Advance search

ล้อเกวียนแห่งตำนาน สืบสานประเพณี สักการะแม่ชี-พ่อเถร สวยเด่นผ้าทอมือ เลื่องลือความสามัคคี ของดีข้าวปลอดสาร สืบชาติพันธุ์ลาวครั่ง เด่นดังภาษาถิ่น

หมู่ที่ 5, 6
 สระยายชี
เนินปอ
สามง่าม
พิจิตร
ทต.เนินปอ โทร. 0 5603 9926 , 0 5603 9871
ธนพร ศรีสุขใส, บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
14 ธ.ค. 2024
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
26 ธ.ค. 2024
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
7 ม.ค. 2025
บ้านสระยายชี

ความเป็นมาของชื่อชุมชนว่ามาจากตำนานยายชีและตาเถร แต่ก่อนที่แห่งนี้ยังไม่มีชื่อหมู่บ้าน ต่อมามีชายหญิงคู่หนึ่ง ฝ่ายชายชื่อตาเถร ฝ่ายหญิงชื่อยายชี ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ฝ่ายชายจะตั้งชื่อตัวเองเป็นชื่อหมู่บ้าน ฝ่ายหญิงไม่ยอมเพราะอยากใช้ชื่อตัวเองเช่นกัน ทั้งสองจึงได้ตกลงกันว่าจะขุดสระน้ำแข่งกัน ถ้าฝนตกลงมาสระน้ำของใครเก็บน้ำได้มากกว่าผู้นั้นจะเป็นฝ่ายชนะและได้ใช้ชื่อของตนเองเป็นชื่อหมู่บ้าน เมื่อตกลงกันแล้ว ทั้งสองได้ลงมือขุดสระพร้อมกัน ฝ่ายชายนั้นคิดว่าตนมีกำลังมากกว่าแข็งแรงกว่า จึงเลือกขุดสระน้ำในบริเวณที่มีพื้นที่ดอน ส่วนฝ่ายหญิงนั้นเลือกขุดบริเวณที่มีพื้นที่ต่ำและเป็นแอ่งน้ำเดิม ฝ่ายหญิงนั้นขุดโดยไม่ย่อท้อ เนื่องจากมุ่งมั่นที่จะขุดให้ชนะ ส่วนฝ่ายชายขุดบ้างหยุดบ้างโดยประมาทฝ่ายหญิงว่าคงขุดได้ไม่มาก จนในที่สุดเมื่อฝนตกลงมา สระน้ำของฝ่ายหญิงเก็บน้ำได้มากกว่า จึงเป็นฝ่ายชนะ ทำให้หมู่บ้านนี้มีชื่อว่า "บ้านสระยายชี" (สัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านชนะพล ศรีเดช, 30 สิงหาคม 2567) 


ล้อเกวียนแห่งตำนาน สืบสานประเพณี สักการะแม่ชี-พ่อเถร สวยเด่นผ้าทอมือ เลื่องลือความสามัคคี ของดีข้าวปลอดสาร สืบชาติพันธุ์ลาวครั่ง เด่นดังภาษาถิ่น

 สระยายชี
หมู่ที่ 5, 6
เนินปอ
สามง่าม
พิจิตร
66140
16.4115422777768
100.161567628383
เทศบาลตำบลเนินปอ

บ้านสระยายชีมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2466 โดยผู้คนไทครั่งจากบ้านสว่าง รวมจำนวนประมาณ 15 ครอบครัว ในอำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี และคนไทครั่งจากบ้านโคกหม้อ ปัจจุบันขึ้นอยู่กับอำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ได้อพยพมาเพื่อจับจองที่ไร่ที่นาเป็นแหล่งทำกินและตั้งรกราก หลวงปู่ผาและยายปิ่นผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้อพยพติดตามพ่อแม่มาในครั้งนั้นด้วย ได้เล่าให้ลูกหลานฟังว่า การอพยพครั้งนั้นเป็นการอพยพทั้งครอบครัว แต่ละครอบครัวมีเกวียนของตัวเองเป็นพาหนะในการบรรทุกสิ่งของ และยังต้อนวัวต้อนควายมาด้วยจำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในการทำไร่ทำนา ผู้นำในการอพยพครั้งแรกชื่อพ่อเฒ่ากวน คำพา เป็นผู้ชำนาญในการบวงสรวงผีสางเทวดา จึงได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้นำทาง พร้อมทั้งพ่อเฒ่าบุญตา พ่อเฒ่าบาง พ่อเฒ่าเกาะ พ่อเฒ่ากิ่ง พ่อเฒ่าทองศรี และแป๊ะยก ซึ่งเป็นคนจีนครอบครัวเดียวที่อพยพมาในครั้งนั้นด้วย การเดินทางในครั้งนั้นใช้เวลาเป็นแรมเดือนจนมาถึงบ้านไผ่ล้อม ปัจจุบันขึ้นอยู่กับอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร และได้หยุดตั้งที่พักแรมเพื่อสำรวจหาที่ที่เหมาะสมในการทำไร่ทำนา ผู้อพยพพักแรมที่บ้านไผ่ล้อมนานประมาณ 1 เดือน จนได้มาพบสระน้ำขนาดใหญ่ 2 สระ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ที่แห่งนี้ถือเป็นที่ที่เหมาะสมในการตั้งบ้านเรือนและทำไร่ทำนา ในเวลาต่อมาได้จึงได้ตั้งชื่อสระน้ำทั้ง 2 แห่งนี้ว่า "สระตาเถร" ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสระยายชีมิตรภาพที่ 79) และ "สระยายชี" อยู่ทางทิศตะวันตก (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดสระยายชี) ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันว่าบริเวณพื้นตรงนี้เป็นเนินสูงว่างเปล่า แต่พื้นที่โดยรอบเป็นที่ราบลุ่มเหมาะสมเป็นพื้นที่ทำไร่นา อีกทั้งยังมีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นอยู่ประปราย มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ชุกชุม ผู้อพยพประชุมกันแล้วทุกคนเห็นว่าทุ่งแห่งนี้มีความเหมาะสมที่จะหมู่บ้าน จึงได้ลงหลักปักฐานสร้างบ้านกัน ณ ที่แห่งนี้ ต่อมาได้มีครอบครัวญาติพี่น้องอพยพตามมาอีกเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ และเรียกชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านสระยายชี" ขึ้นกับตำบลรังนก อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงมาอยู่กับตำบลเนินปอจนถึงปัจจุบัน ผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายคำ สุขเกษม และมีผู้ใหญ่บ้านต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันรวม 6 คน

หมู่บ้านสระยายชีเป็นชุมชนของกลุ่มคนชาติพันธุ์ "ไทครั่ง" หรือที่เรียกกันว่า "ลาวครั่ง" มีประวัติการถูกกวาดต้อนมา พร้อมกลุ่มลาวอื่น ๆ จากหลวงพระบางและเวียงจันทน์ สืบเชื้อสายบรรพบุรุษซึ่งเคยอาศัยอยู่ทางตอนบนของลำน้ำโขง โดยมีผู้สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณเทือกเขาภูฆัง ชาว "ไทครั่ง" ถูกกวาดต้อนเข้าประเทศไทยด้วยเหตุผลทางสงครามตั้งแต่ปลายสมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 มาอยู่บริเวณเมืองหลวงภาคกลาง กลุ่มไทครั่งในภูมิภาคเหนือตอนล่างเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อมาภายหลังอพยพจากบริเวณภาคกลาง เช่น นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และราชบุรี กระจายตัวขึ้นมาทำมาหากินบริเวณทางภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ พิจิตร และกำแพงเพชร

จากการสืบย้อนตามรอยลาวครั่งของอัญชลี สิงห์น้อย วงศ์วัฒนา ได้มีการอธิบายว่าไทครั่งที่อพยพมาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัชกาลที่สาม สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มไทครั่ง-เวียงจันทร์ และกลุ่มไทครั่ง-หลวงพระบางจากการศึกษาครั้งนั้นทำให้คนบ้านสระยายชีทราบว่าตนเองคือ ไทครั่ง-หลวงพระบาง ซึ่งมีประวัติการอพยพเข้าประเทศไทย ด้วยเหตุผลทางสงครามเช่นเดียวกับไทครั่ง-เวียงจันทน์ หากแต่มาจากเมืองภูฆัง อาณาเขตหลวงพระบางในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยเข้าประเทศไทยทางด่านซ้าย จังหวัดเลย ผ่านลงมาทางอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เดินทางผ่านพิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร อุทัยธานี ลงไปอยู่บริเวณภาคกลางที่จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อพำนักอยู่ที่เมืองหลวงกรุงธนบุรีได้ระยะหนึ่งก็อพยพกระจายออกไปยังจังหวัดใกล้เคียงเช่น นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี ต่อมาหรืออีกประมาณเกือบ 200 ปี ไทครั่ง-หลวงพระบาง ได้อพยพจากจังหวัดนครปฐมขึ้นมาทางภาคเหนือ ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าสาเหตุการอพยพอาจจะเป็นเหตุผลเดียวกันกับชาวไทดำ เพื่อที่จะกลับไปยังถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนที่ประเทศลาว ในการอพยพครั้งนี้ได้มีการแวะพักเป็นระยะ ๆ มาที่บ้านกุดจอก ตำบลกุดจอก อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ต่อมามีบางส่วนอพยพต่อไปที่ชุมชนบ้านโคกหม้อ ตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี จากจังหวัดอุทัยธานีก็แพร่กระจายเข้าจังหวัดนครสวรรค์ ทางอำเภอลาดยาว อำเภอแม่วงศ์ อำเภอท่าตะโก อำเภอเมืองนครสวรรค์ และอำเภอบรรพตพิสัย ต่อมามีส่วนหนึ่งอพยพจากบ้านเขาหน่อ ตำบลบ้านแดน อำเภอบรรพตพิสัย เข้าไปในจังหวัดกำแพงเพชร โดยตั้งรกรากครั้งแรกที่บ้านหนองเหมือด ตำบลแสนตอ อำเภอขาณุวรลักษบุรี และแพร่กระจายต่อไปยังอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร และพิษณุโลก

“มาจากอุทัยธานี แต่จริง ๆ แล้วมาจากสุพรรณบุรีก่อน แล้วก็มาชัยนาท อำเภอหนองมะโมง มีที่บ้านเนินขาม แต่ส่วนหนึ่งเป็นลาวเวียงที่มาจากเวียงจันทร์ แล้วโดนกวาดต้อนมาพร้อมกันกับลาวครั่งที่มาจากหลวงพระบาง จากชัยนาทก็ขึ้นมาที่อุทัยธานี แล้วก็ไปพิษณุโลก นครไทย หนองคาย พวกนี้เป็นลาวครั่งที่เตรียมอพยพกลับหลวงพระบาง แล้วที่สระยายชีก็คือพวกที่ตกค้างอยู่แถวนี้ ไปไม่ถึงหลวงพระบาง ก็เลยตั้งรากฐานอยู่แถวนี้ ตอนแรกก็มาจากกรุงเทพฯ นั่นแหละ โดนกวาดต้อนมาใช่มั้ยละ พอเสร็จศึกสงครามก็กลับ ก็ล่องมาเรื่อย นครปฐม มาสุพรรณ มาชัยนาท มานครสวรรค์ พวกนี้เตรียมกลับ มาถึงนครสวรรค์ พิดโลก หนองคาย เพชรบูรณ์ เพชรบูรณ์เค้าจะเรียกว่าลาวหล่ม แต่สำเนียงคือลาวครั่ง แต่เค้าก็จะเรียกตามถิ่นว่าลาวหล่มสัก แต่เค้าจะเรียกสั้นๆ ว่าลาวหล่ม ลาวเลยก็สำเนียงเหมือนกัน พวกนี้คือเตรียมตัวกลับแล้ว แต่ตกค้าง” (สัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านชนะพล ศรีเดช, 30 สิงหาคม 2567)

บ้านสระยายชี หมู่ 5 และหมู่ 6 ตั้งอยู่ในตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอสามง่ามไปทางทิศเหนือประมาณ 18 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอเมืองจังหวัดพิจิตรไปทางทิศตะวันออกประมาณ 30 กิโลเมตร บ้านสระยายชีมีอาณาเขตทางทิศเหนือติดต่อกับบ้านเนินปอ หมู่ 1 ทางทิศใต้ติดต่อกับบ้านยางห้าหลุม ทิศตะวันออกติดต่อกับบ้านสระยายชี หมู่ 6 และทิศตะวันตกติดต่อกับบ้านเนินพลวงเหนือ การเดินทางเข้าหมู่บ้านทางด้านทิศตะวันออกใช้เส้นทางคลองโนน-บ้านสระยายชี ถนนหมายเลข 114 ระยะทาง 18 กิโลเมตร เส้นทางด้านทิศตะวันตกใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 117 นครสวรรค์-พิษณุโลก 1.5 กิโลเมตร เส้นทางด้านทิศเหนือ สายสามง่าม-พิจิตร ใช้เส้นทางแยกตลาดสามง่ามรายชะโด-รังนก ระยะทาง 17 กิโลเมตร 

บ้านสระยายชีมีพื้นที่ทั้งหมด 9,821 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตร 9,520 ไร่ และเป็นพื้นที่ตั้งบ้านเรือนและสถานที่สำคัญในชุมชนประมาณ 300 กว่าไร่ บ้านสระยายชีมีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตร ส่วนพื้นที่อยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่น มีลักษณะการตั้งบ้านเรือนเป็นแนวยาวขนานกับถนนคอนกรีตกลางหมู่บ้าน และถนนหนองโสน-คลองโนน บ้านเรือนส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบสูงหากเทียบกับพื้นที่ทำนา ทำให้น้ำท่วมไม่ถึง จึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมจากแหล่งน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ทั้งนี้ บ้านสระยายชีมีลำคลองธรรมชาติที่ไหลผ่าน 1 สาย คือคลองธรรมชาติสายหนองโสน-รังนก ที่ไหลผ่าน 6 หมู่บ้านในเขตตำบลเนินปอ รวมทั้งหมู่ 5 บ้านสระยายชี ในฤดูฝนน้ำหลากจากจังหวัดกำแพงเพชรจะมีน้ำไหลเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เกษตรที่อยู่ติดลำคลอง สำหรับในฤดูแล้งหมู่บ้านและพื้นที่เกษตรที่ทำนาปรังได้รับน้ำจากโครงการคอท่อทองแดงวังบัว จังหวัดกำแพงเพชร

ข้อมูลแผนพัฒนาชุมชนบ้านสระยายชีหมู่ 5 และหมู่ 6 ประจำปี 2567 ระบุว่าหมู่บ้านสระยายชีประกอบด้วยประชากรเกือบ 2,000 คน หรือแบ่งเป็น 513 หลังคาเรือน บ้านสระยายชีเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประกอบด้วยประชากรที่ส่วนใหญ่เป็นคนไทครั่ง แบ่งเป็นประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ราว 600 คน เด็กและเยาวชนประมาณ 500 คน และกลุ่มคนวัยทำงานราว 800 คน ในจำนวนนี้มีผู้ออกไปทำงานต่างจังหวัดประมาณร้อยละ 30 อย่างไรก็ตาม ประชากรในหมู่บ้านมีการดูแลกันด้วยระบบเครือญาติ และยังมีการดูแลด้วยระบบ อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ซึ่งมีการแบ่งโซนการดูแลออกเป็น 10 คุ้มตามเขตความรับผิดชอบของ อสม. แต่ละกลุ่ม และมีกรรมการหมู่บ้านร่วมดูแล

บ้านสระยายชียังมีการปกครองด้วยระบบเครือญาติ "พี่นับถือน้อง น้องนับถือพี่" โดยมีผู้นำที่ไม่เป็นทางการ คือผู้สูงอายุที่เป็นที่นับถือของคนในครอบครัว เนื่องจากคนไทครั่งนับถือผู้อาวุโสในครอบครัวเป็นใหญ่ เห็นได้จากการรับประทานอาหารภายในครอบครัว เมื่อมีผู้อาวุโสอยู่ร่วมครัวเรือน คนในครอบครัวจะเชิญผู้อาวุโสที่สุดรับประทานก่อนหรือประเดิมการรับประทานอาหารในมื้อนั้น 1-2 คำก่อน ด้วยรูปแบบการเคารพนับถือผู้สูงอายุของชาวไทครั่ง ทำให้เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งหรือข้อพิพาทกันภายในหมู่บ้าน เช่น การทะเลาะกันระหว่างวัยรุ่น ปัญหาการรุกล้ำที่ดิน ปัญหาการแย่งน้ำ ปัญหาระหว่างเครือญาติ หรือปัญหาการทำผิดประเพณีวัฒนธรรม มักจะนำความไปบอกกล่าวผู้อาวุโสเป็นผู้ไกล่เกลี่ยคลี่คลายปัญหา โดยที่ไม่ต้องมีการร้องเรียนถึงผู้ใหญ่บ้านหรือกรรมการหมู่บ้าน หรือไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลหรือเป็นคดีความ อย่างไรก็ตาม หากยอมความกันไม่ได้ก็จะแจ้งผู้ใหญ่บ้านให้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้มาตรการทางกฎหมาย

การแต่งงานของคนไทครั่ง ฝ่ายชายเป็นฝ่ายออกจากเรือนไปอยู่กับครอบครัวของฝ่ายหญิง ทั้งนี้ การแต่งงานของคนไทครั่งบ้านสระยายชีนิยมแต่งงานกับคนไทครั่งเหมือนกัน เช่นเดียวกับชุมชนคนไทครั่งอื่น ๆ การแต่งงานกับคนกลุ่มอื่นถือเป็นข้อห้ามสำคัญของกลุ่มไทครั่ง ในอดีตหรือในสมัยเมื่อย้ายมาอยู่บ้านสระยายชีเริ่มแรก การแต่งงานกับคนไทยในหมู่บ้านรอบข้างหรือคนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ถือเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากคนไทครั่งสมัยปู่ย่าตายายมีการรับรู้หรือมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับคนไทย จึงทำให้เกิดอคติ ประกอบกับข้อห้ามเกี่ยวกับการเดินทางออกนอกหมู่บ้าน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ถูกห้ามไม่ให้เดินทางไปที่อื่นโดยไม่มีพ่อแม่ไปด้วย การแต่งงานเมื่อเริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน จึงเป็นการแต่งงานเฉพาะภายในกลุ่มครอบครัวที่อพยพมาที่เป็นคนไทครั่งเท่านั้น แม้จะมีคนจีนหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นอพยพมาด้วยกันก็ไม่สามารถแต่งงานกับคนเหล่านี้ได้ ทำให้นามสกุลในหมู่บ้านสระยายชีมีเฉพาะนามสกุลของคนลาวครั่งไม่กี่นามสกุล ได้แก่ พิลึก ศรีเดช สุขเกษม แก้ววิจิตร และขุนพิลึก (ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับนามสกุลพิลึกได้จากสรัช สินธุประมา และคณะ, 2555, น.199-202) อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน บ้านสระยายชีปรากฏนามสกุลอื่น ๆ มากขึ้น เนื่องจากมีกลุ่มคนชาติพันธุ์อื่นอาศัยร่วมอยู่ด้วย จากการแต่งงานข้ามกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่ได้ออกไปเรียนหรือไปทำงานนอกหมู่บ้าน ทำให้ได้ติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมากขึ้น จนทำให้เกิดความเข้าใจและยอมรับในวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น

ลาวครั่ง

บ้านสระยายชีมีองค์กรชุมชนแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1) องค์กรชุมชนภายใต้การปกครองส่วนท้องที่และท้องถิ่น ได้แก่ คณะกรรมการหมู่บ้าน ประกอบด้วยสมาชิก 17 คน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและเลขานายกเทศมนตรีเป็นรองประธาน และกรรมการหมู่บ้านฝ่ายต่าง ๆ ได้แก่ ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายรักษาความสงบ ฝ่ายพัฒนาหมู่บ้าน ฝ่ายส่งเสริมเศรษฐกิจ ฝ่ายสังคม สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข ฝ่ายการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านต่าง ๆ คอยให้คำปรึกษา และ

2) องค์กรชุมชนที่เป็นกลุ่มอาชีพ 12 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีจำนวนสมาชิกและทุนในการดำเนินการดังนี้

  1. กลุ่มโรงสีสวัสดิการชุมชนตำเนินปอ จำนวนสมาชิก 980 คน
  2. กลุ่มนาแปลงใหญ่บ้านสระยายชี จำนวนสมาชิก 48 คน
  3. กลุ่มทอผ้าตีนจกลาวครั่งบ้านสระยายชี จำนวนสมาชิก 30 คน
  4. กลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสระยายชีหมู่ 5 จำนวนสมาชิก 21 คน
  5. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มไร่นาสวนผสม จำนวนสมาชิก 85 คน
  6. กลุ่มแปรรูปอาหารบ้านสระยายชี จำนวนสมาชิก 30 คน
  7. กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสระยายชี จำนวนสมาชิก 1,525 คน
  8. ศูนย์สาธิตการตลาดบ้านสระยายชี สมาชิก 817 คน
  9. แปลงใหญ่มะม่วง จำนวนสมาชิก 48 คน
  10. แปลงใหญ่มันสำปะหลัง จำนวนสมาชิก 50 คน
  11. กลุ่มขนมโบราณ จำนวนสมาชิก 14 คน
  12. กลุ่มมะพร้าวเสวย จำนวนสมาชิก 14 คน

องค์กรชุมชนของบ้านสระยายชี เกิดขึ้นจากความต้องการแก้ปัญหาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมที่มีความผันผวนไม่แน่นอน สระยายชีเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประกอบด้วยทุนชุมชนจำนวนมากที่สามารถนำมาใช้สร้างกลุ่ม/องค์กรที่มีการบริหารและดำเนินการการผลิตและการตลาดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อลดต้นทุน เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และเพื่อการพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มโรงสีสวัสดิการชุมชนตำบลเนินปอ ก่อตั้งเมื่อปี 2544 ด้วยความพยายามของชุมชนในหาทางออกและสร้างทางเลือกในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวด้วยตนเอง ซึ่งชาวบ้านได้เข้าร่วมกันเป็นเถ้าแก่โรงสีเพื่อรับซื้อและขายข้าวจากพี่น้องชาวนาที่เป็นสมาชิกกว่า 1,000 คน โดยสมาชิกจะมีการรวมหุ้นละ 100 บาท ไม่เกิน 100 หุ้นต่อสมาชิก 1 คน และในรูปแบบกลุ่มไม่จำกัดวงเงิน โดยให้เพิ่มหุ้นได้เฉพาะ 3 ปีแรกของการดำเนินการกลุ่ม และพัฒนากิจการมาอย่างต่อเนื่องโดยความร่วมมือของคนในชุมชนซึ่งเป็นสมาชิก แบ่งการทำงานตามหน้าที่ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ 2 ฝ่ายที่ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิก ได้แก่ 1) กรรมการฝ่ายบริหาร 9 คน ซึ่งจะมีหน้าที่ด้านการวางนโยบาย วางแผนการผลิตและการตลาด รวมถึงการตรวจสอบบัญชีรายวัน รายเดือนและรายปี และ 2) กรรมการประจำวัน 28 คน ซึ่งจะคอยรับซื้อข้าวโดยใช้เครื่องชั่งที่ได้มาตรฐานและซื้อข้าวด้วยราคาที่เป็นธรรม รวมถึงการสนับสนุนส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ในกรณีของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสระยายชีเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของประชาชนในชุมชน จำนวน 74 คน ด้วยทุนเพียง 2,400 บาท ในปี 2525 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1,525 คน นอกจากการมุ่งส่งเสริมให้เกิดการออมทรัพย์และความสามารถพึ่งพาตัวเองได้ของสมาชิก กลุ่มออมทรัพย์ฯ ยังมีกิจกรรมเครือข่ายหลายอย่างที่เป็นการพัฒนาการพึ่งตนเองอย่างเข้มแข็งของสมาชิก เช่น การดำเนินการรับซื้อพืชผลของคนในชุมชน การจัดตั้งศูนย์สาธิตการตลาดบ้านสระยายชี จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 เพื่อช่วยเหลือสมาชิกลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ร้านค้าชุมชน ตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 เป็นการนำผลกำไรสะสมที่เหลือจากการปันผลให้กับสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ จัดซื้อที่ดินและสร้างอาคารตลาดลาว ส่งเสริมให้คนในชุมชนนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคมาขาย รวมถึงการส่งเสริมสมาชิกที่ต้องการประกอบอาชีพหรือมีกิจการเป็นของตัวเอง สามารถกู้ยืมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นทุนดำเนินกิจการได้ การดำเนินการเหล่านี้เป็นการยกระดับเศรษฐกิจของครัวเรือนและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนไปพร้อมกัน นอกจากนี้ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสระยายชีสามารถเป็นโรงเรียนเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้แก่กลุ่มออมทรัพย์อื่น ๆ ทั่วประเทศที่สนใจและเดินทางมาอบรมอยู่เป็นประจำในปัจจุบัน 

ศูนย์สาธิตการตลาดบ้านสระยายชีซึ่งเป็นกิจกรรมเครือข่ายของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสระยายชี เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและฝึกฝนให้กลุ่มรู้จักการทำธุรกิจด้านการค้าขาย โดยใช้แนวคิด "รวมกันซื้อ รวมกันขาย" เพื่อช่วยเหลือให้สมาชิกสามารถหาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้ในราคาถูก ผลกำไรปันคืนสู่ชุมชน อีกทั้งยังเป็นช่องทางการตลาดให้แก่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของคนในชุมชน ท่ามกลางการแข่งขันทางการค้ารอบตัว ร้านสะดวกซื้อที่เกิดขึ้นมากมาย และร้านค้าออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ศูนย์สาธิตการตลาดบ้านสระยายชีมีความพยายามรักษาคุณภาพสินค้าและบริการ มีการพัฒนาต่อยอดและยืนหยัดคู่กับชุมชนโดยนึกถึงผลประโยชน์ของคนในชุมชนเป็นสำคัญ จนได้รับการคัดเลือกเป็นศูนย์สาธิตการตลาดต้นแบบระดับประเทศ 1 ใน 18 ศูนย์สาธิตการตลาดต้นแบบ ปี 2563 ซึ่งได้ให้การศึกษาเรียนรู้แก่กลุ่มหรือชุมชนอื่น ๆ ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจค้าขายของชุมชนให้เติบโตอย่างแข็งแรง

ลุ่มอาชีพที่เป็นที่รู้จักของบ้านสระยายชี ได้แก่ กลุ่มทอผ้าตีนจกลาวครั่งบ้านสระยายชี ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2546 โดยการรวบรวมสมาชิกภายในหมู่บ้านที่มีเวลาว่างและสนใจในการเรียนรู้และสืบทอดกระบวนการทอผ้าแบบลาวครั่งซึ่งมีความงดงาม และเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ กลุ่มทอผ้ามีนางสาวสายชล ศรีเดช เป็นประธานกลุ่ม ช่วงเริ่มแรกของการก่อตั้งกลุ่ม สมาชิกภายในกลุ่มช่วยกันหาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในหมู่บ้าน เช่น กี่ ฟืม หลา หลักเฝือ โฮงหมี่ ทั้งโดยการหยิบยืมหรือได้จากการบริจาคของชาวบ้านที่ต้องการสนับสนุนและช่วยเหลือลูกหลานในการอนุรักษ์การทอผ้าแบบลาวครั่ง ต่อมา อาจารย์สราวุฒิ สิทธิกูล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้เข้ามาทำงานวิจัยเกี่ยวกับผ้าทอของลาวครั่ง และได้นำเทคนิคและวิธีการที่ทันสมัยมาแนะนำซึ่งทำให้การทอผ้าสะดวกรวดเร็ว และมีคุณภาพมากขึ้น ทำให้ผ้าทอตีนจกลาวครั่งบ้านสระยายชีเป็นที่รู้จักและมีการสั่งซื้อผ้าทอเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมหม่อนไหม ได้เข้ามาพัฒนาและส่งเสริมการผลิตและการตลาดผ้าทอ ทำให้ผ้าทอบ้านสระยายชีเป็นที่รู้จักระดับประเทศ ด้วยรางวัลการันตีคุณภาพมากมาย รวมถึงการได้รับตรานกยูงพระราชทาน ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพของผ้าไหมที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้

ข้อมูลแผนพัฒนาชุมชนบ้านสระยายชี หมู่ 5 ประจำปี 2567 ระบุว่าในบรรดา 254 ครัวเรือน มีสัดส่วนการประกอบอาชีพต่าง ๆ ดังนี้ การทำเกษตร ส่วนใหญ่เป็นการทำนาปลูกข้าว 250 ครัวเรือน ทำไร่มันสำปะหลัง 25 ครัวเรือน ไร่ข้าวโพด 3 ครัวเรือน เลี้ยงสัตว์ 3 ครัวเรือน อาชีพค้าขาย 5 ครัวเรือน รับราชการ 13 ครัวเรือน รับจ้างในภาคเกษตรกรรม 9 ครัวเรือน นอกจากนี้คือครัวเรือนที่มีคนหนุ่มสาววัยทำงานซึ่งออกไปทำงานต่างจังหวัดประมาณ 150 ครัวเรือน โดยข้อมูลจากฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานปี 2565 ระบุคนในชุมชนบ้านสระยายชีมีรายได้จำนวน 99,126 บาท/คน/ปี ซึ่งผ่านเกณฑ์ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี 2565 ซึ่งกำหนดไว้ว่าครัวเรือนที่มีรายได้ไม่ถึง 38,000 บาท/คน/ปี จัดเป็นครัวเรือนยากจน ควบคู่กับวิถีเกษตรกรรม ชาวไทครั่งบ้านสระยายชีมีการดำเนินวิถีทางประเพณีวัฒนธรรมในช่วงเวลาต่าง ๆ ในหนึ่งรอบปี ดังนี้

ประเพณีสู่ขวัญข้าว เดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ เป็นประเพณีที่เชื่อมโยงมาจากวิถีชีวิตด้านการเกษตรของคนในชุมชน จัดให้มีขึ้นในวัน ขึ้น 3 เดือน 3 ของทุกปี ซึ่งทำกันทุกหลังคาเรือน พิธีจะเริ่มตอนเช้าตรู่ จะมีหมอสู่ขวัญข้าวเป็นผู้ทำพิธี โดยเจ้าของข้าวจะเตรียมเครื่องเซ่นให้วแม่โพสพ ไว้ตั้งแต่ตอนเย็น ได้แก่ บายศรี เครื่องแต่งกาย แก้วแหวนเงินทอง เสื้อ ผ้าถุง ผ้าสไบ แป้ง หวี กระจก ไก่ต้ม ข้าวต้มมัด เผือก มัน ไข่ ข้าวสุก ข้าวหลาม ขนมตาควาย ขนมวง ขนมบัวลอย ขนมถั่วงา ข้าวพอง(ข้าวโกม) เหล้าขาว นำสิ่งของเหล่านี้ใส่กระบุงหรือจัดใส่ในภาชนะใส่ข้าวให้สวยงามนำไปไว้ที่ยุ้ง เพื่อเซ่นให้วแม่โพสพให้มาปกปักรักษาข้าวที่อยู่ในยุ้ง เพื่อความอุดมสมบูรณ์เหลือกินเหลือใช้ในปีต่อไป และในวันดังกล่าวถือเป็นวันดีที่ลูกหลานที่ครบบวช และไปฝากตัวกับเจ้าอาวาสเข้าวัดเป็นนาคเพื่อจะบวชพระหมู่ในเดือนมีนาคมสืบต่อไป 

ประเพณีงานแจงรวมญาติ จัดให้มีข้นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี วัตถุประสงค์ก็เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับญาติที่เสียชีวิตในรอบปีที่ผ่านมา เป็นประเพณีที่สร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มเครือญาติในชุมชนให้ทำกิจกรรมรวมกัน และลดค่าใช้จ่ายในการจัดงาน 

ประเพณีบวชนาคหมู่ จัดให้มีขึ้นในวันที่ 12-13 เมษายนของทุกปี เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นเนื่องจากต้องการให้บุตรหลานที่ทำงานใช้เวลาหยุดใช่วงสงกรานต์ที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ได้มีโอกาสบวชเรียนพระธรรมวินัยตามวิถีพุทธศาสนา อีกเป็นการช่วยพ่อแม่ลดภาระการจัดงานลดค่าใช้จ่ายตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง 

ประเพณีแห่ดอกไม้ ประเพณีอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของชาติพันธ์ุลาวครั่ง จะมีขึ้นในตอนเย็นหลังจากที่สงน้ำพระในวันมหาสงกรานต์ (วันพระเจ้าลง) ชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่วัดพร้อมทั้งดอกไม้ตามแต่จะหามาได้ และนิมนต์พระเณรแห่ไปในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะเตรียมน้ำใส่ถังหรือภาชนะเพื่อพระและเณรจะได้ประพรมน้ำให้ศีลให้พรเป็นสิริมงคลจะจัดให้ขึ้น 3 วัน 

ประเพณียกธงบอกเลิกสงกรานต์ เป็นประเพณีที่รักษาสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ที่ต้องอาศัยความรักความสามัคคีของคนในชุมชนทั้งแรงกายแรงทุนทรัพย์ โดยจะแบ่งเป็นกลุ่ม หรือคุ้ม ชาวบ้านจะช่วยกันประดิษฐ์ประดับประดาธงให้สวยงาม ส่วนผู้ชายก็จะจะไปตัดลำไผ่ที่มีลำต้นตรงสูงเท่าที่จะหาได้แล้วนำมาขัดเกาทาขมิ้นเพื่อความสวยงามเมื่อได้เวลาที่นัดหมายแล้วก็จะแห่ธงไปที่วัดเพื่อทำพิธียกธงบอกเลิกสงกรานต์ เป็นสัญลักษณ์ว่าหมู่บ้านนี้เลิกเล่นน้ำสงกรานต์แล้ว

ประเพณีบุญเดือนหก หรือทำบุญกลางบ้าน จัดให้มีขึ้นในเดือนพฤษภาคม ขึ้น 8 ค่ำ ของทุกปี ตามความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน เชื่อว่าการทำบุญกลางบ้านจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายสิ่งอัปมงคลให้ออกไปจากหมู่บ้าน และเป็นขวัญกำลังใจก่อนจะเข้าสู่ฤดูการทำไร่ทำนาในฤดูฝนในเดือนหก พิธีจะขึ้นที่หลักกลางหมู่บ้าน 2 วัน วันแรกฝ่ายผู้ชายจะช่วยกันทำกระทงเพื่อเอาไปวางตามทางแยก 4 ทิศ พร้อมทั้งนำด้ายสายสิญจน์ล้อมหมู่บ้าน ส่วนฝ่ายผู้หญิงจะช่วยกันนำฝ้ายมาม้วนเกลียวเพื่อให้ผู้ชายนำไปล้อมหมู่บ้านและทำความสะอาดจัดเตรียมสถานที่สำหรับทำพิธีสวดมนต์เย็น พระสงฆ์จะทำน้ำมนต์เพื่อนำไปรดตามเสาเรือนซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสิริมงคล ในเช้าของวันที่ 2 ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลเจ้ากรรมนายเวรผีบ้านผีเรือน เป็นอันเสร็จพิธี

ประเพณีสารทลาว จัดในวันขึ้น 15 เดือน 10 ซึ่งมักตรงกับเดือนกันยายน หลังทำบุญที่วัดเสร็จแล้ว คนในชุมชนจะนำข้าวตอกดอกไม้และกระยาสารทใส่ในชะลอมไปไว้ที่นาโดยมีไม้ลวกเป็นเสาแล้วนำชะลอมแขวนไว้ บอกกล่าวแม่โพสพที่กำลังตั้งท้องให้มารับเอาเครื่องบูชา เพื่อจะได้ออกรวงใหญ่และรวงดก ไม่ให้ นก หนู แมลง มารบกวน ในชะลอมมีขนมกระยาสารทและผลไม้ตามที่หาได้ รวมถึงข้าวตอกดอกไม้ และธงสามเหลี่ยมสีต่าง ๆ ใครมีที่นาหลายทุ่งต้องนำชะลอมไปไว้ให้ครบทุกทุ่ง

ประเพณีตีกลองยาวแห่ข้าวพันก้อน พิธีเริ่มตั้งแต่ตี 4 ของวันออกพรรษาเพื่อนำข้าวที่ได้จากทำนาไปถวายพระแม่โพสพและบูชาพระธรรม โดยการปั้นก้อนข้าวเล็ก ๆ จำนวน 1,000 ก้อน ซึ่งเท่ากับ 1,000 พระคาถาในเรื่องราวพระเวสสันดรชาดก นำมาแห่รอบพระอุโบสถ 3 รอบ แล้วนำข้าวใส่ที่เสมาโบสถ์ทั้ง 4 ก่อนจะมีการเทศน์มหาชาติลำดับต่อไป

ประเพณีแห่กัณฑ์หลอน (กะ-หลอน ภาษาถิ่นหมายความว่าไม่ให้ทันตั้งตัว) จัดขึ้นตอนเย็นของเทศน์มหาชาติ วันออกพรรษา หนุ่มสาวแต่ละคุ้มของหมู่บ้าน หรือผู้ที่พี่ชายหรือน้องบวชอยู่จะตั้งกองกัณฑ์หลอนขึ้นมาแห่ไปตามหมู่บ้าน แล้วแต่ใครจะร่วมทำบุญด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัย ข้าวสาร อาหารแห้ง สบู่ สมุด ดินสอ เมื่อตกเย็นก็จะแห่ไปรวมตัวกันที่วัด โดยไม่บอกล่วงหน้าว่าจะนิมนต์พระองค์ไหนขึ้นเทศน์ลำดับที่เท่าไร มีกี่องค์ องค์ใหนบ้าง จึงเป็นที่มาของคำว่ากัณฑ์หลอน  

ตารางที่ 1 ปฏิทินชุมชนบ้านสระยายชี

เดือน กิจกรรมภาคเกษตร (นาปี) กิจกรรมภาคเกษตร (นาปรัง) ประเพณีวัฒนธรรม
มกราคม - ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช  -
กุมภาพันธ์  - เกี่ยวข้าวรอบ 1 และปลูกข้าวรอบ 2 สู่ขวัญข้าว (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3), แจงรวมญาติงานประจำปี “งานรวมใจไทภูคัง”  
มีนาคม - ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช -
เมษายน - ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช  ทำบุญศาลพ่อเถร (ทุกวันที่ 2 เมษายน), ทำบุญศาลแม่ชี, บวชนาคหมู่, แห่ดอกไม้, ยกธงบอกเลิกสงกรานต์
พฤษภาคม ดำนา หว่านข้าวนาปี                                    เกี่ยวข้าวรอบ 2 และปลูกข้าวรอบ 3                      ทำบุญกลางบ้าน (ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6)
มิถุนายน ดำนา หว่านข้าวนาปี เกี่ยวข้าวรอบ 2 และปลูกข้าวรอบ 3 (ข้าวอายุยาว -
กรกฎาคม ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช ทำบุญเข้าพรรษา 
สิงหาคม ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช -
กันยายน ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช ประเพณีสารทลาว (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10) 
ตุลาคม เริ่มเกี่ยวข้าวอายุสั้น เริ่มเกี่ยวข้าวอายุสั้น ทำบุญออกพรรษา ประเพณีตีกลองยาวแห่ข้าวปั้นก้อน ฟังเทศน์มหาชาติ และประเพณีแห่กัณฑ์หลอน
พฤศจิกายน เริ่มเกี่ยวข้าวอายุสั้น เกี่ยวข้าวรอบ 3 (ข้าวอายุยาว) และปลูกข้าวรอบ 1 บุญกฐินวัดสระยายชี
ธันวาคม เกี่ยวข้าวอายุยาว ใส่ปุ๋ย/กำจัดศัตรูพืช -
   

นอกจากการจัดประเพณีตามช่วงเวลาต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ไทครั่งบ้านสระยายชียังมีเมนูอาหารซึ่งแสดงถึงวิถีวัฒนธรรมเฉพาะของท้องถิ่น วัตถุดิบในอาหารสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทครั่งได้อย่างชัดเจน ได้แก่ แจ่วหม้อ ซ่าบักแตง แกงบักโต๋น หลนปลาร้า แจ่วบักเขียว แกงส้มถั่วงอก เป็นต้น อาหารทั้งหมดนี้มีปลาร้าเป็นส่วนผสมสำคัญ และวัตถุดิบในอาหารก็สามารถหาได้ง่ายในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นแตงกวา แตงไทย มะเขือ บักโต๋นหรือฟักเขียว นอกจากอาหารคาว ไทครั่งบ้านสระยายชียังมีการทำขนมกินเล่นหลายอย่าง ได้แก่ ขนมกะทาด ขนมแตงไทย ขนมไข่แย้ ขนมส่วนใหญ่ของไทครั่งบ้านสระยายชีทำจากวัตถุดิบที่หาง่ายในท้องถิ่น เช่น ขนมกะทาด ทำจากหัวกะทาด พืชหาได้ตามท้องถิ่น มีเครือลักษณะเหมือนเครือของต้นกลอย มีหัวใต้ดินยาวเป็นวา ลักษณะคล้ายงวงช้าง นำมาบดละเอียด วิธีการทำเหมือนขนมตาล คนบ้านสระยายชีนิยมทำขนมชนิดนี้ในช่วงเข้าพรรษา ผู้เฒ่าผู้แก่มีความเชื่อว่าหากได้กินขนมกะทาดจะมีชีวิตยืนยาว เพราะได้รับธาตุดินจากหัวกะทาด พืชประเภทหัวใต้ดินมีรากยาวเป็นวา

จากการพูดคุยกับผู้ใหญ่ชนะพล ศรีเดช ได้เล่าเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์และรสชาติของอาหารไทครั่งบ้านสระยายชีของนักวิชาการท่านหนึ่งที่ศึกษาชุมชนลาวครั่งทั่วประเทศไทย การศึกษาครั้งนั้นทำให้รู้ว่าอาหารของบ้านสระยายชียังมีรสชาติคล้ายคลึงกับอาหารทางหลวงพระบาง

"ตามการศึกษาของนักวิชาการท่านหนึ่ง ผมจำชื่อเค้าไม่ได้ เค้าเป็นคนลาว เป็นศาสตราจารย์ เค้าบอกว่าเค้าทำวิจัย ชื่อว่า “ตามรอยลาวครั่ง” คือ เค้าตามรอยลาวครั่งจากหลวงพระบางว่ามาจากไหน ตั้งแต่กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี มาชัยนาท มานครสวรรค์ แล้วก็ไปจังหวัดเลยก่อน แล้วย้อนมาที่พิจิตร มาที่นี่เค้าทำเรื่องอาหาร คือเค้ารู้แล้วว่าประวัติลาวครั่งมายังไง ใช้เสื้อผ้ากันยังไง วัฒนธรรมประเพณีเป็นยังไง แต่ที่นี่เค้าให้เราลองทำอาหาร ว่าอาหารพื้นถิ่นเรานี้มันจะเหมือนกับที่หลวงพระบางมั้ย เค้าให้เราทำแกงส้มถั่วงอก กับแจ่วหม้อ ซึ่งเค้าบอกว่ารสชาติยังเหมือนเดิม เหมือนกับที่หลวงพระบาง"

บ้านสระยายชีเป็นชุมชนใหญ่ที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งชุมชนได้รับการขับเคลื่อนการพัฒนาโดยปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้รู้ผู้มีความสามารถหลายท่าน ส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโสที่คนในชุมชนให้ความเคารพนับถือ แต่ละท่านต่างมีบทบาทในกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ของชุมชน ภายใต้วิสัยทัศน์อันกว้างไกลเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน และด้วยประสบการณ์ลองผิดลองถูกที่สั่งสมมายาวนาน และการยึดถือคุณธรรมเป็นที่มั่น ทำให้ผู้อาวุโสนักพัฒนากลุ่มนี้เป็นที่เคารพนับถือและได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก ผู้อาวุโสนักพัฒนาที่กล่าวมานั้นมีหลายท่าน ได้แก่ พ่อเสริญ พิลึก อายุ 70 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านสระยายชีซึ่งได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมปี 2548 และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีตำบลเนินปอ ก่อนจะหมดวาระการทำงานและออกมาบริหารองค์กรชุมชนหลายองค์กรอย่างเต็มตัว พ่อเสริญถือเป็นผู้นำด้านการพัฒนาชุมชน ท่านเป็นผู้ริเริ่มชักชวนคนในชุมชนก่อตั้งกลุ่มองค์กรในชุมชนเกือบทุกกลุ่มตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มโรงสีข้าวชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ ตลาดชุมชน เป็นต้น ต่อมาพ่อเสริญได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในตำบลเนินปอให้ดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเนินปอ ด้วยความซื่อสัตย์และความแม่นยำ แม้ว่าพ่อเสริญจะมีอายุมากแล้วก็ตาม ทำให้คนในชุมชนยังคงเลือกพ่อเสริญเป็นคณะกรรมการและเป็นเหรัญญิกในหลายกลุ่มอย่างต่อเนื่อง  

ผู้นำการพัฒนาซึ่งมีบทบาทสำคัญอีกท่านคือ พ่อจันที พิลึก ปัจจุบันอายุ 65 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้าน 2 สมัย และสมัยที่ 2 ได้รับเลือกให้เป็นกำนันตำบลเนินปอ พ่อจันทีเป็นผู้มีประสบการณ์และความรู้ความสามารถในงานพัฒนาชุมชนมาอย่างยาวนาน ท่านมีผลงานการพัฒนาชุมชนเป็นที่ประจักษ์จำนวนมากกระทั่งได้รับรางวัลกำนันยอดเยี่ยมปี 2545 ระหว่างที่เป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน พ่อจันทีได้มุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเพื่อให้คนในชุมชนมีความมั่นคงในการดำรงชีพโดยที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง โดยหลังจากได้รับเลือกเป็นกำนันตำบลเนินปอ พ่อจันทีจึงได้ใช้โอกาสนี้ทำประชาคมเพื่อให้คนทั้งตำบลเนินปอได้ร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาชุมชนของตนเอง โดยเริ่มจากการทำประชาคมเพื่อสร้างโรงสีข้าวเพื่อคนในชุมชนไม่ต้องเดินทางไปสีข้าวกับโรงสีเอกชนซึ่งมีระยะทางไกลและไม่ได้ข้าวตามที่ตนเองต้องการ อีกทั้งยังเสียผลพลอยได้ เช่น แกลบหรือเปลือกข้าวและรำข้าว ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เมื่อคนในตำบลเห็นพ้องต้องกันเรื่องโรงสี พ่อจันทีและผู้นำคนอื่น ๆ จึงได้ร่วมกันขอรับงบประมาณจากกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund หรือ SIF) เพื่อนำมาสร้างโรงสี และได้เปิดรับการลงทุนในรูปแบบหุ้นส่วนจากคนในชุมชนเพื่อให้ทุกคนได้ร่วมเป็นเจ้าของโรงสี การดำเนินการโรงสีได้เติบโตและมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ พ่อจันทียังเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกก่อตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มร้านค้าสหกรณ์ ศูนย์สาธิตการตลาดชุมชน กลุ่มอาชีพต่าง ๆ เป็นต้น ต่อมาพ่อจันทีได้ลาออกจากตำแหน่งกำนันตำบลเนินปอ เพื่อลงสมัครและได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีตำบลเนินปอ ปัจจุบันพ่อจันทียังคงขับเคลื่อนงานและเป็นที่ปรึกษาในองค์กรชุมชนต่าง ๆ

ผู้อาวุโสนักพัฒนาของบ้านสระยายชียังมีพ่อทองอินทร์ ดวงเวียง ผู้ได้รับความไว้วางใจจากคนในชุมชนให้รับหน้าที่ประธานกลุ่มต่าง ๆ อยู่เสมอ เนื่องจากลักษณะความเป็นผู้นำ มีคำพูดที่น่าเชื่อถือ ภายใต้บุคลิกสงบนิ่งและสุขุม ในปัจจุบันแม้พ่อทองอินทร์จะมีอายุมากแล้ว แต่ท่านยังคงได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกชุมชนเลือกให้รับหน้าที่เป็นประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสระยายชี และประธานกลุ่มตลาดสาธิตและร้านค้าชุมชนบ้านสระยายชี เป็นต้น หรือในกรณีของพ่อสุนทร มัจฉิม อายุ 83 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสระยายชี พ่อสุนทรถือเป็นผู้ชำนาญในการเป็นวิทยากรให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มองค์กรที่มีอยู่ทั้งหมดในชุมชน เนื่องจากพ่อสุนทรเป็นหนึ่งในผู้นำตามธรรมชาติที่มีส่วนร่วมในการก่อตั้งกลุ่มต่าง ๆ ร่วมกับพ่อเสริญและพ่อทองอินทร์

นอกจากผู้อาวุโสนักพัฒนา บ้านสระยายชียังมีผู้ใหญ่ชนะพล ศรีเดช ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 อายุ 59 ปี ถือเป็นผู้ที่มุ่งมั่นและทุ่มเททำงานเพื่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ทุกด้านของคนบ้านสระยายชีเป็นเวลากว่า 10 ปี ทุกงานหรือทุกกิจกรรมของหมู่บ้านจะเห็นภาพผู้ใหญ่ชนะพลคอยกำกับดูแล ประสานงาน และลงมือทำงานด้วยตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านประเพณีวัฒนธรรมที่หมุนเวียนไปแต่ละรอบปี งานพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน งานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ผู้ใหญ่ชนะพลยังมีบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ในกลุ่มองค์กรชุมชนเกือบทุกกลุ่มในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ประธานกลุ่ม รองประธานกลุ่ม คณะกรรมการกลุ่ม เป็นต้น ถึงแม้จะเป็นบทบาทโดยตำแหน่ง แต่ผู้ใหญ่ชนะพลสามารถทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเชื่อมต่อกลุ่มองค์กรชุมชนกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้กลุ่มฯ ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ ตามความต้องการอย่างต่อเนื่อง ด้วยผลงานอันเป็นที่ประจักษ์หลายอย่าง ทำให้ในปี 2563 ผู้ใหญ่ชนะพล ศรีเดช ได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดของผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน

ด้วยการทำงานอย่างหนักของผู้นำชุมชนทั้งที่เป็นผู้นำอาวุโสและผู้นำที่เป็นทางการดังกล่าว บวกกับความทุ่มเทของคนในชุมชนทุกฝ่ายที่ช่วยกันพัฒนาหรือยกระดับการทำงานของกลุ่มองค์กรชุมชนต่าง ๆ จนทำให้กลุ่มองค์กรชุมชนได้รับรางวัลและการยกย่องจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด วิสาหกิจชุมชนต้นแบบ กลุ่มออมทรัพย์ดีเด่นระดับประเทศ กลุ่มออมทรัพย์ต้นแบบที่ได้ยกฐานะให้เป็นโรงเรียนออมทรัพย์ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่นระดับจังหวัด เป็นต้น

บ้านสระยายชีถือเป็นชุมชนที่มีศักยภาพในการบริหารและดำเนินการกลุ่มจำนวนมากที่ก่อตั้งขึ้นในชุมชน โดยแต่ละกลุ่มประกอบด้วยสมาชิกจำนวนมาก เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสระยายชี ประกอบด้วยสมาชิกกว่า 1,500 คน โรงสีชุมชนมีสมาชิกกว่า 1,000 คน รวมถึงกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่แตกแขนงขยายตัวออกไปอีกจำนวนหนึ่ง ที่ผ่านมาองค์กรชุมชนเหล่านี้มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นจำนวนสมาชิกหรือเงินทุน ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการอย่างราบรื่นและไม่เคยมีปัญหาการทุจริตหรือทำความผิดพลาดเสียหายให้แก่กลุ่มแม้แต่ครั้งเดียว ชนะพล ศรีเดช ผู้ใหญ่บ้านสระยายชี (สัมภาษณ์, 3 พฤศจิกายน 2567) อธิบายถึงการทำงานของกลุ่มในชุมชนว่า ผลการดำเนินงานกลุ่มฯ เกิดจากความเข้มแข็งของระบบเครือญาติในชุมชน ที่มีผู้สูงอายุเป็นที่เคารพนับถือเหมือนกัน เติบโตมาด้วยกัน พูดภาษาเดียวกัน กินแบบเดียวกัน มีความเป็นอยู่ไม่ต่างกัน ทำให้คนในกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งเป็นคนในเครือญาติเดียวกันต่างยึดถือคุณธรรมที่ใช้ในการจัดการกลุ่มร่วมกัน   

ความได้เปรียบดังกล่าวของบ้านสระยายชีมาจากความเป็นพวกเดียวกันที่มีรากเหง้าเหมือนกัน ท่ามกลางความแตกต่างทางชาติพันธุ์ การเป็นชุมชนไทครั่งท่ามกลางชุมชนชาติพันธุ์อื่น การพัฒนาชุมชนให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างเข้มแข็งจึงเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายความเป็นชุมชนสระยายชีได้ ขณะที่ชุมชนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ง่ายต่อการปรับใช้ทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนให้กลายเป็นทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางสังคมได้อย่างแยบคาย 

คนบ้านสระยายชีใช้ภาษาตระกูลไทย-ลาว (ไท-กะได) ซึ่งมีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน โดยใช้อักษรไทยน้อยและลาว แต่ในปัจจุบันคนบ้านสระยายชีไม่สามารถเขียนและอ่านภาษาเขียนได้แล้ว มีเพียงการพูดคุยเป็นภาษาหลักในชีวิตประจำวัน คนทุกรุ่นทุกวัยในบ้านสระยายชีพูดกันด้วยภาษาลาวครั่งทั้งในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน รวมถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนยังคงใช้ภาษาลาวครั่งเป็นหลัก เว้นแต่เวลาเรียนในโรงเรียนที่ต้องใช้ภาษาไทยกลาง แต่เมื่อคุยกับเพื่อนพี่น้องหรือเมื่อกลับมาบ้านก็จะใช้ภาษาลาวครั่งเป็นปกติ บ้านสระยายชีจึงไม่มีวิกฤติด้านภาษา ภาษาลาวครั่งยังคงได้รับการสืบทอดอย่างดีอยู่  

"ไปโรงเรียนเว่าไทย แต่กลับมาบ้านก็เว่าลาว แต่คนไทยรอบๆ นี้ ก็ฟังภาษาลาวรู้เรื่องนะ เพราะคุยกันจนรู้เรื่องแล้ว คนไทยมาอยู่บ้านสระยายชีก็ต้องมาเรียนภาษาลาววันละคำ ค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จนฟังออก พูดได้" (สายชล ศรีเดช, สัมภาษณ์, 30 สิงหาคม 2567) 


ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของรายได้ครัวเรือนในแต่ละปี เนื่องจากการทำเกษตรยังต้องพึ่งพาสภาพดิน ฟ้า อากาศที่แปรปรวนมากขึ้นทุกปี ขณะที่ราคาผลิตพืชผลทางการเกษตรตกต่ำและไม่แน่นอน เกษตรกรผู้ปลูกยังไม่สามารถมีอำนาจต่อรองราคาได้ ขณะเดียวกัน ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทั้งค่าใช้จ่ายในการลงทุนการเกษตร เกษตรกรไม่สามารถควบคุมราคาปัจจัยการผลิตด้านการเกษตร เช่น ปุ๋ย น้ำมัน และค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ และค่าอินเทอร์เน็ต


ด้านสังคม ปัญหาครอบครัวแหว่งกลางหรือครอบครัวข้ามรุ่นที่มีจำนวนมากขึ้น ทำให้หลายครอบครัวมีเพียงผู้สูงอายุที่ต้องดูแลหลาน ส่วนคนที่เป็นพ่อแม่หรือวัยทำงานต้องอพยพไปทำงานต่างจังหวัดเพื่อหารายได้เลี้ยงทั้งตัวเองและครอบครัวในสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ได้แก่ การติดยาเสพติดของเด็กและเยาวชนในชุมชน ปัญหาการลักเล็กขโมยน้อย เป็นต้น 


ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การไม่มีแหล่งน้ำชลประทานในการทำเกษตรช่วงฤดูแล้ง และชุมชนยังขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรได้อย่างพอเพียงในฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับลานตากพืชผลทางการเกษตรไม่เพียงพอ เนื่องจากขาดงบประมาณในการสร้าง ทำให้เกษตรขายผลลิตได้ต่ำ เกษตรกรไม่มีที่ตากเมล็ดพันธุ์ ทำให้เมล็ดพันธุ์ขาดคุณภาพ และทำให้ขาดโอกาในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่งบประมาณในการพัฒนาของเทศบาลมีไม่เพียงพอ ทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีขีดจำกัด ทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง


ด้านสาธารณสุข เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนประชากร ทำให้ชุมชนซึ่งมีพื้นที่กายภาพเท่าเดิมกลับคับแคบลงมาก จนเกิดปัญหาการขยายพื้นที่อยู่อาศัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ระบบการระบายน้ำในหมู่บ้านมีปัญหา ทำให้โครงสร้างพื้นฐานผิวจราจรชำรุดเสียหายเพราะน้ำท่วมขัง รวมถึงปัญหาการจัดการขยะตามเส้นทางสาธารณะยังขาดการมีส่วนร่วมทั้งในชุมชนและจากนอกชุมชน การระบายน้ำเสียและการบำบัดน้ำเสียในชุมชนยังคงเป็นปัญหาที่ยังต้องทำความเข้าใจกับคนในชุมชน และปัญหามลภาวะจากชุมชนใกล้เคียง เช่น กลิ่นจากฟาร์มเลี้ยงไก่ ฝุ่นละอองจากโรงสีขนาดใหญ่ของเอกชน และโรงงานพลังงานชีวมวลที่กำลังจะก่อสร้างในไม่ช้า 


การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมหลายอย่างในบ้านสระยายชี คนรุ่นใหม่ทั้งหญิงและชายที่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระมากขึ้น การที่ผู้หญิงซึ่งยังไม่แต่งงานออกไปทำงานต่างจังหวัดหรือแม้แต่ในต่างประเทศได้รับการยอมรับมากขึ้น ท่ามกลางการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยและรวดเร็ว ประกอบกับข้อมูลข่าวสารที่พรั่งพรูสู่การรับรู้ของคนทุกกลุ่มในชุมชน ล้วนส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนค่านิยมและบรรทัดฐานที่เคยยึดถือกันมา ดังเช่นการแต่งงานข้ามกลุ่มกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ภายใต้อคติที่ลดลงด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างกลุ่มต่างเหล่ามากขึ้น ทำให้ประสบการณ์การรับรู้และเข้าใจเปลี่ยนแปลงไป จนนำไปสู่การปรับตัวได้ดีขึ้น  


ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนจากการทำนาปีเป็นนาปรังหรือการทำนาหลายครั้งต่อปี ส่งผลทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมหลายจุด ได้แก่ ดินที่แข็งเป็นดาลเพราะหลายครอบครัวที่ทำนายังมีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลง ไม่มีการพักหน้าดิน หรือไถ่กลบตอชัง ส่งผลต่อระบบนิเวศโดยรวม เมื่อดินและน้ำเกิดการปนเปื้อนของสารเคมีที่ตกค้างตามหน้าดิน ส่งผลให้ปลาและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ตายหรือหยุดการเจริญเติบโต หรือการขยายแพร่พันธุ์ลดลง ปัจจุบันพบว่าปลาหลายชนิดสูญพันธุ์ และทำให้วงจรชีวิตสัตว์อื่น ๆ ได้รับผลกระทบในการขยายพันธุ์ด้วยเช่นกัน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน ประจำปี 2565. สืบค้น 4 พฤศจิกายน 2567, www.youtube.com/@สํานักพัฒนาทุนและองค์กรการเงิน. 

ผู้ใหญ่บ้านสระยายชีหมู่ 5. (2566). แผนพัฒนาหมู่บ้านสระยายชี หมู่ที่ 5 ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร. พิจิตร : คณะกรรมการหมู่บ้านสระยายชีหมู่ที่ 5.   

เพจเฟซบุ๊ก “ชุมชนท่องเที่ยว Otop นวัตวิถี บ้านสระยายชี อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร”. สืบค้น 3 พฤศจิกายน 2567, https://www.facebook.com/profile. 

SparkingHeadProduction. (1 กรกฎาคม 2563). รายการสุขนคร EP 03 ลาวครั่ง บ้านสระยายชี พิจิตร”. สืบค้น 4 พฤศจิกายน 2567, https://www.youtube.com/watch

สรัช สินธุประมา และคณะ. (2555). เรื่องราวแหลกสลายของบ้านลาวคัง. ใน สรัช สินธุประมา และคณะ. เรื่องเล่าขานในสายธารของความเปลี่ยนแปลง บทบันทึกภาคสนามที่บ้านก๋อง กะเหรี่ยงโปว์ ลาวเวียง และลาวคัง จังหวัดอุทัยธานี. คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2567https://socanth.tu.ac.th/wp-content/ 

สายชล ศรีเดช, สัมภาษณ์, 30 สิงหาคม 2567 

ชนะพล ศรีเดช, สัมภาษณ์, 30 สิงหาคม 2567 และ 3 พฤศจิกายน 2567. 

ทต.เนินปอ โทร. 0 5603 9926 , 0 5603 9871