บ้านมูเซอหลังเมือง อยู่คู่ชุมชนโบราณเมืองนันทบุรี
ที่มาของชื่อมาจากบริเวณที่ตั้งตำบลม่อนจองและตำบลแม่ตื่นเคยเป็นเมืองที่ปกครองโดยกษัตริย์สมัยพระนางจามเทวี นามว่า เมืองนันทบุรี โดยบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านจะอยู่บ้านหลังเมือง จึงเรียกชุมชนที่เป็นชาวลาหู่ที่อาศัยบริเวณนี้ว่า บ้านมูเซอหลังเมือง
บ้านมูเซอหลังเมือง อยู่คู่ชุมชนโบราณเมืองนันทบุรี
ประชากรบ้านมูเซอหลังเมืองเกิดการรวมตัวตั้งแต่ พ.ศ. 2484 จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในชุมชน แต่เดิมชาวมูเซอหลังเมืองอาศัยที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากนั้นชาวบ้านอพยพมาอยู่ที่อำเภออมก๋อย โดยตั้งหมู่บ้านที่บ้านผาผึ้งประมาณ 50 ปี จากนั้นมีการเคลื่อนย้ายหมู่บ้านอีกครั้งมาอยู่ที่บ้านห้วยคึเพื่อทำไร่ฝิ่น
ต่อมาเมื่อประชากรเริ่มมีความหนาแน่นมากขึ้นจนสามารถแบ่งประชากรออกเป็น 2 หย่อมบ้าน และไม่เพียงพอต่อการทำกิน ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพอีก 4 ครั้ง ครั้งแรกอพยพมาบ้านห้วยหมีอาศัยอยู่ในพื้นที่ 17 ปี ครั้งที่สองอพยพมาบ้านห้วยผักไผ่อาศัยในพื้นที่ 18 ปี ครั้งที่สามอพยพมาอยู่ที่บ้านห้วยกุ๊อยู่อาศัย 15 ปี ครั้งที่สี่อพยพมายังดอยสองพี่น้องจำนวน 20 ปี โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการอพยพในครั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้ป่าจำนวนมาก จนกระทั่งมีประชากรจำนวนมากขึ้น จึงมีการแบ่งกลุ่มและย้ายออกจากพื้นที่จำนวน 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ย้ายไปอยู่บ้านมูเซอปากทาง กลุ่มที่ 2 ย้ายมาอยู่บ้านมูเซอหลังเมืองในปัจจุบัน กลุ่มที่ 3 ย้ายไปอยู่จังหวัดตาก
ปัจจุบันบ้านมูเซอหลังเมืองตั้งอยู่ใน เขตอำเภอสามเงา จังหวัดตาก แต่ประชากรของชุมชน เป็นของจังหวัดเชียงใหม่ คือ เป็นบ้านบริวารของบ้านมูเซอปากทาง หมู่ที่ 5 ตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ บ้านมูเซอหลังเมือง มี 3 หย่อมบ้าน บ้านมูเซอหลังเมืองเก่า บ้านมูเซอหลังเมืองใหม่ กับ บ้านกระเหรี่ยงหลังเมือง
บ้านมูเซอหลังเมืองตั้งอยู่ในหุบเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรทางธรรมชาติ
อาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอดอยเต่า
- ทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านห้วยหมี
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านมูเซอปากทาง
มีประชากรชาวลาหู่ทั้งหมดจำนวน 349 คน และครัวเรือนจำนวน 92 ครัวเรือน
ลาหู่มีการรวมกลุ่มองค์กรชุมชน เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเพาะปลูกจำนวน 1 กลุ่ม คือ กลุ่มเพาะปลูกกาแฟ และสถานประกอบการในชุมชน ประกอบด้วย ปั้มน้ำมันจำนวน 1 แห่ง สถานประกอบการที่พักจำนวน 1 แห่ง ร้านค้าในชุมชนจำนวน 3 แห่ง และสถานศึกษาสังกัดอื่นจำนวน 1 แห่ง
ประเพณีการเต็นจะคึ (ปีใหม่ลาหู่)
ประเพณีกินวอ (ตำข้าวปุ๊)
ประเพณีการละเล่นตีลูกสะบ้า (ปีใหม่ลาหู่)
ประเพณีวัฒนธรรมการแต่งกายประจำเผ่าลาหู่
กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ. (ม.ป.ป.). บ้านมูเซอหลังเมือง. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2567. ระบบฐานข้อมูลศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง". https://www.ศศช.com
ชุนนี่-Chuny-Journey. (2566). บ้านมูเซอ(ลาหู่)หลังเมืองม่อนจอง อมก๋อย จ.เชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2567. Facebook. https://www.facebook.com/ChunyJourney/posts.