Advance search

บ้านหมากขาม

ชุมชนพหุวัฒนธรรมไทย มอญ และจีน ที่ก่อตั้งตั้งแต่สมัยอยุธยา มีวัดมะขามเป็นสถานที่ศูนย์รวมของชุมชนและยังรักษาการสวดมนต์แบบมอญที่นับวันจะหายากขึ้น

หมู่ที่ 3
มะขาม
บ้านกลาง
เมืองปทุมธานี
ปทุมธานี
ทต.บ้านกลาง โทร. 0 2567 3488-9
กัญญารัตน์ ประภัย
25 ก.ย. 2024
กมเลศ โพธิกนิษฐ
4 ต.ค. 2024
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
23 ธ.ค. 2024
บ้านมะขาม
บ้านหมากขาม

มาจากชื่อของต้นหมากขาม ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองที่มีความสำคัญในท้องถิ่น 


ชุมชนพหุวัฒนธรรมไทย มอญ และจีน ที่ก่อตั้งตั้งแต่สมัยอยุธยา มีวัดมะขามเป็นสถานที่ศูนย์รวมของชุมชนและยังรักษาการสวดมนต์แบบมอญที่นับวันจะหายากขึ้น

มะขาม
หมู่ที่ 3
บ้านกลาง
เมืองปทุมธานี
ปทุมธานี
12000
14.0103
100.5640
เทศบาลตำบลบ้านกลาง

ชุมชนบ้านมะขามหรือหมากขาม ในเขตเทศบาลตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เป็นหนึ่งในชุมชนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงอัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ 3 ชาติพันธุ์ที่สำคัญอันมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน ได้แก่ ไทย มอญ และจีน โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ บันทึก และมุขปาฐก ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ตั้งอยู่ ณ ปากคลองเชียงรากหรือคลองแม่น้ำอ้อมในปัจจุบัน ซึ่งเดิมคือแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมที่ตื้นเขินเนื่องจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาหรือคลองลัดเตร็ดใหญ่ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศไป ซึ่งในปัจจุบันคือแม่น้ำเจ้าพระยาสายหลักซึ่งมีลำน้ำตรงเหมาะสมแก่การเดินเรือและการคมนาคมทางน้ำ ประชาชนในชุมชนทั้งสองนี้มีเชื้อสายไทย มอญ และจีน ซึ่งสำหรับคนไทยนั้นเป็นคนในพื้นเพเดิมในพื้นที่ ประกอบกับมีการกระจายตัวของชาวมอญใหญ่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ชาวมอญได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้ามาตั้งรกรากสร้างบ้านเรือนในเมืองสามโคกในขณะนั้น ซึ่งเรียกชาวมอญกลุ่มนี้ว่า "มอญเก่า"

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีการอพยพของชาวมอญครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้ง และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ "มอญใหม่" สร้างบ้านเรือนและลงหลักปักฐานในเมืองสามโคก อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเป็น "เมืองประทุมธานี" ซึ่งในการต่อมาได้มีการเปลี่ยนเป็นจังหวัดปทุมธานีในปัจจุบัน ซึ่งชาวมอญอพยพหนีภัยสงครามในครานั้นที่ตั้งรกรากในบริเวณบ้านหมากขาม และบ้านหมากม่วง ในปัจจุบัน เป็นชุมชนต้นทางของชาวมอญอพยพในประเทศไทยอีก 2 ชุมชน ได้แก่ กวานแหม่งโกล่น หรือ บ้านมะขาม ตำบลคุ้งพะยอม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และ กวานแหม่งโกล่น หรือ บ้านมะขาม ตำบลท่าจีน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาครโดยทั้ง 3 พื้นที่ ใช้ชื่อชุมชนเหมือนกัน คือ กวานแหม่งโกล่น หรือบ้านมะขาม สันนิษฐานว่าใช้ชื่อตามถิ่นฐานเดิม หมู่บ้านชาวมอญเมืองรี (เย) รัฐมอญ ในพม่าเมื่อหลายร้อยปีก่อน

โดยทั้ง 3 ชุมชนมอญมีความสัมพันธ์แบบเครือญาติกันอีกด้วย เหตุเพราะมีการแบ่งครัวมอญจากบริเวณชุมชนบ้านหมากขาม และบ้านหมากม่วง ไปสร้างป้อมปราการ ณ นครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 และแบ่งครัวมอญจากนครเขื่อนขันธ์ไปยังสาครบุรี(สมุทรสาคร) เพื่อดูแลป้อมที่ปากน้ำท่าจีน ซึ่งเป็นชาวมอญกลุ่มเดียวกันและยังมีความทรงจำในถิ่นฐานเดิมและสะท้อนผ่านการตั้งชื่อและหลักฐานทางวัฒนธรรม ส่งต่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและทรัพยากรทางวัฒนธรรม ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้อันสะท้อนอัตลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายมอญ ที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องยาวนานทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ภาษา วัฒนธรรมประเพณีที่เห็นได้ชัดเจนกว่าชุมชนอื่น (กรมศิลปากร, 2542) อันจะมีวัฒนธรรมประเพณีมอญที่สืบทอดกันมายาวนาน เช่น ประเพณีเปิงสงกรานต์ประเพณีมอญคั่ง ประเพณีเข้าผีชาวมอญ ประเพณีตักบาตรพระร้อย การแข่งขันเรือยาวประเพณี และการละเล่นของมอญอีกหลายชนิด เช่น ทะแยมอญ สะบ้า มอญรา และอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์สำคัญทางวัฒนธรรมของจังหวัดปทุมธานีอีกด้วย ประกอบกับมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมสำคัญของชุมชนบ้านหมากขาม และบ้านหมากม่วงตั้งแต่สมัยอยุธยาที่มีคนจีนเข้ามาตั้งรกรากและทำการค้าในชุมชนนี้ ด้วยลักษณะทางกายภาพที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสายเดิมและสายใหม่ ซึ่งเอื้อต่อการทำการค้า รวมไปถึงชุมชนดั้งเดิมซึ่งเป็นคนไทยและมอญเก่าสมัยพระนารายณ์ หลอมรวมเป็นชุมชนที่ความผสมผสานของทั้ง 3 ชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายแต่กลมกลืนอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีทรัพยากรวัฒนธรรมกระจายอยู่ในพื้นที่ชุมชน หลังจากที่ได้สำรวจพื้นที่ทั้งสองชุมชนเพื่อจัดทำแผนที่ชุมชน (Social Map) สามารถแสดงตำแหน่งที่ตั้งของทรัพยากรวัฒนธรรมชุมชนได้ดังแผนที่ต่อไปนี้ 

สำหรับทั้งสองชุมชนที่เป็นพื้นที่ศึกษาเปรียบเสมือนหัวใจของเทศบาลตำบลไตรรัฐ เนื่องจากมีพื้นที่อยู่ตรงกลางของเขตเทศบาลอันเป็นแหล่งที่ตั้งของวัดที่สำคัญของชุมชน 2 วัดได้แก่ วัดมะขามและวัดศาลเจ้า โดยวัดมะขาม เป็นวัดสำคัญสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2170 ด้วยศรัทธาเลื่อมใสของชาวมอญอพยพ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ระบุสอดคล้องกับประวัติการอพยพของชาวมอญที่เข้ามาในราชอาณาจักรหลายคราว โดยคาดว่าชาวมอญเหล่านั้นตั้งชื่อวัดและชุมชนตามชุมชนเดิมในประเทศพม่า ด้วยความที่มีอุปนิสัยรักสงบ ยึดมั่นในระเบียบประเพณีอย่างเคร่งครัดและนับถือเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นหลัก และมีความเชื่อที่ว่าหากเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากิน ณ ที่ใดแล้ว จะร่วมกันสร้างวัดในชุมชนนั้น ๆ เพื่อเป็นพุทธบูชาและที่ยึดเหนี่ยวจิตใจตลอดจนเป็นการแสดงความกตัญญูต่อแผ่นดินที่ได้อาศัยพระบรมโพธิสมภารอีกนัยหนึ่งด้วย 

แต่เดิมวัดมะขามในจะอยู่ถัดเข้าไปในแผ่นดินจากเขตพัทธสีมาวัดมะขามในปัจจุบัน เมื่อชาวมอญอพยพเข้ามาในพื้นที่ มีจำนวนประชากรมากขึ้น จึงได้สร้างวัดมะขามนอก ในพื้นที่ดินดอนสามแยกปากคลองเชียงรากติดต่อกับวัดมะขามในจนมีอาณาเขตติดกับลำน้ำเจ้าพระยา ต่อมาวัดมะขามในที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาได้ทรุดโทรมลง จึงได้ยุบรวมกับวัดมะขามนอก ในอดีตรวมเรียกวัดมะขามในและนอกว่าวัดมะขามเหนือ ทั้งนี้เพราะถัดลงไปทางใต้เมืองเก่า (ปทุมธานีเดิม) ตรงข้ามปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ มีวัดมะขามอีกวัดหนึ่งเรียกว่าวัดมะขามใต้ แต่ได้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร และเปลี่ยนนามเป็นวัดชินวราราม จึงทำให้วัดมะขามเหนือเป็นวัดมะขามเพียงวัดเดียวจึงกร่อนคำว่าเหนือออกไป เป็นวัดมะขามในจวบจนปัจจุบัน วัดมะขามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2172 สันนิษฐานว่าเสนาสนะต่าง ๆ อาทิ พระอุโบสถ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตลอดจนจิตรกรรมบนเพดานศาลาการเปรียญ หอเจริญพระพุทธมนต์และหอฉัน เป็นศิลปะสมัยอยุธยาจนถึงช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์และยังปรากฏหลักฐานอันเป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญผู้มีความสำคัญต่ออัตลักษณ์ชุมชน อาทิ เสาหงส์ ธงตะขาบตั้งอยู่ภายในวัดผสมผสานกับศิลปะไทยอย่างกลมกลืนอีกด้วย

ลักษณะทางกายภาพ 

ชุมชนบ้านหมากขาม และชุมชนบ้านหมากม่วง คือ หมู่ที่ 3 และ 4 ของตำบลไตรรัฐ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี มีพิกัดอาณาเขตอยู่บริเวณปากคลองเชียงรากค่อนไปทางทิศเหนือ เป็นพื้นที่ราบลุ่มติดแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตร โดยมีคลองบ้านหมากม่วง เป็นเส้นกั้นเขตระหว่างชุมชน บริเวณนี้เป็นชุมชนที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างคลองเชียงรากซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าที่มีความคดเคี้ยว มาบรรจบกับคลองขุดสมัยพระเจ้าทรงธรรม ราวปี พ.ศ. 2163-2171 ซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายปัจจุบัน การขุดคลองนั้นก็เพื่อย่นระยะทางการเดินเรือในลำน้ำเจ้าพระยาเดิม ส่งผลให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง แม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมจึงตื้นเขินและกลายเป็นแม่น้ำอ้อมในปัจจุบัน โดยมีระยะทางของคลองขุดรวม 5 กิโลเมตร เริ่มต้นจากบริเวณหน้าวัดไก่เตี้ย ตำบลกระแชง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี จนถึงบริเวณหน้าวัดศาลเจ้า ชุมชนบ้านหมากขามตำบลไตรรัฐ ภูมิประเทศจึงเป็นเกาะหรือเตร็ดกลางแม่น้ำ ลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก มีคลองธรรมชาติไหลผ่านหลายสายจึงเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและตั้งบ้านเรือน รวมไปถึงการคมนาคมและการค้าทางน้ำอีกด้วยตำบลไตรรัฐ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองปทุมธานี เป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ห่างจากเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ประมาณ 25 กิโลเมตร ระยะห่างจากเทศบาลนครปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ประมาณ 11 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 6.88 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,302 ไร่ และได้รับการยกระดับจากองค์การบริหารส่วนตำบลไตรรัฐ เป็นเทศบาลตำบลไตรรัฐ ในปี พ.ศ. 2555 โดยมีพื้นที่อาณาเขตติดกับพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบ้านกระแชง ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบางกะดี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ คลองบางหลวง-เชียงราก ตำบลบางพูน อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามเป็นตำบลบางปรอก หรือเทศบาลเมืองปทุมธานี

วัดมะขามนับเป็นวัดใหญ่กลางชุมชนซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในชุมชน และมีสถานที่กว้างขวางเพียงพอในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชุมชน เช่น การแข่งเรือยาวประเพณี ตักบาตรพระร้อย เป็นต้น และยังเป็นสถานที่ในการประชุมหมู่บ้านในครั้งที่ต้องการระดมมวลชนเพื่อจัดกิจกรรม หรือในพิธีสำคัญทางศาสนาก็จะเป็นกระบอกเสียงในการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพทางหนึ่ง นอกเหนือจากพันธกิจทางศาสนาแล้ววัดมะขามยังมีส่วนในการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมมวลรวมต่าง ๆ อาทิ มูลนิธิวัดมะขาม ซึ่งก่อตั้งขึ้นภายหลังสืบเนื่องจากวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จมายังวัดมะขามเป็นการส่วนพระองค์ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์แก่ทางวัดเป็นมูลค่า 16,370 บาท ซึ่งทางวัดได้ตั้งเป็นมูลนิธิไว้เพื่อรองรับการดำเนินการต่าง ๆ อาทิ การจัดโครงการรับบริจาคโลหิตแก่เหล่ากาชาดจังหวัดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตลอดจนบริเวณวัดมีความกว้างขวางสามารถรองรับประชาชนจำนวนมากได้ จึงใช้เป็นสถานที่จัดงานต่าง ๆ เช่น เป็นสถานที่เลือกตั้งทั่วไป เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจให้อาหารปลาและปล่อยปลาริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น ทั้งนี้การสืบทอดพระพุทธศาสนาของวัดมะขามมีความพยายามในการสงวนรักษาการสวดมนต์แบบมอญที่มีแนวโน้มจะสูญหายไปจากชุมชนและประเทศชาติ นอกจากนี้วัดมะขามยังได้ดูแลปรกวัดมะขาม อันเคยเป็นที่ปลงอาบัติของสงฆ์ซึ่งมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานพร้อม ๆ กับการสร้างวัดมะขาม ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือสวนสาธารณะได้ในอนาคต 

นอกจากวัดมะขามแล้ว วัดศาลเจ้าซึ่งอยู่ในชุมชนนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ของจังหวัดปทุมธานีและเป็นแหล่งเศรษฐกิจชุมชนที่สำคัญ โดยมีตลาดริมน้ำวัดศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงในหมู่นักท่องเที่ยวตั้งอยู่ในบริเวณวัด จากการสันนิษฐานและคำบอกเล่าของชาวบ้าน วัดศาลเจ้าน่าจะสร้างขึ้นราวปีพุทธศักราช 2330 และมีชื่อว่าวัดศาลเจ้าเพราะตั้งอยู่ปากคลองศาลเจ้า แต่บางตำนานได้กล่าวไว้ว่า วัดศาลเจ้าไม่ได้หมายความถึงศาลเจ้าจีนดังที่เข้าใจกันมา แต่หากเป็นการสร้างวัดศาลเจ้าที่น่าจะมีความเป็นมาตั้งแต่ช่วงยุคสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา คาดว่ามีดำริให้สร้างโดยเจ้าน้อยมหาพรหม บุตรเจ้าเมืองฝ่ายเหนือ ที่เลื่อมใสในวิชาอาคมของพระภิกษุเชื้อสายรามัญนามว่าพระอาจารย์รุ ณ วัดมะขาม จึงขอสร้างวัดและศาลขึ้นตามความศรัทธาและความตั้งใจ ต่อมาจึงได้ตั้งชื่อวัดว่า วัดศาลเจ้า ซึ่งมีที่มาจาก ศาลที่สร้างขึ้นโดยเจ้า ในปัจจุบันพื้นที่ริมน้ำวัดศาลเจ้าได้มีการพัฒนาเป็นตลาดริมน้ำที่มีอาหารและข้าวของจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวที่ไม่ไกลกรุงเทพฯ มากนัก จึงทำให้เป็นกระแสนิยมอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยมีประชาชนในชุมชนออกร้านหรือมาเป็นลูกจ้างในตลาดอยู่จำนวนมาก อาหารที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวนาทองสุก ขนมกุ้ยช่าย ห่อหมกปลาช่อน และอาหารท้องถิ่นนานาชนิด รวมไปถึงวิหารเซียนแปะที่มีที่ตั้งอยู่ระหว่างวัดมะขามและวัดศาลเจ้า ก็ได้รับความนิยมจากสาธุชนที่แวะเวียนมาขอพรและโชคลาภอย่างไม่ขาดสาย นอกจากนี้ในช่วงหลังเทศกาลตรุษจีน จะมีเทศกาลฉลองเจ้าพ่อวัดศาลเจ้าที่จะแสดงให้เห็นวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนในชุมชน ภายในงานจะมีอุปรากรจีนหรืองิ้ว จัดแสดงทุกปีเพื่อเป็นการแสดงความเคารพแด่เหล่าเทพเทวา สิ่งศักดิ์สิทธิ์และเหล่าบรรพชนในชุมชน ด้วยอัตลักษณ์และความเป็นมาอันยาวนานอันมีความสำคัญยิ่งดังกล่าวจึงทำให้สถาบันทางศาสนาในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดสำคัญทั้งสองวัดเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้างว่าเป็นวัดสำคัญในจังหวัดปทุมธานีที่มีชื่อเสียงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน 

จากการสำรวจแผนที่ชุมชน (Social Mapping) ประกอบการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกพบว่านอกเหนือจากวัดสำคัญทั้ง 2 วัดในพื้นที่ชุมชนทั้งสองแล้ว จากการสังเกตและลงพื้นที่ชุมชนพบว่ายังมีความน่าสนใจในทรัพยากรวัฒนธรรมของชุมชนอีกเป็นจำนวนมาก โดยสามารถอธิบายจากตำแหน่งที่ระบุในแผนที่ชุมชนได้ดังต่อไปนี้ 

ดงตาลในบริเวณที่ว่างอันเป็นพื้นที่นาหรือที่ราบลุ่มที่ลึกเข้าไปกลางเกาะ หรือถัดเข้าไปในแผ่นดิน หลังแนวบ้านเรือนที่อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำและถนน จะเป็นแนวของดงตาลที่ขึ้นตามธรรมชาติถึงแม้ว่าจะลดจำนวนลงไปก็ตาม แต่ว่าต้นตาลก็ยังนับเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชุมชน และครั้งหนึ่งลอนตาลและขนมตาลก็ได้รับยกย่องให้เป็นของดีของชุมชน ตลอดจนเป็นของดีจังหวัดปทุมธานีอีกด้วย ในอดีตอาชีพขึ้นตาลนับเป็นอีกอาชีพดั้งเดิมของคนในชุมชน นอกจากนี้ในยามที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชุมชน อาทิ การเล่นเข้าผีชาวมอญ หากผีบางชนิดเข้า เช่น ผีลิงลม จะสร้างความตื่นเต้นให้กับประชาชนเมื่อคนที่โดนผีเข้าปีนขึ้นต้นตาล เป็นต้น  

นาบัวยายหยี เป็นนาบัวหลวงเพียงแห่งเดียวที่หลงเหลืออยู่ในชุมชนและเป็นบัวหลวงพันธุ์พื้นเมืองอายุกว่าสองร้อยปี สอดคล้องกับที่มาของชื่อจังหวัดปทุมธานี ที่ถูกบันทึกว่ามีบรรพบุรุษชาวไทยเชื้อสายมอญได้ถวายดอกบัวหลวงแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในครานั้น ซึ่งในปัจจุบันคุณยายหยียังคงใช้ประโยชน์จากนาบัวแห่งนี้ ทั้งเก็บดอก เก็บฝัก เพื่อจำหน่าย หรือแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้านอยู่เป็นนิจ จุดเด่นของบัวพันธุ์พื้นเมืองคือความอดทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้เป็นอย่างดี ทั้งหน้าแล้ง หรือประสบปัญหาอุทกภัยเป็นเวลาหลายเดือนก็ยังสามารถรักษาพันธุ์และแตกเหง้าได้ตามธรรมชาติและไม่ได้ใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีแต่อย่างใดและยังออกดอกสะพรั่งให้เห็นอย่างงดงามจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนาบัวหลวงแห่งนี้อยู่บริเวณปากซอยบ้านกลาง 3/3 หรือซอยคนรวยลานสะตือ ตั้งอยู่กลางชุมชนบ้านหมากม่วง มีจุดเด่นคือต้นสะตือขนาดใหญ่หลายคนโอบหยั่งรากฝากใบกว่าร้อยปี และมักเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมของคนในชุมชนหรือการประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรม อาทิ ทำบุญกลางบ้านหมากม่วง  

บ้านมอญริมน้ำ เกิดจากความนิยมของประชาชนเชื้อสายมอญที่มักปลูกสร้างบ้านเรือนเรียงรายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ โดยมีลักษณะเฉพาะคือ หันเรือนให้ด้านที่มีห้องเสาผีไปทางทิศตะวันออก และมีลักษณะการตั้งเรือนขวางลำน้ำ ซึ่งมีหลงเหลือให้เห็นหลายหลังภายในชุมชน นอกจากนี้แต่ละบ้านยังนิยมปลูกต้นไม้ท้องถิ่นที่ทนน้ำเป็นรั้วบ้าน เช่น โมก ข่อย ต่อกันไปเป็นแนวยาวและต่อไปยังละแวกบ้านใกล้เคียง ยังหลงเหลือให้เห็นรั้วต้นไม้แบบดั้งเดิมที่ยังมีความสมบูรณ์ยาวเกือบ 200 เมตร และมีแนวรั้วต้นไม้หนาถึง 2 เมตร ในบริเวณรอยต่อระหว่างบ้านหมากขามและบ้านหมากม่วง ซึ่งจากคำบอกเล่าของเจ้าของบ้าน ประมาณการอายุได้กว่าร้อยปีโดยนิยมตัดแต่งให้สวยงามอยู่เสมอ ซึ่งดูแลต่อ ๆ กันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และสามารถพบรั้วต้นไม้ลักษณะนี้ได้เป็นช่วง ๆ ตลอดทางเดินเลียบริมน้ำในชุมชนตั้งแต่วัดมะขามจนสุดชุมชนบ้านหมากม่วง เป็นระยะทางรวมกว่า 1 กิโลเมตร และในแต่ละบ้านมักจะมีต้นมะตาด หรือมักเรียกกันว่าแอปเปิลมอญปลูกอยู่ ซึ่งตามความเชื่อและข้อสันนิษฐานนั้น ไม้ยืนต้นชนิดนี้น่าจะมีที่มาพร้อมกับการอพยพของบรรพบุรุษที่ติดผลมาจากเมืองมอญในการเดินทาง โดยน่าจะมีต้นกำเนิดจากป่าทางประเทศพม่า มักใช้ผลแกงส้มกับกุ้งแม่น้ำโขลก เนื้อมีรสชาติเปรี้ยวและเป็นเมือกลื่น "แกงมะตาด" จึงเป็นหนึ่งเป็นเอกลักษณ์แห่งสำรับอาหารชาวไทยเชื้อสายมอญในชุมชนมาช้านานซึ่งทรัพยากรวัฒนธรรมตามแผนที่ชุมชนที่ประมวลมานี้ มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชุมชนบ้านหมากขาม และบ้านหมากม่วง ซึ่งในกลุ่มบ้านเรือนจะมีลักษณะเป็นชุมชนที่เรียงรายติดกันริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะไม่มีพื้นที่บริเวณบ้านมากนัก รวมไปถึงแผ่นดิน (ที่ดิน) ก็จะมีน้อยเพราะเสาบ้านนั้นอยู่ในแม่น้ำน้ำเจ้าพระยาเป็นต้น ดังนั้นพื้นที่ส่วนรวมในการทำกิจกรรมก็จะเป็นลานกว้างของหมู่บ้านหรือพื้นที่ของวัดเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยจำนวนครัวเรือนที่ไม่มากนัก สถานที่จึงเพียงพอต่อกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชุมชน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมหลังเกิดอุทกภัยในแต่ละปีด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้ลานกว้างมีน้ำขังจนไม่สามารถทำกิจกรรมได้ ซึ่งในส่วนของการทำกิจกรรมทางวัฒนธรรม ต้องปรึกษาและวางแผนการจัดการในลำดับต่อไป เพราะลานกว้างส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของเอกชน หรือมีเจ้าของ ซึ่งถ้าเป็นของชาวบ้านในชุมชน จะยินดีให้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีเงื่อนไข 

บ้านหมากขามมีชาติพันธุ์หลัก ได้แก่ ไทย มอญ และจีน 

จีน, มอญ
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กิจกรรมทางวัฒนธรรมชุมชนที่สำคัญ 

ดังที่กล่าวในเบื้องต้นรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชุมชนบ้านหมากขาม และบ้านหมากม่วง มีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมไทย มอญ และจีน ในการดำรงชีวิตจึงแฝงไปด้วยความเชื่อจากบรรพบุรุษที่มีความผสมผสานหลากหลายชาติพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งในแต่ละครัวเรือนอาจจะมีการผสมผสานที่ต่างกันอาทิ บางบ้านอาจจะมีทั้ง 3 วัฒนธรรม เป็นเชื้อสายของบรรพบุรุษก็เป็นได้ ดังนั้น พิธีกรรมต่าง ๆ ก็จะต้องอาศัยความเชื่อของทั้ง 3 วัฒนธรรมด้วย เป็นต้น นอกเหนือจากความเชื่อของแต่ละครัวเรือนแล้ว ชุมชนบ้านหมากขาม และชุมชนบ้านหมากม่วง ยังมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมอันเป็นทรัพยากรวัฒนธรรมที่สำคัญ ได้แก่

ประเพณีตักบาตรพระร้อย 

เป็นหนึ่งในประเพณีสำคัญของชาวจังหวัดปทุมธานีซึ่งมีความพิเศษกว่าการตักบาตรเทโวในช่วงออกพรรษาของท้องถิ่นอื่น ๆ ด้วยลักษณะทางกายภาพที่มีแม่น้ำเจ้าพระยา (รวมไปถึงคลองลัด) ตัดผ่านและมีคูคลองธรรมชาติจำนวนมาก รวมไปถึงวัดสำคัญหลายแห่งมีบริเวณติดกับแม่น้ำและคูคลอง จึงทำให้เกิดการตักบาตรทางเรือหรือเรียกว่าประเพณีตักบาตรพระร้อยขึ้นโดยมีความเป็นมากว่า 100 ปี โดยมีความสำคัญและเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประเพณีหนึ่งของชาวจังหวัดปทุมธานี ด้วยเหตุผล 3 ประการสำคัญคือ เพื่อเป็นการต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนมั่นคงสืบไป ประการที่สองคือเพื่อแสดงมุทิตาจิต และแสดงความยินดีที่ลูกหลานของครอบครัวได้บวชเรียนครบพรรษา ไม่ลาเพศสมณะ หรือสึกมาเป็นฆราวาสระหว่างพรรษา กล่าวคือไม่แหกพรรษานั่นเองรวมไปถึงการฉลองให้พระภิกษุเก่าที่มีพรรษาเพิ่มขึ้นอีกนัยหนึ่งด้วย และประการสุดท้ายคือ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้กับสถาบันครอบครัวของชุมชน ที่นับเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่มีการรวมญาติ ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันและทำบุญตักบาตรร่วมกันในวันสำคัญทางศาสนา 

การตักบาตรพระร้อยจะกระทำกันในช่วงออกพรรษาและวัดในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับแหล่งน้ำจะแบ่งเจ้าภาพในแต่ละวันไม่ให้ตรงกัน สำหรับชุมชนบ้านหมากขาม และบ้านหมากม่วง มีวัดสำคัญได้แก่วัดมะขามและวัดศาลเจ้า เป็นวัดแรกในเทศกาลตักบาตรพระร้อยของจังหวัดปทุมธานีซึ่งตรงกับ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ขบวนเรือพระสงฆ์จากวัดเจ้าภาพและวัดอื่น ๆ ใกล้เคียงจะตั้งต้น ณ ท่าน้ำวัดมะขาม และค่อย ๆ ไหลเรือขึ้นไปทางทิศเหนือตามริมฝั่งแม่น้ำจากหมู่ 3 คือบ้านหมากขาม จนสุดตลิ่งบ้านหมากม่วง รวมระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ประชาชนจะเตรียมอาหารคาวหวานและปัจจัยไว้รอที่ท่าน้ำ หรือบ้านใดไม่มีท่าน้ำก็จะอาศัยนอกชานเพื่อนบ้านหรือท่าน้ำชุมชนเพื่อร่วมกิจกรรมนี้ โดยจะมีพระสงฆ์กว่าร้อยรูปมารับบาตร กิจกรรมจะเริ่มประมาณ 7.30 - 10.00 น. ซึ่งหลังจากตักบาตรแล้ว ประชาชนจะแวะเวียนกันไปตามละแวกบ้านเพื่อส่งอาหารคาวหวานให้เพื่อนบ้านเป็นการแบ่งปันกันเป็นนิจ หลังจากนั้นในช่วงบ่ายประชาชนก็จะพากันมาปิดทองไหว้พระพระประธานในโบสถ์เก่าสมัยอยุธยาของวัดมะขามอีกด้วย ซึ่งมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมหรือประเพณีที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่สำคัญอันสืบเนื่องมาจากวันออกพรรษาและสอดคล้องกับปริบทลักษณะทางกายภาพที่สำคัญอื่น ๆ อีก อาทิ ประเพณีมอญคั่ง ที่แปลว่าชาวไทยเชื้อสายมอญที่ออกมาลอยเรือในแม่น้ำกันอย่างคับคั่ง เพลงเรือ รำภาข้าวสาร ตลอดจนการค้าขายทางเรือ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่พบได้ในทั้งสองชุมชนนี้ นอกเหนือจากจะเป็นประเพณีดั้งเดิมของชุมชนแล้ว ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากเจ้าฟ้าในราชวงศ์จักรีจากเหตุการณ์ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2542 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตักบาตรแด่พระครูสิริปัญญาโสภณ เจ้าอาวาสวัดมะขามในขณะนั้น ณ ตำหนักสวนปทุม จังหวัดปทุมธานี นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สนับสนุนให้ประเพณีนี้ควรค่าแก่การสืบสานในกาลต่อไป 

การแข่งขันเรือยาวประเพณี 

เนื่องด้วยลำน้ำบริเวณหน้าวัดมะขาม ซึ่งเป็นพื้นที่ของชุมชนบ้านหมากขาม และบ้านหมากม่วง เป็นลำน้ำที่มีความกว้างขวางและมีลักษณะเป็นเส้นตรงเนื่องจากเป็นคลองขุดลัดแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าที่คดเคี้ยวมาก่อน จึงเอื้อต่อการจัดกิจกรรมกีฬาทางน้ำต่าง ๆ ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านและวิถีชีวิตที่ต้องใช้เรือในการดำรงชีพ ประชาชนของทั้งสองชุมชนจึงมีความชำนาญในการต่อเรือ และใช้เรือเป็นพาหนะ ซึ่งในช่วงหน้าน้ำ ก็จะนำเรือลงเพื่อสัญจร ประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชุมชน ตลอดจนกีฬาทางน้ำ เช่น เรือยาว ในอดีตวัดมะขามและวัดศาลเจ้าจะสนับสนุนที่เก็บเรือยาวและเอื้อเฟื้อสถานที่เพื่อการฝึกซ้อมฝีพาย ซึ่งประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพศชายทุกวัย จะมีโอกาสได้เป็นฝีพาย เริ่มต้นจากการแข่งขันกันในชุมชนและตำบลใกล้เคียงในอดีต เป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ส่งเสริมสุขภาพและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไปและสร้างความสามัคคีกันในชุมชนได้เป็นอย่างดี ประชาชนจะพาลูกหลานออกมาริมนอกชานบ้านเพื่อชมฝีพายฝึกซ้อมกันในช่วงเย็นถึงพลบค่ำในฤดูแข่งเรือ ซึ่งตรงกับช่วงออกพรรษาของทุกปีปัจจุบันใช้วันแม่แห่งชาติเป็นวันแข่งขัน โดยจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป การแข่งขันเรือยาวประเพณีในปัจจุบันจะใช้ฝีพายจากภายนอกทั้งสิ้นและมีเรือยาวร่วมแข่งขันจากทั่วประเทศ และเป็นสนามแข่งเรือยาวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ 

ประเพณีเข้าผีชาวมอญ 

บ้านหมากม่วง หรือบ้านท่าควาย ในเขตเทศบาลตำบลไตรรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานีมีการละเล่นของชาวไทยเชื้อสายมอญอยู่ชนิดหนึ่งเป็นประเพณีสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณคือ การเล่นเข้าผี ซึ่งสันนิษฐานว่าสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งที่คนยังไม่มีศาสนา โดยมีความเชื่อถือและเคารพบูชาภูตผีปีศาจ ซึ่งคิดว่าจะช่วยให้พ้นจากภัยอันตราย เมื่อใดที่เกิดการเจ็บป่วยก็คิดว่าภูตผีปีศาจ มาเข้าสิงหรือบันดาลให้เป็นไปเช่นนั้น จึงต้องมีการเอาใจผีและเกิดการบนบานศาลกล่าวกันขึ้น 

การเล่นเข้าผีที่บ้านหมากม่วง นั้นมีหลายชนิด โดยจะเรียกตามอุปกรณ์พื้นบ้านที่ใช้เล่น เช่น ผีกะลา ผีกระด้ง ผีลิง ผีสุ่ม และผีอีจู้ เป็นต้น เนื่องจากผีที่บ้านหมากม่วง ไม่ดุหรือเฮี้ยนมากนักตามคำบอกเล่า จึงเชิญมาสิงสู่เล่นกับคนได้อย่างสนุกสนาน นอกจากนั้นประเพณีการเล่นเข้าผียังถือเป็นการนัดหมายเพื่อรวมญาติพี่น้อง เพื่อเตรียมข้าวของไว้ทำบุญในวันสงกรานต์ เช่น ทำขนมจีน ข้าวเหนียวแดง และกะละแม เป็นต้น ซึ่งต้องใช้คนจำนวนมาก และยังเป็นการสนุกสนานครึกครื้นในหมู่วงศ์ญาติ รวมทั้งเพื่อนบ้านใกล้เคียงตลอดจนเป็นการสร้างความสามัคคีระหว่างกันอีกด้วย 

ในปัจจุบันนี้ ประเพณีการเล่นเข้าผีได้สูญหายไปเกือบหมดแล้ว ชุมชนและจังหวัดได้มีการวางแผนฟื้นฟูการละเล่นและประเพณีเก่า ๆ ขึ้นมา ทั้งนี้ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เกิดความรู้สึกซาบซึ้งและรักท้องถิ่น ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ประเพณีในท้องถิ่น เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดต่อไป ประเพณีการเล่นเข้าผีมักจะเล่นในตอนกลางคืนก่อนเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 15 วัน หรือในบางปีจะจัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์เลยก็มี เวลาจะเล่นเข้าผีต้องมีพิธีการและมีการร้องเพลงเชิญผีให้มาเข้าสิงด้วย พิธีการและเพลงเชิญผีแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ผีกะลา ใช้ผู้หญิงเป็นร่างให้ผีเข้าสิง เรียกว่า "คนเข้าผี" เอาเชือกหรือผ้าขาวม้าผูกเอวให้พี่เลี้ยงคนหนึ่งจะเป็นชายหรือหญิงก็ได้จับปลายเชือกหรือผ้าขาวม้านั้นไว้ ให้คนเข้าผีนั่งยอง ๆ บนกะลาตัวเมีย 2 ใบเอามือเท้าไปข้างหน้าและชี้นิ้วไปข้างหน้าด้วย คนเชิญผีอีกคนหนึ่งต้องเป็นหญิงหม้ายห่มสไบ เอาธูป 3 ดอก และเทียน 1 เล่ม จุดไฟเชิญผี แล้วนำไปปักไว้ข้างลานบ้านทางทิศเหนือ ส่วนคนเข้าผีนั่งบนกะลาตัวเมียอยู่กลางลานบ้าน คนที่ร่วมเล่นทั้งชายและหญิงจะเดินเป็นวงกลมรอบคนเข้าผีแล้วร้องเพลงที่ใช้ทั้งภาษาไทยและภาษามอญ พร้อมปรบมือไปพร้อม ๆ กันจนกว่าผีจะเข้า เป็นต้น 

รำภาข้าวสาร 

คำว่า "รำภา" เป็นภาษาโบราณ พบในเรื่องระเด่นลันได แปลว่า "เที่ยวขอไป" ประเพณีรำภาข้าวสารนี้เป็นประเพณีของคนไทยเชื้อสายมอญจังหวัดปทุมธานีที่มีมาแต่โบราณ มีลักษณะเป็นการลงเรือและลอยเรือไปบอกบุญขอรับบริจาคข้าวสารและสิ่งของเพื่อนำไปทอดกฐินหรือทอดผ้าป่าตามศรัทธา โดยมีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ (พระองค์เจ้าขาว) เป็นผู้ริเริ่ม ดังปรากฏหลักฐานในการเริ่มต้นเองด้วยการคารวะพระองค์ท่าน โดยวรรคแรก ใช้คำร้องดังนี้ เจ้าขาวลาละลอกเอย... 

การรำภาข้าวสารจะทำกันในเวลากลางคืนเดือนหงาย ท้องฟ้าสว่างปราศจากเมฆฝนและเป็นเวลาที่ว่างเว้นจากภาระการงานทั้งมวล ทั้งงานบ้าน งานนา หญิงชายจะชวนกันแต่งกายเรียบร้อย มีผ้าโพกศีรษะกันน้ำค้างยามค่ำกันทุกคน แล้วลงเรือมาด(เรือที่ขุดจากท่อนไม้ทั้งต้น) พายเรือร้องเพลงรำภาข้าวสาร มีเครื่องดนตรีประกอบคือฉิ่ง หรือกลองขนาดเล็กเพื่อให้จังหวะ แม่เพลงร้องเนื้อเพลงนำและทุกคนที่ลงเรือลำเดียวกันจะช่วยกันพายเรือและเป็นลูกคู่ร้องรับพร้อมกันโดยทั่วไปจะพายเรือกันไปในแม่น้ำลำคลอง แวะจอดเรือตามบ้านเรือนริมน้ำทั่วไป ซึ่งบทเพลงที่ร้องจะสื่อสารให้กับชาวบ้านริมฝั่งน้ำทราบถึงวัตถุประสงค์ว่าจะมาขอบริจาคข้าวสาร อาหารแห้งหรือปัจจัยเพื่อถวายแด่พระสงฆ์ โดยจะระบุว่าจะไปทำบุญที่ไหน เมื่อไหร่ คนนำจะร้องเดี่ยว พอจบวรรคลูกคู่จะช่วยร้องรับด้วยน้ำเสียงอ่อนหวานโดยพร้อมเพรียงกัน เมื่อชาวบ้านทราบว่ามีเรือมารำภาข้าวสาร ก็จะจัดเตรียมของที่จะร่วมทำบุญคอยส่งให้ที่ท่าน้ำตามกำลังศรัทธา เมื่อได้รับของทำบุญแล้วผู้ร้องจะร้องบทให้พรและอำลา 

ประเพณีรำภาข้าวสารถือเป็นการช่วยบอกบุญให้ผู้มีจิตศรัทธาได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน เป็นประเพณีที่เสริมสร้างความสามัคคีของชุมชนที่งดงาม นอกจากชาวบ้านที่มีท่าน้ำแล้วชาวบ้านที่อาศัยอยู่ห่างฝั่ง บ้างก็ยอมลอยคอในแม่น้ำ ประคองขันข้าวสารมาส่งให้กับเรือที่มารำภาข้าวสารด้วยพลังแห่งศรัทธาอันแรงกล้า ซึ่งประเพณีนี้เป็นประเพณีที่มีเฉพาะจังหวัดปทุมธานีเท่านั้นและชุมชนบ้านหมากขาม และบ้านหมากม่วง ในอดีตก็ได้สืบทอดประเพณีนี้ต่อ ๆ กันมา แต่ทว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ ทั้งสิ่งแวดล้อม และอาชญากรรม ทางกลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญได้กล่าวว่า การรำภาข้าวสารจึงงดเว้นไปหลายสิบปี ทั้งนี้ยังมีความพยายามรื้อฟื้นและสืบทอดในการเรียนการสอนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในจังหวัดอยู่บ้าง หรือเล่นกันในโอกาสสำคัญ แต่ไม่ใช่ตามประเพณีหรือวัตถุประสงค์เดิม 

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนอีกหลายกิจกรรม ซึ่งภาพรวมของกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชุมชนบ้านหมากขาม และบ้านหมากม่วง มีความเป็นมอญอยู่สูงเมื่อเทียบสัดส่วนกับกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่มีรากเหง้ามาจากวัฒนธรรมอื่น แต่จะสอดแทรกอยู่ในบริบทของสังคมไทย ภายใต้พุทธศาสนา ทั้งนี้อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนเล็ก ๆ แต่สำคัญเช่นกัน นั่นคือกิจกรรมทางวัฒนธรรมจีน เช่น เทศกาลฉลองเจ้าพ่อวัดศาลเจ้า ก็เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งก็ยังคงอัตลักษณ์และรูปแบบการจัดงานได้เป็นอย่างดี ซึ่งในไตรภาคีแห่งวัฒนธรรมนี้ หลอมรวมเป็นอัตลักษณ์ของทรัพยากรวัฒนธรรมที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญและมีค่ายิ่งของชุมชน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมศิลปากร. (2542). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดปทุมธานี. กรุงเทพฯ: กระทรวงมหาดไทย

คทาเทพ พงศ์ทอง. (2560). ตัวแบบการจัดการวัฒนธรรมของชุมชนบ้านหมากขาม* และบ้านหมากม่วง* ในเขตเทศบาลตตำบลไตรรัฐ* ยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน. วิจัยฉบับสมบูรณ์. คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์

ทต.บ้านกลาง โทร. 0 2567 3488-9