อนุรักษ์วัฒนธรรม สูงล้ำเจ้าปู่ตา คงคุณค่าภาษาถิ่น ขจัดสิ้นยาเสพติด
เนื่องจากบ้านโคกเท่อเล่อตั้งอยู่บนพื้นที่สูง การเดินทางในอดีตจึงค่อนข้างลำบาก โดยใช้การเดินเท้าหรือการนั่งเกวียนเป็นหลัก รวมถึงเส้นทางของบ้านโคกเท่อเล่อนั้นอยู่ไกล ทำให้ชาวบ้านเดินทางถึงที่หมายในเวลามืดค่ำ จึงต่างพากันเรียกว่า "บ้านโคกเท่อเล่อ" แต่ภายหลังเห็นว่าชื่อไม่มีความไพเราะ จึงเปลี่ยนมาเป็น "บ้านโคกสะอาด"
อนุรักษ์วัฒนธรรม สูงล้ำเจ้าปู่ตา คงคุณค่าภาษาถิ่น ขจัดสิ้นยาเสพติด
พื้นที่บ้านโคกสะอาด หมู่ที่ 6 ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร เป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยโดยกลุ่มชาติพันธุ์บรู ที่อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง จากเมืองอัตปือและสะหวันนะเขต ประเทศลาว พร้อมกับกลุ่มผู้ไท อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ผ่านเส้นทางบ้านเม็กม่วงไข่ ปัจจุบันชาวบรูบางส่วนไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านหินแตก บางส่วนเดินทางผ่านเข้าเส้นทางบ้านตอเรือ ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม และมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านหนองไฮ ตำบลแร่ อำเภอพังโคลน จังหวัดสกลนคร
บ้านโคกสะอาดได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2507 ตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 แต่บ้านโคกสะอาดมีชาวบรูกลุ่มหนึ่งเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ พ.ศ. 2489 แล้ว โดยอพยพมาจากบ้านหนองไฮใหญ่ หมู่ที่ 3 และบ้านหนองไฮน้อย หมู่ที่ 7 ตำบลแร่ เนื่องจากหมู่บ้านเดิมเป็นดินเค็มและมีพื้นที่ทางการเกษตรน้อย
บ้านโคกสะอาดเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ติดกับเขื่อนน้ำอูน มีพื้นที่และสภาพแวดล้อมชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีแหล่งท่องเที่ยว ขนาดพื้นที่ชุมชนมีทั้งสิ้น 1,050 ไร่ แบ่งออกเป็นที่นาจำนวน 400 ไร่ ที่สวนจำนวน 450 ไร่ ที่อยู่อาศัยจำนวน 100 ไร่ แหล่งน้ำและป่าช้าจำนวน 50 ไร่ นอกจากนี้ บ้านโคกสะอาดยังมีพื้นที่สาธารณะและสาธารณูปโภคชุมชนอีก 50 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านหนองไฮน้อย หมู่ที่ 7 ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร
- ทิศใต้ ติดกับ เขื่อนน้ำอูน อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านหนองแคน หมู่ที่ 8 ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านหนองบัว หมู่ 4ที่ ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร
การคมนาคมภายในบ้านโคกสะอาดมีความสะดวกสบาย เนื่องจากมีถนนติดต่อกับอำเภอพังโคลนและสถานที่อื่น ๆ โดยสามารถเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว รถจักรยานยนต์ รับจ้าง รถสามล้อรับจ้างได้ นอกจากนี้ หมู่บ้านยังมีหอกระจายข่าว มีถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน และมีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน
สำหรับด้านสาธารณูปโภค หมู่บ้านมีบ่อบาดาล สระน้ำ บ่อน้ำตื้น บ่อตอก และระบบน้ำประปาประจำหมู่บ้าน รวมถึงมีสถานีอนามัย 1 แห่ง ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 แห่ง
สถานที่ที่มีความสำคัญทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนโคกสะอาด ประกอบไปด้วย วัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง วัดป่า 1 แห่ง ศาลาอเนกประสงค์หมู่บ้าน 1 หลัง โรงสีข้าวขนาดเล็ก 1 หลัง และมีร้านขายของชำ ร้านขายอาหาร และเครื่องดื่มด้วย
ชาวบรูบ้านโคกสะอาดรักความสันโดษ เรียบง่าย และพึ่งพาอาศัยอยู่กับธรรมชาติเป็นหลัก จึงปลูกสร้างที่อยู่อาศัยอยู่ตามที่เนินสูง และกระจายตัวทั่วไปในพื้นที่เนินเขาภูพาน และอาศัยอยู่ในพื้นที่ทำกินที่ตนเองจับจองไว้ ชาวบรูดำรงชีพด้วยการทำไร่ ทำนา ปลูกข้าว หรือทำไร่หมุนเวียน ควบคู่กับการปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ เก็บของป่า และล่าสัตว์
หลังจากอพยพเข้ามายังประเทศไทย ชาวบรูปรับตัวด้านการดำรงชีพให้สอดคล้องกับระบบนิเวศด้วยการหาปลาบริเวณเขื่อนน้ำอูน และนำผลผลิตที่ได้ไปขาย เช่น สัตว์ป่า หอย หน่อไม้ เห็ด ผักตาเปียก ผักหวาน ฯลฯ ผู้ชายบรูชอบลงน้ำหาปลา ส่วนผู้หญิงบรูจะอาศัยอยู่ภายในบ้านและดูแลครัวเรือนเป็นหลัก
ในอดีต ชาวบรูบ้านโคกสะอาดนับถือผีสางและวิญญาณ มีการบนบานศาลกล่าว ในปัจจุบันยังพบเห็นความเชื่อดังกล่าวอยู่บ้าง และมีการจัดประเพณีที่สอดคล้อง ได้แก่ บุญเดือนสาม บุญสงกรานต์ พิธีรดน้ำดำหัว บุญเข้าพรรษา บุญข้าวประดับดิน บุญข้าวสาก บุญออกพรรษา บุญกฐิน และงานประเพณีลอยกระทง
อาหาร
ชาวหรูบ้านโคกสะอาด รับประทานอาหารแบบง่าย ๆ และมีวิธีการเตรียมที่ไม่ยุ่งยากมากนัก ชาวบรูนิยมรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ได้แก่ ลาบวัว ควายปิ้ง/ย่าง แกงไก่ และสัตว์ป่า นอกจากนี้ มีอาหารที่หาได้จากป่าเขา ไร่ สวน ทุ่งนา และหนองน้ำ เช่น แมลงดานา หน่อไม้ ผักตาเปียก ผักม้วน ฯลฯ
การแต่งกาย
ชาวบรูบ้านโคกสะอาด นิยมสวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นลักษณะเหมือนชาวอีสานทั่วไป ส่วนมากจะซื้อจากตลาดในอำเภอหรือตลาดนัดประจำตำบลหรือหมู่บ้าน ไม่มีเสื้อผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เนื่องจากขาดการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้า
เนื่องจากชาวบรูบ้านโคกสะอาด มีทัศนคติว่าภาษาของตนมีสำเนียงและลีลาการพูดที่ไม่เหมือนกับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ทำให้ยากต่อการฟังให้เข้าใจ ในขณะเดียวกันก็ถูกกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมองว่าเป็นชาวข่าหรือโส้ ชาวบรูจึงปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตนให้สอดคล้องกับบริบทสังคมปัจจุบัน นอกจากนี้ ชาวบรูยังมีอัธยาศัยดี จึงเข้ากับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ภายนอกหมู่บ้านได้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางภาษา โดยเฉพาะเมื่อมีการแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้าน จึงทำให้ภาษาผสมกลมกลืนกันไป
ภาษาของชาวบรูอยู่ในขั้นวิกฤตที่จะสูญหายในปัจจุบันหากไม่ส่งเสริมรักษาไว้ ประกอบกับชาวบรูไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเองและใช้เพียงภาษาพูดเท่านั้น และแม้จะมีกลุ่มพัฒนาภาษาบรูในหมู่บ้าน แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ชาวบรูในปัจจุบันจึงหันมาใช้ภาษาไทอีสานเพิ่มมากขึ้น และเด็กรุ่นใหม่ไม่สามารถสื่อสารภาษาบรูได้แม้ว่าจะมีเชื้อสายมาจากครอบครัวบรูก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวเกิดจากการเข้าเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมในโรงเรียนไทยตั้งแต่เด็ก ครูพี่เลี้ยงไม่ได้ใช้ภาษาบรูในการสอน และการสื่อสารด้วยภาษาไทยกลางและไทอีสานในชีวิตประจำวัน
ชาวบรูบ้านโคกสะอาดมีจารีตประเพณีหลายอย่างที่อยู่ในภาวะใกล้จะสูญหาย โดยเฉพาะพิธีกรรมศพและภาษา เนื่องจากปัจจุบันชาวบรูปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนไปตามกระแสนิยมและมีการติดต่อกับกลุ่มอื่น ๆ ภายนอกชุมชนอยู่เสมอ
ปัจจุบันชาวบรูบ้านโคกสะอาด มีเขตพื้นที่ทำกินติดกับพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติภูพาน ดังนั้น เอกสารสิทธิ์การถือครองที่ดินจึงเป็น สปก. 4-01 อย่างไรก็ตาม การดำรงชีวิตของชาวบรูยังคงพึ่งพาธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มใกล้กับแหล่งน้ำและภูเขา ชาวบรูตั้งถิ่นฐานใกล้กับภูเขาเพื่อความสะดวกในการทำมาหากินกับป่าไม้และธรรมชาติ และเลือกตั้งถิ่นฐานใกล้เขื่อน้ำอูนเพื่อความสะดวกในการทำการเกษตรช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากสามารถผันน้ำจากคลองชลประทานเขื่อนน้ำอูนไปยังหมู่บ้านทำการเกษตรได้
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).