
ชุมชนยังมีภูมิปัญญาแพทย์แผนโบราณ มีผู้สูงอายุที่ยังมีความรู้ในการเป่ารักษาโรค ซึ่งควรที่จะถ่ายทอดความรู้เก็บไว้ นอกจากนี้แม่วะแล้วยังถือเป็นตัวอย่างของการศึกษาเกี่ยวกับชุมชนคนย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ ที่คนในชุมชนมีประสบการณ์ไปทำงานในฐานะแรงงานย้อนกลับไปราว 30-40 ปีได้ บ้านแม่วะแล้งอยู่ไม่ไกลจากอุทยานแห่งชาติแม่วะ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สามารถไปชื่นชมน้ำตกและธรรมชาติอื่น ๆ
แม่วะแล้งเป็นชื่อของลำห้วย "แม่วะแล้ง" ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญแหล่งหนึ่งของตำบลแม่วะ แต่เนื่องจากลำห้วยแม่วะไม่ได้มีน้ำไหลนองตลอด ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและปริมาณฝนที่ตกในแต่ละปี หากปีใดมีน้ำตกมากก็มีน้ำไหลนอง แต่หากปีใดหรือช่วงใดไม่มีน้ำ ลำห้วยก็แห้งแล้งหรือไม่มีน้ำใช้ จนกลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ตั้งสำคัญของห้วยแม่วะแล้ง
ชุมชนยังมีภูมิปัญญาแพทย์แผนโบราณ มีผู้สูงอายุที่ยังมีความรู้ในการเป่ารักษาโรค ซึ่งควรที่จะถ่ายทอดความรู้เก็บไว้ นอกจากนี้แม่วะแล้วยังถือเป็นตัวอย่างของการศึกษาเกี่ยวกับชุมชนคนย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ ที่คนในชุมชนมีประสบการณ์ไปทำงานในฐานะแรงงานย้อนกลับไปราว 30-40 ปีได้ บ้านแม่วะแล้งอยู่ไม่ไกลจากอุทยานแห่งชาติแม่วะ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สามารถไปชื่นชมน้ำตกและธรรมชาติอื่น ๆ
ปริญญา ตันตินวงศ์ (2528) ได้เรียบเรียงประวัติศาสตร์ของตำบลแม่วะไว้ว่า “แม่วะ” เป็นชื่อที่เป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น แม่วะท่าช้าง แม่วะลุ่ม แม่วะแล้ง ซึ่งตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อของลำห้วยที่ไหลผ่าน ซึ่งพอสรุปได้จากการถามคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าสืบกันมาว่า ในสมัยโบราณตำบลแม่วะทั้งตำบลเป็นป่า มีสัตว์หลายชนิดอาศัยอยู่ แล้วได้มีนายพรานคนหนึ่งได้มาล่าสัตว์ในป่าแห่งนี้ ตอนที่ล่าสัตว์ก็เกิดหลงทิศจำทางกลับไม่ได้จึงได้เดินไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งพบกับลำห้วย เขาจึงไปตักน้ำมากินและล้างหน้าหลังจากนั้นเขาก็สามารถรู้ทิศทางที่จะกลับได้ การที่นายพรานใช้มือว้าน้ำก่อนจะกินนี้ดังนั้นห้วยนี้จึงได้ชื่อว่า “ห้วยแม่ว้า หรือ ห้วยแม่วะ” ภาษาถิ่นเรียกว่า “เป่งว้า”หมายถึง สว่างไสว นอกจากนี้ยังมีอีกตำนานที่เล่าว่าสมัยโบราณมีทัพเจ้าฟ้าได้ปะทะกับอีกกองทัพหนึ่ง ในบริเวณใกล้กับดอยผาแดง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านแม่วะน้ำดิบ ซึ่งทัพเจ้าฟ้านี้จะมาจากเชียงใหม่ สุโขทัย อยุธยา หรือธนบุรี ก็ไม่ทราบ เนื่องจากไม่มีหลักฐานยืนยันถึงแม้จะมีกองทัพจากอยุธยาหรือธนบุรียกทัพไปตีเชียงใหม่หลายครั้ง โดยสองทัพนี้ได้มาปะทะกันที่ “เด่นทัพปู่ฟ้า” เกิดการต่อสู้ล้มตายกันมากบริเวณนั้นจึงเต็มไปด้วยเลือด ทหารจึงต้องใช้มือว้าน้ำ ตักน้ำออกให้เลือดไปทางอื่นแล้วดื่มกินแต่น้ำที่ไม่มีเลือด ห้วยนี้เลยได้ชื่อว่าห้วยแม่วะบกซึ่งเป็นลำธารสาที่ไหลลงห้วยแม่วะ
ตำบลแม่วะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง โดยทิศเหนือติดกับตำบลเถินบุรี ทิศใต้ติดกับตำบลแม่พริก อำเภอแม่พริก ทิศตะวันออกติดกับตำบลเวียงมอก อำเภอเถิน ทิศตะวันตกติดกับตำบลแม่ปุ อำเภอแม่พริก โดยทิศตะวันออกนี้มีเทือกเขายาวจากตำบลเถินบุรี ถึงตำบลแม่พริก เป็นเทือกเขาที่กั้นเขตแดนระหว่างตำบลแม่วะกับตำบลเวียงมอก มีห้วยที่เกิดจากเทือกเขานี้คือลำห้วยแม่กึ๋งหรือห้วยศาลา เป็นห้วยที่กั้นระหว่างตำบลเถินบุรีกับตำบลแม่วะ นอกจากนี้ยังมีห้วยแม่แล้งที่เกิดจากเทือกเขาเดียวกัน โดยได้ไหลผ่านหมู่บ้านแม่วะ ต้นน้ำลำธารของห้วยนี้อยู่ใกล้เวลาฝนตกมากจะทำให้น้ำไหลหลากมากและแห้งเร็วเมื่อฝนหยุดตก และถ้าฝนไม่ตกห้วยนี้ก็จะแห้งไม่มีน้ำไหล จึงได้ชื่อว่าห้วยแม่แล้ง น้ำจากห้วยนี้จะไหลลงแม่น้ำวัง และยังมีห้วยแม่วะที่เป็นล้ำห้วยใหญ่ เกิดจากเทือกเขาเดียวกันที่ทอดยาวไปถึงอาณาเขตของตากและสุโขทัย ห้วยนี้จะไหลผ่านบ้านแม่วะน้ำดิบ บ้านแม่วะท่าช้าง บ้านแม่วะลุ่ม บ้านศรีบุญเรือง แต่เดิมคนตำบลแม่วะใช้น้ำจากห้วยนี้ดำรงชีวิต (ปริญญา ตันตินวงศ์, 2528)
ในปี พ.ศ. 2380-2400 ได้มีคนอพยพเข้ามาครั้งแรก ได้ถามจากคนเฒ่าคนแก่พบว่า เป็นคนบ้านเหล่าที่มาจับจองที่บ้านที่นา แต่บริเวณห้วยแม่วะนี้ก็มีชาวบ้านประชุมอย่างลับ ๆ ในบ้านหลังหนึ่ง ว่าจะไปจับจองพื้นที่ในป่าห้วยแม่วะนี้ ก็มีชายคนหนึ่งชื่อว่าปู่บ้านแก้วที่แอบฟังแล้วมีความสนใจอยากจะได้ที่นาจึงเอาเรื่องไปบอกภรรยา รุ่งเช้าหลังจากได้ห่อข้าวจากภรรยาก็รีบเดินทางไปก่อนคนอื่น พอไปถึงก็ได้ทำสัญลักษณ์ตัดไม้ปักเป็นเขตแดน หลังจากนั้นคนที่ประชุมลับๆเหล่านั้นมาถึงก็แปลกใจว่าบริเวณที่ต้องการนี้มีคนมาจับจองไว้ก่อนแล้ว จึงได้แยกย้ายไปหาที่ใหม่ ซึ่งบริเวณที่ปู่บ้านแก้วจับจองนี้คือบริเวณทุ่งหลวง อยู่ระหว่างบ้านแม่วะแล้งและวัดแม่วะกลาง จะมีต้นตาลเป็นสัญลักษณ์แต่ได้ตายไปแล้ว และปู่บานี ซึ่งเป็นน้องปู่บ้านแก้วได้จับจองที่นา ปัจจุบันคือทุ่งเด่นยาวถึงทุ่งม้าน้อย ปู่บานีได้ปลูกต้นโพธิ์ไว้เป็นเขตแดน แต่ในปี 2480 รัฐบาลได้ตัดถนนพหลโยธินผ่านบริเวณแม่วะลุ่มต้นโพธิ์อยู่บริเวณนั้นจึงถูกกรมทางหลวงตัดออก แต่ยังมีสัญลักษณ์ให้คนรุ่นหลังได้เห็นคือ ดอยปู่บานี ที่เป็นดอยเล็ก ๆ แต่เดิมชาวบ้านแม่วะนำหินชั้นดีจากดอยนี้มาทำครกหิน ดอยนี้อยู่บริเวณทิศตะวันออกของบ้านแม่วะแล้ง (ปริญญา ตันตินวงศ์, 2528)
หมู่บ้านที่ตั้งขึ้นครั้งแรกในตำบลแม่วะ คือบ้านแม่วะหลวง หรือบ้านแม่วะท่าช้างในปัจจุบัน ครั้งแรกมีประมาณ 10-20 ครอบครัว ต่อมาก็มีการตั้งบ้านเรือนเพิ่มขึ้นมากขึ้น มีการตั้งวัดแรกในปี 2408 มีชื่อว่า วัดแม่วะหลวง เมื่อมีคนอพยพกันมากขึ้นก็มีการตั้งบ้านที่กระจัดกระจายกันออกไปให้บ้านของตนได้อยู่ใกล้กับที่นา เพื่อความสะดวดสบายในการทำมาหากิน หมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ ได้แก่ บ้านกลาง บ้านแม่วะลุ่ม บ้านทุ่งโฮ่ง และบ้านแม่วะแล้ง (ปริญญา ตันตินวงศ์, 2528) บ้านแม่วะแล้ง หมู่ที่ 4 ได้แยกตัวจากบ้านแม่วะลุ่ม หมู่ที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2502 (ม.ป.ป. , 2551)
บ้านแม่วะแล้ง หมู่ที่ 4 มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับบ้านแม่วะเด่นชัย หมู่ที่ 5 ทิศใต้ติดกับบ้านแม่วะหลวง หมู่ที่ 8 ทิศตะวันออกติดกับเขตตำบลเวียงมอก อำเภอเถิน ทิศตะวันตกติดกับบ้านแม่วะลุ่ม หมู่ที่ 1 (ม.ป.ป. , 2551)
สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบและมีที่ราบสูงบริเวณใกล้เทือกเขา โดยเทือกเขาทอดยาวทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านเป็นเขตกั้นระหว่างตำบลแม่วะกับตำบลเวียงมอง มีพื้นที่ทำการเกษตร 935 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 153 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาทอดยาวในด้านตะวันออกของตำบลแม่วะ มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญได้แก่ ลำห้วยแม่วะแล้ง แต่เนื่องจากลำห้วยไม่ได้มีน้ำไหลตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของฝน หากน้ำตกมากก็จะมีน้ำไหลนอง หากไม่มีฝนตกน้ำก็จะแห้งแล้ว จนกลายเป็นเชื่อของแหล่งน้ำแห่งนี้ ลำห้วยแม่วะแล้งไหลไปบรรจบกับแม่น้ำวัง (อบต.แม่วะ, ม.ป.ป.)
บ้านแม่วะแล้งมีอ่างเก็บน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเด่นยาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มโครงการในปี พ.ศ. 2557 เพื่อนำไปใช้ในภาคการเกษตร จำนวน 500 ไร่ ในฤดูฝน และ 200 ไร่ ในฤดูแล้ง อ่างเก็บน้ำมีความจุ 380,000 ลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างบนทำนบดิน มีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 320 เมตร ดินสูง 10 เมตร (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, ม.ป.ป.) อีกทั้งยังเป็นอาหารสำคัญเนื่องจากเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำให้กับชุมชน (องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง, 2567) ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจทั้งคนในและนอกชุมชน (เฟสบุ๊ก Maewa Travel, 2564)
นอกจากนี้ตำบลแม่วะยังมีอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่วะ ซึ่งเป็นน้ำตกที่มีความสวยงาม และสูงที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง มีทั้งหมด 7 ชั้น ชั้นที่มีความสวยงามคือ ชั้นที่ 3,4 และชั้นที่ 5 แต่มีข้อด้อยในการเดินทางที่มีความยากลำบาก เนื่องจากมีระยะทางที่ไกล และเส้นทางไม่สะดวก นักท่องเที่ยวส่วนมากจึงไปเพียงชั้นที่ 3 ตั้งแต่ชั้นที่ 4 เป็นต้นไปนั้น จะต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางไปด้วยเพื่อป้องกันการหลงทาง (สำนักอุทยานแห่งชาติ, ม.ป.ป.)
จากการสำรวจในเดือนมิถุนายน 2567 แม่วะแล้งมีประชากรรวม 839 คน เป็นชาย 416 คน และหญิง 423 คน (กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, 2567)
อาชีพ ประกอบอาชีพทำนา ร้อยละ 99.5 มีชาวนาบ้างท่านที่เลี้ยงวัวร่วมด้วย ส่วนที่เหลือมีอาชีพเป็นแรงงานรับจ้างในจังหวัดกรุงเทพฯ ระยอง ชลบุรี บางส่วนเป็นแรงงานข้ามชาติไทยในต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน และบางส่วนที่รับราชการ
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน มีชาวบ้านไปหาของป่าบนดอย เช่นเห็ดเผาะ เห็ดโคน เห็ดลม มาขายตามฤดูกาล ถ้าฝนตกก็มีคนไปเอาอึ่งมาขาย นอกจากนี้ยังมีพืชผักตามฤดูกาล ผ่านการเร่ขายตามบ้านหรือฝากร้านขายของชำในหมู่บ้านและร้านค้าเองก็มีการนำสินค้าจากภายนอกชุมชนมาขายเช่นกัน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผักสด เครื่องปรุง อาหาร เป็นต้น ปัจจุบันบ้านแม่วะแล้วมีร้านค้าขายของชำสำหรับคนในชุมชน
การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก สินค้าจำพวก เนื้อสัตว์ ผักสด ผลไม้ อาหาร ที่ตลาดนัดเช้าวันเสาร์ของหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีร้านขายของชำในชุมชน
การออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เรียนจบและไปหางานทำข้างนอก ได้แก่แรงงานรับจ้างในจังหวัดกรุงเทพฯ ระยอง ชลบุรี บางส่วนเป็นแรงงานข้ามชาติไทยในต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน เกาหลี และประเทศในตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศในทวีปแอฟริกาด้วย ชุมชนบ้านแม่วะแล้งเป็นตัวอย่างของคนในพื้นที่ในอำเภอเถิน อำเภอแม่พริก และอำเภอสบปราบ ของจังหวัดลำปาง ที่พื้นที่และสภาพภูมิประเทศไม่เหมาะกับการทำภาคเกษตรด้วยน้ำธรรมชาติ ทำให้คนต้องดิ้นรนออกไปหางานทำต่างพื้นที่ ต่างเมือง และเดินทางไปค้าแรงงานที่ต่างประเทศ (อารีรัตน์ สุวงศ์เครือ และบุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล, 2567)
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชน ส่วนใหญ่อยู่กันแบบเป็นกลุ่มครอบครัว มีบางบ้านที่มีลักษณะครอบครัวแหว่งกลาง (skipped generation family) หรือครอบครัวข้ามรุ่น (intergenerational family) คือ หลานอยู่กับปู่ย่า ตายาย เนื่องจากพ่อแม่ต้องไปทำงานรับจ้างนอกหมู่บ้าน บางบ้านที่คนแก่อาศัยด้วยกันเพียง 2 คน ด้วยเหตุผลที่ว่าลูกไปรับจ้างนอกหมู่บ้าน
โครงสร้างภายในชุมชน ผู้ใหญ่บ้านทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีนางพนิดา มีเดช เป็นกำนันตำบลแม่วะ คนปัจจุบัน (ดำรงตำแหน่ง ปี 2567)
การรวมกลุ่ม เป็นการรวมกลุ่มตามครอบครัวและกลุ่มที่มีความสนิทกันหรือกลุ่มคนที่มีช่วงวัยเดียวกันเช่น กลุ่มเลี้ยงวัว 1 กลุ่ม กลุ่มข้าวแต๋น 1 กลุ่ม แต่ในปัจจุบันกลุ่มนี้ไม่ได้สานต่อเนื่องจากสมาชิกมีอายุสูงขึ้น ทำไม่ไหว กลุ่มชมรมผู้สูงอายุ 1 กลุ่ม กลุ่มเกษตร 1 กลุ่ม
คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านแม่วะแล้ง ซึ่งเริ่มต้นในปีพ.ศ 2560 ป่าชุมชนอยู่ห่างจากตัวหมู่บ้านแม่วะแล้งประมาณ 3 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 113 ไร่ (ข้อมูลสารสนเทศ กรมป่าไม้, ม.ป.ป.)
รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน
ฤดูทำนา สมาชิกในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปกับการทำนาโดยจะทำนาปี ช่วงเตรียมการเพาะปลูกก็จะมีการจ้างรถไถของคนภายในหมู่บ้านหรือนอกหมู่บ้านมาไถ ช่วงปลูกบางบ้านก็ใช้วิธีการทำนาแบบหยอดข้าว บางบ้านก็ใช้วิธีการใช้รถปลูกข้าว และส่วนน้อยในปัจจุบันที่ปลูกกับมือ ฤดูเก็บเกี่ยวก็จ้างรถเกี่ยวข้าวจากคนนอกหมู่บ้าน ช่วงว่างเว้นจากการทำนาบางบ้านก็จะปลูกถั่วเหลือง ข้าวโพด และเมื่อเก็บเกี่ยวก็นำไปขาย
เด็กและเยาวชนจะไปเรียนโรงเรียนนอกหมู่บ้าน คือ โรงเรียนบ้านแม่วะเด่นชัย ตั้งอยู่ในหมู่บ้านแม่วะเด่นชัย เด็กเล็กก็จะไปเรียนก่อนปฐมวัยที่ อบต. แม่วะ เด็กปฐมจะไปเรียนโรงเรียนบ้านแม่วะเด่นชัย เด็กมัธยมส่วนใหญ่จะไปเรียนที่โรงเรียนเถินวิทยา แต่ก็มีบางส่วนที่เรียนโรงเรียนบ้านแม่วะวิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส ตั้งอยู่ที่บ้านแม่วะลุ่ม ส่วนเด็กที่เรียนระดับอุดมศึกษานาน ๆ ครั้งจะกลับบ้าน
การพักผ่อนและงานอดิเรก
มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น ประชุมความเป็นไปของหมู่บ้าน ประชุมการเตรียมงานต่าง ๆ หรือบางครั้งก็มีการพัฒนาหมู่บ้านตามแต่ละที่ที่งวดบ้านของตนได้รับมอบหมาย
ปฏิทินกิจกรรมของชุมชน
มีกิจกรรมทางศาสนาที่ทำร่วมกัน ได้แก่ ปอยเดือน 6 คือ งานบวชพระภาคฤดูร้อน ราวเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม ของทุกปี ที่ชาวบ้านจะไปร่วมงานกัน คือลูกหลานใครต้องการจะบวชก็จะไปช่วยงานกัน งานวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เช่น วันวิสาขบูชา มาฆบูชา อาสาฬหบูชา เข้าพรรษา ที่มีการทำบุญตักบาตร หลังจากออกพรรษาแล้วก็จะมีงานกฐินที่ชาวบ้านจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพสามัคคี และช่วยกันจัดงานมีทั้งการรำวง โรงทาน
ชื่อ-สกุล นายอุ่น กันจันวงศ์ ชื่อเรียกเฉพาะ (ชื่อเล่น) ตาอุ่น
เกิด พ.ศ. 2481 อายุ 85 ปี
ภูมิลำเนา บ้านแม่วะแล้ง หมู่ที่ 4 อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง
ปราชญ์ภูมิปัญญาด้านการรักษาโรคตามภูมิปัญญาพื้นบ้านและความเชื่อ
ตาอุ่นในวัย 85 ปี (ตาอุ่น, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566) เล่าให้ฟังถึงการรักษาโรคโดยวิธีการเป่าให้กับคนในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียงที่เจ็บไข้ในสมัยก่อน
“ถ้าเขามาขอให้เป่าตาถึงจะเป่าให้ พ่อของตาสั่งไว้ว่าถ้าใครไม่ขออย่าไปเป่า อย่าไปทำให้เขาของมันจะเข้าตัวเรา ลูกเต้าเมียตาก็ช่าง คนเรือนเดียวกันก็ช่าง ถ้าไม่ขอไม่เป่าให้เด็ดขาด ตาถือสัจจะข้อนี้ แต่ที่ตาเป่านี่บ้างคนก็หายบางคนก็ไม่หาย ใครที่เป็นโรคเยอะมันก็ไม่หาย ตาเป่ารักษาโรคได้เป็น 108 มันรักษาโรคได้หลายโรค อย่างคางทุมก็ได้ งูสวัดก็ได้ อย่างคนเป็นมะเร็งนี่ก็เป่าได้มันก็ช่วยบรรเทาให้เขาหายเจ็บไป”
“บางคนเขาที่เขาเป็นมะเร็งเขาบอกไปโรงบาลไปอะไรมาหมดแล้ว แต่เขาก็ยังมาขอให้ตาเป่ามาอะไรมันก็หายไปนะโรคนี้ อย่างเด็กร้องไห้ตอนกลางคืนหรือใครโดนผีอำอะไรแบบนี้ตาก็เป่าได้”
“ใช้วิธีเป่าคาถาอย่างเดียวไม่ได้ใช้สมุนไพรอะไรรักษา อย่างถ้าคนปวดแข้งปวดขาจะใช้เขากวาง งาช้าง น้ำมะกรูดส้มป่อยเป่าลงในน้ำแล้วเอามาเช็ดมาทาที่เขาปวด ถ้าที่เป่าคางทุม งูสวัด ตุ่มที่ขึ้นตามตัว จะใช้ข้าวสารข้าวจ้าวแช่น้ำมะกรูดส้มป่อย แล้วเอามาโอมเป่าคาถาให้เขาแล้วพ่นตรงที่เป็น เป่าแล้วเขาบอกว่ามันรู้สึกเย็น สบาย ตรงที่โดนเป่า”
“ตาเริ่มเป่าตอนอายุ 50 กว่าๆ เพราะก่อนหน้านั้นยังทำมาหากินไปนอกไปนาไม่ได้สนใจด้านนี้ แต่เรียนคาถานี่เรียนตั้งแต่เด็กๆแล้ว อายุ 10 กว่า ตอนนั้นพ่อของตาสอนก่อนเข้านอนแล้วตาเป็นคนสมองเร็วสอนรอบสองรอบก็จำได้แล้ว”
“ปัจจุบันไม่ค่อยมีคนมารักษาอะไรแบบนี้แล้ว ตาเองก็อายุเยอะ 85 แล้วถ้าจำเป็นจริงๆก็ทำให้ อย่างตอนนี้ก็มีอีกคนที่สืบทอดไว้ ถ้าจะรักษาก็ไปหาคนนั้นได้ ตอนนี้ตาแก่ตัวแล้ว”
โดยโรคที่ตาอุ่นรักษาได้คือ
“คางทุม คางพอง เจ็บปาก เจ็บคอ ตาเป่าได้ อย่างมีผู้หญิงมีตุ่มขึ้นที่หน้าอกตาก็เป่าให้ เป่าให้จนตุ่มมันยุบหายไป แต่เขาเป็นผู้หญิงตาก็เกรงใจ ถ้ามันเป็นเชื้อเข้าถึงรากอะไรแบบนี้ก็ไม่หายต้องไปหาหมอโรงบาลแล้วปาดทิ้งไปโรงบาลอย่างเดียว เป่านี่มันรักษาได้เฉพาะบางโรค อย่างคนบ้านเด่นที่เป็นมะเร็ง เขาก็มาขอตาเป่าให้เป็นอาทิตย์ แต่มันไม่หายเขาก็ไปโรงบาล หมอทำคีโมให้ถึงหาย”
ตาอุ่นได้เตรียมตัวก่อนรักษาไว้และหลังจากการรักษาเสร็จสิ้น
“ตอนมาขึ้นครูครั้งแรกก็เอาข้าวตอกดอกไม้ ทำมา 2 กรวย เทียน 4 เล่ม เงิน 5 บาท 1สลึง ค่าขึ้นครูสมัยก่อน ถ้าดำหัวก็ 2 บาท 3 บาท เงินมันหายากก็โปรดกันไป แต่อย่างตอนนี้ก็แล้วแต่จะใส่กัน ตาจะบอกว่าถ้าเป่าแล้วหายต้องมาดำหัว แต่ถ้าเป่าแล้วไม่หายไม่ต้องมาดำหัว เขาก็คงหายถึงมาดำหัวตา”
“ลูกเต้าตาไม่มีใครสืบ มันมัวแต่ทำงานไม่มีเวลาเรียนคาถา เขาทำงานกันไม่มีใครอยู่บ้าน ที่มีก็เป็นญาติๆ กันที่เรียนแต่ก็คงไม่เป่าไม่อะไร มันไปทำงานที่อื่นไม่ได้อยู่บ้าน ตาก็อยากจะให้เรียนให้สืบเอาไว้มันดี”
นอกจากนี้ยังเล่าถึงการรักษาเด็กที่ร้องไห้ตอนกลางคืน
“เด็กน้อยที่ร้องไห้ตอนกลางคืน สมัยก่อนที่เด็กตัวเหลือง ถ้าเขามาขอตาก็เป่าให้หาย คนบ้านเด่น หลานเขาร้องตอนกลางคืน เขามาหามาขอให้เป่าให้ตาก็เอาสายสิญจน์มาฉีกเป่าแล้วเอามัดคอมัดมือให้ คนบ้านเราก็มีเหมือนกัน เขาพากันมาเที่ยงคืน เด็กมันร้องไม่หยุดเลย ตาก็เป่าให้เอาสายสิญจน์มัดไม้มัดมือให้ แต่ตาของเด็กเขาร้อนใจน้อหลานไม่หยุดร้องสักที เขาก็ว่าป่ะเอาไปเถินไปโรงบาล ตาก็ไม่ห้ามน้อก็บอกว่าให้เอาไปเลยท้องอึดไม่สบายท้องหรือเปล่าถึงร้องไม่หยุดแบบนี้ พออีกวันเขามาดำหัวตา ตาก็ถามว่ามันเป็นยังไง เขาก็บอกพอถึงบ้านก็หยุดร้อง”
“สมัยก่อนบ้านเรามันไม่มีหมอ อยู่ไกลโรงบาล เขาเลยมารักษากับหมอเป่าแบบนี้กัน มันก็ตามสมัยกันไปตอนนี้เป็นอะไรเขาก็ไปหาหมอไปโรงบาลกัน โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว สมัยมันเปลี่ยนไปข้างหน้าเรื่อยๆไม่กลับหลังเลย” (ตาอุ่น, สัมภาษณ์, 3 มิถุนายน 2566)
ข้อมูลสารสนเทศ กรมป่าไม้. (ม.ป.ป.). โครงการป่าชุมชนบ้านแม่วะแล้ง. https://forestinfo.forest.go.th/
ปริญญา ตันตินวงศ์. (2528). ประวัติตำบลแม่วะ. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
ปริญญา ตันตินวงศ์. (2536). ประวัติตำบลแม่วะ (ครั้งที่ 2). ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
เฟสบุ๊กบ้าน “แม่วะแล้ง”. (22 กันยายน 2565). https://www.facebook.com/photo/
เฟสบุ๊ก Maewa Travel. (2 เมษายน 2564). อ่างเก็บน้ำห้วยเด่นยาว. https://www.facebook.com/photo
ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. (2551). พระครูวิมลปริยัติกิจ งานพระราชเพลิงศพพระครูวิมลปริยัติกิจ (มหาผัน สายต่างใจ). ลำพูน : บวรวรรณพริ้นท์.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (ม.ป.ป.). ลำปาง : โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเด่นยาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. https://projects.rdpb.go.th/projects/
สำนักอุทยานแห่งชาติ (ม.ป.ป.). น้ำตกแม่วะ – อุทยานแห่งชาติแม่วะ. https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark
อารีรัตน์ สุวงศ์เครือ และบุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล. (2567). ประสบการณ์การย้ายถิ่นและความทรงจำของอดีตแรงงานข้ามชาติไทยในแอฟริกา. วารสารพัฒนศาสตร์, 7(1), 66-100.
องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง. (11 กรกฎาคม 2567). ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567. https://bak.lp-pao.go.th/