ริมแม่น้ำสายบุรี แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
เดิม บ้านจะรังตาดงชื่อจือแร หมายถึง ป่าดงดิบ ต่อมาชาวบ้านหลายคนรวมตัวกันเพื่อบุกเบิกป่าจือแรให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยจึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "กาปงจือแร" ซึ่งหมายถึง หมู่บ้านที่เกิดจากป่าดงดิบมาก่อน พื้นที่ตรงนี้อยู่ในส่วนบริเวณภายในหมู่บ้านและส่วนบริเวณพื้นที่รอบนอกของหมู่บ้านชาวบ้านจะเรียกว่า ตาดง (ทุ่งนา) เนื่องจากคำว่าตาดงมากจากพื้นที่รอบๆมีลักษณะเป็นทุ่งนาและในทุ่งนาจะมีต้นตาลเป็นจำนวนมาก คำว่าต้นตาลในภาษามลายูเรียกว่า ตา (ต้นตาล)
ริมแม่น้ำสายบุรี แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
บ้านจะรังตาดงเป็นชุมชนมีการก่อตั้งแต่เดิมบ้านจะรังตาดงชื่อจือแร ซึ่งหมายถึงป่าดงดิบ มีสัตว์ป่า เช่น เสือ สิงโต กระทิง กวาง ช้างป่า และในบริเวณรอบ ๆ ทุ่งนาจะมีต้นตาลอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมา ชาวบ้านหลาย ๆ คนจึงรวมตัวกันเพื่อบุกเบิกป่าจือแรเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยจึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า กาปงจือแร ซึ่งหมายถึง หมู่บ้านที่เกิดจากป่าดงดิบมาก่อน พื้นที่ตรงนี้อยู่ในส่วนบริเวณภายในหมู่บ้านและส่วนบริเวณพื้นที่รอบนอกของหมู่บ้านชาวบ้านจะเรียกว่า ตาดง (ทุ่งนา) เนื่องจากคำว่าตาดงมากจากพื้นที่รอบๆมีลักษณะเป็นทุ่งนาและในทุ่งนาจะมีต้นตาลเป็นจำนวนมาก คำว่าต้นตาลในภาษามลายูเรียกว่า ตา (ต้นตาล) โดยมีเรื่องเล่าว่าต้นตาลในหมู่บ้านถูกฟ้าผ่าทำให้ต้นตาลไม่มียอด ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าตาลด้วนหรือ ตาดง ตา หมายถึงต้นตาล ดง มาจากคำว่า กูดง แปลว่า ด้วน ชาวบ้านเรียกพื้นที่ส่วนนี้ว่า กาปงตาดง
การก่อตั้งบ้านเรือนในระยะเริ่มแรก อยู่อย่างกระจัดกระจายแตกเป็นกลุ่มๆตามจุดต่าง ๆ ประมาณ 8 กลุ่มบ้าน ได้แก่
- กลุ่มตระกูลโต๊ะขุน : “โต๊ะขุน“ มีชื่อจริงคือ นายซาลาฮูดิน เป็นคนมุสลิมมีบทบาทสำคัญทั้งเป็นผู้นำปกครองและผู้นำศาสนา ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นคนแรกที่เข้ามาบุกเบิกก่อตั้งหมู่บ้าน โต๊ะขุน เป็นคนฉลาดและมองการณ์ไกล เมื่อทำการบุกเบิกหมู่บ้านแล้ว ได้ไปชักชวนโต๊ะครูสอนศาสนา และผู้รู้ต่างๆ จากพื้นที่อื่นมาอยู่อาศัยในหมู่บ้าน โดยใช้อุบายหลายอย่าง เช่น ให้ที่ดินในการทำมาหากิน จัดผู้หญิงมาแต่งงานให้ เป็นต้น เมื่อชาวบ้านเดือดร้อนจาการทำมาหากินหรือปัญหากับทางราชการ โต๊ะขุน จะเป็นผู้ประสานงานและแก้ปัญหาให้อย่างเต็มที่
- กลุ่มตระกูลชาวง : ชาวง ชื่อจริง คือ การิม แต่ชาวบ้านเรียก ชาวง เพี้ยนมาจากคำว่า หมอลูวง หรือหมอหลวง เพราะ ชาวง เป็นหมอกระดูก เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และมีการสืบทอดการเป็นหมอกระดูกมาถึงลูกหลานในปัจจุบัน
- กลุ่มตระกูลยาลอ : อาศัยอยู่บริเวณติดกับพรุและลำธาร กลุ่มนี้มีการตั้งบ้านเรือนกลุ่มใหญ่ มีกุโบร์ใหญ่ชื่อ กูโบร์โต๊ะสะนูวอ ชาวบ้านมีความเชื่อว่า เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีงานบุญต่างๆจะต้องมีการบอกกล่าวโต๊ะสานูวอ เพื่อจะให้เกิดความสำเร็จ
- กลุ่มบ้านโต๊ะกายอ : เป็นกลุ่มไทยพุทธในอดีต เดิมอยู่ถัดจากกลุ่มบ้านตาดงเข้าไปข้างในเล็กน้อย ปัจจุบันย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านสาเมาะ ไม่ไกลจากหมู่บ้าน
- กลุ่มบ้านสาเร็ง หรือ โต๊ะม๊ะ สาเร็ง : "โต๊ะม๊ะ" ชื่อจริงคือ นางแมะม๊ะ โต๊ะโด เดิมเป็นคนจากบ้านกอแล จังหวัดปัตตานี มาตั้งบ้านเรือนและทำไร่บริเวณที่มีต้นสาเร็ง หรือต้นสิเหร็ง เป้นชื่อต้นไม้ตระกูลปาล์ม ชาวบ้านนิยมนำใบมาใช้มุงหลัคา ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า สาเร็ง ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านจะรังตาดงในปัจจุบัน
- กลุ่มบ้านตาดง : อยู่ใกล้กับกลุ่มบ้านโต๊ะม๊ะ สาเร็ง ทางด้านทิศเหนือของบ้านจะรังตาดงปัจจุบัน มีกุโบร์ชื่อ กุโบร์ตาดง เป็นกุโบร์เก่าแก่ของชาวบ้านกลุ่มที่อาศัยอยู่บริเวณกลุ่มบ้านสาเร็งและกลุ่มบ้านตาดง
- กลุ่มบ้านกือลาเซาะ : อยู่เลยบริเวณสามแยกติดกับถนนสายจารังตาดง-รามัน ไปทางตัวอำเภอรามันในปัจจุบัน
- กลุ่มตระกูลบูแย : อยู่ใกล้กับกลุ่มยาลอ ถือเป็นกลุ่มที่มาบุกเบิกพื้นที่เช่นเดียวกับกลุ่มอื่น
บ้านจะรังตาดงอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอรามัน ประมาณ 17 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 27 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 1,071 กิโลเมตร การเดินทางจากจังหวัดยะลามายังชุมชนบ้านจะรังตาดง สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารสองแถวสาย ยะลา – ต้นไทร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านเขาดิน หมู่ที่ 4 ตำบลปากู อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านเจาะกาแต หมู่ที่ 7 ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแอแกง หมู่ที่ 5 ตำบลเกะรอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านโต๊ะพราน หมู่ที่ 1 ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
สภาพพื้นที่กายภาพ
สภาพโดยทั่วไปของบ้านจะรังตาดง มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม ติดแม่น้ำสายบุรี ที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ไหลผ่านมาทางแม่น้ำตอนบนในเขตอำเภอสุคีริน ผ่านมาทางอำเภอศรีสาคร อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส และลงสู่พรุลานควายหรือบึงโต๊ะพรายหรือพรุน้ำดำ ซึ่งเป็นแอ่งน้ำและป่าพรุที่สำคัญของพื้นที่
ลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ฤดูฝนจะมีน้ำหลากและน้ำส่วนเกินในแม่น้ำสายบุรี จะไหลเข้ามาในพรุลานควายและพรุต่าง ๆ ในพื้นที่ พรุจะทำหน้าที่เป็นแก้มลิงเก็บน้ำ พรุมีลักษณะเหมือนทะเลสาบ ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม ซึ่งในช่วงนี้จะเห็นพรุมีลักษณะเหมือนทะเลสาบ หากน้ำล้นจากพรุ จะท่วมบ้านเรือน ทุ่งเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้าน เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน น้ำบางส่วนในพรุจะระบายลงสู่แม่น้ำสายบุรี ในอดีตพื้นที่ลุ่มบางส่วน ชาวบ้านจะใช้ทำนาในฤดูน้ำหลาก เรียกว่า นาพรุ หรือนาปีและใช้เรือในการเก็บเกี่ยวข้าว
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนบ้านจะรังตาดง จำนวน 454 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 2,039 คน แบ่งประชากรชาย 1,034 คน หญิง 1,005 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 2,039 คน ในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
ผู้คนในชุนชนบ้านจะรังตาดง มีการรวมกลุ่มที่เป็นทางการ
กลุ่มสตรี เป็นกลุ่มองค์กรที่มีเป้าหมายให้สมาชิกในชุมชนมีรายได้ใช้หมุนเวียนในชุมชนโดยการจัดทำขนมเพื่อนำไปขายต่อเป็นรายได้แก่สมาชิกในชุมชนสร้างความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจระดับรากหญ้า
ด้านกลุ่มอาชีพ พื้นที่แห่งนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ปลูกต้นยาง ทุเรียน ลองกอง ในอดีตพื้นที่ลุ่มบางส่วน ชาวบ้านจะใช้ทำนาในฤดูน้ำหลาก เรียกว่า นาพรุ หรือนาปีและใช้เรือในการเก็บเกี่ยวข้าว รองลงมาประกอบอาชีพรับราชการและค้าขาย
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการช่วยเหลือกันในชุมชน ในกิจกรรมของชุมชน เช่น งานเมาลิด งานมัสยิด งานแต่งงาน การเกี่ยวข้าว เป็นต้น เป็นชุมชนที่มีพื้นว่างจากการปลูกสร้างที่พักอาศัยน้อยมาก เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีพื้นที่แคบ ทำให้การอยู่อาศัยเป็นกลุ่มคน หรือละแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าได้ทุกกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติที่ตามมาอยู่ในชุมชน
ในรอบปีของผู้คนบ้านจะรังตาดงมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- งานเมาลิดนบี เป็นวันแห่งการยกย่องวันเกิดของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) คำว่า "เมาลิด" เป็นภาษาอาหรับแปลว่า เกิด, ที่เกิด หรือวันเกิด ซึ่งหมายถึงวันเกิดของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) ตรงกับวันที่ 12 เดือนรอบิอุลเอาวัล หรือเดือนที่ 3 ตามปฏิทินอิสลาม กิจกรรมในงานเมาลิดได้แก่ การอัญเชิญคัมภีร์อัล-กุรอาน การกล่าวสรรเสริญ อ่านซางี เพื่อระลึกถึงท่านบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่ไปร่วมงานด้วย ในชุมชนจะรังตาดงจะจัดงานเมาลิดทุกปีโดยจะจัดในมัสยิดมีกิจกรรมฟังบรรยายและร่วมรับประทานอาหารพร้อมกัน
- ประเพณีการกวนอาซูรอ เป็นการรำลึกถึงความยากลำบากของศาสดา นบีนูฮ โดยเชื่อว่าในสมัยของท่านมีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมโลกเป็นระยะเวลานาน ศาสดานบีนูฮ ซึ่งล่องลอยเรืออยู่เป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เตรียมไว้ร่อยหรอลง จึงได้นำส่วนที่พอจะมีเหลือเอามารวมกันแล้วกวนกิน กลายเป็นตำนานที่มาของขนมอาซูรอ
คำว่า "อาซูรอ" คือคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม ในที่นี้หมายถึงการนำของที่รับประทานได้ทั้งของคาวและของหวานจำนวน 10 อย่าง มากวนรวมกัน ประเพณีจะจัดในวันที่ 10 ของเดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของฮิจเราะห์ศักราชตามปฏิทินอิสลาม เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาปีใหม่ของมุสลิม ลักษณะกิจกรรมจะมีการรวมตัวของชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านจะนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เครื่องปรุง ข่าตะไคร้ หอมกระเทียม เมล็ดผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ โดยวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกกวนในกระทะเหล็กใช้เวลาเกือบ 6-7 ชั่วโมง โดยต้องกวนตลอด จนกระทั่งสุกแห้ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยมีการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์และสามัคคีของคนในชุมชน งานอาซูรอถือว่าเป็นกิจกรรมสำคัญของพื้นที่ชุมชนจะรังตาดงเพราะชาวบ้านในชุมชนให้ความร่วมมือมาช่วยงานจนสำเร็จลุล่วงได้อย่างดี
- วันตรุษอิดิลฟิตรี หรือที่นิยมเรียกว่า “วันรายอปอซอ” เพราะหลังจากที่มุสลิมได้ถือศีลอดมาตลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ของศาสนาอิสลาม ก็จะถึงวันออกบวช ตอนเช้าจะมีการละหมาดร่วมกัน ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด สวยงาม และมีการจ่าย “ซะกาตฟิตเราะฮ์”
- วันตรุษอิดิลอัฏฮา หรือวันรายอฮัจยี เนื่องจากมุสลิมทั่วโลกเริ่มประกอบพีธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มีการทำกุรบาน หรือการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่เพื่อนบ้านและคนยากจน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงกับเดือน ซุลฮิจยะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด เป็นหลักปฎิบัติที่มุสลิมจำเป็นต้องถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน มุสลิมที่มีอายุเข้าเกณฑ์ศาสนบัญญัติจะต้องงด การกิน ดื่ม การร่วมประเวณีตลอดจนทุกอย่าง ที่เป็นสิ่งต้องห้าม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งตกดิน ทุกคนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีประเสริฐยิ่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งในเดือนนี้ ชาวมุสลิมจะไปละหมาดที่มัสยิด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ปฏิบัติภายในเดือนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่า "ละหมาดตะรอเวียะห์" ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินของศาสนา
- การละหมาด เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวมุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยถือว่าเป็นการเข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างที่ยิ่งใหญ่ การแต่งกายต้องสะอาด เรียบร้อย มีความสำรวม พระองค์กำหนดเวลาละหมาดไว้วันละ 5 เวลา
- การทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ทรงบังคับ ให้มุสลิมที่มีความสามารถด้านกำลังกาย กำลังทรัพย์ ต้องไปทำฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีขึ้นปีละครั้ง ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางมารวมกัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มีฐานะทางสังคมอย่างไร ต้องมาอยู่ที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ทุกคนมีฐานะเป็นบ่าวของอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน
- การเข้าสุนัต เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมุสลิม ถือกันว่ามุสลิมที่แท้จริงควรเข้าสุนัต ถ้าไม่ทำถือว่า เป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ การเข้าสุนัต คือการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชายออก เพื่อสะดวกในการรักษาความสะอาด การเข้าสุนัตจะนิยมขลิบในช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการเรียนการสอนของเด็กในพื้นที่ กิจกรรมจะมีการขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ และมีการเตรียมอาหารเป็นข้าวเหนียวสีต่าง ๆ บางพื้นที่จะมีการขลิบเป็นหมู่คณะ โดยมีเด็กในชุมชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ สวนยางพารา สวนผลไม้ และการค้าขาย ในอดีตพื้นที่บ้านจะรังตาดงมีการทำนา โดยชุมชนจะร่วมมือลงแขกในการเก็บเกี่ยวจากนั้นนำผลผลิตส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธ์ุปีต่อปี นอกจากนั้นจะแบ่งปันให้เครือญาติ แต่มาภายหลังเนื่องจากมีการนิยมปลูกยางพารา ทำให้การทำนาปีได้สูญหายไปเหลือเพียงพื้นที่นาร้าง
1. นายการิม ผู้เชี่ยวชาญในการรักษากระดูกหรือชาวบ้านจะเรียกว่าหมอกระดูกว่า ชาวง เพี้ยนมาจากคำว่า หมอลูวง หรือหมอหลวง โดยชาวง หมอกระดูกเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปและมีการสืบทอดการเป็นหมอกระดูกมาจากบรรพบุรุษจนถึงลูกหลานในปัจจุบัน
อาหาร อาหารที่นิยมรับประทานประเภทแกง ชาวบ้านจะเรียกว่า ฆูลา หรือ มัสมั่นเนื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่นิยมปรุงกินในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน วันอีด เป็นต้น
ภาษามลายู หรือภาษามาเลย์เป็นภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ซึ่งใช้ในดินแดนประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และภาคใต้ของประเทศไทย
ประเทศไทยมีจังหวัดที่มีประชากรพูดภาษามลายู คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางอำเภอของจังหวัดสงขลา ประชากรที่นี่ส่วนใหญ่เขียนและบันทึกโดยใช้อักษรยาวี ปัจจุบันคนในชุมชนยังคงรักษาไว้ซึ่งภาษาท้องถิ่นในพื้นที่อย่างเหนียวแน่น ชุมชนจะรังตาดงยังคงใช้ภาษามลายูในการพูดคุยสื่อสารกับคนในภายในชุมชนเป็นหลัก
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ การสร้างบ้านเรือนที่มีความทันสมัยมากขึ้น ประกอบกับอิทธิพลทางการศึกษาสมัยใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิม
บ้านจะรังตาดงเผชิญกับความท้าทายด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ เนื่องจากเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตามไม่ได้เป็นปัญหากระทบพื้นที่โดยรวมเนื่องจากพื้นที่น้ำท่วมเกิดเฉพาะในพื้นที่รอบนอกที่เป็นที่ราบลุ่ม แต่ในปัจจุบันชาวบ้านได้มีการปรับตัวโดยการปลูกบ้านเรือนแบบยกพื้นใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม
ในชุมชนบ้านจะรังตาดง มีจุดน่าสนใจที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้แก่ คลองแม่น้ำสายบุรี ร้านก๋วยเตี๋ยวกะนาเจ้าเก่า
ซูไรดา เจะนิ. (2559). การศึกษาภูมินามของหมู่บ้านในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา. ทุนอุดหนุนจากงบประมาณการศึกษาปี (2559). มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
ลม้าย มานะการ. (2557). บทบาทชายหญิงมุสลิมในการจัดการดูซงบ้านจะรังตาดง ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชาพัฒนาสังคม. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์