Advance search

เอกลักษณ์ของพื้นที่ของชุมชนบ้านญวณสามเสน คือโบสถ์ทั้งสองโบสถ์ภายในพื้นที่และบ้านโบราณเป็นอาคารที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชน และความแตกต่างด้านวัฒนธรรมของเชื้อชาติที่ต่างกันแต่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียว

ถนนสามเสน
วชิรพยาบาล
ดุสิต
กรุงเทพมหานคร
สำนักงานเขตดุสิต โทร. 0-2243-5311-5
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
27 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
9 เม.ย. 2023
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
26 เม.ย. 2023
บ้านญวณสามเสน

ที่มาของชื่อบ้านนามเมืองตรงนี้มีการกล่าวถึงอยู่ในนิราศพระบาทของสุนทรภู่ที่บอกเล่าว่า สามเสน นี้เพี้ยนมาจากคำว่า ‘สามแสน’ ตามตำนานที่เล่าขานมาแต่อดีตถึงเหตุการณ์ที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ลอยน้ำมาจนต้องใช้กำลังคนถึงสามแสนคนมาช่วยกันฉุดชักลากขึ้นฝั่งจนกลายเป็นชื่อ 'ย่านสามแสน' และเพี้ยนมาเป็นสามเสนในปัจจุบัน อาจจริงหรือไม่จริงก็ได้ เพราะข้อสรุปในเรื่องคำว่า ‘สามเสน’ นี้ยังไม่เป็นอันยุติ


เอกลักษณ์ของพื้นที่ของชุมชนบ้านญวณสามเสน คือโบสถ์ทั้งสองโบสถ์ภายในพื้นที่และบ้านโบราณเป็นอาคารที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชน และความแตกต่างด้านวัฒนธรรมของเชื้อชาติที่ต่างกันแต่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียว

ถนนสามเสน
วชิรพยาบาล
ดุสิต
กรุงเทพมหานคร
10300
13.77846409075825
100.50503478547644
กรุงเทพมหานคร

พื้นที่ชุมชนเดิมเป็นทุ่งกว้าง เรียกว่า ทุ่งสามเสน เริ่มมีวัดสมอรายตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยพระนารายณ์มหาราชได้โปรดเกล้าฯ ให้ชาวโปรตุเกสกลุ่มหนึ่งเข้ามาอาศัยใกล้กับวัดสมอราย โดยเรียกว่าหมู่บ้านโปรตุเกส และชาวโปรตุเกสกลุ่มนี้ยังได้สร้างโบสถ์วัดน้อยที่ทำจากไม้ไผ่ขึ้นในหมู่บ้าน เวลาต่อมาจึงได้สร้างโบสถ์วัดคอนเซ็ปชัญ

ในปี พ.ศ. 2325 ช่วงรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ชาวเขมรลี้ภัยจากจลาจลประมาณ 400 – 500 คน เข้ามาอยู่รวมกับชาวโปรตุเกส เพราะเหตุว่านับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกเหมือนกัน จึงเรียกกันว่า ‘หมู่บ้านเขมร’ ในขณะเดียวกัน ชาวเขมรยังได้รับราชการในกรมทหารฝรั่งแม่นปืนและได้เป็นหัวหน้าดูแลชาวบ้านที่บ้านเขมร โดยมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาวิเศษสงครามภักดี ต้นตระกูลวิเศษรัตน์และวงศ์ภักดี ต่อมามีชาวญวณอพยพมาอีกประมาณ 300 คน เข้ามาอยู่ร่วมกับชาวเขมรและชาวโปรตุเกส ตามคำชวนของบาทหลวงเป๋และพระยาวิเศษสงคราม

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 มีชาวญวนอพยพเข้ามาอีกประมาณ 1500 คน พระยาวิเศษสงครามและพระยาณรงค์ฤทธิ์โกษา ได้กราบทูลขอชาวญวนไป โดยรัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชาวญวนคริสตังตั้งบ้านเรือนเหนือบ้านเขมร ซึ่งมีชาวญวนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ทรงใช้เงินส่วนพระองค์ซื้อที่ดินแปลงใหญ่ และพระราชทานที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างโบสถ์ที่ทำจากไม้ไผ่เป็นการชั่วคราวให้ชื่อว่า ‘วัดเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์’ พร้อมทั้งสักข้อมือญวนสวามิภักดิ์อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพระยาวิเศษสงครามฯ และมีพระยาบรรฤาสิงหนาถเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน อีกทั้งให้ญวนสังกัดกรมปืนใหญ่ ‘เรียกว่า หมู่บ้านญวน’ 

จากที่กล่าวในข้างต้น จะพบว่าอาณาเขตของทั้งหมู่บ้านเขมรและหมู่บ้านญวนนั้นอยู่ใกล้ชิดกันมาก ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงตรากฎหมาย ร.ศ. 128 อนุญาตให้มิสซังโรมันคาทอลิกในกรุงสยามถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ เจ้าพระยายมราชจึงประกาศยกพื้นที่บ้านญวณแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์ และบ้านเขมรอิมมากูเลตกองเซ็ปชังในตำบลสามเสนสองแห่งนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมิสซังโรมันคาทอลิก ดังนั้นหมู่บ้านญวณและหมู่บ้านเขมรจึงเรียกรวมกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

พัฒนาการของชุมชนบ้านญวณสามเสน แบ่งได้ 4 ยุค ดังนี้

ยุคพื้นที่เกษตรนอกเมือง สภาพโดยรอบในยุคนี้อยู่ในช่วงกรุงธนบุรีที่ได้รับการพัฒนาในหลายด้าน ซึ่งฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นทุ่งนา มีการตั้งถิ่นฐานน้อย จนกระทั่งกรุงเทพมหานครได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวง เป็นผลให้ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำพัฒนาในหลายด้าน ทว่าพื้นที่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมนอกเมืองเท่านั้น ซึ่งสภาพโดยรอบดังกล่าวส่งผลต่อการพัฒนาการของชุมชน คือเป็นช่วงที่ชาวโปรตุเกสเข้ามาอยู่อาศัยในปี พ.ศ. 2217 พร้อมทั้งสร้างโบสถ์วัดน้อย ต่อมาในปี พ.ศ. 2379 สร้างโบสถ์วัดคอนเซ็ปชัญ เมื่อเข้าสู่สมัยของกรุงรัตนโกสินทร์สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้มีชุมชนเขมรเข้ามาอยู่รวมกับชาวโปรตุเกสจนเป็นหมู่บ้านเขมร และในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีญวณคริสต์ที่อยู่ถัดจากบ้านเขมรทางทิศเหนือสร้างโบสถ์แรกในปี พ.ศ. 2377 และสร้างโบสถ์วัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ในปี พ.ศ. 2380

ยุคก่อตั้งดุสิต (พ.ศ. 2411 - 2475) สภาพโดยรอบในยุคนี้ได้มีการสร้างพระราชวังดุสิตทางด้านเหนือทำให้พื้นที่รอบ ๆ มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการตัดถนนเพิ่มขึ้นเพื่อเชื่อมโยงถึงกันรวมทั้งถนนกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเมืองดุสิตมีการก่อสร้างวังต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ด้านตะวันออกของชุมชนเป็นพระราชวังสวนสุนันทา และด้านใต้ของชุมชนมีตลาดน้ำคลองผดุงกรุงเกษม สภาพโดยรอบดังกล่าวส่งผลต่อการพัฒนาการของชุมชน คือหมู่บ้านญวนและหมู่บ้านเขมรรวมกันเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ของ ‘มิสซังโรมันคาทอลิก’ ในปี พ.ศ. 2461 พร้อมทั้งมีโรงเรียนยออันนาดาร์ต และโรงเรียนเทเรซาเยซูกุมารี เมื่อเข้าปี พ.ศ. 2465 มีโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ที่ตั้งติดริมถนนสามเสน สุดท้ายในปี พ.ศ. 2468 มีโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์

ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475 - 2500) สภาพเมืองโดยรอบในยุคนี้หลังจากได้รับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมืองดุสิตที่เคยเป็นที่ตั้งของวังบ้านขุนนาง ถูกนำมาใช้เป็นอาคารของทางราชการ และวังสวนสุนันทานำมาใช้เป็นอาคารสถานศึกษา อีกทั้งมีการก่อสร้างสะพานกรุงธนบุรีเชื่อมฝั่งธนบุรี และพระนครทางเหนือของชุมชน ซึ่งสภาพโดยรอบดังกล่าวส่งผลต่อการพัฒนาการของชุมชน คือในปี พ.ศ. 2492 ทางภาครัฐได้ทำการเทถนนคอนกรีตแทนถนนดิน และประดิษฐานพระรูปพระเยซูเจ้ารักษาคนตาบอดที่หน้าโบสถ์วัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ ซึ่งในช่วงยุคดังกล่าวได้มีเรือของชาวบ้านจากอยุธยามาตั้งหลักแหล่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ยุคการมีแผนพัฒนาประเทศ (พ.ศ. 2500 - 2532) สภาพเมืองโดยรอบในยุคนี้เป็นเพื่อการพาณิชยกรรมมากขึ้น มีการปรับปรุง ขยายขนาดพื้นที่ถนน เพื่อตอบรับความต้องการที่มีเพิ่มมากขึ้นต่อจำนวนคนที่เข้ามาในพื้นที่ เนื่องจากได้มีการอพยพเข้ามาในเขตเมืองมากขึ้นเพื่อหางานทำ ซึ่งเป็นอยู่อาศัยกันอย่างแออัดในรูปแบบบ้านเช่า หอพัก ส่วนด้านใต้ของชุมชน พบว่าเป็นตลาดเทวราช ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีสถาบันราชภัฏสวนสุนันทาสภาพโดยรอบดังกล่าวส่งผลต่อการพัฒนาการของชุมชน คือคลองบ้านญวณถมเป็นถนนคอนกรีต มีโรงเรียนจำนวนเพิ่มขึ้น อาทิ โรงเรียนโยออฟอาร์คเทโนโลยี อนุบาลยุรววิทย์ โรงเรียนพันธะศึกษา และมีอาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2501 มีสะพานซังฮี้เพื่อใช้ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมฝั่งธนบุรี

ขอบเขตของชุมชนบ้านญวณสามเสน มีเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ เมื่อหันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ด้านขวามีขอบเขตตั้งแต่บริเวณขอบโรงเรียนโยนออฟอาร์คเทคโนโลยีถึงริมถนนราชวิถี ซึ่งบริเวณนี้มีกลุ่มชุมชนศาลเจ้าจุ้ยโบเนี้ยว (แม่ทับทิม) ที่ไม่ได้รวมอยู่ในขอบเขตชุมชน จากโรงเรียนโยนออฟอาร์คเทคโนโลยีผ่านซอยไชยยศจนถึงขอบถนนสามเสนลงมาทางโรงเรียนพันธะศึกษานับขอบถนนสามเสนเรื่อยลงมาจนถึงคลองวัดราชาธิราช ถือเป็นขอบเขตของ “บ้านญวณสามเสน”

โดยลักษณะการใช้ที่ดินของชุมชนบ้านญวณสามเสน ส่วนใหญ่เป็นที่พักอาศัย ศาสนสถาน สถานศึกษา และพาณิชยกรรม กล่าวคือการใช้ที่ดินของชุมชน มีศาสนสถานเป็นศูนย์กลางที่ถูกล้อมรอบด้วยบ้านพักอาศัย นอกนั้นจะเป็นการค้าขายของชุมชนที่จะเกิดขึ้นบริเวณริมสองฝั่งถนนให้บริการแก่คนในชุมชน กลุ่มนักศึกษาจากสถาบันใกล้เคียง ตลอดจนกลุ่มนักเรียนและผู้ปกครองจากพื้นที่ภายนอก โดยเฉพาะสถานศึกษามีมากถึง 8 แห่งในพื้นที่ของชุมชน ทำให้มีนักเรียนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนภายนอกพื้นที่เข้ามาศึกษาในโรงเรียนของชุมชนแต่ถนนซอยในชุมชนบ้านญวณสามเสนค่อนข้างแคบ เป็นผลให้เกิดปัญหาการจราจรในพื้นที่ต่อเนื่องไปจนถึงถนนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั่วโมงเร่งด่วนในส่วนของพื้นที่โล่งและพื้นที่ว่างสาธารณะนั้นมีการใช้ที่ดินน้อย

ประชากรของชุมชนบ้านญวณสามเสนไม่ได้ขึ้นกับเขตดุสิต ทำให้ไม่มีการเก็บข้อมูลสถิติจำนวนประชากรไว้ จึงใช้ข้อมูลจากที่ทำการโบสถ์ของชุมชนในปี พ.ศ. 2544 พบว่ามีจำนวนประชากรของชุมชนทั้งสิ้น 4,321 คน จำนวนบ้านเรือน 635 หลังคาเรือน

อาชีพหลัก คือ การเข้ารับราชการทหารสังกัดกองญวนสวามิภักดิ์ รองลงมา คือทำนา ทำการประมง รับจ้างต่อเรือ ปลูกบ้านและช่างไม้ ซึ่งอาชีพรับจ้างต่อเรือ นับว่าเป็นอาชีพที่สำคัญของหมู่บ้านแห่งนี้ เนื่องจากมีโรงต่อเรือถึง 8 แห่ง ล้วนมีชื่อเสียงและมีฝีมือที่ดี และเมื่อผู้คนเพิ่มมากขึ้นได้แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพที่อื่น ๆ โดยแยกได้ 11 กลุ่ม เมื่อจำนวนคนมากพอได้สร้างวัดเพื่อใช้ประกอบศาสนกิจและเป็นศูนย์รวมของหมู่บ้าน อาทิ กลุ่มเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, กลุ่มบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และกลุ่มบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ฯลฯ ต่างไปประกอบอาชีพตามความสามารถ อาทิ ทำนา ทำไร่สวนผัก การประมง ช่วงฝีมือต่าง ๆ ตามสภาพท้องถิ่นที่ขยายตัวออกไป

ในปัจจุบันจากการสำรวจ พบว่าชุมชนบ้านญวณสามเสนมีการประชากรที่มีอาชีพการค้าขายเป็นหลักและเป็นพนักงานบริษัท ซึ่งร้านค้าที่ขายแหนมเนืองในชุมชน พบจำนวน 2 ร้าน ตั้งอยู่ริมถนนซอยไซยยศ เป็นร้านที่มีชื่อเสียงและดึงดูดให้คนภายนอกเข้ามารับประทานภายในพื้นที่ได้ โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน มีทั้งร้านค้าริมถนน รถเข็นและแผงลอยขายขนมจำนวนมากในพื้นที่

กิจกรรมของชุมชนบ้านญวณสามเสน

ชุมชนบ้านญวณสามเสน มีทั้งผู้ที่มีเชื้อสายโปรตุเกส เขมรและญวน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในท้องถิ่นมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ลักษณะความสัมพันธ์ในสังคมจึงมีความสามัคคี สนิทสนมและคุ้นเคยกัน โดยการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย เนื่องจากภายในพื้นที่มีโบสถ์สองแห่ง คือโบสถ์วัดคอนเซ็ปชัญ และโบสถ์วัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ ดังนั้นการรวมกลุ่มกันจึงเป็นกลุ่มบุคคลจากพื้นที่ของแต่ละโบสถ์ ทว่าเป็นกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์และการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่

(1) คณะพลมารี เป็นการรวมกลุ่มของสมาชิกในชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถวายพระเกียรติมงคลแด่พระเจ้าโดยสมาชิก อาศัยการสวดภาวนาและร่วมมือกันทำงานภายใต้การนำของศาสนจักร ลักษณะการทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือคนเจ็บป่วย คนถูกทอดทิ้ง ชักชวนให้มาสวดมนต์ ให้กำลังใจ เชิญชวนผู้ที่มีปัญหามาที่วัด และช่วยบาทหลวงในกิจการต่าง ๆ มีสมาชิกทั้งหมด 12 คน ร่วมประชุมกันเวลา 11:00 น. ทุกวันอาทิตย์

(2) กลุ่มผู้อาวุโส ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุในชุมชนได้พบกันอย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ พิธีกรรมทางศาสนา กิจกรรมสาธารณกุศล การอบรมให้ความรู้ต่าง ๆ และการท่องเที่ยวร่วมกัน

(3) สภาภิบาล เป็นการรวมตัวของคนในชุมชน เพื่อช่วยเหลือดูแลทางด้านสังคมศาสนาของชุมชน รวมถึงการจัดเตรียมกิจกรรมภายในโบสถ์ มีการคัดเลือกคนในชุมชนมาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ระยะเวลา 5 ปี โดยแบ่งออกเป็นฝ่าย ๆ คือ ฝ่ายพัฒนาและปรับปรุงซ่อมแซมในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่สาธารณะ ฝ่ายส่งเสริมความเชื่อและพิธีกรรม ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในหมู่บ้าน และฝ่ายกิจกรรมพิเศษ

(4) กลุ่มสหกรณ์เครดิตยูเนียนเป็นการรวมกลุ่มกันในรูปของสหกรณ์ของคนในชุมชนเพื่อให้สมาชิกของสหกรณ์มีการจัดการออมทรัพย์และรับเงินปันผลประจำปี และช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาด้านการเงินให้สามารถกู้เงินจากสหกรณ์ได้

(5) กลุ่มคณะนักขับร้อง เป็นการรวมกลุ่มของเยาวชนในชุมชนเพื่อร่วมกันขับร้องเพลงสรรเสริญพระเป็นเจ้าในงานพิธีกรรมและงานเฉลิมฉลองในโอกาสต่าง ๆ และส่งเสริมบรรยากาศของความศรัทธาในการร่วมพิธีมิสซา โดยจะร่วมกันฝึกซ้อมตอนเย็นหรือตามเวลาที่ได้กำหนดไว้

ประเพณีที่สำคัญของชุมชนบ้านญวณสามเสน ดังนี้

  • พิธีฉลองพระแม่ เป็นวันที่ 24 กันยายนของทุกปี สาเหตุที่กำหนดวันนี้ สันนิษฐานว่าเนื่องจากเป็นวันที่ชาวเขมรบางส่วนเชิญพระแม่ไถ่ทาส หรือพระแม่เดเมย์เซเดย์กลับไปเขมร ทว่าเกิดปาฏิหาริย์เรือที่เชิญพระแม่แจวไปได้ไม่ไกลได้หยุดนิ่งหาสาเหตุไม่พบ จึงเชื่อว่าอาจเป็นเพราะอำนาจพระแม่ที่ต้องการจะอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญ เพราะสามารถแจวเรือกลับได้ตามปกติ แต่พอแจวไปเรือกลับหยุดนิ่ง ในที่สุดชาวเขมร จึงเชิญรูปพระแม่กลับมาประดิษฐานตามเดิมนับตั้งแต่อดีต ซึ่งในงานวันฉลองพระแม่ ประชาชนมักทำขนมจีนคั่วไถ่ (ขนมจีนน้ำยาไก่) เป็นการฉลอง และจะทำเฉพาะในงานฉลองพระแม่ หรืองานมงคล อาทิ งานแต่งงาน เท่านั้น
  • ประเพณีเฉลิมฉลองโบสถ์ฟรังซีสซาเวียร์ จัดขึ้นต้นเดือนธันวาคม ตรงกับวันเกิดของพ่ออุปถัมภ์ มีการทำพิธีมิสซาในช่วงเช้าและเชิญคนมาร่วมรับประทานอาหาร
  • วันคริสต์มาส มีการร้องเพลงของกลุ่มเยาวชนที่โบสถ์ในช่วงกลางคืน รับประทานอาหารร่วมกันและจับฉลากของขวัญที่โบสถ์ รวมทั้งเล่นเกมส์ ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการชุมชน และประมาณ 22.00 น. มีการเล่นละครภายในโบสถ์เพื่อรำลึกถึงการประสูติของพระเยซูเจ้า
  • เทศกาลมหาพรต เป็นช่วงเวลา 40 วัน เพื่อเตรียมตัวของคริสตชนก่อนวันอีเตอร์ ซึ่งวันเริ่มต้นของเทศกาลนี้เรียกว่า วันพุธรับเถ้า คริสตชนจะมารับขี้เถ้าที่ได้จากการเผาใบลานโปรยลงบนศีรษะระหว่างพิธีมิสซา เป็นเครื่องหมายแสดงการไว้ทุกข์หรือการกลับใจ โดยในวันนี้คริสตชน
  • ต้องถือศีลอด สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ เริ่มต้นที่วันอาทิตย์ใบลานเป็นการรำลึกถึงพระเยซูเดินทางเข้าสู่ เยรูซาเล็ม เมื่อถึงวันอาทิตย์เวลา 08:30 น. เป็นเวลาเริ่มพิธีมิสซาสาย โดยคุณพ่อจะทำการเสกใบลานด้วยการพรมน้ำเสกที่กองใบลาน จากนั้นจะทำการแห่ใบลานรอบวัด 1 วัด โดยคุณพ่อนำขบวนแห่ โดยมีสัตตบุรุษที่มาร่วมพิธี ซึ่งจะมีพิธีมิสซาตามปกติ
  • วันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ อยู่ในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์หลังสิ้นสุดเทศกาลมหาพรตเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่พระเยซูได้ล้างเท้าและเช็ดเท้าให้สานุศิษย์ทั้ง 12 คน ส่วนในพิธีมิสซาเวลาค่ำ ผู้ชายในชุมชนที่มีอายุประมาณ 40 – 60 ปี จะเป็นตัวแทนสานุศิษย์ 12 คน เข้าร่วมพิธีเมื่อทำการล้างเท้าเสร็จจะมีการตีเกราะเป็นสัญญานว่าพระเยซูถูกจับตัวไปแล้ว ซึ่งในคืนนี้จะมีตัวแทนของกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนผลัดกันมาเฝ้าตู้ศีลที่ถือกันว่าเป็นตัวแทนพระเยซูที่กำลังตกอยู่ในอันตราย
  • วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ อยู่ในช่วงปลายสัปดาห์หลังสิ้นสุดเทศกาลมหาพรต เมื่อถึงวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า พิธีถอดพระ เพื่อรำลึกถึงวันที่พระเยซูทรงถูกทรมานและสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน โดยในวันนี้ชาวคริสต์ที่ไปอาศัยข้างนอกจะกลับมาร่วมพิธีกรรมเช่นเดียวกับวันคริสต์มาส ซึ่งชาวคริสต์ในชุมชนร่วมมือกันจัดดอกไม้ตกแต่งรูปพระ มีการแสดงละครรำลึกถึงเหตุการณ์ประกอบ พิธีกรรมปลดร่างพระเยซูเจ้าลงไม้กางเขน เรียกว่าเป็นพิธีถอดพระ ซึ่งพิธีนี้มีเพียงวัดคอนเซ็ปซัญ และวัดซางตาครูส เท่านั้น
  • เทศกาลอีสเตอร์ วันอีสเตอร์เป็นวันที่ฉลองพระเยซูกลับฟื้นคืนชีพ ศาสนจักรจึงใช้ไข่ในการเป็นสัญลักษณ์ในการเกิดใหม่ มีการแจกไข่ต้มสุกที่ห่อตกแต่งด้วยกระดาษสีต่าง ๆ ผูกโบว์สวยงาม หลังทำเสร็จแล้วให้รับประทานเพื่อเป็นสิริมงคล
  • พิธีมิสซา นับว่าเป็นวัฒนธรรมประเพณีด้านที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต โดยมีการประกอบพิธีมิสซาที่โบสถ์วัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ ในวันจันทร์ถึงวันเสาร์ เวลาเช้า 06:00 น. เย็นเวลา 19:00 น. ส่วนวันอาทิตย์ เวลาเช้า 06:30 น. 08:30 น. 10:00 น. ช่วงเย็น 16:00 น. และที่โบสถ์วัดคอนเซ็ปชัญ วันธรรมดาเวลา 07:00 น. วันเสาร์เวลา 17:30 น. วันอาทิตย์ เวลา 06:00 น. 08:00 น. และ 17:00 น.

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

ทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการท่องเที่ยวในชุมชนบ้านญวณสามเสน เห็นถึงความแตกต่างด้านเชื้อชาติและศาสนา แต่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข มีกิจกรรมที่ทำให้คนในชุมชนได้ปฏิบัติร่วมกันในยามว่างจากงานทั้งการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสังสรรค์

วัดคอนเซ็ปชัญ เป็นวัดเก่าแก่ในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มีอายุยาวนานถึง 346 ปี ตั้งอยู่ที่ซอยสามเสน 11 ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ประวัติความเป็นมาเริ่มตั้งแต่สมัยอยุธยาปี พ.ศ. 2217 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้พระราชทานที่ดินในเมืองบางกอก (กรุงเทพมหานคร) ให้แก่พระสังฆราชลาโน (Mgr. Laneau) เพื่อสร้างวัดสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก โดยได้ตั้งชื่อวัดว่า ‘วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล’ (Immaculée Conception)

โดยโบสถ์ของวัดคอนเซ็ปชัญ หลังปัจจุบันสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2379 ถือเป็นโบสถ์คริสต์เก่าสมัยรัชกาลที่ 3 เพียงไม่กี่หลังในไทยที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสในช่วงนั้นเป็นผู้ดำริให้สร้างขึ้น นอกจากด้านประวัติที่มาที่เห็นว่ารอบ ๆ ของโบสถ์ จะเห็นถึงรูปแบบของอาคารที่สร้างตามแบบศิลปะแบบบาโรก ซึ่งมักทำหน้าต่างอยู่สูงเลยหัว เพื่อไม่ให้รบกวนพิธีกรรมด้านใน ส่วนแปลนของอาคารเป็นทรงสี่เหลี่ยมยาวปลายมน มีห้องสำหรับเตรียมพิธีที่ด้านหลังถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสมัยนั้น ขณะเดียวกัน ได้มีการแฝงกลิ่นอายของศิลปะจีนปะปนอยู่บ้าง จากรูปมังกรปูนปั้นที่ด้านหลังโบสถ์ เป็นลูกเล่นที่ช่างผสมผสานไว้อย่างน่ารัก และที่สำคัญหากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าโบสถ์หลังนี้มีร่องรอยของการสร้างต่อเพิ่มเติมในสมัยถัดมาอีกหลายต่อหลายครั้ง กล่าวคือโบสถ์ช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 จบลงที่บริเวณประตูทางเข้าอาคารทำเป็นประตูใหญ่ 3 บานเรียงต่อกัน ด้านบนทำเป็นช่องกระจกสี ทว่าส่วนมุขโถงด้านหน้ามาสร้างสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากแต่ก่อนมีหอระฆังแล้วพังทลายไปเพราะคนไทยไม่ชำนาญทำหอเปลืองอิฐ ซึ่งการใช้หอไม้เป็นเหตุให้พังลงเป็นผลให้ในรัชสมัยของรัชการที่ 5 ให้โยอาคิม กรัสซี สถาปนิกชาวตะวันตกที่เข้ามารับราชการในสยามมาทำ จึงจะเห็นตามภาพว่าทางฝั่งขวามีกระจกสี ทั้ง ๆ ที่แดดไม่ได้ส่อง สะท้อนถึงร่องรอยของอาคารแต่แรก ซึ่งกระจกสีนั้นเป็นของใหม่ แต่ด้านในจะมีกระจกสีที่เป็นสมัยรัชกาลที่ 3 จริง ๆ อยู่ 3 – 4 บาน ถือว่าเก่าที่สุดในประเทศไทยที่ยังคงเหลืออยู่ โดยมองตามเข้าไปตรงแท่นบูชาด้านใน และการทำกระจกสีเป็นภาพนักบุญองค์ต่าง ๆ รายล้อมประติมากรรมพระแม่มารีองค์สำคัญที่ชาวเขมรได้อัญเชิญมา

วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ใช้เวลาสร้าง 10 ปี และมีพิธีมิสซาโดยมุขนายกมิสซังในวันฉลองนักบุญฟรังซิสเซเวียร์เมื่อปี พ.ศ. 2410 วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอกอทิก ผนังก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ (ไม่ใช้เหล็กและเสาเข็ม) ภายในประดับกระจกสีเป็นเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิล และมีภาษาญวนจื๋อโนม (ภาษาที่ชาวเวียดนามพัฒนาตัวอักษรจีนเพื่อใช้ในการเขียนภาษาเวียดนาม) อยู่เหนือพระแท่น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล


ลักษณะเดิมของชุมชนบ้านญวณสามเสนเป็นพียงหมู่บ้านขนาดเล็กที่มีศาสนสถานใกล้หมู่บ้านและทำการเกษตรกรรมนอกเมือง การสร้างบ้านเรือนไม้อยู่อาศัยรวมตัวกันเป็นกลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากในอดีตยังคงต้องใช้เส้นทางน้ำในการสัญจร ต่อมาเมื่อมีการขยายตัวริมแม่น้ำ เพราะมีชาวบ้านอพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่จำนวนมากขึ้น ทว่าในภายหลังจากการขุดคลองและตัดถนน เป็นผลให้การนิยมสร้างบ้านเรือนริมคลองเปลี่ยนมาสร้างบ้านริมถนนแทน เมื่อถนนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ในช่วงเวลาต่อมาว่ามีการเกิดขึ้นของอาคารพาณิชย์ขนาด 2 – 3 ชั้น ริมถนนใหญ่และถนนซอย นอกจากนี้ ชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่บนเรือยังเปลี่ยนเป็นสร้างบ้านไม้อาศัยอยู่ริมแม่น้ำแทน ดังนั้น จากเดิมที่พื้นที่ของชุมชนบ้านญวณสามเสนใช้สำหรับสร้างเป็นที่อยู่อาศัยและโบสถ์เท่านั้น ทำให้มีพื้นที่ว่างมาก ทว่าในปัจจุบันเป็นการใช้ที่ดินสำหรับอาคารเรียนและอาคารพาณิชย์มากขึ้น พื้นที่ว่างในชุมชนเมื่ออดีตจึงค่อย ๆ ลดจำนวนลงไปมาก

จากที่กล่าวในข้างต้น จะทำให้เห็นถึงปัญหาของพื้นที่ ‘ชุมชนบ้านญวณสามเสน’ ในปัจจุบัน คือ (1) ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ริมถนนและทางเดินเท้าหน้าโรงเรียนเป็นที่ค้าขายส่วนบุคคล ส่งผลให้เกิดปัญหาในด้านการสัญจรบนทางเดินเท้า (2) ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเป็นที่พักอาศัยส่วนบุคคล (3) ปัญหาการต่อเติมชั้นอาคารให้สูงขึ้นเป็นหอพักของบ้านพักอาศัยในชุมชนบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา (4) ปัญหาด้านการจราจรหนาแน่นบนถนนของชุมชน และ (5) ปัญหาด้านการเข้าถึงพื้นที่ถนนสามเสน 13 ซึ่งไม่มีทางเดินเท้า

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กฤษณา ชมภูหอม. (2546). พัฒนาการและรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนวัดราชาและชุมชนบ้านญวนสามเสนกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์การวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาการวางผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

กิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์. (2560). คริสตศาสนสถานริมฝั่งเจ้าพระยา: วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://themomentum.co/saint-francis-xavier-chaopraya-series/

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ และคณะ. (2559). บ้านญวนสามเสน บ้านเขมร และมิตรคาม ผลกระทบจากโครงการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://lek-prapai.org/

ปภัชกร ศรีบุญเรือง. (ม.ป.ป.). วัดคอนเซ็ปชัญ วัดคริสต์เก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://www.finearts.go.th/

พณิช ตั้งวิชิตฤกษ์. (2565). เยือนย่านสามเสน บ้านเขมร บ้านญวน ชุมชนชาวคริสต์ในกรุงเทพฯ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://urbancreature.co/

โรม บุนนาค. (2560). เหตุที่มี “บ้านเขมร” และ “บ้านญวน” อยู่ที่ทุ่งสามเสน ก่อนจะถูกบุกเบิกเป็นย่านสร้างวังจนเต็มทุ่ง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://mgronline.com/

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. (2554). บางกอกบอกเล่า (เรื่อง). นนทบุรี: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

สุดารัตน์ แสงจำนงค์ และคณะ. (2551). ความต้องการขอคนในชุมชนบ้านญวนสามเสนคือการจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่. (รายงานวิจัย). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

Panee. (2562). เยี่ยมบ้านญวน เยือนบ้านเขมร ลัดเลาะไหว้พระริมเจ้าพระยา ชุมชน 3 ศาสนา 4 ชาติพันธุ์บนถนนสามเสน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://www.sdthailand.com/

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ และ ภูวนาท เช้าวรรณโณ. (2559). “มิตรคาม” ย่านวัดเขมรและวัดญวนสามเสนชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ต้องถูกไล่รื้อ. จาก https://lek-prapai.org/

สำนักงานเขตดุสิต โทร. 0-2243-5311-5