Advance search

ชุมชนชาติพันธุ์ ประเพณีวัฒนธรรมไทดำ ชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเอง และกลายมาเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง 

หมู่ที่ 8
บ้านห้วยห้าง
หนองหลุม
วชิรบารมี
พิจิตร
อบต.หนองหลุม โทร. 0-5669-2111
ธนพร ศรีสุขใส, บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
22 พ.ย. 2024
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
22 ธ.ค. 2024
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
22 ธ.ค. 2024
บ้านห้วยห้าง

เมื่อประมาณ พ.ศ. 2475 ได้มีชาวไทดำกลุ่มหนึ่งอพยพมาจากจังหวัดนครปฐมและราชบุรี เพื่อหาที่อยู่อาศัยและทำมาหากิน ในระหว่างเดินทางนั้นผู้อพยพได้พักค้างแรมบริเวณริมหนองน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งรอบ ๆ หนองน้ำนั้นมีหนองน้ำเล็กใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป ชาวบ้านเรียกว่า "ห้วยน้ำ" และ "หนองน้ำ" ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีป่าไม้และสัตว์ป่านานาชนิด เหล่าต้นไม้สูงที่อยู่ติดขอบหนองน้ำต่าง ๆ นั้นมี "ห้าง" ซึ่งในภาษาไทดำหมายถึงกระท่อมหรือเพิงพักเล็ก ๆ ที่ทำไว้เฝ้านาเฝ้าสวนหรือเป็นที่พักชั่วคราว "ห้าง" ดังกล่าวถูกสร้างไว้บนต้นไม้ใหญ่รอบ ๆ หนองน้ำ สำหรับใช้เป็นที่พักและที่หลบซ่อนตัวเพื่อล่าสัตว์ป่าที่ออกมาดื่มน้ำในลำห้วยและหาอาหารในเวลากลางคืน ชาวบ้านที่มาพบห้างล่าสัตว์จำนวนมากนี้ได้เรียกขานกันติดปากกันว่า "ห้วยห้าง" จนกระทั่งมีผู้อพยพมาอาศัยอยู่มากขึ้น จึงรวมตัวกันก่อตั้งเป็นหมู่บ้าน โดยเอาชื่อที่เรียกบริเวณนี้ว่า "ห้วยห้าง" มาเป็นชื่อหมู่บ้าน (ละอองดาว ตรีอินทอง, สัมภาษณ์, 26 สิงหาคม 2567)


ชุมชนชาติพันธุ์ ประเพณีวัฒนธรรมไทดำ ชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเอง และกลายมาเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง 

บ้านห้วยห้าง
หมู่ที่ 8
หนองหลุม
วชิรบารมี
พิจิตร
66220
16.5619230481941
100.171534717082
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหลุม

ชุมชนบ้านห้วยห้างมีต้นกำเนิดมาจากชาวไทดำที่อยู่ในจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี และนครปฐม ได้อพยพขึ้นมาทางเหนือเมื่อประมาณ พ.ศ. 2475 เพื่อเสาะหาพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อตั้งบ้านเรือนและทำการเกษตร ทั้งนี้เนื่องจากที่อยู่เดิมมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอกับการขยายครอบครัวแตกลูกแตกหลาน และบางที่ก็มีสภาพแห้งแล้งไม่เหมาะแก่การเกษตร หลายครอบครัวจึงตัดสินใจอพยพโยกย้าย พ่อบุญมา แก้วทอง อายุ 87 ปี เล่าตามที่เคยได้ฟังจากปู่และพ่อเล่าถึงการเดินทางอพยพในตอนนั้นว่า การเดินทางมายังบ้านห้วยห้างเมื่อสมัย 80-90 ปีก่อน พ่อกับปู่และญาติพี่น้องที่มาด้วยกันต้องเดินเท้าและใช้เกวียนในการขนสัมภาระและอาหารระหว่างการเดินทาง เมื่อได้เดินทางมาพบบริเวณที่เป็นบ้านห้วยห้างในปัจจุบัน และได้พิจารณาแล้วว่าเป็นที่ที่อุดมสมบูรณ์และยังไม่มีใครจับจอง ผู้มาก่อนจึงได้ปักหลักจับจองที่นา สร้างบ้านสร้างเรือน และชักชวนให้ญาติพี่น้องที่ยังอยู่ทางเมืองล่าง (เมืองล่าง หมายถึง จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี และนครปฐม) เดินทางขึ้นมาอยู่ด้วยกันมากขึ้น จนกระทั่งขยายเป็นชุมชน โดยเริ่มแรกมีบ้านเรือนอยู่รวมกันประมาณ 30 หลังคาเรือน 

พ่อบุญมา แก้วทอง อายุ 87 ปี เล่าว่าเมื่อตนอายุประมาณ 3 ขวบ หรือในช่วงปี 2483 ซึ่งเป็นปีมะโรง ชุมชนที่รวมตัวกันอยู่เมื่อแรกเริ่มในช่วงบุกเบิกตั้งบ้านนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ เนื่องจากพื้นที่ชุมชนเดิมเป็นพื้นที่ลุ่มใกล้ลำห้วย ทำให้คนในชุมชนได้ขยับขยายย้ายไปอยู่พื้นที่ใหม่ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากที่เดิมประมาณ 5 กิโลเมตร พื้นที่แห่งใหม่เป็นที่ราบสูง ทำให้ในเวลาต่อมาบริเวณที่ตั้งบ้านเรือนของชุมชนไม่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่อีก 

"บ้านห้วยห้างเมื่อก่อนอยู่ห่างจากนี้ไป 2-3 กิโลเมตรนะ อยู่แถวกลางทุ่ง บ้านก็อยู่ที่ใครที่มัน อยู่กลางทุ่ง บ้านเราอยู่ใกล้ป่าไผ่ มีหน่อไม้กินตลอดปี ปลาในนาก็เยอะ ปีนั้นที่น้ำท่วม ผมอายุ 3 ขวบ เป็นปีมะโรง ทุกบ้าน ทุกตำบลน้ำท่วมหมด บ้านพ่อแม่พื้นยกสูงน้ำยังท่วมถึงกระดานพื้นบ้านลอยเลย ไม่ไหว พ่อก็เลยย้ายเข้ามาอยู่ข้างในนี้ ต่างคนต่างย้ายกันไปอยู่ที่ต่าง ๆ ตามสันดอนสูง คราวนี้ย้ายมาอยู่ใกล้ ๆ กัน เป็นหมู่บ้านอย่างที่เห็น ตั้งแต่นั้นก็ไม่ได้ย้ายไปไหนอีกตั้งแต่เด็กมาจนทุกวันนี้ เมื่อก่อนบ้านมันไม่ได้เยอะแบบนี้หรอก แต่ก็แต่งงานแยกบ้าน มีลูกหลาน และพี่น้องที่อยู่ราชบุรี ที่สุพรรณบุรีเขาก็ย้ายตามขึ้นมาเพื่อมาจับหาที่ดินกัน หลาย ๆ ปี คนก็มากขึ้น มีเด็กเยอะขึ้น อาจารย์ที่โรงเรียนกำแพงดิน อำเภอสามง่าม เขาก็มาตั้งโรงเรียน ที่นี่เลยเป็นบ้านใหญ่ และมีวัดห้วยห้างเกิดขึ้น เมื่อก่อนพระอยู่ที่วัดกลางสุริยวงศ์ พี่ชายของพระเขามีที่ดินอยู่ที่นี่ เขาก็เลยไปนิมนต์พระน้องชายให้มาจำวัดที่นี้ เขาเลยมาสร้างวัดที่นี้ และต่อมาก็สร้างโรงเรียน" (พ่อบุญมา แก้วทอง, สัมภาษณ์, 18 กรกฎาคม 2567)

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2479 ชุมชนบ้านห้วยห้างได้มีการจดทะเบียนกับทางราชการเป็นหมู่บ้านห้วยห้าง ซึ่งในเวลานั้นยังอยู่ในเขตการปกครองของตำบลหาดกรวด อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก แต่ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2496 ได้มีการเปลี่ยนเขตการปกครองมาอยู่อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร และในปี 2541 ได้มีการแยกการปกครองอีกครั้ง ทำให้หมู่บ้านห้วยห้างขึ้นอยู่กับเขตอำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร จนถึงปัจจุบัน 

คนไทดำตระกูลแรกที่มาบุกเบิกตั้งบ้านห้วยห้างคือตระกูลตรีอินทอง ตามมาด้วยตระกูลสิงห์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิงห์ลอ สิงห์เรือง สิงห์วี รวมถึงตระกูลแก้วทอง สระแก้ว บุญยอด เป็นต้น ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านห้วยห้างคือ นายเสา ตรีอินทอง ต่อมาคือนายมนอิน อินทรักษ์มาณ ต่อด้วยนายเจียม สระแก้ว, นายพลอย ทวีพันสานต์, นายเจริญ ทวีบุญวงศ์, นายทองบุญมา บุญยอด, นายแพ แก้วทอง, นายรวย ตรีอินทอง, นางละอองดาว ตรีอินทอง และผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันคือ นายประพัฒน์ แซ่ฮ้อ

บ้านห้วยห้างตั้งอยู่ในตำบลหนองหลุม อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอวชิรบารมีเพียง 7 กิโลเมตร ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมพิจิตรเพียง 5 กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอเมืองจังหวัดพิจิตรประมาณ 33 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากอำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก 31 กิโลเมตร สำหรับการเดินทาง หากเดินทางจากทางหลวงหมายเลข 117 (AH13) มุ่งหน้าสู่จังหวัดพิษณุโลก ผ่านแยกปลวกสูง อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร จากแยกปลวกสูงมุ่งหน้าสู่จังหวัดพิษณุโลกประมาณ 7.2 กิโลเมตร กลับรถ แล้วขับตรงไปอีกประมาณ 1.3 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนหลวงชนบทหมายเลข พจ.3027 ขับตรงไปอีกประมาณ 2-3 กิโลเมตร ก็จะถึงตัวหมู่บ้านห้วยห้าง

หมู่บ้านห้วยห้างมีอาณาเขตทางทิศเหนือติดต่อกับตำบลบ่อทอง อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ส่วนทางทิศใต้ติดต่อกับตำบลวังโมกข์ อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร และทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลพันเสา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก

หมู่บ้านห้วยห้างมีสภาพชุมชนที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้จำนวนมากที่ปลูกเป็นร่มเงาให้กับบ้านเรือนส่วนใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนหลวงชนบทถัดจากบ้านเรือนเป็นป่าหัวไร่ปลายนาหรือสวนป่าหลังบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ที่มีอายุเก่าแก่อยู่มาตั้งแต่สมัยบุกเบิกตั้งบ้านห้วยห้าง ถัดจากสวนป่าเข้าไป ทั้งทิศเหนือและทิศใต้ตามแนวถนนหลวงจะเต็มไปด้วยทุ่งนาเรียงรายต่อกัน สภาพพื้นที่ชุมชนมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก และมีลักษณะเป็นที่ราบสลับลูกคลื่นหรือคลื่นชั้น มีคลองน้ำและลำห้วยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป การทำนายังคงเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน เนื่องจากพื้นที่ราบลุ่มที่ไม่ต่ำและไม่สูงจนเกินไป ทำให้พื้นที่นารับน้ำยามฤดูฝนได้เพียงพอและทำนาได้ผลผลิตดีเป็นส่วนใหญ่ 

ข้อมูลขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองหลุมระบุว่าหมู่บ้านห้วยห้างประกอบด้วยประชากร 682 คน หรือแบ่งเป็น 192 ครัวเรือน ซึ่งล้วนแต่เป็นครัวเรือนของคนไทดำที่ต่างเป็นเครือญาติอพยพมาจากแหล่งเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์มีมากขึ้น ทำให้หลายครอบครัวมีคนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ รวมอยู่ในครอบครัวด้วย โดยการเป็นเขยหรือสะใภ้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยจากพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ไทยพิจิตร ไทยพิษณุโลก ไทยอีสาน ไทยภาคเหนือ ไทยภาคใต้ 

สำหรับโครงสร้างหรือผังครอบครัวในหมู่บ้านห้วยห้าง ขอยกตัวอย่างครอบครัวของ พ่อบุญมา แก้วทอง อายุ 87 ปี พ่อบุญมาเล่าว่าพ่อกับแม่ของตัวเองย้ายมาจากอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี พ่อของพ่อบุญมาชื่อพ่อจำ พ่อจำมาพร้อมกับครอบครัวของพ่อจำ ซึ่งได้แก่ ปู่ ย่า และพี่น้องของพ่อทั้ง 9 คนของพ่อจำ ส่วนแม่ของพ่อบุญมาชื่อแม่สำลี ก็อพยพมาอยู่บ้านห้วยห้างพร้อมกับครอบครัว ซึ่งได้แก่ ตา ยาย และพี่น้องอีก 9 คนของแม่สำลี พ่อบุญมาเล่าว่าพี่ชายของตนเกิดที่ราชบุรี แต่ตนเองเกิดที่บ้านห้วยห้าง เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มอายุ 17 ปี ก็ได้แต่งงานกับแม่ต๋อง (ปัจจุบันอายุ 87 ปีเท่ากับพ่อบุญมา) ลูกสาวของครอบครัวตระกูลตรีอินทองที่เดินทางมาจากจังหวัดนครปฐม พ่อบุญมากับแม่ต๋องมีลูกคนแรกเมื่อทั้งคู่อายุ 20 ปี และมีลูกคนต่อมาจนครบทั้ง 9 คน ลูกทั้ง 9 คนนี้เรียนจบระดับปริญญาตรีและปวส. และได้ประกอบอาชีพหลากหลาย บางคนรับราชการ บางคนทำงานเป็นพนักงานบริษัท บางคนค้าขาย บางคนเกษียณจากราชการและได้มาทำนาต่อจากพ่อแม่ (พ่อบุญมา แก้วทอง, สัมภาษณ์, 18 กรกฎาคม 2567)  

อีกกรณีตัวอย่างคือครอบครัวของผู้ใหญ่ละอองดาว ตรีอินทอง อายุ 60 ปี เป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่เข้ามาบุกเบิกตั้งบ้านห้วยห้าง โดยคนรุ่นปู่ย่าและตายายของผู้ใหญ่ละอองดาวนับเป็นคนรุ่นหลานของกลุ่มคนไทดำที่ถูกเกณฑ์มาจากเมืองแถงซึ่งเป็นประเทศเวียดนามในปัจจุบัน พวกเขาเกิดและเติบโตที่จังหวัดเพชรบุรีและราชบุรี เมื่อมีครอบครัวแล้วจึงได้โยกย้ายมาหาแหล่งทำกินแหล่งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์และกว้างขวางกว่าเดิม ผู้ใหญ่ละอองดาวเล่าว่าพ่อกับแม่ของเธอเกิดและเติบโตที่หมู่บ้านห้วยห้าง แต่ก็ยังติดต่อและไปมาหาสู่ญาติที่อยู่ในจังหวัดเพชรบุรีและราชบุรีอย่างสม่ำเสมอ การติดต่อกับญาติหยุดชะงักไปเมื่อพ่อกับแม่ของเธอแก่ตัวลง ปัจจุบันพ่อกับแม่ของผู้ใหญ่ละอองดาวเสียชีวิตแล้ว ขณะที่เธอและลูกหลานของเธอไม่ได้ติดต่อกับญาติและคงจะไม่รู้จักญาติที่อยู่ทางเพชรบุรีและราชบุรีแล้ว เนื่องจากคนรุ่นพ่อแม่ส่วนใหญ่จะแก่ชราและเสียชีวิตไปเกือบทุกคน เหลือแต่รุ่นลูกรุ่นหลานที่ไม่รู้จักกันแล้ว (นางละอองดาว ตรีอินทอง, สัมภาษณ์, 26 สิงหาคม 2567)

ไทดำ

บ้านห้วยห้างมีองค์กรชุมชนแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) องค์กรชุมชนภายใต้การปกครองส่วนท้องที่และท้องถิ่น ได้แก่ คณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการหมู่บ้านฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงกรรมการวัด กรรมการโรงเรียน และกลุ่มสมาชิก อบต. เป็นต้น 2) องค์กรชุมชนตามประเพณีวัฒนธรรมไทดำ และ 3) องค์กรชุมชนที่เป็นกลุ่มอาชีพของคนในชุมชน 

ในฐานะชุมชนไททรงดำที่มีประวัติศาสตร์และประเพณีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ผู้นำและประชาชนคนบ้านห้วยห้างจึงเห็นพ้องต้องกันถึงการจัดตั้งองค์กรชุมชนที่ดำเนินการเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมไทดำเป็นการเฉพาะ จึงได้มีการตั้ง "ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำบ้านห้วยห้าง" เพื่อเป็นศูนย์วัฒนธรรมที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการฟื้นฟู รวบรวม เผยแพร่ และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมของคนไทดำให้ผู้คนที่สนใจหรือนักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ประเพณี การละเล่น พิธีกรรมความเชื่อต่าง ๆ ของคนไทดำ ทั้งนี้ศูนย์วัฒนธรรมฯ ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนภาคีเครือข่ายไททรงดำตั้งแต่ระดับตำบล ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับประเทศ เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเพณีวัฒนธรรมไทดำให้คงอยู่อย่างมีคุณค่า โดยการดำเนินกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การจัดงานประเพณีไทดำประจำปี การร่วมจัดงานสืบสานวัฒนธรรมไทยลาวกับอำเภอวชิรบารมี การร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมเผยแพร่ข้อมูลทางวัฒนธรรมผ่านช่องทางออนไลน์ (ทางเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, http://m-culture.in.th/) การเข้าร่วมโครงการ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ ศูนย์วัฒนธรรมฯ ยังส่งเสริมการผลิตและการตลาดให้กับสินค้าชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของคนไทดำ ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอลายแตงโม เครื่องใช้เครื่องจักสานต่าง ๆ เมนูพื้นบ้านชาวไทดำ เช่น ขนมควายลุย กบโอ๋ ผักจุ๊บ พริกแกงไทดำ เป็นต้น ทั้งนี้ สินค้าแต่ละประเภทผลิตและจำหน่ายโดยกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นองค์กรชุมชนประเภทหนึ่ง กลุ่มอาชีพในบ้านห้วยห้างที่ยังคงดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ กลุ่มทอผ้าบ้านห้วยห้าง เป็นกลุ่มผลิตเครื่องแต่งกายของคนไทดำ ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นของชาวไทดำที่ต้องสวมใส่และใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ รวมถึงการสวมใส่ในงานประเพณีด้วย กลุ่มทอผ้าบ้านห้วยห้างจึงเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความสำคัญในการสืบสานและดำรงอัตลักษณ์ของไทดำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและซื้อหาได้ง่าย

กลุ่มอาชีพในบ้านห้วยห้างยังมีกลุ่มทำพริกแกง กลุ่มจักสาน กลุ่มทำไม้กวาด กลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ด กลุ่มทำขนมต่าง ๆ เช่น ทองพับ ทองม้วน ขนมควายลุย เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐผ่านนโยบายส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนต่าง ๆ ทำให้คนในชุมชนได้มีทุนเริ่มต้นในการผลิตสินค้า และได้รับการประชาสัมพันธ์และสนับสนุนช่องทางการจำหน่าย แม้ว่าหลายโครงการไม่มีความต่อเนื่องในการพัฒนาและส่งเสริม แต่ชุมชนก็ได้รับประโยชน์หลายอย่าง โดยเฉพาะการได้เรียนรู้หรือทำความเข้าใจในกระบวนการผลิตสินค้าที่ถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัย รวมถึงการมีช่องทางจำหน่ายเพิ่มเติมจากการจำหน่ายเองในชุมชน 

นอกจากการผลิตสินค้าของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ แล้ว ชุมชนบ้านห้วยห้างยังมีองค์กรชุมชนที่ทำหน้าที่เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน ทำให้หมู่บ้านห้วยห้างมีศักยภาพในการพัฒนาตัวเองหลายด้าน องค์กรชุมชนดังกล่าวคือ "สถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนบ้านห้วยห้าง" เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่จัดการหนี้สินให้กับครัวเรือนในชุมชนอย่างเป็นระบบ สามารถแก้ปัญหาให้คนในชุมชนผ่านวิกฤติหนี้นอกระบบมาแล้วมากกว่า 10 ปี โดยสถาบันฯ ได้ดำเนินการจัดการเงินสารพัดกองทุนต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ซึ่งในอดีตคนในชุมชนได้กู้ยืมกันหลายกองทุนในเวลาเดียวกัน หลายครั้งเป็นการกู้แบบผิดระเบียบ กู้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้หลายกองทุนต้องล้มเหลวในการดำเนินการ จากปัญหาที่สะสมนานหลายปี คนในชุมชนจึงได้หารือและร่วมกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชน ซึ่งต่อมาได้ยกระดับเป็นสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน เมื่อปี 2553 เพื่อให้บริการทางการเงินผ่านการสร้างเครือข่ายชุมชน โดยรวมคณะกรรมการทุกกองทุนจัดตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารสถาบัน ทำให้จากเดิมที่คนในชุมชนไปกู้ยืมกองทุนต่าง ๆ ได้เงินจำนวนน้อย ซื้อปุ๋ยได้แค่ 5-10 กระสอบ ไม่พอสำหรับการทำนาทั้งฤดู เมื่อนำทุกกองทุนมารวมกันแล้วบริหารจัดการร่วมกัน ร่างระเบียบขึ้นใหม่ ทำให้คนในชุมชนกู้เงินได้มากขึ้นและสามารถนำเงินไปใช้ได้อย่างตรงวัตถุประสงค์และมีการลงทุนที่มีประสิทธิภาพหรือแม่นยำมากขึ้น โดยทุกครัวเรือนสามารถกู้ได้เพียง 1 สัญญาเท่านั้น มีการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 12 ต่อปี และมีเงินปันผลให้สมาชิกสำหรับเงินฝากด้วย ซึ่งเงินปันผลขึ้นอยู่กับกำไรสุทธิ ทั้งนี้สถาบันฯ จะให้บริการเงินกู้ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว วงเงิน 200,000-300,000 บาทต่อครัวเรือน

ปัจจุบัน คนในชุมชนห้วยห้างกว่าร้อยละ 90 ของครัวเรือนทั้งหมดมีเงินออม สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปประกอบอาชีพหรือลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่นใช้สำหรับเป็นค่าเล่าเรียนของลูกหลาน หรือแม้แต่การใช้จ่ายยามจำเป็น ทำให้ครัวเรือนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น นอกจากนี้สถาบันฯ ยังได้มีการจัดสวัสดิการในชุมชนด้านต่าง ๆ เช่น การจัดทุนการศึกษา การสนับสนุนร้านค้าชุมชนสำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ การช่วยเหลือสาธารณประโยชน์หรือเหตุการณ์ทางธรรมชาติหรือภัยพิบัติต่าง ๆ  

ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานระดับหมู่บ้านหรือชุมชน ที่ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้ร่วมกันเก็บข้อมูลเพื่อส่งให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพิจิตรในปี 2566 ระบุว่าประชากรที่อาศัยอยู่จริงมีเพียง 449 คน หรือ 158 ครัวเรือน วิถีการดำรงชีพของคนในชุมชนสามารถจำแนกตามการประกอบอาชีพ ได้แก่ เกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นการทำนาปลูกข้าว รองลงมาคือการเลี้ยงวัวควาย เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และการทำสวนทำไร่ รวมทั้งหมดประมาณร้อยละ 32.74 ของครัวเรือนทั้งหมด ต่อมาคืออาชีพรับจ้างทั่วไป จำนวนร้อยละ 16.93 ได้แก่ การรับจ้างในภาคเกษตรกรรม เช่น การหว่านปุ๋ย ดำนา เกี่ยวข้าว รวมถึงการรับจ้างในร้านค้า โรงงาน และการรับจ้างก่อสร้าง เป็นต้น อาชีพค้าขายร้อยละ 13.36 ส่วนใหญ่เป็นการค้าขายในชุมชน ได้แก่ ร้านค้าปลีก ร้านขายอาหาร ร้านขายอุปกรณ์วัสดุก่อสร้างและการเกษตร พนักงานบริษัทร้อยละ 9.8 ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาวที่เรียนจบปริญญาตรี หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) นิยมทำงานในตัวเมืองพิษณุโลก และในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตรซึ่งเป็นแหล่งงานใกล้บ้าน หรือไม่ก็เดินทางไปทำงานในกรุงเทพฯ ระยอง ชลบุรี เป็นต้น รับราชการร้อยละ 2.67 ธุรกิจส่วนตัว 1.78 และกำลังศึกษาร้อยละ 20.49 (smartbmn Application, ค้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567)  

สำหรับการทำน ซึ่งเคยเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน ปัจจุบันมีคนทำนาลดลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ที่นิยมศึกษาต่อระดับปริญญาตรีและ ปวส. นิยมทำงานประจำในบริษัทห้างร้านหรือโรงงานมากกว่าการกลับบ้านมาทำนา ขณะที่คนทำนาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยกลางคนค่อนไปทางวัยสูงอายุ เป็นการทำนาในที่ดินของตนเอง 65 ครัวเรือน และในที่ดินเช่า 16 ครัวเรือน การทำนาส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนจากการทำนาปีหรือนาน้ำฝนที่ทำปีละครั้ง เป็นการทำนาปรังซึ่งมากกว่า 1 ครั้งต่อปี ตามกำลังทรัพย์ของผู้ลงทุนทำนา อย่างไรก็ตาม บางครัวเรือนมีการแบ่งพื้นที่ทำนาออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกใช้ทำนาปีปลูกข้าวหอมมะลิหรือข้าวที่ครัวเรือนใช้บริโภคซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวหนักหรือข้าวอายุมาก ส่วนที่สองใช้สำหรับทำนาปรัง ปลูกข้าวเบาหรือข้าวไวแสงที่มีอายุสั้น  

สำหรับวิถีชีวิตทางประเพณีวัฒนธรรม คนไทดำบ้านห้วยห้างยังมีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ อันเป็นสิ่งดูแลปกปักรักษาคุ้มครองลูกหลาน ผสมผสานกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ทำให้ประเพณีวัฒนธรรมของคนที่นี่มีประเพณีคล้ายกับคนไทยพุทธทั่วไป เช่น การทำบุญในวันพระทั่วไป การทำบุญในวันพระใหญ่ วันสงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา เป็นต้น สำหรับความเชื่อและการนับถือผีบรรพบุรุษ ทำให้คนบ้านห้วยห้างยังคงมีประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ตามแบบดั้งเดิม ในบ้านทุกหลังจะมีการกั้นห้องเล็ก ๆ ไว้ที่มุมขวาของบ้านสำหรับไหว้ผีบรรพบุรุษ เรียกว่า “กะล้อห่อง” ภายในมีหิ้งสำหรับวางชั้นผีเรือนและสมุดจดรายชื่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และมีพิธีกรรมต่าง ๆ อันเป็นการแสดงให้เห็นสำนึกในความทรงจำร่วมกัน รวมถึงการมีแบบแผนการดำเนินชีวิตร่วมกันในครอบครัวและเครือญาติ รวมถึงการมีความสัมพันธ์ทางสถานที่ร่วมกัน มีอาณาเขตที่สมาชิกมีความเกี่ยวพันกัน กะล้อห่องเป็นถิ่นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถึงแม้สมาชิกครอบครัวจะกระจัดกระจายอยู่ที่ใดก็สามารถกลับไปได้ภายใต้ความรู้สึกผูกพันและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

คนบ้านห้วยห้างยังคงดำรงและรักษาพิธีกรรมของไทดำไว้ ได้แก่ พิธีเสนเฮือนหรือพิธีเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษที่สถิตอยู่ในห้องกะล้อห่องในบ้าน เพื่อระลึกถึงผู้ล่วงลับ โดยมีความเชื่อว่าผีบรรพบุรุษจะปกปักรักษาคุ้มครองคนในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขและมีความเจริญก้าวหน้า พิธีกินดองหรือพิธีแต่งงานของไทดำจะแตกต่างจากพิธีของคนไทยโดยมีหมอพิธีดำเนินการทำขวัญบ่าวสาวก่อนเข้าเรือนหอ หรือพิธีศพชาวไทดำ ก็จะมีการทำพิธีหลายขั้นตอนที่แตกต่างจากพิธีของไทย คือ มีการจัดข้าวของเครื่องใช้และทำบ้านจำลองหลังเล็กให้แก่ผู้ตาย เนื่องจากเชื่อว่าผู้ตายจะต้องใช้สิ่งของเหล่านี้ในระหว่างเดินทางกลับบ้านที่เมืองแถง และจะมีการบอกเส้นทางกลับเมืองแถงให้แก่ผู้ตายอย่างละเอียด หลังจากนั้นจะมีการล้างบ้านและเชิญวิญญาณผู้ตายขึ้นห้องกะล้อห่องในบ้านเพื่อเป็นผีเรือนประจำบ้าน แต่หากผู้ตายตายด้วยอุบัติเหตุหรือที่เรียกว่าตายโหง การทำพิธีจะเสร็จที่วัด โดยจะมีการฝากวิญญาณคนตายไว้ที่วัด  นอกจากนี้ในฤดูกาลพักผ่อนช่วงเดือน 5-6 คนไทดำบ้านห้วยห้างยังคงมีการละเล่นต่าง ๆ เช่น การลงขวง การเล่นคอน (การเล่นลูกช่วง) การรำแคน หรือการอิ่นกอนฟ้อนแกน ที่ลานวัฒนธรรมของหมู่บ้าน ซึ่งต่างจากชุมชนไทดำส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่ไม่มีการละเล่นเช่นนี้แล้ว เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ต้องวุ่นวายกับการทำมาหาเงิน ทำให้ไม่มีเวลามาร่วมงานรื่นเริงในหมู่ญาติพี่น้อง

ตารางที่ 1 ปฏิทินชุมชนบ้านห้วยห้าง

เดือน กิจกรรมภาคเกษตร (นาปี) กิจกรรมภาคเกษตร (นาปรัง) ประเพณีวัฒนธรรม
มกราคม - ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช -
กุมภาพันธ์ - เกี่ยวข้าวรอบ 1 และปลูกข้าวรอบ 2 งานประจำปี "มาตุ้มโฮมไทดำ" ณ ที่ว่าการอำเภอวชิรบารมี จ.พิจิตร
มีนาคม - ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช -
เมษายน - ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช ประเพณีสงกรานต์, รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ, พิธีเสนเฮือนของแต่ละครัวเรือน
พฤษภาคม ดำนา หว่านข้าวนาปี เกี่ยวข้าวรอบ 2 และปลูกข้าวรอบ 3 พิธีเสนเฮือนของแต่ละครัวเรือน, การละเล่นไทดำ
มิถุนายน ดำนา หว่านข้าวนาปี เกี่ยวข้าวรอบ 2 และปลูกข้าวรอบ 3 (ข้าวอายุยาว)  พิธีเสนเฮือนของแต่ละครัวเรือน, การละเล่นไทดำ
กรกฎาคม ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช ทำบุญเข้าพรรษา
สิงหาคม ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช -
กันยายน ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช -
ตุลาคม เริ่มเกี่ยวข้าวอายุสั้น เริ่มเกี่ยวข้าวอายุสั้น ทำบุญออกพรรษา
พฤศจิกายน เริ่มเกี่ยวข้าวอายุสั้น เกี่ยวข้าวรอบ 3 (ข้าวอายุยาว) และปลูกข้าวรอบ 1 ประเพณีลอยกระทง
ธันวาคม เกี่ยวข้าวอายุยาว ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช พิธีป้าดตง หลังเก็บเกี่ยวข้าวจะนำข้าวใหม่มาเลี้ยงผี

 

บ้านห้วยห้างมีปราชญ์ชาวบ้านและผู้มีความสามารถหลายท่าน แต่ละท่านมีประวัติความเป็นมาและมีประสบการณ์ความสามารถด้านต่าง ๆ ดังนี้      

1.นายรวย ตรีอินทอง อายุ 63 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านที่คอยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ชุมชนบ้านห้วยห้างด้วยความรู้ความสามารถ ผู้ใหญ่รวยถือเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนหมู่บ้านหลายด้าน ได้แก่ การฟื้นฟูและสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมไทดำด้วยการริเริ่มจัดกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การตั้งศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมไททรงดำเพื่อทำหน้าที่ให้การศึกษาเรียนรู้แก่ทั้งคนภายในชุมชนและภายนอกชุมชนที่มีความสนใจเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมไทดำ การตั้งศูนย์วัฒนธรรมไททรงดำ ผู้ใหญ่รวยได้บริจาคที่ดินจำนวน 1 ไร่ สร้างลานวัฒนธรรมไทดำของหมู่บ้านห้วยห้าง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมของไทดำ เช่น การละเล่นพื้นบ้าน การจัดศิลปะการแสดง การพบปะพูดคุยและการประชุมของไทดำและหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ใหญ่รวยยังได้ร่วมผลักดันให้ชุมชนบ้านห้วยห้างพัฒนาเป็นชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้เข้มแข็ง โดยการระดมความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการพัฒนาและส่งเสริมการทำงานขององค์กรชุมชนต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินงานของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ 

ด้วยความทุ่มเทรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนตามที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ทำให้ผู้ใหญ่รวยเป็นที่ชื่นชมและเคารพรักของคนในชุมชนมาโดยตลอด และด้วยผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์แก่สังคม ทำให้ผู้ใหญ่รวยได้รับรางวัลต่าง ๆ จากการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รางวัลที่เป็นที่ภาคภูมิใจของผู้ใหญ่บ้านรวยคือรางวัลผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมจากผู้ว่าราชการจังหวัดถึง 2 ครั้ง คือในปี 2550 และปี 2564

2.พ่อบุญมา แก้วทอง อายุ 87 ปี ผู้ที่เป็นทั้งพ่อที่ทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูลูก ๆ ทั้ง 9 คน ได้เติบโตแข็งแรงและสมบูรณ์ และเป็นปราชญ์ชาวบ้าน รวมถึงเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการทำงานพัฒนาชุมชนมาอย่างยาวนาน พ่อบุญมาเป็นคนรุ่นที่ได้มีโอกาสคลุกคลีกับวิถีดั้งเดิมของคนไทดำรุ่นบุกเบิกตั้งบ้าน ทำให้เขาได้ซึมซับและเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการทำพิธีต่าง ๆ ของไทดำ จนได้ทำหน้าที่เป็นหมอเสนซึ่งเป็นผู้นำพิธีที่เป็นคนกลางระหว่างผีบรรพบุรุษกับลูกหลานไทดำในการทำพิธีต่าง ๆ ตามความเชื่อการนับถือผีบรรพบุรุษ การทำหน้าที่หมอเสนด้วยความชำนาญและความเข้าใจ ทำให้พ่อบุญมาได้รับยกย่องให้เป็นปราชญ์ด้านพิธีกรรมไทดำของชุมชน และด้วยลักษณะนิสัยการเป็นผู้นำกิจกรรม ตลอดจนความกระตือรือร้นในการศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมของพ่อบุญมา ทำให้พ่อบุญมาได้รับตำแหน่งประธานกลุ่มวัฒนธรรมไททรงดำบ้านห้วยห้าง ซึ่งได้ทำกิจกรรมอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมไททรงดำร่วมกับเครือข่ายไททรงดำทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ (พจนา แก้วทอง, 18 กรกฎาคม 2567)  

ในบทบาทการเป็นนักพัฒนา พ่อบุญมาได้ปรับใช้ความรู้และประสบการณ์ของตนในการทำงานภายใต้ตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น เพื่อรักษาสิทธิและอำนาจของประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยที่จะได้มีโอกาสเป็นตัวแทนของคนในชุมชน ทำหน้าที่ระดมทรัพยากรด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน พ่อบุญมาได้รับเลือกเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหลุม 2 วาระ (8 ปี) ก่อนที่จะล้มป่วยด้วยโรคเบาหวานขั้นรุนแรง ปัจจุบันพ่อบุญมาพักผ่อนอยู่ที่บ้านกับแม่ต๋องผู้เป็นภรรยา โดยมีลูกหลานคอยดูแลอย่างใกล้ชิด (พจนา แก้วทอง, 18 กรกฎาคม 2567)

3.ผู้หญิงกลุ่มทอผ้าไทดำบ้านห้วยห้าง เป็นกลุ่มที่ใช้ภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมา บวกกับทักษะความชำนาญจากการฝึกฝนมาอย่างยาวนานในการทอผ้าและตัดเย็บชุดไทดำประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งแสดงอัตลักษณ์ของชาวไทดำได้อย่างชัดเจน กลุ่มผู้หญิงทอผ้าถือเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นกลุ่มคนที่ทำงานหนักเพื่อการผลิตงานทำมือที่ต้องใช้ทั้งเวลาและหัวใจในการสร้างสรรค์เสื้อผ้าแต่ละชุดให้ออกมาสวยงาม คงทน และใช้งานในพิธีกรรมต่าง ๆ ได้อย่างถูกหลักประเพณี การทำงานของผู้หญิงกลุ่มนี้จึงทรงคุณค่าและยังเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมของไทดำไว้ไม่ให้สูญหายอีกทางหนึ่ง

ผู้หญิงกลุ่มทอผ้าประกอบด้วย 1) นางนาค ออมสิน 2) นางสร้อย เพชรห้อย 3) นางทองอยู่ ตรีอินทอง 4) นางประยูร ทองสุก 5) นางละอองดาว ตรีอินทอง 6) นางขวัญ สิงห์เรือง 7) นางใส สิงห์ลอ 8) นางแหลม แก้วทอง 9) นางเสือง ดอนไพรย้อน 10) นางสายวงค์ ดอนไพรย้อน ทั้งนี้ในลำดับที่ 1-4 เป็นผู้ที่สามารถทอผ้าซิ่นลายแตงโมด้วยกี่ทอมือโบราณ ส่วนลำดับที่ 5-10 เป็นผู้ที่สามารถทอผ้าพื้นด้วยกี่กระตุก และยังเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดและเย็บผ้าทอให้เป็นชุดต่าง ๆ เช่น เสื้อฮี เสื้อก้อม ชุดที่ใช้ในประเพณีรำแคน รวมถึง ผ้าเปียว สายคาดเอว และการปักเย็บลวดลายต่าง ๆ 

4.นายธีรพล ตรีอินทอง อายุ 43 ปี เป็นผู้มีพรสวรรค์ในการเล่นแคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ขับกล่อมชาวไทดำมาอย่างช้านาน นายธีรพลสามารถเป่าแคนเพลงสุดทะแนน ซึ่งเป็นเพลงที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำใช้เล่นแคนในเทศกาลตรุษสงกรานต์ได้อย่างไพเราะและสนุกสนาน นายธีรพลเล่าถึงความเป็นมาของการเป่าแคนของตนว่า เมื่อประมาณ อายุ 11 ปี ได้ยินเสียงแคนจากการเป่าของนายประสาน ตรีอินทอง ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุง รู้สึกประทับใจกับเสียงอันไพเราะแบบธรรมชาติ คล้าย ๆ เสียงเรไร จึงเกิดแรงบันดาลใจให้อยากศึกษา จึงขอให้นายประสานถ่ายทอดเทคนิคการเป่าแคนให้แก่ตน โดยหัดเป่าเพลงสุดทะแนน ซึ่งเป็นเพลงพื้นฐาน หมอแคนทุกคนถ้าเป่าเพลงนี้ไม่ได้ก็จะไม่สามารถเป่าเพลงอื่นได้ ต้องใช้เวลาหัดประมาณ 2 ปี เศษ โดยต่อเพลงทีละท่อน ๆ จากนายประสาน โดยใช้เวลาตอนค่ำที่เสร็จจากการทำนาในการฝึกฝน การเรียนรู้ไม่มีการอ่านโน้ตเพลง แต่เป็นการเลียนเสียงที่ได้ยินอย่างเดียว และใช้แคนในการฝึกหัดประมาณ 3 ซุ่ม สามารถเป่าเพลงสุดสะแนน จากนั้นก็เริ่มหัดเพลงเวียง และเพลงอื่น ๆ เช่น ไทยดำรำพัน และเพลงหมอลำต่าง ๆ ตั้งแต่นั้นมา เวลามีการ "รำแคน อิ่นกอน" ในหมู่บ้านครั้งใด นายธีรพลจะรับหน้าที่เป่าแคนร่วมกับพ่อประสานทุกครั้ง แต่ปัจจุบันนายธีรพลต้องรับหน้าที่เป่าแคนเพียงผู้เดียว เนื่องจากพ่อประสานอายุค่อนข้างมาก (ปัจจุบันอายุ 92 ปี) อย่างไรก็ตาม นายธีรพลได้พยายามหาผู้ที่จะมาเป่าแคนร่วมกับเขา รวมถึงรับหน้าที่เป่าแคนต่อจากเขาในยามที่เขาเป่าแคนไม่ไหว โดยเขาได้อาสาเป็นวิทยากรถ่ายทอดศิลปะการเป่าแคนให้กับหน่วยงานต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น สถานศึกษาในเขตอำเภอวชิรบารมี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร เป็นต้น

5.นางมิล สมคิด ปัจจุบันอายุ 65 ปี เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการขับร้อง "เพลงขับ" ภาษาไทดำในประเพณีรำแคน-อิ่นกอน ไทดำ ซึ่งในอดีตถือเป็นประเพณีการหาคู่ครองของหนุ่มสาวไทดำ หลังว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ชายหนุ่มไททรงดำจะรวมกลุ่มกันประมาณ 15-30 คน เดินทางไปขอเล่นแคน ณ ขวง ที่ฝ่ายหญิงจัดเตรียมไว้ จากนั้นก็จะมีการร้องขับและเซิ้งแคน หยอกล้อกันไปตามจังหวะเพลง จนถึงเวลาประมาณ 23.00 น.ผู้ร้องขับจะร้องเพลงขับลาทุกคนให้หยุดร้องรำกัน ใครที่ยังไม่เหนื่อยจะนำลูกกอน (กอน หรือมะกอน เป็นเศษผ้าที่ยัดเมล็ดนุ่นหรือเมล็ดมะขามแล้วเย็บเป็นลูกบอล ชาวไทดำใช้เป็นอุปกรณ์ "เล่นกอน" ในประเพณี "รำแคนอิ่นกอน" เพื่อความสนุกสนาน) ส่วนคนที่เล่นแล้วเหนื่อยก็จะหยุดพักและจับกลุ่มคุยกัน สอบถามทุกข์สุขจนพอใจ จึงลากลับบ้าน

นางมิลเล่าถึงความเป็นมาของการร้องเพลงขับได้อย่างไพเราะและสนุกสนานของตนเองว่าเกิดจากตนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกลุ่มหญิงสาวที่ยังไม่ออกเรือนที่มาร่วมรำแคน-อิ่นกอน กลุ่มผู้หญิงขาดผู้ร้องเพลงขับ ในกลุ่มเห็นว่าตนมีน้ำเสียงน่าฟังจึงให้ฝึกการร้องขับและเซิ้งกอนกับรุ่นพี่ ซึ่งก็คือนางแพร ทรทับ ตนจึงสามารถร้องเพลงขับได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น ต่อมาเมื่อทางหมู่บ้านเริ่มมีการฟื้นฟูการรำแคนอิ่นกอนขึ้นใหม่ ตนจึงได้ไปร่วมร้องขับและเซิ้งแคนเกือบทุกครั้งที่มีการเล่นจนเกิดเป็นความชำนาญ การร้องเพลงขับของนางมิลทำให้ผู้คนที่มาร่วมรำแคน-อิ่นกอนเกิดความประทับใจจนเป็นที่กล่าวถึงไปไกลหลายหมู่บ้าน ทำให้นางมิลได้รับเลือกให้เป็นผู้สืบทอดการขับร้องเพลงขับของหมู่บ้านห้วยห้างต่อจากนางแพรซึ่งขับร้องไม่ค่อยไหวแล้ว เนื่องจากมีอายุมาก (ปัจจุบันนางแพรอายุ 91 ปี) นอกจากนี้ นางมิลยังได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรถ่ายทอดศิลปะการแสดงประเภทเพลงขับในสถานศึกษาเขตอำเภอวชิรบารมี เขตพื้นที่การศึกษาพิจิตร เขต 1 ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน และยังเป็นวิทยากรถ่ายทอดศิลปะการแสดงประเภทเพลงขับภายใต้โครงการถ่ายทอดศิลปะการแสดงรำแคน-อิ่นกอน ไทดำ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ปี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน

6.นางคำมี มาลัยทอง อายุ 63 ปี และนางขวัญ สิงห์เรือง ทั้งสองท่านเป็นศิลปินพื้นบ้านที่มีความสามารถด้านการรำแคนอิ่นกอน และเป็นผู้มีคุณูปการในการสืบสานศิลปะการแสดง โดยเมื่อว่างจากการทำนาและรับจ้าง ทั้งสองคนจะรวมกลุ่มกับศิลปินในหมู่บ้านเพื่อฝึกฝนการร่ายรำ รวมถึงยังได้เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับท่ารำต่าง ๆ ให้แก่เด็กและเยาวชนภายในตำบล โดยท่ารำดังกล่าว ได้แก่ แกนยาง แกนแล่น แกนแกร แกนระบำ เป็นต้น

บ้านห้วยห้างประกอบด้วยทุนชุมชนหรือทรัพยากรที่สามารถนำมาปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนหลายประการ ได้แก่ ทุนทางวัฒนธรรมเป็นความรู้ เป็นทักษะ เป็นความชำนาญของคนกลุ่มต่าง ๆ เป็นคุณค่าที่แฝงฝังอยู่ในวิถีชีวิต ในจิตวิญญาณ ในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ในอาหารการกิน ในพิธีกรรม ในบทเพลง ในการร่ายรำ ในรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของการดำรงชีพ ทำให้ชุมชนมีชีวิตชีวา มีความผูกพัน มีการช่วยเหลือเกื้อกูล และเป็นพลังผลักดันให้ชุมชนสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ อย่างเข้มแข็ง ดังจะเห็นได้จากการร่วมมือกันดำเนินงานขององค์กรชุมชนที่ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างเข้มแข็ง เช่น กลุ่มอาชีพต่าง ๆ โรงสีชุมชน สถาบันการจัดการเงินของชุมชนบ้านห้วยห้าง เป็นต้น 

ทุนชุมชนยังหมายรวมถึงความเสียสละ ความอดทน ความมีน้ำใจ และความรับผิดชอบในหน้าที่ของคนแต่ละกลุ่มในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ผู้นำ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน เด็กและเยาวชน ทำให้การทำกิจกรรมในชุมชนได้รับแรงผลักดันจากความร่วมไม้ร่วมมือและพลังสร้างสรรค์ของคนทุกกลุ่ม ทำให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วงด้วยดีทุกครั้ง 

คนในชุมชนบ้านห้วยห้างยังคงสื่อสารกันด้วยภาษาไทดำเป็นหลักทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน แต่ในหลายครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เป็นคนไทย ในครอบครัวนั้นจะมีการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ส่งผลให้เด็กที่อยู่ในครอบครัวนั้น ๆ ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก เนื่องจากเด็กแวดล้อมไปด้วยผู้คนที่ใช้ภาษาไทยตลอดเวลา ตั้งแต่ที่บ้านไปจนถึงโรงเรียน ทั้งนี้โรงเรียนที่เด็กและเยาวชนบ้านห้วยห้างเรียน จะใช้ภาษาไทยเป็นหลัก และโรงเรียนก็ไม่ได้มีกิจกรรม หลักสูตร หรือการส่งเสริมให้เด็กที่มาจากครอบครัวชาวไทดำได้ใช้ภาษาไทดำในการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม หลายครอบครัวมีความพยายามสื่อสารภาษาไทดำกับลูกหลานของพวกเขาด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทดำ ซึ่งเป็นมรดกที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน จึงไม่อยากให้สูญสลายเร็วเกินไป (พจนา แก้วทอง, สัมภาษณ์, 18 กรกฎาคม 2567)


จากการพูดคุยกับคนในชุมชนและผู้ใหญ่บ้าน ได้มีการกล่าวถึงปัญหาและความท้าทาย 3 ประการ ซึ่งแต่ละปัญหาต่างเชื่อมโยงกันและส่งผลกระทบต่อชีวิตและความสัมพันธ์ของคนในชุมชนมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้แก่ 

1.ปัญหาที่มาพร้อมกับการทำเกษตรกรรมแบบสมัยใหม่ ที่เข้ามาแทนที่เกษตรกรรมแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าว อาชีพหลักของคนในชุมชน ที่มีการปรับเปลี่ยนจากนาปีเป็นนาปรังหรือการทำนา 2-3 รอบต่อปี ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตที่เข้มข้น ผู้ผลิตต้องใช้เงินทุนในการผลิตมากขึ้น เนื่องจากความเร่งรีบให้ทันเวลาปลูกและเก็บเกี่ยว ทำให้ต้องจ่ายค่าเครื่องจักรเครื่องทุ่นแรงและแรงงานรับจ้าง รวมถึงการซื้อปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชที่ตนเองไม่สามารถผลิตได้เองเหมือนอดีต เช่นปุ๋ยจากวัวควายที่แต่ละบ้านเคยเลี้ยงไว้ ยาฆ่าแมลงจากพืชสมุนไพร เป็นต้น ขณะที่ราคาข้าวมีความผันผวนไม่แน่นอนตามนโยบายที่เกี่ยวข้องของภาครัฐที่ส่งผลต่อกลไกตลาด ปัญหานี้ทำให้ครัวเรือนที่ไม่มีต้นทุนมากพอต้องแบกรับหนี้สินมากขึ้น บางครัวเรือนไม่สามารถแบกรับหนี้ได้จนต้องขายที่ดินซึ่งเป็นที่นาบางส่วนให้กับญาติพี่น้องเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ ทำให้ครัวเรือนสูญเสียที่ดินซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการทำเกษตร

2.ปัญหาความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ทั้งในระดับครัวเรือน และระดับชุมชน กล่าวคือความสัมพันธ์ในระดับครัวเรือนเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการต้องออกไปทำงานต่างจังหวัดของคนวัยทำงานหรือคนรุ่นใหม่ ทำให้คนที่อยู่บ้านเหลือเพียงผู้สูงอายุกับเด็กและเยาวชนที่ยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ทั้งหมด ทำให้คนสองกลุ่มนี้ต่างได้รับผลกระทบทั้งด้านสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตโดยรวม ช่องว่างที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนี้ยังส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ระดับชุมชน การร่วมไม้ร่วมมือในกิจกรรมด้านต่าง ๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด คนหนุ่มสาววัยทำงานไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นแรงงานและเป็นสีสันในกิจกรรมของชุมชนมากเหมือนในอดีต เนื่องจากการดิ้นรนทำมาหากิน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีภาระหนี้สิน รวมถึงครัวเรือนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีที่ดิน และยังไม่มีหลักประกันความมั่นคงใด ๆ ให้กับชีวิตในอนาคตที่ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอน 

3.ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าหลายครัวเรือนในชุมชนยังมีภาระหนี้สินที่ยังไม่สามารถจัดการได้ และหลายครัวเรือนยังไม่มีหลักประกันความมั่นคงใด ๆ ให้กับชีวิตในอนาคต ชุมชนในฐานะองค์กรหรือสถาบันหนึ่งที่เป็นที่พึ่งพาของครอบครัว ยังไม่มีกลไกหรือการทำงานระดมทรัพยากรต่าง ๆ มาช่วยแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับครัวเรือนได้อย่างแท้จริง กลุ่มอาชีพหลายกลุ่มหยุดชะงักลงไปเนื่องจากไม่มีเงินทุนเพียงพอและขาดการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่กลุ่มองค์กรด้านเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ สถาบันการเงินของชุมชน ซึ่งทำหน้าที่ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและให้ความช่วยเหลือสวัสดิการชุมชนบางอย่าง ยังคงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ขณะที่กลุ่มนาแปลงใหญ่ กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง สามารถแก้ปัญหาให้กับบางครัวเรือนที่มีที่ดินหรือทุนเริ่มต้นแล้วเท่านั้น 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมพัฒนาชุมชน. (ม.ป.ป.). โปรแกรมจัดเก็บบันทึกและประมวลผลปี 2566 - 2570. สืบค้นเมื่อ 2 กันยายน 2567. https://smartbmn.cdd.go.th/

องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหลุม. (ม.ป.ป.). ฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น/ปราชญ์ชาวบ้าน. http://2018.nonglum.go.th/

สำนักงานจังหวัดพิจิตร. (8 พฤศจิกายน 2564). จังหวัดพิจิตร มอบรางวัลกำนัน ผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยม สร้างขวัญและกำลังใจ แก่นักปกครองท้องที่. https://phichit.go.th/

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (8 กรกฎาคม 2562). แก้หนี้นอกระบบ 24 ชั่วโมง “ทุนชุมชนบ้านห้วยห้าง” ใช้คุณธรรม 5 ข้อ เป็นหลักประกัน. https://www.prachachat.net/

OTOP Phichit By Chalawan. (2564). Facebook. https://www.facebook.com/OTOPByChalawan

อบต.หนองหลุม โทร. 0-5669-2111