
ชุมชนที่มีระบบคมนาคมสะดวก ทั้งถนนสายหลักซอยย่อย เข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ง่าย มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประเพณี ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางศาสนา การผลิตสินค้าจากใบเตย งานหัตถกรรม และการทำขนมไทยแบบดั้งเดิม เช่น ขนมชั้น ขนมตะโก้ และขนมทองหยิบ และที่สำคัญชุมชนพูนบำเพ็ญยังเป็นชุมชนที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน ได้แก่ การเยี่ยมชมวัด การล่องเรือชมคลอง และการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น
ชุมชนพูนบำเพ็ญได้รับการตั้งชื่อตามความหมายที่สื่อถึงความรุ่งเรืองและความสมบูรณ์ โดยชื่อ "พูนบำเพ็ญ" หมายถึงการสร้างความเจริญและความดีให้เพิ่มพูน
ชุมชนที่มีระบบคมนาคมสะดวก ทั้งถนนสายหลักซอยย่อย เข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ง่าย มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประเพณี ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางศาสนา การผลิตสินค้าจากใบเตย งานหัตถกรรม และการทำขนมไทยแบบดั้งเดิม เช่น ขนมชั้น ขนมตะโก้ และขนมทองหยิบ และที่สำคัญชุมชนพูนบำเพ็ญยังเป็นชุมชนที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน ได้แก่ การเยี่ยมชมวัด การล่องเรือชมคลอง และการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น
ชุมชนพูนบำเพ็ญเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานขึ้นราว 60 ปีก่อน สมัยที่กรุงเทพมหานครยังพึ่งพิงระบบคลองในการคมนาคมและการค้าขาย โดยเกิดจากกลุ่มเกษตรกรริมน้ำที่อพยพมาจากถิ่นอื่นเพื่อหาที่ดินทำกินที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านปลูกบ้านเรือนอาศัยเรียงรายอยู่ริมฝั่งคลองบางเชือกหนัง ทั้งอำเภอภาษีเจริญและอำเภอตลิ่งชัน เป็นเรือนไม้ริมคลองบนที่ดินที่ครอบครัวทำกิน อาชีพเกษตรกร ได้แก่ ทำนา ทำสวน พืชผัก สวนผลไม้หน้าบ้าน ตัวบ้านปลูกอยู่ชายคลอง เนื่องจากมีคลองบางแวกและคลองบางเชือกหนัง เป็นแหล่งน้ำที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกใบเตยและพืชเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีบันทึกว่ามีกลุ่มชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่บริเวณนี้ โดยเข้ามาค้าขายและเกษตรกรรม ซึ่งยังคงเห็นร่องรอยในวัฒนธรรมการใช้ชีวิตและอาหารในชุมชน
ชุมชนที่ตั้งอยู่ใน เขตภาษีเจริญ ด้านหน้าชุมชนติดกับถนนบางแวก ด้านหลังชุมชนติดกับคลองบางเชือกหนัง ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างสามเขตของกรุงเทพมหานคร นั้นคือ ตลิ่งชัน, ภาษีเจริญ และบางแค
คลองบางแวกและคลองบางเชือกหนัง เป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตและเป็นเส้นทางคมนาคมหลักในอดีต และปัจจุบันก็ยังคงใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรและกิจกรรมต่าง ๆ มีบทบาทในการช่วยปรับสภาพอากาศในพื้นที่ให้มีความเย็นและความชุ่มชื้น รวมถึงเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่ชาวบ้านดูแลและใช้ประโยชน์จากน้ำในคลอง แต่ชาวบ้านก็ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมในบางช่วงของปี เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในคลองและฝนตกหนัก ชุมชนจึงแก้ปัญหาด้วยการขุดลอกคูคลองและสร้างระบบระบายน้ำ
ชุมชนพูนบำเพ็ญเป็นชุมชนขนาดเล็กในแขวงบางแวก มีประชากรอาศัยอยู่ทั้งหมด 183 ครัวเรือน โดยภายในชุมชนมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ สะท้อนผ่านวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของคนในพื้นที่ ซึ่งชาติพันธุ์ที่สำคัญในชุมชน ได้แก่ ชาวไทยพื้นถิ่น ชาวจีนอพยพ ชาวมอญ ชาวลาว หรือกลุ่มไทย-ลาว ซึ่งระบบเครือญาติในชุมชนยังคงมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยลักษณะครอบครัวจะเป็นครอบครัวขยาย บ้านเรือนตั้งอยู่ใกล้ชิดกัน มีการส่งเสริมการช่วยเหลือ ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติมีผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลางของครอบครัวและชุมชน ซึ่งจะมีบทบาทในการให้คำปรึกษาและถ่ายทอดความรู้ดั้งเดิม และในอดีตมักมีการแต่งงานระหว่างครอบครัวในชุมชนเดียวกัน ทำให้ระบบครอบครัวมีความเชื่อมโยงแน่นแฟ้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทำให้คนรุ่นใหม่ย้ายถิ่นเพื่อไปทำงานส่งผลให้ระบบเครือญาติเกิดจากเปลี่ยนแปลงเนื่องจากบางครอบครัวต้องอยู่แยกกัน และการผสมผสานของครอบครัวใหม่ที่เกิดจากการแต่งงานกับคนจากพื้นที่อื่นทำให้ระบบเครือญาติมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
จีน, มอญชุมชนพูนบำเพ็ญประกอบอาชีพหลักคือทำการเกษตร และมีอาชีพเสริมคือ การค้าขาย งานรับจ้าง การประมงขนาดเล็ก โดยชาวบ้านมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่เน้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงการรักษาความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งระบบการรวมกลุ่มในชุมชนมักเกิดขึ้นในลักษณะของกลุ่มเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรปลูกใบเตย กลุ่มเกษตรกรผักสวนครัว กลุ่มวิสาหกิจชุมชน การสร้างผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เช่น การผลิตขนมท้องถิ่นจากใบเตย สินค้าหัตถกรรมต่าง ๆ การรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาปรับปรุงคุณภาพชีวิต เช่น กลุ่มส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวริมคลอง การรวมกลุ่มทางสังคมหรือการจัดการชุมชน เช่น กลุ่มแม่บ้านและกลุ่มสตรี
นอกจากนี้ชาวบ้านในชุมชนพูนบำเพ็ญยังมีการรวมกลุ่มทางวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมและความเชื่อมโยงกับทรัพยากรในพื้นที่ โดยการรวมกลุ่มทางวัฒนธรรมเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการรักษาอัตลักษณ์ และความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มในการจัดงานบุญและประเพณี เช่น งานบุญประจำปี งานลอยกระทง และประเพณีริมน้ำ การแสดงพื้นบ้านและดนตรีไทยในงานบุญ การทำอาหารและขนมไทย การฟื้นฟูงานหัตถกรรมท้องถิ่น และการรวมกลุ่มเยาวชนเพื่อสืบสานวัฒนธรรม เป็นต้น
มกราคม-กุมภาพันธ์
- ทำบุญปีใหม่ : ในช่วงต้นเดือนมกราคมชาวบ้านรวมตัวกันที่วัดหรือบางแวกหรือพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนเพื่อทำบุญตักบาตรเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการเสริมสิริมงคล
- งานตรุษจีน : เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมจนถึงกุมภาพันธ์ สำหรับชาวบ้านที่มีเชื้อสายจีน มีการจัดงานไหว้บรรพบุรุษ และจุดประทัดเพื่อเสริมโชคลาภในปีใหม่
มีนาคม
- งานบุญข้าวหลาม : จัดขึ้นในช่วงกลางเดือน เป็นกิจกรรมที่ชุมชนทำข้าวหลามร่วมกัน ซึ่งเป็นประเพณีที่แสดงถึงความสามัคคี โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ข้าวเหนียวและมะพร้าว
เมษายน
- สงกรานต์ : จัดที่วัดบางแวกและพื้นที่ริมน้ำ มีกิจกรรมสำคัญ เช่น สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และการละเล่นพื้นบ้าน
พฤษภาคม
- พิธีบวชสามเณรภาคฤดูร้อน : ครอบครัวในชุมชนสนับสนุนบุตรหลานให้บวชสามเณรเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมในช่วงปิดภาคเรียน
- วันวิสาขบูชา : กิจกรรมเวียนเทียนและทำบุญที่วัดในชุมชน
กรกฎาคม
- วันเข้าพรรษา : ชุมชนจัดพิธีถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนให้วัด
สิงหาคม
- กิจกรรมปลูกต้นไม้ : จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ เช่น ต้นเตยหอมและไม้ผล เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่
กันยายน
- เทศกาลไหว้พระจันทร์ : ในช่วงกลางเดือนชาวบ้านเชื้อสายจีนจัดพิธีไหว้พระจันทร์ที่บ้าน และแจกจ่ายขนมไหว้พระจันทร์ในชุมชน
ตุลาคม
- เทศกาลออกพรรษาและตักบาตรเทโว : หลังสิ้นสุดการเข้าพรรษา ชาวบ้านจัดพิธีตักบาตรเทโวที่วัดบางแวก และร่วมทำบุญ
พฤศจิกายน
- ลอยกระทง : ในกลางเดือนชุมชนจะจัดงานลอยกระทงขึ้นที่ริมคลองบางแวก โดยมีการประดิษฐ์กระทงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง และการแสดงวัฒนธรรมริมน้ำ
ธันวาคม
- กิจกรรมส่งท้ายปีเก่า : มีการรวมตัวกันทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า และจัดงานเลี้ยงส่งท้ายปีในตอนเย็น พร้อมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี
นอกจากนี้ชุมชนพูนบำเพ็ญยังมีกิจกรรมที่จัดขึ้นตลอดปี เช่น ตลาดชุมชนเปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ โดยมีการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร เช่น ใบเตย ผักสวนครัว และขนมไทย และกิจกรรมสวดมนต์เย็นวันพระ ที่ชาวบ้านจะรวมตัวกันที่วัดบางแวกเพื่อสวดมนต์ และฟังธรรมในวันพระ
1.พระครูธีรธรรมานันท์ (ญาณกฤษฏิ์ ตั้งใจพัฒนากุล) เจ้าอาวาสวัดบางแวก เป็นที่เคารพนับถือในชุมชน และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมศีลธรรม และการจัดกิจกรรมทางศาสนาในชุมชน
2.นายสมชาย พูนบำเพ็ญ กำนันหรือผู้นำชุมชนที่มีบทบาทในการประสานงานระหว่างชุมชนและหน่วยงานราชการ ช่วยผลักดันโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในชุมชน
3.นางสาวสุชาดา ชื่นวิถี ผู้ใหญ่บ้านที่ริเริ่มโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน เช่น การส่งเสริมอาชีพและการจัดการปัญหาขยะในชุมชน
4.นางบุษบา เตชะพงษ์ ปราชญ์ชาวบ้านด้านวัฒนธรรมภูมิปัญญา มีความเชี่ยวชาญด้านการทำขนมไทย เช่น ขนมเปียกปูนและขนมต้ม
5.นายเกรียงไกร วิริยะธรรม ปราชญ์ชาวบ้านด้านวัฒนธรรมภูมิปัญญา เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยและการแสดงพื้นบ้าน มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเพลงเรือและการแสดงพื้นบ้านในชุมชน
ชุมชนพูนบำเพ็ญ เป็นชุมชนที่มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ผสมผสานกับวิถีชีวิตคนเมือง รวมไปถึงชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกร และมีใบเตยเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านมีความชำนาญด้านการใช้ประโยชน์จากใบเตย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากใบเตย การทำเครื่องหอม พวงมาลัยใบเตย ขนมไทยที่มีใบเตยเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมตะโก้ ขนมกลีบลำดวน ขนมชั้น ซึ่งเป็นที่นิยมในงานบุญและงานเทศกาล มีแหล่งกู้ยืมเงินเพื่อสนับสนุนด้านการเงินสำหรับชาวบ้าน ในรูปแบบกองทุนชุมชน สถาบันการเงินท้องถิ่น ประกอบไปด้วย
- กองทุนชุมชน ที่จัดตั้งตามนโยบายของรัฐบาลผู้กู้ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการประกอบอาชีพ เช่น การเกษตร การค้าขาย และงานหัตถกรรม
- กองทุนพัฒนาสตรี กองุทนสำหรับสตรีในชุมชนเพื่อสนับสนุนการสร้างอาชีพ
- ธนาคารชุมชนพูนบำเพ็ญ จัดตั้งขึ้นโดยชาวบ้าน เพื่อสนับสนุนการออมทรัพย์และการให้กู้ยืมในชุมชน โดยมีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของชุมชนบริหารจัดการ มักนำไปใช้ในการลงทุนด้านการเกษตร เช่น การปลูกใบเตย หรือการพัฒนาธุรกิจขนาดเล็ก
- สหกรณ์การเกษตรชุมชนพูนบำเพ็ญ
ภาษาไทยกลางเป็นภาษาหลักที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยในครอบครัว การค้าขาย และการติดต่อราชการ แต่ในบางครอบครัวที่สืบเชื้อสายมาจากคนในพื้นที่ดั้งเดิมของภาษีเจริญ อาจใช้ภาษาไทยสำเนียงกรุงเทพหรือภาษาถิ่นที่มีความนุ่มนวลและมีศัพท์เฉพาะในบางโอกาส และเนื่องจากในชุมชนมีความหลายหลายทางด้านชาติพันธุ์ส่งผลให้ชาวบ้านบางส่วนก็จะมีการใช้ภาษาตามเชื้อสายของตนเอง เช่น ภาษาจีน ได้แก่ จีนแต๊จิ๋ว เป็นภาษาที่ใช้ในกลุ่มผู้สูงอายุและบางครอบครัวที่มีเชื้อสายจีน โดยเฉพาะในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การไหว้เจ้า ภาษาจีนกลาง ใช้ในกลุ่มเยาวชนที่เรียนภาษาจีนหรือประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมจีน ภาษาอังกฤษ ใช้ในกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือเยาวชนที่เรียนในโรงเรียนหรือสถาบันที่เน้นภาษาอังกฤษ รวมไปถึงใช้สำหรับการติดต่อกับนักท่องเที่ยวหรือการทำงานในเมืองใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาษาเพื่อนบ้าน (ลาวหรือเขมร) เนื่องจากภายในชุมชนมีแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ อาจพบการใช้ภาษาเหล่านี้ในบริบทเฉพาะ เช่น ในการทำงาน
การเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองการปกครองของชุมชนพูนบำเพ็ญ ได้รับอิทธิพลจากนโยบายของภาครัฐ การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การส่งเสริมกิจกรรมชุมชน โดยชาวบ้านจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาผ่านการประชุมชุมชน การเสนอความคิดเห็น และการจัดกิจกรรมร่วมกับเจ้าหน้าที่เขต ชาวบ้านมีสิทธิเลือกตั้งสภาผู้แทนในระดับท้องถิ่น เช่น สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ซึ่งมีบทบาทในการผลักดันนโยบายและโครงการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน แต่ด้วยการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรจากการอพยพย้ายถิ่น ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลาย รวมไปถึงความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของผู้นำที่ชาวบ้านเรียกร้องต่อการจัดการงบประมาณ และการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายในชุมชน ก็ถือเป็นความท้าทายด้านการเมืองการปกครองของชุมชนพูนบำเพ็ญ
ชุมชนเคยมีลักษณะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกใบเตยและพืชสวน แต่เนื่องจากการขยายตัวของเมือง ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมน้อยลง ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่จึงปรับตัวสู่อาชีพค้าขาย งานบริการ และแรงงานในเขตเมือง เช่น การเปิดร้านอาหาร ร้านค้า และธุรกิจเล็ก ๆ ในชุมชน แต่ชาวบ้านบางส่วนก็ยังมีการส่งเสริมอาชีพในชุมชนโดยการรวมกลุ่มอาชีพและผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้แก่ การรวมกลุ่มแม่บ้านเพื่อผลิตสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์จากใบเตย น้ำใบเตย ขนมไทย และงานหัตถกรรม ซึ่งกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชุมชน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมอาชีพผ่านการอบรมจากหน่วยงานเขตและองค์กรต่าง ๆ เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ หรือการตลาดออนไลน์ และความท้าทายด้านเศรษฐกิจที่ชุมชนต้องเผชิญ ได้แก่ รายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนบางส่วนยังพึ่งพาอาชีพรับจ้างรายวันหรือธุรกิจที่มีรายได้ไม่แน่นอน รวมไปถึงเรื่องของต้นทุนการดำรงชีวิตที่สูงขึ้น การขยายตัวของเมือง ส่งผลต่อค่าครองชีพในพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าที่อยู่อาศัยและค่าอาหาร
ด้วยการขยายตัวของเมือง ประชากรในชุมชนมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการอพยพเข้ามาของประชากรจากต่างจังหวัดเพื่อหางานในเขตกรุงเทพฯ ทำให้ในชุมชนมีความหลากหลายทางประชากร มีทั้งคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน คนรุ่นใหม่ที่ย้ายเข้ามา และแรงงานข้ามชาติ เช่น ชาวลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา ที่เข้ามามีบทบาทในงานก่อสร้างและบริการ เกิดครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยายที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ปู่ย่าตายายดูแลหลาน นอกจากนี้สังคมในชุมชนที่เคยมีลักษณะวิถีชีวิตแบบชนบท มีการทำเกษตรและพึ่งพาแหล่งน้ำ เริ่มปรับตัวเข้าสู่สังคมเมือง ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันลดลง จากการเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพและวิถีชีวิต แต่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำจากความแตกต่างระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงและรายได้น้อยภายในชุมชน รวมไปถึงการเติบโตของสังคมเมืองทำให้ความสนใจในประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่
มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนนและทางสัญจรเพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่ง สร้างซอยเชื่อมต่อระหว่างถนนหลักกับพื้นที่ภายในชุมชน มีระบบคมนาคมขนส่ง ระบบน้ำประปาถูกขยายเพื่อรองรับความต้องการของประชากร ระบบไฟฟ้าที่ครอบคลุมพื้นที่และเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าให้เป็นใต้ดินในบางพื้นที่เพื่อปรับปรุงทัศนียภาพและลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ พัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและการสื่อสาร ติดตั้ง Wi-Fi สาธารณะในบางจุด เช่น ศูนย์ชุมชน พัฒนาและส่งเสริมการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ และรณรงค์การปลูกต้นไม้ริมคลองและพื้นที่ว่างเปล่าในชุมชน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและปรับปรุงคุณภาพอากาศในชุมชน
การเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมของชุมชนพูนบำเพ็ญเกิดจากการเติบโตของเมืองและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป มีการลดบทบาทของประเพณีดั้งเดิมลง เช่น การทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา วันสงกรานต์ หรือการปฏิบัติบางอย่าง เช่น งานบวช อาจมีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานบวชให้เรียบง่ายมากขึ้น งานเทศกาลบางอย่างมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับผู้คนที่มีเวลาจำกัด เช่น การจัดงานในช่วงเย็นหรือวัดหยุดสุดสัปดาห์ และเนื่องจากความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป ชุมชนยังได้มีการผสมผสานวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่น การแสดงดนตรีสากลควบคู่กับการแสดงพื้นบ้านเพื่อไม่ให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนจางหายไป
ชุนพูนบำเพ็ญเป็นตัวอย่างชุมชนเมืองที่รักษาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ พร้อมทั้งปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้อย่างลงตัว มีเส้นทางการท่องเที่ยวในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ท่องเที่ยววิถีคลอง ท่องเที่ยววัฒนธรรม เส้นทางอาหาร มีการนำศิลปะร่วมสมัยมาผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น การเพ้นท์ภาพบนผนังบ้าน หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชน และมีศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิม เดินทางสะดวกเหมาะแก่การใช้เวลาว่างช่วงวันหยุดให้เกิดประโยชน์โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกกรุงเทพมหานคร
กมลศักดิ์ วงศ์ศรีแก้ว, จิระพงศ์ เรืองกุน และสายใจ ชุนประเสริฐ. (2560). การพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง: กรณีศึกษาชุมชนพูนบำเพ็ญเขตภาษีเจริญกรุงเทพมหานคร. วารสารการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต, มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี 5(1), 49-51.
ตลาดบางเชือกหนัง. (8 กุมภาพันธ์ 2556). ตลาดน้ำในสวน คลองบางเชือกหนัง (ชุมชนพูนบำเพ็ญ). สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2568. https://bangcheuknhang.blogspot.com
มหาวิทยาลัยสยาม. (2557). ชุมชนพูนบำเพ็ญ…ล่องเรือชมสวนพื้นที่สุขภาวะแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์…โครงการพัฒนาสร้างสรรค์พื้นที่สุขภาวะ ภาษีเจริญ. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2568. https://rcfcd.com
Thai PBS. (12 กรกฎาคม 2564). วิถีคลองในเมืองกรุง ชุมชนพูนบำเพ็ญ เขตภาษีเจริญ กทม. : ซีรีส์วิถีคน [CC]. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2568. Youtube. https://www.youtube.com/watch