Advance search

บ้านหนองตาเถร เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีลาวครั่งด้านภูมิปัญญา "นมัสการหลวงพ่อเกสร พักผ่อนหนองตาเถร วัฒนธรรมงามเด่นลาวครั่ง"

หมู่ที่ 13
บ้านโค้งวิไล
คลองขลุง
คลองขลุง
กำแพงเพชร
อบต.คลองขลุง โทร. 0-5578-1764
พรสุดา กุลนาดา
27 ก.ย. 2023
พรสุดา กุลนาดา
29 ต.ค. 2023
สุธาสินี บุญเกิด
22 ต.ค. 2024
บ้านหนองตาเถร

บริเวณหนองน้ำมีต้นไทรมีอายุมากกว่า 100 ปี ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามีเทพจำแลงอยู่ที่ต้นไทรนั้น ชาวบ้านเรียกขานกันว่า "ตาเถร" เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้าน จึงได้นำมาตั้งชื่อหมู่บ้าน


บ้านหนองตาเถร เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีลาวครั่งด้านภูมิปัญญา "นมัสการหลวงพ่อเกสร พักผ่อนหนองตาเถร วัฒนธรรมงามเด่นลาวครั่ง"

บ้านโค้งวิไล
หมู่ที่ 13
คลองขลุง
คลองขลุง
กำแพงเพชร
62120
16.1552523343207
99.7216598689556
องค์การบริหารส่วนตำบลคลองขลุง

การย้ายถิ่นฐานนั้น เดิมคนลาวครั่งโค้งวิไล/หนองตาเถร ย้ายกันมาประมาณ 4-5 ครอบครัว ซึ่งส่วนมากมาจากแถบจังหวัดสุพรรณบุรี และชัยนาท ตำบลวัดสิงห์ เมื่อการเดินทางดีขึ้นก็ไปชักชวนญาติพี่น้องอพยพกันมาเป็นตระกูลใหญ่ รวมอยู่กันเป็นกลุ่มก้อน

บ้านหนองตาเถร ตั้งมาประมาณ 100 กว่าปี จากการให้ข้อมูลของนายสิงโต สายสุด อายุ 92 ปี และนางบุญมี สายสุด อายุ 85 ปี เกิด พ.ศ. 2481 บ้านเลขที่ 376 หมู่ 13 บ้านหนองตาเถร ตำบลคลองขลุง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ได้มาอยู่สมัยเด็ก ๆ และเมื่อโตขึ้นก็ได้แต่งงานกันและทำนา และมีอาชีพเผาถ่าน ควบคู่กับทำนา สมัยนั้น ถนนสายพหลโยธินยังเป็นลักษณะทางเกวียน ต่อมาจึงมีการสร้างถนนและพัฒนาต่อมา ซึ่งบริเวณใกล้ที่หนองตาเถรท้ายหมู่บ้าน ถนนสายเอเชียตัดผ่านหมู่บ้านแยกสองหมู่เป็นทางโค้ง อยู่บริเวณหน้าโรงงานเบียร์ช้างในปัจจุบัน จึงได้ชื่อว่าหมู่บ้านโค้งวิไล ต่อมาเนื่องจากมีจำนวนประชากรจำนวนมากขึ้น จึงแยกเป็นสองหมู่บ้าน สองฝั่ง จึงให้ฝั่งตะวันตกเป็นหมู่ที่ 4 และเรียกชื่อหมู่บ้านฝั่งตะวันออกเป็นหมู่ที่ 13 ชื่อหนองตาเถร เมื่อปี พ.ศ. 2545

วัดโค้งวิไล

ประวัติการสร้างวัดในช่วงแรกนั้น โดยมีหลวงพ่อตุ้ย เป็นเจ้าอาวาส ต่อมาคือ พระปลัดใส และพระครูพิพิธวัชรธรรม เป็นเจ้าอาวาส โดยลำดับ มีการพัฒนาให้วัดโค้งวิไลให้มีวิทยุชุมชนคลื่น 103.25 MHZ ขึ้นในวัด หลังจากพระครูพิพิธวัชรธรรมมรณภาพแล้ว ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งพระมหาบุญมา เขมปัญโญ เปรียญธรรม 5 ประโยค เป็นเจ้าอาวาส และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ตั้งพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูสิริวชิราภิวัฒน์ และได้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี พร้อมด้วยพระมหาดุสิตศักดิ์ ติกขธัมโม เปรียญธรรม 9 ประโยค เพื่อให้พระภิกษุสามเณรในเขตการปกครองและบรรดาญาติโยมสาธุชนที่สนใจในการศึกษาพระปริยัติธรรมได้ศึกษาเล่าเรียน

ตั้งอยู่บริเวณใกล้ถนนสายหลักสายเอเชีย กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ชาวบ้านสร้างบ้านเรือนอยู่ริมถนนที่โค้งทอดตัวความโค้งระยะยาว บ้านหนองตาเถรมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ จด ม.1 บ้านถนนงาม ต.คลองขลุง
  • ทิศใต้ จด ม.7 บ้านคลองน้ำเย็นใต้ ต.โค้งไผ่ อ.ขาณุวรลักษบุรี
  • ทิศตะวันออก จด ม.2 บ้านแม่ลาด ต.แม่ลาด
  • ทิศตะวันตก จด ม.4 บ้านโค้งวิไล ต.คลองขลุง 

บ้านหนองตาเถร มีจำนวนครัวเรือน 566 หลังคาเรือน รวมจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,037 คน ประกอบด้วย ประชากรเพศชายจำนวน 497 คน และเพศหญิงจำนวน 540 คน (2563)

ลาวครั่ง

กลุ่มแม่บ้านหนองตาเถร

กลุ่มแม่บ้านหนองตาเถร ประกอบอาชีพทำมะพร้าวแก้วปลีกและส่งตลอดทั้งปี สามารถสร้างรายได้แก่ครอบครัว

ชมรม อสม.บ้านหนองตาเถร จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2526 โดยมี นายกฤษฎา จันดาแก้ว เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 19 คน

กรรมการพัฒนาสตรีหมู่บ้าน หมู่ 13 บ้านหนองตาเถร จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2554 โดยมี นางกมลทิพย์ จันดาแก้ว เป็นประธานกลุ่ม

กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติบ้านหนองตาเถร หมู่ 13 จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2544 โดยมี นายวิทยา โพธิ์เรือง เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 150 คน

กลุ่มส่งเสริมเกษตร บ้านหนองตาเถร หมู่ 13 จัดตั้งขึ้นเมื่อ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2549 โดยมี นายบุญชอบ อันชูฤทธิ์ เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 32 คน

วิทยุชุมชนภาษาลาวครั่ง/ชมรมลาวครั่งจังหวัดกำแพงเพชร

การรวมของกลุ่มเริ่มจาก อาจารย์พรสุดา กุลนาดา จัดรายการวิทยุชุมชนเป็นภาษาลาวครั่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ที่คลื่น FM 104.00 MHZ. ใช้นามแฝงว่า ดีเจสาวลาว

ต่อมาย้ายมาจัดรายการที่คลื่น FM 103.25 MHZ. มีนายสมคิด สารียัง เป็นลาวครั่งที่ย้ายจากหนองกระดูกเนื้อ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ มาทำงานที่อำเภอคลองลานเป็นครูสอนชาวเขา ได้เป็นสมาชิกรายการได้ชักชวนรวบรวมประชุมคนลาวในจังหวัดกำแพงเพชร ลาวครั่งบ้านหนองเหมือด ลาวครั่งบ้านหนองตาเถร ลาวครั่งบ้านโค้งวิไล ลาวครั่งอำเภอเมือง ลาวครั่งท่าขึ้น มาประชุมร่วมก่อตั้งเป็นตนขึ้นเป็นชมรมลาวครั่งจังหวัดกำแพงเพชร มีการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ มีโลโก้ชมรมลาวครั่งจังหวัดกำแพงเพชร สร้างสรรค์โดยหมอ แต่งตั้งประธานและเหรัญญิก คือมีโครงสร้างขององค์กรครบ

เนื่องจากมีเหรัญญิกเป็น พมจ. (สมพร ฉิมมา ปัจจุบันเกษียณและบวชแล้ว) จึงทำให้ชมรมลาวครั่งจังหวัดกำแพงเพชร ได้ร่วมงานกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ และพมจ. เสนองบประมาณให้จัดงานมหกรรมลาวครั่งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2555 ที่วัดแสนสุข บ้านหนองเหมือด ตำบลแสนตอ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร

ต่อมาชมรมได้ชักชวนลาวครั่งบ้านทุ่งทราย ตำบลทุ่งทราย อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร มาช่วยกันฟื้นฟูวัฒนธรรมลาวครั่งขึ้นมาอีกหนึ่งอำเภอในจังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันคนลาวครั่งได้เปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิต มาทำการปลูกอ้อย ทำสวนผลไม้ และค้าขายมากขึ้นเนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมมีคนนอกพื้นที่อพยพเข้ามาอยู่ในชุมชนมากขึ้น

ประเพณีตักบาตรเทโว งานประเพณีทำบุญประจำปีในวันขึ้น 7 ค่ำ และ 8 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี, ประเพณีไหว้หลวงพ่อเกสรทุกปี, งานเทศกาลสงกรานต์ทุกวันที่ 19 เดือนเมษายน ของทุกปี, ทำบุญกลางบ้าน 29 เมษายน ของทุกปี, บวชเนกขัมมะบารมี 5 ธันวาคม และ 12 ธันวาคม ของทุกปี

1.นายบรรจบ จันทร์มาศ 

เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2491 หมู่ที่ 13 ตำบลคลองขลุง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร บ้านเดิมอยู่ที่บ้านชนบท อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ได้ย้ายตามบิดามาอยู่ที่บ้านแม่ลาด ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อทำมาหากินในพื้นที่ ๆ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ติดแม่น้ำลำคลอง มีอาชีพทำนา ในระยะเวลาต่อมาได้จับจองพื้นที่ทำกินที่บ้านโค้งตาเถร ซึ่งอยู่ใกล้หนองตาเถรและปลูกบ้านเรือนใกล้กับบริเวณหนองตาเถร ต่อมาได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน และเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการจักสาน

2.นางสุนีย์ เรื่อศรีจันทร์

เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2495 บรรพบุรุษอพยพมาจากบ้านกุดจอก อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท มาอยู่ที่บ้านหนองตาเถร หมู่ที่ 13 เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านตัดกระดาษ ใบแมงมุม เต่ารั้ง ในงานบุญต่าง ๆ เช่น งานเข้าพรรษา ออกพรรษา บุญพระเวส (เทศน์มหาชาติพระเวสสันดรชาดก) บุญกฐิน งานบุญงานแต่งที่จัดในวัดหรือหมู่บ้านที่ยังสามารถทำได้ โดยได้เรียนวิชาดังกล่าวมาจากพระครูสิริ วชิราภิวัฒน์ (พระมหาบุญมา) เจ้าอาวาสวัดโค้งวิไล

3.นายสิงโต สายสุทธิ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ไม้เกาหลัง

4.นางสมบัติ เรือบัว ปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรไทย

บ้านหนองตาเถร มีหนองน้ำธรรมชาติ (หนองตาเถร) หลวงพ่อเกสร วัด โรงเรียน โรงพยาบาลประจำตำบล ตู้เอทีเอ็ม โรงไฟฟ้าชีวภาพ สถาบันการเงินเอกชน (ลิชซิ่ง) อบต. อสม. นอกจากนี้ยังมีทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่ามาก ได้แก่ ปราชญ์ผู้มีภูมิปัญญาจักสานและภูมิปัญญาตัดกระดาษ ซึ่งยังสามารถสืบสานภูมิปัญญานี้คู่กับการกระทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ทุนกายภาพ/ชีวภาพ

อ่างเก็บน้ำ/บ่อน้ำ อ่างเก็บน้ำหนองตาเถร, บ่อน้ำบาดาลเอกชน 19 บ่อ, บ่อบาดาลสาธารณะ 1 บ่อ

คลองธรรมชาติที่ไหลผ่าน เช่น คลองสีเสียด, คลองดู่ (คลองน้ำเย็นเหนือ)

ลานกีฬา สนามกีฬา วัดโค้งวิไล

ทุนเศรษฐกิจ

สถานประกอบการอุตสาหกรรม เช่น บริษัทผลิตเบียร์ น้ำดื่ม โซดา, ป่นพริกสด, ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ, ผลิตภัณฑ์ภาชนะบรรจุจากกระดาษแข็ง, สุรากลั่นประเภทวิสกี้ (สุรามอลต์)

สินค้าชุมชน OTOP เช่น พริกลาบ, น้ำพริกแกง, ผลิตภัณฑ์ไม้เกาหลัง

ทุนทรัพยากรมนุษย์

1.นายบรรจบ จันทร์มาศ ปราชญ์ชาวบ้านด้านการจักสาน

2.นางสุนีย์ เรื่อศรีจันทร์ ปราชญ์ชาวบ้านด้านตัดกระดาษ ใบแมงมุม เต่ารั้ง ในงานบุญต่าง ๆ

3.นายสิงโต สายสุทธิ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ไม้เกาหลัง

4.นางสมบัติ เรือบัว ปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรไทย

ในกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งด้วยกันนั้น ยังคงสื่อสารด้วยภาษาลาวครั่ง เป็นข้อสังเกตว่า คนลาวครั่งจะเรียกว่า โค้งตาเถรบ้าง หนองตาเถรบ้าง แต่ถ้าเป็นคนไทยหรือคนนอกพื้นที่เข้าอาศัยอยู่จะเรียกว่า โค้งวิไล ประเด็นนี้เป็นข้อสังเกตสำหรับการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบ้านโค้งวิไล บ้านหนองตาเถรมีบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลง กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีความหลากหลายของประชากรต่างพื้นที่เข้ามาอาศัยอยู่ มีโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการธุรกิจ และผู้อาศัยจากต่างพื้นที่จำนวนมาก และเป็นจุดเชื่อมต่อประชากรกับพื้นที่อำเภอปางศิลาทองและอำเภอคลองลาน การสื่อสารภายในชุมชนมีความหลากหลายทั้งภาษาไทยกลาง ส่วนภาษาลาวครั่งจะใช้สื่อสารกับคนลาวครั่งด้วยกันเป็นส่วนใหญ่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

อัญชลี วงศ์วัฒนา (บ.ก.). (2560). ประวัติและวัฒนธรรมลาว บรรพบุรุษไทครั่ง. https://www.santo-kp.go.th/pdf/culture.pdf

พระพุฒินันทน์ รังสิโย. (2562). การวิเคราะห์อัตลักษณ์ของชุมชนลาวครั่งตามหลักพระพุทธศาสนาในจังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

กระทรวงวัฒนธรรม. (2554). บ้านหนองตาเถร ตำบลคลองขลุง. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. http://www.m-culture.in.th/

องค์การบริหารส่วนตำบลคลองขลุง. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น 2566-2570. https://www.klongklung-kp.go.th/

บรรจบ จันทร์มาศ, สัมภาษณ์, 2566

พรสุดา กุลนาดา, สัมภาษณ์, 2566

สุนีย์ เรื่อศรีจันทร์, สัมภาษณ์, 2566

อบต.คลองขลุง โทร. 0-5578-1764