การอนุรักษ์และรักษาประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อของลาหู่แดง
การอนุรักษ์และรักษาประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อของลาหู่แดง
ในอดีต คนในชุมชนบ้านขุนห้วยไส้อาศัยอยู่ที่บ้านห้วยบอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แต่ภายหลังอพยพมาที่บ้านขุนห้วยไส้เนื่องจากพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอใน พ.ศ. 2525 อย่างไรก็ตาม พบว่ามีคนอาศัยในบ้านขุนห้วยไส้อยู่ก่อนแล้วในขณะนั้น แต่ไม่ทราบระยะเวลาว่าอาศัยอยู่มานานเท่าใด ภายหลังจึงเกิดการรวมตัวของผู้ที่อาศัยอยู่เดิมและผู้ที่อพยพเข้ามาใหม่ในการเลือกผู้นำหมู่บ้าน คือ "นายจะอึ จะคา" ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลลูกบ้าน พร้อมกับสร้างข้อตกลงและกฎระเบียบของหมู่บ้านเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการอาศัยอยู่ร่วมกัน ตลอดจนเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานภายนอก
ใน พ.ศ. 2535 นายจะอึได้มอบบทบาทหน้าที่ผู้นำหมู่บ้านให้แก่บุตรชาย "นายจะที จะคา" (ในเวลาต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการ) และมี "นายโหล ยะจู" เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน การที่หมู่บ้านติดต่อกับหน่วยงานภายนอกมากขึ้น ทำให้หมู่บ้านเป็นที่รู้จักและมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาหมู่บ้าน สำรวจข้อมูล หรือสร้างศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนเพื่อให้เด็กได้มีที่เรียนหนังสือ เช่น สมาคมอิมเปค สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเชียงดาว ฯลฯ
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านป่าบงงามลีซู
- ทิศใต้ ติดกับ หมู่บ้านหนองเต่า
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านป่าบงงามลาหู่
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านห้วยไส้คนเมือง
สภาพภูมิอากาศ
บ้านขุนห้วยไส้มีสภาพภูมิอากาศแบบ 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน (ปลายมีนาคม-กลางเมษายน) ฤดูหนาว (ธันวาคม-มกราคม) และฤดูฝน (พฤษภาคม-ตุลาคม)
การคมนาคมและพื้นที่
บ้านขุนห้วยไส้มีถนนที่สามารถเดินทางไปยังอำเภอเชียงดาวได้ในระยะทาง 39 กิโลเมตร ซึ่งมีถนนลูกรังเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร นอกจากนี้ ทางหมู่บ้านยังมีการจัดสรรการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าของชุมชน แบ่งออกเป็นที่อยู่อาศัยจำนวน 50 ไร่ ที่ทำกินจำนวน 1,500 ไร่ ป่าใช้สอย/ป่าชุมชนจำนวน 900 ไร่ ป่าอนุรักษ์จำนวน 4,500 ไร่ ป่าพิธีกรรมจำนวน 50 ไร่ และอื่น ๆ เช่น ป่าต้นน้ำ จำนวน 2,000 ไร่
บ้านขุนห้วยไส้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่แดง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 250 คน แบ่งออกเป็นผู้ชายจำนวน 112 คน และผู้หญิงจำนวน 138 คน และมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 56 หลังคาเรือน
ลาหู่วัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้านบ้านขุนห้วยไส้ยึดถือและปฏิบัติสืบถอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถจัดลำดับได้ตามปฏิทินในรอบปี ประกอบด้วยวันสำคัญทางประเพณี 3 วัน ได้แก่ พิธีก่อทราย พิธีเข้าศีลโหล และพิธีศีลโหลจ่านูสี่ตาเว และมีเทศกาลพิเศษอีกหนึ่งครั้ง คือ พิธีกินวอ ดังนี้
1. พิธีก่อทราย (ทรายก่อเว)
เป็นพิธีที่จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 ด้วยการเก็บทรายจากแม่น้ำและขนเข้าไปในวัดเพื่อทำพิธี โดยมี "โตโบ" (ปู่จองโหล) เป็นผู้นำพิธี หลังจากนั้นให้หัวหน้าครอบครัวนำเมล็ดพันธุ์พืชต่าง ๆ ที่จะปลูก (เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่ว งา ฯลฯ) เข้าไปทำพิธีด้วยเพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ จงดลบันดาลให้พืชพันธุ์ทั้งหลายงอกงามและได้ผลผลิตตามต้องการ ส่วนทรายจะถือเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งไม่ดีและบาปต่าง ๆ ที่เจ้าตัวทำโดยไม่ได้เจตนา เพราะปริมาณของทรายนั้นนับไม่ถ้วน จึงแทนการขอขมากับสิ่งที่ทำผิดไปทั้งหมด
ในวันต่อ ๆ มา ชาวบ้านจะออกหาอาหารในป่าและจับปลา เพื่อเตรียมพิธีเลี้ยงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าป่า เจ้าเขา และเจ้าที่ต่าง ๆ ตลอดจนเริ่มก่อสร้างศาลา โดยผู้ชายทุกครอบครัวจะต้องรวบรวมใบคาก๊อ ใบคา หรือสังกะสีมาครัวเรือนละ 1 ตับ/แผ่น และแบ่งหน้าที่เพื่อเตรียมอุปกรณ์ในการสร้างศาลาให้แล้วเสร็จก่อนเที่ยงของวันที่ 3 ของพิธีกรรม ส่วนแม่บ้านจะมีหน้าที่เตรียมอาหาร หุงข้าว ทำข้าวเบอะไก่ หมู และปลา เพื่อไปร่วมทำพิธี หลังจากนั้น ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะพากันแต่งตัวใส่ชุดชาติพันธุ์และมารวมตัวกันทำพิธีที่ศาลาโตโบ
เมื่อเสร็จสิ้นพิธี ชาวบ้านจะแลกเปลี่ยนอาหารที่เตรียมมาซึ่งกันและกันและร่วมรับประทานอาหารด้วยกันจนอิ่ม รวมทั้งขอพรจากผู้อาวุโสโดยการผูกข้อมือ ผู้ชายลาหู่ที่เป็นพรานป่าจะขอพรจากเจ้าป่าเจ้าเขา โดยทำศีรษะของสัตว์เป็นเป้าหุ่นจำลอง เช่น หมู เก้ง กวาง วัว กระทิง ฯลฯ และใช้อาวุธหน้าไม้ ปืนแก๊ส หรือปืนลูกซอง ยิงเป้าหัวจำลองของสัตว์ต่าง ๆ จนพอใจ ถือเป็นการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ล่าสัตว์ป่าได้ตามจำนวนที่ต้องการ
2. พิธีเข้าศีลโหล (สม่าตาเว-เข้าพรรษา)
"เข้าศีลโหล" หมายถึง เข้าพรรษา เป็นพิธีที่ปฏิบัติในวันเพ็ญเดือน 15 ค่ำของทุกปี ทุกครัวเรือนที่ทำสวนทำไร่จะนำข้าวโพดฝักอ่อนและยอดฟักทองที่ปลูกไว้ไปถวายบ้านปู่จอง (วัด) และนำไปแลกเปลี่ยนกับครัวเรือนอื่น ๆ ซึ่งเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพียงวันเดียวเท่านั้น
3. พิธีศีลโหลจ่านูสี่ตาเว (ออกพรรษา)
การทำพิธีคล้ายคลึงกับพิธีเข้าศีลโหล จะประกอบพิธีในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี แต่ยึดถือพืชหลักคือรวงข้าว (จ่านูสี่) ซึ่งข้าวจะเป็นพืชที่ให้ผลผลิตช้าที่สุดในรอบปี ข้าวที่ได้จะนำมาประกอบพิธีร่วมกับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น มันเทศ มันสำปะหลัง ถั่ว และแตง ซึ่งให้ผลผลิตในช่วงเดียวกันนั้น แล้วจึงนำไปถวายที่บ้านปุ๋จองโหล (วัด) ก่อนจะนำไปแลกเปลี่ยนกันทุกครัวเรือน
4. พิธีกินวอ-ต้อนรับปีใหม่ (ขอะจาเว)
เป็นพิธีที่จัดขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี ขึ้นอยู่กับความพร้อมของหมู่บ้าน หากชาวบ้านทุกคนเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเสร็จแล้วและสามารถหารือฤกษ์ดีร่วมกันได้ พิธีกินวอก็จะสามารถจัดขึ้นได้เร็ว หลังจากหากำหนดการได้แล้วนั้น ทุกบ้านจะจัดเตรียมวัสดุต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญตามความเชื่อในการทำพิธี รวมถึงเครื่องอุปโภคบริโภคด้วย
การทำพิธีกินวอ จะมีขึ้นภายใน 7 วัน แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก (3 วัน) ถือเป็นการกินวอของผู้หญิง (ขวะโหล – วอใหญ่) และช่วงที่สอง (3 วันหลัง) ถือเป็นวอของผู้ชาย (ขวะหน่อย – วอน้อย) ทุกครัวเรือนต้องจัดเตรียมของใช้ เช่น หม้อหุง อุปกรณ์ประกอบอาหาร ฯลฯ และซ่อมแซมบ้านให้อยู่ในสภาพดีตามกำลังและฐานะของแต่ละครอบครัว นอกจากนี้ ต้องจัดหาเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มที่เป็นของใหม่มาคนละ 1 ชุด และต้องจัดเตรียมข้าวสาร (ข้าวจ้าวและข้าวเหนียว) รวมถึงเชื้อเพลิง (ฟืน) ที่ใช้หุงต้มให้เพียงพอต่อการกินวอทั้ง 7 วัน
ขั้นตอนการทำพิธี มีดังนี้
4.1 ก่อนทำพิธี 1 วัน - ทุกบ้านต้องเตรียมที่บูชาเข่งข้าวปุ๊ก (อ่อฟูถี่) สำหรับวางข้าวปุ๊ก (ออฟู) และนำข้าวปุ๊กวางบนเข่งข้าวปุ๊ก
4.2 วันที่ 2 ของการทำพิธี - ทุกบ้านต้องฆ่าและชำแหละหมูในตอนเช้า ขนาดของหมูขึ้นอยู่กับฐานะของแต่ละครัวเรือนหรือสามารถขอแบ่งซื้อจากเพื่อนบ้านได้ หนังและไขมันของหมูต้องนำมาห้อยที่บูชาเข่งข้าวปุ๊กและกินเลี้ยงกันตอนเย็น การกินเลี้ยงจะเริ่มต้นด้วยการเต้นจะคึกเพื่อเปิดงาน ประกอบด้วย การปักรำพิธี (ขอะเจ่ตีเว) ตั้งไว้ตรงกลางลานเต้น มีเสาไม้ไผ่ 4 ต้น ต้นสน 4 ต้นฝังเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตกแต่งด้วยกระดาษปอสาสีต่าง ๆ และทำเป็นหิ้งสำหรับวางของบูชาที่พื้นตรงกลางระหว่างเสา พอให้สามารถวางภาชนะสำหรับเทน้ำได้
หลังจากทำขอะเจ่เรียบร้อยแล้ว ทุกครัวเรือนต้องเตรียมสิ่งของมาสักการบูชา ได้แก่ ข้าวปุ๊ก หัวหมู ข้าวสารครัวเรือนละ 1 กำ เทียนขี้ผึ้ง และน้ำ จะมีปู่จอเป็นผู้ทำพิธีบวงสรวง ตีกลอง เป่าแคน (หน่อมึกเว) รอบขอะเจ่ เมื่อเสร็จพิธีบวงสรวงแล้วก็จะเริ่มสนุกสนานกันได้ ครัวเรือนใดที่มีความพร้อมจะนำหัวหมูมาบูชาห้อยที่เข่งลานเต้นจะคึกอย่างน้อย 4 หัว และทุกคืนหลังเที่ยงคืนสามารถนำไปบูชาทำอาหารเลี้ยงผู้เต้นจะคึกได้
4.3 วันที่ 3 ของการทำพิธี - การกินเลี้ยงในตอนกลางคืน
4.4 วันที่ 4 ของการทำพิธี - จะหยุดเต้นจะคึกในตอนกลางคืน 1 วัน เพื่อพักฟื้นร่างกายและเตรียมเข้าขอะหน่อยหรือวอผู้ชาย
4.5 วันที่ 5 ของการทำพิธี - เป็นขอะหน่อย (วอน้อย) หรือการกินวอของผู้ชาย เป็นระยะเวลา 3 วัน ระหว่างเทศกาลกินวอจะไม่มีครัวเรือนใดทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกจากมาสนุกสนานร่วมกัน
ผู้นำทางการ
1.นายสมจิตร จันตา ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านบ้านขุนห้วยไส้ และมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ดูแลชุมชน คือ นายจะที จะคา
ผู้นำทางธรรมชาติและศาสนา
1.นายอะไข่ ขะจู่ ดำรงตำแหน่งผู้นำทางศาสนาและผู้นำในการประกอบพิธีกรรมใน “หอแหย่”
2.นายจะอึ จะคา ดำรงตำแหน่งผู้นำด้านตีมีด (ช่างตีเหล็ก)
3.นายไอ้หลาง พันธุ์แสนกอ ดำรงตำแหน่งผู้นำในการประกอบพิธีกรรมด้านหมอผี
ชาวบ้านบ้านขุนห้วยไส้ใช้ภาษาลาหู่แดงเป็นหลักในการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคนที่สามารถอ่านหรือเขียนภาษาลาหู่ได้
ชาวบ้านบ้านขุนห้วยไส้ส่วนหนึ่งยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ทำให้ขาดสถานะบุคคลและสิทธิในที่ดินทำกิน
ชาวลาหู่แดง บ้านขุนห้วยไส้ ไม่ได้มีที่ดินทำกินมากนัก ส่วนใหญ่มักใช้จอบและเสียมเป็นเครื่องทุ่นแรงแทนเครื่องจักรต่าง ๆ ในการทำไร่ ทั้งนี้ ชาวลาหู่แดงมีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่สื่อถึงการรักษาธรรมชาติ ได้แก่ พิธีกรรม "มอเหล่เว" ที่หลอมรวมจิตใจของคนทั้งในและนอกชุมชนเข้าด้วยกัน ผ่านการสื่อให้เห็นว่าชาวลาหู่ดูแลป่า เคารพเจ้าป่าเจ้าเขา และเป็นการกำหนดขอบเขตของพื้นที่ว่าบริเวณใดจะสามารถใช้ประโยชน์ได้หรือบริเวณใดห้ามใช้ประโยชน์ เพื่อรักษาไว้เป็นพื้นที่ทางพิธีกรรม ซึ่งข้อห้ามนี้ก็ปฏิบัติต่อคนนอกด้วยเช่นกัน ชาวลาหู่แดงตระหนักว่าการที่พวกเขาสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับป่าได้ เป็นเพราะมีเจ้าป่าเจ้าเขาคอยปกปักษ์รักษาอยู่ ดังนั้น ชาวบ้านจึงได้รับการปลูกฝังทัศนคติว่าต้องไม่ทำลายธรรมชาติ
พิธีกรรมมอเหล่เวได้รับการปฏิบัติและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยเชื่อว่าบุคคลใดที่ไม่แข็งแรงหรือเจ็บไข้ได้ป่วย จะทำการเก็บก้อนหินและปั้นดิน และนำไปให้ผู้ทำพิธีกรรมเพื่อขอพรจากเทพเจ้าอื่อซา เพื่อให้ตนมีสุขภาพแข็งแรงและทำงานได้ หรือหากบุคคลใดต้องการให้มีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ก็สามารถนำผลผลิตทางการเกษตรทั้งพืชและสัตว์มาถวายในพื้นที่พิธีกรรม ที่มีอาณาบริเวณประมาณ 50 ไร่ได้
อย่างไรก็ตาม ชาวลาหู่แดงไม่ได้รักษาผืนป่าเฉพาะบริเวณที่ทำพิธีกรรมมอเหล่เวเท่านั้น แต่รวมถึงพื้นที่ป่ารอบ ๆ ที่ไม่ใช่พื้นที่ทำกินด้วย เพราะชาวบ้านเชื่อว่าพวกเขาใช้ประโยชน์จากป่าไม้และต้นน้ำในการใช้ฟืนและการสร้างบ้าน ดังนั้น จึงต้องช่วยกันรักษาสิ่งเหล่านี้เอาไว้
กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ. (ม.ป.ป.). รูปภาพอาคารใน ศศช. https://www.ศศช.com
ค่ายอาสา วิถีคนกล้า. (2560, 30 มกราคม). สำรวจค่ายปี 5 ศูนย์เด็กเล็กบ้านขุนห้วยไส้. https://www.facebook.com/media/
เบสออนทัวร์. (2559, 1 กันยายน). บ้านขุนห้วยไส้ พิธีกรรม "มอเหล่เว" ชนเผ่าลาหู่. http://www.youtube.com/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).