Advance search

บ้านห้วยน้ำกืน หมู่บ้านขนาดเล็กกลางหุบเขา ขึ้นชื่อในเรื่องของการปลูกชาและทำเมี่ยง เพราะมีไร่ชารายล้อมหมู่บ้าน จึงยึดอาชีพทำเมี่ยงส่งไปขายยังที่ต่าง ๆ ไร่ชาที่นี่ปลูกตามธรรมชาติแทรกตัวอยู่ตามบ้านแต่ละหลัง ไม่ได้เป็นแบบไร่ชาที่กว้างใหญ่เห็นเป็นขั้นบันไดชัดเจนเหมือนไร่ชาตามสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ และที่นี่ยังมีโรงผลิตชา นักท่องเที่ยวสามารถชมขั้นตอนการผลิตชาตั้งแต่การเก็บ คั่ว จนกลายมาเป็นชาหอม ๆ  

หมู่ที่ 13
บ้านห้วยน้ำกืน
แม่เจดีย์ใหม่
เวียงป่าเป้า
เชียงราย
อบต.แม่เจดีย์ โทร. 0-5378-9628
ญาณิศา ลาภลิขิต
21 ม.ค. 2025
ญาณิศา ลาภลิขิต
24 ม.ค. 2025
บ้านห้วยน้ำกืน

บ้านห้วยน้ำกืน มาจากภาษาคำเมือง มีความหมายว่า ทะลัก สมัยก่อนที่นี่เป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำมาก ขุดดินลงไปลึกไม่เท่าไหร่ ก็เจอน้ำผุดทะลักขึ้นมา คนเลยเรียกกันว่า บ้านห้วยน้ำกืน


บ้านห้วยน้ำกืน หมู่บ้านขนาดเล็กกลางหุบเขา ขึ้นชื่อในเรื่องของการปลูกชาและทำเมี่ยง เพราะมีไร่ชารายล้อมหมู่บ้าน จึงยึดอาชีพทำเมี่ยงส่งไปขายยังที่ต่าง ๆ ไร่ชาที่นี่ปลูกตามธรรมชาติแทรกตัวอยู่ตามบ้านแต่ละหลัง ไม่ได้เป็นแบบไร่ชาที่กว้างใหญ่เห็นเป็นขั้นบันไดชัดเจนเหมือนไร่ชาตามสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ และที่นี่ยังมีโรงผลิตชา นักท่องเที่ยวสามารถชมขั้นตอนการผลิตชาตั้งแต่การเก็บ คั่ว จนกลายมาเป็นชาหอม ๆ  

บ้านห้วยน้ำกืน
หมู่ที่ 13
แม่เจดีย์ใหม่
เวียงป่าเป้า
เชียงราย
57260
19.199581414096844
99.51678357848401
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เจดีย์ใหม่

บ้านห้วยน้ำกืน ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กกลางหุบเขา ชุมชนเริ่มต้นจากการที่ชนเผ่าปกาเกอะญอและลาหู่ อพยพมาจากพื้นที่ตอนในของประเทศ และบางส่วนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา โดยเลือกพื้นที่หุบเขาและใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ สำหรับการตั้งถิ่นฐาน เพื่อให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตที่พึ่งพาการเกษตร ปลูกข้าว และเลี้ยงสัตว์ ห้วยน้ำกืน เป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ในเขตป่าต้นน้ำ ในเวลาต่อมาชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ทำข้อตกลงร่วมกัน ในกติกาที่จะไม่บุกรุกหรือทำลายป่าไม้และแหล่งน้ำ จากนั้นเสริมพัฒนาอาชีพเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แทนที่ด้วยพืชท้องถิ่นที่สร้างมูลค่ามากกว่า อย่างต้นชาอัสสัมสายพันธุ์พื้นเมือง ปลูกในพื้นที่ของตนเองหรือใต้ต้นไม้ในป่า โดยไม่ใช้สารเคมีที่อาจกระทบดินและแหล่งน้ำ เพื่อรักษาแหล่งปลูกชาสินค้าที่สร้างรายได้ของชุมชน ทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

บ้านห้วยน้ำกืน ตั้งอยู่ในตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ชนบทในหุบเขา และอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ จึงมีพื้นที่ป่าไม้ล้อมรอบชุมชนและยังคงความเป็นธรรมชาติ บ้านห้วยน้ำกืนมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ พื้นที่ป่าและชุมชนบ้านป่างาม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ พื้นป่าในเขตอุทยานแห่งขุนแจ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ พื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ลาว
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านแม่เจดีย์ใหม่

บ้านห้วยน้ำกืน โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากร หมู่ที่ 13 บ้านห้วยน้ำกืน ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 352 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 177 คน ประชากรหญิง 175 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 160 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2567)

ปกาเกอะญอ, ลาหู่

บ้านห้วยน้ำกืน ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก อย่างการปลูกเมี่ยง (ชาโบราณ) ปลูกกาแฟอาราบิก้า ข้าวไร่ พริก ถั่ว และผักพื้นบ้าน อาชีพรอง อย่างการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ชุมชนเปิดรับนักท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย โดยมีโฮมสเตย์และกิจกรรม เช่น การเก็บเมี่ยง ชิมกาแฟ และการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ การขายสินค้าพื้นเมือง เช่น ใบเมี่ยง ชากาแฟ และงานหัตถกรรม

วิถีชุมชน ความเชื่อ และศาสนา

ชุมชนบ้านน้ำกืนมีวิถีชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ชาวบ้านดำรงโดยการพึ่งพาป่าไม้ น้ำและดินเป็นหลัก เช่น การปลูกเมี่ยง กาแฟ และการเกษตรแบบพอเพียง ความสัมพันธ์ในขุมชนมีลักษณะเป็นเครือญาติที่ช่วยเหลือกัน

การดูแล ชาวบ้านมีบทบาทร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านในชุมชนเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ และมีความเชื่อเกี่ยวกับผี ผีป่า ผีน้ำ และวิญญาณบรรพบุรุษยังคงมีอิทธิพลในชีวิตประจำวัน เช่น การเซ่นไหว้ก่อนเริ่มทำไร่ 

ปฏิทินการเพาะปลูก

  • เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม : การเตรียมพื้นที่ปลูก
  • เดือนเมษายน-พฤษภาคม : เริ่มปลูกต้นเมี่ยง
  • เดือนมิถุนายน-กันยายน : การบำรุงต้นเมี่ยง เช่น การใส่ปุ๋ย
  • เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน : เริ่มเก็บใบเมี่ยงครั้งแรก
  • เดือนธันวาคม-มกราคม : ตัดแต่งต้นชา

ส่วนรอบการเก็บเกี่ยวเมี่ยง สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 2-3 ครั้ง โดยขึ้นอยู่กับอายุของต้นชาและสภาพแวดล้อม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนภูมิปัญญาการปลูกชา (เมี่ยง)

เดิมชาวบ้านมีการพึ่งพาการเกษตร ปลูกข้าว และเลี้ยงสัตว์ จากนั้นมีการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แทนที่ด้วยพืชท้องถิ่นที่สร้างมูลค่ามากกว่า อย่างต้มชาอัสสัมสายพันธุ์พื้นเมือง ต้นชาอายุหลายสิบปีบ่งบอกการมีอยู่ของชุมชนมาอย่างยาวนาน และชาเหล่านี้ที่บรรพบุรุษปลูกไว้เป็นสมบัติล้ำค่าให้กับคนรุ่นต่อมา แม้บางช่วงเวลาจะมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวบ้าง แต่ต้นชาก็ไม่ถูกโค่นทิ้งไปทั้งหมด ยังคงหลงเหลือส่งต่อให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบันได้พัฒนาคุณภาพ แปรรูป และนำออกไปขายด้วยตัวเอง สร้างรายได้และความภาคภูมิใจในการอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน ชาวบ้านจึงมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการปลูกชา จนทำเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตชาอินทรีย์ห้วยน้ำกืน โดยมีกระบวนการดังนี้

การเลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม โดยต้องมีดินที่มีความชุ่มชื้นและมีการระบายน้ำที่ดี ชาวบ้านจึงเลือกปลูกชาใต้ร่มเงาของป่าธรรมชาติหรือไม้ใหญ่ เพื่อให้ต้นชาได้รับแสงแดดรำไร ซึ่งเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต การดูแลต้นชา อย่างการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น มูลสัตว์ เพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน และการตัดแต่งกิ่งต้นชาเพื่อกระตุ้นการผลิใบใหม่ สำหรับการเก็บใบเมี่ยง มีการเก็บเฉพาะใบแก่สำหรับทำเมี่ยงหมัก และใบอ่อนสำหรับทำชา เช่น ชาเขียว หรือ ชาแดง

นอกจากผลิตภัณฑ์ชา ยังมีใบชาที่ผ่านกระบวนการหมักตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้าน การทำเมี่ยงสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการเก็บรักษาอาหารเพื่อบริโภคและขายในท้องถิ่น โดยมีกระบวนการเก็บใบชา จะเป็นการเก็บใบชาจากต้นเมี่ยงที่ปลูก โดยเน้นเก็บใบแก่ 4-5 ใบล่างสุดจากยอด ใบที่มีสีเขียวเข้มและใบใหญ่ จากนั้นนำมาล้างทำความสะอาด และนำไปนึ่งในหวด โดยใช้ไฟอ่อน ๆ เพื่อให้ใบชาอ่อนตัว  จากนั้นนำใบชามาม้วนหรือพับเป็นก้อน แล้วใส่ลงในภาชนะหมัก เช่น ไหดินเผา เติมเกลือเล็กน้อยเพื่อช่วยในกระบวนการหมัก ทิ้งไว้ประมาณ 7-15 วัน ระหว่างหมักกระบวนการทางจุลินทรีย์จะเปลี่ยนใบชาให้มีกลิ่นและรสชาติที่เฉพาะตัว โดยวิธีการบริโภคเมี่ยง เช่น การเคี้ยวใบเมี่ยง มีรสชาติเปรี้ยวเพิ่มความสดชื่น นอกจากนี้ยังมีการนำมาประกอบอาหาร อย่าง ยำเมี่ยงใบชา มีส่วนผสมจาก เมี่ยงใบชา หอมแดง พริกขี้หนู ถั่วลิสงคั่ว มะนาว น้ำปลา น้ำตาล นำเมี่ยงใบชาผสมกับเครื่องปรุงต่าง ๆ คลุกเคล้าให้เข้าจน จัดเสิร์ฟพร้อมผักสด สามารถทำเป็นเมี่ยงใบชาทอดกรอบ เป็นการชุบใบเมี่ยงกับแป้งทอดกรอบ ทอดจนกรอบเหลือง เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มหวาน และแกงเมี่ยงใบชา

ภาษาพูด :  ภาษาไทยถิ่นเหนือ, ภาษากลาง


ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น การปลูกชา การทำเมี่ยงใบชา การทำเกษตรแบบผสมผสาน การเลี้ยงสัตว์ มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น การท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน มีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการขายสินค้าพื้นเมืองและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ไฟฟ้านำความเจริญสู่ชุมชน ก่อนการเข้ามาถึงของไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2559 วิถีชีวิตของชุมชนรวมไปถึงผลผลิตทางการเกษตรอย่างใบชานับว่าไม่ดีนัก ใบชาถูกขายออกไปในรูปแบบของใบชาสดซึ่งมักจะถูกกดราคาเนื่องจากความเสียหายบ้าง ต้นทุนจากการขนส่งบ้าง

แต่ในปัจจุบันเมื่อมีไฟฟ้าทำให้ชาวบ้านสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้มากขึ้น อีกทั้งการส่งเสริมของภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาสนับสนุนทั้งทางด้านเทคโนโลยีและการตลาด เช่น กองทุนหมู่บ้านในการจัดหาเครื่องมือและสร้างโรงอบชาของชุมชน รวมไปถึงกระทรวงพลังงานที่เข้ามาสนับสนุนการสร้างโรงอบใบชาพลังงานแสงอาทิตย์ที่ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและปริมาณการผลิตของชาวบ้านให้ดียิ่งขึ้น

อีกทั้งการคมนาคม ทางอุทยานแห่งชาติขุนแจและหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เล็งเห็นความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืนของชุมชนจึงมีโครงการสร้างถนนคอนกรีตเพื่อให้เป็นทั้งเส้นทางคมนาคม ขนส่งผลผลิต และเส้นทางท่องเที่ยวในอนาคตซึ่งการคมนาคมที่ดีส่งผลต่อคุณภาพสินค้าโดยตรง อีกทั้งลดต้นทุนและย่นระยะเวลาในการขนส่งอีกด้วย มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน


บ้านห้วยน้ำกืน มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเกษตร ชุมชนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าและแหล่งน้ำ ลดการใช้สารเคมีในการเกษตรเพื่อรักษาสภาพดินและน้ำ โดยการปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน และร่วมมือกับองค์กรภายนอกเพื่อฟื้นฟูและจัดการแหล่งน้ำ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรให้ปรับตัวสู่การเกษตรกรรมยั่งยืน


ขุนแจ

อุทยานแห่งชาติขุนแจ พื้นที่บ้านห้วยน้ำกืน มีพื้นที่ติดอุทยานมีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เช่น การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ การเรียนรู้วัฒนธรรม และกิจกรรมเกษตรอินทรีย์ที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำและดินในอุทยาน 

ปิ่น บุตรี. (28 พฤศจิกายน 2561). เที่ยวชม “ขุนแจ” อุทยานแห่งชาติแห่งใหม่ที่น่าสนใจในเชียงราย. สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2568. https://mgronline.com/travel/

Travizgo. (20 มีนาคม 2563). 9 ชุมชนท่องเที่ยวที่ต้องลอง. สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2568. https://www.travizgo.com/

Thai PBS. (1 มิถุนายน 2564). บ้านห้วยน้ำกืน: วิถีชีวิตและการทำเมี่ยงใบชา. สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2568. https://www.youtube.com/

กรมการปกครอง. (2567). ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2568.  https://stat.bora.dopa.go.th/stat/

กรมประชาสัมพันธ์. (19 กรกฎาคม 2565). อุทยานแห่งชาติขุนแจ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติของเชียงราย. สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2568. https://www.prd.go.th/th/content/

โครงการสนับสนุนทุนขนาดเล็ก GEF ประเทศไทย. (ม.ป.ป.). เรื่องเล่าผ่านภาพ: บ้านห้วยน้ำกืน. สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2568. https://www.gefsgpthailand.org/photo-stories-banhuainamkuen

ตลาดเกษตรกรออนไลน์. (ม.ป.ป.). เซตชา 5 สี ชาออร์แกนิกคุณภาพดีจากบ้านห้วยน้ำกืน จ.เชียงราย. สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2568. https://www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com/

อบต.แม่เจดีย์ โทร. 0-5378-9628