การรักษาประเพณีและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ในชุมชน
ไม่ทราบที่มาแน่ชัด
การรักษาประเพณีและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ในชุมชน
หมู่บ้านไม้ซางหนาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2525 โดยเริ่มต้นจากการที่ "นายจ่าพู่ กำเนิดกรุณา" ย้ายบ้านเรือนมาจากบ้านไม้กาย และเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณบ้านไม้ซางหนามเป็นระยะเวลา 24 ปี ต่อมา "นายอินสม คองแดง" ซึ่งเป็นชาวไทใหญ่ได้พาญาติพี่น้องมาสมทบทำให้มีจำนวนหลังคาเรือนประมาณ 8 หลังคาเรือนในขณะนั้น หลังจากนั้น พี่น้องลาหู่แดง บ้านปางบอน บ้านปางตอง และบ้านผาแดงได้เข้ามาตั้งบ้านเรือน ทำให้ในปัจจุบันบ้านไม้ซางหนามมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 102 หลังคาเรือน
บ้านไม้ซางหนามมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา มีระยะทางจากอำเภอปางมะผ้าประมาณ 27 กิโลเมตร (ถนนคอนกรีต) และมีระยะทางจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนถึงหมู่บ้านประมาณ 45 กิโลเมตร
อาณาเขตของหมู่บ้าน
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านนาปู่ป้อม ตำบลนาปู่ป้อม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยส้านนอก ตำบลห้วยผา อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านห้วยส้านใน ตำบลห้วยผา อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หน่วยป่าไม้สันปันแดน ตำบลนาปู่ป้อม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
นอกจากนี้ บ้านไม้ซางหนามยังมีศาสนสถานสำคัญ ได้แก่ "คริสตจักรไม้ซางหนาม" ในสังกัดของสภาคริสตจักรในประเทศไทย ที่ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 2000 อีกด้วย
ปัจจุบัน บ้านไม้ซางหนามมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 102 หลังคาเรือน และมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 453 คน แบ่งออกเป็นประชากรชายจำนวน 242 คน และประชากรหญิงจำนวน 211 คน
ลาหู่บ้านไม้ซางหนาม ประกอบด้วยครัวเรือนที่ทำอาชีพทางการเกษตรจำนวน 94 ครัวเรือน และประกอบอาชีพค้าขายจำนวน 3 ครัวเรือน มีการปกครองโดยผู้นำหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์การบริหารส่วนตำบล
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีโรงเรียนบ้านนาปู่ป้อม ที่ให้การศึกษาแก่เด็กในชุมชน โดยการจัดการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน
วัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้านบ้านไม้ซางหนามยึดถือและปฏิบัติสืบถอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถจัดลำดับได้ตามปฏิทินในรอบปี ประกอบด้วยวันสำคัญทางประเพณี 3 วัน ได้แก่ พิธีก่อทราย พิธีเข้าศีลโหล และพิธีศีลโหลจ่านูสี่ตาเว และมีเทศกาลพิเศษอีกหนึ่งครั้ง คือ พิธีกินวอ ดังนี้
1.พิธีก่อทราย (ทรายก่อเว)
เป็นพิธีที่จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 ด้วยการเก็บทรายจากแม่น้ำและขนเข้าไปในวัดเพื่อทำพิธี โดยมี "โตโบ" (ปู่จองโหล) เป็นผู้นำพิธี หลังจากนั้นให้หัวหน้าครอบครัวนำเมล็ดพันธุ์พืชต่าง ๆ ที่จะปลูก (เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่ว งา ฯลฯ) เข้าไปทำพิธีด้วยเพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ จงดลบันดาลให้พืชพันธุ์ทั้งหลายงอกงามและได้ผลผลิตตามต้องการ ส่วนทรายจะถือเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งไม่ดีและบาปต่าง ๆ ที่เจ้าตัวทำโดยไม่ได้เจตนา เพราะปริมาณของทรายนั้นนับไม่ถ้วน จึงแทนการขอขมากับสิ่งที่ทำผิดไปทั้งหมด
ในวันต่อ ๆ มา ชาวบ้านจะออกหาอาหารในป่าและจับปลา เพื่อเตรียมพิธีเลี้ยงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าป่า เจ้าเขา และเจ้าที่ต่าง ๆ ตลอดจนเริ่มก่อสร้างศาลา โดยผู้ชายทุกครอบครัวจะต้องรวบรวมใบคาก๊อ ใบคา หรือสังกะสีมาครัวเรือนละ 1 ตับ/แผ่น และแบ่งหน้าที่เพื่อเตรียมอุปกรณ์ในการสร้างศาลาให้แล้วเสร็จก่อนเที่ยงของวันที่ 3 ของพิธีกรรม ส่วนแม่บ้านจะมีหน้าที่เตรียมอาหาร หุงข้าว ทำข้าวเบอะไก่ หมู และปลา เพื่อไปร่วมทำพิธี หลังจากนั้น ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะพากันแต่งตัวใส่ชุดชาติพันธุ์และมารวมตัวกันทำพิธีที่ศาลาโตโบ
เมื่อเสร็จสิ้นพิธี ชาวบ้านจะแลกเปลี่ยนอาหารที่เตรียมมาซึ่งกันและกันและร่วมรับประทานอาหารด้วยกันจนอิ่ม รวมทั้งขอพรจากผู้อาวุโสโดยการผูกข้อมือ ผู้ชายลาหู่ที่เป็นพรานป่าจะขอพรจากเจ้าป่าเจ้าเขา โดยทำศีรษะของสัตว์เป็นเป้าหุ่นจำลอง เช่น หมู เก้ง กวาง วัว กระทิง ฯลฯ และใช้อาวุธหน้าไม้ ปืนแก๊ส หรือปืนลูกซอง ยิงป้าหัวจำลองของสัตว์ต่าง ๆ จนพอใจ ถือเป็นการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ล่าสัตว์ป่าได้ตามจำนวนที่ต้องการ
2.พิธีเข้าศีลโหล (สม่าตาเว-เข้าพรรษา)
"เข้าศีลโหล" หมายถึง เข้าพรรษา เป็นพิธีที่ปฏิบัติในวันเพ็ญเดือน 15 ค่ำของทุกปี ทุกครัวเรือนที่ทำสวนทำไร่จะนำข้าวโพดฝักอ่อนและยอดฟักทองที่ปลูกไว้ไปถวายบ้านปู่จอง (วัด) และนำไปแลกเปลี่ยนกับครัวเรือนอื่น ๆ ซึ่งเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพียงวันเดียวเท่านั้น
3.พิธีศีลโหลจ่านูสี่ตาเว (ออกพรรษา)
การทำพิธีคล้ายคลึงกับพิธีเข้าศีลโหล จะประกอบพิธีในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี แต่ยึดถือพืชหลักคือรวงข้าว (จ่านูสี่) ซึ่งข้าวจะเป็นพืชที่ให้ผลผลิตช้าที่สุดในรอบปี ข้าวที่ได้จะนำมาประกอบพิธีร่วมกับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น มันเทศ มันสำปะหลัง ถั่ว และแตง ซึ่งให้ผลผลิตในช่วงเดียวกันนั้น แล้วจึงนำไปถวายที่บ้านปุ๋จองโหล (วัด) ก่อนจะนำไปแลกเปลี่ยนกันทุกครัวเรือน
4.พิธีกินวอ-ต้อนรับปีใหม่ (ขอะจาเว)
เป็นพิธีที่จัดขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี ขึ้นอยู่กับความพร้อมของหมู่บ้าน หากชาวบ้านทุกคนเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเสร็จแล้วและสามารถหารือฤกษ์ดีร่วมกันได้ พิธีกินวอก็จะสามารถจัดขึ้นได้เร็ว หลังจากหากำหนดการได้แล้วนั้น ทุกบ้านจะจัดเตรียมวัสดุต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญตามความเชื่อในการทำพิธี รวมถึงเครื่องอุปโภคบริโภคด้วย
การทำพิธีกินวอ จะมีขึ้นภายใน 7 วัน แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก (3 วัน) ถือเป็นการกินวอของผู้หญิง (ขวะโหล-วอใหญ่) และช่วงที่สอง (3 วันหลัง) ถือเป็นวอของผู้ชาย (ขวะหน่อย-วอน้อย) ทุกครัวเรือนต้องจัดเตรียมของใช้ เช่น หม้อหุง อุปกรณ์ประกอบอาหาร ฯลฯ และซ่อมแซมบ้านให้อยู่ในสภาพดีตามกำลังและฐานะของแต่ละครอบครัว นอกจากนี้ ต้องจัดหาเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มที่เป็นของใหม่มาคนละ 1 ชุด และต้องจัดเตรียมข้าวสาร (ข้าวจ้าวและข้าวเหนียว) รวมถึงเชื้อเพลิง (ฟืน) ที่ใช้หุงต้มให้เพียงพอต่อการกินวอทั้ง 7 วัน
ขั้นตอนการทำพิธี มีดังนี้
4.1 ก่อนทำพิธี 1 วัน - ทุกบ้านต้องเตรียมที่บูชาเข่งข้าวปุ๊ก (อ่อฟูถี่) สำหรับวางข้าวปุ๊ก (ออฟู) และนำข้าวปุ๊กวางบนเข่งข้าวปุ๊ก
4.2 วันที่ 2 ของการทำพิธี - ทุกบ้านต้องฆ่าและชำแหละหมูในตอนเช้า ขนาดของหมูขึ้นอยู่กับฐานะของแต่ละครัวเรือนหรือสามารถขอแบ่งซื้อจากเพื่อนบ้านได้ หนังและไขมันของหมูต้องนำมาห้อยที่บูชาเข่งข้าวปุ๊กและกินเลี้ยงกันตอนเย็น การกินเลี้ยงจะเริ่มต้นด้วยการเต้นจะคึกเพื่อเปิดงาน ประกอบด้วยการปักรำพิธี (ขอะเจ่ตีเว) ตั้งไว้ตรงกลางลานเต้น มีเสาไม้ไผ่ 4 ต้น ต้นสน 4 ต้นฝังเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตกแต่งด้วยกระดาษปอสาสีต่าง ๆ และทำเป็นหิ้งสำหรับวางของบูชาที่พื้นตรงกลางระหว่างเสา พอให้สามารถวางภาชนะสำหรับเทน้ำได้
หลังจากทำขอะเจ่เรียบร้อยแล้ว ทุกครัวเรือนต้องเตรียมสิ่งของมาสักการะบูชา ได้แก่ ข้าวปุ๊ก หัวหมู ข้าวสารครัวเรือนละ 1 กำ เทียนขี้ผึ้ง และน้ำ จะมีปู่จอเป็นผู้ทำพิธีบวงสรวง ตีกลอง เป่าแคน (หน่อมึกเว) รอบขอะเจ่ เมื่อเสร็จพิธีบวงสรวงแล้วก็จะเริ่มสนุกสนามกันได้ ครัวเรือนใดที่มีความพร้อมจะนำหัวหมูมาบูชาห้อยที่เข่งลานเต้นจะคึกอย่างน้อย 4 หัว และทุกคืนหลังเที่ยงคืนสามารถนำไปบูชาทำอาหารเลี้ยงผู้เต้นจะคึกได้
4.3 วันที่ 3 ของการทำพิธี - การกินเลี้ยงในตอนกลางคืน
4.4 วันที่ 4 ของการทำพิธี - จะหยุดเต้นจะคึกในตอนกลางคืน 1 วัน เพื่อพักฟื้นร่างกายและเตรียมเข้าขอะหน่อยหรือวอผู้ชาย
4.5 วันที่ 5 ของการทำพิธี - เป็นขอะหน่อย (วอน้อย) หรือการกินวอของผู้ชาย เป็นระยะเวลา 3 วัน ระหว่างเทศกาลกินวอจะไม่มีครัวเรือนใดทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกจากมาสนุกสนานร่วมกัน
บุคคลสำคัญภายในบ้านไม้ซางหนาม ประกอบด้วย
- นายจ่าพู่ กำเนิดกรุณา (ผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน)
- นายอินสม คองแดง (ผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน)
- นายศรรามยุทธ์ ยุธนานนท์ (สมาชิกสภาจังหวัด)
บ้านไม้ซางหนามมีทุนชุมชนด้านภาษา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ ยังมีทุนทางสังคมที่มีความร่วมมือกับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลอีกด้วย
ชาวบ้านบ้านไม้ซางหนามใช้ภาษาลาหู่แดงเป็นหลักในการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคนที่สามารถอ่านและเขียนภาษาลาหู่ได้
ชาวบ้านบ้านไม้ซางหนามบางส่วน ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ทำให้มีปัญหาด้านสถานะบุคคลและสิทธิในที่ดินทำกิน
วัฒนธรรมบางอย่างเสี่ยงต่อการสูญหายจากบริบทของชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
มูลนิธิอีสตาร์. (ม.ป.ป.). คริสตจักรไม้ซางหนาม. https://www.facebook.com/
โรงเรียนบ้านนาปู่ป้อม. (2564, 1 ตุลาคม). ห้องเรียนไม้ซางหนาม อ. ปางมะผ้า จ. แม่ฮ่องสอน. http://www.facebook.com/photo/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
ศรรามยุทธ์ ยุธนานนท์. (2567, 18 มีนาคม). การเต้นจะคึกและรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ช่วงงานปีใหม่ลาหู่. https://www.facebook.com/photo/
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2562). ท่านรองสุภาพ กาวิ เยี่ยมห้องเรียนบ้านไม้ซางหนาม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน. https://www.obec.go.th/archives/