ค้างคืนกับค้างคาว ชิมห่อหมกตาว ลองข้าวแดกงา
ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพหนีสงครามมาจากนครเวียงจันทร์ สปป.ลาว และมีการตั้งบ้านเรือนกันเป็นกลุ่ม ในภาษาอีสานจะเรียกว่า "มุงกัน" และสมัยก่อนมีการใช้ฆ้องเป็นสัญญาณของการเรียกประชุม หรือการแจ้งเหตุต่าง ๆ เสียงฆ้องจะดังกังวาลเป็นเสียง "มุง มุง มุง" จึงเป็นที่มาของชื่อ "บ้านมุง" นั่นเอง และเนื่องจากบ้านมุงเหนือมีที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ จึงเรียก "บ้านมุงเหนือ"
ค้างคืนกับค้างคาว ชิมห่อหมกตาว ลองข้าวแดกงา
ชุมชนชาวบ้านมุงเหนือ เป็นชุมชนดั้งเดิมเมื่อประมาณ 100 ปี บรรพบุรุษอพยพหนีสงครามเข้ามาทางจังหวัดเพชรบูรณ์ และเดินทางมาจนถึงจังหวัดพิษณุโลกมาจากนครเวียงจันทร์ สปป.ลาว มาตั้งหลักแหล่งบ้านเรือนที่บ้านมุงในปี พ.ศ. 2285 ที่มีภูเขากั้นรั้ว พื้นที่ของตำบลบ้านมุงจะถูกรายล้อมไปด้วยเขาหินปูนสลับซับซ้อนอายุ 360 ล้านปีหรือที่เรียกว่าคุณหมิง/กุ้ยหลินเมืองไทย ธรรมชาติล้อมรอบทั้งนาข้าว ไร่ข้าวโพด และยังมีค้างคาวออกจากถ้ำในทุก ๆ วันช่วงเย็นมานานนับนั้นหลายร้อยปี
ที่ตั้งและอาณาเขตติดต่อโดยภาพรวมของตำบลบ้านมุง
เทศบางตำบลบ้านมุง ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเนินมะปรางไปทางทิศตะวันออกประมาณ 7 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 154,110 ไร่ (246 ตารางกิโลเมตร) ส่วนมากจะเป็นเนื้อที่ทำการเกษตรอยู่ที่ 29,730 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 5,026 ไร่ และพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ 34,756 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ตำบลบ้านมุงมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ต.วังยาง, ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ต.เนินมะปราง, ต.บ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
ภูมิประเทศ ตำบลบ้านมุง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือตอนล่างของประเทศไทย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ เชิงเขาและเป็นภูเขา ซึ่งเป็นเขตของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง พื้นที่บางส่วนมีลักษณะเป็นที่ลุ่มและที่ดอน มีความลาดเท จากทางทิศตะวันออก สู่พื้นที่ทิศตะวันตกทอดเป็นแนวยาว สู่ทางด้านทิศใต้ของตำบลบ้านมุง
ภูมิอากาศ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม, ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายม-กันยายน และฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม-มกราคม
ข้อมูล ณ เดือน พฤษภาคม 2567 จากเทศบาลตำบลบ้านมุง จำนวนประชากรทั้งหมดในตำบลบ้านมุง 6,849 คน แยกเป็นชาย 3,390 คน หญิง 3,459 คน โดยหมู่ที่ 1 บ้านมุงเหนือ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,050 คน แยกเป็นเพศชาย 490 คน และเพศหญิง 560 คน
ชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกันเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ ทำนา ทำไร่ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ถั่วเขียวผิวมัน, ไร่อ้อย ทำสวน ได้แก่ มะม่วง (นอกฤดู), ส้มโอ, น้อยหน่า, มะขามหวาน, ส้มเขียวหวาน รับจ้าง และค้าขาย นอกจากนั้นเป็นการประกอบอาชีพ พาณิชกรรม การบริการ ได้แก่ ร้านค้าชุมชน, อาชีพนำเที่ยว โดยมีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชุมชนบ้านมุงเหนือ
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในชุมชน
- ผลิตภัณฑ์น้ำพริกป่า
- ผลิตภัณฑ์สลัดมะม่วง
- ผลิตภัณฑ์หมี่กรอบมะม่วง
- ผลิตภัณฑ์น้ำสลัดมะม่วงน้ำดอกไม้
- ผลิตภัณฑ์มะม่วงสามรส
- ผลิตภัณฑ์มะม่วงสุกและเครื่องปรุงโรยหน้ารสปลาแห้ง
- ผลิตภัณฑ์มะม่วงกวน
- ผลิตภัณฑ์ถุงผ้าและเสื้อยืด
บ้านมุงเหนือเป็นสังคมชนบทมีวัฒนธรรมด้านความเชื่อที่ยังนับถือผี เชื่อโชคลาง ยังคงมีการละเล่นพื้นบ้านที่ยังคงอนุรักษ์และนิยมเล่นอยู่ในชุมชน บ้านมุงเหนือมีแหล่งข้อมูลทางวัฒนธรรม คือมีศูนย์วัฒนธรรมประจำตำบล โดยตั้งอยู่ที่โรงเรียนวัดบ้านมุง เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในด้านต่าง ๆ
ประเพณีสำคัญ
- วันสงกรานต์
- วันเข้าพรรษา
- วันออกพรรษา
- วันลอยกระทง
การละเล่นพื้นบ้าน
- การละเล่นนางด้ง
- การละเล่นหัวควายดอก
- การละเล่นลิงลม
- การแห่นางแมว
- การทรงเจ้าเข้าผี
วิถีชีวิตทางภูมิปัญญา
ชาวบ้านในชุมชนบ้านมุงเหนือ ได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นรังสรรค์เมนูสุดยูนีค เรียกได้ว่าเป็นลายเซ็นของชุมชน นับเป็นอาหารหาทานยาก หากมาเที่ยวที่บ้านมุงเหนือจะพลาดไม่ได้ ได้แก่ ข้าวแดกงา ห่อหมกตาว น้ำพริกค้างคาว
ทุนกายภาพ
- ถ้ำพระรถเมรี/ถ้ำนางสิบสอง อยู่ทางด้านหลังวัดบ้านมุง ชาวบ้านมุงมีความเชื่อว่านิทานเรื่องพระรถ-เมรีเกิดขึ้นที่บ้านมุง เนื่องจากเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ภายในถ้ำมีแอ่งหินคล้ายลักษณะอู่นอนของเด็ก นับได้สิบสองอู่ จึงเชื่อว่าเป็นถ้ำที่นางสิบสองมาอยู่อาศัย
- น้ำตกขุนห้วยเทิน เป็นน้ำตกที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าเขา กำเนิดจากสายน้ำในฤดูฝนที่ไหลลงมาจากภูเขาหินปูน ลงสู่ลำห้วยที่ชาวบ้านเรียกกันว่าขุนห้วยเทิน ก่อนจะไหลผ่านเชิงเขาหินปูน กัดเซาะจนเป็นชั้นน้ำตกเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วบริเวณ
- หอชมค้างคาว จุดเช็คอินรูปค้างคาว ผ่านแลนด์มาร์กชุมชนบ้านมุงเหนืออยู่ริมถนนหมายเลข 1115
- นครป่าหิน/ภูเขาหินบ้านมุง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงดงามและแปลกตา บริเวณของเทือกเขาหินปูนที่เรียงราย สลับซับซ้อนไปมา โดยมียอดแหลมสวย มองดูแล้วเหมือนกับรังปลวกขนาดใหญ่ เรียกได้ว่าเป็น คุณหมิง/กุ้ยหลินของเมืองไทยได้เลย
- แลนด์มาร์คบ้านมุง ถนนทางเข้าชุมชนบ้านมุงเหนือ
- วัดบ้านมุง เป็นวัดสำคัญของตำบลบ้านมุง ชาวบ้านมักจะเข้ามาปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนาเพราะมีบรรยากาศเงียบสงบ ร่มรื่น บริเวณรอบวัดจะถูกล้อมด้วยต้นไม้และภูเขาหินปูนสูงเด่น ภายในวัดยังมีถ้ำนางสิบสองตามตำนาน และเป็นจุดชมฝูงค้างคาวที่สวยงามและเด่นชัดที่สุด
มีสำเนียงภาษาเป็นภาษาพื้นเมือง
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของบ้านมุงเหนือสะท้อนการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยมีการส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร และพัฒนาวิถีชีวิตทางภูมิปัญญา ให้เป็นแหล่งรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
ชุมชนบ้านมุงเหนือมีการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่นการทำอาหารพื้นบ้าน การแสดงศิลปะพื้นบ้าน และการจัดกิจกรรมทางศาสนาสำคัญที่สะท้อนถึงความเชื่อและความสัมพันธ์ใกล้ชิดของคนในชุมชน
ชุมชนบ้านมุงเหนือยังคงอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่งในชุมชน และเปิดเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้
ชุมชนบ้านมุงเหนือ เป็นชุมชนท่องเที่ยว Low Carbon ทำให้สามารถนั่งรถอีแต๊กชมบรรยากาศเส้นทางธรรมชาติของชุมชนได้โดยไม่ต้องกลัวมลพิษ และยังมีจุดปีนหน้าผา “พิชิตยอดเขาหินล้านปี Zero Carbon” อีกหลายจุดในชุมชนอีกด้วย นอกจากนี้ชุมชนบ้านมุงเหนือยังมีให้ตามรอยฮอลลีวูด นะหน้าทอง เพลงยอดฮิตของ โจอี้ ภูวศิษฐ์
กรมพัฒนาชุมชน. (16 ธันวาคม 2565). นวัตวิถีบ้านมุงเหนือ. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2567. https://cddportal.cdd.go.th/portal
ชุมชนต้องเที่ยว. (7 มิถุนายน 2566). ชุมชนท่องเที่ยว บ้านมุงเหนือ อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2567. https://www.chumchontongtiew.com/
มูลนิธิสัมมาชีพ. (3 กรกฎาคม 2567). เปิดเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนสีเขียว @ชุมชนบ้านมุงเหนือ จ.พิษณุโลก. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2567. https://www.right-livelihoods.com/
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านมุงเหนือ ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2567. https://lottery-cm.glo.or.th/
เก็บเรื่องมาเล่าโดยหนุ่มสุทน. (14 ธันวาคม 2564). ท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชน “บ้านมุงเหนือ” อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2567. https://travel.trueid.net/
เทศบาลตำบลบ้านมุง. (ม.ป.ป.). รู้จักตำบล. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2567. https://www.banmung.g.th/condition
Hello LOCAL. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยวบ้านมุงเหนือ จ.พิษณุโลก. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2567. https://www.hellolocal.asia/th/tour/cbt-banmung-nhua/
Lover Traveler. (22 สิงหาคม 2565). ถ้ำนางสิบสองเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2567. https://th.trip.com/moments/detail
Noenmaprang. (ม.ป.ป.). แหล่งท่องเที่ยวเนินมะปราง. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2567. https://www.noenmaprang.org/
Sanook. (18 เม.ย. 2559). ชาวพิษณุโลกทำพิธี “เล่นนางด้ง” ขอฝนสู้แล้ง. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2567. https://www.sanook.com/news/1981402/
Tripgether ทริปเก็ทเตอร์. (18 ก.ย. 2567). วัดบ้านมุง พิษณุโลก ไหว้พระวัดงามประจำตำบล ชมถ้ำสวยสุดอันซีน. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2567. https://today.line.me/th/