
ชุมชนบ้านป่าแขมใหม่มีทุนเดิมเป็นพื้นที่ไร่นาและสวน พื้นที่ค่อนข้างราบ มีภูเขาล้อมรอบ จึงเหมาะแก่การทำการเกษตรและเป็นพื้นที่การเกษตรของหลาย ๆ ชุมชนโดยรอบ
ที่มาของชื่อชุมชนบ้านป่าแขมใหม่ ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดเนื่องจากเป็นชุมชนที่ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในภายหลัง
ชุมชนบ้านป่าแขมใหม่มีทุนเดิมเป็นพื้นที่ไร่นาและสวน พื้นที่ค่อนข้างราบ มีภูเขาล้อมรอบ จึงเหมาะแก่การทำการเกษตรและเป็นพื้นที่การเกษตรของหลาย ๆ ชุมชนโดยรอบ
ในอดีต หมู่บ้านป่าแขมใหม่เคยเป็นหมู่บ้านใหญ่และเป็นที่รู้จักของคนม้ง ซึ่งในขณะนั้นมักเรียกกันว่า "ดินแดง" หรือ "อ๋างล้า (ม้ง)" ในช่วงเวลาดังกล่าว พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ขัดแย้งระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์กับฝ่ายไทย เมื่อทหารไทยพบว่าคนในพื้นที่คอยให้ความช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์ จึงขับไล่ชาวบ้านไปอยู่ที่อื่น หมู่บ้านแห่งนี้จึงกลายเป็นพื้นที่โล่งและไม่มีผู้คนเข้ามาอาศัย จนกระทั่ง พ.ศ. 2518 ทางการได้ประกาศให้ผู้ที่เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ออกมามอบตัวโดยไม่มีความผิดใด ๆ และต่อมาใน พ.ศ. 2524 ชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่เห็นว่าสมควรที่จะย้ายกลับมาทำไร่และตั้งเป็นหมู่บ้าน ผู้คนจึงเริ่มอพยพมาจากที่อื่น ๆ กลับมาอาศัยในพื้นที่ดังกล่าว เพราะมีพื้นที่มากพอสำหรับทำมาหากินและเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ จากนั้นชาวบ้านจึงแจ้งอำเภอเพื่อจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน และเลือกผู้นำหมู่บ้านในเวลาต่อมาเพื่อดูแลหมู่บ้านและคอยตัดสินปัญหาภายใน โดยมีปลัดอำเภอมาจัดตั้งหัวหน้าบ้านและเลือก "นายบัวเย้ แซ่กือ" เป็นผู้นำชุมชน ใน พ.ศ. 2530
การเกิดขึ้นของหมู่บ้านป่าแขมใหม่ในช่วงแรกยังไม่เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนมากนัก แต่ผู้อยู่อาศัยเริ่มย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2529 หมู่บ้านยังคงห่างไกลความเจริญ การรักษาพยาบาลและการศึกษายังเข้าไม่ถึง ทำให้มีการเปิดการรักษาคนไข้โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือเป็นที่รู้จักกันในนาม "คลินิกชาวบ้าน” เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยโดยผู้นำชุมชน นายบัวเย้จึงเปรียบเสมือนเป็นหมอคนหนึ่งของหมู่บ้านและได้สร้างบ้านหลังเล็ก ๆ เพื่อเป็นร้านขายยาและเป็นที่รักษาคนไข้ พบว่าหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านป่าแขมใหม่ประมาณ 3 กิโลเมตรก็ทำการรักษาแบบนี้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การรักษาอาการเจ็บป่วยนี้เป็นที่เลื่องลือ จนทำให้ตำรวจตระเวนชายแดนนามว่า "สมพงษ์" มาดำเนินการสอบสวนในหมู่บ้าน และได้เห็นสภาพชีวิตที่ย่ำแย่ของชาวบ้านที่อยู่อย่างยากลำบาก ตำรวจท่านนี้เกิดความประทับใจในการให้ความช่วยเหลือของผู้นำหมู่บ้าน และเห็นว่ามีเด็ก ๆ จำนวนมากที่ไม่ได้เรียนหนังสือ จึงได้สร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนพร้อมด้วยการสนับสนุนจากชาวบ้าน ทีมงาน และนักศึกษา ทำให้สามารถสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จภายในหนึ่งวัน ตลอดจนการประชุมหารือเรื่องการสร้างโรงเรียนของชาวบ้านก็ได้รับความยินยอมด้วยมติเอกฉันท์
กระนั้น การสร้างโรงเรียนเป็นช่วงเวลาเดียวกับการอพยพของคนม้งจำนวนมากจากที่ต่าง ๆ เข้ามายังจังหวัดตาก บางพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากินก็ถูกทางการแบ่งให้ผู้อพยพที่เข้ามาใหม่ ทำให้ชาวบ้านลังเลใจว่าถ้าหากให้ตำรวจตระเวนชายแดนเข้ามาสร้างโรงเรียน ก็อาจต้องสูญเสียพื้นที่ทำกินจากการจัดสรรพื้นที่ต่าง ๆ ประกอบกับความไม่เข้าใจของชาวบ้านเกี่ยวกับตำรวจตระเวนชายแดน ส่งผลให้การก่อสร้างโรงเรียนเป็นอันยกเลิกไป
หลังจากนั้น ชาวบ้านต่างเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ทำกินและเกิดความไม่ไว้ใจกันเอง ทำให้ชาวบ้านบางส่วนย้ายกลับไปยังบ้านเจดีย์โคะ จึงเหลือชาวบ้านเพียงไม่กี่หลังคาเรือนในบ้านป่าแขมใหม่ และแม้จะมีผู้คนที่ย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านมากขึ้น แต่หมู่บ้านนี้ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของทางการ จนราว พ.ศ. 2533 มีเด็กแรกเกิดเป็นโรคบาดทะยัก ตรวจสอบแล้วพบว่าเด็กไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อน จึงเป็นสาเหตุให้หน่วยงานสาธารณสุขเข้าไปสำรวจหมู่บ้านและจัดตั้งอนามัย รวมทั้งสร้างระบบน้ำประปาและแท็งก์เก็บน้ำให้กับชาวบ้านเมื่อ พ.ศ. 2534 และจัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขของหมู่บ้าน (อ.ส.ม.) ให้กับชาวบ้านในเวลาต่อมา
ใน พ.ศ. 2546 หมู่บ้านป่าแขมใหม่ได้รับการจัดตั้งเป็นหย่อมบ้านของหมู่ 14 อย่างเป็นทางการ ร่วมกับอีก 3 หย่อมบ้าน และมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ "นายหนูตุ๊ ขวัญวารี" ดำรงตำแหน่ง 4 ปี ผู้ใหญ่บ้านคนที่สองคือ "นายไตรภพ ขวัญวารี" ดำรงตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน มีการทำงานร่วมกับทางราชการและมีระบบการปกครองระดับท้องถิ่นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ทำให้หมู่บ้านได้รับการพัฒนาทั้งระบบการศึกษา สาธารณะสุข การไฟฟ้า และถนน
ใน พ.ศ. 2559 ผู้นำบ้านป่าแขมใหม่จัดประชุมทำประชาคมหมู่บ้าน เพื่อขอทำโครงการแยกหมู่บ้านออกจากกลุ่มหย่อมบ้าน เนื่องจากมีจำนวนประชากรค่อนข้างมากและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม หมู่บ้านยังไม่ได้รับการตอบรับและการอนุมัติ เป็นผลมาจากระบบการเมืองและการปกครองท้องถิ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง แต่ชุมชนบ้านป่าแขมใหม่ยังมีความพยายามผลักดันและติดตามตลอดมา จนกระทั่ง พ.ศ. 2566 บ้านป่าแขมใหม่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้เป็นหมู่ที่ 16 ในตำบลช่องแคบ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก และชุมชนมีฉันทามติให้ "นายกมล กึกก้องโลกา" เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของชุมชน
บ้านป่าแขมใหม่มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่อื่น ดังนี้
- ทิศตะวันออก บ้านป่าหวาย ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก
- ทิศตะวันตก บ้านเจดีย์โคะ ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
- ทิศเหนือ บ้านปางวัว หมู่ 12 ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
- ทิศใต้ บ้านสามยอดดอย หมู่ 14 ตำบลช่องแคบ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก
บ้านป่าแขมใหม่มีพื้นที่ทั้งสิ้น 2,500 ไร่ แบ่งออกเป็นที่อยู่อาศัย 397 ไร่ พื้นที่การเกษตร 2,000 ไร่ ป่าชุมชน 200 ไร่ และพื้นที่สาธารณะ 3 ไร่
ชุมชนบ้านป่าแขมใหม่มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 671 คน เป็นชุมชนที่ก่อตั้งโดยพี่น้องม้งตระกูลแซ่กือ ต่อมาเริ่มมีม้งตระกูลแซ่ย่าง แซ่ว่าง แซ่ม้า และแซ่เท้าเข้ามาอยู่อาศัย
ม้งเศรษฐกิจ
ลักษณะภูมิประเทศของบ้านป่าแขมใหม่เป็นที่ราบสลับกับภูเขา สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปมีสามฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน (กุมภาพันธ์-พฤษภาคม) ฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และฤดูหนาว (ตุลาคม-กุมภาพันธ์) สภาพพื้นดินเป็นดินเหนียวปนทรายสีดำและสีแดง พื้นดินยังคงมีสภาพอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวโพด มันฝรั่ง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ผักกาดขาว พริก อ้อย และมันสำปะหลัง
นอกจากนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว หมู และไก่ เป็นอาชีพเสริม นอกจากนี้ ยังมีบางครัวเรือนที่ประกอบอาชีพค้าขายของชำในบริเวณชุมชนและตลาดนัด รับจ้างทำงานในภาคการเกษตร หรือปักผ้าทอใยกัญชง
การศึกษา
ศูนย์เด็กเล็กบ้านป่าแขมใหม่ ก่อตั้งขึ้นเพื่อรับดูแลเด็กภายในชุมชนที่มีอายุตั้งแต่ 2-4 ปี
นอกจากนี้ ภายในชุมชนยังมีโรงเรียนไทยราษฎร์คีรี สาขาบ้านสามยอดดอย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2551 โดยความร่วมมือระหว่างชาวบ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล และโรงเรียนไทราษฎร์คีรี ที่เห็นว่าเด็กจากบ้านป่าแขมใหม่ บ้านใหม่สามยอดดอย บ้านป่าแขมเก่าและบ้านผาแตก มีเด็กนักเรียนเป็นจำนวนมาก แต่ประสบปัญหาด้านการเดินทางไปโรงเรียนต่างหมู่บ้านที่มีระยะทางไกล โดยเฉพาะในหน้าฝน อีกทั้งเด็กหลายคนต้องอาศัยอยู่กับญาติต่างหมู่บ้าน ทำให้พ่อแม่ไม่สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด ทางชุมชนจึงขอสนับสนุนจัดตั้งโรงเรียนไทยราษฎร์คีรี สาขาบ้านใหม่สามยอดดอย มีระดับชั้นเรียนตั้งแต่อนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นโรงเรียนสาขาจากโรงเรียนไทยราษฎร์คีรี
สาธารณสุขบ้านป่าแขมใหม่เคยมีอนามัยเป็นสถานที่รักษาพยาบาลเบื้องต้น แต่ปัจจุบันปิดทำการลง และชาวบ้านเข้ารับบริการที่สถานีอนามัยสาธารณสุขบ้านใหม่สามยอดดอยแทน นอกจากนี้ ชาวบ้านมีภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นด้วยสมุนไพร การเป่ามนต์ และการสะเดาะเคราะห์ ผ่านพิธีกรรม เช่น พิธีกรรมเข้าทรง (อัวเน๊ง) และการเรียกขวัญ (ฮูปลี่)
สาธารณูปโภค
ชาวบ้านป่าแขมใหม่ใช้ระบบน้ำประปาภูเขา โดยมีแหล่งน้ำทั้งสิ้น 2 แหล่ง แต่ปัญหาภัยแล้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ทำให้ชาวบ้านป่าแขมใหม่ขาดน้ำในการอุปโภคบริโภคอย่างมากเป็นประจำทุกปี หลายครัวเรือนจึงเริ่มขุดบาดาลเพื่อใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร นอกจากนี้ ชุมชนยังติดตั้งระบบมิเตอร์เพื่อเก็บค่าบำรุงรักษาระบบน้ำประปาของหมู่บ้านอีกด้วย
1. ระบบการเพาะปลูกในรอบปี
เดือน | กิจกรรม |
มกราคม | เตรียมพื้นที่ไร่และเช่าไร่ |
กุมภาพันธ์ | ถางพื้นที่ไร่ |
มีนาคม | เตรียมพื้นที่การเพาะปลูก |
เมษายน | เตรียมพื้นที่การเพาะปลูก |
พฤษภาคม | ทำการเพาะปลูกพืช เช่น ข้าวโพด พริก มันฝรั่ง ข้าวโพดข้าวเหนียว ผักกาดขาว กัญชง |
มิถุนายน | ดูแลพืชผลทางการเกษตร และปลูกข้าวไร่ |
กรกฎาคม | เก็บเกี่ยวกัญชง ข้าวโพดข้าวเหนียว และผักกาดขาว |
สิงหาคม | ถอนวัชพืชในไร่ข้าวและพริก และเริ่มปลูกถั่วลิสง |
กันยายน | เก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร เช่น มันฝรั่ง |
ตุลาคม | เก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด |
พฤศจิกายน | เก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าวไร่ พริก และถั่วลิสง |
ธันวาคม | เก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร เช่น พริก |
2. ประเพณีและวัฒนธรรมในรอบปี
2.1 พิธีการแต่งงาน (มกราคม-มิถุนายน): ชาวม้งนิยมแต่งงานในช่วงเวลานี้ เพราะว่างเว้นจากการทำงานในไร่
2.2 พิธีกรรมเช็งเม้งหรือคูจาง (เมษายน): พิธีกรรมไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นการรวมญาติพี่น้องให้กลับมาพบกันพร้อมหน้าพร้อมตา
2.3 พิธีกรรมบนบานเจ้าที่และพิธีกรรมทำบุญไหว้ศาลประจำหมู่บ้าน (พฤษภาคม): พิธีกรรมบนบานขอฝนจากเทวดาให้ฝนตกตามฤดูกาล ขอให้พืชผลเศรษฐกิจ ผักกาดขาว มันฝรั่ง ได้ผลผลิตดี และประกอบพิธีกรรมให้คนในหมู่บ้านอยู่ดีกินดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
2.4 พิธีกรรมกินข้าวโพดใหม่ (กรกฎาคม): พิธีเรียกบรรพบุรุษที่ล่วงลับมากินข้าวโพดข้าวเหนียว
2.5 พิธีบนบานพระแม่คงคา (กรกฎาคม-สิงหาคม): บนบานพระแม่คงคาให้น้ำเพียงพอต่อการเกษตร และปกป้องคุ้มครองคนในชุมชนทั้งด้านการเกษตรให้พืชผลสมบูรณ์และให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค
2.6 พิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ (กันยายน): เป็นการสะเดาะเคราะห์ใน 5 ตระกูลแซ่ ได้แก่ แซ่กือ แซ่ม้า แซ่ว่าง แซ่เท้า และแซ่ย่าง เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและอุบัติเหตุในรอบปี ชาวบ้านต้องห้ามใช้ของมีคมหรืออาวุธทุกชนิด ห้ามออกเดินทาง ให้อยู่แต่ในบ้านในวันที่จัดทำพิธีของแต่ละแซ่
2.7 พิธีกรรมกินข้าวใหม่ (ตุลาคม): เรียกบรรพบุรุษมากินข้าวใหม่ก่อนที่คนในบ้านจะกิน เพื่อเป็นสักขีพยานว่ามีการต้อนรับขวัญข้าวเข้าสู่บ้านเรือน
2.8 ประเพณีปีใหม่ม้ง (ธันวาคม-มกราคมปีถัดไป): ประเพณีปีใหม่ในอดีตจะจัดขึ้นช่วง 1 ค่ำ เดือน 1 แต่เนื่องด้วยฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทำให้เมื่อถึงขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ยังเก็บเกี่ยวผลผลิตยังไม่แล้วเสร็จ จึงปรับเปลี่ยนประเพณีมาในช่วงขึ้น 1 ค่ำ เดือน 2 ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมาอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ ยังมีพิธีกรรมเรียกขวัญธัญพืชและการตำข้าวปุ๊กที่ปั้นเป็นตัวแทนสัตว์ต่าง ๆ เพื่อเรียกขวัญสัตว์เลี้ยงเข้าสู่บ้าน รวมทั้งพิธีขอขมาและขอพรจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน (เปจ๊ะ)
3. ระบบความเชื่อของชุมชนบ้านป่าแขมใหม่
ชุมชนบ้านป่าแขมใหม่มีความเชื่อและนับถือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ดังนั้น ในชุมชนจึงไม่มีวัดหรือโบสถ์ที่เป็นจุดศูนย์รวมจิตใจ มีเพียงศาลเจ้าที่ตั้งอยู่บนเขาที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อปกป้องคุ้มครองคนในชุมชนให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง นอกจากนี้ ยังมีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น เช่น พิธีกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อมีการเจ็บป่วยหรือเกิดความกังวลไม่สบายใจ ซึ่งจะมีการสะเดาะเคราะห์ผ่านพิธีเข้าทรง (อัวเน้ง) และการเรียกขวัญ (ฮูปลี่)
นายชาญชัย อาชีวพฤกษากิจ (บัวเย้ เส่งกือ) อายุ 67 ปี
บทบาทและความสำคัญ
เดิมทีนายชาญชัยอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านเจดีย์โคะ ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด ที่มีอาณาเขตติดกับบ้านป่าแขมใหม่ แต่เนื่องด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนบ้านเจดีย์โคะมีพื้นที่ทำมาหากิน พื้นที่ไร่ และสวนไม่เพียงพอ นายชาญชัยจึงตัดสินใจอพยพมาอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านป่าแขมใหม่ ซึ่งตนได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชนอย่างไม่เป็นทางการ ตลอดจนชักชวนญาติและเพื่อนบ้านที่รู้จักที่ต้องการพื้นที่ทำกินให้ย้ายมาสร้างหมู่บ้านร่วมกัน
ต่อมา นายชาญชัยได้บริจาคที่ดินส่วนตนให้เป็นที่สาธารณะสำหรับสร้างโรงเรียนแม่ฟ้าหลวงและเป็นสนามกลางของหมู่บ้าน และทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น หน่วยงานสาธารณสุข นอกจากนี้ นายชาญชัยยังเป็นผู้นำตระกูลแซ่กือเพื่อร่วมประชุมกับสมาคมม้งกือแห่งประเทศไทยและสมาคมม้ง 18 ตระกูลแซ่
นายชาญชัยมีความสามารถทางวัฒนธรรมและศาสนาที่หลากหลาย ได้แก่ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณด้านการทำบุญประจำหมู่บ้าน (เจ๋) ผู้นำในพิธีงานแต่ง (ฮาช้ง) ผู้นำพิธ๊งานศพ (ฮาจือสาย) เป่าแคน เป็นผู้รู้เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมม้งตั้งแต่เกิดจนตาย มีความสามารถในการเรียกขวัญและการสานตะกร้าด้วยไม้ไผ่
การเกษตร : ชุมชนบ้านป่าแขมใหม่มีทุนเดิมเป็นพื้นที่การเกษตรที่กว้าง ภูเขาไม่สูงมากนัก และลาดชันเล็กน้อย ซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก ถือเป็นแหล่งรวมการเกษตรที่มีความหมายแห่งหนึ่งของอำเภอพบพระ ปัจจุบันชุมชนบ้านป่าแขมใหม่ค่อนข้างมีความเจริญทั้งด้านการคมนาคมที่มีถนนคอนกรีตเข้าถึงหมู่บ้าน รวมถึงเริ่มมีกิจการร้านค้าการเกษตร ร้านค้าขายของชำ และปั้มน้ำมันขนาดเล็กในชุมชน
ประเพณีวัฒนธรรม : ชุมชนบ้านป่าแขมใหม่ยังคงดำรงวิถีชีวิตและมีประเพณีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม และมีผู้รู้ที่มีองค์ความรู้ด้านพิธีกรรมแบบดั้งเดิม ทำให้ชุมชนบ้านป่าแขมใหม่เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนอื่น ๆ
ชุมชนบ้านป่าแขมใหม่โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มม้งเขียว ดังนั้น ภาษาที่ใช้ในชุมชนจึงเป็นภาษาม้งเขียว อย่างไรก็ตาม มีเพียงกลุ่มคนส่วนน้อยที่อ่านและเขียนภาษาม้งได้ ซึ่งถือเป็นข้อท้าทายของชุมชนในการส่งเสริมรักษามรดกภูมิปัญญาดังกล่าว
ชุมชนบ้านป่าแขมใหม่เป็นชุมชนที่เป็นหย่อมบ้านของชุมชนบ้านสามยอดดอย ด้วยการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและจำนวนครัวเรือน ทำให้ชุมชนบ้านป่าแขมใหม่มีความพยายามที่จะทำโครงการขอแยกหมู่บ้านมาตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา และมีความพยายามที่จะอยากพัฒนาชุมชนอยู่เสมอ
ปัจจุบันการทำการเกษตรค่อนข้างลำบากและการค้าขายผลผลิตด้านการเกษตรราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรหลายคนเป็นหนี้และมีคุณภาพชีวิตไม่ดีนัก กลุ่มคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จึงนิยมหางานทำที่กรุงเทพฯ บางส่วนเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ และส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวเพื่อซื้อที่ดิน สร้างบ้าน และส่งลูกไปเรียนหนังสือ
ชาวบ้านจากชุมชนบ้านป่าแขมใหม่สามารถใช้บริการระบบสาธารณสุขที่ชุมชนบ้านสามยอดดอย ในชุมชนมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่คอยทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ความเจ็บป่วย และเยี่ยมบ้านตามระบบสาธารณสุข
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
กมล กึกก้องโลกา, สัมภาษณ์, 18 เมษายน 2567.
ชาญชัย อาชีวพฤษากิจ, สัมภาษณ์, 19 เมษายน 2567.