Advance search

ภูทับเบิก

หมู่บ้านชาติพันธุ์ม้ง มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา ภูมิอากาศหนาวเย็นตลอดปี ประชากรส่วนใหญ่ปลูกพืชผักเมืองหนาว โดยเฉพาะกะหล่ำปลี ทำให้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์

บ้านทับเบิก หมู่ที่ 14 และบ้านทับเบิกใหม่ หมู่ที่ 16
ภูทับเบิก
วังบาล
หล่มเก่า
เพชรบูรณ์
อบต. วังบาล โทร. 0 5674 7532
รัดเกล้า เปรมประสิทธิ์
9 พ.ย. 2024
รัดเกล้า เปรมประสิทธิ์
24 พ.ย. 2024
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
12 ธ.ค. 2024
บ้านทับเบิก
ภูทับเบิก

เดิมบ้านทับเบิกมีชื่อว่า “บ้านถ้ำเบิก” เพราะแต่เดิมมีถ้ำที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ผู้คนที่มีธุระเดินทางผ่านไปมาละแวกนั้น ต้องไปบอกกล่าวขออนุญาตต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในถ้ำนั้นก่อน  เพื่อเป็นการเบิกทาง (ขอผ่านทาง) มิฉะนั้นจะเกิดอันตรายได้ จึงเรียกชื่อถ้ำนี้ว่า “ถ้ำเบิก” ถ้ำแห่งนี้อยู่ห่างจากด่านป่าไม้ตรงทางแยกเข้าหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1,000 เมตร ปัจจุบันดินได้พังทับถมปากถ้ำหายไปหมดแล้ว ต่อมาจึงเรียกชื่อหมู่บ้าน “บ้านทับเบิก” (องค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล, ม.ป.ป.)


หมู่บ้านชาติพันธุ์ม้ง มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา ภูมิอากาศหนาวเย็นตลอดปี ประชากรส่วนใหญ่ปลูกพืชผักเมืองหนาว โดยเฉพาะกะหล่ำปลี ทำให้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์

ภูทับเบิก
บ้านทับเบิก หมู่ที่ 14 และบ้านทับเบิกใหม่ หมู่ที่ 16
วังบาล
หล่มเก่า
เพชรบูรณ์
67120
16.91989782380196
101.11516478379242
องค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล

ชุมชนดั้งเดิมภูทับเบิก เป็นพื้นที่ป่าไม้และภูเขาสูงใหญ่น้อยสลับซับซ้อน บางพื้นที่สูงชันและเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง บรรพบุรุษได้เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่ออยู่อาศัยและทำมาหากิน ซึ่งโดยธรรมชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งชอบอาศัยอยู่บนภูเขาในพื้นที่ป่าไม้ใช้ชีวิตอยู่กับป่ามานานกว่า 100 ปี (รัดเกล้า เปรมประสิทธิ์, 2563) ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ (2525, หน้า 101 – 107 อ้างใน สิริพร เพียขันธ์, 2560) พบว่า ปี พ.ศ. 2475 ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งชื่อนายเก๋ง แซ่ท่อ เป็นผู้จัดตั้งหมู่บ้านทับเปาหรือทับเบิก ซึ่งเริ่มแรกมีประชากรทั้งหมด 800 คน หรือประมาณ 100 หลังคาเรือน สามารถสรุปได้ว่า ชุมชนแห่งนี้มีอายุประมาณ 100 ปี โดยในช่วงแรกของการตั้งหมู่บ้านชุมชนแห่งนี้ จะปลูกและเคี่ยวฝิ่นนำเป็นอาชีพของคนในชุมชน เนื่องจากเป็นพืชที่มีตลาดรองรับราคาสูงและยังไม่มีพืชชนิดอื่นที่มีรายได้ดีกว่าฝิ่น ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ห้ามไม่ให้มีการปลูกฝิ่นทั่วประเทศอย่างกะทันหัน เนื่องจากเห็นว่าฝิ่นเป็นภัยร้ายแรงอย่างหนึ่งของสังคมที่จะเป็นเครื่องบั่นทอนสุขภาพและความเจริญของประชาชนในชาติ ซึ่งการกำหนดมาตรการให้เลิกการเสพและการจำหน่ายฝิ่นโดยเด็ดขาดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งเป็นจำนวนมากได้รับความทุกข์ยาก เพราะการกรีดฝิ่นขายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง นอกจากนั้น ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งไม่ยอมลงมาอยู่ในพื้นที่ราบ ไม่ชอบการบีบบังคับและการข่มเหงน้ำใจ (สุนทรี ศีลพิพัฒน์, 2524 หน้า 41-43 อ้างใน สิริพร เพียขันธ์, 2560) และในห้วงเวลาเดียวกันได้เกิดเหตุการณ์การต่อต้านคอมมิวนิสต์ขึ้นในปี พ.. 2500 แนวร่วมคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้แผ่ขยายแนวคิดออกจากตัวเมืองเข้าสู่พื้นที่ป่า ขยายตัวมากขึ้นมาบริเวณจากภาคอีสานมาจนถึงบริเวณรอยต่อสามจังหวัด จึงทำให้ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งบางส่วนเข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านรัฐไทย

ต่อมา พ.ศ. 2502 ได้ก่อตั้งนิคมสร้างตนเองและสงเคราะห์ชาวเขาภูลมโล เพื่อรับผิดชอบงานเกี่ยวกับชาวไทยภูเขาเผ่าม้งและแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่น ต่อมา พ.ศ. 2508 จากการที่ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งมีความผูกพันกับเผ่าของตน การมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ขาดแคลนยากจน ไม่ได้รับการศึกษาจากรัฐและอยู่ห่างไกลความเจริญ จึงเป็นการง่ายที่ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งจะตกเป็นเป้าหมายของการแทรกซึมของฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ (ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, 2518, หน้า 138 – 139 อ้างใน สิริพร เพียขันธ์, 2560) จนกระทั่ง วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2509 ภูทับเบิกได้รับการจัดตั้งเป็นนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขา ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนั้นประสบปัญหาเรื่องความมั่นคง จนกระทั่งภายหลังการเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.. 2519 นักศึกษาบางส่วนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ได้หนีเข้ามาอยู่ในพื้นที่ป่ากว่า 20 ปี ณ บริเวณภูหินร่องกล้าขยายมาสู่บริเวณภูทับเบิก (วศิน ปัญญาวุธตระกูล, วารัชต์ มัธยมบรุษ และณัฐชัย อ่ำทอง, 2561) ส่งผลให้กลุ่มชาวบ้านม้งภูทับเบิกได้ทยอยหนีภัยเข้าไปอยู่ในพื้นที่ป่าเพื่อหลบภัยจากการสู้รบระหว่างกลุ่มคอมมิวนิสต์กับรัฐบาล ทำให้กลุ่มชาวบ้านม้งภูทับเบิกได้ใช้ชีวิตแบบหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในป่าในช่วงเวลาดังกล่าวกว่า15 ปี

ด้านความมั่นคง ใน พ.ศ.2523 รัฐบาลนำโดยพลเอก เปรม ติณสูญลานนท์ ประกาศคำสั่ง 66/2523  หรือที่เรียกว่า นโยบาย 66/23 นโยบายนี้จัดทำขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ รัฐบาลได้ขอความร่วมมือกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่หนีเข้าป่าออกมามอบตัว โดยมีข้อเสนอให้ คือ การจัดสรรที่ดินทำกิน และจะไม่มีการดำเนินคดีใดๆ ต่อกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เพื่อถือว่าเป็นกลุ่มร่วมพัฒนาชาติไทย กลุ่มชาติพันธุ์ม้งจึงมีการออกมามอบตัวกันตามข้อเสนอของรัฐบาลและกลับเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านทับเบิกเช่นเดิม ในปลายปี 2525 กองทัพภาคที่ 3 ได้นำราษฎรที่มามอบตัว กลับมาตั้งหมู่บ้านใหม่ในสถานที่เดิมที่เคยอยู่ก่อนหนีเข้าป่า ปรับปรุง บูรณะใหม่ แต่มีข้อกำหนดการจัดสรรให้บ้านที่อยู่อาศัย ครอบครัวละไม่เกิน 2 งาน ที่ดินทำกินไม่เกิน 15 ไร่ต่อครอบครัว และให้อยู่ในความรับผิดชอบของนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขา โดยได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำการที่ภูทับเบิกจำนวน 5 ตำแหน่ง ได้แก่ 1)หัวหน้าหน่วย 1 คน ดำเนินการในเรื่อง ด้านการปกครอง การแต่งตั้งผู้นำ ผู้ใหญ่บ้าน ให้ลักษณะเหมือนหมู่บ้านทั่วไป 2)เจ้าหน้าที่อนามัย 1 คน ดูแลเรื่องสุขภาพ 3)ครู 1 คน ทำหน้าที่สอนภาษาให้กับชาวม้งให้สามารถสื่อสารกันได้ 4)ล่ามชาวเขา 1 คน แปลภาษาไทยเป็นม้ง ม้งเป็นไทย และ 5)เกษตร 1 คน ส่งเสริมการปลูกพืชเพื่อยังชีพ เช่น ข้าวโพด ขิง ข้าวไร่ การเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

การเข้ามาพัฒนาของภาครัฐ พ.ศ. 2526-2527 ได้มีการจัดตั้งสถานพยาบาลสาธารณสุขชุมชนขึ้น และในปี 2528 จัดตั้งโรงเรียนภูทับเบิกร่วมใจขึ้น โดยโรงเรียนแห่งนี้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีระดับการศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีศูนย์เด็กเล็กที่จัดตั้งโดยองค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล และมีการดำเนินสร้างถนนสายภูทับเบิกหล่มเก่า เพื่อให้สามารถนำพืชผลทางการเกษตรลงมาขายที่พื้นราบได้ ซึ่งพืชผลทางการเกษตรที่นำลงมาขายนั้นเป็นข้าวโพด ขิง ที่เหลือจากการใช้ดำรงชีพ

การเปลี่ยนแปลงของชุมชน ใน พ.ศ. 2530 ชาวม้งภูทับเบิกได้นำเอากะหล่ำปลีเข้ามาปลูกโดยที่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจะสนับสนุนในเรื่องของการปลูกข้าวไร่ ข้าวโพดและการปลูกพืชผล เป็นการปลูกเพื่อยังชีพ และในปี พ.ศ. 2536 ได้ตั้งหมู่บ้านทับเบิกใหม่ หมู่ที่ 16 ซึ่งเป็นการแยกออกจากบ้านทับเบิก หมู่ที่ 14 เนื่องจากมีประชากรเพิ่มขึ้นทำให้การดูแลลูกบ้านไม่ทั่วถึง

จุดเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชน ใน พ.ศ. 2538 มีมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำภาคตะวันตก ภาคกลาง และลุ่มน้ำป่าสัก และการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนอื่น ๆ (ลุ่มน้ำชายแดน) ซึ่งภูทับเบิกเป็นพื้นที่ที่จัดอยู่ในกลุ่มของชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1A เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์ และชั้นคุณภาพน้ำชั้นที่ 1B เป็นพื้นที่ที่สภาพป่าส่วนใหญ่ได้ถูกทำลาย ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาหรือการใช้ที่ดินรูปแบบอื่นก่อน พ.ศ. 2525 กรมป่าไม้จังหวัดเพชรบูรณ์นำมติครม. พ.ศ. 2538 ชุดนี้เข้ามาบังคับใช้กับพื้นที่ภูทับเบิก จึงทำให้เกิดการทวงคืนผืนป่า ทำให้ที่ดินทำกินของชาวบ้านภูทับเบิกบางส่วนถูกยึด จึงนำไปสู่กรณีข้อพิพาทความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับรัฐจนถึงปัจจุบัน และในปีเดียวกัน กรมประชาสงเคราะห์จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มีการอพยพคนเผ่าถิ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ภูทับเบิก จำนวน 50 คน (หัวหน้าครอบครัว) เพื่อมาบุกเบิกพื้นที่และจากนั้นก็รับครอบครัวมาอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งเป็นบริเวณบ้านนาสะอุ้ง หมู่ 17 เป็นหมู่บ้านเกิดใหม่ที่แยกตัวออกจากหมู่ที่ 14 บ้านทับเบิกเป็นพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช 2484 ที่อยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1A ชั้นที่ 1B และชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำป่าสัก การดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดต้องได้รับความยินยอมจากกรมป่าไม้ก่อน ทำให้ปัจจุบันไม่มีไฟฟ้าใช้ในครัวเรือน และใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น (องค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล, ม.ป.ป.)

การแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน พ.ศ. 2544 เกิดอุทกภัยในเขตพื้นที่ตำบลน้ำชุน และตำบลน้ำก้อ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องมาจากฝนตกหนักทำให้เกิดนํ้าหลากหรือนํ้าท่วมฉับพลัน เกิดดินโคลนถล่มจากภูเขาสูงชัน มีการตรวจสอบสาเหตุการเกิดอุทกภัย พบว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินทำกิน การตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ การบุกรุกสภาพป่าไม้เชิงเขา รัฐบาลจึงจัดให้มีการสำรวจการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินในจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อให้ทราบถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินในลักษณะต่างๆ อันอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงกรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ ได้มีการสำรวจและจัดทำแนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรชาวเขาในพื้นที่ ซึ่งผลจากการสำรวจ พบว่า ที่ดินที่นิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขากันออกจากพื้นที่ป่าจากเดิม 175,000 ไร่ สมควรให้คงไว้ใช้ประโยชน์เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่อยู่อาศัยและทำกิน 47,121 ไร่ แบ่งเป็นเขตอำเภอเขาค้อ 33,674 ไร่ และเขตอำเภอหล่มเก่า 13,447 ไร่ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ปรากฏอยู่ใน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2509 ส่วนพื้นที่ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์ ได้ส่งคืนให้กรมป่าไม้ 127,879 ไร่ จากจำนวน 132,626 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพ ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1A ชั้นที่ 1B และชั้นที่ 2 จัดเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่า ต้นน้ำ ลำธาร ตามที่ปรากฏในมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 ที่เห็นชอบการแก้ไขปัญหาราษฎรบุกรุกพื้นที่ป่าในเขตนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขา ซึ่งทางราชการยังไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้และธรรมชาติ

กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม โดยกรมประชาสงเคราะห์ รับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมป่าไม้ เพื่อหาแนวทางปรับปรุงฟื้นฟู โดยให้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม มอบพื้นที่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้มีการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ โดยการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน หรือใช้การส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยให้ประสานการดำเนินการในรายละเอียดกับกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป (กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2560)

ภูมิศาสตร์บ้านภูทับเบิก ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน อยู่ในเขตตำบลวังบาล จำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านทับเบิก บ้านทับเบิกใหม่ บ้านนาสะอุ้ง และบ้านน้ำเพียงดิน ตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเนื้อที่รวม 13,447 ไร่

ปัจจุบันในพื้นที่บ้านทับเบิก (หมู่ 14) และหมู่บ้านทับเบิกใหม่ (หมู่ 16) เป็นแหล่งท่องเที่ยวของภูทับเบิกที่นักท่องเที่ยวจะเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมากและกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเมื่อมาเที่ยวภูทับเบิก ได้แก่ เที่ยวชมอาคารหอดูดาวและที่วัดอุณหภูมิ ชมวิวทิวทัศน์จากธรรมชาติ เที่ยวชมสวนกะหล่ำปลีและแคปปิ้ง เที่ยวชมสวนเกษตร พืชผักเมืองหนาวและเก็บสตรอว์เบอรี่ และเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เป็นต้น

บ้านทับเบิกเป็นสังคมพหุวัฒนธรม ประกอบด้วย กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง และคนไทยพื้นราบที่เข้ามาอาศัยอยู่ภายหลังจากการทำมาหากินและการแต่งงาน อย่างไรก็ตาม ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนภูทับเบิกจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง มีระบบเครือญาติตระกูลแซ่ จำนวนประชากร - บ้านทับเบิก หมู่ 14 มีจำนวนประชากรทั้งหมด 1,384 คน ชาย 678 คน หญิง 706 คน ครัวเรือน 355 ครัวเรือน

จาการที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง มีลักษณะเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ กล่าวคือ ผู้ชายมีอำนาจมากกว่าผู้หญิง จากวัฒนธรรมชนเผ่าที่กำหนดให้ชายเป็นผู้นำในด้านต่างๆ ผู้หญิงจึงถูกลดบทบาทและไม่สามารถจะมีอิสระในชีวิตของตน ไม่ได้รับความเท่าเทียมในการใช้ชีวิตของตนเอง ผู้หญิงจะไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนหนังสือ แต่งงานเมื่ออายุยังน้อย ปัจจุบันผู้หญิงได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการที่ผู้หญิงสามารถที่จะเรียนหนังสือและมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ความสัมพันธ์ในครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง จะมีความเหนียวแน่น และอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ นับถือผู้อาวุโสเป็นตระกูลแซ่ มีความเชื่อและพิธีกรรมหลังความตายในการเคารพผีบรรพบุรุษ เพื่อให้ลูกหลานได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยในแต่ละครอบครัวจะมีการนับถือผีบรรพบุรุษเพื่อให้ปกป้องคุ้มครองลูกหลาน เพื่อให้ทำมาหากินร่ำรวย และจะมีการเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปี

นอกจากนั้นยังพบว่า อำนาจในการตัดสินใจยังคงให้ผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัว ผู้หญิงจะทำหน้าที่เป็นแรงงานหลักในครอบครัวดูแลบ้าน ดูแลไร่ และดูแลกิจการธุรกิจท่องเที่ยว ในครอบครัวที่มีลูกสาว เมื่อแต่งงานแล้วต้องออกจากบ้านไปอยู่กับสามี ส่วนลูกสะใภ้ต้องแต่งงานแล้วมาอยู่บ้านสามีมาช่วยกันทำมาหากิน แต่ด้วยสภาพในปัจจุบันที่โลกเปิดกว้างขึ้นและคนในพื้นที่ได้รับการศึกษามากขึ้นโดยเฉพาะในรุ่นลูกหลาน ทำให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในครอบครัวมากขึ้นในการทำงานและการร่วมตัดสินใจในการประกอบอาชีพ การบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งจะเกิดขึ้นกับครอบครัวที่มีการศึกษาสูงลูกหลานได้มีโอกาสเรียนหนังสือในตัวเมืองและกลับมาทำมาหากินและแต่งงานกับคนที่มีระดับการศึกษาเหมือนกัน ทำให้มีทัศนคติในยอมรับเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศมากขึ้น

จากประวัติศาสตร์ชุมชนภูทับเบิกนั้น ได้มีบรรพบุรุษเข้ามาบุกเบิกพื้นที่ป่าไม้บนภูเขาสูงใหญ่สลับซับซ้อน โดยชาวไทยภูเขาเผ่าม้งที่เข้ามาอยู่ 5 ตระกูลหลักๆ คือ ตระกูลแซ่เถา แซ่สง แซ่หยาง แซ่หล่อ และแซ่ลี้ โดยเข้าจับจองพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและทำมาหากิน ใช้ชีวิตอยู่กับป่ามานานกว่า 100 ปี พบว่า ในขณะนั้นตระกูลแซ่สงเป็นตระกูลที่มีขนาดใหญ่กว่าตระกูลอื่นๆ จึงทำให้มีพื้นที่ในการสร้างบ้านเรือนและพื้นที่ทำการเกษตรในหมู่บ้านมากกว่าตระกูลแซ่อื่นๆ ส่วนตระกูลแซ่เถาและตระกูลแซ่อื่นๆ ได้พื้นที่ห่างไกลจากตัวหมู่บ้าน ซึ่งก็คือบริเวณโซนเศรษฐกิจใหม่หรือแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน (ศุภชาติ แก้วกัณฑา และภาคภูมิ สมบุญพูลพิพัฒน์, 2563)

ม้ง

มีกลุ่มที่จัดตั้งขึ้น ได้แก่

  1. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวภูทับเบิก เกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านภายในชุมชนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลและบริการนักท่องเที่ยวในพื้นที่ภูทับเบิกและจัดหารายได้เข้าชุมชน
  2. กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวเป็นการรวมกลุ่มของเจ้าของที่พัก รีสอร์ท ที่เป็นคนในชุมชนภูทับเบิกจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ภูทับเบิกดูแลด้านความสะอาดและอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ภูทับเบิก
  3. กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมเป็นกลุ่มที่ดำเนินการจัดตั้งเป็นกลุ่มของการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งและเก็บรวมรวมเครื่องมือ เครื่องใช้และรวมไปถึงวิถีการดำชีพของชุมชนภูทับเบิก
  • ประเพณีปีใหม่ม้ง

ภูทับเบิกเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง และในทุกๆ จะมีการจัดงานประเพณีปีใหม่ม้ง และเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเที่ยวชมได้ แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากนัก เนื่องจากไม่ได้มีการส่งเสริมในวงกว้าง งานประเพณีฉลองปีใหม่ของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง หรือเรียกว่า “น่อเป๊โจ่วซ์” ตรงกับขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 หรือขึ้น 1 ค่ำ เดือน 2 ซึ่งจะจัดอยู่ในช่วงระยะเวลาระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคมของทุกปีจะจัดขึ้นหลังจากได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเสร็จเรียบร้อย และเป็นการเฉลิมฉลองถึงความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ระยะเวลาในการจัดงานชาวบ้านเชื่อว่าถ้าจัดวันคี่จะเป็นฤกษ์ดี คือ 5 วัน 7 วัน 9 วัน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของคนในชุมชน สมาชิกในชุมชนจะพากันหยุดทำงาน ทำไร่ ทำสวน เพื่อมาเฉลิมฉลองวันปีใหม่ม้ง ซึ่งวันสุดท้ายก่อนจัดประเพณีปีใหม่ม้ง หรือวันส่งท้ายปีเก่าหัวหน้าครัวเรือนของแต่ละบ้านจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จะต้องทำพิธีบูชาถึงผีฟ้า ผีป่า ผีบ้าน ชาวม้งจะฆ่าหมู่ ฆ่าไก่ และเผากระดาษเงินกระดาษทองเพื่อบูชาผีบรรพบุรุษหรือผีที่นับถือให้ความคุ้มครอง และดูแลความสุขตลอดทั้งปี ถัดจากวันส่งท้ายปีเก่าจะเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ กิจกรรมในวันปีใหม่จะมีการยิงปืน และพิธีวนไก่ พิธีเรียกขวัญเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้าน มีการละเล่นสร้างความสนุกสนาน ได้แก่ การโยนลูกช่วง การเล่นลูกข่าง การแสดงเป่าแคน และแสดงเต้นรำ (ปัทมวรรณ เจ๊กแสง และอิศรา ยะหัวฝาย, 2563)

  • ความเชื่อเรื่องการแต่งงาน

ความเชื่อและวัฒนธรรมการแต่งงานของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่อพยพลงมาจากประเทศจีน โดยจะมีการแต่งงานในรูปแบบเดียวคือ แต่งงานตามประเพณีที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่า ประเพณีแต่งงานของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ได้มีรูปแบบเพิ่มขึ้นตามศาสนาที่นับถือคือศาสนาคริสต์ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแต่งงานในคนรุ่นใหม่มากขึ้น พิธีกรรมการแต่งงานของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ประกอบไปด้วย ขั้นตอนการแต่งงาน พิธีสู่ขอและสินสอด โดยพิธีกรรมเหล่านี้ของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งพื้นที่ภูทับเบิกได้สืบทอด และปฏิบัติตามแบบแผนที่สืบทอดมาตั้งแต่ในอดีต

ความเชื่อเรื่องการแต่งงานของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง พบว่าจะมีความเชื่อที่เป็นปึกแผ่นและเหนียวแน่นในเรื่องเดียวคือ ห้ามแต่งงานในตระกูลเดียวกัน เพราะเชื่อกันว่า 1) ห้ามแต่งงานในตระกูลเดียวกันหรือแซ่เดียวกัน เพราะว่าคือพี่น้องเดียวกันไม่สามารถแต่งงานได้ด้วยกันได้ 2) หากน้องชายหรือน้องสาวแต่งงานก่อนพี่ จะต้องเสียเงินให้กับพี่จำนวน 1,200 บาท 3) ไม่มีการขายบริการในชาติพันธุ์ม้ง 4) คู่รักในกลุ่ม LGBTQ ในชาติพันธุ์ม้งด้วยกันหรือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ 5) หากผู้หญิงเป็นม่ายสามารถแต่งงานใหม่ได้ไม่มีความผิด 6) หากเกิดการหย่าร้างฝ่ายหญิงจะไม่สามารถเข้าบ้านตนเองได้หรือกลับมาอยู่ในบ้านกับพ่อเเม่ได้ หากเสียชีวิตก็ไม่สามารถนำร่างมาทำพิธีที่บ้านได้ หรือถ้าหากจะคลอดลูกก็ไม่สามารถนำมาคลอดที่บ้านหรือให้อยู่ในบ้านได้ 7) ห้ามเกี้ยวพาราสีกันต่อหน้าผู้ใหญ่นั้นถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และ 8) ห้ามลืมร่มที่จะใช่ในพิธีกินดอง หากลืมจะถูกปรับเป็นเงิน 1200 บาท พวกเราเป็นพี่น้องเดียวกันเป็นญาติกัน ไม่สามารถที่จะแต่งงานด้วยกันได้ (จริยาพร ชาเตียม และ ทิพวรรณ ก๋าใจ, 2565)

  • การนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ชาวม้งหมู่บ้านภูทับเบิกนับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งชาวม้งหมู่บ้านภูทับเบิกส่วนใหญ่จะนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ ในอดีตหมู่บ้านภูทับเบิกไม่มีโรงพยาบาล ไม่มียารักษาโรค ไม่มีหมอรักษาโรค ชาวม้งภูทับเบิกจึงพึ่งการรักษาจากอัวเน้ง ซึ่งอัวเน้งเป็นผู้ที่ดูแลเรื่องการรักษาทางการแพทย์โดยมีความเกี่ยวข้องกับวิญญาณ โดยจะมีความคล้ายคลึงกับหมอไสยศาสตร์ เมื่อเวลาไม่สบายจะเลือกที่จะไปให้อัวเน้งรักษาในรูปแบบพิธีกรรม เนื่องจากเชื่อว่าจิตวิญญาณของตนหายไปแบบไม่กลับมา จึงจะต้องให้อัวเน้งเป็นผู้รักษาโดยการประกอบพิธีกรรม เพื่อที่จะให้จิตวิญญาณกลับมาสู่ร่างกาย อาการเจ็บป่วยก็จะหายไป ในระหว่างประกอบพิธีกรรมจะต้องเผากระดาษเงินกระดาษทอง เนื่องจากมีความเชื่อว่ากระดาษเงินกระดาษทองเปรียบเสมือนเงินทองที่เอาไปชดใช้เพื่อให้ปล่อยวิญญาณกลับคืนมา และต้องฆ่าหมูเพื่อเอาไปแลกวิญญาณกลับคืนมา โดยเชื่อว่าเวลาไม่สบายหรือเจ็บป่วยเกิดจากการถูกเอาวิญญาณของตนไปซ่อน ดังนั้นจะต้องให้อัวเน้งประกอบพิธีกรรมเพื่อปลดปล่อยวิญญาณกลับคืนมา

ในปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวม้งภูทับเบิกตามความเชื่อหรือตามประเพณีสมัยดั้งเดิมต่างๆ ได้หายไปจากอดีตเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการพูด การแต่งกาย หรือการปฏิบัติตนก็ตาม ซึ่งในอดีตกิจกรรมต่างๆ ที่บรรพบุรุษทำมาทั้งหมดก็เพื่อความสบายใจ แต่ในปัจจุบันจะมีความแตกต่างไปจากเดิมค่อนข้างมาก เมื่อป่วยก็เลือกที่จะไปพบแพทย์หรือซื้อยามารับประทาน ความเชื่อมี 2 ลักษณะ ดังนี้

  1. ความเชื่อสิ่งที่อยู่ในบ้าน ความเชื่อสิ่งที่อยู่ในบ้าน คือ การนับถือบรรพบุรุษในครอบครัวและบรรพบุรุษในหมู่บ้าน เมื่อต้องการที่จะส่งดวงวิญญาณไปเกิดใหม่ ก่อนอื่นจะต้องผ่านประตูหลายๆ บาน โดยจะต้องผ่านไปจนถึงประตูสุดท้ายที่มีเจ้าที่เจ้าทางประจำอยู่ที่ประตูแห่งนั้น ซึ่งการที่จะผ่านประตูสุดท้ายนั้นไปได้จะต้องมีการจ่ายค่านำทางเพื่อช่วยนำพาดวงวิญญาณนั้นไปเกิดใหม่ และสิ่งที่จะสามารถเอาไว้จ่ายค่านำทางคือกระดาษเงินกระดาษทอง (เด๋อซัว เด๋ออัวเน้ง) หากเป็นโลกมนุษย์กระดาษเงินกระดาษทองก็เปรียบเสมือนเงินทองที่เอาไว้แลกสิ่งของที่ต้องการ หากใช้กระดาษเงินกระดาษทองที่เป็นพวงเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเงินจริงๆ จะเท่ากับเงินจำนวนหนึ่งพันบาท แต่ถ้าหากใช้กระดาษเงินกระดาษทองที่มีรูปร่างสี่เหลี่ยมธรรมดาเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเงินจริงๆ จะเท่ากับเงินจำนวนยี่สิบบาท ดังนั้นกระดาษเงินกระดาษทองที่เป็นพวงจะมีมูลค่ามากกว่ากระดาษเงินกระดาษทองสี่เหลี่ยมธรรมดา
  2. ความเชื่อสิ่งที่อยู่นอกบ้าน ความเชื่อสิ่งที่อยู่นอกบ้าน คือ นับถือบรรพบุรุษป่าเขา เช่น หากต้องการจะทำไร่ปลูกพืชอยู่ในพื้นที่หนึ่ง ชาวม้งก็จะบนบานศาลกล่าวขอให้คุณเจ้าช่วยดูแลคุ้มครองบริเวณเขาลูกนั้น และบันดาลพรให้ประสบความสำเร็จได้ผลผลิตบรรลุตามหมาย หากผลผลิตเป็นไปตามปรารถนาจะนำวัวหนึ่งตัวมาให้ เมื่อประสบความสำเร็จจะต้องนำวัวหนึ่งตัวมาฆ่าและบอกกล่าวกับเจ้าป่าเจ้าเขาว่า “นำวัวมาให้แล้ว ทุกท่านที่เป็นเจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา เชิญมาร่วมรับประทานและสังสรรค์” เป็นต้น

อีกหนึ่งความเชื่อสิ่งที่อยู่นอกบ้านคือการทำนายจากไก่ เนื่องจากไก่เป็นสัตว์ที่แสนรู้ หากจะต้องการทำนายจะต้องดูไก่จากเท้าถึงกระดูก ดวงตา หรือลิ้น เช่น เมื่อต้องการที่จะเดินทางไปต่างจังหวัด จะต้องนำไก่หนึ่งคู่มาพูดว่า “หากการเดินทางครั้งนี้จะเกิดอะไรขึ้นก็ให้มันออกมาที่ไก่คู่นี้” เมื่อพูดเสร็จก็นำไก่มาฆ่าและต้มทั้งตัวโดยไม่หั่นเป็นชิ้นๆ หลังจากนั้นก็จะดูเท้าของไก่ว่าเป็นอย่างไร เท้าชี้อย่างไร เท้าหงิกงออย่างไร เท้าได้เกาะอวัยวะส่วนใดหรือไม่ อวัยวะต่างๆ ของไก่ที่ปรากฏจะสื่อความหมายต่างๆ หากต้องการเดินทางก็จะดูอวัยวะของไก่ว่าจะมีอุปสรรคในการเดินทางครั้งนี้หรือไม่ หากผลออกมาว่าเท้าของไก่จับไปที่หัวใจ การเดินทางครั้งนี้อาจจะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง จะต้องหยุดการเดินทางเที่ยวนี้ไว้ก่อน และชาวม้งเชื่อว่าหากจะเดินทางไปไหนมาไหน จะต้องนำวิญญาณของตนเองไปซ่อนไว้ใต้ปีกไก่ เมื่อเวลาได้ไปอีกภพหนึ่ง จะไม่มีใครสามารถดึงวิญญาณไปไหนได้ หรือต้องการที่จะปลูกพืชก็จะดูผลลัพธ์ว่าจะออกมาเป็นอย่างไรก็ให้ปรากฏออกมาทางไก่ให้ดู หากต้องการที่จะปลูกพืชบริเวณนี้จะมีอุปสรรคหรือไม่ ทำแล้วผลผลิตจะดีหรือไม่ ราคาของพืชจะดีหรือไม่ เป็นต้น ความเชื่อเหล่านี้เป็นความเชื่อที่บรรพบุรุษส่งต่อให้กับรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่ในปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้หลงเหลืออยู่น้อย

อัวเน้งเปรียบเสมือนกับคนทรงเจ้า ที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องการรักษาและการเรียกขวัญให้คนในหมู่บ้าน หรือคนต่างถิ่นที่มีความเชื่อเกี่ยวกับอัวเน้ง ซึ่งผู้ที่ต้องการให้อัวเน้งรักษาส่วนใหญ่นับถือบรรพบุรุษ และผู้ที่ต้องการที่จะให้อัวเน้งทำการรักษาให้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นชาวม้งเท่านั้น ใครๆ ก็สามารถรักษากับอัวเน้งได้ เพียงแต่ว่าจะต้องมีความเชื่อเกี่ยวกับอัวเน้ง โดยผู้ที่ได้รับการรักษาจะขึ้นอยู่กับบุญบารมีของแต่ละคน ว่าจะสามารถรักษากับอัวเน้งคนใดแล้วอาการเจ็บป่วยจะสามารถบรรเทาหรือหายขาด โดยมีความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หากเชื่ออัวเน้งคนใดก็ต้องรักษากับอัวเน้งคนนั้น หากเชื่ออัวเน้งในพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่อัวเน้งในหมู่บ้านก็สามารถรักษากับอัวเน้งในพื้นที่อื่นได้ อัวเน้งมีความสำคัญกับชาวเขาเผ่าม้งภูทับเบิกมาก ในหมู่บ้านจะไม่มีอัวเน้งไม่ได้ เนื่องจากหากไม่มีอัวเน้งในหมู่บ้าน เวลาเจ็บป่วยแล้วรับการรักษาจากแพทย์ไม่หาย เมื่อรักษาไม่หายก็ไม่รู้จะพึ่งพาใครนอกจากอัวเน้ง

ปัจจุบันชาวม้งภูทับเบิกนอกจากการนับถือวิญญาณบรรพบุรุษแล้ว ยังนับถือศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ และศาสนาอื่นๆ ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์จะไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับอัวเน้ง แต่เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็ยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับอัวเน้งอยู่ และมีผู้ที่เคยนับถือวิญญาณบรรพบุรุษแล้วเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ สืบเนื่องมาจากการนับถือวิญญาณบรรพบุรุษนั้นต้องประกอบพิธีกรรมที่มีความยุ่งยาก หากเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์จะมีความเรียบง่ายมากกว่าการนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ ในระหว่างที่ผู้ที่นับถือวิญญาณบรรพบุรุษเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ บาทหลวงจะพาไปประกอบพิธีกรรมล้างบาป เพื่อไม่ให้บรรพบุรุษตามตัวเจอ ในอดีตการประกอบพิธีกรรมชาวม้งจะมีความเชื่อที่สูงมาก แต่ในปัจจุบันจะดูตามบริบทหรือสถานการณ์นั้นๆ จะไม่เคร่งเท่าในอดีต อัวเน้งบางคนสามารถเข้าวัดทำบุญและเข้าโบสถ์เหมือนชาวคริสต์ ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่อัวเน้งจะนับถือวิญญาณบรรพบุรุษอย่างเดียว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับศาสนาอื่น (ณัฐกานต์ สารคาม และนริศรา สังแอ๊ด, 2565)

  • ไจ๋ ความเชื่อเรื่องป้องกันสิ่งชั่วร้าย

อีกความเชื่อหนึ่งของชาวม้งภูทับเบิก คือ “ไจ๋” ไจ๋ทำมาจากไม้ไผ่ที่สานโดยผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน มีหน้าที่ปกป้องดูแลคนในบ้านจากภูติผีวิญญาณและสิ่งชั่วร้าย โดยที่ไจ๋เกิดจากการสานไม้ไผ่ต่อกันเป็นลักษณะรูปร่างต่างๆ เช่น วงกลม สามเหลี่ยม หกเหลี่ยม เป็นต้น และจะมีการเสียบใบไม้ไว้ที่ไจ๋ เพื่อเป็นการแสดงว่าไม่มีคนอยู่บ้าน หากมีวิญญาณผ่านมาเห็นก็จะเข้าใจว่าในบ้านหลังนั้นไม่มีคนอยู่ แล้ววิญญาณดวงนั้นก็จะไม่เข้าไปในบ้านหลังนั้นและผูกผ้าสีแดงติดไว้ที่ไจ๋ เนื่องจากชาวม้งภูทับเบิกเชื่อว่าวิญญาณกลัวสีแดง การที่ผูกผ้าสีแดงติดไว้ที่ไจ๋จะทำให้วิญญาณไม่กล้าเข้าไปในบ้านหลังนั้น และมีความเชื่อว่าหากมีไจ๋ไว้หน้าบ้าน คนในครอบครัวนั้นก็จะได้รับการปกป้องโดยวิญญาณบรรพบุรุษ เพื่อไม่ให้วิญญาณที่จะนำสิ่งไม่ดีหรือสิ่งชั่วร้ายเข้ามาในบ้าน

ดังนั้น ความเชื่อของชาวม้งที่ยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบัน เป็นความเชื่อที่ถูกส่งต่อมาจากบรรพ-บุรุษมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เนื่องจากบรรพบุรุษได้ปฏิบัติตนตามความเชื่อต่างๆ ให้ลูกหลานได้เห็น ทำให้ลูกหลานมีความเชื่อตามบรรพบุรุษ แต่ในบางครั้งก็ประกอบพิธีกรรมเพื่อความสบายใจของคนในครอบครัวเพียงเท่านั้น (ณัฐกานต์ สารคาม และนริศรา สังแอ๊ด, 2565)

  • ความเชื่อเรื่องผีของชาวม้ง

ชาวม้งเชื่อผีนั้นมีอยู่จริง โดยมีรากฐานสำคัญที่ปลูกฝังมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น ในเรื่องของระบบความเชื่อที่เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์แบบระบบเครือญาติ ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวม้งตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ชาวม้งยึดมั่นในจารีตและประเพณี ความเชื่อถือแบบดั้งเดิมที่ปฏิบัติกันมา อิทธิพลความเชื่อนั้นมีอยู่มากในหมู่ของชาวม้ง อย่างการนับถือผีที่เป็นที่พึ่งทางใจของชาวม้ง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวม้งบางคนนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งพุทธทั่วไปจะเป็นในรูปแบบของการนับถือ คือ นับถือบรรพบุรุษอย่างเดียว และชาวม้งบางคนนับถือศาสนาคริสต์ แต่คริสต์ทั่วไปก็มีการนับถือผีบรรพบุรุษเช่นกัน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ม้งนับถือล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องผีและวิญญาณทั้งสิ้น แม้แต่ในบ้านม้งก็มีสิ่งศักดิ์สิทธ์ จากการสำรวจพบว่า หากจะลงมือทำสิ่งใดหรือเกิดความไม่สบายใจขึ้น ก็จะมีการบอกกล่าวหรือบนบานผีหรือวิญญาณที่นับถือให้มาช่วยในเรื่องที่ผู้นั้นขอ ชาวม้งเชื่อว่าทุกหนทุกแห่งนั้น ล้วนมีผีหรืออำนาจเหนือธรรมชาติสิงสถิตอยู่ ทั้งในบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ อย่างไร่ นา ภูเขา ลำธาร ทั้งนี้ชาวม้งได้แบ่งประเภทของผีไว้ 2 ประเภท คือ ผีดี เป็นผีที่ปกป้องคุ้มครองให้สมาชิกในครัวเรือนมีความเป็นอยู่ที่ดี กับผีดุร้ายที่อาจทำร้ายให้เกิดความเจ็บป่วย ดังนี้ (ศุภนิดา ทองอินทร์ และอารียา พงศ์พจมาน, 2566)

  1. ผีฟ้า ผีแถน หรือผีพญาแถน จัดเป็นผีดี เป็นผีระดับสูงกว่าผีธรรมดาทั่วไป ชาวบ้าน เชื่อว่าเป็นเทวดาที่มีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติสามารถช่วยขจัดเภทภัยหรืออุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงได้ โดยชาวม้งเชื่อกันว่าผีฟ้าเป็นผีชั้นสูงเป็นผีเทพ เทวดา สามารถที่จะดลบันดาล ปัดเป่าวิญญาณ สิ่งชั่วร้ายที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยอย่างที่เป็นอยู่ให้หายออกจากร่างกายได้ รวมถึงการทำให้หายป่วยไข้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข
  2. ผีบรรพบุรุษ ผีเรือน ผีบรรพบุรุษคือ พ่อแม่ ปู่ย่า พี่ ป้า อา ฯลฯ ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว จัดเป็นผีดี เมื่อพ่อเเม่ตายจะเชิญผีพ่อแม่มาไว้ที่เรือนของตน จะเป็นวิญญาณที่คอยดูแลสมาชิกในบ้าน เพื่อคุ้มครองให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อยามตกอยู่ในภาวะของอันตรายหรือความเครียด จะมีการบนบานและตอบแทนให้กับวิญญาณบรรพบุรุษ ถึงแม้ว่าจะเป็นผีดีที่คอยคุ้มครองสมาชิกในครัวเรือน แต่สมาชิกในครัวเรือนต้องคอยดูแลและเซ่นไหว้อย่างสม่ำเสมอ ส่วนผีเรือน จะมีอยู่หลานตน ได้แก่ ผีสึก๊ะ ผีประตูหน้าประตูหลังผีเตาไฟใหญ่ และเตาไฟเล็ก ผีเหล่านี้ ช่วยดูแลสัตว์เลี้ยงให้ขยายพันธ์อย่างรวดเร็ว พืชผลงอกงาม ค้าขายดีมีเงินทอง และดูแลสมาชิกในครัวเรือน ให้ปลอดภัยจากการก่อกวนของผีอื่นๆ อีกด้วย
  3. ผีป่า ผีภูเขา ผีดินสไลด์ ผีที่อาศัยอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าบนภูเขา ในป่าหรือตามลำธาร จัดเป็นผีร้ายหรือเป็นผีที่มีอำนาจทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้เมื่อมนุษย์เข้าไปล่วงเกิน ชาวม้งมีอาชีพทำไร่เลื่อนลอย ถางป่าปล่อยไว้ให้แห้งแล้วจึงเผา เพื่อปลูกพืชเป็นประจำ ทำให้ผีบริเวณนั้นโกรธอยู่เสมอ ดังนั้นต้องมีการเซ่นไหว้ หรือทำการขออนุญาตผีป่าผีดอยก่อน ส่วนผีลำธาร เป็นผีที่อยู่ประจำต้นน้ำลำห้วย การที่ชาวม้งเข้าไปทำลายหรือกระทำการใดๆ ที่ส่งผลเสียต่อน้ำลำธารจะทำให้ผีนั้นโกรธและทำร้ายให้เจ็บป่วย และผีดินสไลด์ เป็นผีที่อยู่บริเวณที่มีการแตกของดิน
  • การเลี้ยงผี
  1. การเลี้ยงผีฟ้า จะมีการเลี้ยงประจําปี การเลี้ยงผีฟ้าไม่จําเป็นต้องทําประจํา เมื่อใดที่ ชาวม้งเรียกขอความช่วยเหลือ จะต้องมีการบนบานศาลกล่าวว่าถ้าประสบความสําเร็จในเรื่องที่ขอให้ ช่วยชาวม้งจะต้องนํา ซึ่งที่ตนได้บนบานไว้มาทําพิธีการเซ่นสรวงบูชาผีฟ้า
  2. การเลี้ยงผีป่าผีภูเขา ผีเขานี้จะทําการตั้งศาลไว้ใกล้ลําธาร ภูเขา การเลี้ยงผีป่า ผีเขานี้ เพื่อให้ช่วยในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติจะได้อุดมสมบูรณ์ หากทําไร่ก็จะขอให้ผลผลิตงอกงามดี เราต้อง ทําการเซ่นไหว้ เมื่อได้ผลผลิตตามที่คาดหวังไว้หากได้แล้วไม่มาทําการเซ่นไหว้ผีป่า ผีเขา ไม่พอใจจะทํา ให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้
  3. การเลี้ยงผีของชาวม้งนั้นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ส่วนมากจะเป็นการบนบานไว้ใน เรื่องของการทำมาหากิน อย่างอาชีพค้าขายเพื่อขอให้ทำมาค้าขึ้น ร่ำรวย หรือว่าการทำไร่ ทำนา เพื่อให้ผลผลิตดี เจริญงอกงาม ทั้งยังส่งผลให้ลูกหลานอยู่ดีกินดี ผีฟ้าและผีบรรพบุรุษนั้นจะมีการเลี้ยง ในช่วงประเพณีปีใหม่ของชาวม้ง สิ่งที่นำมา เลี้ยงจะเป็นหมูหรือไก่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับคนที่ให้ การไหว้ผีลำธารจะเป็นการเซ่นไหว้เพื่อ ไม่ให้เป็นการล่วงเกินในการที่จะนำน้ำไปใช้ ต้นน้ำลำธารจะเสียหายไม่ได้ จึงต้องมีการเซ่นไหว้ด้วยไก่ หรือหมู หรือสิ่งที่ผู้นั้นจะให้ก็ตาม
  • ชนชั้นผี

การแบ่งชนชั้นผีของชาวม้งมีพื้นฐานสำคัญมาจากความเชื่อในการนับถือผีและการยกย่องของ ชาวม้ง ในการจัดลำดับชั้นที่อยู่สูงกว่า มีความเหนือกว่า

  1. ผีฟ้าหรือแถน พญาแถน จะอยู่ในชนชั้นสูงสุด เป็นผีระดับสูงกว่าผีธรรมดาทั่วไป และชาวบ้านเองก็มีความเคารพนับถือฝีฟ้ามากกว่า เพราะมีความเชื่อว่าผีฟ้านั้นทำให้เขาได้เกิดมาในโลกนี้ โดยมอบวิญญาณที่ดี และสิ่งดีๆให้กับเขา และยังช่วยดูแลความเรียบร้อย ปกปักรักษาชาวบ้านให้อยู่ดีมีสุข แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถดลบันดาลให้เกิดอันตรายได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นผีที่ดี ไม่ให้โทษหากไม่ได้ทำความผิด
  2. ผีบรรพบุรุษ คือ ผีญาติผู้ใหญ่ พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของครอบครัวที่ล่วงลับไปแล้ว อยู่ลำดับที่ 2 ลองมาจากผีฟ้า ซึ่งผีบรรพบุรุษจะให้ความสำคัญในการช่วยปกปักรักษาสมาชิกในครอบครัวให้มี ความสุข เจริญรุ่งเรือง ปกป้องทรัพย์สินและปกป้องไม่ให้ผีตนอื่นมารบกวน ทั้งยังช่วยให้ปลอดภัยจาก โรคภัย
  3. ผีเรือน ชาวม้งจะจัดชนชั้นให้อยู่เท่ากับผีบรรพบุรุษ จะมีอยู่หลายตน ได้แก่ ผีสือกั้ง ผีประตู ผี เสา ผีเตาไฟใหญ่ เตาไฟเล็ก คอยดูแลภายในบ้านอยู่ประจำจุดต่างๆ แต่ชาวม้งจะเรียกรวมๆ กันว่าเป็น ผีบรรพบุรุษที่ปกปักรักษาบ้านเรือน และดูแลลูกหลาน
  4. ผีป่า ผีภูเขา ชาวม้งเชื่อว่าผีเหล่านี้อาศัยอยู่ในทุกแห่งในภูเขา หรือในป่า จัดเป็นชั้นต่ำ เพราะ ไม่ได้อยู่บนฟ้า ผีชนิดนี้จัดอยู่ในพวกผีธรรมชาติ ตายไปก็ไปไหนไม่ได้ยังสิงสถิตอยู่ตามป่าตามเขา จึง ต้องมีการทำพิธีเพื่อเปิดที่เปิดทางให้พืชและผลผลิตบริเวณนั้นออกมาสมบูรณ์
  5. ผีลำธาร คือสถิตย์อยู่ตามต้นน้ำลำธาร มีหน้าที่ปกปักอยู่รักษาแม่น้ำลำธาร
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนภูทับเบิกนำทุนทางธรรมชาติมาใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยว คือ สภาพภูมิประเทศที่สวยงามอยู่บนภูเขาสูงในเขตภาคเหนือตอนล่างมียอดดอยที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,768 เมตร ด้วยระดับความสูงดังกล่าวทำให้ภูทับเบิกมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี จากสภาพภูมิสังคมทำให้ภูทับเบิกเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งซึ่งชอบอาศัยอยู่บนพื้นที่สูง ดังนั้น ทุนทางธรรมชาติตามที่กล่าวข้างต้นจึงเป็นจุดขายและจุดดึงดูดของนักท่องเที่ยวที่ทำให้ภูทับเบิกกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมของจังหวัดเพชรบูรณ์และเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ ประกอบกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปลูกพืชผักเมืองหนาวโดยเฉพาะพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งปลูกกะหล่ำปลีและผักกาดขาว (ลุ้ย) ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชมและถ่ายภาพรวมทั้งมาเรียนรู้การดำรงชีพของเกษตรกรในพื้นที่ภูทับเบิกจากการท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วยการพักในไร่ของเกษตรกรและเก็บพืชผักเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยว ทำให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเกษตรกรในพื้นที่มีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวและนิยมทำเกษตรร่วมกับการท่องเที่ยว หลังจาก พ.ศ. 2544 ที่ชุมชนได้เปิดการท่องเที่ยว พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการเกษตรมากขึ้น โดยเริ่มมีการสร้างสิ่งปลูกสร้าง รีสอร์ทและที่พัก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม และร้านค้าต่างๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยสภาพปัจจุบันได้มีการแบ่งโซนการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชนเป็น 3 โซน คือ โซนที่อยู่อาศัยของชุมชน โซนเกษตรกรรม และโซนท่องเที่ยวหรือโซนเศรษฐกิจใหม่สามารถอธิบายได้ดังนี้

  • โซนที่อยู่อาศัย ตั้งอยู่บริเวณชุมชนดั้งเดิมในบริเวณหุบเขาชื่อหมู่บ้านภูทับเบิก บ้านเรือนตั้งติดกันหนาแน่นยังคงพบบ้านแบบดั้งเดิมคือบ้านชั้นเดียวติดดินและผนังทำด้วยไม้ กระจายปะปนกับบ้านทรงทันสมัย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากคนพื้นล่างและเพื่อให้มีความคงทนถาวรมากขึ้น เมื่อเริ่มมีความสงบในพื้นที่จากการสู้รบคนในชุมชนดั้งเดิมได้กลับมาอาศัยและทำกินอีกครั้ง ในช่วง พ.ศ. 2525 จากนั้นใน พ.ศ. 2536 ได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านทับเบิกใหม่ หมู่ที่ 16 ซึ่งเป็นการแยกออกจากบ้านทับเบิก หมู่ที่ 14 เนื่องจากมีประชากรเพิ่มขึ้นการดูแลลูกบ้านไม่ทั่วถึง และเพื่อให้สะดวกในการบริหารจัดการของภาครัฐในการจัดสวัสดิการด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของชุมชน และอยู่ในเขตความรับผิดชอบจัดบริการสาธารณะและดูแลคุณภาพชีวิตขององค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ตาม พรบ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
  • โซนเกษตรกรรม กระจายอยู่บริเวณรอบชุมชน โดยเฉพาะบริเวณโซนรีสอร์ทและที่พัก และแหล่งท่องเที่ยว จะเป็นโซนเกษตรกรรมดั้งเดิมของหมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณสองฝั่งทางเข้าหมู่บ้านก่อนถึงโซนที่อยู่อาศัยประมาณ 5 – 7 กิโลเมตร เป็นโซนท่องเที่ยวหรือโซนเศรษฐกิจใหม่ที่เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวมากที่สุดและมีความหนาแน่นของผู้คนเมื่อถึงเทศกาลท่องเที่ยว (ฤดูหนาวและวันหยุด) ส่วนบริเวณท้ายหมู่บ้านเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหมู่ 14 บ้านทับเบิก ไปหมู่ 17 บ้านนาสะอุ้ง ยังคงเป็นโซนเกษตรกรรมดั้งเดิม เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่นิยมพักในบริเวณดังกล่าว เพราะอยู่บริเวณหุบเขาไม่เห็นวิวทิวทัศน์และอยู่ใกล้เขตชุมชน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตรของชุมชนไว้ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณทางเข้าหมู่บ้านซึ่งเคยเป็นเขตเกษตรกรรมที่มีการแบ่งให้กับลูกหลานทำกินได้มีเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินกลายเป็นสถานประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวตลอดเส้นทางกระจายอยู่ในไร่กระหล่ำปลีและผักกาดขาว (ลุ้ย)
  • โซนท่องเที่ยวหรือโซนเศรษฐกิจใหม่ ส่วนใหญ่พื้นที่โซนเศรษฐกิจใหม่จะทำรีสอร์ทและที่พัก มากที่สุด รองลงมาก็จะเป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านผลิตภัณฑ์ชุมชนและของที่ระลึก และร้านค้าทั่วไปตามลำดับ ลักษณะของร้านค้าและธุรกิจบริการสำหรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่โซนเศรษฐกิจใหม่จะมี 2 รูปแบบ คือ เป็นเจ้าของธุรกิจทำเอง และเช่าเพื่อทำธุรกิจ โดยรูปแบบของการเช่าพื้นที่นั้นจะมีทั้งคนในชุมชนและนอกชุมชน โดยมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากเกษตรกรรมมาเป็นพื้นที่ทำธุรกิจบริการเพื่อการท่องเที่ยวเป็นหลัก จุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวให้ความนิยม จะเป็นจุดวัดอุณหภูมิและจุดสูงสุดที่ระดับความสูง 1,768 เมตรจากระดับน้ำทะเล บริเวณดังกล่าวมีสถานประกอบการตั้งหนาแน่น

ชุมชนบ้านภูทับเบิกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง มีการสื่อสารด้วยภาษาไทยเมื่อติดต่อกับคนไทยพื้นราบหรือนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามในชีวิตประจำวันจะสื่อสารเป็นภาษาม้งกันในครอบครัวและญาติพี่น้อง จากการสืบค้นพบว่า ภาษาม้งที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันคือภาษาที่แท้จริง จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน หรือ ม้ง-เย้า ภาษาม้ง ทั้งนี้มีความเห็นเกี่ยวกับที่มาและลักษณะภาษาพูดของม้ง ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ได้จัดประเภทภาษาม้งว่าเป็นภาษาในตระกูลมอญ-เชมร (ออสดูตเอเชียติด) ไท ชินีติด และอื่นๆ บางท่านถือว่าภาษาม้ง-เย้า เป็นสาขาหนึ่งของภาษาตระกูลจีน-ธิเบต (วิชชุพงศ์ วรศาสตร์กุล, 2564 อ้างใน ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, 2518)

ชาวม้งมีตำนานที่ได้เล่าสืบทอดต่อกันมาว่าในอดีตชาวม้งมีภาษาม้งเขียนเป็นของตนเอง ซึ่งผู้ชายจะเป็นผู้เรียนและเขียนบันทึกความรู้ต่างๆ แต่หลังจากชาวม้งได้ทำสงครามกับจีนเป็นเวลานานและประสบความพ่ายแพ้ ชาวจีนจึงทำลายหลักฐานการเขียนบันทึกต่างๆ ของชาวม้งจนหมดสิ้น จึงเป็นเหตุให้ชาวม้งไม่มีภาษาเขียน และจากการสัมภาษณ์ นางจงยี่ แซ่สง (7 พฤษภาคม 2563) ได้กล่าวว่า การทำศึกสงครามกับจีนทำให้ชาวม้งต้องหนีสงครามตลอดเวลา มีอยู่วันหนึ่งขณะลำเลียงหนังสือบรรทุกม้าเดินทางมาถึงริมลำธารแห่งหนึ่งจึงปลดตะกร้าหนังสือลงจากหลังม้าแล้วพากันพักผ่อนและนอนหลับไป ลืมปล่อยม้ากินหญ้าอยู่ม้าเลยกินหนังสือของเขาเสียจนหมด จึงทำให้หนังสือสูญหายหมดสิ้น ไม่มีหนังสือให้แก่ลูก หลาน ได้เรียนนั่นเอง และอีกหนึ่งตำนาน ได้เล่าเรื่องที่คล้ายคลึงกันว่า ชาวเขาเผ่าม้งได้เดินทางขณะหนีศึกสงครามกับจีน โดยได้ใช้ม้าขนลำเลียงหนังสือ มีพายุฝนตกหนักทำให้หนังสือเปียกหมดเมื่อฝนหยุดจึงเอาหนังสือมากางตากแดด แล้วทุกคนก็มาพักผ่อนและหลับไป พอตื่นขึ้นมาม้าก็กินหนังสือเกือบหมด จึงพยายามเก็บในส่วนที่เหลืออยู่และเดินทางต่อไปจนถึงที่พักก็นำหนังสือที่เหลือซึ่งยังไม่แห้งดีไปเก็บไว้บนเพิงสำหรับรมควันในบ้าน พอตกกลางคืนหนูก็พากันมากินหนังสือเสียจนหมด

อย่างไรก็ตาม ชาวเขาเผ่าม้งได้เขียน และอ่านหนังสือภาษาม้ง โดยการใช้ตัวอักษรละติน (Hmong RPA) และใช้อักษรภาษาอังกฤษเพื่อเล่าเรื่องราวความเป็นมาต่างๆ ของชาวเขาเผ่าม้ง จึงอาศัยวิธีการเรียนรู้จากบาทหลวงศาสนาที่ได้เทียบตัวอักษรภาษาอังกฤษให้บันทึกข้อมูลต่างๆ และเล่าเรื่องราวสืบต่อกันมาเพียงเท่านั้น ในปัจจุบันนี้ชาวเผ่าม้งศึกษาภาษาม้งเพื่อรักษาวัฒนธรรมทางภาษาและเป็นการเรียนรู้พิธีกรรมต่างๆ จากการจดบันทึก คนที่รู้ภาษาม้งก็สามารถอ่านและเขียนภาษาม้งได้และเข้าใจในพิธีกรรมมากกว่าคนที่ไม่รู้ภาษาม้งนั่นเอง ดังนั้น การที่ชาวเขาเผ่าม้งมีภาษาพูดที่ใช้ในการสื่อสารทุกวันนี้ เขาไม่มีตัวอักษรที่ใช้ในการเขียนเพื่อการสื่อสารเป็นของตนเอง แต่ได้ใช้อักษรอื่นๆ เข้ามาเขียนแทน

จากการสัมภาษณ์ นางดี๊ แซ่สง (7 พฤษภาคม 2563) ได้กล่าวว่า ชาวเขาเผ่าม้งเริ่มมีการเรียนการสอนภาษาม้งโดยการเขียนของตนเอง อันเนื่องมาจากการได้รับอิทธิพลจากกลุ่มมิชชันนารีชาวอเมริกันและฝรั่งเศส (George Barney และ Yves Bertrais) ได้เข้ามาสอนศาสนาคริสต์ให้กับชาวเขาเผ่าม้งในประเทศลาว จึงทำให้หมอสอนศาสนาคริสต์ต้องการที่จะเผยแผ่คำสอนจึงได้เข้าไปเผยแผ่ที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมถึงชาวเขาเผ่าม้งด้วย แต่ด้วยภาษาในการสื่อสารเป็นอุปสรรคต่อการเผยแผ่คำสอนจึงได้คิดค้นโดยการเอาตัวอักษรภาษาอังกฤษมาเป็นสัญลักษณ์ในการแทนคำพูดและการเขียนของชาวเขาเผ่าม้งเพื่อจะได้เผยแผ่คำสอนได้ง่ายๆ และใช้สื่อสารกันทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งสอดคล้องกับ Symonds Patricia Veronica (1991) ได้กล่าวว่า ชาวเขาเผ่าม้งไม่มีตัวอักษรใช้จนกระทั่งมีบาทหลวงชาวฝรั่งเศสท่านหนึ่งได้เทียบเสียงภาษาม้งในระบบการออกเสียงแบบโรมันในระหว่างเดือนมิถุนายนปี 1951 หรือ พ.ศ. 2494  จนถึงเดือนเมษายนปี 1952 หรือ พ.ศ. 2495

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวม้งก็ใช้การเทียบแบบนี้ในการสื่อสาร เนื่องจากสมัยก่อนชาวเขาเผาม้งหนีจากประเทศจีนมาตั้งหลักอาศัยอยู่ในประเทศลาวส่วนหนึ่ง ซึ่งในสมัยนั้นประเทศลาวตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษ คนในประเทศลาวจึงได้รับอิทธิพลทางภาษาจากประเทศอังกฤษ ดังนั้น ชาวเขาเผ่าม้งที่อยู่ในประเทศลาวก็ได้รับอิทธิพลทางภาษาด้วย โดยที่ชาวเขาเผ่าม้งได้นำเอาตัวอักษรอังกฤษมาใช้เป็นภาษาเขียนเพื่อสื่อสารในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งกลุ่มมิชชันนารีชาวอเมริกันและฝรั่งเศสที่สอนศาสนาจึงได้เอาตัวหนังสืออังกฤษมาแทนสัญลักษณ์ของภาษาเขียนในภาษาม้งโดยใช้เป็นตัวเขียนเพื่อสื่อสารในชาวเขาเผ่าม้งเพื่อเผยแผ่คำสอน และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกวันนี้ชาวเขาเผ่าม้งได้ใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษเขียนเพื่อการสื่อสารถึงทุกวันนี้ (วิชชุพงศ์ วรศาสตร์กุล, 2564)


เศรษฐกิจของชุมชนภูทับเบิก แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว เดิมชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ โดยเพาะปลูก ข้าวไร่ ข้าวโพด และขิง ต่อมาได้พัฒนามาสู่การทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ เนื่องด้วยภูทับเบิกเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศที่หนาวเย็นจึงเหมาะแก่การปลูกกะหล่ำปลี จนเป็นที่นิยมของเกษตรกรในพื้นที่ เกิดเป็นแปลงกะหล่ำปลีขนาดใหญ่กว่าหมื่นไร่ เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชุมชนและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

ต่อมาใน พ.ศ. 2544 นายดิเรก ถึงฝั่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ประกาศให้พื้นที่ภูทับเบิกเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ แปลงกะหล่ำปลีของภูทับเบิกจึงไม่ได้เป็นเพียงผลผลิตทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงการเกษตรควบคู่กับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กล่าวคือ พื้นที่ภูทับเบิกมีทัศนียภาพที่สวยงามประกอบกับอากาศที่หนาวเย็น พื้นที่ภูทับเบิกจึงเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ขึ้นมาสัมผัส อากาศหนาว และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทุกปี การท่องเที่ยวยังทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เกิดอาชีพเกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน เช่น ที่พักรีสอร์ท ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และการขายพืชผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เสริมจากนอกภาคการเกษตร นอกจากการปลูกกะหล่ำปลี พื้นที่ภูทับเบิกยังปลูกผักผลไม้เมืองหนาวอื่นๆ อีก เช่น พลับ แครท เบบี้แครอท บัวหิมะ แมคาเดเมีย ยอดฟักแม้ว ลุ้ย (ผักกาดขาว) สตอเบอรี่ การท่องเที่ยวยังทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการการท่องเที่ยว ในการรวมกลุ่มนี้เพื่อดูแลในเรื่องของการท่องเที่ยว เช่น การให้ข้อมูล การอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ในเรื่องของการรวบรวมเงินส่วนหนึ่งของสมาชิกภายในกลุ่มมาซ่อมแซมถนนที่ชำรุดในพื้นที่ท่องเที่ยว เป็นต้น


การเดินทางมาเที่ยวภูทับเบิกสามารถมาได้ 2 เส้นทาง คือ ถนนทางหลวงหมายเลข 2331 เส้นทางจากอำเภอหล่มเก่า และเส้นทางจากอำเภอนครไทยผ่านอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า การเดินทางจากอำเภอมาที่หมู่บ้านภูทับเบิกจะผ่านภูเขาลาดชันและเส้นทางโค้งคดเคี้ยว ตลอดสองข้างทางจะเป็นวิวภูเขาสวยงาม และมีหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าม้งตั้งอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ผู้คนและบ้านเรือนซึ่งเป็นเสน่ห์ของเส้นทางท่องเที่ยวภูทับเบิก - ระบบไฟฟ้าและน้ำประปาออกแบบมาเพื่อรองรับภาคครัวเรือน เมื่อพื้นที่แห่งนี้ได้รับความนิยมด้านการท่องเที่ยวทำให้ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ช่วงฤดูแล้งชุมชนจะเกิดปัญหาน้ำไม่พอใช้และน้ำขุ่นเป็นตะกอนต้องซื้อน้ำจากบ่อบาดาลสาธารณะของหมู่บ้าน ซึ่งมีจำนวน 2 บ่อ โดยจะทำการซื้อขายน้ำที่ราคา 20 บาทต่อ 1,000 ลิตร และนำรถมาขนน้ำเอง ส่วนระบบไฟฟ้าก็จะมีปัญหาเรื่องของไฟตกและไฟฟ้าดับบ่อย - ระบบการสื่อสารสัญญาณโทรคมนาคม ครอบคลุมในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่หมู่บ้าน รองรับทุกเครือข่าย (รัดเกล้า เปรมประสิทูธิ์, 2566) - หมู่บ้านมีรถเก็บขนขยะจากองค์การบริหารส่วนตำบลวังบาลให้บริการประชาชน แต่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต้องกำจัดเอง เนื่องจากระบบกำจัดของอบต. มีข้อจำกัด


บ้านทับเบิก มีโรงเรียนระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย คือ โรงเรียนบ้านทับเบิกร่วมใจ จัดตั้งขึ้นด้วยความเห็นชอบของ นายจำรูญ ปิยัมปุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ มีประวัติความเป็นมา (โรงเรียนบ้านทับเบิกร่วมใจ, 2565) โดยมีการจัดตั้งโรงเรียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2508 ชื่อโรงเรียนสงเคราะห์ชาวเขาบ้านทับเบิก ด้วยความร่วมมือของคนงานนิคม และชาวบ้านช่วยกันสร้างอาคารเรียน เป็นแบบอาคารชั่วคราว จำนวน 1 หลัง ขนาด 2 ห้องเรียน โดยมี นายทอง สายจันยูร เป็นครูใหญ่คนแรก ใน พ.ศ. 2510 ได้รับงบประมาณ สร้างอาคารถาวร จำนวน 1 หลัง ขนาด 3 ห้องเรียน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 100,000 บาท  จนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2511 เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในหมู่บ้านทับเบิก และเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ราชการกับผู้ก่อการร้าย ทำให้โรงเรียนถูกเผาและยุบไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม นายบุญนำ สายแก้วมา หัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอหล่มเก่าและคณะ ร่วมกับชาวบ้านทับเบิกร่วมใจ สร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้นใหม่ 1 หลัง โดยแต่งตั้งให้ นายธีระ ตรีพยัคฆ์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และ ใช้ชื่อ โรงเรียนบ้านทับเบิกร่วมใจ ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2527 ภายหลังจากนั้นเป็นต้นมา โรงเรียนได้รับงบประมาณในการพัฒนาในด้านต่างๆ รวมถึงขยายชั้นเรียนให้ครอบคลุมถึงระดับการศึกษาชั้นมัธยมจนถึงปัจจุบัน


ชุมชนภูทับเบิก เป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และอุทยานแห่งชาติเขาค้อ สภาพภูมิประเทศที่สวยงามอยู่บนภูเขาสูงในเขตภาคเหนือตอนล่างมียอดดอยที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,768 เมตร ด้วยระดับความสูงดังกล่าวทำให้ภูทับเบิกมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี จากสภาพภูมิสังคมทำให้ภูทับเบิกเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งซึ่งชอบอาศัยอยู่บนพื้นที่สูง ดังนั้น ธรรมชาติจึงเป็นจุดขายและจุดดึงดูดของนักท่องเที่ยวที่ทำให้ภูทับเบิกกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมของจังหวัดเพชรบูรณ์และเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ ประกอบกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปลูกพืชผักเมืองหนาวโดยเฉพาะพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งปลูกกะหล่ำปลีและผักกาดขาว (ลุ้ย) ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย


พื้นที่บ้านทับเบิกอยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าและอุทยานแห่งชาติเขาค้อ
บ้านทับเบิก เป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ทำให้รัฐได้เข้ามาจัดสรรและควบคุมการใช้พื้นที่ของชาวบ้านจนถึงปัจจุบัน
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. (2560). แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พ.ศ.2560 – 2565. ม.ป.ท.

จริยาพร ชาเตียม และ ทิพวรรณ ก๋าใจ. (2565). ความเชื่อและวัฒนธรรมการแต่งงานของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง กรณีศึกษาพื้นที่ภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์. (วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรี หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, คณะสังคมศาตร์, ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

ณัฐกานต์ สารคาม และนริศรา สังแอ๊ด. (2565). การสืบทอดการเป็นอัวเน้งของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งภูทับเบิก อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์. (วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรี สาขาพัฒนาสังคม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, คณะสังคมศาสตร์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

ปัทมวรรณ เจ๊กแสง และอิศราภรณ์ ยะหัวฝาย. (2563). วัฒนธรรมของชาวไทยเผ่าม้งพื้นที่ภูทับเบิก อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์. (วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรี สาขาพัฒนาสังคม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, คณะสังคมศาสตร์, ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

รัดเกล้า เปรมประสิทธิ์. (2563). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์การศึกษาคุณภาพชีวิตของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวในพื้นที่ภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์. พิษณุโลก: มหาวิทยาลัยนเรศวร

รัดเกล้า เปรมประสิทธิ์. (2566). การใช้ทุนการดำรงชีพเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยว: กรณีศึกษาพื้นที่ภูทับเบิก อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์. วารสารปาริชาต, 36(4), 142 – 160.

วศิน ปัญญาวุธตระกูล วารัชต์ มัธยมบรุษ และณัฐชัย อ่ำทอง. (2561). พัฒนาการและแนวทางการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนบนพื้นที่สูงภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยง. พิษณุโลก: รัตนสุวรรณการพิมพ์ 3.

ศุภชาติ แก้วกัณฑา และภาคภูมิ สมบุญพูลพิพัฒน์. (2563). ทุนทางสังคมกับการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์. (วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรี หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, คณะสังคมศาตร์, ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

ศุภนิดา ทองอินทร์ และอารียา พงศ์พจมาน. (2566). ชนชั้น อํานาจของผี ผ่านความเชื่อของชาติพันธุ์ม้งพื้นที่ภูทับเบิก อําเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์. (วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรี หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคม) มหาวิทยาลัยนเรศวร, คณะสังคมศาตร์, ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

โรงเรียนบ้านทับเบิกร่วมใจ. (2565). ประวัติโรงเรียน. เข้าถึงข้อมูลจาก http://www.tbrj.ac.th/datashow_6729

วิชชุพงศ์ วรศาสตร์กุล. (2564). การศึกษาภาษาม้งบ้านตูบค้อ ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย. วารสารวิจัยราชภัฎกรุงเก่า. 8(3), 151-161. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2567, จาก https://so01.tci-thaijo.org/index.php/rdi-aru/article/view/253945/169636

สิริพร เพียขันธ์. (2560). เศรษฐกิจการเมืองว่าด้วยการปรับตัวของชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่าม้งต่อต้านนโยบายรัฐ: กรณีศึกกษาพื้นที่ภูทับเบิกจังหวัดเพชรบูรณ์ (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยนเรศวร, พิษณุโลก). เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.kpi.ac.th/knowledge/research/data/189

องค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. 2561 – 2565. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2566 จาก https://www.wangban.go.th/index/load_data/?doc=10317

องค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล. (ม.ป.ป.). ข้อมูลหน่วยงาน. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2567. จาก https://www.wangban.go.th/index/?page=article1932

อบต. วังบาล โทร. 0 5674 7532