
มีวัฒนธรรมท้องถิ่น และการอนุรักษ์ธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีเอกลักษณ์
มาจากลักษณะภูมิประเทศที่มีป่าหนาแน่นและการทำการเกษตรในรูปแบบไร่ในพื้นที่นั้น
มีวัฒนธรรมท้องถิ่น และการอนุรักษ์ธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีเอกลักษณ์
บ้านป่าไร่เหนือก่อตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2473 มีนายหม่องต่า เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก มีจำนวนครัวเรือน 3-4 หลังคาเรือน ตั้งอยู่กระจัดกระจาย ต่อมามีชาวบ้านจากกลุ่มบนดอยอพยพมาอยู่ประมาณ 10 หลังคาเรือน ในขณะนั้น หมู่ 3 บ้านป่าไร่เหนือรวมกับหมู่ 5 บ้านสันป่าไร่ มีนายแก้ว ชมพู เป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาในปี 2514 ได้แยกหมู่บ้านจากหมู่ 5 บ้านสันป่าไร่ มาเป็น หมู่ 10 บ้านป่าไร่เหนือ มีนายเพชร เป็นผู้ใหญ่บ้าน ปัจจุบันหมู่ 10 บ้านป่าไร่เหนือได้เปลี่ยนเป็นหมู่ 3 โดยมีนายผิ่ว สันโดษพนาไพร เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีจำนวนครัวเรือน 60–70 หลังคาเรือน (ตุลาคม 2551 : องค์การบริหารส่วนตำบลพระธาตุ)
ลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้าน มีลักษณะเป็นที่ราบที่มีความอุดมสมบูรณ์ ขนาดพื้นที่ของหมู่บ้าน 640 ไร่
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ 8 ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ 7 ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ 2 ตำบลพระธาตุอำเภอแม่ระมาด
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ 5 ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด
สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก
- การคมนาคม บ้านป่าไร่เหนือมีเส้นทางคมนาคมภายในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยางและถนนคอนกรีต ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ระมาดเป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร มีเส้นทางไปอำเภอแม่สอดที่เชื่อมต่อกับบ้านโกกโก่ ตำบลแม่กาษาได้อีกเส้นทางหนึ่ง
- น้ำดื่มน้ำใช้ ประชาชนในหมู่บ้านมีน้ำประปาสำหรับอุปโภคและบริโภคเป็นน้ำประปาภูเขา ซึ่งมีถังสำหรับเก็บน้ำหรือพักน้ำ ที่มีความจุ 5,000 ลูกบาศก์เมตร และมีน้ำบ่อทราย จำนวน 4 บ่อ
- ไฟฟ้า ปัจจุบันในหมู่บ้านมีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน
- การโทรคมนาคม ประชาชนมีโทรศัพท์ตู้สาธารณะใช้ จำนวน 2 ตู้ โทรศัพท์บ้าน จำนวน 15 เครื่อง และโทรศัพท์มือถือจำนวน 53 เครื่อง
- โรงเรียน ชุมชนบ้านป่าไร่เหนือมีโรงเรียนจำนวน 1 แห่ง คือโรงเรียนบ้านป่าไร่เหนือ เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา และมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 1 แห่ง
- จำนวนประชากร 1,049 คน เป็นชาย 522 คน หญิง 527 คน
- จำนวนครัวเรือน 231 หลังคาเรือน
- การนับถือศาสนา คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ มีโบสถ์ จำนวน 3 แห่ง และมีวัด จำนวน 1 แห่ง
บ้านป่าไร่เหนือ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่และเป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงมีการใช้ภาษากะเหรี่ยงในการพูดสื่อสารซึ่งกันและกัน มีการลงแขกเกี่ยวข้าว มีประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุเป็นประจำทุกปี วิถีการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย อยู่อย่างพอเพียง มีความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง หมู่บ้านป่าไร่เหนือจึงมีอัตลักษณ์เป็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง กำหนดตำแหน่งการพัฒนาอยู่ที่การส่งเสริมให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนด้วยกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ให้มีการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ประหยัด การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านป่าไร่เหนือมีจุดเด่นอยู่ที่ชาวบ้านมีวิถีการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิม การทำงานไม่ต้องจ้างแรงงานในการปลูกพืชไร่ต่าง ๆ ใช้วิธีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทางเหนือ เรียกว่าเอาแรงกัน ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่าเอามื้อกัน (ลงแขก) ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ มีประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น และมีการจัดกิจกรรมเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง เช่น ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ ประเพณีผูกข้อมือกะเหรี่ยง (กี้จือลาขุ) เป็นต้น จุดอ่อนของชาวกะเหรี่ยงคือ การไม่รู้ภาษาไทยของประชาชนบางส่วน แต่มีจุดเด่นในเรื่องการยึดถือวัฒนธรรมดั้งเดิม มีภูมิปัญญาชาวบ้านในการทอผ้าด้วยกี่เอว มีการจัดตั้งกลุ่มแต่ขาดการสนับสนุนในเรื่องการตลาดและการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะต้องเข้าไปส่งเสริมและให้การสนับสนุนกลุ่มทอผ้า รวมทั้งส่งเสริมให้มีการนำภูมิปัญญาด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมมาใช้เป็นแนวทาง ในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป
ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ
จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 231 ครัวเรือน อาชีพของราษฎรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม จำนวนพื้นที่การเกษตร ทำนา 67 ไร่, ทำไร่ 145 ไร่
แหล่งธุรกิจในหมู่บ้าน เช่น ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ 1 แห่ง ร้านค้า 13 แห่ง โรงสีข้าว 3 แห่ง ปั้มน้ำมัน 1 แห่ง
จากการพบปะพูดคุยกับชุมชนพบว่า มีบริษัทเมล็ดพันธุ์เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้นำเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยา นำมาลงทุนและจะมารับซื้อผลผลิตในระยะเก็บเกี่ยว
กลุ่มอาชีพ ประกอบด้วย จำนวน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเลี้ยงโค กลุ่มทอผ้า กลุ่มเลี้ยงสุกร
ประวัติความเป็นมาของการทอผ้าและพัฒนาการของกลุ่ม
ในอดีตชนเผ่ากะเหรี่ยงไม่ว่าจะเป็นสะกอว์หรือโปว์จะมีวัฒนธรรมการแต่งกาย ด้วยผ้าทอมือ ซึ่งแม่หรือผู้หญิงจะเป็นคนทอ ในสมัยก่อนนั้นชาวกะเหรี่ยงจะปลูกฝ้ายเองและย้อมสี ด้วยวัสดุธรรมชาติ วัสดุที่นำมาใช้ ได้แก่ เปลือกไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้สน เป็นต้น
กลุ่มทอผ้าปกาเกอะญอ บ้านป่าไร่เหนือ เป็นกลุ่มสตรีทอผ้าที่สืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ซึ่งทำกันเกือบทุกครัวเรือนในหมู่บ้าน โดยมีการก่อตั้งแบบไม่เป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 แต่เป็นการรวมตัวของกลุ่มสตรีในหมู่บ้าน มีอาชีพทอผ้าเป็นอาชีพเสริม จำนวน 32 คน ดำเนินการของบประมาณเพื่อสนับสนุนกิจกรรมจากส่วนราชการ โดยปราศจากองค์ประกอบของกลุ่มที่ถูกต้องเป็นการรวมตัวที่ต่างคนต่างผลิต จำหน่ายด้วยตนเอง โดยมีนางหล้า ฐานะเป็นประธานในขณะนั้นได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากท้องถิ่นแต่ไม่สามารถนำงบประมาณมาดำเนินการได้เนื่องจากไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการจึงทำให้สมาชิกยืมเงินที่ได้รับการสนับสนุนไปประกอบกิจกรรมกันเองและจำหน่ายเอง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2546 ได้มีการประชุมกลุ่มโดยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนเป็นที่ปรึกษา มีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการกลุ่ม เจ้าหน้าที่ให้ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณของกลุ่ม จึงมีข้อตกลงร่วมกัน โดยให้สมาชิกลงหุ้นร่วมกันหุ้นละ 100 บาท สมาชิกถือหุ้นอย่างน้อยคนละ 1 หุ้นและจะต้อง ทอผ้าให้กลุ่มอย่างน้อยเดือนละ 2 ชิ้น และให้สถานที่บ้านของนางกลม ปลูกปัญญาดี คณะกรรมการกลุ่มฝ่ายการผลิตเป็นที่ทำการกลุ่ม โดยให้สมาชิกรับเส้นฝ้ายของกลุ่มไปดำเนินการตามความถนัด ของแต่ละคน ไม่จำกัดผลิตภัณฑ์ คณะกรรมการกลุ่มจะเป็นผู้จัดซื้อวัตถุดิบ (ฝ้าย) จากในพื้นที่ที่สมาชิก ผลิตเองบ้าง และซื้อจากจังหวัดเชียงใหม่บ้าง สมาชิกกลุ่มสามารถย้อมสีฝ้ายได้เอง ทั้งสีเคมีและ สีธรรมชาติ ทั้งนี้ การทอผ้าปกาเกอะญอเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษซึ่งในอดีตเป็นการผลิต ไว้ใช้เอง ปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดสรรให้เป็นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ในระดับอำเภอ ปี พ.ศ. 2546 และเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มทอผ้าในเวลาว่างจากการทำเกษตรและสามารถที่จะเสริมสร้างเป็นอาชีพหลักให้กับสมาชิกกลุ่มได้ ถ้ามีการจัดการที่ครบวงจร ทั้งนี้ จะสามารถช่วยลดปัญหาการถางป่าเพื่อปลูกพริก หรือปลูกข้าวไร่ของคนในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
บทบาทของกลุ่มทอผ้าต่อชุมชน
กิจกรรมการทอผ้าของกลุ่ม เป็นการผลิตเพื่อเอาไว้ใช้เองและการจำหน่ายในชุมชนเป็นหลัก ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียง เป็นสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนสามารถหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพงมาก ผู้ซื้อบางคนจะซื้อไว้ใช้เอง บางคนจะซื้อเป็นของฝาก กลุ่มทอผ้าบ้านป่าไร่เหนือเป็นกลุ่มที่มีการรวมตัวเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านประกอบกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในหมู่บ้านลดปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม ในหมู่บ้าน และยังเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่ใกล้เคียง (ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: 2548)
ปัจจัยการผลิตและวัสดุอุปกรณ์
ในระยะแรกของการรวมกลุ่มฯ สมาชิกจะเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบในการผลิตเอง ซึ่งวัตถุดิบ ในการผลิตจะเป็นฝ้ายที่สมาชิกแต่ละคนปลูกขึ้นเอง แต่ต่อมาการปลูกฝ้ายได้ลดน้อยลง เนื่องจากสมาชิกนำพื้นที่ที่ทำการปลูกฝ้ายไปปลูกพริกซึ่งทำรายได้หลักให้ครอบครัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีสมาชิกที่เคยปลูกฝ้ายเพื่อทอผ้าลดลงจาก 25 ครัวเรือน เหลือเพียง 3 ครัวเรือนเท่านั้น กอปรกับกรรมวิธีในการปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นด้ายเป็นขั้นตอนที่ยากต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญ ซึ่งสมาชิกกลุ่มไม่สามารถทำได้ทุกคนปัจจุบันกลุ่มทอผ้าจะเป็นผู้จัดซื้อฝ้ายให้แก่สมาชิก โดยส่วนใหญ่ซื้อมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสามารถจัดซื้อได้ตลอดทั้งปี
ปัจจัยการผลิต ประกอบด้วย วัตถุดิบหลักและวัตถุดิบรอง
วัตถุดิบหลัก ได้แก่ ฝ้ายและด้ายสำเร็จรูป
- ฝ้าย เป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งผ่านกระบวนต่างๆ ตามธรรมชาติหลายขั้นตอนก่อนจะมาเป็นเส้นฝ้าย
- ด้ายสำเร็จรูป เป็นวัตถุดิบหลักอีกชนิดที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นด้ายที่ผ่านกระบวนการทางเทคโนโลยี
- การปลูกฝ้าย ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพระธาตุ จะเริ่มปลูกต้นฝ้ายประมาณเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ และจะสามารถเก็บเกี่ยวฝ้ายประมาณ เดือนธันวาคม ซึ่งชนิดของต้นฝ้ายจะมี 2 ชนิด คือ ฝ้ายชนิดที่สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวได้ปีต่อปี และอีกชนิดหนึ่งจะเป็นต้นฝ้ายที่สามารถ เก็บเกี่ยวดอกฝ้ายได้ติดต่อกันถึง 3 ปี หลังจากนั้นต้องเริ่มปลูกต้นฝ้ายขึ้นมาใหม่
วิธีการย้อมฝ้ายด้วยวัสดุธรรมชาติ
- นำฝ้ายที่ซักแล้วบิดหมาด ต้มรวมกับกล้วยดิบเป็นแว่น
- นำกล้วยดิบออก นำฝ้ายออกจากหม้อต้ม (พักไว้ก่อน)
- นำส่วนผสมที่เหลือ (ขึ้นอยู่กับสีที่ต้องการย้อม) ทุกอย่างต้มเดือด ประมาณ 2 ชั่วโมง
- กรองเอาแต่น้ำ และนำฝ้ายที่ผ่านขั้นตอนที่ 1-2 ต้มอีก 2 ชั่วโมง
- นำไปตากบนราวให้แห้ง
- ต้มน้ำให้เดือดนำแป้งข้าวจ้าวผสมกับน้ำเปล่าคนให้เข้ากัน นำเทลงในหม้อต้ม โดยมีอัตราส่วนคือ ฝ้าย 6 หัว ใช้แป้ง 1 กิโลกรัม น้ำ 2 ลิตร
ทั้งนี้ นอกจากกล้วยดิบแล้ว ยังมีวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการย้อมสีของฝ้ายอีกหลายชนิดโดยมีรายละเอียดตามตาราง ซึ่งเคล็ดลับในการคัดเลือกวัตถุดิบ คือ ต้องเป็นวัสดุที่มียางเป็นสำคัญ เพื่อความเหนียวนุ่ม และทนทาของเส้นด้าย
โครงสร้างลวดลายของผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านป่าไร่เหนือ
ผ้าทอของชุมชนบ้านป่าไร่เหนือ จะมีลายผ้าที่ละเอียดสวยงาม ซึ่งคนในอดีตได้คิดค้นลายผ้าขึ้นมาเอง แต่ละลายที่เกิดขึ้นได้จากการสังเกตสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ และบางลายเกิดจากการบอกเล่าสืบต่อกันมา ผ้าที่มีความสวยงาม ละเอียด เรียบเนียนและประณีต เป็นศิลปะเฉพาะในการทอผ้าของ ชาวกะเหรี่ยง ในบ้านป่าไร่เหนือ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก โดยเนื้อของลายจะกลมกลืนเป็นผืนเดียว กับผืนผ้า ซึ่งจะแตกต่างกับที่อื่นที่ลายจะนูนอยู่บนผืนผ้าและผ้าถุง ลายผ้าจะอยู่ตรงกลาง ส่วนหัวท้าย ของผืนผ้าลายผ้าจะเป็นลายขวาง ซึ่งลายของผ้าทอแบบเดิมจะเป็นลายแบบง่าย ๆ ที่ไม่มีความสลับซับซ้อนมากนัก เช่นลายสี่เหลี่ยม ลายเส้นตรง ลายตานก เป็นต้น แต่ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าบ้านป่าไร่เหนือได้มี การพัฒนาและปรับปรุงลายผ้า โดยประยุกต์ขึ้นมาใหม่ด้วยการผสมผสานลายต่าง ๆ ลงบนผืนผ้าให้มี ความแปลกใหม่และสวยงามยิ่งขึ้น เช่น การผสมระหว่างลายขอบตาและลายเมล็ดฟักทอง ลายแมงมุมน้ำผสมเมล็ดฟักทอง เป็นต้น
รูปแบบการทอผ้า มีรูปแบบและวิธีการทอ ดังนี้
1.ทอพื้น เป็นการทอแบบง่ายที่สุด โดยนำด้ายพุ่งสอดเข้าไปขัดกับด้ายยืนสลับไปมา ซึ่งมีการสร้างลวดลายต่างๆ 2 ลักษณะ คือ
- การทอสลับสีด้ายยืน ทำให้เกิดลวดลายสลับสีในเนื้อผ้า ได้แก่ ลวดลายบนย่าม ลายบนส่วนของตีนซิ่น (ชายผ้าถุง)
- การทอสลับสีด้ายพุ่ง ทำให้เกิดลวดลายในแถบสีในเนื้อผ้าเช่นกัน แต่เป็นแถบที่ตัดกับด้ายยืน และสลับสีด้ายยืนด้วยจะทำให้เกิดเป็นลวดลายตาสี่เหลี่ยม ซึ่งนิยมทอเป็นลายบนผ้านุ่งของผู้ชาย
2.ทอจก จัดเป็นเทคนิคการทอที่ยากที่สุดของชนเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งเป็นเส้นพุ่งพิเศษที่สร้างลวดลายควบคู่ไปในขณะที่ทอ ด้วยการใช้นิ้วล้วงเข้าไปในด้ายยืน แล้วเอาด้ายสีต่างๆ แทรกเข้าไป ในขณะที่ทอสลับกับการสอดด้ายพุ่ง เมื่อทอเป็นผืนแล้วด้ายที่แทรกเข้าไปนั้นจะปรากฏเป็นลวดลายนูนบนผืนผ้า ซึ่งลวดลายทอนี้มักจะปรากฏบนย่ามที่ผู้หญิงทอเพื่อให้เป็นของขวัญแก่ผู้ชายที่ตนพึงพอใจ และปรากฏทั่วไปในชุดเครื่องแต่งกายของผู้หญิงทั้งที่เป็นลวดลายบนเสื้อและผ้าซิ่น
3.ทอยกดอก เป็นการทอที่สร้างลวดลายควบคู่กันไปในขณะที่ทอ ลวดลายเกิดจากเส้นพุ่งพิเศษ คล้ายกับการทอจกแต่ทอง่ายกว่า โดยใช้วิธียกตะกอ ซึ่งกำหนดลวดลายไว้ตั้งแต่ตอนขึ้นด้าย ด้วยการนำด้ายตะกอพันสลับกับด้ายยืน เพื่อใช้เป็นส่วนยกสำหรับสอดด้ายเข้าไปในระหว่างทอเรียกว่า ไม้ เช่น ทอ 1 ไม้ , 2 ไม้ , 3 ไม้ จนถึง 30 ไม้ ให้เกิดเป็นลวดลาย
4.ทอจกผสมยกดอก เป็นการทอที่สร้างลวดลายควบคู่กันไปในขณะที่ทอ โดยใช้วิธีการทอผสมผสานกันระหว่างการทอจกและการทอยกดอก ลวดลายที่เกิดขึ้นจะผสมผสานทั้งการทอยกตะกอ และใช้นิ้วล้วงสอดด้ายเส้นพุ่งพิเศษสีต่างๆ สลับเข้าไปด้วย ซึ่งลายที่ได้จะมีความสวยงาม
5.มัดหมี่หรือตาคาด คือ การย้อมด้ายให้เป็นลวดลายติดสีในบางส่วน โดยการห่อหุ้มด้ายส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีด้วยใบไม้หรือพันด้วยเชือก ซึ่งชาวกะเหรี่ยงจะใช้วิธีการมัดหมี่ด้ายยืนก่อนนำไป ขึ้นเครื่องทอ ลายตาคาดหรือลายมัดหมี่เส้นยืนนี้มักจะปรากฏเป็นลายขวางบนตัวผ้าซิ่นของผู้หญิงหรือโสร่งของผู้ชายซึ่งเย็บตะเข็บเดียว
ลักษณะและที่มาของลายผ้าทอ
ชนเผ่ากะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาวเขาที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับป่าและธรรมชาติ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ จึงผสมกลมกลืนกับธรรมชาติ และแสดงออกมาเป็นลวดลายที่ทอบนผืนผ้า เช่น ลายที่เกิดจากพืช ผัก ผลไม้ และสัตว์ต่างๆ โดยนำมาสร้างสรรค์ดัดแปลง ให้เกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ บนผืนผ้าให้สวยงาม โดยแบ่งได้ 3 ลาย ดังนี้
1.ลายที่เกิดจากการทอจกหรือยกดอก แบ่งออกเป็น
- ลายที่เลียนแบบจาก พืช ผัก ผลไม้ ได้แก่ ลายเมล็ดฟัก มีลักษณะเป็นรูปรีๆ คล้ายเมล็ดฟักทอง
- ลายที่เลียนแบบจากสัตว์ ได้แก่ ลายแมงมุม มีลักษณะคล้าย การชักใยของแมลงมุม
- ลายอื่นๆ ที่เกิดจากการสังเกตสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว หรือ การผสมผสานระหว่างลายทำให้เกิดลวดลายใหม่ๆ รวมทั้งรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งประกอบด้วย ลายขอบตา มีลักษณะเป็นวงๆ คล้ายขอบตาขาวของคน, ลายตะกร้า มีลักษณะเป็นตาสี่เหลี่ยม คล้ายลายสานเป็นตะกร้า, ลายซิกแซก มีลักษณะคล้ายลายขอบตาที่ทอต่อ ๆ กัน, ลายขอบตามีลายเมล็ดฟักอยู่ตรงกลางลายผีเสื้อสองตัวหันเข้าหากัน
2.ลายมัดหมี่หรือลายตาคาด ด้ายที่อ้อมด้วยวิธีนี้สามารถนำไปทอเป็นด้ายยืน ลักษณะลายจะปรากฏคล้ายสายน้ำไหลบนตัวผ้าซิ่นของผู้หญิงหรือโสร่งของผู้ชาย
กระบวนการผลิตผ้าทอปกาเกอะญอบ้านป่าไร่เหนือ
การทอผ้าของชุมชนบ้านป่าไร่เหนือ เป็นการทอผ้าด้วยมือ โดยใช้เครื่องทอที่ผลิตขึ้นเอง ที่เรียกว่า "กี่เอว" ซึ่งแต่เดิมชุมชนกะเหรี่ยงบ้านป่าไร่เหนือจะปลูกต้นฝ้ายเอง พอถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวฝ้ายชุมชนก็จะนำฝ้ายซึ่งเป็นวัตถุดิบมาผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ เพื่อปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นด้าย หลังจากนั้น จึงนำไป ย้อมสี ซึ่งสีที่ใช้ย้อมเส้นด้ายได้มาจากวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ไม้ประดู่ เปลือกไม้แดง และไม้สน เป็นต้น แต่ในปัจจุบันชุมชนหันมาใช้เส้นด้ายประดิษฐ์ ซึ่งเป็นเส้นด้ายสำเร็จรูปที่มีลักษณะเป็นม้วนหรือไจ หลังจากนั้น จึงนำเส้นด้ายมาใส่ใยแมงมุมเพื่อม้วนด้ายให้เป็นก้อนกลม ๆ แล้วนำมาโว้น (ม้วน) ให้เป็นแผง อีกส่วนหนึ่งนำมาพันกับไม้เพื่อใช้สำหรับสอดในขั้นตอนของการทอ
ผลิตภัณฑ์ผ้าทอปกาเกอะญอบ้านป่าไร่เหนือ
ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าปกาเกอะญอบ้านป่าไร่เหนือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทอมือโดยใช้เครื่องทอที่เรียกว่า "กี่เอว" ความกว้างของหน้าผ้าทอที่ได้ประมาณความกว้างของช่วงเอวหรือช่วงลำตัวของผู้ทอ เมื่อต้องการทำให้เป็นผ้าทอที่มีขนาดความกว้างมากกว่านั้น จะนำผ้าที่ทอแต่ละชิ้นมาเย็บต่อกัน จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดหน้ากว้างของผ้าที่กว้างขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสามารถจำแนกออกได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ผ้าทอเป็นผืนไม่แปรรูป เช่น ผ้าห่ม ผ้าพันคอ เป็นต้น และผลิตภัณฑ์อีกประเภทของกลุ่มฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าทอ เช่น เสื้อ ย่าม กระเป๋า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่ม
อาหารพื้นบ้าน
- อาหารคาว ได้แก่ แกงกะโป้ ข้าวจ้าว หมู ผัก พริกแกง
- อาหารหวาน ได้แก่ หมี่โต๊ะปิ ข้าวแดกงา
ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น ได้แก่ ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากชาวกะเหรี่ยง ในบ้านป่าไร่เหนือส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ จึงจัดกิจกรรมวันขึ้นปีใหม่ในวันคริสต์มาส คือวันที่ ๒๕ ธันวาคมของทุกปี ประเพณีที่สำคัญของชาวกะเหรี่ยงอีกอย่างหนึ่ง คือ ประเพณีผูกข้อมือ (กี้จือลาขุ) เป็นต้น
ตัวอย่างประเพณีของชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าไร่เหนือ
ประเพณีผูกข้อมือถือศีลลาขุ (กี้จือลาขุ) การผูกข้อมือของชาวกะเหรี่ยง
ระยะเวลาดำเนินการ : วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (เดือนสิงหาคม)
การผูกข้อมือแบบชาวกะเหรี่ยงสะกอ (กะเหรี่ยงดอย)บ้านป่าไร่เหนือ ลูกบ้านต้องเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ที่จะใช้ในพิธีให้พร้อม จากนั้นก็จะเชิญผู้สูงอายุหรือผู้เฒ่าในหมู่บ้าน ชาย 1 คน หญิง 1 คน ไปทำพิธีผูกข้อมือให้ก่อนทำพิธีเจ้าของบ้านจะต้องนำเสื้อกางเกงของคนในบ้านทุกคนใส่ไว้ในตะกร้าเสื้อผ้าเพื่อทำพิธี เริ่มด้วยการเคาหัวบันไดบ้าน พร้อมกับการจุดเทียนขี้ผึ้ง 2 เล่ม เสร็จแล้วไปเคาะ ที่หิ้งคา ในขั้นตอนนี้จะต้องแกะข้าวต้มจอก ข้าวเหนียวงา และข้าวสวย ใส่ลงในจานไม้ที่เตรียมไว้ เสร็จแล้วก็จะผูกข้อมือให้ทุกคนในบ้าน เริ่มที่คนอายุน้อยที่สุดไปจนถึงคนอายุมากที่สุด เมื่อผูกข้อมือ ให้คนสุดท้ายแล้วก็จะนำข้าวเหนียวงา ข้าวต้มจอกและข้าวสวยไปวางไว้บนเตาหุงข้าว แล้วผูกด้าย 7 เส้นที่ขาหิ้ง หลังจากนั้นก็จะเชิญคนในหมู่บ้านที่มาร่วมพิธีรับประทานอาหารและดื่มเหล้าด้วยกัน
การผูกข้อมือนั้นใช้ด้ายสีขาว ซึ่งย้อมสีด้วยรากไม้ธรรมชาติ (ชาวกะเหรี่ยง เรียกว่าลื้อก่อโค๊ะ) ผู้อาวุโสหรือผู้เฒ่าผู้แก่จะต้องเดินไปผูกข้อมือให้กับลูกหลานจนกว่าจะครบทุกบ้าน ถ้าเป็นหมู่บ้านใหญ่ ผู้อาวุโสจะต้องแบ่งกันหลายจุด เพื่อให้การผูกข้อมือเสร็จภายในวันเดียว การผูกข้อมูลในสมัยก่อน ชาวกะเหรี่ยงจะมีการเฉลิมฉลอง ด้วยการดื่มเหล้า ตีกลองเหล็ก ร้องเพลงกะเหรี่ยงทั้งวันทั้งคืนด้วยความสนุกสนานรื่นเริง ช่วยกันทำอาหาร และรับประทานร่วมกัน ชาวกะเหรี่ยงจึงเกิดความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวกัน และมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอดมา
ทุนทรัพยากรธรรมชาติ
- ในหมู่บ้านมีป่าชุมชนจำนวน 1 แห่ง
- มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน จำนวน 2 ครั้ง
- ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์
ทุนทางสังคม
- ปราชญ์ชาวบ้าน
- มีการใช้แรงงานร่วมกัน (ลงแขก)
ภาษากะเหรี่ยงและภาษาไทย
จากความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ทำให้วิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านป่าไร่เหนือเปลี่ยนแปลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร หรือการแต่งกายซึ่งจากการสอบถามชุมชนบอกว่า ปัจจุบันมีเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำหน่ายในตลาดทั่วไป สามารถหาซื้อได้ง่ายและราคาถูก ซึ่งแตกต่างจากผ้าทอกะเหรี่ยงที่มีขั้นตอนการทำค่อนข้างยาก ราคาแพง และใช้เวลา โดยเสื้อ ที่ทอเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำหน่ายราคาตัวละ 500 บาท ใช้เวลาในการทอประมาณ 15 วัน , ย่ามราคา ใบละ 200 บาท ใช้เวลาในการทอประมาณ 3 วัน เนื่องจากเส้นด้ายต้องหาซื้อจากจังหวัดเชียงใหม่ จึงทำให้เพิ่มต้นทุนในการผลิต ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีราคาสูงตามไปด้วย ปัจจุบันในชุมชนมีการปลูกฝ้ายเองเพียง 3 ครอบครัว จากเดิมจำนวน 230 ครอบครัว และมีประมาณ 5 ครอบครัวที่ทอผ้าเพื่อขาย ทำให้วัฒนธรรมการแต่งกายของชนเผ่ากะเหรี่ยงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยสวมใส่ในชีวิตประจำวัน มาเป็นการสวมใส่เฉพาะในงานประเพณีที่สำคัญหรือการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น งานบวช งานแต่ง งานศพ งานประเพณีขึ้นธาตุ หรือใส่ไปทำบุญที่วัดและสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาเท่านั้น ส่วนสีที่นิยมใช้ จะเป็นสีแดง แต่มีข้อห้ามคือ ชุดสีขาวซึ่งมีลักษณะคล้ายชุดแซกยาว หญิงสาวบริสุทธิ์เท่านั้นที่จะสามารถ สวมใส่ได้
ศรีสมร เทพสุวรรณ. (2551). การศึกษากระบวนการผลิตและลายของผ้าทอกะเหรี่ยงจังหวัดตาก กรณีศึกษา : บ้านป่าไร่เหนือ หมู่ที่ ๓ ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก. วิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก
ศูนย์วิจัยชาวเขาจังหวัดเชียงใหม่. (2545). บรรณิทัศน์ ๕ สภาพของชาวเขาในประเทศไทย. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยชาวเขาจังหวัดเชียงใหม่.
องค์การบริหารส่วนตำบลพระธาตุ. (2567). สภาพทั่วไป. https://www.phrathat-tak.go.th/social
องค์การบริหารส่วนตำบลพระธาตุ. (2567). สภาพสังคม. https://www.phrathat-tak.go.th/social