Advance search

บ้านดงยางอาข่า

ชุมชนบ้านเปาปม - ดงยาง มีงานประเพณีประจำปีและการแต่งกายของชาวอาข่า และได้รับรางวัลป่าชุมชนดีเด่น ประจำปี 2567 ประเภทป่าชุมชนระดับประเทศ รวมไปถึงเป็นแหล่งศึกษาและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้

หมู่ที่ 7
เปาปม - ดงยาง
นาพูน
วังชิ้น
แพร่
อบต.นาพูน โทร. 05 406 9645
พิรัชพร สมุทรเพ็ชร, พลอยตะวัน ธูปเทียนทอง และบุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
8 ธ.ค. 2024
ศิริชัย โตสุวรรณ
3 เม.ย. 2025
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
22 ธ.ค. 2024
บ้านเปาปม - ดงยาง
บ้านดงยางอาข่า

ชุมชนบ้านเปาปม-ดงยาง มาจาก 2 ชื่อหลัก ได้แก่บ้านเปาปม ซึ่งเป็นชื่อที่มาจากต้นเปาในภาษาท้องถิ่นหรือภาษาชาวบ้าน ซึ่งหมายถึงต้นรังในภาษาไทยหรือภาษาราชการ ซึ่งเป็นต้นไม้ตระกูลป่าเบญจพรรณ ส่วนหมู่บ้านดงยางมาจากสภาพพื้นที่มีต้นยางจำนวนมากเป็นดง จนกลายเป็นชื่อของหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบัน


ชุมชนบ้านเปาปม - ดงยาง มีงานประเพณีประจำปีและการแต่งกายของชาวอาข่า และได้รับรางวัลป่าชุมชนดีเด่น ประจำปี 2567 ประเภทป่าชุมชนระดับประเทศ รวมไปถึงเป็นแหล่งศึกษาและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้

เปาปม - ดงยาง
หมู่ที่ 7
นาพูน
วังชิ้น
แพร่
54160
17.8478353
99.8747105
องค์การบริหารส่วนตำบลนาพูน

ชุมชนบ้านเปาปม-ดงยางตั้งอยู่ห่างจากถนนสายแพร่ - สุโขทัยประมาณ 300 เมตร ในเริ่มแรกมีผู้อาศัยเป็นชาวบ้านจากจากอำเภอสูงเม่นและอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เข้ามาทำไร่ทำสวนและทำไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง ซึ่งแยกออกเป็น 2 ชุด ชุดแรกมาจากอำเภอเด่นชัยมาสร้างที่พักที่พื้นที่บ้านดงยาง และอีกชุดมาจากสูงเม่นมาทำที่พักอาศัยที่บริเวณบ้านเปาปม จนกระทั่งไปในปี พ.ศ. 2501 การรถไฟแห่งประเศไทยมีการสัมปทานไม้ทำหมอนรถไฟในเขตพื้นที่ป่าแม่ยมตะวันออกในตำบลนาพูน บริเวณป่าบ่อแก้ว ป่าแม่สูง และป่าแม่สิน จึงทำให้เกิดการอพยพของคนนอกชุมชนเข้ามาในบริเวณนี้เพื่อทำงานรับจ้างทำหมอนไม้ โดยเฉพาะคนจากอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่เขตติดต่อกับอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ บางส่วนของคนงานได้สร้างบ้านอยู่ในบริเวณนี้เป็นต้นมา ก่อนหน้านี้บริเวณบ้านเปาปมดงยางถูกจัดให้อยู่ภายใต้การปกครองของบ้านไร่หลวง หรือหมู่ 6 ตำบลนาพูน เป็นหมู่บ้านเปาปม-ดงยาง หรือหมู่ 7 ในปัจจุบัน มีประชากรที่สำรวจในเดือนมิถุนายน 2567 จำนวน 603 คน เป็นชาย 321 คน และหญิงจำนวน 282 (กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)

ประมาณปีพ.ศ. 2516 กลุ่มชาติพันธุ์อาข่าได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดแพร่ โดยอพยพมามาจากบ้านแม่คำ อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ส่วนหนึ่งอพยพมาจากลำปาง และอำเภอสอง จังหวัดแพร่ พวกเขาอยู่รวมตัวกันเป็นหมู่บ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ประกอบอาชีพทำไร่ฝ้าย งา และรับจ้างต่างๆ ทำให้ขาดแคลนอาหารบริโภค แต่ต่อมาประมาณปีพ.ศ. 2530 ได้อพยพมาอยู่ที่บ้านแม่พร้าว ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง ปัจจุบันชาวอาข่าได้เข้าไปอาศัยในหลายพื้นที่ของจังหวัดแพร่ และเริ่มเข้ามาตั้งหย่อมบ้านในบ้านเปาปม- ดงยาง ซึ่งเป็นการอพยพมาตามเครือญาติ แล้วเริ่มหาที่ดินทำกินในภาคเกษตร โดยปลูกมันสำปะหลัง แต่เนื่องจากประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ที่ทำกินและผลผลิตตกต่ำ จึงต้องออกไปรับจ้างในท้องที่อื่นภายในจังหวัด (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, 2544) 

สำหรับการอพยพของชาวอาข่าในพื้นที่ตำบลนาพูนและในหมู่บ้านเปาปม-ดงยางนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่คนอาข่าย้ายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดแพร่ และบางส่วนได้อพยพมาอยู่หมู่บ้านนี้ในปี 2535 โดยการนำของนายอาโจ้  อามอ ที่พาประชาชนเข้ามาจำนวน 6 หลังคาเรือนมาตั้งเป็นชุมชน ศิริชัย โตสุวรรณ อดีตครูเกษียณราชการซึ่งเป็นคนในชุมชนและทำงานในพื้นที่มาอย่างเนิ่นนานเล่าว่าชาวอาข่าเริ่มเข้าในหมู่บ้าน 3-4 ครอบครัวก่อน โดยรู้จักกับผู้ใหญ่บ้านในเวลานั้นและมาเป็นลูกจ้างและรับจ้างทั่วไป ก่อนที่จะมาตั้งรกรากอยู่บ้านเปาปม-ดงยาง และมีการอพยพกันเข้ามาเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา (สัมภาษณ์ 27 พฤศจิกายน 2567) โดยเริ่มจากกาหารที่ดินทำกินเพื่อเพาะปลูกข้าวไร่และพืชเกษตร แต่ในเวลาเลิกปลูกข้าวไร่ ส่วนใหญ่ซื้อข้าวเพื่อบริโภคแทน เพื่อใช้ที่ดินในการปลูกพืชไร่หลักได้แก่ข้าวโพดและมันสำปะหลัง และหาที่ดินจับจองเพื่อทำการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชาวบ้านให้ข้อมูลว่าในเวลานั้นซื้อที่ดินในราคาไร่ละ 1,000 บาท

ในช่วงแรกชาวอาข่าในบริเวณบ้านเปาปม-ดงยางอาข่าไม่รู้หนังสือและยังไม่มีโรงเรียนในหมู่บ้าน ต่อมาในปี พ.ศ.2536 ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอวังชิ้นได้ส่งครูเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่และได้เริ่มก่อตั้งศูนย์การเรียนขึ้นภายในหมู่บ้านเพื่อสอนหนังสือให้กับเด็ก และอาข่าแทบทุคนในชุมชนแห่งนี้นับถือศาสนาคริสต์ปัจจุบันบ้านดงยางอาข่ามีทั้งหมด  20 หลังคาเรือน อยู่กระจัดกระจายออกเป็น 3 หย่อมบ้าน ได้แก่บ้านกลางมี 11 หลังคาเรือน บ้านใต้มี 5 หลังคาเรือน และบ้านเหนือมี  4 หลังคาเรือน มีประชากรรวมกัน 149 คน (ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง”, ม.ป.ป.ปัจจุบันพื้นที่สำคัญที่เป็นแหล่งเผยแพร่วัฒนธรรมชาวอาข่าและเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยวหมู่บ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง (ชุมชนอาข่าดงยาง) และเป็นพื้นที่ที่หน่วยงานรัฐและองค์กรภายนอกเข้ามาทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

นอกจากชาติพันธุ์อาข่าที่ตั้งรกรากในหมู่บ้านแห่งนี้มากว่า 30 ปีแล้ว ชุมชนเปาปม-ดงยางเริ่มเป็นที่แหล่งที่มีชาวลาหู่เข้ามาอาศัยอยู่ด้วย ในปีพ.ศ.2565-2566 เริ่มมีชาวลาหู่จากจังหวัดเชียงรายเข้ามาอาศัย 3-4 ครอบครัว จากที่มีชายอาข่าไปแต่งงานกับผู้หญิงลาหู่ในพื้นที่ที่ตนเองมีญาติอยู่ จึงได้อพยพครอบครัวมาอยู่ที่นี่ นอกจากนี้ ยังมีคนภาคอีสานจากจังหวัดอุบลราชธานีเข้ามาซื้อที่เพื่อทำการเกษตรปลูกพืชไร่และคนทางภาคใต้เข้ามาทำสวนยางพารา (ศิริชัย โตสุวรรณ, สัมภาษณ์ 27 พฤศจิกายน 2567)

บ้านเปาปม-ดงยาง อยู่ในเขตตำบลนาพูน ทิศเหนือติดต่อกับตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ทิศตะวันออกติดต่อกับตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ทิศใต้ติดต่อกับบ้านไร่หลวง หรือหมู่ 7 และบ้านแม่สิน หรือหมู่ 9 ตำบลนาพูน และทิศตะวันตกติดต่อกับบ้านนาพูน หรือหมู่ 2 ตำบลนาพูน

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบสูง เหมาะแก่การทำการเกษตร โดยชุมชนปลูกพืชไร่หลักได้แก่ข้าวโพดและมันสำปะหลัง บางครัวเรือนปลูกผักและพืชกินเอง รวมทั้งสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบของวัฒนธรรมอาหารอาข่า เหมาะแก่การเพาะปลูกส่วนที่เหลือเป็นที่พักอาศัยของคนในชุมชน มีโบสถ์เป็นศูนย์รวมในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บริเวณโดยรอบเป็นป่าที่ถือว่าเป็นป่าชุมชนมีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย เป็นป่าเบญจพรรณ มีพันธุ์ไม้เด่นได้แก่ ตะแบก ยมหิน มะค่าโมง ประดู่ ไม้แดง ไม้สัก และไผ่ชนิดต่างๆ เช่น ไผ่ซางและไผ่ข้าวหลาม สมุนไพร และเห็ดที่ขึ้นในป่า ป่าชุมชนเปาปม-ดงยางมีแหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญได้แก่ห้วยสัก ห้วยป่ายาง ห้วยน้ำเดื่อ และห้วยสักแล้ง จนเป็นแหล่งอาหารทั้งบริโภคเองและนำไปเป็นอาชีพ ทรัพยากรในป่าเช่นไผ่ได้กลายเป็นแหล่งรายได้อีกแหล่งหนึ่งของชุมชน ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และเชิงอนุรักษ์ ที่สัมพันธ์กับความเชื่อเนื่องจากได้สร้างศาลเจ้าแม่จำหงาย เพื่อให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองป่าชุมชนแห่งนี้

หมู่บ้านเปาปม-ดงยางและหมู่บ้านใกล้เคียงยังตั้งอยู่ใกล้กับม่อนพิศวงซึ่งอยู่ที่บ้านพูนพัฒนา ตำบลนาพูน และอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลนาพูน ม่อนพิศวงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชุมชนเพิ่งเปิดตัวไม่นานเพื่อดึงดูดคนจากภายนอกให้มาชมและสัมผัสกองหินรูปทรงเป็นแท่งๆ ที่มารวมตัวกันสร้างความประหลาดพิศวง ซึ่งเกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ เมื่อประมาณ 5-6 ล้านปี หลังจากที่ลาวาของหินบะซอลต์ไหลออกมาจากปากปล่องภูเขาไฟปกคลุมพื้นผิวแล้วเกิดการเย็นตัวอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ส่วนของหินบะซอลต์ที่อยู่ตอนบนเกิดแรงดึงทุกทิศทุกทางจากการหดตัวในขณะที่เย็นตัวลงทำให้เกิดรอยแตกรอยแยก ที่มีลักษณะเป็นแท่งหินสูงประมาณ 3 เมตรเรียงตัวติดกันเป็นคูหาห้อง นอกจากนี้ บริเวณม่อนพิศวงยังมีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาจากรอยขุดที่เป็นหลุมเป็นบ่อ โดยเชื่อว่าเกิดจากจากการขุดหาลายแทงสมบัติของของนายเสริญและนายน้อย ทำให้คนในพื้นที่นับถือบูชาและได้ตั้งชื่อสถานที่จุดต่างๆ ตามความเชื่อ เช่นจุดที่มีลักษณะเป็นกลุ่มแท่งเสาหินสูงประมาณครึ่งช่วงตัวตั้งเรียงรายทำมุม 45 องศาว่าม่อนเจ้าอาจญา เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าอาจญา ผีที่ได้รับการนับถือสูงสุด หรือการเรียกเสาหินก้อนหินจำนวนมากว่าม่อนเจ้าคำ ซึ่งเป็นผีอีกตนหนึ่งที่ชาวบ้านนับถือ และม่อนสะเดาะเคราะห์ที่เป็นก้อนหินเรียงตัวเป็นทางเดิน และมีแอ่งคล้ายบ่อน้ำที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบ่อเงินบ่อทอง ในบ่อมีบาตรวางอยู่โดยคนโยนเหรียญลงในบาตรเพื่อสะเดาะเคราะห์

การสำรวจบันทึกข้อมูลประชาชนที่อาศัยอยู่บ้านเปาปม-ดงยางในเดือนมิถุนายน 2567 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รายงานว่ามีประชากรจำนวน 603 คน และครัวเรือนทั้งสิ้น 285 หลังคาเรือน มีกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งมีประมาณ 188 คน 40 หลังคาเรือน และชาวลาหู่ 11 คนจาก 2 หลังคาเรือน สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์อาข่านั้นยังเชื่อมโยงกับญาติในจังหวัดเชียงราย และมีความสัมพันธ์ข้ามชาติพันธุ์ผ่านการแต่งงานกับ เช่นคนอาข่าแต่งงานกับคนลาหู่ จนทำให้มีการอพยพมาสร้างครอบครัวด้วยกันที่บ้านเปาปม-ดงยาง

ลาหู่, อ่าข่า

ชุมชนบ้านเปาปม-ดงยาง เดิมทีคนในพื้นที่ทำอาชีพทำเกษตรและทอผ้าขาย มีการรวมกลุ่มชายหญิงในหมู่บ้านหรือรอบข้างในการทำเกษตรร่วมกันอยู่เสมอ มักจะอาศัยกันและกันเพื่อความรวดเร็วในการทำงาน และในเวลาหลังเลิกงาน ผู้หญิงอาข่าส่วนมากก็จะมีการทอผ้าเพื่อนำไปขายด้วยลวดลายต่าง ๆ ของอาข่า อาทิเช่น หมวก เสื้อ กางเกง กระเป๋า เนื่องด้วยเวลานั้นผ้าที่ทำขายค่อนข้างจะมีราคาที่ดี ในเวลาต่อมาเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามา ความเจริญเริ่มเข้าถึงชุมชน คนในเมืองเริ่มเข้ามาอยู่มากขึ้นบวกกับภาวะเศรษฐกิจ ชาวอาข่าหลายคนก็เริ่มได้รับการศึกษาทำให้การใช้ชีวิตของคนอาข่ามีความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน คนในชุมชนเริ่มหันมาทำเกษตรกับทอผ้าน้อยลงแล้วเนื่องด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ มีการส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษามากขึ้นแทนการทำงานในไร่ ในส่วนของการทำงานเกษตรก็จะมีแต่รุ่นพ่อแม่เท่านั้นที่ยังคงทำกันอยู่และปัจจุบันก็จะนิยมทำแค่ ไร่ข้าวโพด กับไร่มันสำปะหลังเป็นหลัก หลังจากเก็บผลผลิตแล้ว ชุมชนที่นี่รวมถึงชาวอาข่าจะเอาของไปขายแถวหมู่บ้านรอบข้างหรือภายในหมู่บ้าน หรือไม่ก็สหกรณ์ เงินที่ขายได้ก็พอกินพอใช้แต่ไม่ได้มาก ราคาก็ผลิตผลอยู่ที่หลักร้อย แล้วแต่รอบว่าจะได้ผลิตผลมากน้อยแค่ไหน เข่นข้าวโพด ถ้าขายได้สัก 100,000 บาท หักค่าปุ๋ย ค่าน้ำยา ค่าน้ำ ค่าจิปาถะ หักหนี้เรียบร้อยแล้วก็จะเหลือ 40,000-50,000 บาทได้ (ในช่วงปี 2565-2566) แต่ก็อย่างที่กล่าวไปว่าขึ้นอยู่กับช่วงเวลา บ้างปีขาดทุนก็มี ผลผลิตไม่สวยก็ขายไม่ได้ (พิรัชพร สมุทรเพ็ชร, 2566)

ผู้หญิงอาข่าจำนวนหนึ่งได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเผยแพร่อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของตนเอง โดยเฉพาะการปักผ้าซึ่งเป็นการนำเอาวิถีชีวิตของคนอาข่ามาเป็นอาชีพหนึ่งที่ผู้หญิงมีบทบาทโดยตรง อาเซาะ มะเยอะ (สัมภาษณ์, 9 พฤษภาคม 2566) หนึ่งในกลุ่มผู้หญิงอาข่าได้เข้าร่วมอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าชนเผ่า (อาข่า) รวมเวลา 224 ชั่วโมง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2562 การอบรมดังกล่าวเป็นการต่อยอดกับการปักผ้าและทำผลิตภัณฑ์สินค้าและเสื้อผ้าของคนอาข่าเวลาที่มีหน่วยงานมาศึกษาดูงาน หรือมีกิจกรรมสำคัญที่เกี่ยวกับหมู่บ้านและชาติพันธุ์อาข่าอยู่เสมอ อาเซาะกล่าวเพิ่มว่าเธอได้สอนคนอื่นปักผ้าด้วย ส่วนรายได้จากการปักผ้าก็ไม่ได้ถือว่ามากเพราะว่าปีหนึ่งได้เงินไม่กี่ครั้ง ถ้าเมื่อก่อนครั้งหนึ่งได้ 600-700 บาท แต่ถ้าตอนนี้ก็ 1,000–1,200 บาทแล้วแต่ลวดลายที่ทำขาย แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีคนทำขายแล้ว สมัยนี้ค่าของที่ใช้ทำก็แพงขึ้น ทำที่หนึ่งก็ใช้เวลา แล้วพวกเสื้อผ้าวัสดุที่เอามาปักขายก็ต้องซื้อจากเชียงรายหรือลําปาง แต่ก็จะเหลือแต่คนแก่เท่านั้นที่ทำ ในการปักผ้าครั้งหนึ่ง ถ้าคนที่มีชำนาญแล้วหรือรุ่นแม่ ทำไม่นานก็เสร็จและยิ่งลายไม่ยากคือ 5-6 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสิ่งของที่ทำด้วยถ้าเป็นชิ้นเล็กเช่นกระเป๋าก็ไม่นาน แต่ถ้าเป็นของใหญ่พวกเสื้อผ้าก็ 3-5 เดือนได้ เพราะว่าไม่ได้นั่งทำทั้งวัน แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ค่อยชำนาญก็นานถึง 6 เดือนขึ้นไป โดยส่วนตัวอาเซาะใช้เวลาทำไม่นานลายไหนก็ง่ายๆ ทำมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วลายยากแค่ไหนก็ทำได้หมดเลยอย่างพวกเสื้อผ้ากระโปรงไม่นานเพียง 1 เดือน คนสาวสาวอาข่า วัยรุ่นในหมู่บ้านไม่ค่อยทำกันแล้ว เพราะมองว่าไม่คุ้ม ขายก็ราคาไม่ค่อยดีแถมทำยากอีก  

อาเซาะเล่าว่าเธอปักผ้าตอนเป็นสาวเพราะต้องใช้ใส่เองชีวิตประจำวันและในงานประเพณีของคนอาข่า รวมถึงชุดแต่งงาน เพราะไม่มีเงินซื้อด้วยข้าวของแพง และการทำผ้าใว้ใส่เองสามารถปรับลวดลายและทำให้ทรงให้เขากับรูปร่างได้ง่ายกว่าการไปซื้อ โดยมากผู้หญิงมักทำตอนหลังทำงานทุกอย่างเสร็จเท่านั้น เธอบอกว่าสมัยก่อนบ้านไหนที่มีลูกสาว คนอาข่าจะสอนให้ลูกสาวทำงานพวกปักผ้าและเย็บผ้าให้เป็น เพื่อที่จะในภายภาคหน้าจะได้ทำใช้เองได้หรือถ้ามีครอบครัวก็จะได้ทำให้สามีหรือลูกใช้ได้ ถ้ามาสมัยนี้แล้วก็มีความเปลี่ยนแปลงไป คนอาข่าอาศัยร่วมกับคนในเมืองมากขึ้น ทำให้ตอนนี้ก็เลยไม่ค่อยแต่งตัวด้วยชุดอาข่าบ่อยเท่าอดีต กลับหันมาแต่งตัวแบบคนในเมืองเสียมากกว่า ทำให้ผู้หญิงอาข่าไม่ได้ปักผ้าใส่เองแล้วซื้อใส่มากกว่า ด้วยความง่ายต่อการทำงานและสะดวกสบาย ไม่ต้องมานั่งปักไม่เสียเวลา เพราะชุดสมัยก่อนจะมีความหนัก เครื่องหัวตัวเต็มไปหมดเวลาทำไรก็ไม่ค่อยสะดวกกัน (พิรัชพร สมุทรเพ็ชร, 2566)

ชุมชนหมู่บ้านเปาปม-ดงยาง ได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนบ้านเปาปม-ดงยางในปีพ.ศ. 2562 หลังจากมีพ.ร.บ.ป่าชุมชนออกมา ทางคณะกรรมการได้ยื่นขออนุญาตจัดตั้งป่าชุมชนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้ และได้รับการขึ้นทะเบียนป่าชุมชน 1 แปลง จำนวน 2,621 ไร่ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 คณะกรรมการป่าชุมชนจำนวน 17 คน นำโดยได้รวมกลุ่มคนหลากหลายวัยเข้ามาทำกิจกรรมการใช้ประโยชน์และสันทนาการจากป่าชุมชนเช่นกลุ่มจักรสานไม้ไผ่ และกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ป่าชุมชน

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน กลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ใช้ป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์เป็นจุดดึงดูด และมีลานกางเตนท์ให้สำหรับคนที่ชอบความสมบุกสมบัน ซึ่งทางชุมชนสามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ 50 คน นอกจากนี้ มีกลุ่มชาวบ้านผ่านการอบรมกลุ่มทำไข่เค็มสมุนไพรยาโอเนะ กลุ่มจักรสานด้วยไม้ไผ่

ช่วงเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ของทุกปี จะเป็นวันปีใหม่อาข่า มีการจัดงานทำบุญกลางบ้าน ทำบุญบ่อน้ำ กับทำบุญขึ้นบ้านโบราณอาข่า โดยชาวชุมชนทำกับข้าวมาจัดกิจกรรมที่บริเวณกลางหมู่บ้าน (วันที่จัดงานปีใหม่อาข่า จะมีการเปลี่ยนแปลงในทุกปีแล้วแต่ความเหมาะสม)

เดือนเมษายนหรือช่วงวันหยุดสงกรานต์ ชุมชนทำพิธีกรรมไหว้ศาลเจ้าแม่นางแก้ว

ส่วนชาวอาข่าจัดประเพณีชนไข่แดงย้อมด้วยสมุนไพรของชาวอาข่าที่เรียกว่ายาอูเนะหรือในภาษาไทยว่าว่านหอมแดง มักทำพิธีนี้เมื่อมีเด็กเกิดใหม่หรือแสดงความยินดีปรีดากับสิ่งที่เกิดใหม่

ในช่วงวันที่ 24 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันป่าชุมชนแห่งชาติ ชุมชนทำพิธีกรรมไหว้ศาลเจ้าแม่จำหงาย เพื่อให้ปกป้องรักษาป่าให้เป็นแหล่งอาหารและทรัพยากรของชุมชน เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของศาลเจ้าแม่หงายนั้นตั้งอยู่ในป่าชุมชน ที่มีน้ำซับไม่แห้งเป็นที่ดื่มของสัตว์ป่า และมีประวัติเรื่องเล่าสืบกันมาว่ามีชาวบ้านที่เป็นนายพรานไปทำห้างบนต้นไม้เพื่อล่าสัตว์ที่ออกมากินน้ำในเวลากลางคืน ขณะที่นายพรานนั่งรอยิงสัตว์อยู่นั้นก็เห็นหญิงสาวใส่ชุดขาวปรากฏขึ้น ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยมีนายพรานเข้าไปล่าสัตว์บริเวณนั้นอีก จึงเรียกชื่อบริเวณนั้นว่า"จำหงาย" จำเป็นภาษาพื้นบ้านที่เรียกบริเวณน้ำซึมหรือน้ำซับ

เดือนสิงหาคม มีการกำหนดวันในการจัดงานปะเพณีที่เรียกว่า ประเพณีโล้ชิงช้า เป็นประเพณีที่จัดขึ้นมาเพื่อขอบคุณผู้หญิงที่เหนื่อยทำงานมาตลอดทั้งปี และมีกิจกรรมโล้ชิงช้าที่ให้ผู้ชายต้องแกว่งชิงช้าให้ผู้หญิงนั่งเพื่อสื่อถึงความขอบคุณและเคารพ

เดือนธันวาคม ชุมชนอาข่าจัดประเพณีขว้างลูกข่างซึ่งใกล้กับช่วงคริสมาสต์ของชาวตะวันตก มีการแสดงร้องรำทำเพลงประกอบ

อาจารย์ศิริชัย โตสุวรรณ  ประธานท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดแพร่ และคณะกรรมการป่าชุมชน บ้านเปาปมดงยาง มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนนี้ ตลอดจนเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญให้กับป่าชุมชนบ้านเปาปม ดงยาง และยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิประจำคณะกรรมการป่าชุมชนจังหวัดแพร่

นายณัฐพงษ์ แขมน้อย (ครูเจตน์)  ครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (สรก.) และการจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง (ศศช.) บ้านดงยางอาข่า ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้าน เป็นผู้นำที่สามารถดึงเอาทรัพยากรหรือทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม และความร่วมมือกับองค์กรภายนอก มาช่วยสร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน การนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์อาข่า รวมถึงการพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ สภาพแวดล้อม วิถีชีวิต ล้วนมีนายณัฐพงษ์ แขมน้อย เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการพัฒนานอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดแพร่

นายอุทัย กาศวิเศษ  เป็นผู้ใหญ่บ้านที่คอยสนับสนุนและช่วยเหลือตลอด ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีส่วนในการพัฒนาชุมชนนี้ 

นายยะพ้า  เละเชะ หรืออาผ่า  เป็นอีกหนึ่งคนที่มีบทบาทในการช่วยพัฒนาชุมชนเป็นผู้ที่คอยสนับสนุน 

นางศิวพร  อามอ หรืออาหมี่  ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำอาหารพื้นถิ่น และด้านการถักกระเป๋า เสื้อผ้า

ชุมชนบ้านเปาปม ดงยาง มีการรวมกลุ่มกันอย่างเหนี่ยวแน่นเพื่อพัฒนาชุมชนให้สามารถอยู่กับปัจจุบันทั้งรวมกลุ่มภายในชุมชนและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานและผลักดันให้มีงานประจำปี โดยงานประจำที่ถูกจัดขึ้นนั้นถูกนำเสนอผ่านรูปแบบวัฒนธรรมอาข่าทั้งงานวันปีใหม่ งานชนไข่แดง และประเพณีโล้ชิงช้า โดยประเพณีโล้ชิงช้าถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการขอบคุณผู้หญิงที่ทำงานหนักมาตลอดทั้งปี ขณะเดียวกันชาวอาข่าจะแต่งกายด้วยชุดของอาข่า และมีอาหารพื้นเมืองให้รับประทาน ก่อนรับประทานคนอาข่าตามประเพณีจะเตรียมเหล้าข้าวโพดให้กับแขกที่มาร่วมงานประเพณีด้วย ส่วนสำรับอาหารอาข่าประกอบด้วยน้ำพริกอาข่าที่ทำจากถั่วลิสงปรุงรสด้วยเกลือและผลชูรส ผักกาดจอใส่หมูซึ่งเป็นการต้มและใช้วัตถุดิบที่มีการดอง ในอดีตวัฒนธรรมอาหารอาข่ามีฐานมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ออกไปหาตามป่าเขาได้ แต่ปัจจุบันไม่มีพื้นที่ป่าที่ไปสามารถหาวัตถุดิบได้ จึงปรับตัวด้วยการใช้วัตถุดิบมาจากที่ปลูกเองในบริเวณบ้านเรือนและแทน เช่นการปลูกสมุนไพรยาอูเนะหรือว่านหอมแดง ที่เอามาใช้ต้มไข่ให้เกิดสีแดง ซึ่งเป็นอาหารที่สมัยก่อนชาวอาข่ารับประทานกันในขีวิตประจำวัน ชาวอาข่ายังนิยมนำผักสดมาแปรรูปเป็นผักดองเพื่อนำมารับประทานแก้เลี่ยน และถือเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง สามารถรับประทานได้ทั้งเช้า กลางวัน และเย็น อีกทั้งมีการนําหัตถกรรมดั้งเดิมของชนเผ่ามาดัดแปลงเป็นสินค้าให้ทันสมัยเพื่อจําหน่ายเป็นของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว อาทิเช่น กระเป๋า ตะกร้าใส่ของ การปักผ้า เป็นต้น

ชุมชนโดยรวมเป็นคนเมืองที่ใช้ภาษาเหนือ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าใช้ภาษาอาข่าในการสื่อสารเป็นหลัก และมีภาษาไทยที่ใช้ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์


หลังจากการเปลี่ยนแปลงจากภาวะเศรษฐกิจ อาชีพของคนอาข่า ที่มีการถักเสื้อผ้าขายควบคู่กับเกษตร แต่ทางชุมชนต้องลดหรือยุติการขาย เนื่องจากปัจจัยของค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ไม่คุ้มทุน ทำให้คนในชุมชนส่วนมากหันมาทำเกษตรแบบเชิงพาณิชย์แทน และมีบางส่วนได้เข้าไปทำงานในตัวเมืองแพร่ เป็นการหารายได้อีกทาง เนื่องจากการทำเกษตรรายได้ไม่คงที่ทำให้ชาวบ้านต้องหาอาชีพเสริม


เนื่องจากอาข่าหมูบ้านเปาปมดงยาง ที่เป็นชาติพันธุ์อาข่าหรือลาหู่ ทำให้บางส่วนยังคงไม่มีบัตรประชาชนและยังคงไม่ได้สัญชาติไทย มีการต่อสู้เรื่องสัญชาติไทยชุมชนอาข่า คนที่ไม่ได้สัญชาติไทยนั้นตกหล่นเป็นจำนวนมาก แม้จะอยู่บนผืนแผ่นดินไทยมา 30-40 ปี แต่ไร้สัญชาติ


เมื่อ พ.ศ.2536 ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอวังชิ้นได้ส่งครูเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่และได้เริ่มก่อตั้งศูนย์การเรียนขึ้นภายในหมู่บ้านเพื่อสอนหนังสือให้กับเด็ก แล้วก็มีการพัฒนาโรงเรียนมาจนถึงปัจจุบัน มีการผลักดันให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น


กลุ่มชุมชนอาข่า พยายามจะนำภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ตัวเอง มาเป็นการสร้างรายได้ผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยจัดประเพณีหรือกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ประเพณีโล้ชิงช้า วันปีใหม่อาข่า เพื่อสร้างความสนใจกับองค์กรหรือชุมชนภายนอกมาเรียนรู้หรือศึกษาดูงาน


สภาพแวดล้อมชุมชนนั้นค่อนข้างเป็นที่ราบสูง และได้รับประกาศให้เป็นป่าชุมชน มีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ เต็ง รัง พะยอม ยอป่า ผักหวานป่า พลวง รกป่า ตีนนก กระบาก ตะแบก เห็ดถอบ เห็ดไข่ดง เห็ดไข่เหลือง เห็ดลม และเห็ดอื่นๆที่ออกตามฤดูกาล

ชุมชนบ้านเปาปม-ดงยาง ได้จัดตั้งป่าชุมชนขึ้น โดยใช้ชื่อว่าป่าชุมชนบ้านเปาปม - ดงยาง เมื่อปีพ.ศ. 2562 มีเนื้อที่ประมาณ 2621 ไร่ เป็นป่าประเภทป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบ่อแก้ว ป่าแม่สูงและป่าแม่สิน สภาพป่าเป็นป่าเต็งรังพันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ เต็ง รัง พะยอม ยอป่า ผักหวานป่า พลวง รกป่า ตีนนก กระบาก ตะแบก เห็ดถอบ เห็ดไข่ดง เห็ดไข่เหลือง เห็ดลม และเห็ดอื่นๆที่ออกตามฤดูกาล

เมื่อ พ.ศ. 2564 ได้รางวัลชนะเลิศในการประกวดป่าชุมชน ภายใต้โครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ประจำปีพ.ศ. 2566 ในระดับประเทศด้านการพัฒนา และในปีพ.ศ. 2567 ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนระดับภาคเหนือในการประกวดป่าชุมชน ประเภทรางวัลป่าชุมชนระดับประเทศ เพื่อชิงรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และได้รับรางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศ

ชุมชนจัดการท่องเที่ยวรูปแบบผสมผสานระหว่างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อนุรักษ์ธรรมชาติ และวัฒนธรรมชาติพันธุ์ โดยมีโปรแกรมท่องเที่ยว“เสน่ห์ผืนป่าและวิถีชุมชน”เปาปมดงยาง” ใช้เวลา 2 วัน 1 คืน

วันที่ 1

เวลา 13.00 น.  เดินทางถึงศูนย์การเรียนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง ชุมชนอาข่าดงยาง

                       (ชุมชนชนเผ่าอาข่า ที่ยังคงวิถีชีวิต และประเพณีในชุมชน)

-            ประเพณีต้อนรับตามวิถีชนเผ่าอาข่า

-            แต่งชุดอาข่าโล้ชิงช้าตามประเพณี”โล้ชิงช้า”

-            กิจกรรม”ตำข้าวปุ๊” ต้มไข่แดง(ยาอูเน๊ะ)

-            เยี่ยมชมวิถีชีวิตชนเผ่าอาข่าบริเวณชุมชนตามอัธยาศัย

เวลา 17.00 น. เข้าที่พัก (กางเต้นท์) บริเวณ สวนทุเรียน”พร้อมเพียง” และทำภารกิจส่วนตัว

เวลา 18.30 น. อาหารเย็น(ล้อมวงลงสะโตก) รับประทานอาหารพื้นบ้าน

เวลา 19.00 น.  ชมการแสดงของชนเผ่าอาข่า และกิจกรรมรอบกองไฟ (เผามัน, ย่างข้าวโพด)

เวลา 21.30 น.  เข้าที่พัก นอนกินลมชมดาวเคล้าสายลมหนาวบริเวณสวนทุเรียนพร้อมเพียง

 

วันที่ 2

เวลา 06.00 น. ตื่นนอนภารกิจส่วนตัว จากนั้นจิ๊บกาแฟ(“กาแฟตาชู”สดๆจากไร่) พร้อมกับข้าวจี่ ข้าวปุ๊

                      (ขนมชนเผ่าอาข่า) ร้อนๆ ยามเช้า พร้อมชมพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณโผล่จากเหลี่ยมเขา

เวลา 07.00 น.  รับประทานอาหารเช้า

เวลา 08.00 น. ไปไหว้พระขอพร ณ วัดดงยาง

เวลา 09.00 น. เดินทางเข้าชมธรรมชาติสูดโอโซน บรรยากาศ ป่าชุมชนที่ได้รับรางวัลระดับประเทศ

                      พร้อมกิจกรรมยิงโก๋งปลูกป่า

เวลา 10.30 น. เดินทางไปชมวิถีชีวิตชุมชนไทใหญ่ (ชุมชนที่เคยมีอาชีพทำเหมืองพลอยไพลิน)

เวลา 12.00 น. รับประทานอาหารชาติพันธ์ไทใหญ่ และชมการแสดง (ฟ้อนโต,ฟ้อนดาบ)

เวลา 13.30 น.  เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ

ข้อมูลสารสนเทศ กรมป่าไม้. (มปป). ป่าชุมชนบ้านเปาปม - ดงยาง. สืบค้น 10 สิงหาคม 2567, จาก https://forestinfo.forest.go.th/fCom_detail.aspx?id=8062

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (2542). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดแพร่. กรุงเทพฯ: กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกรมศิลปากร.

คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนป่าชุมชนบ้านเปาปมดงยาง หมู่ที่ 7 ตำบลนาพูน อำเภอวังชิ้ จังหวัดแพร่. (2567). การประกวดป่าชุมชนดีเด่นประจำปี 2567 ประเภทป่าชุมชนระดับประเทศ โครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน”.

พิรัชพร สมุทรเพ็ชร. (2566). บทบาทของผู้หญิงอาข่าและการต่อรองทางเพศภาวะในพื้นที่เศรษฐกิจ: กรณีศึกษาหมู่บ้านเปาปม-ดงยาง ตำบลนาพูน อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ . ปริญญานิพนธ์บัณฑิต). มหาวิทยาลัยนเศวร.

ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง”. (ม.ป.ป.)บ้านดงยางอาข่า. เข้าถึงเมื่อ 24 มกราคม 2566, จาก https://www.xn--b3c3da.com/home/pdf/village/582/

ศศช.บ้านดงยางอาข่า (การจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูงบ้านดงยางอาข่า). (ม.ป.ป.). แนะนำหน่วยงานhttps://sites.google.com/dei.ac.th/nuttapongdongyang/home

สุชัญญา รักบำรุง, และ ทรงชัย ทองปาน. (2563). วัฒนธรรมการบริโภคอาหารพื้นบ้านกับความ มั่นคง ด้านสุขภาพของ กลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบ้าน ผาหมีอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย. (ศิลปศาสตรบัณฑิต),มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปทุมธานี.

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร(รายเดือน), สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (มิถุนายน 2567).

จำนวนประชากรและจำนวนหลังคาเรือนตำบลนาพูน อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่. เข้าถึงเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2567, จาก https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statMONTH/statmonth/#/mainpage

Amazing Thailand. (ม.ป.ป.). ม่อนเสาหินพิศวง (ม่อนหินกอง). เข้าถึงเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2567, จาก https://thai.tourismthailand.org/Attraction/%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%A7%E0%B8%87-%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87

CLOVER. (2564). โครงการป่าชุมชนเปาปมดงยาง อ.วังชิ้น จ.แพร่ สานต่อและงอกงาม. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2567, จาก https://shorturl.asia/fUKrG

อบต.นาพูน โทร. 05 406 9645