Advance search

ไม้ขาว

ชุมชนไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต เป็นชุมชนที่มีความสำคัญทั้งในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมีความโดดเด่นในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งเน้นการรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ชายหาดที่สวยงามและป่าชายเลน รวมถึงการส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในพื้นที่

หมู่ที่ 4
บ้านไม้ขาว
ไม้ขาว
ถลาง
ภูเก็ต
นายวินัย แซ่อิ๋ว (ผู้ใหญ่บ้านชุมชนไม้ขาว) โทร. 08-9651-9362 
ตรีทิพภา ฤทธิลา
9 ม.ค. 2025
ตรีทิพภา ฤทธิลา
13 ม.ค. 2025
บ้านไม้ขาว
ไม้ขาว

มีคำบอกเล่าต่อกันมาว่า เดิมมีต้นไม้สีขาวขนาดใหญ่จำนวน 1 ต้น ขึ้นอยู่บนเขาไม้แก้ว เรือเดินสินค้าผ่านจะมองเห็นเป็นต้นไม้สีขาวคล้ายแก้ว จึงเรียกว่า "ไม้แก้ว" ต่อมาชาวบ้านละแวกนั้นได้เรียกเพี้ยนเป็น "ไม้ขาว" และเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านไม้ขาว" จนถึงปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

ชุมชนไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต เป็นชุมชนที่มีความสำคัญทั้งในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมีความโดดเด่นในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งเน้นการรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ชายหาดที่สวยงามและป่าชายเลน รวมถึงการส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในพื้นที่

บ้านไม้ขาว
หมู่ที่ 4
ไม้ขาว
ถลาง
ภูเก็ต
83110
8.121845287
98.30917776
องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาว

ใน 1,000 กว่าปีก่อน ชาวบ้านที่บ้านเรือนอยู่บริเวณตีนเขาถูกเรียกว่า "บ้านใน" ใกล้กับบ้านบ่อสอม ในปัจจุบัน ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีการปลูกยางพาราและการปลูกสับปะรดแดง ต่อมาชาวบ้านเกิดโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้า โดยเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากเงาของภูเขาที่มาบดบังทับบ้านเรือน ชาวบ้านจึงได้ย้ายจากบริเวณเดิมมาอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันตกของทะเลอันดามัน เรียกว่า "บ้านหัวนอน" และ "บ้านใต้ตีน" ในสมัยนั้นพื้นที่มีลักษณะเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอยู่เป็นจำนวนมาก และในพื้นที่มีคนจีนอาศัยอยู่ก่อนแล้วประมาณ 5-6 ครัวเรือน ต่อมาได้มีการขยายบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในป่าทึบที่ว่านั้นมีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง มีลักษณะเป็นสีขาวทั้งต้น ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีสะพานสารสิน เมื่อเรือสินค้าวิ่งข้ามฝั่งเข้ามาจะเห็นต้นไม้ใหญ่สีขาวนี้ตั้งอยู่โดดเด่น อยู่บนเขาไม้แก้ว จึงมีการเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "หมู่บ้านไม้แก้ว" แต่มีการเรียกเพี้ยนตั้งแต่นั้นมาว่า "ไม้ขาว" จึงเรียกกันเป็น "หมู่บ้านไม้ขาว" ตั้งแต่นั้นมา ตำบลไม้ขาวตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อของอำเภอถลางและจังหวัดพังงา  มีเขตรับผิดชอบทั้งเทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการอยู่อาศัย ค้าขายและทำเกษตรกรรม 

บ้านไม้ขาว ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดภูเก็ต ห่างจากศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 33 กิโลเมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอถลางประมาณ 13 กิโลเมตร มีทางหลวงชนบท 3016 เป็นถนนสายหลักในหมู่บ้าน ชุมชนมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านสวนมะพร้าว หมู่ที่ 3 ตำบลไม้ขาว
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ท่าอากาศยานภูเก็ต หมู่ที่ 6 ตำบลไม้ขาว
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหมากปรก หมู่ที่ 1 ตำบลไม้ขาว
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หาดไม้ขาว (ทะเลอันดามัน)

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ บ้านไม้ขาว มีลักษณะเป็นที่ราบและที่ราบลุ่มชายทะเล

สภาพภูมิอากาศ มีลักษณะภูมิอากาศร้อนชื่น มีสองฤดู คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน อากาศไม่ร้อนมากนัก เนื่องจากสภาพพื้นที่ติดกับทะเล

การคมนาคม การคมนาคมภายในหมู่บ้านใช้รถยนต์โดยสารประจำทาง และรถจักรยานยนต์รับจ้างหรือรถยนต์ส่วนตัว

ในรายงานข้อมูลตำบลไม้ขาวหมอรู้จักคุณ ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนมกราคม 2568 พบว่า หมู่ที่ 4 บ้านไม้ขาวมีประชากรทั้งหมด 2,487 คน

อาชีพประชากรในเขตตำบลไม้ขาว ส่วนใหญ่จะมีการประกอบอาชีพรับจ้าง รองลงมาคืออาชีพทางด้านการเกษตร การทำสวนยางและการเลี้ยงสัตว์ ประชาชนบางกลุ่มประกอบอาชีพประมง นอกจากนี้ยังประกอบอาชีพค้าขาย 

กลุ่ม/องค์กรภายในชุมชน

  • กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
  • กองทุนหมู่บ้าน
  • ธนาคารหมู่บ้าน
  • ชมรมผู้สูงอายุ
  • ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
  • กลุ่มอนุรักษ์เต่าทะเล
  • กลุ่มอนุรักษ์จักจั่นทะเล
  • กลุ่มกองทุนออมเพื่อแม่
  • กลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า
  • กลุ่มเลี้ยงปลาดุก
  • กลุ่มเครื่องแกงตำมือ
  • กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • กลุ่มอนุรักษ์ควายไทย
  • คณะกรรมการพัฒนาตรีระดับหมู่บ้าน
  • วิสาหกิจชุมชน
    • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มหลาดชมเลไม้ขาว
    • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสปาทรายบ้านไม้ขาว
    • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกระเป๋าสานไม้ขาว
    • วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผักลิ้นห่านและจักจั่นทะเลอัตลักษณ์ของฝากตำบลไม้ขาว
    • วิสาหกิจชุมชนหมุนเวียน Circular Economy
    • วิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์จักจั่นทะเล หมู่ 4 ตำบลไม้ขาว เพื่อให้สมดุลกับการใช้ประโยชน์

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • ประเพณีเมาลิดกลาง เป็นประเพณีหนึ่งที่สามารถสร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิดสันติสุขสู่พื้นที่ ถือเป็นการนำทุนทางศาสนา และวัฒนธรรม ตลอดจนทุนวิถีชีวิตของคนในชุมชนมาเป็นสื่อกลางในการสร้างจิตสำนึก และรำลึกถึงท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) รำลึกถึงหลักธรรมคำสอน และผลงานของท่านนบีมูฮัมมัด เพื่อเป็นการส่งเสริมสถาบันศาสนาอิสลามและเพื่อผนึกกำลังของพี่น้องมุสลิมในการร่วมกันแก้ปัญหาที่สำคัญของจังหวัด จัดในเดือนพฤษภาคมของทุกปี
  • ประเพณีเดินเต่า/ประเพณีปล่อยเต่า เป็นประเพณีเดินเต่า เดิมทีเป็นการเดินดูเต่ามาวางไข่ เพื่อการเก็บไข่ไปทาน แต่ภายหลังไม่มีแล้ว เนื่องด้วยจำนวนเต่าลดลงอาจจะสูญพันธ์ุได้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงร่วมมือกับชาวบ้านตำบลไม้ขาว ได้เริ่มโครงการอนุรักษ์เต่าทะเล และจัดให้มีการปล่อยเต่าทะเลในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ประเพณีปล่อยเต่าเกิดจากการถูกปลูกฝังของคนในพื้นที่ให้รู้จักการอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่น และมีปลูกฝังความเชื่อเกี่ยวกับเต่าที่เชื่อว่า เป็นสัตว์อายุยืน เป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม และเชื่อว่าการปล่อยเต่าเป็นการสร้างบุญอีกด้วย
  • ประเพณีงานเดือนสิบ
  • ประเพณีส่งหาบส่งคอน
  • ประเพณีแห่เทียนพรรษา
  • ประเพณีวันฮารีรายอ

วิถีชีวิตทางภูมิปัญญา 

  • สปาทราย ชาวบ้านในชุมชนได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนไม้ขาว เนื่องด้วยบริเวณหาดไม้ขาวมีความอุดมสมบูรณ์ และทรายมีลักษณะค่อนข้างหยาบ เหมาะสำหรับมาจัดกิจกรรมเชิงสุขภาพที่ต้องใช้ทรายหยาบ การสปาทรายมีวิธีการโดยชาวบ้านจะขุดทรายที่มีขนาดเท่ากับตัวของคนที่ต้องการทำสปา และให้ลงไปนอนในหลุมที่ขุดไว้ ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาทีต่อครั้ง หรือถึง 1 ชั่วโมง โดยการทำสปาทรายนี้จะช่วยเรื่องการไหลเวียนของเลือดได้ดี บำบัดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อกระดูกต่าง ๆ รวมถึงช่วยรักษาอาการโรคอัมพฤกษ์ ปรับสมดุลให้กับร่างกาย

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

  • จับจักจั่นทะเล หาดไม้ขาวเป็นหาดที่อาศัยอยู่ของจักจั่นทะเล เพราะเป็นหาดที่มีทรายหยาบและมีแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ จึงทำให้มีจักจั่นทะเลอาศัยอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงน้ำลง ชาวบ้านจะจับจักจั่นทะเลไปขาย จนกลายเป็นอาชีพเสริมของชาวไม้ขาว
  • การปลูกผักลิ้นห่าน ผักลิ้นห่าน พืชล้มลุกในกลุ่มหญ้าทะเลที่ขึ้นอยู่ตามชายหาดฝั่งทะเลอันดามัน พบมากบริเวณใต้ร่มต้นสน มีไหลเลื้อยไปตามพื้นดิน แตกกอเป็นช่วง ๆ ในปัจจุบันเริ่มน้อยลง สาเหตุจากธุรกิจการท่องเที่ยว จึงมีการส่งเสริมการขยายพันธุ์ ชุมชนไม้ขาวเริ่มต้นจากการปลูกเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ตลอดจนปัจจุบันการปลูกผักลิ้นห่านเป็นอาชีพ
  • การประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น รับจ้างทั่วไป เกษตรกร เลี้ยงสัตว์ ประมง ค้าขาย และประกอบธุรกิจส่วนตัว

บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์

1.ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร

ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร เกิดในปลายสมัยอยุธยา ท่านทั้งสองเป็นธิดาของจอมร้างบ้านเคียน (ขุนนางผู้ปกครองเมืองถลาง) ท้าวเทพกระษัตรี (คุณจัน) เป็นบุตรีคนแรกมาพร้อมกับความงาม และลักษณะนิสัยที่มีอัธยาศัยดี สุภาพอ่อนโยน และมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวสมกับเป็นบุตรของจอมร้างบ้านเคียน ต่อมา ท้าวศรีสุนทร (คุณมุก) เป็นบุตรคนที่สอง มีลักษณะนิสัย สุภาพอ่อนโยน มีสติปัญญาและความกล้าหาญไม่น้อยกว่าคุณจันผู้เป็นพี่ เมื่อจอมร้างบ้านเคียนถึงแก่กรรมลง ทั้งคู่จึงได้รับภาระอันหนักยิ่งของตระกูล ทั้งการควบคุมไพร่พลขุดหาดีบุก การแสวงหาเครื่องอุปโภค บริโภค การแสวงหาอาวุธเพื่อป้องกันภัยจากพม่าและโจรสลัด และการรักษาสถานภาพของตระกูล 

ในสมัยที่เกิดสงครามเก้าทัพนั้น ตรงกับ พ.ศ. 2328 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 พม่าได้ยกทัพมาตีไทย โดยมีทัพหนึ่งมุ่งเข้ามาที่เมืองถลาง คุณจัน และ คุณมุก จึงตัดสินใจร่วมกับเจ้าเมืองภูเก็ต คือ พระยาทุกขราช (คุณเทียน) ลูกชายของคุณจัน วางแผนป้องกันเมืองถลางและต่อสู้กับพม่า จนพม่าต้องถอยทัพและพ่ายแพ้ไป ในตอนนั้น รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้คุณจัน เป็นท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุก เป็นท้าวศรีสุนทร และพระยาทุกขราช (คุณเทียน) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาถลาง ใน พ.ศ 2331

ปราชญ์ท้องถิ่นด้านงานฝีมือ

1.นายเนตร เดชากุล ปราชญ์ท้องถิ่นด้านงานฝีมือ ช่างสานไม้ไผ่

2.นายบุญเลิศ เศวตวงศ์ ช่างก่อสร้าง

3.นายวิจักร ตันกุล ช่างก่อสร้าง

4.นายฮก แซ่ตัน ช่างสานไม้ไผ่

5.นางทุย ศรีสมุทร ช่างสานเสื่อ

6.นางอารี เชื้อนาคา ช่างเย็บจาก

7.นางผิว เพ็ชรไทย ช่างเย็บจาก

ด้านการแพทย์แผนไทย/สมุนไพร/หมอพื้นบ้าน

1.นายขจร วพาวรสุขรักษ์ หมอสมุนไพร หมอกระดูก

2.นางสาวนัดดา วพาวรสุขรักษ์ หมอสมุนไพร หมอกระดูก

3.นางลี อินทร์แก้ว หมอพื้นบ้าน หมอเอ็น

ด้านการอนุรักษณ์ศิลปวัฒนธรรม/ประเพณี

1.นายนิรันดา บัวสาย สอนตีกลองยาว

2.นางผิว เพ็ชรไทย ร้องเพลงกล่อมเด็ก

ด้านความรู้การเกษตร

1.นายเนตร เดชากุล ทำปุ๋ยหมัก เห็ดนางฟ้า เป็นคนภูเก็ตโดยกำเนิด อาศัยอยู่หมู่ที่ 4 บ้านไม้ขาว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้มีแนวคิดจากการศึกษาเล่าเรียนของเขาว่า การทำอาชีพเกษตร ใช้ชีวิตพอเพียง จะมีรายได้เพียงพอและมีเงินเก็บ และได้ลงมือทำมาตลอด จนกระทั่งเห็นพื้นนาร้างที่ไม่มีคนทำจึงเกิดความคิดฟื้นฟูอาชีพทำนา และได้เริ่มทำโครงการ "ปลูกข้าววันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ" ต่อมาได้ร่วมงานวิสาหกิจของชุมชนไม้ขาวเรื่อย ๆ

2.นายแฉล้ม จงสุข ทำปุ๋ยหมัก

3.นายบุญเลิศ ศรัทธาธรรม ขยายพันธุ์พืช ต่อตายาง

4.นายดำรงศักดิ์ เชื้อนาคา ขยายพันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับ

5.นายประชา กล้าแกล้ว ขยายพันธุ์ดอกไม้ ไม้ประดับ

ด้านผู้มีความรู้ด้านการถนอมอาหาร/การจัดทำอาหาร

1.นายสมควร ทิพย์วงศ์ ทำห่อหมก

2.นางจำเนียร แซ่อั๋น ทำขนมไทย

3.นางส่วนบิ๋น แซ่เอียบ ทำกะปิ

4.นางละมัย เดชากุล ทำข้าวยำสมุนไพร

5.นางวิภา ร่วมคิด ทำข้าวยำสมุนไพร

ด้านผู้มีความรู้พิธีกรรมทางศาสนา/ขนบธรรมเนียมประเพณี

1.นายเปลี่ยน ประเสริฐ ตั้งศาลพระภูมิ

2.นายบรรจง ทองภิบาล ผู้นำพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ

3.นายสุบิน สงเคราะห์ ผู้นำพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ

4.นายประกิจ เดชากุล ผู้นำพิธีกรรมทางศาสนา (จีน)

5.นางเสงี่ยม เศวตวรรณ์ ผู้นำพิธีกรรมทางศาสนาพรามณ์

6.นายย่าเส็น วงษ์หลี ผู้นำศาสนาอิสลาม

7.นายตอหลบ สามัญบุตร ผู้นำศาสนาอิสลาม

ด้านผู้มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารจัดการกลุ่ม/คน (ผู้นำกลุ่ม)

1.นายมาโนช สายทอง ผู้นำกลุ่ม/ผู้ใหญ่บ้าน

2.นายเนตร เดชากุล ผู้นำกลุ่มอาชีพ

3.นายวินัย แซ่อิ๋ว ผู้นำกลุ่มอาชีพ/สมาชิก อบต.

4.นายสมศักดิ์ ชูภักดิ์ ผู้นำกลุ่มอาชีพ/สมาชิก อบต.

5.นางนิตยา สิงขร ผู้นำกลุ่ม/สาธารณสุขบ้านไม้ขาว

6.นายนิรันดร บัวสาย ผู้นำกลุ่มผู้สูงอายุ

7.นายสมชาย ครุกูล ผู้นำกลุ่มธนาคารหมู่บ้าน

8.ว่าที่ ร.ต.ศิโรดม สายทอง ผู้นำกลุ่มออมเพื่อแม่

9.นางศิริ ตันกุล ผู้นำกลุ่มเครื่องแกงตำมือ

หาดไม้ขาว

หาดไม้ขาวตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ เป็นหาดที่ขึ้นชื่อว่ายาวที่สุดในจังหวัดภูเก็ต ชายหาดทอดยาวประมาณ 10 กิโลเมตร แนวหาดเริ่มจากหาดในยาง ผ่านสนามบินเรื่อยไปจนจรดหาดทรายแก้ว มีทรายสีขาวติดต่อกันตลอดเกือบเป็นเส้นตรง บรรยากาศเงียบสงบแต่ยังคงความอุดมสมบูรณ์เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่ต้องการควมเป็นส่วนตัว ลักษณะเด่น มีป่าสนบริเวณชายหาด จุดเด่นของหาดไม้ขาวคือ มีเต่าชนิดต่าง ๆ เดินอยู่มากมาย และมักจะขึ้นมาวางไข่ ไม่ว่าจะเป็นเต่าหญ้า เต่าตุ่น เต่าตาแดง และเต่ามะเฟือง เนื่องด้วยบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก นอกจากนั้นแล้วยังมีจักจั่นทะเล ที่สามารถนำไปประกอบอาหารและสร้างรายได้ให้กับชุมชนหาดไม้ขาว

พรุเจ๊ะสัน

พรุเจ๊ะสันเป็นพรุขนาดใหญ่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ตรงกลางจะมีเกาะและมีพรรณไม้นานาชนิด เช่น ดงกก ดงหญ้า ชายตลิ่งล้อมรอบด้วยสันคูขนาดใหญ่เนินถนนลาดยาง มีความยาวโดยประมาณอยู่ที่ 3,500 เมตร เหมาะสำหรับเป็นพื้นที่ออกกำลังกาย ปั่นจักรยานชมวิวทิวทัศน์ และพักผ่อนหย่อนใจ

พรุจิก

เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ ตั้งอยู่ระหว่างหมู่ที่ 3 - หมู่ที่ 4 ตำบลไม้ขาว ได้รับการจดทะเบียนเป็นหนังสือสำคัญที่หลวงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2529 พรุจิกอยู่ติดกับชายหาดบ้านสวนมะพร้าว ฝั่งทะเลอันดามัน พรุจิกเป็นพรุที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งน้ำทางธรรมชาติขนาดใหญ่ มีพรรณไม้หายากนานาชนิด เช่น ไม้ยืนต้น 22 ชนิด ไม้พุ่ม 17 ชนิด ไม้ล้มลุก 25 ชนิด ไม้เลื้อย 14 ชนิด พืชน้ำ 12 ชนิด และมีพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ เช่น นก 71 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 13 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 9 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 6 ชนิด

ผักลิ้นห่าน

ผักลิ้นห่านเป็นผักพื้นบ้าน ส่วนใหญ่จะพบว่าขึ้นตามบริเวณชายหาด พบมากที่ตำบลไม้ขาว จึงจัดเป็นพืชอัตลักษณ์ของตำบลไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต ลักษณะเป็นพืชล้มลุกลำต้นสั้น ๆ ไหลทอดไปตามพื้นดิน แตกหน่อเป็นช่วง ๆ ใบยาวรี มีประมาณ 7-15 ใบ สีเขียวเข้ม สามารถขยายพันธุ์ได้ง่ายใช้เพียงไหลหรือหน่อ

ภาษาถิ่น ภาคใต้ ภูเก็ต


  • ภูเก็ต เป็นจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นทุนเดิม การสนับสนันให้ชุมชนในจังหวัดมีการปรับเปลี่ยน พัฒนาการนำเสนอการท่องเที่ยวก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จังหวัดภูเก็ตนำเสนอออกมาได้ดี คนชุมชนไม้ขาวได้นำเสนอจุดเด่นของชุมชนตัวเองเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาทำเป็นกิจกรรมท่องเที่ยว เช่น สปาทราย หรือการยกของดีของชุมชนนำเสนอออกสู่แหล่งตลาด เช่น ผักลิ้นห่าน นอกจากนี้ยังมีการบำรุงสถานที่ท่องเที่ยว ดูแลพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ
  • อีกด้านหนึ่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ประชาชนมีรายได้ลดลงในบางอาชีพ ทำให้รายได้ไม่พอกับรายจ่าย จึงนำไปสู่การแก้ปัญหา การวางแผนทางการเงิน การทำบัญชีครัวเรือน ฯลฯ

  • คนในชุมชนไม่มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมชุมชน จึงมีการส่งเสริมกิจกรรมวันหยุดให้เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ความเข้มแข็งของคนในชุมชน

  • เป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ที่เป็นป่าพรุที่อุดมสมบูรณ์ของจังหวัดภูเก็ต มีพรุดั้งเดิม เช่น พรุเจ๊ะสัน พรุจิก พรุแหลมหยุด พรุยายรัต ฯลฯ ซึ่งสามารถศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งดูนก เป็นพื้นที่วางไข่ของเต่าทะเล และพบจักจั่นทะเล
  • ที่ดินทำกินไม่ถูกใช้ประโยชน์ อันเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ ต้นทุนการผลิตด้านเกษตรเพิ่มสูงขึ้น ไม่คุ้มราคา ชาวบ้านจึงเลือกละทิ้งที่ทำกินออกไปประกอบอาชีพภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมแทน ส่งผลให้ที่ดินการเกษตรไม่ถูกใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม
  • พบความเสื่อมโทรมของลำธารหมู่บ้าน ขยะ สิ่งปฏิกูล นำมาสู่การจัดกิจกรรมขุดลอกคูคลอง สร้างลำธารน้ำใส โดยการบูรณาการความร่วมมือจากภาครัฐ ท้องถิ่น และประชาสังคม ทั้งส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านการรักษาความสะอาดแก่ทรัพยากรในชุมชนร่วมกัน 
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทัวร์ภูเก็ต ครีม. (ม.ป.ป.). ประวัติศาสตร์ภูเก็ต ประวัติท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร สถานที่ท่องเที่ยว. สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2567. https://www.phuketdreamcompany.com/

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต. (ม.ป.ป.). ทุนทางวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2567. https://www.navanurak.in.th/PSU_Maikhao_BIORECSUST/

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดภูเก็ต. (2560). รายงานการพัฒนาหมู่บ้าน. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2567. https://phuket.cdd.go.th/wp-content/uploads/

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอถลาง. (2567). คู่มือชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านไม้ขาว. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2567. https://district.cdd.go.th/thalang/services/d-hope-mai-khao/

องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาว. (ม.ป.ป.). ข้อมูล อบต. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2567. https://www.maikhaow.go.th/frontpage

อปท. นิวส์. (2563). หาดไม้ขาว งามสะกดใจ ทรายนวลตา สัมผัสวิถีชุมชน. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2567. https://www.opt-news.com/news/12039

เทคโนโลยีชาวบ้าน. (ม.ป.ป.). นาข้าวผืนสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ต. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2567. https://www.technologychaoban.com/

Phuketindex team. (2560). “ปล่อยเต่าทะเลคืนสู่ธรรมชาติ ณ หาดไม้ขาว ครั้งที่ 8” เฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ ณ โรงแรม เจดับบลิว แมริออท ภูเก็ต. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2567. https://news.phuketindex.com/

Phuket OK. (2565). จักจั่นทะเล วัตถุดิบเมนูเด็ด จากหาดไม้ขาว. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2567. https://phuketoknews.com/2022/08/travel-12/

3 หมอรู้จักคุณ. (2568). รายงานข้อมูลตำบลไม้ขาว. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2567. https://3doctor.hss.moph.go.th/main/

7 Green ท่องเที่ยวสดใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อม. (2567). สปาทราย สไตล์ชุมชนหาดไม้ขาว ภูเก็ต. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2567. https://7greens.tourismthailand.org/

นายวินัย แซ่อิ๋ว (ผู้ใหญ่บ้านชุมชนไม้ขาว) โทร. 08-9651-9362