, 21(2), 43-55.

สุวรรณฤทธิ์ วงศ์ชะอุ่มและคณะ. (2564). เส้นทางท่องเที่ยวที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมของตลาดเก่าหัวตะเข้. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, 4(1), 31-43.