
ตลาดน้ำกึ่งชนบทใจกลางกรุงเทพที่มีการผสมผสานวิถีชีวิตของผู้คนกับธรรมชาติริมน้ำสองฝั่งคลองที่รายล้อมไปด้วยสวนผัก ผลไม้ มีความร่มรื่นเย็นสบาย ห่างไกลจากมลพิษ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับผู้ที่อยากหลีกหนีความวุ่นวายจากสังคมเมือง มาพักผ่อนหย่อนใจกับธรรมชาติ
ตลาดน้ำกึ่งชนบทใจกลางกรุงเทพที่มีการผสมผสานวิถีชีวิตของผู้คนกับธรรมชาติริมน้ำสองฝั่งคลองที่รายล้อมไปด้วยสวนผัก ผลไม้ มีความร่มรื่นเย็นสบาย ห่างไกลจากมลพิษ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับผู้ที่อยากหลีกหนีความวุ่นวายจากสังคมเมือง มาพักผ่อนหย่อนใจกับธรรมชาติ
ย้อนไปในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี บริเวณพื้นที่ตลิ่งชัน-บางระมาดเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (สายเก่า) (ปัจจุบัน คือ คลองชักพระ) บริเวณปากคลองบางระมาดในอดีตนั้นเคยมีตลาดน้ำแท้ ๆ ที่ทำการค้าขายโดยใช้เรือ พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน ชาวสวนทั้งในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียงที่นำผลิตผลทางการเกษตรล่องเรือมาค้าขาย มีชาวจีนขายหมูและก๋วยเตี๋ยว คนมอญล่องเรือมาจากมากระดี่ นำหม้อ ไห โอ่งน้ำมาขาย ชาวบ้านจึงเรียกตลาดน้ำบริเวณนี่ติดปากกันว่า ตลาดเรือปากคลองบางระมาด
ตลาดน้ำตลิ่งชัน เป็นตลาดน้ำที่มีกลิ่นอายตลาดน้ำกึ่งชนบทที่ผสานชีวิตริมน้ำกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว ตลาดน้ำแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณหน้าสำนักงานเขตตลิ่งชัน เกิดขึ้นเมื่อปลาย พ.ศ. 2530 เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานคร และเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระชนมพรรษาครบ 5 รอบในปีนั้น
สินค้าส่วนใหญ่ที่นำมาวางขายเป็นสินค้าที่ชาวสวนในพื้นที่ผลิตขายเอง ทั้งพันธุ์ไม้ ผักสด ผลไม้ ปลา และอาหารตามฤดูกาล ที่น่าสนใจคือตลาดน้ำแห่งนี้ยังคงวิถีชีวิตความเป็นชาวสวนริมคลองไว้ได้อย่างงดงาม ทั้งพ่อค้าแม่ค้าพายเรือขายอาหารและผักผลไม้ทั้งบนโป๊ะและในคลอง มีขนมไทยที่หารับประทานทานได้ยาก นอกจากนี้ยังมีงานหัตถกรรมฝีมือจากภูมิปัญญาชาวบ้านให้เลือกซื้อกันด้วย
ในอดีตชุมชนตลิ่งชันมีสภาพวิถีชีวิตแบบชาวสวน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ทําสวนผลไม้ บ้านเรือน เรือกสวนไร่นาจะตั้งอยู่ริมคลองเสียส่วนใหญ่ ทําให้การคมนาคมในอดีตนั้นมักจะใช้เส้นทางน้ำเป็นหลัก เพราะเข้าถึงสวนง่าย ส่วนพืชผลทางการเกษตรจะนำออกมาวางขายที่ตลาดน้ำปากง่ามวัดขี้เหล็กและตลาดน้ำวัดตลิ่งชัน แต่ในช่วง พ.ศ. 2500 สภาพสวนในเขตตลิ่งชันเปลี่ยนแปลงไปมาก เนื่องมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ใน พ.ศ. 2485 สวนส่วนใหญ่ล่ม พืชผักที่ปลูกไว้ได้รับความเสียหาย ซ้ำยังส่งผลให้สภาพดินและน้ำเปลี่ยนแปลงไปด้วย พืชที่ปลูกก็ไม่ได้ผลผลิตดีดังเดิม ชาวสวนไม่มีพืชผลออกมาขาย ตลาดน้ำจึงเริ่มซบเซาลง กระทั่งชาวสวนบางรายก็ตัดสินใจขายสวนเปลี่ยนรูปลักษณ์เป็นหมู่บ้านจัดสรร หรือตึกแถวแทน ทําให้สภาพของตลาดน้ำตลิ่งชันหายไป คงเหลือพ่อค้าแม่ค้าอยู่เพียงไม่กี่รายขายก๋วยเตี๋ยว ชา กาแฟ ไอศกรีม และถ่าน เป็นต้น
พ.ศ. 2530 นับว่าเป็นยุคแห่งการพัฒนาของตลาดน้ำตลิ่งชันหลังจากที่ซบเซามานานหลายปี มีการฟื้นฟูตลาดน้ำตลิ่งชันขึ้นมาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนในท้องถิ่น ในระยะแรกมีการกำหนดพื้นที่จัดกิจกรรมตลาดนัดสินค้าเกษตร โดยให้ประชาชนในชุมชนเสนอรายชื่อเป็นเป็นผู้ประสงค์เข้ามาขายสินค้า ซึ่งก็มีประชาชนติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก เมื่อทิศทางการจัดกิจกรรมเป็นไปได้ด้วยดีจึงมีการวางแผนขยายพื้นที่ตลาดลงมาบริเวณริมคลองชักพระ โดยระดมทุนจากเงินส่วนตัวของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตฯ และผู้ค้ามาช่วยกันสร้างโป๊ะแพไม้ และสร้างซุ้มจำหน่ายสินค้าบนบกเพิ่ม นอกจากนี้ ทางสำนักงานเขตตลิ่งชันยังได้จัดซุ้มให้นักท่องเที่ยวได้นั่งรับประทานอาหารได้บริเวณหน้าสำนักงานเขตฯ ด้วย
พ.ศ. 2541-2542 เป็นปีอะเมซิ่งไทยแลนด์ (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2558 : 15) ชาวตลาดน้ำตลิ่งชันได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ในยุคเริ่มต้นตลาดน้ำได้มีการจัดทัวร์ทางน้ำและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ประกอบกับพื้นที่ตลิ่งชันขณะนั้นยังคงความเป็นธรรมชาติ คูคลองร่มรื่นน่าทัศนา จึงได้ขออนุญาตจากสำนักงานเขตตลิ่งชันจัดกิจกรรมทัวร์คลองภายใต้ชื่อ “ตลิ่งชันทัวร์” ดำเนินแนวทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและท้องถิ่น กระทั่งปัจจุบันตลาดน้ำตลิ่งชันได้ดำเนินการมายาวนานกว่า 30 ปี และนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากพอสมควร แม้ว่าลักษณะทางกายภาพของตลาดและชุมชนรอบตลาดในปัจจุบันจะมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายให้กว้างขวางออกไปได้อีก แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวตลาดน้ำตลิ่งชันก็ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดความสะดวก ปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด บำรุงรักษาทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมให้คงอยู่ และพัฒนาตลาดน้ำแบบบูรณาการภายใต้พื้นฐานปรัชญาแห่งความพอเพียง เพื่อสร้างสรรค์ชุมชนตลาดน้ำแห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวหล่อเลี้ยงประชาชนได้อย่างยั่งยืน
ชุมชนตลาดน้ำตลิ่งชันตั้งอยู่ในเขตตลิ่งชัน ซึ่งจัดเป็นเขตชั้นนอก (ชานเมือง) ของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ 32.855 ตารางกิโลเมตร (สำนักงานเขตตลิ่งชัน, ม.ป.ป.) เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของเขตตลิ่งชันในอดีตมีลักษณะคล้ายเกาะ จึงมีคลองล้อมรอบเกือบทุกด้าน คือ คลองมหาสวัสดิ์ คลองบางเชือกหนัง คลองทวีวัฒนา คลองบางกอกน้อยและคลองชักพระ นอกจากคลองใหญ่ทั้ง 4 ด้านที่เป็นคลองหลักล้อมรอบเขตตลิ่งชันแล้ว พื้นที่ภายในยังมีคลองน้อยใหญ่อีกถึง 48 คลอง ทั้งที่เป็นคูคลองตามธรรมชาติ และคูคลองที่ขุดขึ้นมาเพื่อการชลประทาน การเกษตร และการคมนาคม ด้วยเหตุที่เขตตลิ่งชั้นมีคลองมากมายหลายสาย ประกอบกับเป็นพื้นที่ราบลุ่ม คลองต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงถึงกัน บริเวณริมคลองในอดีตจึงเต็มไปด้วยสวนนานาชนิดทั้งสวนไม้ยืนต้น สวนกล้วยไม้ สวนพืชผัก ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ในเวลาต่อมาการแบ่งเขตการปกครองโดยตัดพื้นที่ออกเป็นแขวง คือ แขงทวีวัฒนา และแขวงศาลาธรรมสพน์ ทำให้เขตตลิ่งชันไม่ได้มีสภาพคล้ายเกาะเหมือนในอดีต แต่ยังมีแม่น้ำล้อมรอบ 3 ด้าน โดยมีเขตติดต่อกับพื้นที่ข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ จดเขตจังหวัดนนทบุรี มีคลองขุดมหาสวัสดิ์กั้น
- ทิศตะวันออก จดเขตบางกอกน้อย มีคลองบางกอกน้อยและคลองชักพระกั้น
- ทิศตะวันตก จดเขตทวีวัฒนา มีถนนกาญจนาภิเษกกั้น
- ทิศใต้ จดเขตภาษีเจริญ มีคลองบางเชือกหนังกั้น
การคมนาคม
การเดินทางเข้าถึงเขตตลิ่งชันและตลาดน้ำตลิ่งชันสามารถเดินทางได้ถึง 3 ทางคือ
- ทางรถยนต์ จากถนนจรัญสนิทวงศ์เข้าสี่แยกทางบางขุนนนท์ จากถนนบรมราชชนนี จากถนนจรัญสนิทวงศ์เข้าทางวัดแก้ว และจากถนนเพชรเกษมเข้าทางถนนพุทธมณฑลสาย 2
- ทางเรือ จากท่าพระจันทร์ โดยเรือหางยาว
- ทางรถไฟจากสถานีรถไฟธนบุรี ถึงสถานีรถไฟบางระมาด ซึ่งห่างจากหน้าที่ว่าการเขตตลิ่งชันประมาณ 3.50 กิโลเมตร
ทั้งนี้ การคมนาคมของประชาชนในชุมชนบางส่วนยังคงใช้เรือเป็นพาหนะ เนื่องจากบ้านเรือนของประชาชนและวัดต่าง ๆ ล้วนตั้งอยู่ริมน้ำ อีกทั้งยังมีการใช้ประโยชน์จากเส้นทางน้ำนี้มาตั้งแต่อดีต จึงทำให้การเดินทางทางเรือสะดวกมากกว่าทางอื่น
ลักษณะทางสังคมในเขตชุมชนตลาดน้ำตลิ่งชันยังไม่ค่อยมีความซับซ้อน เนื่องจากยังมีการพัฒนาเป็นชุมชนเมืองไม่สูงมากนัก ประชาชนมีชีวิตเรียบง่าย ส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ ลักษณะในการพบปะของประชาชนยังคงมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันดี ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น เทศกาลสงกรานต์ ลอยกระทง ขึ้นปีใหม่ หรือวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ ประชาชนในพื้นที่จะมาร่วมกันทำกิจกรรมโดยพร้อมเพรียง
ตลาดน้ำตลิ่งชัน เป็นตลาดที่ยังคงวิถีชีวิตความเป็นชาวสวนริมคลองไว้ได้อย่างงดงาม มีพ่อค้าแม่ค้าซึ่งเป็นชาวบ้านชาวสวนที่อยู่ในละแวกนี้พายเรือขายอาหาร ทั้งซีฟูดอาหารทะเล อาหารพื้นบ้านอย่างก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ ไก่ย่าง ขนมไทยหายาก ผัก ผลไม้ ทั้งบนโป๊ะและในคลอง นอกจากนี้ยังมีงานหัตถกรรมฝีมือดีจากภูมิปัญญาชาวบ้าน และกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำโดยการนั่งเรือหางยาวนำเที่ยวสัมผัสบรรยากาศและธรรมชาติของสองฟากฝั่งคลองตลิ่งชัน โดยจะมีบริการทั้งแบบเป็นรอบและแบบเหมาลำ
ตลาดน้ำตลิ่งชันได้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลายมากมายซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างรายได้ และกระตุ้นความสนใจแก่ผู้คนภายนอกโดยการนำเอาอัตลักษณ์ของชุมชนมาสร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่า เช่น ครั้งหนึ่งตลาดน้ำตลิ่งชันได้จัดกิจกรรม “เดินล่อง ท่องย่าน สานวัฒนธรรมชุมชน” เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาอัตลักษณ์ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทุกเพศทุกวัย โดยจัดขึ้น ณ ตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน และตลาดน้ำตลิ่งชัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการต่อยอดและเพิ่มมูลค่า ภายในงานมีกิจกรรมตักบาตรทางเรือ กิจกรรม One Day Trip “วันเดียวเที่ยว 4 ตลาดน้ำ Full & Fun One Day Trip @ Talingchan” กิจกรรมถนนคนเดิน การจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค สินค้าวิสาหกิจชุมชน ผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP , Bangkok Brand และสินค้าเกษตรจากเกษตรกรในพื้นที่เขตตลิ่งชัน กิจกรรมสาธิตและ Workshop ผลิตภัณฑ์ชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ของดีตลิ่งชัน และชมศิลปะบนกำแพงถนนสายวัฒนธรรม เส้นทางเชื่อม 2 ตลาด ตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน และตลาดน้ำตลิ่งชัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหวังว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะนำอัตลักษณ์ของตลาดน้ำตลิ่งชันมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างความสุขให้แก่คนในพื้นที่ เพื่อให้ตลาดน้ำตลิ่งชันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของกรุงเทพมหานครต่อไป
ชุมชนบริเวณตลาดน้ำตลิ่งชันมีค่านิยม ประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ ที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีประเพณีตรุษไทยซึ่งจัดขึ้นในช่วงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 จะมีการทำบุญเลี้ยงพระที่วัด นอกจากนี้ยังมีประเพณีแห่เรืออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทางน้ำ หรือประเพณีชักพระทางน้ำ หรือที่ในปัจจุบันเรียกว่า “งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ” โดยขบวนเรือจะเริ่มตั้งแต่วัดนางชี เขตภาษีเจริญ ใช้เส้นทางคลองด่าน ผ่านคลองบางกอกใหญ่ เข้าคลองชักพระ มุ่งไปยังสำนักงานเขตตลิ่งชัน ตลอดสองริมฝั่งแม่น้ำที่ขบวนเรือเคลื่อนผ่านจะมีพุทธศาสนิกชนร่วมสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุตลอดทาง
อีกประเพณีหนึ่งที่ประชาชนในชุมชนบริเวณตลาดน้ำตลิ่งชันรวมถึงชาวตลิ่งชันปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมา คือ ประเพณีการรับขวัญข้าว เนื่องจากพื้นที่ตลิ่งชันเดิมเป็นพื้นที่เกษตรกรรม จึงมีประเพณีที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตชาวนา โดยประเพณีการรับขวัญข้าวนี้เป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่มีต่อพระแม่โพสพผู้เป็นเทพเจ้าแห่งพืชพรรณธัญญาหารตามคติความเชื่อของชาวไทย การทำขวัญข้าวจึงเปรียบเสมือนการแสดงความนอบน้อมต่อพระแม่โพสพ เพื่อดลบันดาลให้พืชพรรณที่ปลูกมีความอุดมสมบูรณ์
ตลิ่งชันทัวร์ แนวทางการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์
ตลิ่งชันทัวร์ คือ นโยบายในการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและเน้นการเที่ยวชมวิถีชีวิตของคนชุมชนตลิ่งชันด้วยการเดินทางโดยใช้เรือหางยาวไปสัมผัสวิถีชีวิตของคนตลิ่งชัน โดยตลิ่งชันทัวร์เป็นการท่องเที่ยวทางเรือที่สำนักงานเขตตลิ่งชันจัดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดน้ำส่วนหนึ่ง โดยให้ประชาคมตลาดน้ำเป็นผู้ดําเนินการ มีนโยบายเพื่อให้ประชาชนภายนอกรู้จักพื้นที่ของตลิ่งชันเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันตลิ่งชันยังมีบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ คลองสวย น้ำใส และบ้านเรือนสองฝั่งคลองที่ยังมีสภาพดั้งเดิมหลงเหลือให้ชมอยู่ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ และยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรสวนต่าง ๆ ที่ทัวร์พาไปชม
วงดนตรี “คีตาภิวัฒน์”
คีตาภิวัฒน์ คือ ชื่อวงดนตรีไทยประจำตลาดน้ำตลิ่งชัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 จากการรวมตัวของคนที่ชื่นชอบดนตรีไทย 3-4 คน มาร่วมบรรเลงขับขานเสียงเพลงเพื่อความบันเทิงที่ตลาดน้ำ ต่อมามีคนต่างถิ่นเข้ามาเที่ยวชมตลาดน้ำจึงเกิดความสนใจมาร่วมบรรเลงด้วย ทำให้จำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งปัจจุบัน สมาชิกส่วนใหญ่ของวงคีตาภิวัฒน์เป็นผู้สูงอายุทั้งในพื้นที่และชุมชนอื่น ๆ ใกล้เคียง เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงส่วนมากแล้วเป็นวงเครื่องสายไทย ทั้งนี้ ประการหนึ่งที่สำคัญของวงดนตรีคีตาภิวัฒน์ที่นอกจากจะเป็นกิจกรรมยามว่างของเหล่าผู้สูงอายุในชุมชนในการบรรเลงดนตรีสร้างความครื้นเครงแก่ผู้มาท่องเที่ยวตลาดน้ำตลิ่งชันแล้ว วงคีตาภิวัฒน์ยังรับซ่อมเครื่องดนตรี เปิดสอนวิชาดนตรีไทยเป็นวิทยาทานแก่ผู้ที่มีความสนใจ และทำหน้าที่เป็นคนกลางซื้อ-ขายเครื่องดนตรีได้ในราคาย่อมเยา
ภาษาพูด : ภาษาไทยภาคกลาง
ภาษาเขียน : อักษรไทย
ปัจจุบันเขตตลิ่งชันกำลังมีการพัฒนาและขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีการตัดถนนบรมราชชนนี ถนนคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ถนนกาญจนาภิเษก และถนนพุทธมณฑลสาย 1 ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญที่ทำให้พื้นที่เขตตลิ่งชันมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บรรดาเจ้าของสวนและเจ้าของที่ดินริมถนนซึ่งเคยทำการเกษตรและค้าขายอยู่แต่เดิมหันมาขายที่ดินแทนการลงทุนทำสวน เพราะที่ดินบริเวณดังกล่าวนี้มีราคาสูงมาก ส่งผลให้มีหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นใหม่มากมาย นอกจากการขยายตัวของหมู่บ้านจัดสรรแล้ว ยังมีกิจการร้านอาหาร สวนอาหารเกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตตลิ่งชัน
ตลาดน้ำตลิ่งชันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการบริหารในส่วนต่าง ๆ การต้อนรับนักท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอก การให้บริการในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการค้าขาย การให้บริการโป๊ะแพ การสื่อสารกับนักท่องเที่ยว การให้ข้อมูลในการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่ทําให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจและอยากกลับมาท่องเที่ยวตลาดน้ำแห่งนี้อีก
ตลาดน้ำตลิ่งชันในปัจจุบันนี้เป็นตลาดน้ำใจกลางเมืองหลวง โดยมีประชาคมตลาดน้ำตลิ่งชันเป็นผู้บริหารจัดการดูแล ตลาดน้ำแห่งนี้มีลักษณะเป็นตลาดกึ่งชนบท ผสมผสานระหว่างชีวิตริมน้ำกับธรรมชาติ โดยยังคงวิถีชีวิตความเป็นธรรมชาติและชีวิตริมน้ำไว้เป็นจุดเด่นสําหรับเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวและศึกษาวัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ ของท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำแห่งนี้หาได้มีแต่เพียงอาหาร ผัก ผลไม้ต่าง ๆ ที่วางจำหน่ายรอบโป๊ะแพสารพัดชนิดเท่านั้น แต่ยังมีสินค้าจากภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งเป็นหัตถอุตสาหกรรมของประชาชนในชุมชนมาวางจำหน่าย และบริการเหล่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชม เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนในบริเวณตลาดน้ำแห่งนี้และบริเวณใกล้เคียง (ทะเบียนผู้ค้าสมาชิกตลาดน้ำตลิ่งชัน, 2553 : 6-10)
อนึ่ง ดังที่เข้าใจกันแล้วว่าชุมชนตลาดน้ำตลิ่งชันเป็นชุมชนตลาดที่มีเอกลักษณ์ คือ เป็นตลาดน้ำใจกลางกรุงที่ยังคงวิถีชีวิตริมน้ำแบบดั้งเดิม และยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาให้สืบทอดและคงอยู่ผ่านการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและ นอกจากนี้ ตลาดน้ำตลิ่งชันยังมีเอกลักษณ์ที่สอดคล้องกับการท่องเที่ยว ดังนี้ (กานติมา วัฒนาวาณิชย์, 2550 : 32)
1) ในเชิงเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ คือ เป็นชุมชนดั้งเดิมที่คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมคลอง ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทําสวน ปลูกพืชผักสวนครัว สวนไม้ดอก และสวนผลไม้
2) ในเชิงภูมิศาสตร์ คือ เป็นตลาดน้ำใจกลางเมืองหลวง
3) วิถีชีวิตที่เป็นธรรมชาติริมคลอง เช่น บ้านเรือนทรงไทย การคมนาคมขนส่งทางน้ำโดยใช้คลองชักพระเป็นหลัก โดยลําคลองเปรียบเสมือนตลาดและสนามเด็กเล่นของเด็ก ๆ ในชุมชน
4) สวนผลไม้และแหล่งพันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับ เช่น กล้วยไม้ ต้นไม้ ดอกไม้ไทย
5) แหล่งวัฒนธรรม เช่น วัดวาอารามต่าง ๆ
6) ผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น อาหารและขนมไทยสูตรโบราณต่าง ๆ
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2560). ยุทธศาสตร์กการท่องเที่ยวไทย. สืบค้น 3 ธันวาคม 2567, จาก www.mots.go.th/
กานติมา วัฒนวาณิชย์. (2550). ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเป็นนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์คุณภาพของนักท่องเที่ยวชาวไทย กรณีศึกษา ตลาดน้ำตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยมหิดล.
จิตรา อนุสาสนนันท์. (2555). การเปลี่ยนแปลงจากการขยายตัวและการจัดการตลาดน้ำคลองลัดมะยม. มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ณัฐพล รอดเรืองเดช. (2555). การศึกษาความเป็นไปได้ การพัฒนาตลาดน้ำตลิ่งชัน (การค้นคว้าอิสระ). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
เดลินิวส์. (2566). เดินเที่ยวย่านสร้างสรรค์ สานวัฒนธรรมชุมชนตลาดน้ำตลิ่งชัน. สืบค้น 3 ธันวาคม 2567, จาก https://www.dailynews.co.th/news/2726002/
ตลาดน้ำตลิ่งชัน-Taling Chan Floating Market. (2567). สืบค้น 3 ธันวาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/taladnamtalingchan/photos/
ตลาดน้ำตลิ่งชัน-Taling Chan Floating Market. (2568). สืบค้น 3 ธันวาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/taladnamtalingchan/photos/
ทะเบียนผู้ค้าสมาชิกผู้ค้าตลาดน้ำตลิ่งชัน. (2553). ประชาคมตลาดน้ำตลิ่งชัน. (ม.ป.ท.).
พรพรรณ เปล่งปลั่ง. (2548). การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กรณีศึกษาตลาดน้ำตลิ่งชัน. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร. (ม.ป.ป.). สืบค้น 3 ธันวาคม 2567, จาก https://webportal.bangkok.go.th/
ศิริพร ยังธินะ. (2559). แนวทางการจัดการการท่องเที่ยวชุมชน กรณีศึกษา ชุมชนตลาดน้ำตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สำนักงานเขตตลิ่งชัน. (ม.ป.ป.). ข้อมูลทั่วไปของตลาดน้ำตลิ่งชัน. สำนักงานเขตตลิ่งชัน.
สำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร. (2567, 17 พฤศจิกายน). ชาวฝั่งธนฯ ร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีชักพระ ประจำปี 2567. สืบค้น 3 ธันวาคม 2567, จาก https://pr-bangkok.com/?p=429993
สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์. (2549). ตลาดในชีวิต ชีวิตในตลาด. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
สุวิทย์ คงสวัสดิ์. (2562). ชุมชนเข้มแข็งบนฐานทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนตลาดน้ำในเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร. ดุษฎีนิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการศึกษาและพัฒนาสังคม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.
Kapook. (2567). ตลาดน้ำตลิ่งชัน เที่ยวกรุงเทพฯ แบบสบาย ๆ อิ่มชิลกับอาหารและบรรยากาศริมน้ำ. สืบค้น 3 ธันวาคม 2567, จาก https://travel.kapook.com/gallery/280218
Kapook. (ม.ป.ป.). ตลาดน้ำตลิ่งชัน เที่ยวกรุงเทพฯ แบบสบาย ๆ อิ่มชิลกับอาหารและบรรยากาศริมน้ำ. สืบค้น 3 ธันวาคม 2567, จาก https://travel.kapook.com/view280218.html
Palanla. (2564). ตลาดน้ำตลิ่งชัน จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย. สืบค้น 3 ธันวาคม 2567, จาก https://palanla.com/th/domesticLocation/detail/1768