ชุมชนบ้านภูฟ้าเป็นชุมชนมละบริ และใช้ภาษามละบริซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในการสื่อสารระหว่างกัน และมีวิถีการแบ่งปันซึ่งกันและกัน
ไม่ทราบที่มาแน่ชัด
ชุมชนบ้านภูฟ้าเป็นชุมชนมละบริ และใช้ภาษามละบริซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในการสื่อสารระหว่างกัน และมีวิถีการแบ่งปันซึ่งกันและกัน
ความเป็นมาของชุมชนมละบริภูฟ้า
ประวัติศาสตร์ของมละบริภูฟ้าสามารถแบ่งออกเป็น 5 ช่วงตามการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยอ้างอิงจากคำบอกเล่าของผู้อาวุโส กลุ่มผู้นำชุมชน และการศึกษาหนังสือ ตำรา และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.ช่วงที่ 1 ก่อน พ.ศ. 2500 กลุ่มชาติพันธุ์มละบริอาศัยอยู่ในป่า : มละบริมีพื้นที่ในการเก็บของป่าล่าสัตว์ เดินทางท่องเที่ยวในป่า ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นบริเวณใดในปัจจุบัน ทราบแต่เพียงว่าอยู่บริเวณอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน นอกจากนี้ ยังพบว่าสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่มละบริใช้ชีวิตอยู่เป็นป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณทั้งสิ้น มีพื้นที่หากินประมาณ 20-30 ตารางกิโลเมตรและสภาพอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของพืชพันธุ์อาหาร เช่น มันป่า กล้วยป่า ต้นเขือง หวาย ต้นค้อ เป็นต้น และพบสัตว์ป่า เช่น แรด กวาง อ้น ตุ่น หมูป่า เป็นต้น มละบริจะนิยมสร้างเพิงพักอยู่เป็นครอบครัวและอาศัยอยู่เป็นกลุ่มเครือญาติ 3-4 ครอบครัว ประชากรต่อกลุ่มประมาณ 10-15 คน มีประมาณ 10-20 กลุ่ม (ประชากรทั้งหมดประมาณ 200-300 คน) ลักษณะเพิงพักของมละบริจะใช้ไม้ไผ่เป็นไม้โครงสร้าง ใช้ใบตองป่าและใบไม้ปูเป็นพื้น หลังคาทำจากใบค้อ หรือใบตองจิ๋ง ดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่า ล่าสัตว์ โดยผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลกิจกรรมภายในบ้าน เช่น สร้างเพิงพัก หาฟืน หาน้ำ เลี้ยงลูก ส่วนผู้ชายทำหน้าที่เข้าป่า ล่าสัตว์ หาอาหาร และปกป้องครอบครัวจากอันตราย เช่น เมื่อพบบุคคลภายนอกในพื้นที่หรือพบรอยเสือก็จะพากันย้ายถิ่นฐาน
2.ช่วงที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2500–2520 การสัมปทานป่าและการสนับสนุนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรม : ถือเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการป่าไม้ทางภาคเหนือของไทย ในช่วงเวลาดังกล่าว สภาพแวดล้อมของพื้นที่บ้านภูฟ้ายังคงมีผืนป่าอุดมสมบูรณ์ มีป่าดิบแล้ง แต่พื้นที่ป่าโดยรวมลดลงมาก เนื่องจากมีการขยายพื้นที่ทางการเกษตรจนรุกเข้าไปในถิ่นที่อยู่ของกลุ่มเก็บของป่าและล่าสัตว์ ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติลดลง มละบริมีอาหารไม่เพียงพอต่อการบริโภค ทำให้ต้องเริ่มรับจ้างทำการเกษตร โดยจะสร้างเพิงพักบริเวณชายป่าและออกมารับจ้างเป็นครั้งคราว ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ถึง 1 เดือน
ในระหว่าง พ.ศ. 2500–2520 บริเวณจังหวัดแพร่และน่านมีประชากรมละบริประมาณ 50–150 คน ผู้ชายทำหน้าที่ล่าสัตว์และหาอาหาร อย่างไรก็ตาม หากอาหารไม่เพียงพอ ผู้ชายจะต้องออกไปรับจ้างทำเกษตรกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเพื่อแลกกับอาหารและของใช้ ส่วนผู้หญิงทำหน้าที่เลี้ยงลูก ดูแลเพิงพัก หาฟืนและน้ำ นอกจากนี้ จากคำบอกเล่าของมละบริเพศหญิง อายุ 68 ปี ยังพบว่ามละบริยังคงใช้ชีวิตแบบอิสระอยู่บ้าง แต่เริ่มประสบปัญหาอาหารไม่เพียงพอต่อการบริโภค และเริ่มมีการลงหลักปักฐานกับกลุ่มม้งแถบจังหวัดแพร่และน่าน โดยสาเหตุของอาหารที่ไม่เพียงพอมาจากป่าที่เคยเป็นที่หาของป่าโดนแผ้วถางเพื่อการเกษตร จำนวนของป่าที่หาได้จึงลดลง
นอกจากกลุ่มม้งแล้ว มละบริยังติดต่อกับคนพื้นเมืองกลุ่มอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนอาหาร และได้รับการทาบทามให้ไปทำงานเป็นแรงงานภาคเกษตรกับกลุ่มม้งเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งของ จากนั้นกลุ่มมละบริจึงเริ่มมีการลงหลักปักฐานมากขึ้น ในช่วงนี้มละบริมีความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ขมุและม้งในฐานะเพื่อน โดยชาวขมุและม้งจะอาศัยมละบริเป็นผู้นำทางในการเข้าป่าล่าสัตว์ จนกระทั่งความสัมพันธ์เริ่มเปลี่ยนเป็นลูกจ้างกับนายจ้างเมื่อกลุ่มขมุและม้งจ้างมละบริมาทำงานที่ไร่ของตน
ทั้งนี้ ผลกระทบของการขยายตัวของพื้นที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชาวมละบริในหลายมิติ เช่น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่า ปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ ดินเสื่อมโทรมและการสูญเสียหน้าดิน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการปนเปื้อนของสารเคมีเกษตรในแหล่งน้ำ ด้วยเหตุนี้ เมื่อป่าที่เปรียบเสมือนบ้านและแหล่งอาหารลดลงทั้งเนื้อที่และความอุดมสมบูรณ์ของป่า มละบริจึงประสบปัญหาอาหารไม่เพียงพอต่อการบริโภค และไม่พบผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์บริเวณอื่นอีกหากต้องการย้ายถิ่นฐาน สถานการณ์จึงบีบบังคับให้มละบริต้องทำงานเป็นแรงงานภาคการเกษตรเพื่อแลกกับอาหาร วิถีชีวิตจากผู้เก็บหาของป่าจึงเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แรงงานในภาคการเกษตร ซึ่งจุดเริ่มต้นทั้งหมดของการเปลี่ยนแปลงมาจากการขยายตัวของพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว
3.ช่วงที่ 3 ระหว่าง พ.ศ. 2521–2530 มละบริอยู่ภายใต้โครงการตั้งถิ่นฐานของรัฐในช่วงการสู้รบระหว่างรัฐไทยกับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย : ในช่วงเวลาดังกล่าว ป่าบริเวณบ้านบ่อหอยและบ้านห้วยโรง ซึ่งเป็นเขตรอยต่อจังหวัดแพร่และน่าน เป็นพื้นที่สัมปทานป่าของบริษัทป่าไม้ พบเส้นทางที่ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัทที่ได้รับสัมปทานป่าในลักษณะเป็นทางเกวียน ที่เชื่อมต่อระหว่างภูเขาและหมู่บ้านที่อยู่ลึกเข้าไปในป่า พื้นที่โดยรอบหลังจากหมดสัมปทานป่าก็กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม มีกลุ่มม้งประมาณ 65 ครอบครัวเข้ามาจับจองและแผ้วถางปรับเป็นที่ทำกิน รวมถึงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งแต่ละครอบครัวจะทำข้าวโพดประมาณ 20 ไร่ ทำให้มีแรงงานไม่เพียงพอ จึงเริ่มมีการชักชวนกลุ่มมละบริมาทำงานและพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวตลอดฤดูเพาะปลูก
สถานการณ์ของมละบริในช่วงเวลานี้ จึงเปลี่ยนจากผู้เก็บของป่าล่าสัตว์เป็นผู้ใช้แรงงานในภาคเกษตร โดยเริ่มจากการขาดความอุดมสมบูรณ์ของป่า ทำให้ไม่สามารถยังชีพด้วยวิธีเก็บของป่าล่าสัตว์ได้ ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง มีการต่อสู้ของทหารไทยกับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย การเดินทางแบบอิสระในป่าของมละบริจึงไม่ปลอดภัยและเป็นที่น่าสงสัยของทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้การเดินทางของมละบริลดลง
ในเวลาต่อมา เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ให้สงบลง รัฐบาลไทยจึงออกคำสั่ง 66/23 เป็นการนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ขณะเดียวกันรัฐบาลได้จัดทำโครงการต่าง ๆ ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในหุบเขาได้มีที่พำนักเป็นหลักแหล่งและสามารถตรวจสอบได้ เพื่อแยกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่ากับกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ในภายหลัง มีการรวบรวมมละบริตามเขตบ้านขุนสถาน บ้านบ่อหอย และบ้านภูเค็ง จำนวน 150 คน มาตั้งชุมชนที่บ้านห้วยบ่อหอย อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เพื่อให้มละบริพัฒนาตนเองได้ โดยให้การศึกษาด้านอาชีพ สอนปลูกพืชไร่ พืชสวน เลี้ยงสัตว์ ตีเหล็ก และจักสาน ในขณะเดียวกันก็มีการจัดแสดงวิถีชีวิตของมละบริควบคู่ไปด้วย อาจกล่าวได้ว่าด้วยคำสั่ง 66/23 ทำให้วิถีชีวิตแบบเร่ร่อน เก็บหาของป่า ล่าสัตว์ของชาวมละบริสิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์
4.ช่วงที่ 4 ระหว่าง พ.ศ. 2531-2550 มละบริภายใต้โครงการ New Tribes Mission (NTM) หรือ หมู่บ้านบุญยืน เพื่อพัฒนาและอนุรักษ์ชนเผ่าตองเหลือง : โครงการ NTM เริ่มต้นทำงานในพื้นที่จังหวัดน่าน เมื่อ พ.ศ. 2524 มีภารกิจเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ให้กลุ่มชนที่ยังไม่มีพระคัมภีร์เป็นภาษาของตนเอง มีวิธีการทำงานคือศาสนาจารย์จะต้องเรียนภาษาและวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองพร้อมกับต้องแปลวรรณกรรมในพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาพื้นเมือง รวมทั้งสอนชาวพื้นเมืองถึงวิธีการอ่านและเขียนด้วยภาษาของพวกเขาเอง ตลอดจนต้องพัฒนาความสัมพันธ์และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย เพื่อให้ชาวบ้านยอมรับศาสนา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก Ethnos360 Bible Institute ซึ่งเป็นสถาบันที่เผยแพร่ศาสนาคริสต์ที่ตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
ในเบื้องต้น โครงการยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากติดปัญหาเกี่ยวกับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2531 โครงการ NTM จึงได้ซื้อที่ใกล้กับบ้านห้วยฮ่อมบนประมาณ 500 ไร่ ชื่อบ้านปากห้วย อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ และชักชวนมละบริที่อาศัยอยู่ในบริเวณบ้านห้วยฮ่อมและบ้านห้วยโรง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ มาตั้งถิ่นฐานและสร้างเพิงพักอยู่ด้วยกันประมาณ 30 คน ในระยะต่อมา จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านบุญยืน” เรียกตามชื่อภาษาไทยของศาสนาจารย์บุญยืน สุขเสน่ห์ ในหมู่บ้านมีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมละบริและกิจกรรมฝึกอาชีพทำเปล ซึ่งบริหารจัดการโดยครอบครัวศาสนาจารย์บุญยืน มละบริจึงหยุดการเคลื่อนที่และหันมาเป็นแรงงานภาคเกษตรให้กับกลุ่มม้ง รวมถึงมละบริบางส่วนก็เป็นแรงงานทอเปลให้กับครอบครัวศาสนาจารย์บุญยืน
บ้านบุญยืนในช่วง พ.ศ. 2531 มีประชากรประมาณ 30 คนและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง พ.ศ. 2548 มีประชากรราว 168 คน หมู่บ้านมีความถาวรขึ้น ประกอบด้วยบ้าน 2 ลักษณะ คือ คนที่ย้ายมาอยู่ใหม่จะสร้างบ้านกึ่งถาวรทำจากโครงสร้างไม้ มีไม้ไผ่สานหรือสับทำเป็นผนังและหลังคาโดยใช้วัสดุธรรมชาติ สำหรับผู้อยู่มาก่อนจะสร้างบ้านถาวรโดยใช้อิฐบล็อกทำเป็นผนังและหลังคามุงด้วยสังกะสี
สภาพแวดล้อมบริเวณหมู่บ้านถูกล้อมด้วยหมู่บ้านของคนม้ง บริเวณโดยรอบเป็นไร่ข้าวโพด มีป่าเสื่อมโทรมเป็นไร่เหล่า (พื้นที่เพาะปลูกเก่า) ของกลุ่มม้งเช่นกัน ลำน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้านสันนิษฐานว่าจะมีการปนเปื้อนของสารเคมีเนื่องจากลำน้ำผ่านพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่ใช้สารเคมี
มละบริประกอบอาชีพหลัก 3 อาชีพ คือ 1) รับจ้างในไร่ข้าวโพดของกลุ่มม้ง ส่วนมากเป็นผู้ชาย หรือไปรับจ้างทั้งครอบครัว 2) ทอเปล เป็นหัตถกรรมที่ครอบครัวศาสนาจารย์บุญยืนส่งเสริมให้มละบริ โดยครอบครัวของศาสนาจารย์บุญยืนเป็นเจ้าของธุรกิจ 3) ต้อนรับนักท่องเที่ยว ส่วนมากเป็นเด็กในวัยเรียนทำหน้าที่
การพึ่งพิงป่าในช่วง พ.ศ. 2531-2550 พบว่าพื้นที่ป่าอยู่ห่างจากหมู่บ้านมาก และด้วยป่ามีเพียงแค่ไร่เหล่า ซึ่งประกอบด้วยไม้เบิกนำ เช่น หญ้า ไม้ไผ่ ตองโขบ หวาย ทำให้ไม่มีอาหารสำหรับสัตว์ป่ามาก สัตว์ที่พบจึงมีเพียง หนู กระรอก ตุ่น อ้น เท่านั้นที่มละบริหาได้ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริโภค การเดินทางเข้าป่าจึงเป็นการไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการหากินเป็นหลักแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าป่าจะไม่ใช่กิจกรรมหลักแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมละบริอยู่ จึงส่งผลให้มละบริกลุ่มนี้สามารถรักษาความรู้และภูมิปัญญาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากป่าได้
ใน พ.ศ. 2534 มีการสำรวจประชากรมละบริบริเวณจังหวัดแพร่ เพื่อทำหลักฐานและเอกสารประกอบการยืนยันตัวตนของชาวมละบริ จนกระทั่ง พ.ศ. 2544 มละบริบริเวณบ้านห้วยฮ่อมจึงได้รับสัญชาติไทย และมีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยได้ ด้วยเหตุนี้เองทำให้มละบริได้รับการศึกษาในระบบการศึกษาของไทย มละบริรุ่นใหม่จึงสนใจเรื่องการศึกษามากขึ้น มีแนวคิดที่จะให้คนในชุมชนได้รับการศึกษา มีความสามารถรู้เท่าทันโลก สามารถติดต่อสื่อสารกับคนทั่วไปได้ ประกอบอาชีพที่หลากหลาย ไม่โดนเอาเปรียบจากนายจ้าง และเริ่มมีแนวคิดอยากสร้างชุมชนของตนเองเนื่องจากไม่อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่รู้สึกถูกกดดัน และมละบริบางคนเริ่มฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นหรือไปเป็นแรงงานของช่างตามร้านซ่อมต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้นำชุมชนเริ่มรู้สึกว่าสถานการณ์ของชุมชนบ้านห้วยฮ่อมไม่มีความสุข มละบริบางส่วนมีความเห็นเรื่องการหนีไปอยู่หมู่บ้านอื่น อยากทำอาชีพที่ไม่กดดันมาก และมีเวลาอยู่กับครอบครัว มละบริบางส่วนจึงมาทำงานในเมืองและอาศัยอยู่บ้านศาสนาจารย์ชาวเยอรมัน ชื่อ Friedhard Lipsius (ลุงคำ) ที่เคยทำงานในโครงการ NTM และแยกตัวออกมาทำธุรกิจของตนเอง โดยลุงคำส่งเสริมให้มละบริฝึกทักษะด้านอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพช่างต่าง ๆ ผู้ชายจะพาไปฝึกกับช่างก่อสร้างและช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ตนเองรู้จัก ทำให้มละบริผู้ชายบางส่วนมีทักษะช่างติดตัวมาด้วย ผู้หญิงจะให้ภรรยาของตนสอนทำอาหารและส่งไปฝึกอบรมเรื่องหัตถกรรม
ใน พ.ศ. 2550 ขณะที่เยาวชนมละบริบางส่วนที่ออกจากหมู่บ้านมาอบรมด้านอาชีพได้พบกับ "คุณกิตติ ขันธมิตร" กรมวังผู้ใหญ่ฯ และ "ดร.ผ่องพรรณ เอกอาวุธ" ผู้จัดการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาในขณะนั้น จึงได้ชักชวนเยาวชนมละบริมาฝึกอบรมอาชีพที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาและขยายจากการฝึกอาชีพเป็นการทดลองจัดตั้งชุมชนมละบริ โดยมีเยาวชน 9 คนเป็นกลุ่มเริ่มต้น ก่อนการเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ที่อยู่ถาวรในระยะยาว
นอกจากนั้น ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาเป็นเขตพระราชฐาน จึงไม่เหมาะกับการตั้งชุมชน ชุมชนมละบริจึงอยู่ที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ระยะยาวภาครัฐมีแผนสร้างพื้นที่รองรับมละบริจากทุกแหล่งที่ต้องการสร้างชุมชนและพื้นที่ทำกิน ณ บ้านห้วยลู่ อำเภอเมืองน่าน ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 5,000 ไร่ แต่โครงการห้วยลู่ทำได้ช้าเพราะชาวม้งได้เข้าไปทำสวนลิ้นจี่และปลูกข้าวโพด รวมถึงการต่อต้านเรื่องการจัดเตรียมพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่เกษตรกร จึงต้องนำฝ่ายความมั่นคงเข้ามาจนสามารถใช้พื้นที่ห้วยลู่ได้ในครึ่งหลังทศวรรษ 2550
ในช่วงเวลาต่อมา การฝึกอาชีพและทดลองตั้งชุมชนของเยาวชนมละบริ 9 คน ที่บริเวณศูนย์ภูฟ้าพัฒนา สร้างความไม่พอใจให้กับศาสนาจารย์บุญยืน เกิดข้อพิพาทระหว่างศาสนาจารย์บุญยืนกับเยาวชนมละบริทั้ง 9 คนและเครือญาติ มละบริจำนวนหนึ่งจึงเดินทางจากบ้านห้วยฮ่อมย้ายเข้ามาสู่พื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาในช่วง พ.ศ. 2551-2552 นอกจากนี้ มละบริบางครอบครัวยังย้ายไปที่บ้านห้วยหยวก จังหวัดน่านด้วย จากประเด็นนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะของมละบริที่ยังคงเคลื่อนย้ายชุมชน เมื่อรู้สึกว่ามีอันตรายเหมือนดังเช่นในอดีตอยู่
5.ช่วงที่ 5 พ.ศ. 2551-2561 มละบริเริ่มเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ตำบลภูฟ้า : ความสนิทสนมของเยาวชนมละบริกับลุงคำ ตลอดจนการมาฝึกอบรมอาชีพที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ทำให้ชาวมละบริที่เป็นเครือญาติกับเยาวชน 9 คนนี้เดินทางมาสมทบที่บริเวณศูนย์ภูฟ้าพัฒนา เมื่อ พ.ศ. 2552 ประกอบกับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เสด็จเยี่ยมประชาชนในเขตตำบลภูฟ้า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 จึงรับสั่งให้จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้าเพื่อเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยและการประกอบอาชีพของกลุ่มชาติพันธุ์ในบริเวณศูนย์ภูฟ้าพัฒนา เช่น ลัวะ รวมถึงมละบริด้วย
หน่วยงานต่าง ๆ จึงเข้าให้ความช่วยเหลือในการสร้างที่พักอาศัย ตั้งโรงเรียน กศน. ในพื้นที่ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยว จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติและป้ายให้ความรู้ มละบริจึงมีชุมชนของตนเองในเขตศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า ปัจจุบันมละบริมีประชากร 17 ครอบครัว 71 คน (ข้อมูล ณ สิงหาคม พ.ศ. 2561) สภาพพื้นที่ บริเวณชุมชนที่มละบริอาศัยอยู่เป็นพื้นที่ที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาใช้ทดลอง สาธิต และทำงานวิจัยเกี่ยวกับการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ โดยได้รับมอบคืนพื้นที่จากชาวบ้านหมู่บ้านห่างทางหลวงและบ้านผาสุกประมาณ 800 ไร่
โครงการภูฟ้าพัฒนาแบ่งให้มละบริใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรม 12 ไร่ เป็นที่พักอาศัย 6 ไร่ มละบริจะใช้พื้นที่ในการเก็บของป่าล่าสัตว์ร่วมกับชาวบ้านหมู่บ้านห่างทางหลวงและบ้านผาสุก ซึ่งพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าเหล่า มีพืชพันธุ์อาหาร สัตว์ป่า และสามารถเก็บของป่าล่าสัตว์ได้ตามกติกาของหมู่บ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน ในช่วงต้นของการย้ายมาอยู่ที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาระหว่าง พ.ศ. 2550-2551 มละบริมีรายได้จากศูนย์ภูฟ้าพัฒนาแลกกับการทดลองใช้ชีวิตในสังคมเกษตร มีการปลูกผักสำหรับบริโภค ทำปุ๋ยหมัก และทำความสะอาดศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ทั้งนี้เยาวชนทั้ง 9 คน ไม่มีความรู้เรื่องการจักสานและงานหัตถกรรม จึงได้ชักชวนผู้อาวุโสมาสอนงานหัตถกรรมที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา
ช่วง พ.ศ. 2553-2555 เป็นช่วงต้นที่มละบริย้ายเข้ามาประกอบอาชีพในบริเวณศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า รายได้ส่วนใหญ่มาจากสำนักงานโครงการส่วนพระองค์ฯ มอบเป็นเงินช่วยเหลือให้กับมละบริ ครอบครัวละ 2,080 บาทจำนวน 13 ครอบครัว โดยจะต้องส่งตัวแทนครอบครัวมาทำงานที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ทำงานปลูกต้นไม้ ทำความสะอาด จำนวน 13 วันต่อเดือน เวลาที่เหลือมละบริสามารถเข้าป่าไปเก็บของป่าล่าสัตว์ได้ ส่วนคนที่ไม่ได้ทำงานที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาสามารถไปทำงานที่สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นเครือข่ายทำงานในโครงการภูฟ้าพัฒนาและมีสำนักงานอยู่ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า มละบริทำงานเพาะกล้าไม้ ขนต้นไม้ไปปลูกในป่า ได้ค่าแรง 200 บาทต่อวัน
ในช่วงนี้มละบริมีการจัดตั้งกรรมการชุมชน โดยมีนางอรัญวา ชาวพนาไพร เป็นหัวหน้าชุมชน มีหัวหน้าครอบครัวเป็นกรรมการ และมีผู้อาวุโส 3 คนเป็นที่ปรึกษาโดยแนวคิดเรื่องการจัดตั้งกรรมการชุมชนเกิดจาก "คุณภานุพงษ์ สิทธิวงศ์" นักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวกับวัฒนธรรม และ "คุณฤทธี ลือโฮ้ง" หัวหน้าสํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) เป็นผู้ผลักดันให้เกิดกรรมการชุมชน
ช่วง พ.ศ. 2556-2557 มละบริภูฟ้าเห็นว่าประชากรมละบริภูฟ้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 15 ครอบครัว และมีประชากร 71 คน และมละบริต้องการมีพื้นที่ทำกินของตนเอง ประกอบกับในช่วงเดียวกันมีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรเพื่อการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โดยกรมป่าไม้ผลักดันให้เกิดพื้นที่ตั้งชุมชนใหม่ของมละบริ และมีพื้นที่รองรับมละบริจำนวน 2,000 ไร่ที่โครงการห้วยลู่ มละบริภูฟ้าจึงทดลองไปอยู่บ้านห้วยลู่ สร้างบ้าน ทำการเกษตร และปลูกข้าว โดยเริ่มต้นส่งผู้ชายไปก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากเมื่อครอบครัวห่างไกลกัน ชาวมละบริรู้สึกไม่มีความสุข มีความต่างในการพัฒนา ต่างวัฒนธรรมและกติกาชุมชน และไม่เห็นโอกาสในการมีชีวิตที่ดีสำหรับตนเองและลูกหลาน
ฝ่ายหนึ่งคือชาวมละบริภูฟ้าที่มาจากบ้านห้วยฮ่อม มีความคิดอิสระของตนเอง ดูแลตนเองได้ มีการศึกษา มีอาชีพที่มีรายได้พอสมควร มีการติดต่อกับโลกภายนอกง่ายทั้งทางถนนและโทรศัพท์ มละบริภูฟ้าจึงเห็นโอกาส กับอีกฝ่ายหนึ่งคือชาวมละบริห้วยลู่ที่มาจากบ้านห้วยหยวก มีการดูแลอย่างดีโดยเจ้าหน้าที่ภายใต้กรอบของภาครัฐ การเข้าออกพื้นที่การสื่อสารยากลำบาก มละบริภูฟ้าจึงเห็นว่าการไปอยู่ที่บ้านห้วยลู่เป็นการถอยหลัง โอกาสการพัฒนาและความเป็นอิสระลดลง สังคมค่อนข้างปิด ทำให้มละบริภูฟ้ากลับมาอยู่ที่ศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้าใหม่ และเริ่มสร้างบ้านถาวรแข็งแรงมากขึ้น
ใน พ.ศ. 2558-2561 มละบริภูฟ้าร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนมละบริไปสู่ชุมชนพึ่งตนเอง มจธ. ทดลองให้มละบริเก็บข้อมูลรายรับ-รายจ่ายของครอบครัว พบว่ามละบริต้องพึ่งพาชุมชนภายนอกทั้งหมด โดยเฉพาะค่าอาหาร ชุมชนจึงมีแนวคิดอยากให้พึ่งตนเองให้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีอิสระและมีความสุข จึงทดลองทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเกษตรทั้งการปลูกข้าว การปลูกผัก การปลูกพืชมูลค่าสูงในพื้นที่ขนาดเล็ก การเลี้ยงสัตว์ การทำประมง ทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี สร้างรายได้ สร้างการพึ่งตนเอง จนเกิดความคิดที่จะขยายที่ทำเกษตรไปยังชุมชนบ้านนากอก นอกเขตพระราชฐานศูนย์ภูฟ้าพัฒนา
พื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า 800 ไร่ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
1.พื้นที่ป่า 779 ไร่ ร้อยละ 97.3 เนื่องจากเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ จึงใช้กฎหมายอุทยานและกติกาของชุมชนแวดล้อมในการใช้พื้นที่ร่วมกัน
แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ 579 ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 74.3 และพื้นที่บริเวณพระตำหนักภูฟ้า บริเวณสำนักงานโครงการภูฟ้าพัฒนาและบริเวณที่มีการทดลองทำงานวิจัยของหน่วยงานที่มาทำงานสนับสนุนโครงการภูฟ้าพัฒนา 200 ไร่คิดเป็นร้อยละ 25.7 สำหรับพื้นที่ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ 579 ไร่ ลักษณะป่าเป็นป่าดิบแล้ง 521 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 90 และป่าดิบเขา 34.7 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6 และแหล่งน้ำ 23.3 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4 ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของสํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานฯ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานดังกล่าว ได้สร้างกติกาการใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกับมละบริภูฟ้าไว้ ดังนี้
1.1 บริเวณใกล้กับพระตำหนักภูฟ้า บริเวณสำนักงานโครงการภูฟ้าพัฒนา และบริเวณที่มีการทดลองทำงานวิจัยของหน่วยงานที่มาทำงานสนับสนุนโครงการภูฟ้าพัฒนา รวม 200 ไร่ ไม่อนุญาตให้มละบริและคนทั่วไปเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่
1.2 ไม่อนุญาตให้ล่าสัตว์หรือหาสัตว์น้ำทุกชนิดในบริเวณป่า 779 ไร่
1.3 ห้ามตัดต้นไม้ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 30 เซนติเมตร
1.4 การตัดต้นไม้ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 30 เซนติเมตร จะต้องนำไปใช้ประโยชน์ภายในชุมชนเท่านั้น
1.5 การตัดไม้ไผ่ไปใช้ประโยชน์ จะต้องใช้ภายในชุมชนเท่านั้น
1.6 สามารถหาหน่อไม้ มันป่า พืชอาหาร เช่น บอนป่า ชะพลู มาบริโภคภายในชุมชนได้
1.7 ไม้เบิกนำ เช่น ตองโขบ ตองจิ๋ง กล้วยป่า หญ้าคา มละบริสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
1.8 ต้นไม้ที่ตายแล้วมละบริสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
1.9 เมื่อพบความต้องการการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าในรูปแบบอื่น ให้กรรมการชุมชนปรึกษากับเจ้าหน้าที่จากสํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานฯ
นอกจากพื้นที่ป่าภายในศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า 779 ไร่ มละบริยังสามารถใช้พื้นที่ป่าของหมู่บ้านผาสุกและบ้านห่างทางหลวง ในการเก็บของป่าล่าสัตว์ด้วย โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 96,797 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูคา-ผาแดง ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ของพื้นที่เป็นภูเขา แบ่งเป็น ป่าดิบแล้ง 63,009 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 65.1 พื้นที่เกษตร 13,595 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 14.1 ป่าดิบเขา 9,899.3 ไร่คิดเป็นร้อยละ 10.3 ป่าเบญจพรรณ 8,983 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9.2 ป่าหญ้า 910 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1 แหล่งน้ำ 280.7 ไร่คิดเป็นร้อยละ 0.2 และพื้นที่ชุมชน 120 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.1
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ป่าอีกร้อยละ 40 ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ (33,461 ไร่) เป็นพื้นที่ห่างไกลชุมชนใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน ชาวบ้านจึงไม่นิยมใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของชุมชนแวดล้อมทั้ง 2 หมู่บ้าน มละบริภูฟ้าจะต้องปฏิบัติตามระเบียบและข้อตกลงของชุมชนนั้น ๆ
2.พื้นที่ทำเกษตร 12 ไร่ ร้อยละ 1.5 เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่มีการจัดกิจกรรมกลุ่มหรือกิจกรรมที่ชุมชนทำร่วมกันสำหรับฝึกปฏิบัติทำเกษตร ที่มีกติกาการใช้งานที่ต้องขออนุญาตกรรมการหมู่บ้านก่อนใช้งาน ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 มละบริได้ทดลองปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกไม้ผลและเพาะเห็ด โดยชุมชนได้เรียนรู้การทำเกษตรจาก มจธ.
3.ที่พักอาศัย 6 ไร่ ร้อยละ 0.8 พื้นที่นี้ไม่อนุญาตให้คนภายนอกเข้า ยกเว้นหมู่บ้านแวดล้อมที่ต้องเดินทางผ่านหมู่บ้านเพื่อไปหาของจากป่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ตั้งชุมชนของมละบริภูฟ้า 17 ครอบครัว ชุมชนมละบริจะตั้งแยกออกจากพื้นที่อื่นเพื่อความเป็นส่วนตัว การสร้างบ้านมละบริจะสร้างบ้านใกล้กับญาติของตนเอง โดยบ้านของแต่ละครอบครัวจะประกอบด้วยตัวบ้านและห้องน้ำซึ่งแยกออกจากตัวบ้าน บ้านแต่ละหลังจะใช้พื้นที่ในการสร้างบ้านและห้องน้ำประมาณ 1 งาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแนวขั้นบันไดดินในพื้นที่ พื้นที่ 6 ไร่นี้สามารถสามารถรองรับมละบริได้ 24 ครอบครัวหรือประมาณ 100 คน
4.พื้นที่การเรียนรู้ 3 ไร่ ร้อยละ 0.3 เป็นที่ตั้งของโรงเรียน กศน. ศูนย์เด็กเล็ก และศาลาแสดงนิทรรศการมละบริ พื้นที่การศึกษาในส่วนของโรงเรียน กศน. และศูนย์เด็กเล็ก จะดูแลโดยชุมชนมละบริภูฟ้าร่วมกับ กศน. บ่อเกลือ มีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนศาลาการเรียนรู้จะถูกดูแลโดยชุมชนมละบริภูฟ้า
ชุมชนมละบริภูฟ้าเป็นชุมชนที่ตั้งขึ้นใหม่และอพยพมายังพื้นที่ที่มีกติกาและกฎระเบียบของชุมชนลัวะและของภาครัฐที่ชัดเจน จึงทำให้ชุมชนมละบริมีขอบเขตพื้นที่ที่ชัดเจนและมละบริต้องปฏิบัติตามกฎต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนสามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ได้ นอกจากนี้ พบว่ามละบริภูฟ้าทั้งหมดมีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ มีเพียงข้อตกลงในการใช้พื้นที่ร่วมกันเท่านั้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการจัดการแบบทรัพย์สินร่วม
ปัจจุบันมละบริภูฟ้ามีสมาชิกรวม 17 ครอบครัว ประชากร 71 คน แบ่งเป็นชาย 33 คน หญิง 38 คน (ข้อมูล ณ ธันวาคม พ.ศ. 2561) ได้รับความอนุเคราะห์ด้านการดูแลจากสำนักงานโครงการส่วนพระองค์ตามพระราชดำริฯ และทั้งหมดนับถือศาสนาคริสต์ ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ รองลงมาเป็นเด็กและวัยรุ่นตามลำดับ เมื่อพิจารณาช่วงวัยแรงงานที่มีอายุระหว่าง 16-59 ปี พบว่ามีจำนวน 39 คน และกลุ่มเด็กและวัยชรา 32 คน
ช่วงอายุ (ปี) | วัย | ชาย | หญิง | รวม |
0-15 | เด็ก | 11 | 16 | 27 |
16-25 | วัยรุ่น | 5 | 7 | 12 |
26-59 | ผู้ใหญ่ | 14 | 13 | 27 |
≥60 | วัยชรา | 2 | 3 | 5 |
รวม | 32 | 39 | 71 |
จำนวนประชากรกลุ่มคนมละบริภูฟ้า พ.ศ. 2561 (ที่มา: นรชาติ วงศ์วันดี, 2561)
มละบริชุมชนมละบริภูฟ้ามีบริบทชุมชนที่สามารถจำแนกได้ ดังนี้ 1) สมาชิกในชุมชนมลาบริภูฟ้ามีการรวมกันเป็นกลุ่ม 2) ชุมชนมีความสัมพันธ์ในรูปแบบพึ่งพากันและกันผ่านกฎ กติกา และข้อตกลงของชุมชน และ 3) ชุมชนมีความสัมพันธ์กับภายนอกชุมชน
การรวมกันเป็นกลุ่มของสมาชิกชุมชน
ใน พ.ศ. 2561 มละบริภูฟ้ามีสมาชิกทั้งหมด 17 ครอบครัว มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว (พ่อ แม่ ลูก) แต่อยู่ร่วมกันในหมู่เครือญาติ เมื่อแต่งงานจะย้ายออกไปสร้างที่พักใหม่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย 4 นามสกุลหลัก คือ ชาวพนาไพร 6 ครอบครัว ศรีพนาสุข 5 ครอบครัว ศรีชาวป่า 5 ครอบครัว และธรรมคีรีไพร 1 ครอบครัว ทั้งนี้นามสกุล ธรรมคีรีไพร มีเพียงหัวหน้าครอบครัวเท่านั้นที่ใช้นามสกุลดังกล่าว ส่วนภรรยาใช้นามสกุล ศรีชาวป่า
ลักษณะการอยู่เป็นกลุ่มเครือญาติในบริเวณเดียวกันสืบเนื่องมาจากในอดีตของมละบริ ที่มักตั้งบ้านเป็นกลุ่มเครือญาติใกล้กัน คอยระวังภัย ดูแลซึ่งกันและกัน และแบ่งปันอาหารกัน ในบางวันพบว่าผู้อาวุโสจะเล่านิทานให้ฟังด้วย มละบริที่เป็นกลุ่มเครือญาติกันก็จะอยู่ในบริเวณเดียวกันเช่นเดียวกับปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังพบว่าการตั้งบ้านเรือนของมละบริภูฟ้า ยังมีความเป็นส่วนตัวแยกออกห่างจากชุมชนอื่นและไม่อนุญาตให้ชุมชนอื่นเข้าถึงหมู่บ้านได้ง่ายหรือใช้เป็นทางผ่าน โดยมีสะพานกั้นระหว่างหมู่บ้านกับพื้นที่อื่น ชาวบ้านหมู่บ้านอื่นต้องเดินทางผ่านศูนย์ภูฟ้าพัฒนาเท่านั้น ซึ่งจะต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการเข้าพื้นที่กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของทางศูนย์ภูฟ้าพัฒนาจึงจะสามารถเข้าพื้นที่ได้ ทำให้ชาวบ้านหมู่บ้านอื่นไม่นิยมใช้เส้นทางผ่านศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้าและหมู่บ้านของมละบริภูฟ้า
ชุมชนมละบริภูฟ้ามีลักษณะการอยู่อาศัยแบบแบ่งปันผลผลิตทางการเกษตรให้แก่กัน ส่วนใหญ่มละบริจะทำการปลูกข้าว ปลูกไม้ผล และปรับพื้นที่เพื่อเตรียมทำการเกษตร ทุกครัวเรือนจึงให้ความร่วมมือในการส่งคนมาใช้แรงงานในกิจกรรมต่าง ๆ ถือว่าชุมชนมละบริให้ความร่วมมือในการทำงานเพื่อชุมชนดี อย่างไรก็ตาม ลักษณะการหาของป่าของผู้หญิงและผู้ชายแตกต่างกัน โดยผู้หญิงจะหาของป่าใกล้บ้าน มีรัศมีในการเก็บหาประมาณ 1-2 กิโลเมตร ใช้เวลาไปกลับไม่เกิน 1 วัน ของป่าที่เก็บหาส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันเป็นหลัก เช่น พืชสำหรับอาหารสัตว์ พืชสำหรับอาหารคน ผลไม้ และไม้จักสาน เป็นต้น ในส่วนของผู้ชายจะมีรัศมีที่ไกลกว่าและระยะเวลาในการเข้าป่านานกว่า บางครั้งนานเป็นสัปดาห์ ผู้ชายจะหากลุ่มเนื้อสัตว์ ไม้โครงสร้างสำหรับทำที่พักอาศัยและผึ้ง ซึ่งทั้งหมดมีความอันตรายมากกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ ระหว่างเดินทางกลับบ้านก็จะเก็บหาของป่ากลับมาฝากผู้หญิงเพื่อแบ่งเบาภาระการหาของป่าของผู้หญิงด้วย
ความสัมพันธ์ภายในชุมชน กฎ กติกาและข้อตกลงของชุมชน
ชุมชนมละบริภูฟ้ามีลักษณะเป็นชุมชนชนบท แม้จะมีการแบ่งออกเป็น 4 นามสกุลหลัก แต่คนทั้งชุมชนมีความเชื่อว่าทุกคนเป็นญาติพี่น้องกันหมดเพราะเป็นชาวมละบริเหมือนกัน ความสัมพันธ์ของชุมชนมละบริจึงใกล้ชิดกันมาก มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมีความเชื่อว่าลูกหลานของมละบริคือสมบัติอันมีค่าของมละบริ สมาชิกทุกคนจึงมีหน้าที่คอยดูแลลูกหลานทุกคนด้วย
ในส่วนของระบบอาวุโส มละบรินับถือระบบอาวุโสเพราะผู้อาวุโสมีความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากป่า มีความรู้เรื่องหัตถกรรม มีความรู้เรื่องการสร้างบ้าน และเคยผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์มา ทำให้ผู้อาวุโสในชุมชนมละบริภูฟ้าได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและสามารถให้คำปรึกษากับคนในชุมชนได้ ดังนั้น ทุกกิจกรรมในชุมชนจะมีการปรึกษากับผู้อาวุโสทุกครั้งก่อนตัดสินใจลงมือปฏิบัติ ปัจจุบันมีผู้อาวุโสในชุมชน 5 คน (ข้อมูล ณ พ.ศ. 2561)
สำหรับระบบกรรมการชุมชน มละบริมีการตั้งกรรมการชุมชนใน พ.ศ. 2553 เพื่อประสานงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานเครือข่าย โดยมี "คุณภานุพงษ์ สิทธิวงศ์" นักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวกับวัฒนธรรม และ "คุณฤทธี ลือโฮ้ง" หัวหน้าสํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) เป็นผู้ผลักดันให้เกิดการตั้งกรรมการชุมชน และมี "นางอรัญวา ชาวพนาไพร" ดำรงตำแหน่งประธานชุมชนโดยชาวมละบริทั้งหมดเป็นผู้เลือก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2556 มีการปรับโครงสร้างกรรมการชุมชนใหม่โดยคุณฤทธี ลือโฮ้งเห็นว่าควรให้มละบริทุกครอบครัวมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย กรรมการชุมชนจึงประกอบด้วย กลุ่มผู้นำชุมชน 3 คน (ประธาน 1 คน รองประธาน 2 คน) เลือกโดยการลงคะแนนเสียงของตัวแทนครอบครัว และกรรมการชุมชนอีก 8 คน เลือกโดยการลงคะแนนเสียงของตัวแทนครอบครัว
ต่อมาใน พ.ศ. 2560 ชุมชนมละบริภูฟ้าปรับโครงสร้างกรรมการชุมชนอีกครั้ง โดยมีกลุ่มผู้นำชุมชน 4 คน ปัจจุบัน "นายดอน ศรีชาวป่า" เป็นประธานชุมชน ผู้นำชุมชนจะทำหน้าที่ประสานงาน รับฟังข้อมูลและวางแผนการทำงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย จากนั้นผู้นำชุมชนจะประสานงานกับกรรมการชุมชน เพื่อให้กิจกรรมของชุมชนดำเนินการได้อย่างเรียบร้อยและบรรลุเป้าหมาย โดยจะมีการประชุมหมู่บ้านอย่างน้อย 2 ครั้งต่อเดือน
สำหรับกลุ่มแม่บ้าน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2558 มีสมาชิก 6 คน ทำหน้าที่จัดการสินค้าของชุมชน ทั้งการทำความสะอาด บรรจุ และจำหน่ายให้กับคนในชุมชนและภายนอกชุมชน ปัจจุบันมีประธานกลุ่มคือ "คุณนันธิดา ชาวพนาไพร" ทำหน้าที่ประสานงานกับชุมชนเรื่องการซื้อขายสินค้าของชุมชนและการทำบัญชีผลผลิต สาเหตุของการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเนื่องจากชาวมละบริเริ่มมีผลิตภัณฑ์ของชุมชนทั้งผลผลิตทางการเกษตร หัตถกรรม และน้ำผึ้งป่า ประกอบกับชาวมละบริยังมีความเขินอายชาวบ้านหรือชุมชนภายนอก จึงต้องมีคนกลางในการจัดการสินค้าทั้งหมดเพื่อช่วยในการขาย ชุมชนจึงเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับชุมชนอื่นได้ ซึ่งคุณนันธิดาเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ชาวบ้านจึงให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ทั้งนี้ ลักษณะการทำงานของกลุ่มแม่บ้านมละบริได้เรียนรู้จาก มจธ.
ในชุมชนมละบริภูฟ้ามีการตั้งกฎ กติกาและข้อตกลงของชุมชน เนื่องจากเป็นชุมชนที่ตั้งใหม่บนพื้นที่ที่มีการจัดการโดยหน่วยงานของรัฐ การใช้พื้นที่จึงถูกกำหนดโดยสํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานฯ นอกจากกฎที่ชุมชนมละบริทำร่วมกับสํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ฯ แล้ว ยังมีกติกาของชุมชนที่กำหนดเป็นแนวปฏิบัติของชาวมละบริ ซึ่งกติกาดังกล่าวมีความยืดหยุ่นสูง ขึ้นอยู่กับการตกลงของสมาชิกในชุมชนเป็นรายบุคคลหรือรายกรณี รายละเอียดของกติกาดังกล่าวมีดังนี้
-
ผู้ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรม ต้องเป็นชาวมละบริหรืออยู่ในกลุ่มเครือญาติ ต้องไม่มีคดีความติดตัว ไม่มีหนี้สินจากชุมชนเดิม และต้องยึดถือกติกาของพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า
-
สมาชิกต้องปฏิบัติตามกฎของชุมชนแวดล้อม (หมู่บ้านห่างทางหลวงและหมู่บ้านผาสุก)
-
สมาชิกต้องปฏิบัติตามมติของกรรมการหมู่บ้านและผู้อาวุโส
-
ห้ามค้ายาเสพติดและเล่นการพนัน
-
ห้ามผิดผี (แต่งงานในนามสกุลเดียวกัน มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน หรือมีคู่สมรสมากกว่า 1 คน)
-
ห้ามลักทรัพย์
-
ห้ามทำร้ายร่างกายชาวมละบริด้วยกันหรือบุคคลภายนอกโดยไม่มีสาเหตุอันควร เช่น เพื่อการป้องกันตัว หรือมีอันตราย
สำหรับการลงโทษผู้ที่กระทำความผิด จะพิจารณาเป็นรายกรณีตั้งแต่ระดับต่ำสุดคือว่ากล่าวตักเตือน และสูงสุดคือขับไล่ออกจากชุมชน ในกรณีของกฎข้อที่ 2 ต้องปฏิบัติตามกฎของชุมชนแวดล้อม (หมู่บ้านห่างทางหลวงและหมู่บ้านผาสุก) เมื่อมีผู้กระทำผิดจะถูกลงโทษตามกติกาของชุมชนแวดล้อม
ความสัมพันธ์กับภายนอกชุมชน
แม้ว่ามละบริจะผ่านประสบการณ์การพบปะผู้คนมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ชาวมละบริบางส่วนก็ยังมีความเขินอายในการพบกับผู้คนภายนอก ไม่กล้าแสดงออก หรือแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ เพราะมีความหวาดระแวงคนภายนอกอยู่เสมอ ความสัมพันธ์กับชุมชนภายนอกจึงใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ แต่เนื่องจากสถานการณ์บังคับ ทำให้มละบริภูฟ้าต้องสร้างความสัมพันธ์กับภายนอก ทั้งชุมชนแวดล้อม เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชนและศาสนาจารย์ เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่รอดได้ในปัจจุบัน
1. มละบริกับชุมชนบ้านห่างทางหลวงและชุมชนบ้านผาสุก
เดิมมละบริภูฟ้าอาศัยอยู่ในพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า ซึ่งแต่เดิมเป็นของชุมชนบ้านห่างทางหลวงและชุมชนบ้านผาสุก โดยทั้ง 2 ชุมชนมอบพื้นที่คืนให้กับศูนย์ภูฟ้าพัฒนาเพื่อใช้ในกิจกรรมอนุรักษ์ การอพยพเข้ามาอยู่ของมละบริภูฟ้าจึงสร้างความไม่พอใจให้กับชุมชนแวดล้อมทั้ง 2 ชุมชน สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานฯ และเจ้าหน้าที่จากศูนย์ภูฟ้าพัฒนา จึงรับหน้าที่เป็นผู้ไกลเกลี่ยและสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างชุมชนมละบริภูฟ้าและชุมชนแวดล้อม โดยมละบริต้องปฏิบัติตามกฎของชุมชนทั้ง 2 ชุมชน โดยเฉพาะการเข้าร่วมประชุมหมู่บ้านร่วมกับหมู่บ้านผาสุก เนื่องจากมละบริภูฟ้าทั้งหมดมีทะเบียนบ้านอยู่ในหมู่บ้านผาสุก โดยมีกฎระเบียบของหมู่บ้านแวดล้อม ดังนี้
1.1 บ้านห่างทางหลวง
-
ผู้ใดทำลาย ตัดต้นไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ชุมชนและแหล่งต้นน้ำชุมชน ปรับต้นละ 500 บาท พร้อมกับส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย
-
ผู้ใดจุดไฟเผาป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ชุมชนและแหล่งต้นน้ำชุมชน ปรับ 1,000 บาท พร้อมกับส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย
-
ผู้ใดทิ้งสิ่งปฏิกูลลงน้ำ ปรับครั้งละ 500 บาท
-
ผู้ใดจับปลาในเขตอนุรักษ์หรือในช่วงฤดูวางไข่ ปรับครั้งละ 500 บาท
-
ผู้ใดลักเล็กขโมยน้อยภายในหมู่บ้าน ปรับครั้งละ 500 บาท
-
ผู้ใดทะเลาะวิวาท หรือก่อกวนผู้อื่นในงานกิจกรรมชุมชน ปรับครั้งละ 1,000 บาท
-
ผู้ใดเปิดเพลงส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่นเกินเวลา 22.00 น. ปรับครั้งละ 100 บาท
-
ผู้ใดยิงปืนหรือพกปืนในชุมชน ปรับครั้งละ 500 บาท
ทั้งนี้ หมู่บ้านห่างทางหลวง ได้ออกกฎระเบียบเพิ่มเติมสำหรับมละบริโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นผู้ย้ายเข้ามาอาศัยใหม่และไม่ได้ร่วมอนุรักษ์พื้นที่ตั้งแต่ต้น ได้แก่
-
ห้ามตัดต้นไม้ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 30 เซนติเมตรไปใช้ประโยชน์
-
ไม้ทุกชนิดที่ตัด สามารถนำไปใช้ในชุมชนเท่านั้น ห้ามจำหน่าย
-
ไม้ไผ่และหวาย สามารถจำหน่ายภายนอกชุมชนได้ในกรณีนำมาแปรรูปหรือจักสานแล้วเท่านั้น
-
ห้ามจำหน่ายสัตว์ป่า ให้กับบุคคลภายนอกชุมชน ยกเว้นปลาและแมลง
1.2 บ้านผาสุก
-
ยิงปืนในหมู่บ้าน ปรับนัดละ 500 บาท
-
ละเมิดกฎในเขตสงวนพันธุ์ปลา เบื่อปลา ช็อตปลา ระเบิดปลา ปรับรายละ 5,000 บาทต่อคนต่อครั้ง
-
ส่งเสียงดังในหมู่บ้านเกินเวลา 21.00 น. ปรับครั้งละ 500 บาท
-
ลักขโมยของ ปรับสองเท่าของราคาทรัพย์สิน
-
ทำร้ายร่างกายปรับ 500 บาท
-
ทำลายป่าต้นน้ำ ปรับรายละ 5,000 บาทต่อคนต่อครั้ง
-
จับปลาวังสงวนพิเศษ ปรับรายละ 5,000 บาทต่อคนต่อครั้ง
-
เผาป่าปรับ 2,000 บาทต่อคนต่อครั้ง
-
ห้ามฉีดพ่นสารเคมีในเขตบริเวณหมู่บ้านและชุมชน ฝ่าฝืนปรับ 500 บาท
-
ห้ามขว้างขวด ฝ่าฝืนปรับ 300 บาทต่อคนต่อครั้ง
-
ขายเหล้าเกินเวลา 21.00 น. ฝ่าฝืนปรับผู้ขาย 500 บาท ผู้ซื้อ 500 บาทต่อคนต่อครั้ง
ทั้งนี้ หมู่บ้านผาสุก ได้ออกกฎระเบียบเพิ่มเติมสำหรับมละบริโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นผู้ย้ายเข้ามาอาศัยใหม่และไม่ได้ร่วมอนุรักษ์พื้นที่ตั้งแต่ต้น ได้แก่
-
ห้ามตัดต้นไม้ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 30 เซนติเมตรไปใช้ประโยชน์
-
ไม้ทุกชนิดที่ตัด สามารถนำไปใช้ในชุมชนเท่านั้น ห้ามจำหน่าย
-
ไม้ไผ่และหวาย สามารถจำหน่ายภายนอกชุมชนได้ ในกรณีนำมาแปรรูปหรือจักสานแล้วเท่านั้น
-
ห้ามจำหน่ายสัตว์ป่า ให้กับบุคคลภายนอกชุมชน ยกเว้นปลาและแมลง
-
อนุญาตให้มละบริมีปืน 1 กระบอกต่อครอบครัว
ระยะเวลาที่ผ่านมามละบริมีการละเมิดข้อตกลงด้วยความไม่ตั้งใจบ้าง เช่น มีการนำหวายไปจำหน่ายให้กับชุมชนอื่น ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับหมู่บ้านผาสุก แต่กรรมการหมู่บ้านผาสุกก็ให้อภัย ตักเตือน และชุมชนมละบริก็ไม่ได้ทำอีก
2. มละบริภูฟ้ากับชุมชนบ้านนากอก
ชุมชนมละบริได้เช่าพื้นที่ทำนา 20 ไร่ของบ้านนากอก โดยจ่ายค่าเช่าที่เป็นข้าวเปลือกที่ผลิตได้ร้อยละ 30 และในปัจจุบันชุมชนมละบริภูฟ้าจะขยายพื้นที่ทำกินมายังบริเวณห้วยแควยันของบ้านนากอกเพิ่มเติมอีก เนื่องจากชุมชนบ้านนากอกมีพื้นที่ราบเป็นนาสำหรับปลูกข้าวได้มาก ซึ่งการปลูก 1 ครั้งเพียงพอสำหรับการบริโภคในชุมชนได้ถึง 2 ปี อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของมละบริภูฟ้าและชุมชนบ้านนากอกจะยังไม่ชัดเจนและไม่มีกฎระเบียบกำหนดเหมือนชุมชนบ้านห่างทางหลวงและบ้านผาสุก
ดังที่พบเห็นได้ ชุมชนมละบริและชุมชนแวดล้อมยังมีการแบ่งชนชั้นกันอยู่ โดยชุมชนมละบริเป็นชนชั้นที่ต่ำกว่าชุมชนแวดล้อมที่เป็นคนเมืองและชาวลัวะ ต้องทำตามกติกาของชุมชนแวดล้อมเพื่อให้เกิดการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนก่อน จึงจะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันเพื่อให้มละบริสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ได้ รวมทั้งต้องอาศัยคนกลางในการเจรจากับชุมชนแวดล้อม เช่น สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานฯ และเจ้าหน้าที่จากศูนย์ภูฟ้าพัฒนา เพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันและสร้างความร่วมมือ
มละบริบ้านภูฟ้ามีการทำกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่เกี่ยวกับการรับจ้าง กิจกรรมหาของป่าและกิจกรรมทางการเกษตร
กิจกรรมที่เป็นประเพณีของมละบริเพียงอย่างเดียวคือ ประเพณีงานรวมญาติ ซึ่งจะจัดช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยมละบริภูฟ้าจะเชิญมละบริจากหมู่บ้านอื่นมาร่วมกิจกรรม ภายในงานจะมีการแข่งขันกีฬา การละเล่นพื้นบ้านของมละบริ โดยการแข่งขันส่วนใหญ่ประยุกต์มาจากวิถีชีวิต เช่น แข่งปีนต้นไม้ แข่งหาบน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงงานหัตถกรรมของมละบริด้วย นอกจากจะได้พบเจอญาติพี่น้องแล้ว งานดังกล่าวยังทำให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการดำรงชีพ และการพัฒนาภายใต้บริบทใหม่ของแต่ละพื้นที่ด้วย อาจกล่าวได้ว่าชาวมละบริได้รับรับแรงบันดาลใจจากการจัดกิจกรรมดังกล่าวมาจากการเห็นกิจกรรมปีใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่ชุมชนเคยใกล้ชิดด้วย
ชุมชนมละบริภูฟ้ายังมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย มีกิจกรรมที่สร้างให้เกิดรายรับจากการทำมาหากิน ทั้งการรับจ้าง การใช้ประโยชน์จากของป่า และการทำการเกษตร นอกจากกิจกรรมต่าง ๆ จะสร้างรายรับให้กับครอบครัวของมละบริแล้ว ยังเป็นการสร้างทักษะการดำรงชีพให้มละบริด้วย ผ่านการแบ่งบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่หลากหลายภายในชุมชน มีการติดต่อสื่อสาร การประชุม และการสร้างข้อตกลงร่วมกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การแบ่งหน้าที่อาจยังยึดโยงกับเพศชายและหญิงอยู่ โดยผู้ชายจะรับผิดชอบเรื่องการหาอาหารจากนอกชุมชน (ผู้ชายออกไปรับจ้างนอกหมู่บ้าน) และผู้หญิงจะอยู่ในหมู่บ้าน (ผู้หญิงบางส่วนทำหัตถกรรมอยู่ภายในชุมชน) และดูแลเด็ก
1.นางอรัญวา ชาวพนาไพร เกิดเดือนปี พ.ศ. 2530 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปัจจุบันเป็นผู้นำชุมชนมละบริ และอาศัยอยู่ที่บ้านนากอก ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
เนื่องจากมละบริมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่า จึงมีการใช้ประโยชน์จากของป่าเพื่อการทำมาหากิน รวมถึงการก่อให้เกิดบริบททางเศรษฐกิจในชุมชนด้วย มละบริบ้านภูฟ้าจะหาของป่าประกอบด้วย 13 กลุ่ม 92 ชนิด มีมูลค่ารวมเท่ากับ 490,233 บาท มละบริใช้ประโยชน์จากการจำหน่ายน้ำผึ้งซึ่งสามารถมีมูลค่าสูงถึง 204,000 บาท รองลงมาคือเพื่อการบริโภคสัตว์บก เช่น หมูป่า กระรอก และแลน มีมูลค่า 102,660 และแมลง เช่น ตัวต่อ ผึ้ง และตัวอ่อนแมลง มีมูลค่า 53,795 บาท
กลุ่ม | ชนิด | ปริมาณ (กิโลกรัม) | มูลค่า (บาท) | มูลค่า (ร้อยละ) |
1.น้ำผึ้ง |
1 |
1,020 |
204,000 |
41.6 |
2.สัตว์บก |
17 |
702 |
102,660 |
20.9 |
3.แมลง |
6 |
309 |
53,795 |
11.0 |
4.พันธุ์ไม้และกล้าไม้ |
7 |
9,855 |
50,475 |
10.3 |
5.ไม้ก่อสร้าง |
7 |
1,780 |
37,300 |
7.6 |
6.จักสาน |
5 |
410 |
13,705 |
2.8 |
7.สัตว์น้ำ |
7 |
94 |
8,497 |
1.7 |
8.เห็ด |
5 |
87 |
7,137 |
1.5 |
9.พืชกินหัว |
6 |
218 |
5,118 |
1.0 |
10.ผลไม้ |
11 |
267 |
3,556 |
0.7 |
11.พืชอาหารสัตว์ |
4 |
584 |
2,325 |
0.5 |
12.พืชอาหารคน |
12 |
90 |
1,594 |
0.3 |
13.สมุนไพร |
4 |
3 |
71 |
0.0 |
รวม |
92 |
15,419 |
490,233 |
100 |
การใช้ประโยชน์จากของป่าของชุมชนมละบริภูฟ้า พ.ศ. 2561 (ที่มา : นรชาติ วงศ์วันดี, 2561)
มละบริบ้านภูฟ้าทำการทดลองเลี้ยงผึ้ง โดยเริ่มตั้งแต่การวางแผนการผลิตน้ำผึ้งของตนเอง เนื่องจากผึ้งธรรมชาติไม่มีความแน่นอน การค้นหาทำได้ยากลำบากเพราะใช้พื้นที่ร่วมกับชุมชนอื่น การเลี้ยงผึ้งจึงเป็นทางเลือกเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของรายได้ส่วนนี้ นอกจากน้ำผึ้งแล้วยังพบว่ามีของป่ากลุ่มพันธุ์ไม้และกล้าไม้ เช่น กล้วยไม้ มะขม และมะกอกป่า ที่มละบรินำต้นอ่อนมาใส่ถุงและขายให้กับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานฯ ใช้สำหรับโครงการปลูกป่า โดยมีมูลค่าทั้งหมด 50,475 บาท แต่ในปี พ.ศ. 2561 ขายได้ 25,375 บาท เท่านั้น เนื่องจากยังมีกล้าไม้บางส่วนที่ไม่ได้จำหน่ายเหลืออยู่ในหมู่บ้าน และมีแผนจะนำไปปลูกในบริเวณบ้านนากอกต่อไป
นอกจากของป่าที่สามารถจำหน่ายได้โดยตรงแล้ว มละบริบ้านภูฟ้ายังมีการนำของของป่ามาเพิ่มมูลค่าก่อนจำหน่าย เช่น เถาเผียด หรือที่มละบริเรียกว่า ทะแปต กับไม้ให้สีธรรมชาติ เช่น ใบทรอมและรากยอป่า โดยทั้งหมดมีมูลค่ารวม 13,705 บาท มละบรินำมาจักสานและถักทอจนเป็น ย่าม หมวก และพวกกุญแจ ขายให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้าและขายในระบบออนไลน์ เป็นเงิน 84,490 บาท ส่งผลให้วัตถุดิบจากป่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นความร่วมมือจากภาคเอกชนผู้ไม่ประสงค์ออกนามในการถ่ายรูปสินค้าและทำเพจ Facebook และมีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์เข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพสินค้าหัตถกรรมจนได้รับตราสัญลักษณ์ GI และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีช่วยสนับสนุนให้เกิดการศึกษาดูงาน การจัดทำแผนการผลิต และการคิดต้นทุนและกำไรของสินค้า
ปัจจัย 4 | ประเภทของป่า | มูลค่า (บาท) |
อาหาร | สัตว์บก (หมูป่า, กระรอก, แลน) | 102,660 |
อาหาร | แมลง (ผึ้ง, ต่อ, หนอนไม้ไผ่) | 53,795 |
อาหาร | สัตว์น้ำ (ปลา, เต่า) | 8,497 |
อาหาร | เห็ด (เห็ดโคน, เห็ดขอนขาว, เห็ดหูหนู) | 7,137 |
อาหาร | พืชกินหัว (มันป่า, หน่อเขือง, หน่อไม้) | 5,118 |
อาหาร | ผลไม้ป่า (มะม่วงป่า, มะสัน, มะกอกป่า) | 3,556 |
อาหาร | พืชอาหารสัตว์ (บอน, หยวกกล้วย) | 2,325 |
อาหาร | พืชอาหารคน (หัวปลี, ผักกูด, ใบชะพลูป่า) | 1,594 |
รวม | 184,682 บาท | |
ที่พักอาศัย | ไม้ก่อสร้าง (ไม้เนื้อแข็ง, ไม้ก่อ) | 37,300 |
เครื่องนุ่งห่ม | - | N/A |
ยารักษาโรค | สมุนไพร (สะอ่าน, ปาบ, น้ำสิทอง) | 71 |
รวมทั้งหมด | 222,053 บาท |
การนำของป่ามาใช้เป็นปัจจัย 4 ในชุมชนมละบริ พ.ศ. 2561 (ที่มา: นรชาติ วงศ์วันดี, 2561)
มละบริเข้าใช้ประโยชน์จากป่าที่เป็นทั้งแหล่งอาหาร วัสดุสำหรับสร้างที่พักอาศัย และยังช่วยในการลดรายจ่าย สามารถกล่าวได้ว่ามละบริยังมีความใกล้ชิดกับป่ามาก เมื่อวิเคราะห์สภาพป่าที่มละบริใช้ประโยชน์ 96,797 ไร่ พบว่ามละบริสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้จริงประมาณ 83,661 ไร่ (ส่วนอื่นเป็นบริเวณชุมชน) ทั้งหมดเป็นพื้นที่ป่าที่ใช้ร่วมกับชุมชนบ้านห่างทางหลวงและบ้านผาสุก มีสภาพเป็นป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าหญ้าและแหล่งน้ำ
ภาษาที่มละบริบ้านภูฟ้าใช้เพื่อพูดคุยกับคนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันคือภาษามละบริ อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องติดต่อกับคนภายนอกที่อาศัยอยู่ในชุมชนแวดล้อม ชาวมละบริต้องใช้ภาษาไทย รวมถึงเรียนรู้ที่จะใช้ตัวอักษรภาษาไทยด้วย
ชุมชนมละบริบ้านภูฟ้ามีความสัมพันธ์อันดีกับสํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานฯ มาโดยตลอด ซึ่งมี "นายฤทธี ลือโฮ้ง" (หัวหน้าแบน) เป็นหัวหน้าสำนักงาน ทำงานร่วมกับศูนย์ภูฟ้าพัฒนาและมละบริภูฟ้าอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ พ.ศ. 2552 ทำหน้าที่ช่วยวางแผนการจัดตั้งชุมชน ช่วยเคลื่อนย้ายชุมชนจากบ้านห้วยฮ่อมมายังศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ในช่วงต้นได้ช่วยปรับพื้นที่สำหรับสร้างเพิงพักชั่วคราว นอกจากนี้ ยังช่วยเลือกพื้นที่และปรับพื้นที่ในการสร้างบ้านเมื่อมีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้าและเมื่อมีการเคลื่อนย้ายประชากรจากบ้านห้วยฮ่อมมายังศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า ทำให้ชุมชนมละบริต้องใช้พื้นที่ป่าในการหาทรัพยากรร่วมกับชุมชนอื่น ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดความไม่พอใจของชุมชนแวดล้อม ดังนั้น สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานฯ จึงช่วยทำหน้าที่สร้างข้อตกลงร่วมกันเรื่องการใช้ประโยชน์และการจัดการทรัพยากรจากป่าของชุมชนมละบริภูฟ้ากับชุมชนแวดล้อม สถานการณ์นี้ส่งผลกระทบให้เกิดการจัดตั้งกรรมการชุมชนเพื่อคอยประสานงานระหว่างมละบริภูฟ้าและชุมชนแวดล้อม
ศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้าเป็นโครงการที่จัดตั้งโดยสถาบันพระมหากษัตริย์และหน่วยงงานของรัฐ มละบริภูฟ้าจึงมีความสัมพันธ์กับหน่วยงานรัฐมาโดยตลอดในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่การย้ายจากบ้านห้วยฮ่อมมายังศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า การสร้างบ้านเรือน การฝึกอาชีพ รวมถึงยังมีรายรับส่วนใหญ่มาจากการจ้างงานของหน่วยงานภาครัฐ ในตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ พ.ศ. 2561) มีหน่วยงานต่าง ๆ ทำงานร่วมกับมละบริภูฟ้า มีรายละเอียดดังนี้
ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา
มี "นายธีรวุฒิ ปัทมาศ" (คุณโน๊ต) เป็นผู้ประสานงาน โดยศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ทำงานร่วมกับมละบริมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่มีการชักชวนมาฝึกอาชีพในช่วงปี พ.ศ. 2550 และสร้างศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้าในปี พ.ศ. 2551 รับผิดชอบเรื่องการสร้างชุมชน สร้างอาชีพ สร้างศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้าพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของมละบริ เป็นที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับมละบริของนักวิชาการที่สนใจ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่แสดงนิทรรศการของมละบริ
มีการจ้างงานให้มละบริทำงานเป็นลูกจ้าง ทำความสะอาด ช่วยจัดสวน ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของศูนย์ภูฟ้าพัฒนาและศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า โดยมีค่าจ้างให้กับมละบริทุกครอบครัว เดือนละ 2,080 บาท ใน พ.ศ. 2559-2560 จำนวนครัวเรือนมละบริภูฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 17 ครอบครัวเป็น 19 ครอบครัว ทางศูนย์ภูฟ้าพัฒนาจึงมีการของบประมาณเพิ่มเติมจากทางสำนักงานส่วนกลาง และประชุมกันว่าจะไม่เพิ่มเงินในส่วนนี้อีกแล้ว แต่จะให้เป็นเงินลงทุนแก่มละบริ 19 ครอบครัวเป็นเงิน 41,600 บาทต่อเดือน แต่ปรากฎว่าหลังจาก พ.ศ. 2560 มละบริภูฟ้าก็เริ่มลดจำนวนประชากรลงจนกลับมาเหลือเพียง 17 ครอบครัว ทางศูนย์ภูฟ้าพัฒนาจึงกลับมาให้ค่าจ้างแบบเดิม ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาและเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ฯ เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลมละบริมาตลอด 10 ปี จึงมีความใกล้ชิดกับชุมชนมละบริภูฟ้ามาก คอยให้ความช่วยเหลือ อำนวยให้เกิดความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต และเป็นแหล่งรายได้หลักของชุมชน นอกจากนี้ ยังเป็นหน่วยงานที่ดูแลประสานงานให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาทำงานเพื่อให้ชุมชนมละบริเกิดความมั่นคงด้านอาหาร ด้านอาชีพ ด้านรายได้ ด้านสุขภาพอนามัย ด้านการศึกษา ด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรม
สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานฯ
ทางหน่วยงานมีส่วนสำคัญในเรื่องของการสร้างรายรับให้กับชุมชน ในช่วงแรก ได้ว่าจ้างให้มละบริทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ ในการสำรวจพื้นที่ด้านความอุดมสมบูรณ์ของพืชในพื้นที่ป่าใกล้กับศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ต่อมาได้จ้างมละบริผู้ชาย 10 คนทำงานเป็นลูกจ้างโครงการที่สำนักงานฯ โดยทำงานขนกล้าไม้ไปปลูกในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในเขตตำบลภูฟ้าและสำรวจพื้นที่ป่า นอกจากการจ้างงานตามโครงการแล้ว ทางสำนักงานฯ ยังรับซื้อกล้าไม้ป่าที่มละบริเพาะอีกด้วย
ใน พ.ศ. 2558 เมื่อมละบริภูฟ้าต้องการขยายพื้นที่ทำเกษตร โดยเริ่มจากปลูกข้าวไร่และข้าวนา ทางสำนักงานฯ เป็นผู้ประสานงานขอเช่าพื้นที่กับชุมชนแวดล้อม โดยได้เช่าพื้นที่บริเวณบ้านนากอก ต่อมาใน พ.ศ. 2561 มละบริต้องการขยายพื้นที่ทำมาหากินเพิ่มเติมและพื้นที่ตั้งชุมชน ทางสำนักงานฯ ก็เป็นผู้ดำเนินการประสานให้เกิดการขอใช้ที่ดิน 123 ไร่ บริเวณหมู่บ้านนากอกและยังช่วยปรับพื้นที่ให้ชุมชนสามารถทำเกษตรและสร้างชุมชนได้ ซึ่งมีพื้นที่สวนอยู่ที่ชานเมืองของจังหวัดน่าน นอกจากนี้ หน่วยงานฯ มักจะจ้างผู้ชายมละบริ ไปช่วยทำสวนของตนเองเมื่อยามที่มละบริว่างเว้นจากการทำงานอื่น
รายรับและรายจ่ายของมละบริบ้านภูฟ้า
รายรับของมละบริมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะรายรับจากการทำมาหากิน (รายได้จากการรับจ้าง รายได้จากการหาของป่า และรายได้จากการทำเกษตร) แต่รายรับหลักคือการรับจ้าง และพบว่าส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานแบบอุปถัมภ์ ในขณะเดียวกันต้องพิจารณาถึงการเพิ่มรายรับจากแหล่งใหม่เพื่อความยั่งยืนของรายรับหรือการพึ่งตนเองด้านรายรับด้วย ในอนาคตชาวมละบริคิดว่าการเพิ่มทักษะอาชีพเป็นอีกทางเลือกที่สำคัญในการสร้างรายรับ ผู้ชายควรศึกษาด้านอาชีพช่างพื้นฐาน ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า และช่างซ่อมรถ เป็นต้น ผู้หญิงควรศึกษาเรื่องคหกรรม การทำอาหาร การทำขนม และการทำหัตถกรรม
ส่วนด้านรายจ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เป็นรายจ่ายที่สำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะการชำระหนี้สินซึ่งมละบริค้างชำระมานาน รายจ่ายที่ลดลงคือ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ สาเหตุที่รายจ่ายส่วนนี้ลดลงเพราะมละบรินำทักษะทางการเกษตรในการวางแผนการผลิตมาใช้ในกิจกรรมของชุมชน ทำให้สามารถผลิตข้าว ผัก เนื้อสัตว์ สำหรับบริโภคเองได้บางส่วน จากรายจ่ายที่ลดลงในเรื่องของค่าอาหารที่เกิดจากการผลิตได้เองนั้น ทำให้เห็นถึงแนวโน้มการพึ่งตนเองมากขึ้น
มละบริภูฟ้ามีความสัมพันธ์อันดีกับหมอสอนศาสนาชาวเยอรมัน ชื่อ Mr. Friedhard Lipsius โดยมละบริเรียกว่าลุงคำ มละบริมีการเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ เป็นพิธีที่จัดแบบง่าย ๆ คือมีการรับประทานอาหารร่วมกันและสวดขอบคุณพระเจ้า การเข้าร่วมนั้นไม่เพียงแต่เป็นเรื่องศาสนาอย่างเดียว แต่เป็นการได้พบกับลุงคำซึ่งเปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่ที่คบหากันมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่สมัยมละบริยังอาศัยอยู่ที่บ้านห้วยฮ่อม โดยลุงคำเป็นศาสนาจารย์ที่อยู่ภายใต้โครงการ NTM เช่นเดียวกับศาสนาจารย์บุญยืน ภายหลังมีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องแนวคิดการทำงานร่วมกับมละบริ ทำให้ลุงคำแยกตัวออกมาอยู่ที่จังหวัดน่าน คอยให้ความช่วยเหลือมละบริเรื่องการหาหลักสูตรอบรมระยะสั้น และให้ที่พำนักกับมละบริจากห้วยฮ่อมที่เดินทางมาอบรมที่จังหวัดน่านด้วย
ในช่วงต้นของการย้ายจากบ้านห้วยฮ่อมมายังศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ลุงคำเป็นผู้ให้คำปรึกษาเรื่องการตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่อง เป็นผู้ที่ชาวมละบริไว้ใจ เชื่อใจ และเป็นผู้ที่ยังให้ความช่วยเหลือชุมชนในทุกด้าน เช่น ช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาทางการเงิน พาไปสมัครเรียน พาไปฝึกอาชีพ ดูแลเมื่อยามเจ็บป่วย ให้ที่พักอาศัยในเขตตัวเมืองน่าน รวมไปถึงเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินชีวิตด้วย
สาธารณสุขอำเภอบ่อเกลือและโรงพยาบาลอำเภอบ่อเกลือ
เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยของชุมชนมละบริภูฟ้า นำโดย "นายชัยวุฒิ วันควร" ซึ่งเริ่มทำงานกับชุมชนมละบริภูฟ้าผ่านเจ้าหน้าที่และบุคลากรของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลภูฟ้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน เข้าสำรวจสุขภาพอนามัยของชุมชนทุก 6 เดือน และคอยติดตามอาการของมละบริที่เจ็บป่วยอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพบว่ามละบริภูฟ้าคนใดเป็นโรคร้ายแรงหรือบาดเจ็บหนัก และไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอต่อการรักษา สำนักงานสาธารณสุขฯ จะเป็นผู้นำเสนอต่อศูนย์ภูฟ้าพัฒนา เพื่อขอให้เป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่จำเป็น
นอกจากนี้ ทางสำนักงานสาธารณสุขฯ ยังอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทางอีกด้วย นอกจากตรวจสุขภาพทุกปีแล้ว สำนักงานสาธารณสุขจะสุ่มตรวจสภาพแวดล้อมภายในชุมชน เพื่อหาสาเหตุของการเป็นโรคต่าง ๆ เช่น หมู่บ้านปลูกต้นกล้วยมากเกินไปจนพื้นที่โดยรอบหมู่บ้านมีความชื้น อาจทำให้เด็กเป็นหวัดได้ง่าย ทางสำนักงานสาธารณสุขจะขอความร่วมมือตัดบางส่วนออกเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของเด็ก และยังมีการแจกทรายอะเบทให้ชุมชนเพื่อใช้ในการกำจัดยุงด้วย
สำนักงานสาธารณสุขยังติดต่อขอรับบริจาควัสดุอุปกรณ์สำหรับทำห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะให้กับชุมชน สอนวิธีทำความสะอาด นำรองเท้ามาแจกให้กับคนในชุมชน และติดตามผลเป็นระยะ ผลตรวจสุขภาพของมละบริไม่พบว่ามีชาวบ้านคนใดเป็นพยาธิ และเพื่อให้ชุมชนมละบริสามารถดูแลตนเองได้เบื้องต้น สำนักงานสาธารณสุขได้อบรมชาวมละบริภูฟ้า 1 คน คือ "นางสาวโสภา ศรีชาวป่า" ที่เข้ารับการฝึกอบรมเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การทำแผล การติดต่อเพื่อส่งตัวผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาล และพบว่านางสาวโสภาสามารถดูแลชุมชนได้อย่างทั่วถึง
สุขภาพอนามัยและการรักษาพยาบาลของคนในชุมชน
ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 มละบริย้ายจากบ้านห้วยฮ่อมมายังศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า แต่ยังไม่มีการสำรวจอาการเจ็บป่วยทั้งหมดของคนในชุมชนเป็นประจำ การดูแลสุขภาพทั้งหมดเป็นเพียงการดูแลตนเองเบื้องต้น มละบริจะเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมื่อเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยมากหรือเมื่อคลอดบุตรเท่านั้น ทางสาธารณสุขและโรงพยาบาลอำเภอบ่อเกลือจะมาเยี่ยมชุมชนเป็นบางครั้ง โดยจะแจกทรายอะแบทให้กับชุมชน และยังช่วยอบรม อสม. ที่เป็นคนมละบริไว้คอยประสานงาน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชุมชนจะมี อสม. แล้ว แต่ก็ทำได้เพียงปฐมพยาบาลเบื้องต้นเท่านั้น จนกระทั่ง พ.ศ. 2559 ทางชุมชนร่วมกับ มจธ. ติดต่อสาธารณสุขและโรงพยาบาลอำเภอบ่อเกลือ เพื่อให้ช่วยตรวจสุขภาพประจำปีอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ชาวมละบริมีอาการเจ็บป่วยที่ยังประสบปัญหาเรื่อยมา ส่วนใหญ่เป็นอาการที่รักษาไม่หาย ได้แก่ หูตึง เบาหวาน พิการทางสายตา หอบหืด หรืออาการที่ป่วยหนัก เช่น เป็นโรคลิ้นหัวใจ ทางสาธารณสุขจึงขอให้ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาทำเรื่องขอให้เป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ ส่วนอาการเจ็บป่วยที่รักษาแล้วหาย ได้แก่ กลากเกลื้อนและเหา ซึ่งแพทย์สามารถให้ยาและรักษาอาการในชุมชนได้ทันที จึงจะไม่พบอาการป่วยดังกล่าวในมละบริ
นอกจากนี้ ยังพบอาการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นคือ ไข้รากสาดใหญ่ เกิดจากการโดนตัวไรอ่อนกัดซึ่งอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ และพุ่มไม้เตี้ย ๆ มักจะไต่ตามยอดหญ้าและกระโดดเกาะตามเสื้อผ้าและกัดผิวหนัง จะกัดคนเพื่อกินน้ำเหลืองเป็นอาหาร ส่วนใหญ่ชาวมละบริจะโดนกัดโดยไม่รู้ตัวเมื่อเข้าป่าหาน้ำผึ้งช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมทุกปี แพทย์แนะนำวิธีแก้ไขคือเมื่อเข้าป่าแล้ว ให้รีบทำความสะอาดร่างกายและนำเสื้อผ้าไปทำความสะอาดทันทีเพื่อกำจัดตัวไรอ่อนเมื่อกลับถึงบ้าน รวมถึงยังพบอาการเจ็บป่วยใหม่ คือ โรคลำไส้อักเสบ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุและจะต้องมีการตรวจสอบหาสาเหตุต่อไป (ข้อมูล ณ พ.ศ. 2561)
การบริโภคอาหาร
ชุมชนมละบริมีการบริโภคพืชกินหัวที่เก็บหาจากป่า เช่น มันหรือเผือกที่นำมาทำเป็นอาหาร รวมถึงบริโภคผักและผลไม้ที่ชุมชนสามารถปลูกได้ รวมทั้งบริโภคเนื้อสัตว์จากสัตว์ที่ตนเลี้ยงไว้และที่หาเพิ่มจากป่าได้ อย่างไรก็ตาม มละบริยังต้องการพื้นที่ในการทำการเกษตรเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรและเนื้อสัตว์ที่เพียงพอต่อการบริโภค ทำให้มละบริจำเป็นต้องพึ่งพิงการซื้อจากภายนอกหรืออาจต้องหาของป่าเพิ่มเติม ดังนั้น เห็นได้ชัดว่ามละบริประสบปัญหาการบริโภคอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงทำให้ชุมชนให้ความสนใจเรื่องความมั่นคงด้านอาหารของชุมชน รวมถึงการสร้างแหล่งอาหารของตนเองเพื่อให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี เพราะเชื่อว่าเมื่อชุมชนสามารถผลิตอาหารได้เองก็จะสร้างการพึ่งตนเองจนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนต่อไป
วัย | จำนวน (คน) | ข้าวสวย (กิโลกรัมต่อปี) | ผัก (กิโลกรัมต่อปี) | เนื้อสัตว์ (กิโลกรัมต่อปี) | ผลไม้ (กิโลกรัมต่อปี) |
เด็ก | 27 |
2,956.5 |
1,123.5 |
887.0 |
837.7 |
วัยรุ่น | 12 |
1,752 |
876.0 |
591.3 |
372.3 |
ผู้ใหญ่ | 27 |
3,942 |
1,971.0 |
1,330.4 |
837.7 |
วัยชรา | 5 |
547.5 |
208.1 |
164.3 |
155.1 |
รวม | 71 |
9,198.0 |
4,178.5 |
2,972.9 |
2,202.8 |
ปริมาณอาหารที่มละบริภูฟ้าควรบริโภคต่อปี (ที่มา : นรชาติ วงศ์วันดี, 2565)
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอบ่อเกลือ (กศน. อำเภอบ่อเกลือ)
มี "นายปราโมทย์ หมู่พยัคฆ์" เป็นผู้ดูแล กศน. อำเภอบ่อเกลือ ซึ่งเริ่มทำงานกับชุมชนมละบริภูฟ้ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 และตั้งห้องเรียนบริเวณศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้าใน พ.ศ. 2553 โดย กศน. ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอน 2 รูปแบบ คือ 1) การเรียนในรูปแบบช่วงชั้นต่าง ๆ ซึ่งสร้างห้องเรียนและส่งครู 3 ท่านมาอยู่ประจำ จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงระดับมัธยมปลาย โดยในชั้นเด็กเล็กมี "นางนันธิดา ชาวพนาไพร" และอาสาสมัครชุมชนมาช่วยครูในการดูแลเด็ก และ 2) การจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ ครูจะใช้ช่วงเวลาในตอนเย็นของวันอังคารในการช่วยสอนผู้ไม่รู้หนังสือที่เป็นผู้ใหญ่ในชุมชน ให้สามารถใช้ภาษาไทยในการอ่านและเขียนในระดับพื้นฐานได้
กศน. อำเภอบ่อเกลือ พยายามปรับปรุงหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อให้เข้ากับบริบทชุมชนของมละบริ โดยบรรจุวิชาเสริมหลักสูตรเป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนต้องไปเรียนรู้ร่วมกับชุมชน โดยมีชาวมละบริเป็นคุณครูพิเศษ 4 วิชา ได้แก่ ภาษามละบริ งานหัตถกรรม วิถีชีวิต และสิ่งดีงาม ภายหลังใน พ.ศ. 2559 มละบริสนใจส่งบุตรหลานไปเรียนในโรงเรียนภายนอกชุมชน เริ่มจากการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนบ่อเกลือ ต่อมาชาวมละบริก็ส่งไปเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนบ่อเกลือเช่นเดิม จน พ.ศ. 2561 จึงเริ่มส่งบุตรหลานไปเรียนในระดับเด็กเล็กและประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านห่างทางหลวง ซึ่งแม้ว่าเด็กส่วนใหญ่จะไปเรียนที่โรงเรียนนอกชุมชน แต่มีเด็กบางส่วนที่ยังเรียนที่โรงเรียน กศน. ในหมู่บ้าน ทำให้ทาง กศน. อำเภอบ่อเกลือ จึงยังจัดห้องเรียนภายในศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้าเช่นเดิม
นอกจากการจัดการศึกษาให้กับชุมชนแล้ว กศน. ยังมีบทบาทในการรวบรวมเนื้อหาต่าง ๆ ช่วยชุมชนเลือกฐานการเรียนรู้ และนำเสนอนิทรรศการภายในศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้าเพื่อเป็นจุดเรียนรู้แก่นักท่องเที่ยว นักวิชาการ และผู้สนใจที่เดินทางมายังศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า กล่าวได้ว่า กศน. อำเภอบ่อเกลือ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการจัดการศึกษาให้กับชุมชนมละบริภูฟ้า และจัดการเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการภายในศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า ทำให้เกิดผลกระทบในการประชาสัมพันธ์ บอกเล่าเรื่องราว และให้ความรู้เกี่ยวกับมละบริทั้งในอดีตและปัจจุบัน สร้างความเข้าใจในตัวตนที่มละบริเป็นให้กับผู้สนใจได้เป็นอย่างดี
สำนักงานการศึกษาและพื้นที่การเรียนรู้ของคนในชุมชน
เดิมมละบริเรียนรู้ในลักษณะที่เป็นการกล่อมเกลาทางสังคม เป็นระบบที่เน้นทักษะการดำรงชีพ ผู้ชายจะต้องเรียนรู้การล่าสัตว์ การหาผึ้ง การหาที่พักอาศัย ส่วนผู้หญิงจะต้องเรียนรู้การสร้างเพิงพัก การทำย่าม การหาผัก การหาของป่า และการคลอดลูก โดยทั้งหมดจะเรียนกับพ่อแม่ของตนเอง โดยพ่อแม่จะพาลูกของตนเองทำกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อเด็กมีทักษะทั้งหมดจะถือว่าโตเป็นผู้ใหญ่ พ่อแม่จะอนุญาตให้ออกเรือนได้ ความรู้ที่เป็นทักษะต่าง ๆ นอกจากจะเป็นไปเพื่อการดำรงชีพแล้ว ยังเป็นข้อบ่งชี้ของการเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เมื่อเข้าสู่ยุคลงหลักปักฐาน
ช่วง พ.ศ. 2521-2530 ภาครัฐส่งเสริมให้มละบริเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรเพื่อการยังชีพ ทั้งการผลิตเพื่อบริโภคและจำหน่าย นอกจากภาครัฐแล้ว มละบริยังได้เรียนรู้การปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น กะหล่ำปลีและข้าวโพดจากกลุ่มม้ง เนื่องจากต้องรับจ้างทำงานดังกล่าว ระยะต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2531-2550 เด็กมละบริได้รับการศึกษาจาก กศน. ซึ่งเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้มละบริอ่านออกเขียนได้ สามารถติดต่อสื่อสารกับบุคคลต่าง ๆ ได้
นอกจากนี้ ที่บ้านบุญยืนยังมีโครงการท่องเที่ยวที่เปิดให้คนได้เยี่ยมชมหมู่บ้าน เด็กมละบริจึงได้เรียนรู้การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่างวัฒนธรรมในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดเป็นทักษะที่เกี่ยวกับการต้อนรับนักท่องเที่ยว ถึงแม้ว่าจะมีการเพิ่มเติมทักษะด้านการเกษตรและทักษะทางวิชาการ แต่มละบริก็ยังมีระบบการเรียนรู้แบบเดิมที่เป็นทักษะการดำรงชีพอยู่ เนื่องจากยามว่างของมละบริทั้งชายและหญิงยังนิยมเข้าป่าเพื่อเก็บของป่าล่าสัตว์เป็นการผ่อนคลายและสร้างรายได้เสริม ซึ่งทุกครั้งจะนำบุตรหลานไปด้วย การเรียนรู้ในรูปแบบดังกล่าวจึงยังคงอยู่ในชุมชน ในปัจจุบันมละบริภูฟ้ามีการศึกษาในระบบปกติ ทั้งในโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย นอกจากนี้ยังพบพื้นที่การเรียนรู้ที่เป็นทักษะของชาวบ้านซึ่งต่อยอดมาจากความรู้เดิม
การศึกษาในโรงเรียน
มีมละบริที่กำลังศึกษาอยู่ 29 คน แบ่งเป็นการศึกษาในระบบ 20 คนและการศึกษาตามอัธยาศัย 9 คน มีผู้สำเร็จการศึกษา 26 คน โดยมีมละบริภูฟ้าที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี 5 คน ทั้งหมดได้รับทุนพระราชทานจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ และจบสาขาที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตร
รายละเอียด |
ชาย |
หญิง |
รวม |
ร้อยละ |
ระดับประถมศึกษา |
1 |
1 |
2 |
7.7 |
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น |
5 |
2 |
7 |
27 |
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย |
6 |
6 |
12 |
46 |
ระดับปริญญาตรี |
1 |
4 |
5 |
19.3 |
รวม |
13 |
13 |
26 |
100 |
ผู้สำเร็จการศึกษาของชุมชนมละบริภูฟ้า (นรชาติ วงศ์วันดี, 2561)
การศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะอาชีพ
มละบริภูฟ้ามีระบบการเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ในชุมชน ทำให้เกิดอาชีพ รายรับ และการพัฒนาชุมชน เช่น การทำผลิตภัณฑ์จากเถาวัลย์ป่าเป็นย่ามและหมวก การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน การพัฒนาฝีมือด้านอาชีพช่างต่าง ๆ และการพัฒนากลุ่มผู้ผลิตน้ำผึ้งของมละบริ เป็นต้น
การกล่อมเกลาทางสังคม
นอกจากการเรียนรู้ในระบบการศึกษาปกติและการเรียนรู้ที่เป็นทักษะแล้ว ยังพบการเรียนรู้ผ่านการกล่อมเกลาทางสังคมของมละบริที่มีลักษณะดังนี้
1. การกล่อมเกลาทางสังคมทางตรง คือ การสอนเด็กในหมู่บ้านเกี่ยวกับภาษามละบริในระดับก่อนประถมวัย เด็กมละบริจะได้เรียนรู้เรื่องภาษาอย่างเป็นระบบทั้งการพูด การอ่าน การเขียน และการสื่อความหมาย ในส่วนของครอบครัว เมื่อเด็กมละบริเริ่มช่วยเหลือตนเองได้ ผู้ปกครองจะพาเข้าป่าในช่วงวันหยุด เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ทักษะการอยู่กับป่า ทั้งการหาของป่า การประกอบอาหาร และวิธีการเดินทาง โดยพ่อจะสอนลูกผู้ชายและแม่จะสอนลูกผู้หญิง
2. การกล่อมเกลาทางสังคมทางอ้อม จะพบลักษณะการให้ความเคารพต่อสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน การแบ่งปันในชุมชน การช่วยเหลืองานของชุมชนอยู่เสมอในกลุ่มผู้ใหญ่ รวมถึงมีเด็ก ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมที่สามารถช่วยเหลือได้ ซึ่งเป็นการรับรู้และเลียนแบบพฤติกรรมต่าง ๆ
3. การกล่อมเกลาทางสังคมผ่านข้อกำหนดและกติกาของชุมชน ในช่วง 10 ปีที่มละบริอาศัยในพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรม มีการย้ายเข้าออกของมละบริอยู่เสมอ ซึ่งการอยู่ร่วมกันจำเป็นต้องมีข้อกำหนดเพื่อความเรียบร้อย มละบริได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในชุมชนและร่วมกับภายนอก ถือเป็นอีกลักษณะการเรียนรู้ของชุมชนมละบริ โดยการเรียนรู้ลักษณะนี้จะสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนด้วย
ระบบคิดและความเชื่อของชุมชน
มละบริบ้านภูฟ้ามีความเชื่อพื้นฐานหลัก คือ ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดไม่ใช่ของมละบริแต่เป็นของสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ผีที่สิงสถิตในพื้นที่นั้นหรือบริเวณนั้น การนำทรัพยากรบริเวณนั้นมาใช้เพียงคนเดียวจะทำให้ไม่สบายเนื่องจากทรัพยากรไม่ใช่ของตนเอง จึงต้องมีการแบ่งปันไปยังคนในชุมชนเพื่อให้ทุกคนได้ใช้ทรัพยากรร่วมกัน ผีจึงจะไม่ทำอันตราย บางกรณีชาวมละบริล่าสัตว์ขนาดใหญ่มา จะต้องมีพิธีกรรมในการแลกเปลี่ยนสัตว์ป่ากับสิ่งเหนือธรรมชาติด้วย ระบบคิดและความเชื่อดังกล่าวนี้ ส่งผลให้มละบริมีระบบการจัดการชุมชนเป็นแบบทรัพย์สินร่วม เมื่อมีการลงแรงร่วมกันจะนำผลผลิตมาแบ่งปันกัน เช่น ข้าวและผัก เป็นต้น
การแบ่งปันการใช้ประโยชน์ของชุมชน
มละบริมีระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ โดยเป็นการแบ่งปันทั้งทรัพยากร แรงงาน และความรู้ ซึ่งการแบ่งปันเริ่มต้นจากความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ผี (ซินเร) ซึ่งผีจะอยู่กับพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ผีฟ้า (ซินเรกราน) ผีดิน (ซินเรแบะ) ผีที่อยู่ตามภูเขา (ซินเรจูโบ) เป็นต้น ความเชื่อดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ อยู่ภายใต้อำนาจการดูแลของสิ่งเหนือธรรมชาติ ทรัพยากรทั้งหมดจึงตกอยู่ในทรัพย์สินส่วนรวม ไม่สามารถนำมาเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวได้ แม้ว่าจะเก็บหามาแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น หมี กวาง และหมูป่า นอกจากจะต้องแบ่งปันให้คนในชุมชนแล้ว จะต้องมีการแลกเปลี่ยนเนื้อสัตว์กับสิ่งเหนือธรรมชาติผ่านพิธีกรรมด้วย เช่น การทำหมากเงิน (ไม้ไผ่สานเป็นวงกลมร้อยเป็นพวง) แทนของมีค่าเพื่อแลกกับสัตว์ที่หามาได้ จะเห็นได้ว่ามละบริมีคติความเชื่อเรื่องการแบ่งทรัพยากรที่ผูกกับการเคารพนับถือผี ทำให้การแบ่งปันเป็นลักษณะการใช้ชีวิตของคนทั้งชุมชน นอกจากนี้ ยังมีลักษณะการเก็บหาของป่าที่เฉพาะตัว เช่น ผู้ชายจะออกล่าด้วยกันเป็นกลุ่ม ขนาดของกลุ่มจะแตกต่างกันไปตามรอยสัตว์ที่พบ เช่น หมูป่าจะล่า 4-5 คน ส่วนแลนและอ้นจะออกล่า 2 คน
เมื่อได้สัตว์จากการล่าก็จะมอบส่วนสำคัญของสัตว์ เช่น เล็บมือหรือเขี้ยวให้กับผู้ที่เริ่มต้นล่าคนแรก ส่วนที่เหลือจะนำมาแบ่งเท่ากันหมด และมีบางส่วนนำกลับไปแบ่งปันคนในหมู่บ้าน ส่วนผู้หญิงจะเก็บหาของป่าใกล้บริเวณบ้าน ของป่าที่เก็บหาจะเป็นพืชผัก ไม้ฟืน และไม้สำหรับจักสาน ซึ่งส่วนใหญ่ไปหาเพียงลำพัง เวลาได้ของป่ามาจึงไม่ได้แบ่งปันใคร
เนื่องจากกฎกติกาที่มีร่วมกันระหว่างชุมชน ทำให้ไม่พบการตัดไม้ใหญ่หรือการเผาไฟเพื่อหาเห็ดหรือไล่สัตว์ป่า รวมไปถึงการวางยาเบื่อและการใช้ระเบิดในการหาปลา พื้นที่นี้ยังอยู่ในการดูแลของหน่วยงานรัฐที่ดูแลอนุรักษ์ป่าซึ่งอนุญาตให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากป่าในลักษณะที่ธรรมชาติสามารถฟื้นตัวได้ อีกทั้งชาวบ้านได้แบ่งพื้นที่ระหว่างที่ทำกินกับพื้นที่ป่าอย่างชัดเจน ป่าจึงจะคงความอุดมสมบูรณ์ และเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นใจว่าชุมชนมละบริจะมีพื้นที่ป่าที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน กรรมการหมู่บ้านจึงเสนอให้มีการทำการแบ่งพื้นที่ใหม่บริเวณห้วยแควยันประมาณ 50 ไร่สำหรับทำพื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งคาดว่าชุมชนมละบริเริ่มแบ่งพื้นที่ในช่วงปี พ.ศ. 2565-2566 ซึ่งเป็นช่วงที่มละบริจะย้ายบ้านพักและคนบางส่วนไปยังบริเวณห้วยแควยัน โดยภายในป่าจะมีลักษณะเป็นป่าที่มีการปลูกพืชที่มละบริใช้ประโยชน์ เช่น ไม้ไผ่ หวาย ไม้กระถิน และไม้ก่อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังปลูกพืชที่เป็นอาหารของผึ้ง เช่น ต้นเอนอ้าเพื่อให้สามารถเลี้ยงผึ้งได้ด้วย เมื่อระยะเวลาผ่านไปประมาณ 5 ปี ป่าผืนดังกล่าวก็จะสามารถเติบโตและให้ประโยชน์กับชุมชนได้
การควบคุมการใช้ทรัพยากร
มละบริไม่มีรูปแบบการควบคุมจัดการที่แน่นอน อาศัยลักษณะความเชื่อและการตัดสินใจของผู้อาวุโสเป็นหลักในการจัดการ โดยมละบริจะกำหนดพื้นที่เก็บหาของป่าตามความเชื่อและลักษณะทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่นั้น ได้แก่
-
กรูม คือป่าดงดิบเย็น ชาวมละบริจะนิยมล่าสัตว์ใหญ่ เช่น หมี เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์มาก
-
จึแจะ คือป่าผลัดใบหรือป่าเบญจพรรณ ในหน้าฝนมละบริจะล่าสัตว์บริเวณนี้เนื่องจากเห็นรอยเท้าได้ง่าย
-
ตึเตาะ เป็นป่าที่มีอายุมาก คล้ายกับป่าดิบแล้ง ชาวมละบริจะนิยมเก็บหาผึ้งบริเวณป่านี้
-
ป่าช้าและป่าต้นน้ำ มละบริจะหลีกเลี่ยงการเก็บหาเพราะเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของผีหรือคนตาย
แม้ว่ามละบริจะมีการเก็บหาอย่างเสรี แต่มละบริมีเครื่องมืออย่างง่ายและดั้งเดิม เช่น มีดและหอก ทำให้การเก็บหาค่อนข้างจำกัดและมีจำนวนคนน้อย ในส่วนของวิธีการเก็บหา จะเหลือทรัพยากรบางส่วนไว้ เพื่อให้ธรรมชาติสามารถฟื้นตัวได้ เช่น การเก็บหาผึ้งแค่เพียง 3 เดือนและนำรังผึ้งมาใช้เพียงร้อยละ 30 ของรัง โดยใช้ควันไล่ผึ้งขณะขึ้นไปตัดรังเท่านั้น ไม่ได้ทำร้ายผึ้งด้วยไฟ หรือการขุดมันที่เหลือตอไว้ให้มันเจริญเติบโตได้ต่อ
มละบริบ้านภูฟ้ามีความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนและเพิ่มการพึ่งพาตนเอง ได้แก่
สำนักงานเกษตรอำเภอบ่อเกลือ
สำนักงานเกษตรอำเภอบ่อเกลือมี "นางสาวประทิน มณีรัตน์" เป็นผู้ประสานงาน เข้ามามีบทบาทกับชุมชนมละบริในช่วง พ.ศ. 2560 ทำงานเกี่ยวกับการอบรมให้ความรู้ด้านการปรับปรุงดิน โดยสอนวิธีการทำปุ๋ยจากเศษวัสดุทางการเกษตรให้กับกลุ่มมละบริ มละบรินำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมมาต่อยอดเพื่อทำปุ๋ยหมักใช้เองในชุมชน
ต่อมาใน พ.ศ. 2561 มละบริได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานเกษตรอำเภอบ่อเกลือ ด้านการช่วยเหลือประสานงานในการขึ้นทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยมละบริขอขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่มหัตถกรรมทำญอกหรือกระเป๋าย่าม เพื่อให้กลุ่มสามารถดำเนินการขอตราสัญลักษณ์ GI ต่อได้ ซึ่งทางสำนักงานได้ช่วยเหลือทำให้กระบวนการต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างเรียบร้อยดี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
เมื่อมละบริย้ายเข้ามาพักอาศัยในศูนย์ภูฟ้าพัฒนาใน พ.ศ. 2552 มจธ. ไม่ได้ทำงานโดยตรงกับมละบริ แต่สนับสนุนหน่วยงานที่ทำงานกับมละบริภูฟ้า ซึ่งถือว่า มจธ. มีปฏิสัมพันธ์กับมละบริภูฟ้าแบบคนรู้จัก ต่อมาใน พ.ศ. 2556 มจธ. ทำงานกับมละบริภูฟ้าเนื่องจาก "ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร" ที่ปรึกษามหาวิทยาลัย ได้รับพระราชกระแสรับสั่งให้ช่วยดูแลชุมชนมละบริภูฟ้า ดร.กฤษณพงศ์จึงได้ประสานงานกับนักวิจัยของ มจธ. ซึ่งมีศูนย์ประสานงานตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือและทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2546 และมีนักวิจัยอยู่ประจำในพื้นที่ โดยให้เข้าทำงานร่วมกับชุมชน
ใน พ.ศ. 2556-2557 มละบริสร้างบ้านถาวร โดยมี มจธ. คอยสนับสนุนให้มละบริสามารถลงหลักปักฐานในบริเวณตำบลภูฟ้าได้ดี มีความมั่นคงด้านอาหาร อาชีพ สุขภาพ การศึกษา และวัฒนธรรม นักวิจัยของ มจธ. เป็นทั้งที่ปรึกษาและผู้ปฏิบัติงานร่วมกับชุมชน ใน พ.ศ. 2557 มจธ. เริ่มต้นการทำงานร่วมกับชุมชนมละบริภูฟ้าด้วยการเก็บข้อมูลชุมชน โดยสร้างผู้ช่วยนักวิจัยชุมชนซึ่งเป็นคนมละบริช่วยในการเก็บข้อมูลเพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน และร่วมกับชุมชนวางแผนการทำงานในด้านต่าง ๆ ภายหลังปี พ.ศ. 2558 จึงเกิดกิจกรรมจำนวนมาก ทั้งเรื่องการทดลองทำอาชีพเกษตรเพื่อลดรายจ่าย ทั้งการปลูกข้าวนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และถนอมอาหาร เป็นต้น และมีกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มรายได้ เช่น การทำหัตถกรรมให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ มจธ. ยังส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการพาตัวแทนชาวมละบริไปศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มประสบการณ์ การให้ทุนเพื่อทดลองประกอบธุรกิจ การให้ทุนการศึกษากับบุตรหลานกับมละบริ เป็นต้น
ใน พ.ศ. 2561 เมื่อมละบริต้องการขยายพื้นที่ไปยังบริเวณห้วยแควยัน มจธ. มีส่วนในการร่วมวางแผนการใช้ที่ดิน สำรวจพื้นที่ทั้งหมด วางผังการใช้ที่ดินร่วมกับชุมชน และช่วยมละบริภูฟ้าติดตามผลการทำงานให้เป็นไปตามแผนที่ชุมชนคาดหวังไว้ กล่าวได้ว่า มจธ. เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนมละบริตั้งแต่ พ.ศ. 2556 มีการทำงานที่สำคัญ ได้แก่
-
สร้างความสามารถทำเกษตรทั้งทำนา ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เกษตรประณีต การแปรรูป เช่น การเก็บน้ำผึ้งป่า การปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ และการทำอาชีพเสริม
-
ให้มละบริวางกลไกบริหารชุมชนเพื่อให้ชุมชนเผชิญหน้ากับปัญหาได้และไม่คิดหนีแบบอดีต กลไกนี้จะช่วยให้ชุมชนแก้ปัญหาภายในชุมชนและระหว่างชุมชนได้ ผ่านการคิดไปข้างหน้าร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่ต้องปฏิบัติตามกติกาของชุมชนเจ้าของพื้นที่ เช่น ลัวะและคนเมือง
-
ให้มละบริวางแผนจัดการตนเอง ทั้งการทำบัญชีรับจ่ายครอบครัวและชุมชน ปลูกฝังให้เกิดความคิดในการลดหนี้ เพิ่มรายรับ ไปจนถึงแผนการศึกษาของลูก
-
ล่าสุดใน พ.ศ. 2564 มจธ. สนับสนุนการวางแผนแม่บทกายภาพพื้นที่ใหม่ การหาความช่วยเหลือ การตั้งหมู่บ้านที่ห้วยแควยัน ณ บ้านนากอกเป็นเส้นทางชีวิตระยะยาว การสร้างชุมชนใหม่ ตลอดจนการเพิ่มการทำงานอย่างมีส่วนร่วมทำงานกับมละบริ ทำให้มละบริภูฟ้ามีความเชื่อใจ ไว้ใจ และขอคำปรึกษาในเรื่องที่สำคัญเสมอ
Wongwandee, N. (2022). Phufa-Mlabri People and Quality of Life Indicators on Sustainable Development Goals Bokluea District, Nan Province, Thailand. School of Bioresources and Technology King Mongkut’s University of Technology Thonburi, Bangkok, Thailand.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2567). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์มละบริ ปีงบประมาณ 2567. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).