
หมู่บ้านของชุมชนอีสานล้อมรอบโดยหมู่บ้านของคนภาคเหนือ แต่ยังคงรักษาอัตลักษณ์และวัฒนธรรมแสดงความเป็นอีสาน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ภาษา ประเพณีบุญบั้งไฟ และการรวมกลุ่มจักสานพัฒนาผลิตภัณฑ์
ก่อนที่มีชื่อเป็นบ้านสันทรายงามในปัจจุบัน ชุมชนแห่งนี้อยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า “บ้านท่าช่อง” เพราะมีแม่น้ำอิงไหลผ่านมาจนเป็นช่อง นอกจากนี้ บริเวณแม่น้ำอิงดังกล่าวเป็นบริเวณที่มีหาดทรายสวยงาม ชาวบ้านจึงได้นำทรายจากแม่น้ำอิงไปใช้ประโยชน์มากมาย ต่อมาชาวบ้านจึงได้เรียกหมู่บ้านนี้ใหม่ว่า “บ้านสันทรายงาม”
หมู่บ้านของชุมชนอีสานล้อมรอบโดยหมู่บ้านของคนภาคเหนือ แต่ยังคงรักษาอัตลักษณ์และวัฒนธรรมแสดงความเป็นอีสาน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ภาษา ประเพณีบุญบั้งไฟ และการรวมกลุ่มจักสานพัฒนาผลิตภัณฑ์
บ้านสันทรายงามเป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่แห่งหนึ่งประมาณหลายร้อยปี จากหลักฐานทางโบราณสถานโบราณวัตถุที่ปรากฏทุกวันนี้ บริเวณสำนักปฏิบัติธรรมวัดวังแอด บ้านพระเกิดคงคาราม ที่บริเวณวัดซาววา และบริเวณฝายใหญ่ ซึ่งประมาณ พ.ศ. 2525 – 2530 รถไถกำลังไถดินแล้วบังเอิญไปไถจอมปลวก แต่กลับพบพระพุทธรูปล้ำค่า นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานในวัดหนองปลาขาว วัดน้อยหนองตม บริเวณวังสิม บ้านหนองสามัคคี (สิมหมายถึงอุโบสถ) มาระยะหลังมีชาวบ้านแถบบ้านห้วยก้างและใกล้เคียงนำวัว ควาย มาเลี้ยง หลังจากที่ปักดำนาเสร็จแล้ว จะพักบริเวณนี้จนกว่าจะถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวจึงจะนำวัวควายกลับบ้านทำให้บริเวณนี้รกร้าง ไม่มีคนอาศัยอยู่ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า ปางวัว ปางแดง ปางเคาะหลวง (บริเวณที่มีต้นไม้เคาะมาก) ใน พ.ศ. 2493 ได้มีชาวบ้านย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งที่นี่ เพื่อจับจองที่ดินทำมาหากิน โดยการนำของพ่ออุ้ยตาคำ คำดี และเพื่อนบ้านอีก 15 ครัวเรือน มาตั้งที่บริเวณใกล้วัดโพธิ์ทองในปัจจุบัน ครั้งแรกเรียกว่า “บ้านท่าช่อง” เพราะมีแม่น้ำอิงไหลผ่านมาเป็นช่องบริเวณแม่น้ำอิงดังกล่าวเป็นบริเวณที่มีหาดทรายสวยงาม ชาวบ้านจึงได้นำทรายจากแม่น้ำอิงไปใช้ประโยชน์มากมาย ชาวบ้านจึงได้เรียกหมู่บ้านนี้ใหม่ว่า “บ้านสันทรายงาม”
ประมาณปี พ.ศ. 2496 ชาวบ้านได้มีการจัดตั้งวัดขึ้นครั้งแรก คือ วัดโพธิ์ทอง โดยมีพระอาจารย์ผล เป็นเจ้าอาวาส ในปีต่อมามีประชาชนจากจังหวัดกำแพงเพชร หลายครอบครัว เช่น พ่อมี พ่อกันยา พ่อปี อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บวกหัวช้าง (บวกหมายถึงแหล่งน้ำขนาดเล็ก เช่น บวกควายนอน) ต่อมาเรียกว่าหนองหัวช้าง (บริเวณดังกล่าวในอดีตอาจมีช้างอาศัยอยู่เพราะเป็นแหล่งหนองน้ำ มีป่าไผ่ที่อุดมสมบูรณ์เป็นทางเดินผ่านของช้างป่า และช้างอาจเสียชีวิตบริเวณนี้ด้วย) ครอบครัวเหล่านี้อยู่ได้ไม่นานก็อพยพกลับบ้านเดิม
นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2500 ได้มีประชาชนจากภาคอีสาน เช่น ครอบครัวพ่อมี อธิตั้ง พ่อเม้า อัศวภูมิ จากบ้านหว่าน และพ่อเภา พ่อสอน บ้านวังยาว จังหวัดร้อยเอ็ด รวมถึงพ่อลา พิลาวุฒิ และครอบครัวอื่นๆ จากจังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธ์ อุบลราชธานี ฯลฯ ตามมาสมทบ จนกระทั่งมีชาวบ้านนาตาล จากอำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธ์ มาอยู่เป็นชุดใหญ่ และถือเป็นชุดสุดท้ายที่ได้อพยพครอบครัวมาตั้งรกรากอยู่บ้านสันทรายงาม คนอีสานที่อพยพมาเหล่านี้ได้ซื้อที่ดินจากคนเมืองที่จับจองมาก่อน ในราคาที่เหมาะสมประมาณไร่ละ 50 – 100 บาท แล้วบุกเบิกที่ดินเพื่อทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ หาปูหาปลา เลี้ยงชีพ บริเวณดังกล่าวนี้ปรากฏว่าเป็นแหล่งปลาที่ชุกชุมมากแห่งหนึ่ง ชาวบ้านได้หาปูหาปลาไปแลกข้าวกับหมู่บ้านอื่นๆ เพราะตอนชาวบ้านมามีเงินทุนน้อย ข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักไม่ได้นำมาด้วย และที่ทำกินยังบุกเบิกได้ไม่มากพอ บางปีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ น้ำอิงเข้าท่วมไร่นาได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านบางส่วนได้อพยพกลับภาคอีสานเหมือนเดิม บางส่วนก็อพยพเข้ามาหมุนเวียนกันไป
เมื่อประชาชนเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมาก จึงได้ขอจัดตั้งเป็นหมู่บ้านเรียกว่า “บ้านสันทรายงาม” หมู่ที่ 6 ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย โดยมีนายชมพู เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ต่อมาพ่อแดง ไชยลิ้นฟ้า ได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้ชักชวนให้ชาวบ้านร่วมกันตัดถนนจากหมู่บ้านไปที่ตัวอำเภอ (เพราะถนนเดิมเป็นทางเกวียน ทางเดินของวัวควาย ที่ใช้ติดต่อระหว่างอำเภอไปห้วยก้าง ซึ่งในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศฝรั่งเศสได้มาสัมปทานป่าไม้สักในเขตอำเภอเทิง โดยไปตั้งหมอนไม้ที่บ้านห้วยก้าง โดยใช้ช้างลากไม้ซุงจากบ้านห้วยก้างลงคลองคั๊วะ ไปลงปากแม่น้ำอิงที่บ้านหนองบัว อำเภอเทิง จากแม่น้ำอิงไหลไปเชียงของลงแม่น้ำโขง) ต่อมาพ่อใหญ่อ่ำ สารบรรณ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน สันทรายงาม หมู่ที่ 6 ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ร่วมกับชาวบ้านจัดตั้งโรงเรียนบ้านสันทรายงามขึ้น โดยมีนายทวี หน่อสุวรรณ เป็นครูใหญ่คนแรก ใน พ.ศ.2523 พ่อใหญ่กันหา พิลาวุฒิ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านสันทรายงาม และได้ขอแยกออกเป็นหมู่บ้านชวาและหมู่บ้านหนองสามัคคี จากนั้นจึงได้รวมกันแล้วขอแยกตัวออกมาเป็นตำบลใหม่ในชื่อว่าตำบลสันทรายงาม มีพ่อใหญ่กันหา พิลาวุฒิ เป็นกำนันตำบลสันทรายงามคนแรก จนถึงปี พ.ศ.2526 และได้เสียชีวิตในปีเดียวกัน ทำให้นายประสาร ทิวาพัฒน์ เป็นกำนันตำบลสันทรายงามคนต่อมา และได้พัฒนาหมู่บ้านโดยทำถนนลาดยางเชื่อมแต่ละหมู่บ้าน และพัฒนาให้มีน้ำประปาและไฟฟ้า ต่อมา พ.ศ. 2542 นายจำลอง ซื่อสัตย์ ได้เป็นกำนันตำบลสันทรายงามคนต่อมา ได้พัฒนาหมู่บ้านตามลำดับ ใน พ.ศ. 2544 นายภาณุ ยอดพังเทียม ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนจนถึงปีพ.ศ. 2552 ตามด้วยนายบุญหนัก สีโม รับไม้ต่อเป็นกำนัน และใน พ.ศ. 2555 นายสว่าง เรืองบุญ ขึ้นดำรงตำแหน่งกำนันของตำบลสันทรายงามมาจึงถึงปัจจุบัน
หมู่บ้านสันทรายงามตั้งอยู่ในตำบลสันทรายงาม ซึ่งเป็นตำบลที่อยู่ห่างจากที่ว่าการอำภอเทิงไปทางทิศเหนือ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลต้า อำเภอขุนตาล และตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลเวียง อำเภอเทิง และตำบลต้า อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลงิ้ว อำเภอเทิง และ ตำบลไม้ยา อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
ตำบลสันทรายงามมีสภาพภูมิประเทศทั่วไปของตำบลสันทรายงาม เป็นพื้นที่ลาดต่ำโดยมีแหล่งน้ำล้อมรอบซึ่งทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับแม่น้ำอิง ทิศตะวันตกและทิศเหนือเป็นพื้นที่เหมาะสำหรับการทำนาและทำไร มีคลองคั๊วะ เส้นทางการคมนาคมตามถนน รพช.ชร 3039(บ้านตั้งข้าว-บ้านหนองเสา) และถนน รพช.ชร 11039 (บ้านหนองเสา-บ้านตั้งข้าว) เป็นสานหลัก แหล่องน้ำสำคัญได้แก่ หนองแช่ฟาก หนองชุมแสง หนองบัว แม่น้ำร่องคั๊วะ แม่น้ำอิง ห้วยเคียนและคลองส่งน้ำชลประทานที่ใช้ในการเกษตร
บริเวณบ้านสันทรายงามแต่เดิมอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าสัก ป่าไผ่ ป่าบง มีสัตว์ป่านานาชนิด เช่นช้างป่า หมูป่า หมี ไก่ป่า นกนานาชนิด ฯลฯ เมื่อชาวบ้านได้เข้ามาจับจองบริเวณดังกล่าวได้แผ้วถาง บุกที่ดินเพื่อทำไร่ ทำนา ทำให้สัตว์ป่าหมดไป ประชาชนได้อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากขึ้น เพราะที่ดินดังกล่าวมีดินที่อุดมสมบูรณ์ มีปลาชุกชุมมาก ที่ดินราคาถูก โดยได้ซื้อขายที่ดินเป็นป่าประมาณไร่ละ 50 – 100 บาทเท่านั้น
ปัจจุบัน ตำบลสันทรายงาม มีการแบ่งการปกครองออกเป็น 7 หมู่บ้าน หมู่ที่ 1 หมู่บ้านสันทรายมูลหมู่ที่ 2 หมู่บ้านสันทรายงาม หมู่ที่ 3 บ้านชวา หมู่ที่ 4 บ้านหนองสามัคคี หมู่ที่ 5 บ้านหนองบัว หมู่ที่ 6 บ้านสันทรายทอง และหมู่ที่ 7 บ้านใหม่สันทราย
ในตำบลสันทรายงามจะมีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน ซึ่งจะมีการปกครองแบ่งไปตาม หมู่บ้านทั้ง 7 ที่อยู่ในการดูแลของตำบลสันทรายงาม
แม้ว่าหมู่บ้านสันทรายงามจะอพยพมาอยู่ที่ในพื้นที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย มามากกว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม แต่คนในชุมชนยังคงอัตลักษณ์ความเป็นอีสานอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะภาษา อาหาร และการดำรงประเพณี จากการสัมภาษณ์สมาชิกบางส่วนของชุมชน พวกเขายังคงนิยามและแสดงอัตลักษณ์ของตนเองว่าเป็น “ลาว” หรือ “อีสาน” อยู่ แต่บางคนก็เรียกตนเองว่าเป็น “อีสานในล้านนา” (สร้อยสุลิน อินตะจักร, 2567) ดังที่ปรากฏในคำสัมภาษณ์ด้านล่าง ส่วนล้านนาหมายถึงอาณาจักรล้านนาหรือไทยถิ่นเหนือ ล้านนายังเป็นราชอาณาจักรของชาวไทยวนในอดีต ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเป็นภูมิภาคที่อยู่ด้านบนสุดของ อาณาจักรล้านนาเป็นราชอาณาจักรของชาวไทยในอดีต ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ตลอดจนสิบสองปันนา เช่น เมืองเชียงรุ่ง (จิ่งหง) มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ภาคตะวันออกของประเทศพม่า เช่น ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน มีเมืองเชียงตุงเป็นเมืองเอก ฝั่งตะวันตกแม่น้ำสาละวิน มีเมืองนายเป็นเมืองเอก และครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในปัจจุบัน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน โดยมีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง (ประทีป ช่วยเกิด, 2565)
ยายนาง อายุ 85 ปี ได้ย้ายจากจังหวัดอุบลราชธานีเข้าอยู่ในหมู่บ้านสันทรายงามประมาน 40 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการอพยพหาที่อยู่และที่ทำกินใหม่ พร้อมทั้งคนอีสานจังหวัดอื่นๆ ด้วย (สัมภาษณ์, 26 พฤษภาคม 2567)
จากที่แม่เฒ่ามาอยู่จะเป็นคนลาวหรืออีสานจ้า เขาก็มาการย้ายตามๆ กันมา ย้ายจากอุบลราชธานี ขอนแก่น มหาสารคาม มาอยู่ในหมู่บ้านสันทายงามตั้งแต่โดน (นานมาแล้วมา)
ยายทอง อายุ 70 ปี เล่าว่าสมัยก่อนปู่ย่าตายายหรือบรรพบุรุษของเธอย้ายจากอีสานและขึ้นมาอยู่ยังภาคเหนือ ก็เป็นการหาที่อยู่ใหม่ที่ทำกินใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ จากนั้นก็มีการย้ายถิ่นฐานมาเรื่อยๆ จนมาเจอหมู่บ้านสันทรายงาม ในอดีตในหมู่บ้านยังไม่ได้ชื่อหมู่บ้านสันทรายงามเช่นทุกวันนี้ ตอนที่เธอยังเด็กคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นคนอีสานที่มาจากหลากหลายอำเภอซึ่งย้ายมาอยู่รวมกัน เพราะในอดีตบริเวณชุมชนแห่งนี้ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งหาอาหารจำนวนมาก คนส่วนใหญ่พูดภาษาอีสาน อาหารก็เป็นอาหารภาคอีสานเลย (สัมภาษณ์, 26 พฤษภาคม 2567)
มีการเรียกตัวเองลาว ไม่ก็อีสาน ในอดีตที่คนเหนือเรียก ส่วนยายก็ลาวก็ได้ อีสานก็ได้ แต่ปัจจุบันเขาก็เรียกอีสานกันหมดหมู่บ้าน
ส่วนคนรุ่นที่อายุน้อยลงมาอีกรุ่นหนึ่ง เช่น สุระศักดิ์ ศีรษะธร พ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้านสันทรายงาม อายุ 51 ปี จบมัธยมศึกษาตอนปลาย ปัจจุบันรับหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้านและมีอาชีพเป็นเกษตกรทำไร่ทำนา เป็นคนอีสานที่กำเนิดและเติบโตมาในหมู่บ้านสันทรายงาม เขากล่าวว่าส่วนใหญ่คนในหมู่บ้านเป็นคนอีสานหรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นคนลาว เพราะว่าคนลาวกับคนอีสานก็มีความใกล้เคียงกัน เริ่มต้นอพยพจากลาวมาอยู่ยังภาคอีสาน ก่อนที่จะย้ายมายังภาคเหนือ เขาบอกว่าจะเรียกคนอีสานที่ว่า “คนอีสานหรือคนลาว” (สัมภาษณ์, 24 พฤษภาคม 2567)
ส่วนผู้ช่วยพ่อหลวงแรม อายุ 43 ปี ดำรงตำแหน่งนี้มา 9 ปีแล้ว จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทำอาชีพหลักเกษตรกร กล่าวเช่นเดียวกันว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่เรียกตนเองว่าเป็นคนอีสานในภาคเหนือ เป็นชุมชนอีสานในภาคเหนือที่อพยพย้ายถิ่นฐานมา “ยังคงเป็นคนอีสานเพียงแค่มีการ ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในภาคเหนือ ยังคงความเป็นอีสานทั้งสิ้น” (สัมภาษณ์, 24 พฤษภาคม 2567)
ชุมชนบ้านสันทรายงามีอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรมพืชไร่เชิงเดี่ยว การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ การทำนา นอกจากนี้ยังรับจ้างเป็นแรงงานเกษตรกรรม ภายในและภายนอกชุมชนนอกจากนี้ สมาชิกบ้านสันทรายงามยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มจักสาน ในระดับตำบลของสันทรายงามด้วย กลุ่มนี้เป็นการผลักดันให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน และผู้ที่ต้องการหารายได้เสริมนอกเหนือจากรายได้ในภาคเกษตร
รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน
ส่วนใหญ่ในชุมชนจะมี อาชีพทำเกษตรกรรม สมาชิกส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปกับการทำไร่ ทำนา การดูแลไร่นาและเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ ที่จะต้องมีการดูแล การใส่ปุ๋ย การกำจัดศัตรูพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สวยงาม เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็นำไปขายให้กับผู้รับซื้อ นอกจากส่วนใหญ่ในชุมชนจะมีอาชีพการทำเกษตรกรรมแล้ว ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่นอกจากการเกษตรกรรมก็ยังทำอาชีพรับจ้างทั่วไป ทั้งในชุมชนและภายนอกชุมชนในบางช่วงเวลา
พฤติกรรมการกินอยู่ การทำงาน การแต่งกาย
อาหารส่วนใหญ่ที่คนในชุมชน รับประทานกันจะเป็นอาหารอีสาน ที่ใช้วัตถุดิบหาได้จากในชุมชนและ ซื้อจากตลาดหรือร้านค้าในชุมชน เพื่อนำวัตถุดิบมาประกอบอาหาร เช่น แกง ส้ม ต้ม อ่อม ซุ๊ปหน่อไม้ ส้มตำ เป็นต้น แต่ในบางครั้งคนอีสานในชุมชนก็มีการรับประทานอาหารเหนือสลับกับอาหารอีสาน อยู่บ้าง แต่อาหารเหนือจะซื้อจากตลาดใหญ่ในอำเภอที่มีการขายอาหารเหนือและอีสานจึงมารับประทานในบางมื้อมากกว่าที่จะทำอาหารเหนือกินเองเท่ากับอาหารอีสานที่ทำกินกันเองในชีวิตประจำวันมากกว่า (สร้อยสุลิน อินตะจักร, 2567)
ในเรื่องของการแต่งกาย ถ้าหากไม่มีประเพณีหรือกิจกรรม ของชาวอีสานในชุมชนส่วนใหญ่ก็จะแต่งกายปกติทั่วไป ทั้งเด็กเยาวชนและผู้ใหญ่ แต่เมื่อมีประเพณีหรือกิจกรรมของชาวอีสานที่จัดขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะแต่งตัว ที่บ่งบอกถึงความเป็นอีสานในประเพณีหรือกิจกรรมนั้นๆ เช่น ผู้ชายใส่เสื้อยืดกางเกงขายาว ผ้าขาวม้าผูกเอว เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงความเป็นอีสาน หรือบางคนก็ใส่ เสือลายผ้าทอของชาวอีสาน ส่วนผู้หญิง ก็จะใส่ซิ่นผ้าไหมของชาวอีสาน เด็กเล็กหากได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีหรือกิจกรรม ก็จะมีการแต่งตัวคล้ายๆกับผู้ใหญ่ทั้งชายและหญิง ในส่วนของวัยรุ่น ก็จะมีการแต่งตัว หากได้เข้าร่วมประเพณีแต่ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าหากไม่ได้เข้าร่วมประเพณี ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ และวัยรุ่น ก็จะแต่งตัวตามปกติ ตามความสะดวกของแต่ละคน (สร้อยสุลิน อินตะจักร, 2567)
ปฏิทินกิจกรรมชุมชน
ช่วงเดือนพฤษภาคม ในทุกๆปี หมู่บ้านทรายงามจะมีการจัดประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นประเพณีของชาวอีสานที่ให้ความสำคัญลำดับต้นๆ ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเป็นการปฏิบัติยึดถือกันมาอย่างยาวนานในชุมชน วันที่จัดประเพณี จะมีการเปลี่ยนแปลงในทุกปีแล้วแต่ การนับวันดีวันเสีย เพื่อที่จะเลือกวันที่เหมาะสมในการจัดประเพณีบุญบั้งไฟจะมีการจัดประเพณีอยู่ 2 วัน วันแรกจะเป็นการแห่ขบวนบุญบั้งไฟ มีการร้องรำทำเพลง การฟ้อน การประกวดต่างๆ จะมีการจัดทำในวันแรก ส่วนวันที่สอง ของการจัดประเพณีบุญบั้งไฟจะเน้นเกี่ยวกับการแข่ง จุดบุญบั้งไฟ เพื่อหาผู้ชนะ การนอกจากประเพณีบุญบั้งไฟ ยังมีประเพณีบุญบุญพระเวสหรือผะเหวด ที่ชาวบ้านให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าประเพณีบุญบั้งไฟ และรวมถึงประเพณีอื่นๆ ที่ยังมีการปฏิบัติประเพณีตามปฏิทินฮีต 12 คอง 14 ของชาวอีสานที่ยังคงปฏิบัติอยู่
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแรมได้ให้ความเห็นว่าประเพณีบุญบั้งไฟ บุญพระเวส บุญข้าวจี่ รวมถืงการเอิ้นขวัญนั้นเป็นประเพณีสำคัญที่คนสันทรายงามยังปฏิบัติอยู่ แต่ที่คนในชุมชนให้ความสำคัญหลักๆ เลยคือบุญบั้งไฟ
เรารู้เวลามีการประกาศหรือการประชาสัมพันธ์ในเพจหรือในกลุ่มอำเภอเทิงว่า ในชุมชนสันทรายงามจะมีการจัดประเพณีบุญบั้งไฟประจำปีขึ้น คนเหนือเขาก็จะรู้เลยว่าในหมู่บ้านที่เราอยู่นั้นเป็นหมู่อีสานแน่ๆ เพราะประเพณีบุญบั้งไฟหลักๆ เลยจะเป็นประเพณีคนอีสานที่มีการปฏิบัติตามต่อกันมา (สัมภาษณ์, 24 พฤษภาคม 2567)
นายสุระศักดิ์ ศรีษะธร อายุ 51 ปี พ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้านบ้านสันทรายงามคนปัจจุบัน จบมัธยมศึกษาตอนปลาย ปัจจุบันมีอาชีพเป็นเกษตกรทำไร่ทำนา เป็นคนอีสานที่กำเนิดและเติบโตมาในหมู่บ้านสันทรายงาม และเป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของชุมชนอีสานในบ้านสันทรายงาม ตำบลสันทรายงาม อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
หมู่บ้านสันทรายงาม มีการรวมตัวของกลุ่มจักรสาน ตำบลสันทรายงามที่มีการส่งเสริมการสร้างสิ้นค้า OTOP ในตำบล ผ่านความร่วมมือของกลุ่มแม่บ้านในชุมชนผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน และการส่งเสริมการพัฒนาของตำบล ศูนย์จำหน่ายสินค้ากลุ่มจักสานตำบลสันทรายงาม ตั้งอยู่ที่ 208 บ้านชวา หมู่ 3 ตำบลสันทรายงาม อำเภออำเทิง จังหวัดเชียงราย ที่นำเอาภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวอีสาน นำมาเป็นทุนส่งเสริมการสร้าง ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่สร้างมูลค่าให้กับชุมชน เพื่อให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมชุมชน ได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตการดำรงชีวิตหารทำมาหากิน การผลิต และภูมิปัญญาในการจักรสาน เครื่องมือทำมาหากิน
นอกจากสินค้า OTOP ทุนชุมชนของสันทรายงาม ยังมีแหล่งท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาในชุมชนให้คนภายนอกได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ วิถีชีวิต การดำรงชีวิตของชาวอีสานในภาคเหนือ
คนในชุมชนบ้านสันทรายงามพูดภาษาอีสานเป็นหลักในชุมชน โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่พูดอีสานในชีวิตประจำวัน หากเป็นวัยทำงานและวัยรุ่นลงก็จะใช้ภาษาเหนือหรือคำเมืองได้อย่างคล่องแคล่วด้วย เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเติบโตและอาศัยอยู่มาอย่างยาวนาน ดังเช่น จินาดาภา อายุ 52 ปี มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร กล่าวว่าการพูดส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจะสื่อสารเป็นภาษาอีสานกันหมดทุกคน แต่ก็ยังมีการพูดภาษาเหนือเฉพาะเวลาอยู่กับคนเหนือ (สัมภาษณ์, 25 พฤษภาคม 2567) หรือวัยรุ่นอย่างชมพู่ วัย 22 ปี (สัมภาษณ์, 26 พฤษภาคม 2567) ที่กล่าวว่า "หลักๆ ความเป็นอีสานก็คือภาษาพูด เพราะเป็นวัยรุ่นในอีสานส่วนใหญ่พูดอีสานกับคนในครอบครัวและคนในหมู่บ้านเลย แต่ก็มีพูดเหนือกับเพื่อนคนเหนืออยู่บ้าง" (สัมภาษณ์, 26 พฤษภาคม 2567)
การเพาะปลูกพืชเชิงพาณิชย์
คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม การปลูกพืช การทำไร่ ทำนา และรวมถึงพืชเชิงพาณิชย์ ทำให้มีสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงรวมถึงความท้าทาย ต่อผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมของชาวบ้านในชุมชน จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในช่วงฤดูร้อน แม้ชุมชนสันทรายงามจะมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำธรรมชาติ และแม่น้ำลำคลอง แต่เมื่อเข้าฤดูร้อนเกิดความแห้งแล้ง ผู้ประกอบเกษตรกรรมบางส่วนจึงได้รับผลกระทบ เนื่องจากการปลูกพืช การทำไร่ ทำนา และพืชเชิงพาณิชย์ ที่จำเป็นต้องใช้น้ำจำนวนมากในการดูแล จนทำให้ผลผลิตจากการทำเกษตรกรรมไม่ถึงเป้าตามที่คาดหมาย และรายได้จากการทำเกษตรกรรมลดลงจนถึงติดลบในช่วงฤดูแล้ง ภาครัฐจึงควรมีนโยบายในการแก้ปัญหาเบื้อต้นการเตรียมความพร้อมในการรับมือการขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรกรรมช่วงฤดูร้อน ขณะที่ชาวบ้านในขณะนี้รับมือกับสภาพอากาศด้วยการขุดบ่อน้ำในพื้นที่ตัวเอง เพื่อสำรองน้ำในช่วงฤดูแล้ง
การส่งเสริมคุณค่าของผู้สูงอายุในชุมชน
ชุมชนสันทรายงามมีผู้สูงอายุอาศัยจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นชุมชนผู้สูงวัย จึงมีการร่วมมือขององค์กรในภาครัฐเพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้สูงวัยในชุมชน เนื่องจากวัยกลางคนส่วนใหญ่จะใช้เวลากับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้คนในวัยทำงานต้องออกไปทำเกษตรกรรมมากกว่าอยู่บ้านดูแลผู้สูงอายุ เพื่อหารายได้มาเลี้ยงชีพในครอบครัว ผู้สูงอายุจำนวนมากในชุมชนสันทรายงามจึงมักจะอยู่บ้านเพียงลำพังเมื่อลูกหลานออกไปทำงานในช่วงกลางวัน ตำบลเทศบาลชุมชนสันทรายงามจึงร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและผู้ใหญ่บ้านในชุมชน ร่วมกันจัดหากิจกรรมให้กับผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ร่วมกัน พบปะผู้คนเพื่อลดความเครียดและส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจของกลุ่มผู้สูงอายุ
ชุมชนสันทรายงามพยายามนำภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของความเป็นอีสาน ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่บ้านและความร่วมมือของเทศบาลตำบลสันทรายงามมาเป็นจุดขาย ได้แก่งานจักสานซึ่งเป็นงานฝีมือของชาวบ้านสันทรายงามให้เป็นสินค้า OTOP เพื่อให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมชุมชนได้เลือกซื้อและสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุที่ต้องการทำกิจกรรม รวมถึงผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือผู้ที่ว่างงาน
ตำบลสันทรายงามเป็นหมู่บ้านอีสานที่อยู่ในสังคมภาคเหนือ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งธรรมชาติ นอกจาก แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาในชุมชนสันทรายงามแล้ว ยังมีโบราณสถาน และวัด ในการกราบไหว้สักการะบูชา ได้แก่ วัดปทุมวราราม วัดโพธิ์ทอง วัดแฮด วัดสวนดอกสันทรายมูล ที่มีความน่าสนใจ ในการกราบไหว้สักการะบูชา ซึ่งวัดต่างๆที่ได้กล่าวไป มีความงดงามและเป็นเอกลักษณ์ ควรได้รับการสนับสนุนการพัฒนา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต
สร้อยสุลิน อินตะจักร. (2567). ลูกข้าวเหนียวในแดนข้าวนึ่ง: อีสานในล้านนากับการธำรงอัตลักษณ์และการข้ามพรมแดนชาติพันธุ์ของชุมชนสันทรายงาม อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย. (ปริญญานิพนธ์บัณฑิต). พิษณุโลก: มหาวิทยาลัยนเรศวร.
เทศบาลตำบลสันทรายงาม. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2567. เข้าถึงจาก https://www.sunsaingam.go.th/?index=true
บ้านสันทรายทอง ตำบลสันทรายงาม อำเภอเทิงจังหวัดเชียงราย. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2567. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/profile.php?id=100064833575668&mibextid=LQQJ4d
ประทีป ช่วยเกิด. (2565, 26 มีนาคม). ล้านนา – ล้านช้าง มรดกทางวัฒนธรรมคนลุ่มน้ำโขง. สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น. เข้าถึงจาก https://rsdi.kku.ac.th/?p=2442
ผู้ช่วยพ่อหลวงแรม, สัมภาษณ์, 24 พฤษภาคม 2567.
ยายนาง, สัมภาษณ์, 26 พฤษภาคม 2567.
ยายทอง, สัมภาษณ์, 26 พฤษภาคม 2567.
จิดาภา, สัมภาษณ์, 25 พฤษภาคม 2567.
ชมพู่, สัมภาษณ์, 26 พฤษภาคม 2567.
สุระศักดิ์ ศีรษะธร (พ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้านสันทรายงาม). สัมภาษณ์, 24 พฤษภาคม 2567