
ชุมชนไทยวนที่ยังมีการใช้ภาษาไทยวน และยังเป็นชุมชนที่มีกลิ่นอายความเป็นไทยวนผ่านวิถีชีวิตและประเพณีวัฒนธรรม
สมัยการบุกเบิกตั้งบ้าน พื้นที่บ้านลำประดาใต้มีลำน้ำไหลผ่านเป็นแนวยาวจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก และลำน้ำดังกล่าวมีแมงดาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกว่า "ลำแมงดา" ภายหลังเรียกเพี้ยนเป็น "ลำประดา" โดยชุมชนที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เรียก "บ้านลำประดาเหนือ" เพราะอยู่เหนือน้ำ และชุมชนที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเรียกว่า "บ้านลำประดาใต้"
ชุมชนไทยวนที่ยังมีการใช้ภาษาไทยวน และยังเป็นชุมชนที่มีกลิ่นอายความเป็นไทยวนผ่านวิถีชีวิตและประเพณีวัฒนธรรม
ย้อนกลับไปไม่ต่ำกว่า 120 ปี หรือประมาณปี พ.ศ. 2447 ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีชาวบ้านเชื้อสายไทยวน บ้างเรียกตัวเองว่า "ลาวยวน" ที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอหนองแซง อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ได้พากันอพยพย้ายถิ่นฐานด้วยการเดินเท้าและใช้เกวียนบรรทุกสิ่งของเครื่องใช้ เดินทางขึ้นมาทางเหนือ ผ่านจังหวัดสิงห์บุรี นครสวรรค์ จนมาถึงจังหวัดพิจิตร ได้เจอพื้นที่ที่มีลำน้ำไหลผ่านและมีที่ลุ่มกว้างใหญ่และที่ดอนเล็กน้อย เหมาะสมเป็นพื้นที่ทำนาและใช้ที่ดอนเป็นที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย ผู้อพยพจึงตัดสินใจตั้งรกรากหลักแหล่งทำมาหากินในพื้นที่นี้ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นหมู่บ้านลำประดาใต้
ชุมชนบ้านลำประดาใต้มีผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการ ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านลำประดาใต้คือ นายเป๋า (ไม่ทราบนามสกุล) ต่อมาบ้านลำประดาได้รับการจดทะเบียนเป็นหมู่ที่ 7 ของตำบลภูมิ อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2522 ได้มีการแบ่งแยกเขตตำบลภูมิออกเป็นตำบลลำประดา ทำให้หมู่บ้านลำประดาใต้ได้รับการจัดให้อยู่ในเขตตำบลลำประดา และได้เปลี่ยนลำดับหมู่บ้านเป็นหมู่ที่ 1 ของตำบลลำประดาจนถึงปัจจุบัน
บ้านลำประดาใต้ เป็นหมู่บ้านที่ 1 ของตำบลลำประดา ซึ่งประกอบด้วย 10 หมู่บ้าน บ้านลำประดาใต้ตั้งห่างจากที่ว่าการอำเภอบางมูลนาก ทางทิศตะวันออกประมาณ 17 กิโลเมตร และตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดพิจิตร 65 กิโลเมตร ในแผนพัฒนาหมู่บ้านปี 2566 ระบุว่าหมู่บ้านมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 7.07 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,379 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เกษตร 3,153 ไร่ และพื้นที่อยู่อาศัย 224 ไร่ บ้านลำประดาใต้มีอาณาเขตทางทิศเหนือติดต่อกับบ้าน หมู่ 6 ทิศใต้ติดต่อกับหมู่บ้าน หมู่ 2 และ 4 ทิศตะวันออกติดต่อกับหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 และทิศตะวันตกติดต่อกับบ้าน หมู่ที่ 3
พื้นที่ในบ้านลำประดาเป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การทำเกษตร ในฤดูฝนมักมีน้ำหลาก แต่ระยะหลังมีการสร้างถนน และการขุดลอกคูคลอง ทำให้น้ำไม่ท่วมเหมือนแต่ก่อน คนในชุมชนอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ของชุมชนเช่นนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือน้ำไม่ท่วม แต่ข้อเสียคือการขาดแคลนอาหารตามธรรมชาติในฤดูน้ำหลาก ซึ่งได้พัดพาปู ปลา กุ้ง หอย มากับน้ำที่ไหลหลากเข้าสู่ท้องทุ่งนาและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งครัวเรือนสามารถปรับตัวให้สามารถอยู่กันได้อย่างปกติสุขในยามน้ำท่วมหลาก โดยการเตรียมเรือเป็นพาหนะสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก เนื่องจากชุมชนมีความคุ้นชินจึงมีความคล่องแคล่ว น้ำท่วมหลากตามธรรมชาติจึงไม่จัดเป็นวิกฤติหรือภัยพิบัติ แต่เป็นเพียงฤดูกาลที่เต็มไปด้วยน้ำและอาหารมากมาย
แผนพัฒนาหมู่บ้านปี 2566 ระบุข้อมูลจำนวนประชากรของบ้านลำประดาใต้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ข้อมูลประชากรตามทะเบียนราษฎร์ ของสำนักงานทะเบียนอำเภอบางมูลนาก ปี 2565 หมู่บ้านประกอบด้วยครัวเรือนจำนวน 180 ครัวเรือน แต่ประชากรที่อาศัยอยู่จริงตามการเก็บข้อมูล จปฐ. (ความจำเป็นพื้นฐานของหมู่บ้าน) มีจำนวนครัวเรือน 116 ครัวเรือนเท่านั้น แบ่งเป็นชาย 160 คน และหญิง 178 คน รวม 338 คน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุ 111 คน และผู้พิการ 33 คน
ประชากรส่วนใหญ่ของบ้านลำประดาใต้มีเชื้อสายไทยวนหรือลาวยวน ตามบรรพบุรุษชาวซึ่งเป็นชาวไทยยวนที่อพยพมาจากจังหวัดสระบุรี จากการสืบประวัติคุณยายทองคำ อายุ 95 ปี เล่าให้ฟังว่า พ่อแม่ของคุณยายพาคุณยายเดินทางอพยพมาอยู่ที่บ้านลำประดาใต้เมื่อคุณยายอายุได้ 16 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้มีญาติพี่น้องอพยพมาอยู่กันก่อนล่วงหน้าแล้ว
สำหรับการสืบเชื้อสายภาษาไทยวนของชุมชน มีการสังเกตจากภาษา ซึ่งคำบางคำจะไม่มีตัวสะกด เช่น ปลาแดก จะออกเสียงเป็น ปลาแดะ ข้าวเปียก ออกเสียงเป็น ข้าวเปอะ รวมถึงมีสำเนียงคล้ายกับกลุ่มชาติพันธุ์ทางเหนือของประเทศไทย ทำให้มีการอนุมานกันในชุมชนว่าบรรพบุรุษไทยวนน่าจะเคยเป็นชนชาติที่อยู่ทางตอนเหนือของไทยมาตั้งแต่ดั้งเดิมก่อนที่จะอพยพมาอยู่ภาคกลางในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในการพูดคุยกับคนรุ่นใหม่บางคนที่มีการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับรากเหง้าของชาวไทยวน มีการรับรู้และบอกเล่ากับคนในชุมชนตามข้อมูลที่ค้นคว้า มีการอธิบายที่มาของเชื้อสายของตนเองอย่างละเอียด พร้อมหลักฐานจากการค้นคว้าซึ่งอ้างว่า บรรพบุรุษของตนมีรากกำเนิดจากเมืองเชียงแสนหรืออาณาจักรโยนก ภายหลังผู้คนได้เคลื่อนย้ายลงทางใต้สู่แอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน สร้างเมืองใหม่คืออาณาจักรล้านนา ต่อมาเกิดสงครามตีเมืองล้านนาทั้งจากพม่าและไทย จึงเกิดการเทครัวของชาวไทยวนจากหัวเมืองล้านนาย้ายเข้ามาสู่เขตภาคกลาง
ไทยวนกลุ่มองค์กรที่มีอยู่ในชุมชนมีหลากหลายกลุ่ม ในอดีตเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นโดยทางราชการ ได้แก่ กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คณะกรรมการพัฒนาสตรีระดับหมู่บ้าน ชมรมผู้สูงอายุ คณะกรรมการเยาวชน และกลุ่มที่ตั้งขึ้นตามความต้องการและความสนใจของคนในชุมชน ได้แก่ ชมรมรักษ์สมุนไพร กลุ่มหมอพื้นบ้าน กลุ่มทอเสื่อ กลุ่มจักสานผักตบชวา
ปัจจุบันกลุ่มองค์กรดังกล่าวล้มหายตายจากไปบางส่วน เนื่องจากหลายสาเหตุ ได้แก่ สถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้กลุ่มลูกเสือชาวบ้านหมดบทบาทหน้าที่ หรือการยกเลิกนโยบายการส่งเสริมหรือสนับสนุนบางกิจกรรม เช่น การยกเลิกคณะกรรมการพัฒนาสตรี การยกเลิกคณะกรรมการเยาวชน รวมถึงการล้มหายตายจากของคนในกลุ่ม ได้แก่ ชมรมรักษ์สมุนไพร กลุ่มหมอพื้นบ้าน ที่คนในกลุ่มเป็นผู้สูงอายุและจากไปด้วยวัยชรา โดยไม่มีคนหรือทายาทมาสืบสานงานต่อ ทำให้ต้องยกเลิกกลุ่มไปอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม ยังมีบางกลุ่มที่ยังคงดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่ม อสม. ชมรมผู้สูงอายุ กลุ่มทอเสื่อ เป็นต้น
ปัจจุบันมีกลุ่มเกิดขึ้นมาใหม่หลายกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพและกลุ่มตามความสนใจ ได้แก่ กลุ่มเย็บผ้า กลุ่มดอกไม้จันทน์ กลุ่มแอโรบิค และยังมีกลุ่มที่ตั้งขึ้นโดยนโยบายของรัฐ ได้แก่ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ กลุ่มสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้ใช้น้ำ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งกองทุนในหมู่บ้าน ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน สำหรับการลงทุนพัฒนาอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้หรือเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย รวมถึงเป็นเงินบรรเทาเหตุฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วน ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับชุมชน
ต่อมาคือ กองทุนแม่ของแผ่นดิน เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลในการจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน กองทุนนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้าน/ชุมชนเพื่อให้สามารถรวมพลังคนในชุมชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดฟื้นฟูทุนทางสังคมของหมู่บ้าน/ชุมชน และเสริมสร้างศักยภาพของคนในชุมชนโดยพัฒนาไปสู่การแก้ไขปัญหาพื้นฐานบนสภาพของมิติทางสังคมวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่
สุดท้ายคือกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นกลุ่มที่หมู่บ้านต่าง ๆ ได้จัดตั้งขึ้นตามการส่งเสริมของสำนักงานพัฒนาชุมชนระดับอำเภอ เพื่อให้ชาวบ้านได้ช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยการออมทรัพย์ แล้วนำมาสะสมรวมกันทีละเล็กละน้อยเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้เป็นทุนให้สมาชิกที่มีความจำเป็นเดือดร้อนกู้ยืมไปใช้ในการลงทุนประกอบอาชีพหรือเพื่อสวัสดิการของตนเองและครอบครัว
แผนพัฒนาหมู่บ้านปี 2565 ระบุว่าคนในชุมชนมีการประกอบอาชีพหลายอย่าง โดยส่วนใหญ่ทำการเกษตร หรือทำนา 101 คน และมีอาชีพนอกเกษตรหลากหลายอาชีพ ได้แก่ รับจ้างทั่วไป 59 คน ค้าขาย 19 คน ธุรกิจส่วนตัว 5 คน ประกอบอาชีพอื่น ๆ 10 คน รับราชการ 28 คน พนักงาน พนักงานบริษัทเอกชน 19 คน พนักงานรัฐวิสาหกิจ 2 คน กำลังศึกษา 68 คน และไม่มีอาชีพ 27 คน
การทำนาในบ้านลำประดาใต้ยังเป็นการทำนาปี หรือการทำนาอาศัยน้ำฝนปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนาระบบชลประทานในเขตพื้นที่ตำบลลำประดา อย่างไรก็ตาม บางครัวเรือนที่พอมีทุนรอนได้มีการลงทุนขุดบาดาลเพื่อดึงน้ำมาใช้ทำนาในฤดูแล้งหรือที่เรียกว่าการทำนาปรัง ซึ่งเป็นการทำนา 2-3 ครั้งต่อปี หลังจากราคาข้าวในปี 2566-2567 เริ่มกระเตื้องขึ้นมา ทำให้การลงทุนทำนากลับมาคึกคักอีกครั้ง
ผู้ใหญ่บ้านลำประดาอธิบายในปัจจุบันครัวเรือนไม่สามารถอยู่ได้ด้วยเงินจากการขายข้าวอย่างเดียว เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงสภาพความเปลี่ยนแปลงของชุมชน โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมที่มีแหล่งอาหารน้อยลง การขุดลอกคูคลอง การทำถนนหลายสาย รวมถึงการใช้สารเคมีในการเกษตร ทำให้อาหารธรรมชาติลดน้อยลงอย่างมาก ทั้งผักพื้นบ้านและปูปลากุ้งหอยลดจำนวนลงจนต้องแย่งกันหา ส่วนคนที่หาอาหารไม่ทันก็ต้องหาเงินมาซื้ออาหาร การซื้ออาหารจึงกลายเป็นเรื่องปกติทั่วไปและกลายเป็นวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน
สำหรับวิถีทางประเพณีและวัฒนธรรมในชุมชนลำประดาใต้ ยังคงดำเนินไปในแต่ละรอบปี ส่วนใหญ่เป็นงานประเพณีที่เกี่ยวพันกับศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาหลักของชุมชน โดยปฏิทินประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนจะเริ่มจากประเพณีกวนข้าวทิพย์ ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 เพื่อใช้ในงานบุญวิสาขบูชา ต่อมาในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ชุมชนจะร่วมกันทำบุญวันอาสาฬหบูชาและต่อด้วยการแห่เทียนเข้าพรรษาในวันถัดมา สำหรับในช่วงเข้าพรรษาตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 จนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 คนในชุมชน โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่จะไปจำวัดทุก ๆ วันพระ ต่อมาคืองานบุญสารทเดือนสิบ บ้านลำประดาใต้จะจัดตรงกับสารทไทยในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 และอีกสองอาทิตย์ถัดมาก็เป็นงานบุญวันออกพรรษา ถือเป็นงานสำคัญที่จัดต่อเนื่องถึง 3 วัน
สำหรับในช่วงวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านลำประดาจะมีการทำบุญตักบาตรเทโวที่วัดลำประดาใต้ โดยจะเริ่มเวลาประมาณ 10 โมงเช้า ชาวบ้านจะนำเอาพระพุทธรูปที่ชาวบ้านนับถือไว้บนเฉลียงหรือบ้านเรือนไทยที่ชาวบ้านทำขึ้นเอง มีคนแบกหาม 2 คนเดินนำหน้าขบวนแห่ของพระสงฆ์ที่มาร่วมกันบิณฑบาต แล้วแห่ขบวนไปยังอุโบสถ ชาวบ้านที่ยืนรออยู่จะทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง ดอกไม้ และปัจจัยต่าง ๆ และในเวลาถัดมา มีการจัดกิจกรรมสร้างความบันเทิงให้กับชาวบ้าน เช่น การจัดแข่งขันกีฬาตะกร้อ กีฬาพื้นบ้าน และมหรสพต่าง ๆ
รุ่งเช้าวันถัดมาจะมีการทำบุญตักบาตรและการเทศน์คาถาพัน และรุ่งเช้าอีกวัน จะมีการ “แห่ข้าวพันก้อน” จะนิยมทำกันเวลาประมาณตี 4-5 หรือรุ่งเช้าของวันเทศน์มหาชาติ ชาวบ้านจะนำปั้นข้าวเหนียวก้อนเล็ก ๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือใส่
ถาดมาจากบ้านของตัวเอง มาถึงวัดแล้วจึงนำข้าวที่ปั้นเป็นก้อนใส่ไปในบาตรพระที่ตั้งไว้ตามจุดสามรอบ เมื่อแห่ข้าวพันก้อนเสร็จ จะมีการเทศน์สังกาศ คือการเทศน์บอกปีศักราช เมื่อจบการเทศน์สังกาศ จะเริ่มเทศน์มหาชาติกัณฑ์แรกคือกัณฑ์ทศพรไปตามลำดับจนจบครบทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งจะใช้เวลาตลอดทั้งวันจนถึงค่ำ ซึ่งชาวบ้านต่างมีความเชื่อกันว่าหากใครฟังเทศน์มหาชาติจนจบผู้นั้นจะได้รับอานิสงส์ผลบุญมาก งานตักบาตรเทโววันออกพรรษาถือเป็นงานสำคัญและงานใหญ่ของชุมชน ทุกคนในชุมชนจะตั้งใจร่วมกันจัดงานนี้เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด และให้สมดังคำขวัญประจำตำบลลำประดา ที่ได้กล่าวไว้ว่า “ภาษาถิ่นยวนลาว ข้าวขาวกอเตี้ยขึ้นชื่อ เลื่องลือขนมเปียกปูน อุดมสมบูรณ์ผักปลา กีฬาตะกร้อใหญ่โต ตักบาตรเทโวเรืองนาม” (สัมภาษณ์, ประสิทธิ์ นันตา (ผู้ใหญ่บ้านลำประดาใต้), 25 สิงหาคม 2567)
ในเดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนที่มีการจัดประเพณีหลายอย่าง เริ่มจากงานบุญกฐินสามัคคี ซึ่งมีการจัดเตรียมรวบรวมเงินทำบุญเข้าวัดลำประดาใต้ตั้งแต่เดือนกันยายน เสร็จจากบุญกฐิน ในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 จะมีการจัดงานประเพณี 2 งาน ได้แก่ ประเพณีกวนข้าวยาคู และประเพณีลอยกระทง สำหรับประเพณีกวนข้าวยาคูถือเป็นประเพณีประจำท้องถิ่นของบ้านลำประดาใต้ จัดขึ้นในช่วงข้าวออกรวงแต่ยังไม่สุกเต็มที่ ชาวบ้านจะเกี่ยวข้าวแล้วนำมากวนข้าวยาคู โดยนำข้าวที่เป็นน้ำนมมาตำกรองเอาน้ำผสมแป้ง แล้วกวนให้เข้ากัน ระหว่างกวนจะมีพระสวดไปด้วย ในวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านจะนำข้าวยาคูที่กวนเสร็จแล้วไปถวายพระ และส่วนที่เหลือจะนำไปแบ่งให้ชาวบ้านทุกหลังคาเรือน โดยมีความเชื่อถ้าใครได้กินข้าวยาคูจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ประเพณีนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่วัดลำประดาใต้และวัดไดโสน ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียง
ประเพณีและพิธีกรรมที่จัดในช่วงเวลาต่าง ๆ สามารถแบ่งตามลำดับดังนี้
เดือน | กิจกรรม |
มกราคม | ทำบุญปีใหม่ |
กุมภาพันธ์ | - |
เมษายน | ประเพณีสงกรานต์ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ข้าวสาร และงานรื่นเริง |
พฤษภาคม | ประเพณีกวนข้าวทิพย์ (ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6) เพื่อใช้ในงานบุญวิสาขบูชาในวันถัดมา, ประเพณีเลี้ยงศาลเจ้าพ่อธรรมยา (ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6) |
กรกฎาคม | บุญเข้าพรรษา อาสาฬหบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 |
สิงหาคม-กันยายน | ประเพณีกวนกระยาสารท เพื่องานบุญสารท (แรม 15 ค่ำ เดือน 10) |
ตุลาคม | ทำบุญตักบาตรวันออกพรรษา แห่พระอุปคุต, แห่ข้าวพันก้อน และบุญเทศน์มหาชาติ, บุญตักบาตรเทโว งานออกพรรษา |
พฤศจิกายน | บุญกฐินสามัคคี ประเพณีกวนข้าวยาคู และประเพณีลอยกระทง |
บ้านลำประดาใต้มีปราชญ์ชาวบ้านที่มีภูมิปัญญาความรู้หลากหลายด้าน ทำให้ครั้งหนึ่งเคยได้รับการสถาปนาให้เป็นหมู่บ้านแห่งภูมิปัญญาไทย ซึ่งมีการทำกิจกรรมการเรียนรู้หลายอย่างโดยการถ่ายทอดความรู้ของครูภูมิปัญญาซึ่งมีหลายคน ปัจจุบันครูภูมิปัญญาบางคนอยู่ในวัยสูงอายุทำให้ยากต่อการทำกิจกรรมเหมือนเก่า ในขณะที่หลายคนได้จากโลกนี้ไปแล้วอย่างน่าเสียดาย
ปัจจุบัน ครูภูมิปัญญาที่ยังคงดำเนินกิจกรรมทางภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ ผู้เก็บข้อมูลได้อ้างอิงข้อมูลของครูภูมิปัญญาเหล่านี้จากหนังสือ "หมู่บ้านแห่งภูมิปัญญาไทย บ้านลำประดาใต้ หมู่ที่ 1 ต.ลำประดา อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร" ซึ่งจัดทำโดย คณะทำงานหมู่บ้านแห่งภูมิปัญญาไทยอำเภอบางมูลนาก โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.แม่ชีสาคร รานันท์ ปัจจุบันอายุ 80 ปี เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องการนำสมุนไพรมาทำน้ำสมุนไพรเพื่อบำรุงสุขภาพ แม่ชีสาครเล่าว่าตนเองมีความสนใจด้านสมุนไพรอยู่แล้ว ซึ่งแต่ก่อนนั้นพ่อของแม่ชีเคยบวชเป็นพระและเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเดิม วัดหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรเป็นอย่างดี พ่อของแม่ชีสาครจึงได้ร่ำเรียนด้านสมุนไพรกับหลวงพ่อเดิม และแม่ชีก็ได้เรียนรู้ต่อจากพ่ออีกที แม่ชีสาครได้นำความรู้ที่ได้มาใช้เป็นประโยชน์กับการรักษาสุขภาพของญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน ต่อมาแม่ชีได้รับการสนับสนุนจากสถานีอนามัยตำบลลำประดา (ปัจจุบันคือโรงพยายามส่งเสริมสุขภาพตำบลลำประดา) ในด้านวิชาการต่าง ๆ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้เดิมของแม่ชี ทำให้แม่ชีสามารถทำน้ำสมุนไพรได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ สามารถทำน้ำสมุนไพรจำหน่าย ขณะเดียวกันแม่ชีก็ได้รับเชิญเป็นวิทยากรถ่ายทอดภูมิปัญญาดังกล่าวให้กับนักเรียนนักศึกษาและผู้สนใจ และยังได้รับตำแหน่งรองประธานชมรมสมุนไพรบ้านลำประดา
2.นางไข่ พันธ์จันทร์ดี ปัจจุบันอายุ 70 ปี เป็นผู้มีความรู้ด้านสมุนไพร โดยการนำสมุนไพรมาปรุงเป็นยาแก้ถอนพิษชนิดต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น อาหารเป็นพิษ ยาเบื่อเมา ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงที่เข้าสู่ร่างกาย หรือการเมาสุรา จากคำบอกเล่าของนางไข่ว่าสูตรแก้ถอนพิษนี้ ได้รับการถ่ายทอดมาจากพระครูธรรมมาพิมล (หลวงปู่เลี้ยง) วัดหนองเต่า ตำบลหนองเต่า อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยมีจุดเริ่มต้นจากนางคำ ก้อนแก้ว ซึ่งเป็นยายของนางไข่ ได้นำเอายาถอนพิษของพระครูธรรมมาพิมลมาทดลองใช้กับตัวเองซึ่งก็ได้ผล สามารถแก้ถอนพิษได้ ยายคำจึงขอตำรายาขนานนี้มาปรุงและใช้กินรักษาตนเองและตนในหมู่บ้าน หลังจากยายคำมีอายุมาก ได้ถ่ายทอดสูตรยาให้กับนางไข่ รับช่วงต่อตามตำรา เพื่อรักษาและช่วยเหลือคนที่ได้รับพิษต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย ปัจจุบันยาถอนพิษของนางไข่เป็นที่นิยมของชาวลำประดา ซึ่งสามารถถอนพิษได้ทุกชนิด ใครที่ได้กินแล้วก็หายและมีอาการดีทุกคน นางไข่ได้ทำยาไว้ใช้และแบ่งจำหน่ายให้กับผู้สนใจ พร้อมทั้งยินดีถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้สนใจ
3.นายประภาษ กุลมณี ปัจจุบันอายุ 72 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านที่มีความกระตือรือร้นในการทำงานตามบทบาทหน้าที่ อีกทั้งยังให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และมีการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาชุมชนอย่างแข็งขัน สมกับความเป็นผู้นำชุมชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้นายประภาษยังเป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางด้านประเพณีวัฒนธรรม เมื่อมีงานประเพณีต่าง ๆ นายประภาษสามารถเป็นผู้นำในการดำเนินขั้นตอนของพิธีต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้งานประเพณีของหมู่บ้านลำประดาใต้มีความราบรื่นและเป็นที่ยอมรับทุกงาน
4.นายคูณ มารบุญ อายุ 79 ปี เป็นผู้มีความสามารถด้านการจักสานด้วยไม้ไผ่ เช่น จักสานกระบุง ตะกร้า กระจาด กระด้ง ข้องใส่ปลา ไซดักปลา และอีกมากมาย นายคูณได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการจักสานจากพ่อ ตั้งแต่นายคูณยังมีอายุประมาณ 16 ปี ซึ่งในตอนนั้นนายคูณได้ฝึกหัดทดลองทำจนชำนาญ และได้ช่วยพ่อทำเป็นประจำ ปัจจุบันนายคูณสามารถจักสานเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือน หรือในกรณีมีคนในหมู่บ้านมาสั่งทำก็สามารถทำขายให้ได้ โดยสามารถทำตามคำสั่งของลูกค้าตามรูปแบบที่ต้องการ ซึ่งฝีมือการจักสานของนายคูณมีความละเอียด แน่นหน้า แข็งแรงทนทาน สามารถใช้งานได้ยาวนาน หากมีผู้สนใจอยากเรียนรู้การจักสานสามารถมาฝึกหัดกับนายคูณได้ตลอดเวลา
5.นางสาวขุนทอง กลิ่นสุคันธ์, นางนงลักษณ์ อุดหนุน และนางสมทรง กรัดอิ่ม ทั้ง 3 เป็นบุคคลที่มีความสามารถด้านการจักสานผักตบชวา รูปแบบที่สามารถทำได้คือการจักสานกระเป๋าผักตบชวาลายเม็ดมะยม ลายขัด ลายดอกแก้ว ลายเม็ดแตง และลายดอกพิกุล รวมทั้งยังสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดเทคนิคและวิธีการจักสานกระเป๋าผักตบชวาให้กับผู้ที่สนใจได้
6.นางพวง ภูษา, นางส้มลิ้ม ภุมมา, นางซ่า วันเชียง, นางเบ้า แก้ววัน ผู้มีความรู้ความสามารถด้านการทอเสื่อกก โดยนางเบ้าเป็นผู้นำพันธุ์ต้นกกเข้ามาปลูกในบ้านลำประดาใต้ครั้งแรก โดยนำมาจากหอไกรมาปลูกในพื้นที่ของตนเองเพื่อนำมาทอเป็นเสื่อใช้ในครอบครัว ต่อมา นางทองรักษ์ จิตรมา ได้ขอพันธุ์จากนางเบ้าไปขยายปลูกต่อ ประกอบกับทางสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางมูลนากได้มีการสนับสนุนงบประมาณจัดหากี่ทอและวัสดุอุปกรณ์การทอ และได้รวมตัวผู้มีความสามารถด้านการทอเสื่อตั้งเป็นกลุ่มอาชีพขึ้นในหมู่บ้าน และยังให้คนที่มีความรู้มาฝึกสอยเพิ่มทักษะให้กับสมาชิกในกลุ่มที่ยังทอไม่เป็น จากนั้นสมาชิกกลุ่มจึงได้ร่วมกันทอเสื่อและจัดการจำหน่ายแก่ผู้สนใจ ปัจจุบัน กลุ่มทอเสื่อได้หยุดดำเนินการแล้ว เพราะสมาชิกบางรายมีอายุมาก แต่บ้านลำประดาใต้ยังมีผู้รู้และสามารถถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอเสื่อให้กับผู้สนใจได้เป็นอย่างดี คือ นางส้มลิ้ม ภุมมา นางพวง ภูษา นางสาวขุนทอง กลิ่นสุคันธ์ นางสมทรง กลัดอิ่ม นางทองรักษ์ จิตรมา และนางซ่า วันเชียง
ครั้งหนึ่งประมาณ 20 ปีก่อน ชุมชนบ้านลำประดาใต้เคยได้ร่วมกับคณะทำงานหมู่บ้านแห่งภูมิปัญญาไทยอำเภอบางมูลนาก และองค์การบริหารส่วนตำบลลำประดา จัดเวทีประชาคมหมู่บ้าน เพื่อสืบค้นภูมิปัญญาของชาวบ้านลำประดาใต้ ทำให้ได้ทราบว่า บ้านลำประดาใต้มีของดีและภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีค่าควรแก่การศึกษาและสามารถถ่ายทอด เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับบุคคลที่สนใจได้ ซึ่งพอจะจำแนกออกเป็นความรู้ด้านต่าง ๆ ได้แก่ ความรู้ด้านพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ความรู้ด้านการนวดแผนไทย ความรู้เกี่ยวกับหมอพื้นบ้าน ความรู้ด้านหัตถกรรม เช่น การจักสานด้วยไม้ไผ่และผักตบชวา การทอเสื่อ และความรู้ด้านการทำขนมพื้นบ้าน
ปัจจุบัน ความรู้ภูมิปัญญาดังกล่าวเริ่มเสื่อมสลายและสูญหายไปพร้อมกับการสูญเสียปราชญ์ชาวบ้านหลายคนที่จากไปด้วยวัยชราโดยไม่มีผู้สืบต่อความรู้อย่างน่าเสียดาย เพราะขาดการรื้อฟื้น ฟื้นฟู และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่มีองค์ความรู้ใหม่เข้ามาแทนที่ รวมทั้งวิถีชีวิตแบบใหม่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นเงื่อนไขที่ไม่ง่ายต่อการกลับไปใช้ความรู้เดิมและวัตถุดิบแบบเดิม เช่นการกลับไปใช้ยาสมุนไพรบางสำรับเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสมุนไพรท้องถิ่นบางตัวได้สูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะเมื่อไม่มีการใช้ประโยชน์ ทำให้ขาดการอนุรักษ์ไปด้วยโดยปริยาย (แม่ชีสาคร รานันท์, สัมภาษณ์, 25 สิงหาคม 2567)
ภาษาที่ใช้กันในหมู่บ้านลำประดา ส่วนใหญ่เป็นภาษาไทยวน ผสมปะปนกับภาษาไทยกลางบ้างเล็กน้อย สำหรับภาษาไทยวนที่พูดกันนั้นมีสำเนียงที่แบ่งได้ 2 กลุ่ม โดยชาวบ้านจะรู้กันและจะเรียกกลุ่มที่มีสำเนียงคล้ายภาษาเหนือว่า คนยวน พูดยวน ขณะที่อีกกลุ่มมีสำเนียงคล้ายกับภาษาอีสาน เรียกตัวเองว่าเป็น ลาวยวน พูดลาว จากการสอบถามคนในชุมชนถึงที่มาของความแตกต่างนี้ ก็มีการอธิบายว่าทั้งสองกลุ่มนี้มาจากสระบุรีเหมือนกันแต่คนละตำบล กลุ่มที่พูดยวนมาจากตำบลหนองโน และตำบลป๊อกแป๊ก ส่วนกลุ่มที่พูดลาวมาจาก อำเภอเสาไห้ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี เหมือนกัน (ประภาษ กุลมณี, สัมภาษณ์, 25 สิงหาคม 2567)
ต้นทุนการผลิตสูง ได้ผลผลิตน้อย ราคาตกต่ำ ที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ทำให้คนในชุมชนหลายครัวเรือนต้องเช่าที่ดินทำนา และปัญหาหนี้สิน (ข้อมูลจากการประชาคมหมู่บ้านเพื่อจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านปี 2566)
ประปาหมู่บ้านไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค คนในชุมชนยังต้องซื้อน้ำดื่มกิน ลำเหมืองตื้นเขิน ถนนลูกรังในหมู่บ้านเป็นหลุมเป็นบ่อ และถนนคอนกรีตชำรุด (ข้อมูลจากการประชาคมหมู่บ้านเพื่อจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านปี 2566)
ชาวบ้านมีสารพิษปนเปื้อนในร่างกายสูง ทำให้มีโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่าง ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การดูแลกันในครอบครัวเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากหลายครอบครัวมีคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นเด็กและผู้สูงวัย ไม่มีคนวัยกลางคนอยู่ด้วย เนื่องจากต้องไปทำงานต่างพื้นที่ ทำให้ปัญหาสุขภาพยิ่งหนักหน่วงรุนแรงขึ้น (ข้อมูลจากการประชาคมหมู่บ้านเพื่อจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านปี 2566)
การขาดแคลนแหล่งน้ำสำหรับการทำเกษตรที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ในขณะที่ดินเสื่อมสภาพจากการเร่งผลิตด้วยการใช้สารพิษสารเคมี และการมีพื้นที่ป่าหัวไร่ปลายนาน้อยลง ทำให้แหล่งอาหารตามธรรมชาติลดลงตามไปด้วย (ข้อมูลจากการประชาคมหมู่บ้านเพื่อจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านปี 2566)
คณะทำงานหมู่บ้านแห่งภูมิปัญญาไทยอำเภอบางมูลนาก. (2547). หมู่บ้านแห่งภูมิปัญญาไทย บ้านลำประดาใต้ หมู่ที่ 1 ต.ลำประดา อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร. พิจิตร : สุพจน์การพิมพ์.
ผู้ใหญ่บ้านลำประดาใต้. (2566). แผนพัฒนาหมู่บ้านลำประดาใต้ หมู่ที่ 1 ต.ลำประดา อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร. พิจิตร : คณะกรรมการหมู่บ้านลำประดาใต้.
เฟซบุ๊กเพจ “วัดลำประดาใต้”. https://www.facebook.com/profile.
เฟซบุ๊กเพจ “องค์การบริหารส่วนตำบลลำประดา”. https://www.facebook.com/lamprada.phichit
แม่ชีสาคร รานันท์, สัมภาษณ์, 25 สิงหาคม 2567.
ประสิทธิ์ นันตา, สัมภาษณ์, 25 สิงหาคม 2567.
ประภาษ กุลมณี, สัมภาษณ์, 25 สิงหาคม 2567.