สักการะหลวงปู่เหมือน อริยะสงฆ์แห่งบางกอบัว
ความเป็นมาของชื่อตำบลบางกอบัว จากคำบอกเล่าที่ได้มานั้น เล่าต่อ ๆ กันมาว่า ตอนที่กรุงหงสาวดีเสียแก่พม่า ชาวรามัญได้อพยพมาพึ่งพระบารมีพระบรมโพธิสมภารเจ้าในประเทศไทย ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีกอบัวขึ้นอยู่ตามหนองน้ำ ลำประโดง เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกกันติดปากว่า "บางกอบัว" ปัจจุบันพื้นที่ในตำบลได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พื้นที่ส่วนใหญ่จึงยังเป็นสวนผลไม้ที่มีอยู่แต่เดิม
ตำบลบางกอบัวเป็นหนึ่งในหกตำบลของอำเภอพระประแดง ซึ่งเป็นเขตพื้นที่สีเขียวบริเวณบางกระเจ้า มีลักษณะคล้ายกระเพาะหมู อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ส่วนใหญ่จึงมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มมีกอบัวขึ้นอยู่ตามหนองน้ำ ลำประโดง เป็นจำนวนมาก ชาวทั่วไปจึงเรียกติดปากว่า "บางกอบัว" จากคำบอกเล่าที่ศึกษามาได้นั้นเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ตอนที่หงสาวดีเสียแก่พม่าพวกชาวรามัญได้อพยพพึ่งบารมีพระบรมโพธิสมภารเจ้าในประเทศไทย และได้มีการก่อสร้างวัดขึ้นเรียกว่า "วัดบางกอบัว" ในราวยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งนับว่าเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของอำเภอพระประแดง ตำบลบางกอบัวแบ่งการปกครองเป็น 13 หมู่บ้าน โดยมีหมู่บ้านเร่งรัดพัฒนา ระดับ 2 (ปานกลาง) จำนวน 2 หมู่บ้าน และเป็นหมู่บ้านเร่งรัดพัฒนา ระดับ 3 (ก้าวหน้า) จำนวน 11 หมู่บ้าน ซึ่งบ้านคลองวัด หมู่ที่ 3 ตั้งอยู่ในตำบลบางกอบัว อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ห่างจากอำเภอพระประแดงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 6 กิโลเมตร อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ ประมาณ 18 กิโลเมตร และเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้ง ที่ 6 ของจังหวัดสมุทรปราการ
ที่ตั้งและอาณาเขต บ้านคลองวัด มีพื้นที่ประมาณ 110 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ แม่น้ำเจ้าพระยา
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านคลองแพ หมู่ 6 ตำบลบางกอบัว อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
- ทิศตะวันออก ติดกับ พิพิธภัณฑ์บ้านคลองบน
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านคลองวัด หมู่ที่ 7 ตำบลบางกอบัว อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
สภาพภูมิประเทศ พื้นที่ทั่วไปส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม สภาพพื้นที่ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบ เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน และมีคลองสาขาเชื่อมจากแม่น้ำสายหลัก
สภาพพื้นที่ เดิมเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีลำคลองเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาหลายสาย ซึ่งใช้เป็นเส้นทางการสัญจรที่สำคัญในอดีต มีถนนสายหลักคือ ถนนเพชรหึงษ์ มีความยาวในเขตตำบลบางกอบัวประมาณ 2,000 เมตร และมีท่าเทียบเรือท่าเรือที่ใช้ในการคมนาคมทางน้ำระหว่างตำบลไปยังเขตกรุงเทพมหานครอยู่ที่หมู่ 7 ปัจจุบันพื้นที่ในตำบลบางกอบัว ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงมีอาคารขนาดใหญ่หรือสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์น้อย พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นสวนผลไม้ที่มีอยู่แต่เดิม
สภาพภูมิอากาศ อากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนจัด ฤดูร้อนมีความชื้นในอากาศสูง มีปริมาณน้ำฝนมากช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 28.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดอยู่ในเดือนเมษายนมีค่าเท่ากับ 30.9 องศาเซลเซียส และ อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคมมีค่าเท่ากับ 26.4 องศาเซลเซียส
ในรายงานข้อมูลตำบลบางกอบัวหมอรู้จักคุณ ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนมกราคม 2568 พบว่า ประชากรทั้งตำบลอยู่ที่ 6,431 คน และหมู่ที่ 3 บ้านคลองวัดมีประชากรทั้งสิ้น 743 คน
- คนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพด้านการเกษตรกรรม ได้แก่ ปลูกมะพร้าว ทำสวน ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทั้งไว้เพื่อบริโภคและจำหน่าย นอกจากนี้ยังมีการประกอบอาชีพส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่
- ศูนย์ OTOP กลุ่มพัฒนาสตรี และอาชีพ, กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร
- วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวรักษ์วิถีชุมชนคนคุ้งบางกะเจ้า
บ้านคลองวัดเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่อยู่ในตำบลบางกอบัว โดยชาวบ้านที่อยู่ในตำบลบางกอบัวนั้นได้มีการร่วมมือกันของคนในพื้นที่ในการค้นหาจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เพื่อพัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่มีความน่าสนใจ โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การปั่นจักรยานตามเส้นทางสีเขียว การพายเรือในคลองที่ได้รับการขุดลอกและฟื้นฟูให้กลับมามีชีวิตชีวา รวมทั้งการเปิดครัวเพื่อเสิร์ฟอาหารท้องถิ่น และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนนี้ได้รับการยอมรับในด้านการท่องเที่ยวและได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย สาขาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน หรือที่รู้จักกันในชื่อ "รางวัลกินรี" ซึ่งจัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อมอบให้กับสถานประกอบการและชุมชนที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย โดยมีสัญลักษณ์ "กินรี" เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลยอดเยี่ยม (กินรีทอง) ในประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำที่เน้นความยั่งยืน และรางวัลดีเด่น (กินรีเงิน) สาขาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ชาวบ้านคลองวัดนั้น นอกจากประกอบอาชีพส่วนตัวแล้วก็ยังมีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อหมู่บ้าน ชุมชนอีกด้วย
1.หลวงปู่เหมือน ติสสโร พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของวัดบางกอบัว หรือ พระครูโกมุทสมานคุณ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2422 ที่ตำบลบางกอบัว อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อปี 2433 ที่วัดลาดกระบัง และได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดบางกอบัวในปี พ.ศ. 2444 ท่านศึกษาวิชาคาถาอาคมจากพระอาจารย์ชื่อดัง และเป็นพระหมอโบราณที่รักษาคนเจ็บป่วยด้วยสมุนไพรสูตร "ยาเขียว" ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางกอบัวในปี พ.ศ. 2476 และดำรงตำแหน่งพระครูโกมุทสมานคุณจนถึงมรณภาพเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2504 สิริอายุ 82 ปี ท่านได้รับความเคารพจากชาวบ้านและคณะสงฆ์เป็นอย่างมาก โดยวัตถุมงคลของท่านยังคงได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมจนถึงปัจจุบัน
วัดบางกอบัว สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2274 ประมาณยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยเล่าสืบต่อกันมาว่า มีชาวมอญชื่อ "มะทอ" และภรรยาชื่อ "ประทุม" สองสามีภรรยาได้สร้างขึ้นและขนานนามว่า "วัดบางกะบัว" ต่อมาทางการได้เปลี่ยนชื่อคล้องจองกับตำบลจึงเรียกกันว่า "วัดบางกอบัว" มาจนถึงทุกวันนี้ นับว่าเป็นวัดมอญเก่าแก่ แต่ไม่ได้มีการสืบทอดประเพณีของชาวมอญไว้และไม่ทราบถึงต้นตระกูลผู้สร้าง จึงเหลือไว้เพียงแต่ที่คุณย่าทองหล่อ ใยลออ ได้บริจาคที่ดินให้วัดไว้ นักท่องเที่ยวจะคุ้นเคยกับคำเชิญชวนให้มาสักการะหลวงปู่เหมือน อริยะสงฆ์แห่งบางกอบัว ด้วยวัตรปฏิบัติที่งดงามสมสมณศักดิ์ จึงเป็นที่นับถืออย่างยิ่งของชาวบางกอบัว
ชุมชนมีการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สร้างสรรค์ เสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชน และคนในชุมชนยังมีการรวมกลุ่มกันทำตลาดชุมชนท่องเที่ยว OTOP บางกอบัว และวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวรักษ์วิถีชุมชนคนคุ้งบางกะเจ้า
คนในชุมชนช่วยเหลือเกื้อกูลกันและมีการร่วมกรรมทำกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อชุมชน นอกจากนี้มีการเพิ่มจำนวนประชากรในพื้นที่และการมีประชากรแฝงที่อยู่อาศัยในพื้นที่
คนในชุมชนมีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาส่งเสริมเป็นอาชีพ เช่น กิจกรรมทำลูกประคบ และการเผยแพร่อาหารพื้นบ้านเฉพาะท้องที่
เส้นทางท่องเที่ยวจากชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบางกอบัว (บ้านคลองวัดอยู่ภายใต้ตำบลบางกอบัว)
- จุดที่ 1 นวดลูกประคบริมคลองแพ ลูกประคบเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นใช้คลายกล้ามเนื้อ และแก้อาการปวดเมื่อย มีมาตั้งแต่อดีต
- จุดที่ 2 กิจกรรมทำลูกประคบสมุนไพร คุณกานดา อันดับหนึ่งด้านสมุนไพรของบางกอบัว จะพาท่านทำลูกประคบสมุนไพรสด อาทิ เช่น ตะไคร้ ใบมะขาม
- จุดที่ 3 กราบหลวงพ่อปู่เหมือน วัดบางกอบัว แวะสักการะหลวงปู่เหมือน วัดบางกอบัว ที่ได้รับความเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชน สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
- จุดที่ 4 พิพิธภัณฑ์บ้านคลองบน ของนายแดง ไกรสมโภช ชาวบางกอบัว ผู้เก็บสะสมของโบราณ ของเก่าหาดูยาก ไว้เพื่อศึกษาสำหรับคนรุ่นหลัง เช่น เครื่องเงิน เครื่องลายคราม
- จุดที่ 5 ชิมอาหารพื้นบ้าน โดยชุมชนบางกระเจ้าเป็นพื้นที่ขึ้นชื่อเรื่องมะพร้าว เมนูแนะนำที่ต้องมาชิมให้ได้คือ แกงกรุบมะพร้าวกุ้งสด เป็นแกงที่หาทานได้ยาก ต้องจองล่วงหน้าเท่านั้นเพราะมีเงื่อนไขของวัตถุดิบ
- จุดที่ 6 ทำผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ จากพื้นถิ่น ได้แก่ สีเหลืองจากลูกจาก ขมิ้น ใบหูกวางและดาวเรือง สีแดง/ชมพู ที่ได้จากไม้ฝาง สีน้ำตาลได้จากกาบมะพร้าว
- จุดที่ 7 สปาเท้าน้ำสมุนไพร นวดสมุนไพร รพ.สต.บางกอบัว สมุนไพรที่คิดค้นจากกลุ่มชาวบ้านเพื่อมาทำสปาเท้าน้ำสมุนไพร โดยใช้สมุนไพรกว่า 7 ชนิด มาผสมกับน้ำเย็นในอ่างแช่ 15 นาที เพื่อบำบัด ลดอาการชาเท้า/มือ และนวดต่อด้วยน้ำมะพร้าว เพื่อให้กล้ามเนื้อเอ็นผ่อนคลาย
หากผู้ใดสนใจเส้นทางการท่องเที่ยวดังกล่าวสามารถติดต่อชุมชนได้ล่วงหน้า
ชัยวัฒน์ พอกประโคน. (ม.ป.ป.). กศน.ตำบลบางกอบัว. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567. https://sites.google.com/dei.ac.th/nfe-bangkobua/
สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรปราการ, สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต ๑, กรมพัฒนาที่ดิน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2566). แผนการใช้ที่ดิน ตำบลบางกอบัว อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567. https://webapp.ldd.go.th/lpd/
องค์การบริหารส่วนตำบลบางกอบัว. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567. https://bangkorbuae.go.th/public/
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (ม.ป.ป.). กราบหลวงปู่เหมือน วัดบางกอบัว. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2567. https://cbtthailand.dasta.or.th/
3 หมอรู้จักคุณ. (2568). รายงานข้อมูลตำบลบางกอบัว. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2567. https://3doctor.hss.moph.go.th/