การพัฒนาพื้นที่ห้วยลู่ใหม่เพื่อรองรับชาวมละบริจากพื้นที่อื่น จนสามารถทำนาได้ มีระบบน้ำเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่ มีถนนเข้าหมู่บ้าน และชาวมละบริสามารถทำงานรับจ้างเพื่อเลี้ยงชีพได้
การพัฒนาพื้นที่ห้วยลู่ใหม่เพื่อรองรับชาวมละบริจากพื้นที่อื่น จนสามารถทำนาได้ มีระบบน้ำเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่ มีถนนเข้าหมู่บ้าน และชาวมละบริสามารถทำงานรับจ้างเพื่อเลี้ยงชีพได้
เมื่อ พ.ศ. 2554 ทางกรมป่าไม้ฯ และหน่วยตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่ 32 ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรเพื่อการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ได้ร่วมมือกันช่วยเหลือให้กลุ่มมละบริจำนวน 8 ครอบครัวบุกเบิกห้วยลู่ ซึ่งมละบริส่วนมากย้ายมาจากบ้านห้วยหยวก ในขณะนั้นมีประชากร 27 คน ปัจจุบันมี 12 ครัวเรือน และมีจำนวนประชากร 54 คน ทางหน่วยงานฯ สนับสนุนให้ได้มีที่พักอาศัยและที่ดินทำกินประมาณ 2,000 ไร่ ปัจจุบันมละบริกลุ่มที่บุกเบิกห้วยลู่ใช้เวลาเรียนหนังสือ ทำนา สร้างบ้าน เข้าป่า และทำงานรับจ้างของกรมป่าไม้ โดยในเริ่มแรกดูแลโดย นายมานะ จิตฤทธิ์ (พ.ศ. 2554-2558) และนายเทพณรงค์ ยะสุข (2558-ปัจจุบัน) นอกจากนี้ มีนายพิมล ศรีพนาสุข และนายบุญทิพย์ ดอยศักดิ์ เป็นผู้นำกลุ่ม และมีคณะกรรมการหมู่บ้านคอยดูแลด้านต่าง ๆ 5 คน โดยมีวัตถุประสงค์ด้านการดูแลชุมชน ดังนี้
-
เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เอื้อต่อสุขอนามัยที่ดี
-
เพิ่มทักษะอาชีพในการผลิตอาหาร ทำนาและเลี้ยงสัตว์
-
เพื่อรักษาวัฒนธรรมการดำรงชีวิตการเข้าป่าและการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับป่าจากรุ่นสู่รุ่น
-
เพื่อส่งเสริมงานอาชีพเสริม ทำสวนทำไร่ในรูปแบบวนเกษตรเพื่อผลิตของกินและของใช้
-
การก่อรูปแบบการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนวนเกษตรมละบริ และดำเนินงานฟื้นฟูสภาพป่าไม้โดยใช้การศึกษาหลักสูตร
โดยคณะทำงานและกรรมการมละบริ ได้ประชุมร่วมกันและจัดทำเป็นแผนการทำงาน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพอนามัย ด้านอาชีพและรายได้ ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรม และด้านการบริหารจัดการ
บ้านห้วยลู่ตั้งอยู่ในเขตของบ้านสองแคว เลขที่ 154 หมู่ที่ 5 ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน มีเนื้อที่ดูแลรับผิดชอบทั้งหมด 4,905 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เพื่อการประกอบอาชีพและพื้นที่ใช้สอยของมละบริ 1,905 ไร่ และเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 3,000 ไร่ โดยดูแผนผังการตั้งบ้านเรือนของมละบริได้จากภาพ
ที่ตั้งบ้านของมละบริ 12 หลังคาเรือน
อาคารรวมฝันและอาคารสานฝันใช้ในการเรียนระดับก่อนวัยเรียนและเรือนพยาบาล
อาคารเรียนของ กศน.
อาคารเรียนรู้ของวิทยาลัยชุมชนน่าน
มละบริบ้านห้วยลู่ มีทั้งสิ้น 12 ครัวเรือน มีประชากรจำนวน 54 คน แบ่งออกเป็นผู้ชาย 28 คน และผู้หญิง 19 คน และสามารถแบ่งตามช่วงอายุได้ ดังนี้ (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560)
ช่วงอายุ (ปี) | ชาย | หญิง | รวม |
0-7 | 7 | 8 | 15 |
8-15 | 6 | 3 | 9 |
16-30 | 10 | 8 | 18 |
31-60 | 8 | 3 | 11 |
60 ปีขึ้นไป | 1 | 0 | 1 |
รวม | 32 | 22 | 54 |
ตั้งแต่ พ.ศ. 2557-2560 มละบริห้วยลู่มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีละ 1-2 ครัวเรือน โดยส่วนมากย้ายมาจากบ้านห้วยฮ่อมตามคำชักชวนของเครือญาติ โดยย้ายมาทั้งครอบครัวจึงทำให้บ้านห้วยลู่มีแรงงานมากขึ้นทุกปี รวมไปถึงชาวบ้านเดิมที่พร้อมมีครอบครัวก็ขยายครอบครัว จาก พ.ศ. 2557 ที่มีอยู่ 10 ครอบครัว กลายเป็น 13 ครอบครัวใน พ.ศ. 2560 โดยจากการวิเคราะห์พบว่ามละบริสามารถอาศัยอยู่ที่บ้านห้วยลู่ได้ถึง 300 คน ซึ่งพิจารณาจากการสร้างที่อยู่อาศัย การผลิตข้าว การทำสวน และการใช้ประโยชน์จากป่า
มละบริอาชีพและรายได้
1.ปลูกข้าว: เมื่อ พ.ศ. 2559 มละบริทำนาดำทั้งหมด 23 ไร่ ได้ข้าวเปลือกประมาณ 9,000 กิโลกรัม (มูลค่า 117,000 บาท) เฉลี่ย 390 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถบริโภคได้ 40-50 คน ตลอดทั้งปี ถ้าสามารถเพิ่มผลผลิตเป็น 500 กิโลกรัม/ไร่ ได้ จะสามารถบริโภคได้ 50-60 คน ตลอดทั้งปี และใน พ.ศ. 2560 ได้ขยายพื้นที่ปลูกข้าวเป็น 45 ไร่ แบ่งเป็นปลูกข้าวนาดำ 30 ไร่ ปลูกข้าวไร่ 5 ไร่ และเตรียมปรับที่เพิ่มใหม่อีก 10 ไร่ (คาดว่าจะได้ข้าวเปลือกประมาณ 17,550 กิโลกรัม) ซึ่งสามารถรองรับคนได้ถึง 100 คน (หมายเหตุ: จากการสำรวจบ้านห้วยลู่เบื้องต้น สามารถปรับพื้นที่เป็นนาได้ถึง 60 ไร่ และสามารถผลิตข้าวให้คนได้บริโภคตลอดทั้งปีประมาณ 120-150 คน)
2.การเกษตร: มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เป็นของส่วนกลาง ได้แก่ 1) ผัก 1 งาน 2) ปลา 5,200 ตัว 3) กล้วย 700 ต้น 4) กาแฟ 2 ไร่ 1,000 ต้น และ 5) ขมิ้น 8 ไร่ (ผลผลิตประมาณ 1 ตัน)
นอกจากนี้ มีการแบ่งพื้นที่ให้ชาวบ้านทำสวนบ้านละ 2 ไร่ 1) ปลาหลังคาเรือนละ 400 ตัว 2) ไก่ 30 ตัว (แบ่งให้กับ 3 ครอบครัว) 3) พืชสวน เช่น สับปะรด ถั่วมะแฮะ และกล้วย ปัจจุบันได้ก่อตั้งกลุ่มแปรรูปเป็นกล้วยฉาบขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่ม โดยขายในชุมชนมละบริเองและยังไปฝากขายที่ร้านค้านอกชุมชนด้วย
3.การเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบอาหารผสม: ชาวบ้านได้ทดลองเลี้ยงไก่พื้นเมือง (ไก่กระทง) จำนวน 200 ตัว โดยจัดกลุ่มชาวบ้านที่ข้าวไม่พอกินจำนวน 5 คนเป็นผู้ดูแลโครงการ ผ่านการจัดเวรให้อาหารเช้าและเย็น อย่างไรก็ตาม การขนส่งบนถนนทางลูกรังและฝนตกหนัก ทำให้มีไก่ตายไปจำนวน 25 ตัว ระหว่างการขนส่ง ปัจจุบันการดำเนินกิจกรรมการเลี้ยงไก่พื้นเมืองจะจำหน่ายภายในชุมชน กิโลกรัมละ 100 บาท ชาวบ้านจะคัดไก่ที่สังเกตแล้วเห็นว่าสมควรเป็นพ่อแม่พันธุ์ ก็จะนำไปขุนต่อไป
การเลี้ยงไก่และจำหน่ายในชุมชนยังทำขึ้นเพื่อให้คนในชุมชนไม่ต้องออกไปซื้อไก่จากภายนอก เนื่องจากมีราคาที่สูง รวมถึงการเดินทางที่ไม่สะดวก อาจทำให้ไก่ตายระหว่างเดินทางได้ ดังนั้น กิจกรรมการเลี้ยงไก่ถือเป็นการฝึกชาวบ้านให้มีความเข้าใจในการเลี้ยง และยังเป็นอาชีพทางเลือกให้กับมละบริอีกด้วย
รายรับรายจ่าย
รายรับรายจ่ายของมละบริบ้านห้วยลู่ เดือนมกราคม-เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 สามารถแสดงได้ตามแผนภูมิ ดังนี้
1.รายรับ: ส่วนใหญ่มาจากการรับจ้างหน่วยงานป่าไม้ทำกิจกรรมในพื้นที่ โดยการจ้างงานจะมี 3 ระดับ คือ เด็ก 180 บาท ผู้ใหญ่ 200 บาท แรงงานฝีมือ 220 บาท และถ้าหากมละบริคนใดมีเครื่องตัดหญ้าเป็นของตนเอง จะได้รับรายได้ที่ 400 บาท นอกจากนี้ รายได้ยังมาจากการเก็บก๋ง (ดอกหญ้าทำไม้กวาด) ด้วย โดยใน พ.ศ. 2560 ได้เงินทั้งหมด 50,880 บาท แม้รายรับส่วนใหญ่จะมาจากการสร้างงานของหน่วยงานป่าไม้เป็นหลัก แต่ก็มีการส่งเสริมอาชีพอื่น ๆ เช่น การปลูกถั่วลิสง การปลูกฟักทอง และมีแนวโน้มจะเป็นแหล่งอาชีพทางการเกษตรได้ และยังพบว่ามีมละบริ 8 คน ออกไปช่วยพ่อแม่ทำไร่ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่บ้านห้วยหยวก มีการถักญอก (ย่าม) และงานฝีมือขายให้กับผู้สนใจ อย่างไรก็ตาม ยังคงผลิตได้จำนวนน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการ
2.รายจ่าย: พบการใช้จ่ายด้านอาหารที่ใช้บริโภคจำนวนมาก ทั้งในกรณีที่ซื้อกับร้านค้าภายในหมู่บ้านและที่ซื้อจากในเมือง นอกจากนี้ ยังพบรายจ่ายเพื่อซื้อรถจักรยานยนต์ โดยมละบริต้องการซื้อจักรยานยนต์ในทุกครอบครัวไว้สำหรับเดินทางเข้าออก เนื่องจากระยะทางไกลจากทางราดยางปกติมาก ส่วนมากใช้ระบบผ่อนซื้อซึ่งมีดอกเบี้ยสูง การที่มละบริบ้านห้วยลู่ย้ายมาสร้างที่อยู่ใหม่ในพื้นที่นี้ ทำให้มีรายจ่ายมากในส่วนของการซื้อสินค้าเพื่อบริโภคและใช้ในชีวิตที่จำเป็น
การทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก
1.หน่วยงานป่าไม้ : ประกอบด้วยหัวหน้า 1 คนและเจ้าหน้าที่ 4 คน ทำหน้าที่ดูแลภาพรวมการทำงานทั้งหมด วางแผนการใช้ที่ดิน ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายให้เกิดแผนที่ตอบสนองต่อการสร้างชุมชนใหม่ รวมทั้งจัดหากิจกรรมส่งเสริมการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ และลดรายจ่ายให้กับมละบริ
2.ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดน่าน : ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ประจำ 2 คน ทำหน้าที่สอนหนังสือ 3 กลุ่มคน ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มเป้าหมายของ กศน. และกลุ่มผู้ไม่รู้หนังสือ หลักสูตรที่สอน คือ หลักสูตร กศน. 51 และหลักสูตรอาชีพ
3.วิทยาลัยชุมชน จังหวัดน่าน : ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ 1 คนที่เป็นแหล่งบ่มเพาะอาชีพให้กับชุมชน รวมถึงสร้างความเข้าใจให้มละบริเรื่องอาชีพและความรู้ทางวิชาการ ผ่านการทำแปลงสาธิตเพื่อให้มละบริได้เข้ามาเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง
มละบริบ้านห้วยลู่ มีวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ภูมิปัญญาหลักของกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ การล่าสัตว์ การหาของป่าและยารักษาโรค ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สั่งสมและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
ภาษาที่มละบริบ้านห้วยลู่ใช้เพื่อพูดคุยกับคนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันคือภาษามละบริ อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องติดต่อกับคนภายนอกที่อาศัยอยู่ในชุมชนแวดล้อม ชาวมละบริต้องใช้ภาษาไทย ภาษาม้ง และคำเมือง รวมถึงเรียนรู้ที่จะใช้ตัวอักษรภาษาไทยด้วย
พบว่ามีคณะกรรมการร่วมของหน่วยงานภาครัฐ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด กรมชลประทาน ทหาร กรมพัฒนาที่ดิน คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และหน่วยงานป่าไม้ มีแผนที่จะปรับพื้นที่ห้วยลู่ให้สามารถรองรับมละบริเพิ่มได้ประมาณ 150 คน ทำนาได้ 60 ไร่ มีระบบน้ำเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่ มีถนนเข้าหมู่บ้าน ส่วนการทำงานจะเน้นการจ้างงานเป็นหลัก เช่น ให้เป็นลูกจ้างของหน่วยงานป่าไม้หรือเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น
รายได้ส่วนใหญ่ของมละบริจะเกิดจากการจ้างงานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในส่วนของการส่งเสริมอาชีพยังผลักดันให้เกิดกิจกรรมการปลูกข้าว ทำสวน เลี้ยงปลา และพยายามสร้างระบบให้มละบริพึ่งพาตนเองได้ มละบริมีการรวมตัวกันเลี้ยงไก่ ลงทุน แบ่งปันผลกำไร และนำทุนมาหมุนเวียนลงทุนใหม่ด้วยตนเอง และเจ้าหน้าที่เองก็พยายามจะผลักดันให้กิจกรรมทางการเกษตรทุกโครงการมีลักษณะเช่นนี้ เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และสร้างการพึ่งตนเองของมละบริ มละบริที่บ้านห้วยลู่ยังสนใจอาชีพนอกเหนือจากการทำนา เช่น การปลูกฟักทอง ถั่ว และผลผลิตทางการเกษตรที่ทนต่อการขนส่งและมีตลาดรองรับ
ในปัจจุบันมีมละบริจากบ้านห้วยหยวกเข้ามาอยู่ในพื้นที่บ้านห้วยลู่เพิ่มเติมเป็น 18 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 60-70 คน (ข้อมูล ณ พ.ศ. 2562) โดยทั้งหมดสร้างบ้านถาวรและที่พักกึ่งถาวร ซึ่งคาดว่าจะรองรับได้ 100 คน
1.ห้องน้ำ : ในชุมชนมีห้องน้ำทั้งหมด 10 ห้อง เป็นห้องน้ำรวมทั้งหมด แบ่งเป็นห้องน้ำในหมู่บ้าน 5 ห้อง และห้องน้ำที่อยู่ในส่วนกลาง 5 ห้อง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้งาน และพบว่ามละบริยังขาดการดูแลรักษาที่ดี
2.น้ำดื่ม : ในชุมชนมีที่รองรับน้ำฝนประมาณ 18,000 ลิตร (มละบริต้องดื่มน้ำวันละ 94 ลิตร เท่ากับ 34,310 ลิตร/ปี) ในอนาคตต้องมีการทำที่เก็บน้ำฝนเพิ่มและเพิ่มระบบการจัดการให้เกิดการบริหารจัดการน้ำทั้งน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งปัจจุบันยังไม่เกิดการจัดการที่ดี
3.ระบบน้ำใช้ : ในชุมชนมีฝาย (ไม่ทราบขนาด) 3 ฝาย สำหรับใช้อุปโภคในชุมชนและเพื่อการเกษตร ซึ่งใน 1 ปีจะขาดน้ำประมาณ 2 เดือน ถ้ามีการจัดการอย่างเป็นระบบจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ปัจจุบันฝายที่ต่อระบบน้ำมีระดับความสูง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ยังไม่สามารถใช้ได้เนื่องจากน้ำหน้าฝายมีระดับน้ำที่น้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้และกลุ่มมละบริบ้านห้วยลู่จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะสร้างหน้าฝายให้มีระดับที่สูงขึ้นเพื่อรองรับน้ำฝนในฤดูฝนและทำแท็งเก็บน้ำเพิ่มเพื่อเก็บน้ำในฤดูแล้ง
เชิศศักดิ์ ทัพใหญ่, มานะ จิตฤทธิ์, และเทพณรงค์ ยะสุข. (2560). การศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชนเผ่ามลาบรี กรณีศึกษา : มันป่าบริเวณศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตขุนน้ำสะเอียน-ห้วยลู่ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน. วารสารวนศาสตร์, 36 (1), 33-46.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2567). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์มละบริ ปีงบประมาณ 2567. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
Wongwandee, N. (2022). Phufa-Mlabri People And Quality Of Life Indicators On Sustainable Development Goals Bokluea District, Nan Province, Thailand. School of Bioresources and Technology King Mongkut’s University of Technology Thonburi, Bangkok, Thailand.