Advance search

ชุมชนคนส่วย ประเพณีวัฒนธรรมส่วยหรือกูย

หมู่ที่ 3
ยางตะพาย
บึงบัว
วชิรบารมี
พิจิตร
อบต.บึงบัว โทร. 0 5603 3322
ธนพร ศรีสุขใส, บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
20 ธ.ค. 2024
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
25 ธ.ค. 2024
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
14 ก.พ. 2025
บ้านยางตะพาย

ชื่อชุมชนซึ่งคนบ้านยางตะพายรุ่นบุกเบิกเล่าสืบต่อกันมามี 2 เรื่องเล่า เรื่องแรกเล่าว่าชื่อหมู่บ้านมีที่มาจากสภาพพื้นที่ พื้นที่บ้านยางตะพายปกคลุมด้วยป่ารกทึบ ในป่าไม้เต็มไปด้วยต้นไม้หลากหลายพันธุ์ ทั้งต้นหวาย ต้นเต็ง ต้นรัง ต้นแดง แต่ที่มีจำนวนมากที่สุดคือต้นยาง แต่ละต้นมีอายุมากเนื่องจากความสูงใหญ่ของลำต้น ผู้นำชุมชนและผู้เฒ่าผู้แก่สมัยนั้นจึงใช้จุดเด่นนี้นำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านว่า "ยางตะพาย" (แม่มุ้ย บุราคร, สัมภาษณ์, 26 สิงหาคม 2567)

ส่วนเรื่องเล่าที่สองมีความว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2496 ได้มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง เป็นชาวบ้านบ้านวังตะขบ ตำบลวังโมกข์ มีอาชีพตักน้ำยางไปขาย ขณะที่ภรรยากำลังตั้งครรภ์และท้องแก่ใกล้คลอด ได้เดินทางมาตักน้ำยางจากต้นยางในบริเวณเขตของหนองพักเกวียนทอง ขณะที่ตักน้ำยางอยู่นั้น ภรรยาเกิดเจ็บท้องและคลอดลูกในป่าต้นยาง ผู้เป็นสามีจึงนำลูกกลับบ้าน โดยนำลูกใส่ผ้าและทำเป็นเชือกสะพายลูกพร้อมน้ำยางกลับบ้าน ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า "บ้านดงยางตะพาย" ต่อมาตัดคำว่าดงออกไป จนกระทั่งก่อตั้งเป็นหมู่บ้านจึงเรียกชื่อว่า "บ้านยางตะพาย"


ชุมชนคนส่วย ประเพณีวัฒนธรรมส่วยหรือกูย

ยางตะพาย
หมู่ที่ 3
บึงบัว
วชิรบารมี
พิจิตร
66140
16.5361516074703
100.062017440795
องค์การบริหารส่วนตำบลบึงบัว

ความเป็นมาของบ้านยางตะพายเริ่มเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2475 หรือราว 90 ปีเศษ ซึ่งเป็นช่วงปีมีการอพยพของครอบครัวประมาณ 4 ครอบครัว 3 ครอบครัวแรกเป็นชาวกูย (ส่วย) ที่อพยพมาจากตำบลตรึม อำเภอศีขรภูมิ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นตำบลสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์) และอีก 1 ครอบครัว เป็นคนไทยมาจากลพบุรี นอกจากนี้ยังมีพระสงฆ์อีก 2 รูปเป็นชาวกูย 1 รูป และชาวลพบุรี 1 รูป เหตุผลการอพยพของกลุ่มนี้เกิดจากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลในถิ่นที่อยู่เดิมเป็นเวลานานติดต่อกัน 4-5 ปี ความแห้งแล้งเช่นนี้ทำให้ครอบครัวทำนาไม่ได้ผล ต้องทยอยกินข้าวที่เก็บสะสมไว้ในยุ้งฉาง เมื่อข้าวในยุ้งฉางลดลงไปเรื่อย ๆ ขณะที่บางครอบครัวมีสมาชิกจำนวนมากกระทั่งข้าวในยุ้งฉางไม่พอกิน ต้องหาปลาหรือของป่าไปแลกข้าว ความเป็นอยู่อัตคัดยาวนานเกินไปจนทำให้ครอบครัวเหล่านี้ตัดสินใจอพยพโยกย้ายไปหาแหล่งที่อยู่ใหม่ 

การเดินทางเริ่มต้นจากการขึ้นรถไฟขนสินค้าจากจังหวัดสุรินทร์มาถึงสถานีชุมทางบ้านภาชี จังหวัดอยุธยา แล้วต่อรถไฟมาถึงสถานีจังหวัดพิจิตร หลังจากนั้นลงเรือล่องแม่น้ำยมมาขึ้นบกที่ท่าน้ำในตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร และเดินเท้าต่อมาจนถึงบ้านห้วยห้าง ตำบลหนองหลุม พักที่วัดบ้านห้วยห้าง 1 คืน พอรุ่งเช้าก็เดินทางต่อ ข้ามหนองน้ำขนาดใหญ่ที่บ้านหนองหญ้าปล้อง ตำบลวังโมกข์ อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร เดินต่ออีกไม่นานจึงได้มาเจอบริเวณที่เป็นบ้านยางตะพายในปัจจุบัน โดยรอบพื้นที่มีสภาพเป็นป่ารกทึบเต็มด้วยต้นไม้และสัตว์ป่า เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่ยังไม่มีผู้จับจอง ครอบครัวที่อพยพมาจึงเลือกปักหลักสร้างบ้านและจับจองที่ดินสำหรับทำนาทำไร่ เลี้ยงวัวควาย และหาเลี้ยงชีพด้วยการเผาถ่าน รับจ้างตัดอ้อย และรับจ้างทั่วไปในพื้นที่เกษตร ทั้งนี้เพื่อหาเงินมาซื้อวัวควายไว้ไถนา เนื่องจากช่วงที่อพยพมาไม่สามารถนำวัวควายที่มีอยู่เดิมในจังหวัดสุรินทร์เดินทางมาพร้อมกันได้ 

เมื่อได้ที่อยู่และที่ทำกินที่เหมาะสม ผู้บุกเบิกรุ่นแรกจึงได้กลับไปชักชวนญาติมิตรที่บ้านเกิดให้มาอยู่ร่วมกัน จึงมีอีกประมาณ 20 กว่าครอบครัวทยอยเดินทางตามมา ระหว่างนั้นพระภิกษุที่เดินทางมาด้วย 2 รูป มีความคิดสร้างวัดยางตะพาย โดยมีคนกลุ่มเล็ก ๆ ในชุมชนได้ลงแรงร่วมกันสร้าง จนกลายเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ขณะที่บรรดาครัวเรือนที่อพยพมาก่อนได้แต่งงานและขยายครอบครัวออกไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น ต่อมาจึงจดทะเบียนหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ ณ เวลานั้นหมู่บ้านยางตะพายขึ้นอยู่กับตำบลบ้านนา อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ต่อมาเมื่อปี 2531 ได้แยกเป็นตำบลบึงบัว หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2538 ตำบลบึงบัวได้แยกฐานะเป็นสภาตำบลนิติบุคคล และยกฐานะเป็นองค์กรบริหารส่วนตำบลบึงบัว ในวันที่ 30 มีนาคม 2539 หลังจากนั้นในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 มีพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอใหม่ชื่อวชิรบารมี ซึ่งแยกจากอำเภอสามง่ามเดิม บ้านยางตะพายซึ่งตั้งอยู่ในตำบลบึงบัวจึงอยู่ในเขตปกครองของอำเภอวชิรบารมีมาจนถึงปัจจุบัน 

บ้านยางตะพายตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอวชิรบารมีเพียง 15 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอเมืองจังหวัดพิจิตรประมาณ 42 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากอำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก 46 กิโลเมตร วิธีการเดินทางจากอำเภอเมืองพิจิตรมุ่งหน้าเข้าสู่ทางหลวงชนบทหมายเลข 115 (สามง่าม-วชิรบารมี) ผ่านแยกปลวกสูง (มุ่งหน้าสู่จังหวัดกำแพงเพชร) เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงชนบทหมายเลข 3064 (บ้านยางตะพาย) ผ่านบ้านทับเกวียนทอง และโรงเรียนบ้านยางตะพาย โค้งขวาประมาณ 500 เมตร ถึงชุมชนบ้านยางตะพาย

หมู่บ้านยางตะพายมีอาณาเขตทางทิศเหนือติดต่อกับตำบลวังโมกข์ อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ส่วนทางทิศใต้ติดต่อกับหมู่บ้านทับเกวียนทอง ตำบลบึงบัว อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ทิศตะวันออกติดต่อกับตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร และทิศตะวันตกติดต่อกับตำบลหนองไม้กอง อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร

ตามเรื่องเล่าของคนรุ่นบุกเบิกตั้งบ้าน เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน บ้านยางตะพายมีสภาพเป็นป่ารกทึบเต็มไปด้วยต้นยางขนาดใหญ่ ต่อมาเมื่อผู้คนทยอยเข้ามาตั้งบ้านเรือนและทำการขยายพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ผืนป่าลดลงไปเรื่อย ๆ จนเหลืออยู่เพียงบางแห่ง ได้แก่พื้นที่รอบวัดยางตะพาย และพื้นที่บริเวณหัวไร่ปลายนาส่วนบุคคล ปัจจุบันสภาพบ้านยางตะพายไม่ต่างจากหมู่บ้านอื่นในแถบภาคกลาง เหนือ และอีสาน กล่าวคือพื้นที่ที่เป็นใจกลางของหมู่บ้านเต็มไปด้วยบ้านเรือนตั้งเกาะกลุ่มเรียงรายอยู่ริมถนนที่ตัดผ่านหมู่บ้าน ซึ่งในที่นี้คือถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 3064 รวมถึงศาลากลางบ้าน ร้านค้า ร้านอาหาร ปั้มน้ำมัน และสถานที่สำคัญของชุมชน เช่น วัดยางตะพาย โรงเรียนบ้านยางตะพาย ถัดจากพื้นที่กลางบ้านออกไปรอบนอกเป็นพื้นที่เกษตรซึ่งล้อมรอบพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพเป็นพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำ เหมาะแก่การทำนา มี “คลองคด” เป็นคลองธรรมชาติไหลผ่านพื้นที่นาข้าวส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรมสำคัญของชุมชน สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีคลองคดไหลผ่านจะมีการขุดสระน้ำในพื้นที่เกษตรและขุดบ่อบาดาลเพื่อใช้น้ำจากใต้ดินในช่วงฤดูแล้ง 

ข้อมูลขององค์การบริหารส่วนตำบลบึงบัวระบุว่าหมู่บ้านยางตะพายประกอบด้วยประชากร 656 คน แบ่งเป็น 188 ครัวเรือน ประมาณ 20-30 ครัวเรือนไม่มีคนอาศัยอยู่ เนื่องจากอพยพไปทำงานที่ต่างจังหวัดทั้งครอบครัว ครัวเรือนเกือบทั้งหมดในบ้านยางตะพายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กูย (ส่วย) ที่มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติตั้งแต่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ผู้ที่อพยพมาภายหลังมีนามสกุลเหมือนผู้ที่อพยพมาก่อน เพราะต่างเป็นญาติพี่น้องที่ชักชวนกันมาตั้งรกรากในพื้นที่แห่งใหม่ ดังจะเห็นได้ว่ามีการใช้นามสกุลเพียงไม่กี่นามสกุล ได้แก่ สอนสุข สุขเลิศ บุราคร อนุลีจันทร์ และศรีจันทร์  

การแต่งงานและการสืบสายตระกูลของชาวกูยบ้านยางตะพายเป็นการสืบทอดตระกูลฝั่งผู้ชาย หลังจากแต่งงาน ฝ่ายหญิงใช้นามสกุลของฝ่ายชาย แต่ฝ่ายชายจะต้องมาอาศัยอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายหญิงก่อน หรือที่เรียกว่าการเอาเขยเข้าบ้าน เพื่อช่วยเหลือครอบครัวฝ่ายหญิงทำไร่ทำนา จนเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2-5 ปี ครอบครัวหญิงชายจึงจะแยกไปตั้งบ้านของตนเอง อย่างไรก็ตาม ครอบครัวใหม่ของหญิงชายที่แต่งงาน กับครอบครัวเดิมของพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายก็ยังพึ่งพาอาศัยกันทั้งด้านแรงงานและการแบ่งปันผลผลิต โดยเฉพาะในยามวิกฤติต่าง ๆ เช่นภัยแล้งหรือน้ำท่วม    

ปัจจุบันชุมชนบ้านยางตะพายมีการแต่งงานข้ามกลุ่มมากขึ้น ทำให้หลายครอบครัวมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ รวมอยู่ในครอบครัวโดยการเป็นเขยหรือสะใภ้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยจากพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ไทยอีสาน ไทยภาคกลาง ไทยภาคใต้ ตัวอย่างครอบครัวของแม่มุ้ย บุราคร มีลูกเขยซึ่งเป็นสามีของลูกสาวคนที่ 4 เป็นคนไทยอีสานมาจากจังหวัดนครพนม และลูกสะใภ้ซึ่งเป็นภรรยาของลูกชายคนที่ 2 เป็นชาวไทครั่งมาจากอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก หรือกรณีแม่ทองมา อายุ 72 ปี มีสามีเป็นคนไททรงดำที่อาศัยอยู่ในบ้านสระบอระเพ็ด หมู่บ้านคนไทดำในตำบลวังโมกข์ อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร เธอยังมีลูกสะใภ้ซึ่งเป็นภรรยาของลูกชายคนโตเป็นคนไทยอีสานจากจังหวัดขอนแก่น คนต่างกลุ่มต่างวัฒนธรรมเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างเป็นปกติ ภายใต้วิถีการดำรงชีพด้วยการทำเกษตรเหมือนกัน ทำให้สามารถปรับตัวและพึ่งพาอาศัยกันได้

กูย, ไทดำ, ลาวครั่ง

โครงสร้างทางสังคมที่นอกเหนือจากกลุ่มเครือญาติชาติพันธุ์กูย บ้านยางตะพายประกอบด้วยองค์กรชุมชนอีก 2 ประเภท คือ องค์กรภายใต้การปกครองตามระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการหมู่บ้านฝ่ายต่าง ๆ ได้แก่ ฝ่ายอำนายการ ฝ่ายรักษาความสงบ ฝ่ายพัฒนาหมู่บ้าน ฝ่ายส่งเสริมเศรษฐกิจ ฝ่ายสังคม สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข ฝ่ายการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ทุกฝ่ายรวมกันเป็น “คณะกรรมการหมู่บ้าน” องค์กรชุมชนที่มีกลไกตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านในการปฏิบัติหน้าที่หลายอย่าง คณะกรรมการหมู่บ้านยางตะพายประกอบด้วยกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นผู้นำตามธรรมชาติและผู้มีความรู้ความสามารถด้านต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อทำหน้าที่ที่พ้นขอบเขตของระบบเครือญาติ เช่น การอำนวยความเป็นธรรม การประนีประนอมข้อพิพาทในหมู่บ้าน การสำรวจข้อมูลของครัวเรือน การจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านให้ทันสมัยและทันต่อสถานการณ์ การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การทำงานตามที่นายอำเภอมอบหมาย ตลอดจนการขอรับบริจาคในงานบุญประเพณีหรืองานประจำปีของหมู่บ้าน และการบริหารจัดการกิจกรรมในหมู่บ้านร่วมกับองค์กรอื่นทุกภาคส่วน

องค์กรชุมชนอีกประเภทในบ้านยางตะพาย คือ กลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน บุคคลที่มารวมตัวกันนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้นำทั้งที่เป็นทางการและผู้นำตามธรรมชาติที่มีความรู้ความสามารถหรือภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ ที่ต้องการถ่ายทอดให้คนในชุมชนได้นำไปใช้เป็นวิชาชีพของตนเองและครอบครัว กลุ่มดังกล่าวได้แก่กลุ่มสตรีแม่บ้านเกษตรกรบ้านยางตะพาย (ทำน้ำพริกเผา/พริกแกง/น้ำพริกปลาย่าง) กลุ่มผักปลอดสารพิษ ผู้ผลิตน้ำดื่มสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างฐานการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิถีการดำรงชีพของคนในชุมชน เช่น ด้านเกษตรกรรม ด้านการแปรรูปผลผลิตการเกษตร ด้านภูมิปัญญาพื้นบ้าน ทั้งนี้เพื่อลดการซื้อการบริโภคและเพิ่มการพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น แต่ละฐานการเรียนรู้มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และให้คำแนะนำ ได้แก่

  • จุดเรียนรู้เรื่องเกษตรปลอดสารพิษและเกษตรผสมผสาน โดย แม่มุ้ย บุราคร เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้/ภูมิปัญญา 
  • จุดเรียนรู้หมอดินอาสาประจำตำบลบึงบัว โดย อาจารย์สุวิทย์ ทองรวย 
  • จุดเรียนรู้เรื่องแก๊สชีวภาพและเตาน้ำส้มควันไม้ โดย นายประวัติ สุธาธรรม 
  • จุดเรียนรู้เรื่องการสีข้าวกล้องแบบโบราณ โดย แม่มุ้ย บุราคร นางวรรณา ทองรวย นางยวนใจ อนุลีจันทร์ นางสาววงค์เดือน ศิริจันทร์ นายเปลื้อง ศรัทธาธรรม และนางเมธาวดี แก้วแวว
  • จุดเรียนรู้ด้านประเพณี วัฒนธรรม (ประเพณีถวดแท่น/ การรำตักใต้) ถ่ายทอดภูมิปัญญาโดยแม่ยวนใจ อนุลีจันทร์ และแม่มุ้ย บุราคร
  • จุดเรียนรู้เรื่องการทอผ้า ถ่ายทอดภูมิปัญญาโดยแม่ยวนใจ อนุลีจันทร์ 
  • จุดเรียนรู้เรื่องการทอเสื่อ/ทำเปล ถ่ายทอดภูมิปัญญาโดยแม่ยวนใจ อนุลีจันทร์ 

กลุ่มต่าง ๆ ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวชิรบารมี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ร่วมกับหน่วยงานภาคีการพัฒนา และบูรณาการการทำงานร่วมกัน ดำเนินการส่งเสริมให้ผู้นำและผู้รู้ในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการมีแหล่งเรียนรู้ของชุมชนการจัดเก็บองค์ความรู้ ประวัติชุมชน และภูมิปัญญาของชุมชนอย่างเป็นระบบ ผ่านการจัดเวทีประประชาคมของชุมชน ร่วมกันค้นหาองค์ความรู้ ชี้ให้เห็นประโยชน์ของความรู้เมื่อมีการนำมาประยุกต์ใช้ และใช้เป็นฐานในการตัดสินใจในการแก้ปัญหาของครอบครัวและชุมชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น

ฐานเรียนรู้ต่าง ๆ มีการดำเนินการโดยคณะกรรมการที่ร่วมกันบริหารจัดการศูนย์เรียนรู้โดยมาจากการคัดเลือกของคนในชุมชน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการศูนย์เรียนรู้และจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กร เครือข่ายชุมชน และปราชญ์ชาวบ้าน ช่วยกันรวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่กระจัดกระจายอยู่ในชุมชน นำมาแลกเปลี่ยนกันจนเกิดความเข้าใจ โดยใช้เวทีแผนชุมชนเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และฝึกฝนเกี่ยวกับวิธีการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาให้กับคนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกชุมชนสามารถเข้ามาเรียนรู้และสืบค้นได้

ดวงพร บุราคร ผู้ใหญ่บ้านยางตะพาย ให้ข้อมูลจำนวนประชากรในหมู่บ้านว่ามีจำนวน 405 คน แบ่งเป็น 163 ครัวเรือน แต่มีผู้อาศัยอยู่จริงประมาณ 146 ครัวเรือน ครัวเรือนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่อพยพไปทำงานต่างพื้นที่ ทำให้ต้องทิ้งบ้านเรือนเพื่อโยกย้ายไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว เมื่อเกษียณจากการทำงานและลูกที่ไปอยู่ด้วยศึกษาเล่าเรียนจนจบ ครัวเรือนจึงอพยพกลับมา นอกจากนี้ ยังมีคนในชุมชนกว่า 10 ครัวเรือนที่เป็นแรงงานอพยพไปทำงานที่ต่างประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลี และอิสราเอล ผู้ใหญ่บ้านเล่าว่าคนในชุมชนนิยมไปทำงานต่างประเทศตั้งแต่ 30-40 ปีก่อน เนื่องจากเป็นหนทางที่ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงรายได้จำนวนมากกว่าการทำเกษตรในชุมชนและการเป็นแรงงานรับจ้างภายในประเทศ แรงงานอพยพเหล่านี้มักจะส่งเงินกลับมายังครอบครัวเพื่อการลงทุนในภาคเกษตร เช่น การปรับที่นาให้สามารถปลูกข้าวได้เพิ่มขึ้น การซื้อเครื่องจักรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ได้แก่ เครื่องปั๊มน้ำ รถไถ รถยนต์ โดรนเพื่อการเกษตร สำหรับใส่ปุ๋ยและฉีดยาฆ่าแมลง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำเงินที่ได้จากการทำงานต่างประเทศมาใช้ในการสร้างหรือซ่อมแซมบ้านเรือน รวมถึงซื้อรถยนต์และทองคำ

รายงานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ที่จัดเก็บโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพิจิตร แสดงจำนวนประชากรจำแนกตามประเภทอาชีพในหมู่บ้านยางตะพาย ปี 2567 พบว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมคิดเป็นร้อยละ 54 ของครัวเรือนทั้งหมด อาชีพเกษตรกรรมในที่นี้ส่วนใหญ่เป็นการทำนาปลูกข้าว รองลงมาคือการทำสวนปลูกพืชผักสวนครัว และการเลี้ยงสัตว์ ต่อมาคืออาชีพรับจ้างทั่วไปคิดเป็นร้อยละ 11 ของครัวเรือนทั้งหมด การรับจ้างทั่วไปได้แก่การรับจ้างในภาคเกษตรกรรม การรับจ้างนอกภาคเกษตร ได้แก่การรับจ้างในร้านค้า โรงงาน และการรับจ้างก่อสร้างบ้านเรือนและอาคารต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีอาชีพค้าขายและธุรกิจส่วนตัวจำนวนร้อยละ 2 อาชีพพนักงานบริษัทร้อยละ 2.5 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวที่อพยพแรงงานไปทำงานในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ ระยอง และชลบุรี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่รับราชการจำนวนร้อยละ 3.5 และกลุ่มคนที่กำลังศึกษาอยู่คิดเป็นร้อยละ 21.73 (กรมการพัฒนาชุมชน ค้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567)

จากข้อมูลด้านอาชีพดังกล่าวจะเห็นได้ว่าคนบ้านยางตะพายประมาณร้อยละ 20 ของครัวเรือนทั้งหมด พึ่งพารายได้นอกภาคเกษตรเป็นสัดส่วนที่มากขึ้น ทำให้ผู้คนมีวิถีการดำรงชีพที่แปลกแยกจากประเพณีวัฒนธรรมที่โยงใยอยู่กับวิถีเกษตรกรรมดั้งเดิม แม้ว่าคนบ้านยางตะพายยังคงทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการทำนาปรังมากกว่าการทำนาปีซึ่งเป็นการทำนาที่อาศัยน้ำฝนแบบดั้งเดิม เมื่อวิถีเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมเลือนหายไป ส่งผลทำให้ประเพณีที่มีความเชื่อมโยงกันจางหายไปด้วย โดยเฉพาะพิธีไหว้แม่โพสพและพิธีนำข้าวขึ้นยุ้ง ซึ่งเป็นพิธีที่คนบ้านยางตะพายไม่ค่อยทำกันแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากการทำนาปีละหลายครั้งมีขั้นตอนที่ต้องเร่งรีบให้ทันเวลาการทำนาแต่ละรอบ ทำให้ผู้คนยกเว้นการทำพิธีตามฤดูกาลดั้งเดิม อีกทั้งเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวข้าว พวกเขาต่างใช้รถเกี่ยวข้าวและนวดข้าวพร้อมสรรพในคันเดียว เสร็จแล้วนำข้าวมุ่งหน้าส่งขายตรงแก่พ่อค้าในคราวเดียว ทำให้ครัวเรือนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำพิธีนำข้าวขึ้นยุ้งอีกเลย

อย่างไรก็ตาม ในรอบหนึ่งปียังมีประเพณีและพิธีกรรมที่คนบ้านยางตะพายต้องทำเป็นประจำทุกปี เนื่องจากเป็นประเพณีสำคัญที่ละเลยไม่ได้ ทั้งที่เป็นประเพณีทางศาสนาพุทธและพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิมของชุมชน ได้แก่ ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา และบุญออกพรรษา ในวันนี้คนในชุมชนจะจัดให้มีการฟังเทศน์มหาชาติ และบุญกฐิน สำหรับพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิม ได้แก่ พิธีไหว้เจ้าพ่อปู่ดำ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนบ้านยางตะพายและชุมชนอื่น ๆ ในเขตพื้นที่ตำบลบึงบัว การไหว้พ่อปู่ดำกำหนดเป็นวันพุธในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม จากนั้นเป็นการจัดบุญกลางบ้าน ประมาณกลางเดือนมกราคม ต่อมาในเดือนกันยายนมีการจัดประเพณีสารทส่วย ซึ่งเป็นการทำบุญเซ่นสรวงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับ สารทส่วยมีระยะเวลาจัด 2 ครั้ง ครั้งแรกตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า ซ้ากแก๊ด (วันสารทน้อย) ครั้งที่สองตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า ซ้ากผึ้ด (วัดสารทใหญ่) ทุกครัวเรือนจะนำอาหารและเครื่องเซ่นไปรวมกันที่บ้านของผู้ที่เป็นใหญ่ในตระกูล เป็นผู้อาวุโสของตระกูล ตอนกลางคืนจะพากันไปฟังพระสวดมนต์ที่วัด รุ่งเช้าของวันแรม 15 ค่ำ มีการตักบาตรที่วัด นำข้าวปลาอาหารไปถวายพระ และถือโอกาสนี้นำข้าวปลาอาหารไปเซ่นดวงวิญญาณของผีบรรพบุรุษที่เจดีย์หรือธาตุเก็บกระดูก เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว 

หากกล่าวถึงบุคคลสำคัญของบ้านยางตะพาย หลายท่านต้องคิดถึงพระภิกษุสงฆ์แห่งวัดยางตะพายที่เป็นที่นับถืออย่างกว้างขวาง ท่านแรกคือ พระครูมงคลสังฆกิจ หรือหลวงพ่อปัญญา จันทโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดยางตะพาย เป็นพระเกจิที่มีการศึกษาพระธรรม การอบรมเจริญปัญญา และการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาให้แก่อุบาสก อุบาสิกา รวมถึงการมีวัตรปฏิบัติเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านและประชาชนในอำเภอวชิรบารมีและพื้นที่อื่น ๆ ปัจจุบันหลวงพ่อปัญญาได้มรณภาพไปมากกว่า 20 ปี แต่ยังมีสภาพสังขารที่ไม่เน่าเปื่อย วัดยางตะพายจึงได้เก็บสรีระสังขารของท่านไว้และได้เปิดให้ประชาชนกราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลทุกวัน ต่อมาคือ พระครูพินิจธรรมประยุต (ยงค์ยุธ เตชธมฺโม) เป็นเจ้าอาวาสวัดยางตะพายต่อจากหลวงพ่อปัญญา พระครูยงค์ยุธถือเป็นพระนักพัฒนาที่มีความสำคัญของบ้านยางตะพาย ท่านมีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาและดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน และท่านยังมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีหลายอย่างของชาวกูย เช่น พิธีรำแกลมอ ประเพณีสารทส่วย บุญกลางบ้าน เป็นต้น รวมถึงการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ลานวัดเป็นลานวัฒนธรรมของชุมชนที่ได้มีการจัดกิจกรรมและใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ของชุมชนตลอดมา พระครูยงค์ยุธไมรณภาพเมื่อปี 2566 ซึ่งสร้างความโศกเศร้าเสียใจให้กับบรรดาอุบาสกอุบาสิกาทั้งในและนอกชุมชนอย่างมาก

นอกจากนี้ บ้านยางตะพายยังมีผู้นำตามธรรมชาติที่มีความรู้ความสามารถที่ได้สร้างคุณประโยชน์แก่ชุมชนหลายท่าน ได้แก่ แม่มุ้ย บุราคร อายุ 78 ปี แม่ยวนใจ อนุลีจันทร์ อายุ 75 ปี แม่วรรณา ทองรวย ท่านเหล่านี้แม้เป็นผู้หญิง แต่ก็ถือเป็นผู้มีบทบาทนำในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนเสมอมา โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์ สืบสาน รักษา และต่อยอดประเพณีวัฒนธรรมของชาวกูยหรือส่วยให้คงอยู่สืบไป ได้แก่ การอนุรักษ์และสืบทอดภาษาส่วยโดยการผลักดันให้โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนภาษาส่วยอย่างน้อยวันละหนึ่งคำ และผลักดันให้ภาษาส่วยเป็นภาษาที่ใช้กันภายในโรงเรียนเหมือนภาษาไทยกลาง หรือการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประเพณีถวดแท่น การรำตักใต้ รวมถึงพิธีรำแกลมอ ซึ่งเป็นพิธีกรรมดั้งเดิมและเป็นความเชื่อของชาวกูยในการบูชาดวงวิญญาณของบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนให้รักษาผู้เจ็บไข้ได้ป่วยและปกปักรักษาคนในชุมชนให้อยู่ดีมีสุข ทั้งนี้เพื่อให้เด็กและเยาวชน รวมถึงผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้และสืบทอดต่อไป นอกจากเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมแล้ว ทั้งสามคนนี้ยังมีความกระตือรือร้นในการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาความรู้ที่มีคุณค่าต่อการยังชีพหลายอย่าง เช่น แม่ยวนใจซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านการทอผ้าทอเสื่อ แม่มุ้ยเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมหรือที่ในปัจจุบันเรียกว่าเกษตรปลอดสารพิษและเกษตรผสมผสาน เป็นต้น

บ้านยางตะพายเต็มไปด้วยทุนชุมชนหลายด้าน ทั้งภูมิประเทศที่มีดินและน้ำอุดมสมบูรณ์ คนในชุมชนมีภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมา ได้แก่ การทำเกษตรกรรม การผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือนเพื่อใช้หาอยู่หากิน เช่น การทอผ้า ทอเสื่อ การทำเครื่องมือหาปลา การจักสาน รวมถึงทุนด้านวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวและมีคุณค่าหลายอย่าง เช่น ภาษาส่วย การร่ายรำตามแบบฉบับชาวกูย เรื่องเล่าและตำนานพื้นบ้านต่าง ๆ รวมถึงพิธีกรรมและประเพณีที่หาดูได้ยาก ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง "รำแกลมอ" พิธีกรรมโบราณที่ชาวกูยถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากความเชื่อเกี่ยวกับเรื่อง "ผีฟ้า" ที่ชาวกูยนับถือ โดยเชื่อกันว่าพิธีกรรมนี้สามารถไล่ "ผีเปรต" ที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยของชาวบ้าน โดยมี "แม่มอ" หรือหมอผีประจำหมู่บ้าน (ส่วนมากเป็นเพศหญิง) เป็นผู้นำในการดำเนินพิธีกรรม ขั้นตอนเริ่มจากการหาฤกษ์งามยามดีเพื่อกำหนดวัน เวลา สถานที่ เพื่อทำพิธี ส่วนมากจะเป็นที่บ้านแม่มอหรือบ้านผู้ป่วย จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อม พิธีกรรม "รำแกลมอ" นิยมเริ่มพิธีกรรมในเวลารุ่งสาง แม่มอจะเป็นร่างทรงอัญเชิญ "มอ" หรือ "ผีฟ้า" เข้าทรงในร่าง แล้วฟ้อนรำไปรอบ ๆ ตัวผู้ป่วยและบริเวณรอบบ้าน พร้อมกับผู้รำคนอื่น ๆ อีกประมาณ 4-8 คน หมอแคนจะเป่าแคนเป็นทำนองเพลงพื้นบ้านระหว่างการรำ บางครั้งมีกลองยาว เพื่อสร้างเสียงดนตรีและลดความตึงเครียด "มอ" หรือ "ผีฟ้า" จะต้องเข้าทรงผู้รำทุกคน จนกว่า "มอ" หรือ "ผีฟ้า" จะพอใจ และออกจากร่างผู้รำไป หลังจากนั้นจะนำขันเงินที่ใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ มาให้ผู้ป่วย และนำข้าวสาร มาโปรยที่ตัวผู้ป่วยและบริเวณโดยรอบบ้าน เพื่อเป็นการไล่ผีที่ไม่ดีออกไป รับขวัญและผูกข้อมือผู้ป่วยด้วยสายสิญจน์ เป็นอันเสร็จพิธีกรรม "รำแกลมอ" ส่วนมากจะใช้เวลาในการประกอบพิธีกรรมประมาณ 1 วัน ตั้งแต่เช้ามืดจนถึงช่วงบ่ายหรือเย็น ในบางครั้งก็อาจจะใช้เวลาถึงช่วงกลางคืนเลยก็เป็นได้ (ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, 4 กันยายน 2564) 

พิธีรำแกลมอนับว่าเป็นประเพณีและพิธีกรรมท้องถิ่นโบราณของชาวกูยบ้านยางตะพาย มีความเป็นอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมและประเพณีประจำท้องถิ่นที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน สามารถสะท้อนถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และความสัมพันธ์ดูแลซึ่งกันและกันซึ่งส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นภายในชุมชนที่ล้วนแต่เป็นเครือญาติและเพื่อนฝูง ในสายตาของชุมชน รำแกลมอจึงไม่ได้เป็นเพียงการแสดงการร่ายรำต่อหน้านักท่องเที่ยวหรือผู้คนที่ได้รับชมเท่านั้น แต่รำแกลมอถือเป็นจิตวิญญาณของชุมชนที่มีส่วนสร้างความเข้มแข็งที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาส่วนต่าง ๆ ในชุมชน จึงถือได้ว่าพิธีรำแกลมอเป็นทุนชุมชนที่มีคุณค่าคู่ควรแก่การอนุรักษ์ ปัจจุบัน โรงเรียนบ้านยางตะพายได้เข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดพิธีรำแกลมอ โดยการร่วมมือกับผู้รู้ในชุมชนจัดกิจกรรมการเรียนรู้การรำแกลมอและประเพณีอื่น ๆ ของชาวกูยให้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว

ผู้ใหญ่บ้านยางตะพายเล่าว่าชุมชนบ้านยางตะพายสื่อสารกันด้วยภาษาส่วยเป็นหลัก ภาษาส่วยจะมีเฉพาะภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียนที่เป็นพยัญชนะสระและวรรณยุกต์ คำที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นคำโดดพยางค์เดียว คล้ายๆ กับภาษาไทยและภาษาเขมร แม้ชาวบ้านยางตะพายจะใช้ภาษาส่วยเป็นหลัก แต่เมื่อต้องติดต่อสื่อสารกับผู้คนกลุ่มอื่น ๆ ก็สามารถสื่อสารด้วยภาษาอื่นได้ เช่น ภาษาไทยกลาง ภาษาไทยลาว ภาษาไททรงดำ ภาษาไทพวน เป็นต้น ความสามารถในการสื่อสารได้หลายภาษา เกิดจากการอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และได้มีการติดต่อสื่อสารและสัมพันธ์กันผ่านการแต่งงาน ทำให้คนส่วยสามารถพูดภาษาอื่น ๆ ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มในชุมชนที่สื่อสารกันด้วยภาษาส่วยน้อยที่สุด เนื่องจากการใช้ภาษาไทยกลางสื่อสารในโรงเรียนเป็นหลัก แต่ก็มีความเข้าใจภาษาส่วย เนื่องจากโตมาในบ้านและชุมชนที่ใช้ภาษาส่วย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน พ่อแม่ที่เป็นคนรุ่นใหม่นิยมพูดไทยกลางกับลูกหลานมากขึ้น ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้ลูกหลานมีสำเนียงไทยกลางชัดเจนมากกว่าสำเนียงส่วยซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือการเข้าสังคมต่อไปในอนาคต ส่งผลให้เด็กและเยาวชนนิยมใช้ภาษาไทยกลางมากกว่าภาษาส่วย (สัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านยางตะพาย ดวงพร บุราคร, 26 สิงหาคม 2567)  


สภาพชุมชนบ้านยางตะพายมีความเปลี่ยนแปลงของวิถีการดำรงชีพค่อนข้างมาก ปัจจุบันเศรษฐกิจของชุมชนขับเคลื่อนด้วยรายได้จากนอกภาคเกษตรเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากความล้มเหลวของเกษตรกรรม ราคาข้าวที่ตกต่ำและไม่มีความแน่นอน ขณะที่มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทุกปี ทำให้หลายครัวเรือนมีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายจนกลายเป็นหนี้พอกพูน การอพยพแรงงานของตัวเองไปยังพื้นที่อื่นเพื่อใช้แรงงานแลกกับค่าแรงจึงเป็นคำตอบสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ค่าแรงต่อวันที่ไม่มากนักในขณะที่ข้าวของเครื่องใช้ราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีค่าครองชีพสูง ทำให้รายได้ที่ได้มาหมดไปกับค่ากินค่าอยู่ในแต่ละวันจนแทบไม่เหลือเก็บออม ต้องอาศัยเวลายาวนานในการสร้างเนื้อสร้างตัว หลายคนจึงพยายามไปทำงานในต่างประเทศซึ่งมีค่าแรงมากกว่า คนบ้านยางตะพายเล่าว่าการที่คนในครอบครัวของพวกเขาไปทำงานต่างประเทศไม่ได้ทำให้ครัวเรือนของพวกเขาสามารถเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจได้ ไม่ว่าจะไปทำงานนานเท่าไหร่ก็ตาม เงินที่ส่งมาจากต่างประเทศหมดไปกับการใช้หนี้สินและการทำนา ทั้งหนี้จากการกู้ยืมเพื่อจ่ายให้บริษัทจัดหางาน และหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ซึ่งครอบครัวกู้ยืมเพื่อการทำนาที่สะสมพอกพูนแล้วหลายบาท เงินที่เหลือก็นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการทำนาแต่ละปี ทั้งค่าจ้างและค่าปุ๋ย เงินที่ส่งมาจึงเหลือเก็บเพียงน้อยนิด เมื่อคนไปทำงานกลับมาอยู่บ้านก็ได้ใช้เงินส่วนที่เก็บออมจนหมด จนต้องหาใหม่ แต่ด้วยอายุที่มากขึ้นและร่างกายที่ทรุดโทรม ทำให้หลายคนไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานต่างประเทศได้อีกแล้ว ทุกวันนี้หลายครัวเรือนยังประสบปัญหาหนี้สิน และมีรายได้จากการทำนาขายข้าว ซึ่งบางปีได้กำไร บางปีขาดทุน สลับกันไปตามสภาพอากาศและสภาพราคาข้าว บวกกับการทำงานรับจ้างรายวัน/รายเดือน ตามแต่กำลังของคนในครอบครัวจะหามาได้ (นายทองดำ สุขเลิศ, สัมภาษณ์, 26 สิงหาคม 2567)

สภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ถือเป็นความเปราะบางทางเศรษฐกิจหรือความไม่มั่นคงในการดำรงชีพท่ามกลางความไม่แน่นอนของยุคสมัย ซึ่งความเปราะบางทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดความเปราะบางด้านอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะความเปราะบางทางวัฒนธรรม ดังที่ได้กล่าวไปบ้างแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงมาสู่การทำนาปรังที่ไม่สอดคล้องกับฤดูกาลทางธรรมชาติ และการขายข้าวส่งตรงให้กับพ่อค้าโดยที่ไม่ต้องนำขึ้นยุ้งข้าวก่อน ทำให้พิธีไหว้พระแม่โพสพและพิธีนำข้าวขึ้นยุ้งหายไปจากชุมชน นอกจากนี้ พิธีกรรมและประเพณีอื่น ๆ ที่ผันแปรตามวิถีการดำรงชีพที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น พิธีรำแกลมอซึ่งนิยมทำน้อยลง เนื่องจากรูปแบบการรักษาพยาบาลเปลี่ยนแปลงไปเป็นการรักษาด้วยยาและเครื่องมือสมัยใหม่ที่โรงพยาบาล แทนที่การรักษาด้วยสมุนไพร การขอพร และการให้กำลังใจภายใต้พิธีรำแกลมอ (ผู้ใหญ่บ้าน ดวงพร บุราคร, สัมภาษณ์, 3 กันยายน 2567) 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วรินภิรมย์ by พี่ใหม่พาไปมู Channel. (19 สิงหาคม 2563). แกลมอ ประเพณีของคน “ส่วย” บ้านยางตะพาย จ.พิจิตร. YouTube. https://www.youtube.com/watch

รัญชน์ฒิภัทร เชื้อสุวรรณ์. (7 มกราคม 2558). รำผีฟ้า (แกลนมอ) บ้านยางตะพาย จ.พิจิตร. YouTube. https://www.youtube.com/watch

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. (2556). พิธีกรรม “รำแกลมอ” ชาติพันธุ์ กูย (ส่วย) บ้านยางตะพาย. สืบค้น 16 กันยายน 2567, http://m-culture.in.th/album/

เฟสบุ๊ค “รักพิจิตร”. (2 พฤษภาคม 2563). https://www.facebook.com/permalink

ดวงพร บุราคร, ผู้ใหญ่บ้านยางตะพาย, สัมภาษณ์, 26 สิงหาคม 2567 และ 3 กันยายน 2567. 

ทองดำ สุขเลิศ, อดีตผู้ใหญ่บ้านยางตะพาย, สัมภาษณ์, 26 สิงหาคม 2567. 

มุ้ย บุราคร, สัมภาษณ์, 26 สิงหาคม 2567. 

ยวนใจ อนุลีจันทร์, สัมภาษณ์, 26 สิงหาคม 2567. 

อบต.บึงบัว โทร. 0 5603 3322