Advance search

บ้านส่างแก้ว

ชาวบรูบ้านหินแตกมีจุดเด่นเรื่องพืชพันธุ์ที่ตนสามารถหาได้จากป่า เช่น หน่อไม้ไร่ เห็ด และอื่น ๆ ออกมาวางขายหน้าบ้านในช่วงเวลาเช้าตรู่ 

หมู่ที่ 8
บ้านหินแตก
ไร่
พรรณานิคม
สกลนคร
อุฤษดิ์ ม่วงมณี
4 ก.ย. 2024
อุฤษดิ์ ม่วงมณี
10 พ.ย. 2023
พมิรา รักษ์อรศิลป์
17 ก.ย. 2024
บ้านหินแตก
บ้านส่างแก้ว

เดิมบ้านหินแตกชื่อ "บ้านส่างแก้ว" โดยชาวบ้านคาดการณ์ว่าหมายถึงน้ำที่ไหลซึมออกมาจากตาน้ำขนาดเล็กหลาย ๆ ตา ใสสะอาดดุจแก้วสีขาวซึ่งถือว่าเป็นมงคล และบรรพบุรุษเดิมที่เคยอาศัยอยู่ที่บ้านส่างแก้วได้ย้ายไปบ้านโคกและบ้านนาเชือก และถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา

สาเหตุที่เปลี่ยนชื่อจาก "บ้านส่างแก้ว" มาเป็น "บ้านหินแตก" เนื่องจากตั้งชื่อตามห้วยใกล้หมู่บ้าน คือ "ห้วยหินแตก" สืบทราบพบว่ามีหินที่วังน้ำห้วยหินแตกเป็นหินก้อนใหญ่แต่มีรอยแตกตรงกลาง เมื่อมีคนมาพบจึงได้ตั้งชื่อห้วยนี้ว่า "ห้วยหินแตก" และเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านให้สอดคล้องในเวลาต่อมา 


ชาวบรูบ้านหินแตกมีจุดเด่นเรื่องพืชพันธุ์ที่ตนสามารถหาได้จากป่า เช่น หน่อไม้ไร่ เห็ด และอื่น ๆ ออกมาวางขายหน้าบ้านในช่วงเวลาเช้าตรู่ 

บ้านหินแตก
หมู่ที่ 8
ไร่
พรรณานิคม
สกลนคร
47130
17.278260122032613
103.84081536855054
เทศบาลตำบลไร่

จากการสอบถามราษฎรบ้านหินแตก "นายกาไทย แก้วไชยา" อายุ 52 ปี พบว่าเดิมชาวบ้านบ้านหินแตกอพยพมาจากเมืองบกและเมืองวัง พร้อมกับชาวไทเมืองพรรณาราว 135 ปีก่อน และตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านหินแตกบริเวณต้นมะขามใหญ่ในปัจจุบัน เมื่อบ้านหินแตกเริ่มมีคนอาศัยอยู่เพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านบางส่วนจึงย้ายออกมาตั้งครัวเรือนที่บ้านหินแตกน้อย บ้านหนองไฮ และบ้านนาเลา  

เดิมบ้านหินแตกชื่อ "บ้านสางแก้ว" โดยชาวบ้านคาดการณ์ว่าหมายถึงน้ำที่ไหลซึมออกมาจากตาน้ำขนาดเล็กหลาย ๆ ตา ใสสะอาดดุจแก้วสีขาวซึ่งถือว่าเป็นมงคล และบรรพบุรุษเดิมที่เคยอาศัยอยู่ที่บ้านส่างแก้วได้ย้ายไปบ้านโคกและบ้านนาเชือก และถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา  

ต่อมาราษฎรได้ขยายหมู่บ้านออกมาอยู่ริมทาง เนื่องจากพื้นที่เดิมในบ้านหินแตกคับแคบ ผู้ที่ย้ายออกมาคนแรก คือ "นายกาไทย แก้วไชยา" ย้ายออกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2487 และต่อมา "นายบุญธง แก้วไชยา" ผู้เป็นน้องชายก็ย้ายออกมาอยู่ด้วยกัน ขณะนั้นมีอยู่สองครอบครัว และเรียกชื่อบ้านนี้ว่า "บ้านหินแตกน้อย" ซึ่งยังขึ้นตรงกับบ้านหินแตกใหญ่ ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ปัจจุบันบ้านหินแตกมีอายุประมาณ 135 ปี 

ลักษณะของหมู่บ้านหินแตกรายล้อมไปด้วยป่าไม้เบญจพรรณเพราะอยู่ติดกับเทือกเขาภูพาน รวมทั้งมีแหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญ ได้แก่ ห้วยหินแตกและห้วยนาแก ชาวบรูบ้านหินแตกมีวิถีการดำรงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร จึงตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบเชิงเขาภูพาน ซึ่งเป็นพื้นที่เนินเขาและดอนเพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อจัดประเพณีและเทศกาลต่าง ๆ ประมาณ 1 ไร่ และยังมีอ่างเก็บน้ำห้วยหินแตกดามพระราชดำริเป็นสถานที่สำคัญใกล้หมู่บ้านอีกด้วย

อาณาเขตบ้านหินแตก 

ทิศเหนือ ติดกับ บ้านโคกสะอาด หมู่ที่ 12 ตำบลไร่ 

ทิศใตติดกับ เขตอุทยานแห่งชาติภูพาน 

ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านโนนอุดม ตำบลไร่ 

ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านโนนอุดม ตำบลไร่ 

นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนบ้านหินแตก สังกัด สพป. สกลนคร เขต 2 ตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณะประโยชน์ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2500 มีจำนวนห้องเรียน 9 ห้องเรียน และเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลที่ 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 

ปัจจุบัน บ้านหินแตกมีประชากรทั้งสิ้น 190 คน และมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 30 หลังคาเรือน มีตระกูลดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ได้แก่ ตระกูลแก้วไชยา ตระกูลวาริคิด ตระกูลฮุงหวน (บ้านบะแสบง อำเภอพังโคน) และตระกูลกิ่งภูเขา  

บรู, ผู้ไท, โส้

1. การปกครอง

โครงสร้างทางการปกครองของชุมชน ประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

  1. นายโปร่ง (ไม่ทราบนามสกุล)
  2. นายทน (ไม่ทราบนามสกุล)
  3. นายเรือง (ไม่ทราบนามสกุล)
  4. นายผอย (ไม่ทราบนามสกุล)
  5. นายทิษฐ์ (ไม่ทราบนามสกุล)
  6. นายลา (ไม่ทราบนามสกุล)
  7. นายประดิษฐ์ โคตรดี
  8. นายใส (ไม่ทราบนามสกุล)
  9. นายเกด (ไม่ทราบนามสกุล)
  10. นายทะ แก้วไชยา
  11. นายเฉลิม แก้วไชยา
  12. นายวิไล เรืองสวัสดิ์

2. การดำรงชีพ

ชาวบรูบ้านหินแตกดำรงชีพด้วยการทำไร่ ทำนา ปลูกข้าว หรือไร่หมุนเวียน ควบคู่กับการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์ และเก็บของป่า อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญด้านหัตถกรรมและจักสาน หลังจากชาวบรูอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ก็มีการปรับตัวด้านอาชีพให้สอดคล้องกับระบบนิเวศด้วยการทำประมงหาปลาในหนองน้ำของหมู่บ้านและเขื่อนน้ำอูน และนำผลผลิตจากป่าไปแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านใกล้เคียง 

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวบรูบ้านหินแตกนับถือพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการนับถือผี มีการยึดถือระบบเครือญาติ มีโครงสร้างสังคมวัฒนธรรม และระบบความเชื่อที่ส่งผลต่อการจัดองค์กรการปกครองทางสังคมตั้งแต่ตระกูลและชุมชน ชาวบรูมักอยู่อาศัยร่วมกันภายใต้กฎจารีต (ฮีตคอง) ส่งผลให้ผู้หญิงถูกห้ามออกไปค้างแรมนอกหมู่บ้าน บุตรเขยจะต้องขึ้นลงบันไดคนละทางกับพ่อเฒ่าแม่เฒ่า และคนนอกที่ไม่ใช่สมาชิกตระกูลจะถูกควบคุมในการเข้ามาปฏิสัมพันธ์หรือขึ้นเรือน เพราะอาจทำให้ผิดรีตหรือผิดผีตระกูลปัจจุบัน 

ชาวบรูบ้านหินแตก ยังเชื่อว่าเมื่อจะเกิดเหตุร้ายจนนำไปสู่การตายของคนในครัวเรือนหรือหมู่บ้าน จะมีสัญลักษณ์ต่าง ๆ ปรากฏขึ้น เช่น มีงูใหญ่เข้ามาในหมู่บ้าน นอกจากนี้ การนำมหรสพเข้ามาละเล่นหรือการสร้างวัดในหมู่บ้าน ผีจะแสดงเหตุร้ายให้รู้ว่าผิดฮีต ทำให้ชาวบรูต้องเซ่นไหว้เพื่อบอกกล่าวก่อนกระทำการเสมอ หมู่บ้านจะมี "เจ้าจ้ำ" คอยทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม "กุล่ะรีต/กุล่ะกว่าง" ดูแลสมาชิกของหมู่บ้านและว่ากล่าวตักเตือน ตลอดจนตัดสินแก้ไขปัญหาของหมู่บ้าน เจ้าจ้ำเป็นตำแหน่งที่สืบทอดกันมาตามเครือญาติสายตระกูลเดียวเท่านั้น หรืออาจได้รับการคัดเลือกจากเจ้าจ้ำคนเดิมเพื่อเลือกคนใหม่มาแทน 

เมื่อต้องหาของป่าตามภูตามดอยต่าง ๆ ในแถบเทือกเขาภูพาน ชาวบรูบ้านหินแตก จะให้ความสำคัญกับความหมายของพื้นที่ ซึ่งสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องผีที่สถิตอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ชาวบรูจะปฏิบัติตามฮีตคองและถือว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ไม่ตัดไม้ใกล้ภภูมากนักหรือขออนุญาตผีก่อนขึ้นภูหรือเข้าใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า 

ความเชื่อเหล่านี้ส่งผลต่อการทำมาหากิน จะมีการเลี้ยงผีก่อนเตรียมถางแปลงที่ดินทำกิน ก่อนการเพาะปลูก และก่อนการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยวผลิต หากไม่เลี้ยงผีจะถือว่าผิดฮีต ทำให้เกิดการเจ็บป่วย เกิดอาเพศเหตุร้ายต่อตนเองและครอบครัว ในแง่นี้ ผีจึงเปรียบเสมือนผู้กำกับการทำมาหากิน เป็นกฎระเบียบทางสังคมตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงชุมชน ทำให้ชาวบรูบ้านหินแตกมีความสัมพันธ์กับผืนป่าธรรมชาติมายาวนาน 

พิธีกรรม

ชาวบรูบ้านหินแตก มีการประกอบพิธีกรรมศพที่เรียกว่า "ชรองอะราวย" เป็นการสวดศพโดยลูกเขยญาติฝ่ายผู้ตาย เรียกว่า "บรูอะติอะโละ" และไม่นิมนต์พระสงฆ์มาสวดศพ ณ บ้านของผู้ตาย ปัจจุบันพิธีดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปเป็นพิธี "กะโต๊ะปรีน”หรือ "คว่ำถาดข้าว” เนื่องจากขาดผู้สืบทอด

การละเล่น 

หลังการเก็บเกี่ยวข้าว ลูกหลานชาวบรูบ้านหินแตก จะพากันละเล่นลูกข่างไม้พยูง โหวดขว้าง หมากกิ้งล้อ เป่าแคน และดีดพิณ 

วรรณกรรมท้องถิ่น

ชาวบรูบ้านหินแตก มีการเล่านิทานจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน โดยลูกหลานจะมานั่งรวมกันฟังนิทานข้างกองไฟ เรื่องราวที่เล่ามักเป็นเรื่องนางสิบสอง เรื่องสองพี่น้อง ฯลฯ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

อาหาร 

ชาวบรูบ้านหินแตกนิยมรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ได้แก่ ลาบวัว-ควาย แกงไก่ และเนื้อสัตว์ป่า นอกจากนี้ ยังมีอาหารที่หาได้จากป่าเขา ไร่ สวน ทุ่งนา และหนองน้ำ เช่น แมลงดานา หน่อไม้ ผักตาเปียก ผักม้วน ฯลฯ 

ยารักษาโรค

ชาวบรูบ้านหินแตกมีความรู้ความสามารถด้านสมุนไพรในครัวเรือนเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีคนในครอบครัวเจ็บไข้ได้ป่วย จะทำการรักษาด้วยสมุนไพรที่มีอยู่ในบ้านของตน หากไม่มีสมุนไพร ก็จะเดินทางเข้าป่าเพื่อเก็บสมุนไพร เพื่อนำมาป้องกันและรักษาโรคเบื้องต้น โรคบางประเภทสามารถพึ่งพาหมอยาพื้นบ้านในหมู่บ้านได้ เช่น การประคบนวดตามเส้นเอ็นของร่างกายด้วยเถาเอ็นอ่อน การแก้ผดผื่นคันหรือประทินผิวด้วยขมิ้น และการรักษาบรรเทาโรคกระเพาะด้วยเปล้า

เสื้อผ้าและการแต่งกาย

ชาวบรูบ้านหินแตกมีวัฒนธรรมการแต่งกายคล้ายคลึงกับชาวอีสานทั่วไป ไม่มีลักษณะโดดเด่น ส่วนมากจะเลือกซื้อเสื้อผ้าจากตลาดมาจำหน่ายภายในหมู่บ้านหรือภายในตัวอำเภอ แต่เดิมชาวบรูมีการทอผ้าใช้เองในครัวเรือน ปัจจุบันยังพบการทอผ้าอยู่บ้างเพียง 2-3 ตัวต่อครัวเรือน และยังไม่พบว่ามีการแต่งกายเป็นลักษณะเฉพาะของชาติพันธุ์ตนเอง เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ชายบรูบ้านหินแตกยังคงนุ่งผ้าเตี่ยวอยู่บ้างในกลุ่มผู้สูงอายุหรือวัยกลางคนที่แต่งงานแล้ว เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่ได้เดินทางออกนอกหมู่บ้านมากนัก ทำให้สะดวกที่จะนุ่งเตี่ยวผ้าขาวม้าเพื่อทำงานในครัวเรือนของตนเอง 

ในระยะเวลาต่อมา จังหวัดสกลนครออกประกาศเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปสวมใส่ผ้าทอมือและย้อมสีธรรมชาติจากต้นคราม เรียกว่า "ผ้าย้อมคราม" เป็นลวดลายการมัดย้อมหมี่เฉพาะ เรียกว่า "ลายสะเก็ดธรรม" เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน พร้อมทั้งรณรงค์ให้สถานศึกษาต่าง ๆ สวมใส่ชุดพื้นเมืองย้อมครามโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งอยู่ในรูปแบบของ "ชุดชนเผ่าผู้ไทสกลนคร" ส่งผลให้การแต่งกายของบรูลดน้อยลง ชนเผ่าบรูจึงไม่มีลักษณะการแต่งกายเฉพาะของตนและขาดพื้นที่แสดงอัลักษณ์ตัวตนให้คนอื่นพบเห็น    

กลุ่มชาติพันธุ์บรูพูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก หมวดมอญ-เขมร สาขากะตูอิค ปัจจุบันพบกระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดสกลนคร 

ชาวบรูบ้านหินแตกใช้ภาษาบรู ภาษาผู้ไท ภาษาอีสาน และภาษาไทยในการสื่อสารภายในกลุ่มและกับบุคคลภายนอก ชาวบรูใช้ภาษาไทยเป็นตัวเขียนเนื่องจากภาษาบรูไม่มีตัวอักษร มีแต่สำเนียงการพูดเท่านั้น รวมถึงสถานการณ์การใช้ภาษาบรูของคนในชุมชนอยู่ในขั้นวิกฤตและใกล้สูญหาย 


ชาวบรูยังอยู่ภายใต้ภูมิภาคอีสานตามการจัดจำแนกการปกครอง ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์บรูกลายเป็นคนกลุ่มน้อยที่อยู่ร่วมกับคนไทอีสาน ที่ถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของภูมิภาคนี้ ส่งผลให้คนบรูต้องปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรมของคนไทอีสานพร้อมไปกับอำนาจรัฐที่ครอบงำทางวัฒนธรรม การปฏิสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่น เช่น คนผู้ไทหรือคนไทอีสานที่มีวัฒนธรรมของตน ได้แทรกซึมเข้ามาในวิถีชีวิตของชาวบรู ทำให้ต้องปรับตัวให้วัฒนธรมรของคนลื่นไหลได้อยู่เสมอ


ชาวบรูบ้านหินแตก มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเพื่อกำจัดยุงลาย 


บ้านหินแตก มีโรงเรียนประถมศึกษา 1 โรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านหินแตก เปิดทำการสอนตั้งระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และเด็กสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ในโรงเรียนประจำตำบลที่อยู่ใกล้บ้าน 

ภาษา วัฒนธรรม และการประกอบสร้างอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของชาวบรูมีการสืบทอดผ่านการศึกษาในโรงเรียนโดยคุณครู ซึ่งดำเนินการโดยการศึกษาข้อมูล สร้างความสนิทสนมกับชาวบ้าน และร่วมกันอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมบรู ทำให้เกิดการฟื้นฟูภาษาบรูผ่านการแสดงนาฏศิลป์ ปัจจุบันนักเรียนบรูหลายคนได้ฝึกฝนการแสดงบรู รำบรู และบทเพลงบรู ที่ประพันธ์ขึ้นมาเฉพาะเพื่อใช้ในงานมหรสพใหญ่สำหรับฟื้นฟูพิธีระเปิ๊ปของชาวบรู จังหวัดสกลนคร


ในอดีต สังคมจารีตของชาวบรูยึดถือ "รี๊ต" แบบเดียวกับ "ฮีตคอง" หรือจารีตประเพณีของชาวอีสาน ชาวบรูยังมีความเชื่อเรื่องผีในระดับต่าง ๆ ซึ่งทำหน้าที่กำกับพฤติกรรมและความสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคมบรู ตั้งแต่ระดับครัวเรือน หมู่บ้าน และกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อแบ่งแยกตนเองออกจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ดังนั้น กลุ่มชาติพันธุ์บรูจึงเลือกใช้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหลายแบบในการรับมือกับวัฒนธรรมกระแสหลัก เทคโนโลยี และโลกาภิวัตน์ที่แพร่เข้ามา  

นอกจากนี้ ชาวบรูบ้านหินแตกยังนับถือพุทธศาสนาควบคู่ไปกับความเชื่อเรื่องผี การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบัน ทำให้ชาวบรูซึมซับเอาพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทอีสานเข้ามามากขึ้น ประกอบกับจารีตดั้งเดิมไม่เอื้ออำนวยการดำเนินชีวิตสมัยใหม่ ชาวบรูจึงมีการปรับเปลี่ยนจารีตดั้งเดิมให้ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวอีสาน ทำให้อัตลักษณ์ดั้งเดิมลดน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยวัฒนธรรมจากการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น ผู้ไท กะเลิง และไทอีสาน การนับถือศาสนาที่แตกต่างกันในหมู่บ้าน ยังส่งผลต่อความเชื่อที่ขัดแย้งกันจนนำไปสู่การแยกที่อยู่อาศัยระหว่างคนที่รับเอาศาสนาใหม่เข้ามากับคนที่นับถือศาสนาดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ชาวบรูแสดงให้เห็นถึงความลื่นไหลทางอัตลักษณ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนตัวตนได้ตามแบบผู้ไท ไทย ไทอีสาน หรือบรู 

 

เมื่อชาวบรูอพยพเขามาฝั่งประเทศไทย ถือได้ว่าเขามาอยูภายใตนาจรัฐไทย วิถีชีวิตจึงถูกปรับเปลี่ยนและหลอมรวมไปสูความเป็นชาติไทย ทั้งภาษา ศาสนา ผ่านนโยบายชาติพันธุ์และนโยบายการจัดการและการควบคุมพื้นที่ชายแดนและอุทยานซึ่งเป็นภูและปาที่ชาวบรูอาศัยอยู่ ส่งผลให้ชาวบรูต้องปรับตัวด้านการดรงชีวิต การทกิน การอยู่อาศัย และอัตลักษณ์ให้ลื่นไหลอยู่เสมอ

เนื่องจากชาวเผ่าบรูบ้านหินแตกอาศัยอยู่บนที่ราบเชิงเขา จึงมีความอุดมสมบูรณ์ของเขตอุทยานแห่งชาติภูพานรายล้อม และมีทรัพยากรป่าไม้ใกล้หมู่บ้านเป็นป่าเบญจพรรณ ชาวบรูบ้านหินแตกบางส่วนใช้พื้นที่ของตนในการปลูกสวนยางพารา อย่างไรก็ตาม สิ่งแวดล้อมในชนเผ่าบรูบ้านหินแตกที่ปรากฏในหมู่บ้านเชิงเขาจะเป็นสวนยางพาราที่มีเจ้าของเป็นชาวผู้ไท ไทอีสาน หรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านหินแตก 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มหัศจรรย์สกลนคร. (2563, 17 มีนาคม). หมากกิ้งล้อ. https://www.facebook.com/photo

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2565). ป้ายโรงเรียนบ้านหินแตก. https://asset.bopp-obec.info/Home/

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์บรู ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

กาไท แก้วไชยา, สัมภาษณ์, 21 มกราคม 2521.

บุญธง แก้วไชยา, สัมภาษณ์, 29 มกราคม 2521.