
ชุมชนไทดำ ประเพณีวัฒนธรรมไทดำ ภาษาเขียนไทดำ พิธีกรรมดั้งเดิมไทดำ
คนไทดำที่อพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี ได้มาจับจองที่ดินบริเวณหนองน้ำเรื่องในปัจจุบัน เพราะเห็นว่ามีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ในฤดูน้ำขึ้น จะมีน้ำไหลผ่านส่วนหนึ่งจากอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ไหลมาทางตำบลโตนด อำเภอคีรีมาส และไหลมาถึงหนองน้ำเรื่อง อีกส่วนหนึ่งคือน้ำจากสุโขทัยไหลผ่านเขาลูกรัง ทำให้น้ำที่มาจากสุโขทัยเป็นสีแดง แต่น้ำที่มาจากกำแพงเพชรจะเป็นน้ำสีใส น้ำจากสองฝั่งนี้ไหลมารวมกันที่หนองน้ำเรื่อง บริเวณสะพานหน้าวัดน้ำเรื่อง น้ำสีใสกับน้ำสีแดงรวมกันกลายเป็นน้ำสีเหลือง ชาวบ้านจึงเรียกว่า "หนองน้ำเหลือง" ต่อมาเพี้ยนเป็น "หนองน้ำเรื่อง" ตามสำเนียงคนไทดำ เมื่อถึงเวลาตั้งชื่อหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงใช้ชื่อหนองน้ำที่ตนมีความผูกพันมากที่สุดจนเป็น "บ้านน้ำเรื่อง" ต่อมาประชากรบ้านน้ำเรื่องได้ขยายครัวเรือนจำนวนมากขึ้น ทำให้ในปี 2544 ทางการได้ขยายเขตแบ่งแยกบ้านน้ำเรื่องออกเป็น 2 หมู่บ้าน โดยใช้ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1293 (สุโขทัย-บางระกำ) เป็นเส้นแบ่งเขต ถ้าหากมุ่งหน้าไปทาง อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย บ้านน้ำเรื่อง หมู่ 5 จะตั้งอยู่ทางขวามือของถนน และบ้านน้ำเรื่องเหนือ หมู่ 12 ตั้งอยู่ทางซ้ายมือของถนน
ชุมชนไทดำ ประเพณีวัฒนธรรมไทดำ ภาษาเขียนไทดำ พิธีกรรมดั้งเดิมไทดำ
จำรอง ทองเชื้อ ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านน้ำเรื่องเหนือ ผู้ซึ่งเป็นทายาทของผู้บุกเบิกตั้งบ้านน้ำเรื่องกลุ่มแรก เล่าถึงประวัติความเป็นมาของการตั้งหมู่บ้านน้ำเรื่องที่ริเริ่มโดยปู่ของเขา ซึ่งเป็นลูกของคนไทดำที่ถูกเกณฑ์จากประเทศลาวเข้ามาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อสมัยกรุงธนบุรี พ.ศ. 2323 ครอบครัวของปู่อาศัยอยู่ที่บ้านท่าแร้ง ตำบลท่าแร้ง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย) จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงประกาศเลิกทาส ครอบครัวของปู่จึงได้ขยับขยายครอบครัวมาอยู่ที่บ้านดอนมะนาวอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี อาศัยอยู่ไม่นานนักเนื่องจากประสบปัญหาน้ำแล้งหนักขึ้นเรื่อย ๆ ปู่และพี่น้องของปู่จึงพาครอบครัวอพยพขึ้นเหนือตามคำบอกเล่าของผู้ที่อพยพมาก่อน ผู้ใหญ่จำลองอธิบายถึงการเดินทางในสมัยนั้นตามคำบอกเล่าของพ่อ พ่อของผู้ใหญ่จำรองเล่าว่าเดินทางจากสุพรรณบุรีมาถึงนครสวรรค์ด้วยรถโดยสาร แล้วนั่งเรือจากปากน้ำโพที่นครสวรรค์ขึ้นมาที่อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร พักค้างคืนบ้านญาติที่บางมูลนากพอหายเหนื่อย จากนั้นก็ได้มีการซื้อวัวซื้อควาย ทำล้อทำเกวียน ขนสัมภาระเทียมเกวียนมาเรื่อย ๆ บางครอบครัวหยุดเดินทางเมื่อเจอแหล่งทำมาหากินที่เหมาะสม เช่นที่อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ และเดินทางต่อจนถึง อำเภอไผ่รอบ จังหวัดพิจิตร ครอบครัวจำนวนมากหยุดอยู่ที่นั่น จนทำให้เกิดความแออัด ปู่กับพ่อจึงพาครอบครัวเดินทางต่อจนมาถึงบริเวณที่เป็นบ้านน้ำเรื่องในปัจจุบัน
"ปู่ของผมเป็นรุ่นลูกของรุ่นที่อพยพมาเมื่อ พ.ศ. 2323 ที่เริ่มมีการเกณฑ์คนไทดำมาเมืองไทย เขาเล่าให้ฟังว่าช่วงนั้นยังต้องส่งเสบียงให้ทหารอยู่ ทำไร่นา ปลูกผักสวนครัว ต้องส่ง ฟัก แฟง น้ำเต้าไปให้ทหาร หาเสบียงส่งให้กลุ่มทหาร รุ่นปู่ของผมอพยพมาจากบ้านท่าแร้ง ตำบลท่าแร้ง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนชื่อเป็นหนองปรงแล้ว หลังจากรัชกาลที่ 5 ให้เลิกทาสทั้งหมด ก็ไม่มีใครกักใครไว้ได้ ใครใคร่ค้า ค้า ใครอยากขาย ก็ขาย ก็เริ่มอยากได้ที่ไร่ที่นาที่อยู่เลี้ยงสัตว์ ก็ต้องออกเดินทางมาจับจองที่ดินกัน ปู่ของผมก็ออกจากเขาย้อยมาอยู่ที่เขตอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ช่วงที่อยู่สุพรรณ รู้สึกว่าน้ำท่าหากินยาก พ่อผมเกิดและโตที่สุพรรณ ตอนพ่อเป็นหนุ่ม เขาเล่าว่าต้องรอน้ำฝน รับจากแอ่ง เพราะสมัยก่อนการเจาะบ่อบาดาลมันไม่มีใช่ไหมละ เมื่อก่อนเขาจะใช้ตะแคงที่เป็นไม้ไผ่สานเป็นตาขุดลงไป ก็ขุดลงไปในบ่อทราย ขุดลึกเท่าไรก็ไม่เจอน้ำ ครอบครัวจึงพากันอพยพมาอยู่ที่นี่ ปู่ยังมาอยู่กับเราที่นี่อีกประมาณ 20 กว่าปี แกก็อายุยืนนะ" (จำรอง ทองเชื้อ, สัมภาษณ์, 21 กรกฎาคม 2567)
เหตุผลที่ครอบครัวและเครือญาติของผู้ใหญ่จำรองเลือกปักหลักอยู่ที่บ้านน้ำเรื่อง เพราะบ้านน้ำเรื่องเป็นพื้นที่ลุ่ม เป็นแอ่งกระทะ มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำนาปลูกข้าวและสามารถหาปูปลาเป็นอาหารได้ง่าย อีกทั้งเป็นป่ารกร้าง ยังไม่มีใครจับจองเป็นเจ้าของ ปู่และพี่น้องของปู่ถือเป็นคนกลุ่มแรกที่เข้ามาหักร้างถางพงพื้นที่แห่งนี้ ทำให้นามสกุลทองเชื้อกลายเป็นตระกูลใหญ่ของที่นี่ รองลงมาคือนามสกุลขังทัด สิงห์เรือง สิงห์ลอ และสิงห์วี นามสกุลดั้งเดิมของคนไทดำซึ่งอพยพมาจากเพชรบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรีเช่นเดียวกัน
"อพยพมาก็มาอยู่กันตรงนี้แหละ เค้าคิดว่าที่นี่เหมาะแล้ว เพราะได้มาเจอสระใหญ่ มีน้ำมีท่าอุดมสมบูรณ์ ตรงนี้มันเป็นแอ่งกระทะ เป็นที่ราบลุ่ม สมัยก่อนมันไม่มีถนนตัดผ่านแบบนี้เนาะ ถ้าเป็นเวลานี้สมัยก่อนเราต้องใช้เรือแล้ว พอถึงหน้าน้ำก็หาปลาได้ ...ตอนมาถึงที่นี่ไม่มีคนอยู่เลยครับ มีแต่ป่ารกร้าง ช่วยกันถากถางขยายออกไปปีละ 3-4-5 ไร่ แม่บอกว่าฟันแต่ต้นไผ่ ไม่ได้ทะเลาะกับใครเลย ก็ถางที่นากันไปเรื่อย ๆ ปู่จับจองได้เกือบ 500 ไร่มั้ง แล้วก็มาแบ่งปันให้ลูกๆ ต่อ แต่ก่อนเค้ามีลูกเยอะ อย่างน้อยก็ 7-10 คน เพราะต้องช่วยกันเกี่ยวข้าว เพราะทำนาเยอะ การอยู่การกินไม่มีปัญหา ไม่มีใครมาทำอะไร ญาติพี่น้องจากสุพรรณ นครปฐม ก็พากันอพยพมาอยู่ด้วยกันมากขึ้น จนได้ขยายเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น" (จำรอง ทองเชื้อ, สัมภาษณ์, 21 กรกฎาคม 2567)
บ้านน้ำเรื่องเหนือตั้งอยู่ในตำบลท่าฉนวน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอกงไกรลาศ 18.8 กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอเมืองจังหวัดสุโขทัย 28 กิโลเมตร หากมุ่งหน้าไปทาง อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย บ้านน้ำเรื่องเหนือ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของถนนทางหลวงสาย 1293 ถนนสายนี้ถูกขนาบด้วยบ้านเรือน ร้านค้า ร้านอาหาร และโรงงานผลิตสินค้าที่มีชื่อเสียงของบ้านน้ำเรื่อง ได้แก่ โรงงานผลิตน้ำปลา/ปลาร้า โรงงานผลิตผ้าใบ/ผ้าท่อ เป็นต้น นอกจากนี้ริมถนนสาย 1293 ยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญและหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ โรงเรียนบ้านน้ำเรื่อง วัดน้ำเรื่อง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ สถานีตำรวจภูธรประจำตำบลท่าฉนวน เป็นต้น พื้นที่ถัดจากถนนและบ้านเรือนจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าว การทำนายังคงเป็นอาชีพหลักของคนบ้านน้ำเรื่อง
บ้านน้ำเรื่องมีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ หรือเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงฤดูฝน น้ำจากแม่น้ำยมที่ไหลจากจังหวัดแพร่เข้าสู่จังหวัดสุโขทัย ไหลผ่านบ้านน้ำเรื่อง ก่อนจะไหลเข้าสู่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และอีกฝั่งหนึ่งคือน้ำที่เอ่อจากแม่น้ำปิงซึ่งไหลหลากผ่านอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เข้าสู่ตำบลโตนด อำเภอคีรีมาศ กระทั่งไหลหลากมาถึงบ้านน้ำเรื่องซึ่งเป็นแหล่งรับน้ำจากทุกทิศทาง ชาวบ้านน้ำเรื่องมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับสายน้ำ เกือบทุกบ้านจะมีเรือไว้ใช้ยามน้ำหลากน้ำท่วมหรือน้ำหลากไม่ถือเป็นภัยพิบัติของหมู่บ้าน เพราะสายน้ำนำมาซึ่งอาหารและอาชีพ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าคนบ้านน้ำเรื่องมีอาชีพหลักคือการทำนา และปลาจำนวนมหาศาลที่มาพร้อมกับน้ำหลากถูกนำมาแปรรูปเป็นปลาร้า ปลาจ่อม และน้ำปลา สินค้ายอดนิยมของบ้านน้ำเรื่อง ที่ดังไกลไปทั่วประเทศ ตามที่แม่บุญเหลือ ขังทัด ได้อธิบายไว้
“ชุมชนนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำ ปีหนึ่งจะมีน้ำจะขังทุ่งตั้งแต่เดือนหก เดือนเจ็ด จนถึงเดือนสิบสอง เราอยู่กับน้ำได้ดี หาปูหาปลากินได้เยอะ แล้วเราก็เอามาทำเป็นปลาร้าปลาจ่อมขาย มีโรงปลาร้าโรงน้ำปลาเต็มไปหมด ส่งขายทั่วประเทศ เคยได้ยินมั้ย โรงงานน้ำปลาของเจ๊เด็ดดวงก็ดังนะ” (แม่บุญเหลือ ขังทัด, สัมภาษณ์, 20 กรกฎาคม 2567)
สายน้ำที่ไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ที่ทำให้พื้นที่นี้มีระบบนิเวศที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวนั้น ปัจจุบัน ถูกขวางกั้นด้วยถนนหลายสาย ทำให้เส้นทางน้ำผิดเพี้ยน น้ำไม่ไหลเข้าท่วมในพื้นที่ที่เคยท่วม ส่งผลต่ออาชีพและอาหารของคนในชุมชน การหาปลาหาได้น้อยลง โรงงานปลาร้าและน้ำปลาได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ขณะที่การที่น้ำไม่ท่วมพื้นที่เหมือนเก่าทำให้หลายครัวเรือนปรับเปลี่ยนจากทำนาปีมาเป็นนาปรัง เนื่องจากน้ำไม่เข้าท่วมในช่วงเวลาเดิม ทำให้สามารถควบคุมการใช้น้ำได้มากขึ้น หากต้องการดำนาปลูกข้าวก็สามารถนำน้ำเข้านาโดยสูบน้ำจากคลองหรือลำห้วยได้ และถ้าหากต้องการควบคุมระดับน้ำในนาเพื่อดูแลข้าวออกรวงหรือกำลังจะเกี่ยวข้าวก็สามารถสูบน้ำออกจากนาได้ อย่างไรก็ตาม การควบคุมปัจจัยทุกอย่างโดยอาศัยเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ในการเพาะปลูกพืช ทำให้ต้นทุนการทำนาสูงมากขึ้น จนหลายครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนผู้สูงอายุ เลือกหยุดทำนาแล้วหันไปซื้อข้าวกิน และปล่อยให้เช่าที่นาที่มีอยู่หรือเหลืออยู่
ข้อมูลขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าฉนวนระบุว่าหมู่บ้านน้ำเรื่องเหนือประกอบด้วยประชากร 619 คน หรือ แบ่งเป็น 162 ครัวเรือน ทั้งหมดนี้แต่เดิมเป็นครัวเรือนของชาวไทดำซึ่งแบ่งออกเป็น 5 นามสกุลเท่านั้น ได้แก่ ทองเชื้อ ขังทัด สิงห์เรือง สิงห์ลอ และสิงห์วี ต่อมาในยุคที่โลกทำให้คนต่างชาติต่างพันธุ์ได้มาเจอกันและใกล้ชิดกันมากขึ้นผ่านการเดินทาง การทำงานนอกชุมชน หรือแม้แต่การสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ ทำให้ลูกชายหรือลูกสาวในตระกูลเหล่านี้ได้แต่งงานกับคนที่ไม่ใช่ชาวไทดำมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้มากขึ้น จากที่แต่ก่อนถือเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งรุนแรงภายในครอบครัวเลยทีเดียว
จากปรากฏการณ์การแต่งงานข้ามกลุ่ม ทำให้ในปัจจุบันบ้านน้ำเรื่องประกอบด้วยนามสกุลอื่น ๆ ผสมผสานรวมอยู่กับกลุ่มคนไทดำมากขึ้น ทำให้ระบบเครือญาติของคนไทดำขยายกระจายไปยังคนกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ประเพณีวัฒนธรรม รวมถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ของคนไทดำไม่ใช่สิ่งที่ลี้ลับเหมือนแต่ก่อน ขณะที่รุ่นลูกรุ่นหลาน ไปจนถึงรุ่นเหลนโหลน ได้พาตนเองก้าวข้ามไปสู่วัฒนธรรมอื่น ๆ ได้อย่างไม่ต้องรู้สึกตะขิดตะขวงใจมากขึ้น แม้ว่าผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนจะบ่นถึงการแปรเปลี่ยนของสิ่งดั้งเดิม แต่ทุกคนต่างเข้าใจและยอมรับได้ว่าในโลกแห่งการเดินทางและการดิ้นรนของชีวิตนำพามาซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง การปรับตัวและการสร้างความมั่นคงในการดำรงชีพให้ได้ท่ามกลางโลกที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นจึงเป็นทักษะที่จำเป็นและสำคัญมากกว่า
ดังกรณีครอบครัวของพ่อเสริม ขังทัด อายุ 66 ปี เป็นหมอพิธีกรรมไทดำผู้เคร่งครัดในระเบียบแบบแผนของประเพณี กล่าวอย่างภาคภูมิใจถึงลูกชายทั้งสองที่เรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยของรัฐบาลในกรุงเทพมหานคร และได้ทำงานมีเงินเดือน สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างดี ปัจจุบันลูกคนโตได้เลื่อนขั้นตำแหน่งงานและเงินเดือน ส่วนลูกคนเล็กสามารถขยับขยายกิจการค้าขายได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อผู้เก็บข้อมูลสอบถามถึงการรับเลี้ยงผีบรรพบุรุษซึ่งเป็นหน้าที่ของลูกชาย พ่อเสริมกล่าวว่าตนไม่ได้บังคับลูกชายทั้งสองคน ตอนนี้ตนเพียงต้องการให้ลูกชายทั้งสองทำงานเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้เท่านั้น สำหรับเรื่องการสืบทอดเลี้ยงผีบรรพบุรุษถือเป็นเรื่องอนาคต ปัจจุบันพ่อเสริมยังคงทำหน้าที่ดูแลผีบรรพบุรุษที่สถิตอยู่ในห้องกะล้อห่องข้างบนบ้านอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่หากวันใดที่พ่อเสริมเสียชีวิตลง พ่อเสริมเชื่อมั่นว่าลูกชายทั้งสองจะต้องรับสืบทอดการเลี้ยงผีบรรพบุรุษอย่างแน่นอน
ความมั่นใจที่พ่อเสริมมีต่อลูกชายทั้งสองนั้นเกิดขึ้นได้เพราะการปลูกฝังความคิดความเชื่อทางประเพณีวัฒนธรรมให้กับลูก ๆ เช่นเดียวกับครอบครัวอื่น ๆ ที่มีการส่งต่อความคิดความเชื่อผ่านเรื่องราวลี้ลับ เรื่องเล่าเกี่ยวกับจิตวิญญาณ หรือเหตุการณ์อันน่าเหลือเชื่อ หรือความขลังของพิธีกรรมในครัวเรือน สิ่งเหล่านี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นและทำหน้าที่เกี่ยวโยงผู้คนในครอบครัวและเครือญาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บ้านน้ำเรื่องยังเต็มไปด้วยเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับความเหลือเชื่อของห้องกะล้อห่อง ห้องที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางจิตวิญญาณของชาวไทดำ คนในครอบครัวจะให้ความเคารพ ไปลามาไหว้ ขอโชคขอพร ขอขมา ขออนุญาต เป็นต้น การสื่อสารระหว่างคนกับผีมีอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย จนกลายเป็นความผูกพันแม้กับคนรุ่นใหม่ที่เดินทางไปทำงานหรืออาศัยอยู่ที่อื่น เมื่อประสบกับปัญหาหรือภาวะยากลำบาก หากได้กราบไหว้ขอพรผีบรรพบุรุษในห้องกะล้อห่อง เมื่อนั้นปัญหาก็จะทุเลา คนที่ป่วยจะมีอาการดีขึ้น ธุรกิจที่ซบเซาจะกระเตื้องขึ้น หรือแม้แต่ของที่หายก็จะหาเจอได้อย่างรวดเร็ว เรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนไทดำบ้านน้ำเรื่องยังคงปฏิบัติและสืบต่อพิธีกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบดั้งเดิมไว้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากความนิยมในการจ้างหมอทำพิธีจากบ้านน้ำเรื่องของคนไทดำในจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และกำแพงเพชร เนื่องจากการรักษาความดั้งเดิมของพิธีกรรมไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากสมัยรุ่นปู่ย่าตายาย
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม พิจารณาได้จากรูปแบบครอบครัวของคนบ้านน้ำเรื่องเหนือ จากที่เคยมีลักษณะแบบครอบครัวขยาย กล่าวคือในครอบครัวประกอบด้วยคนหลายวัย ตั้งแต่ปู่ย่า พ่อแม่ ลูก และหลาน แต่ปัจจุบันจำนวนครอบครัวขยายลดลง และครอบครัวเดี่ยวมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแยกย้ายกระจัดกระจายของคนรุ่นหนุ่มสาวหรือวัยทำงานที่ต่างเดินทางไปทำงานนอกชุมชนหรือต่างจังหวัด รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่นิยมแยกออกมาสร้างบ้านอยู่ต่างหาก เพื่อความสะดวกสบายและความเป็นส่วนตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแยกกันอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น แต่ความเป็นเครือญาติก็ยังมีความปรองดองเหนียวแน่น เมื่อมีพิธีกรรมต่าง ๆ เราจะได้เห็นการรวมตัวของเครือญาติทั้งที่อยู่ในชุมชนเดียวกันและอยู่ต่างชุมชนจะมาร่วมกันช่วยงานคนละไม้คนละมือ
สำหรับโครงสร้างหรือผังครอบครัว ผู้เรียบเรียงข้อมูลขอยกตัวอย่างผังครอบครัวของพ่อเสริม ขังทัด อายุ 66 ปี และครอบครัวของผู้ใหญ่จำลอง ทองเชื้อ วัย 62 ปี ทั้งสองท่านได้อธิบายลำดับเครือญาติในครอบครัวตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งถือเป็นรุ่นอพยพมาจากเพชรบุรีและสุพรรณบุรี เป็นครอบครัวลำดับแรก ๆ ที่มาบุกเบิกตั้งบ้านที่บ้านน้ำเรื่อง ไล่มาจนถึงรุ่นลูกและรุ่นหลาน ดังแผนภาพ
ไทดำองค์กรชุมชนในบ้านน้ำเรื่องแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) องค์กรชุมชนภายใต้การปกครองส่วนท้องที่และท้องถิ่น ได้แก่ คณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการหมู่บ้านฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงกรรมการวัด กรรมการโรงเรียน เป็นต้น และ 2) องค์กรชุมชนตามประเพณีวัฒนธรรมไทดำ สำหรับองค์กรชุมชนที่เป็นกลุ่มอาชีพของคนในชุมชน ผู้ให้ข้อมูลซึ่งเป็นคนในหมู่บ้าน (สงวนชื่อ) อธิบายว่าบ้านน้ำเรื่องเหนือเคยมีกลุ่มอาชีพจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทำปลาร้า กลุ่มทำน้ำปลา กลุ่มทำขนม กลุ่มทำน้ำพริก กลุ่มจักสาน กลุ่มทอผ้า ปัจจุบันกลุ่มเหล่านี้ได้ยุติการดำเนินการด้วยเหตุผลหลักคือ กลุ่มเหล่านี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยโครงการของหน่วยงานรัฐ แต่กลุ่มทั้งหมดไม่สามารถดำเนินการได้ตลอดรอดฝั่ง หลายกลุ่มหยุดชะงักที่ขั้นการผลิตและไปไม่ถึงขั้นขายออกสู่ตลาด ขณะที่หลายกลุ่มมีเพียงชื่อกลุ่มเท่านั้น ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เนื่องจากขาดการดูแลอย่างต่อเนื่องและไม่มีการติดตามจากหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่โดยตรง เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ ทำให้คนในชุมชนไม่นิยมตั้งกลุ่มหรือรวมกลุ่ม เพราะนอกจากจะไม่มีรายได้แล้ว ยังทำให้เสียเวลาการทำมาหากินอื่น ๆ ที่ได้เงินแน่นอนกว่า เช่น การรับจ้าง หรือหากเป็นคนที่มีกำลังทรัพย์หรือสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้จะเลือกทำกิจการส่วนตัวที่ตัวเองสามารถจัดการควบคุมได้อย่างอิสระ เช่น โรงงานทำปลาร้าแม่สุนธร/สุณธร ออมสิน หรือโรงงานน้ำปลาตราเด็ดดวงที่เคยมีสถานะเป็นกลุ่มอาชีพ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นกิจการส่วนตัวแล้ว
องค์กรชุมชนด้านประเพณีวัฒนธรรมไทดำที่โดดเด่นของชุมชนคือศูนย์ศึกษาไทดำบ้านน้ำเรื่อง มีความเป็นมาจากชาวไทดำบ้านน้ำเรื่องกลุ่มหนึ่งที่ต้องการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จึงได้จัดกิจกรรมสืบทอดประเพณีต่าง ๆ ได้แก่ การรื้อฟื้นการแต่งกายแบบดั้งเดิมของชาวไทดำ การรื้อฟื้นอาหารการกินสมัยปู่ย่าตายาย และการจัดงานประจำปีที่ได้มีการเชิญชาวไททรงดำจากพื้นที่ต่าง ๆ ในอำเภอกงไกรลาศและอำเภอใกล้เคียง มาร่วมงาน ซึ่งในตอนนั้นกลุ่มได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการจัดงานจากทางอำเภอ ภายใต้วัตถุประสงค์การสืบสานประเพณีไททรงดำ ซึ่งถือเป็นชนกลุ่มหนึ่งในจังหวัดสุโขทัย ต่อมากลุ่มได้ขยายกิจกรรมจากระดับอำเภอสู่ระดับประเทศ เพื่อร่วมกิจกรรมเครือข่ายชาวไทดำทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้กลุ่มจึงได้มีการติดต่อกับเครือข่ายไทดำที่บ้านไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม มีแกนนำคนสำคัญคือผู้ใหญ่บ้านจำรอง ทองเชื้อ ที่คอยทำหน้าที่เชื่อมประสานและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมของกลุ่ม อีกทั้งผู้ใหญ่จำรองยังได้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเขียนและอ่านตัวหนังสือไทดำ เพื่อถ่ายทอดความรู้ที่ใกล้จางหายไปนี้ให้กับคนรุ่นต่อไป ต่อมาในปี 2549 หลังจากที่กลุ่มได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายไทดำระดับประเทศแล้ว จึงได้มีการก่อตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2549 โดยใช้ชื่อว่า "ศูนย์ศึกษาไทดำบ้านน้ำเรื่อง"
ปัจจุบันศูนย์ศึกษาไทดำบ้านน้ำเรื่องมีการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปีจะมีกิจกรรมที่ต้องจัดเป็นประจำทุกปี ได้แก่ งานประเพณีไทดำ ตำบลท่าฉนวน ซึ่งจะจัดทุกเดือนมีนาคมของทุกปี และการร่วมงานประจำปีของเครือข่ายไทดำในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ และการประชุมร่วมกับเครือข่ายไทดำระดับประเทศทุก 3 เดือน เพื่อขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ทั้งด้านประเพณีวัฒนธรรม และด้านการช่วยเหลือและส่งเสริมพัฒนายกระดับชีวิตของคนไทดำที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ รวมถึงการให้ทุนการศึกษาเด็กที่ยากไร้ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มศึกษาไทดำบ้านน้ำเรื่องยังมีกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ด้านภาษาไทดำให้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนบ้านน้ำเรื่องอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ปี โดยผู้ใหญ่จำรอง ทองเชื้อ ผู้ซึ่งสามารถอ่านและเขียนภาษาไทดำได้ เป็นครูผู้สอนหลัก และมีครูในโรงเรียนเป็นครูผู้ช่วย ปัจจุบันโรงเรียนบ้านน้ำเรื่องกำลังพัฒนาวิชาภาษาไทดำนี้ให้เป็นหลักสูตรประจำท้องถิ่น
ผู้ใหญ่บ้านน้ำเรื่องเหนือได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิถีการดำรงชีพของคนบ้านน้ำเรื่องเหนือ โดยสามารถจำแนกตามการประกอบอาชีพ ได้แก่ เกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นการทำนาปลูกข้าว รวมประมาณร้อยละ 60 ของครัวเรือนทั้งหมด ต่อมาคืออาชีพค้าขายร้อยละ 20 รับจ้างทั่วไปร้อยละ 15 พนักงานบริษัทร้อยละ 10 รับราชการร้อยละ 10 และกำลังศึกษาร้อยละ 25 (สัมภาษณ์, ไพฑูลย์ ลั่นออ, 20 กรกฎาคม 2567) ในครัวเรือนหนึ่ง ๆ จะมีการประกอบอาชีพหลายอย่างร่วมกัน ผู้ใหญ่บ้านอธิบายว่าคนในชุมชนหารายได้ไม่ยากนัก เนื่องจากชุมชนประกอบด้วยกิจกรรมการผลิตหลายอย่าง ทำให้มีการจ้างงานในชุมชนสูง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานทำน้ำปลา โรงงานปลาร้าปลาจ่อม โรงงานทำผ้าท่อผ้าใบ โรงงานทำขนม รวมทั้งยังมีกลุ่มอาชีพรับเหมาก่อสร้างมากกว่า 10 ราย และการทำนาบางขั้นตอนที่ไม่สามารถใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนได้ นอกจากนี้ เนื่องจากชุมชนมีทำเลที่ตั้งห่างจากอำเภอเมืองเพียงแค่ 20 กิโลเมตร เท่านั้น ทำให้มีการเดินทางไปทำงานในเมืองจำนวนมากเช่นกัน รายได้ของคนชุมชนบ้านน้ำเรื่องจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีกิจกรรมการผลิตที่หลากหลายเช่นนี้
วิถีชีวิตของคนบ้านน้ำเรื่องเหนือถูกกำหนดโดยสภาพพื้นที่และฤดูกาลธรรมชาติเป็นหลัก แต่เมื่อมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการสร้างถนนหนทางหลายสาย ทำให้เกิดปัญหาถนนตัดล็อคหนทางของน้ำที่จะไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ช่วงหน้าฝน ส่งผลให้ปลาว่ายข้ามไปวางไข่ในแหล่งวางไข่ของมันไม่ได้ และยังทำให้น้ำไม่ท่วมขังในนาและในหนองคลองบึงต่าง ๆ เหมือนอย่างในอดีตที่น้ำจะท่วมขังตั้งแต่เดือน 6 ไปจนถึงเดือน 12 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมินิเวศ คนในชุมชนก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหลายอย่าง เช่น การจับปลาได้น้อยลง ทำให้โรงงานผลิตปลาร้าปลาจ่อมและน้ำปลาในหมู่บ้านขาดแคลนวัตถุดิบ โรงงานต้องสั่งซื้อปลาจากภายนอกชุมชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้มีปัญหาตามมาอีกหลายอย่าง เช่น ราคาปลาที่สูงขึ้น คุณภาพของปลาลดลงทั้งความสดและรสชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ชาวบ้านที่ทำนาส่วนใหญ่ได้มีการปรับรูปแบบการทำนา เนื่องจากน้ำไม่ท่วมขังในนาข้าวยาวนานเหมือนแต่ก่อน จึงเป็นโอกาสดีให้กับชาวนาที่พอจะมีทุนรอนได้ลงทุนเพิ่มรอบการทำนา จากการทำนาปีละครั้งสู่การทำนาปรังหรือมากกว่า 2 ครั้งต่อปี อย่างไรก็ตาม การทำนาปรังจัดเป็นเกษตรกรรมแบบเข้มข้น เนื่องจากมีการใช้ต้นทุนสูง ทั้งเงิน เวลา รวมถึงสุขภาพของคนในชุมชนโดยรวม ท่ามกลางการใช้สารพิษสารเคมีในนาข้าวเพื่อให้ได้ปริมาณข้าวที่คุ้มค่ากับราคาข้าวที่ยังไม่อาจรู้ล่วงหน้าและไม่มีความแน่นอน
“ตรงนี้มันลักษณะเป็นแอ่งกระทะ เป็นที่ราบลุ่ม สมัยก่อนมันไม่มีถนนตัดผ่านแบบนี้เนาะ ถ้าเป็นเวลานี้สมัยก่อนเราต้องใช้เรือแล้ว แต่ตอนนี้ถนนมันปิดกั้นหมด ตั้งแต่มี อบต. ก็มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางน้ำ ก็คือ อบต.เค้าทำถนนหนทางทุกซอกทุกซอย มันไปตัดล็อคหนทางของน้ำ ปัดไปทางโน้น ปัดไปทางนี้ มันก็เลยมาไม่ตรงที่ตรงเวลา ตอนนี้น้ำมันไม่เข้าท่วมทุ่งเหมือนแต่ก่อนที่น้ำจะท่วมทุ่งทุกที่ เพราะน้ำไม่สามารถข้ามถนนที่ยกสูงได้ ทำให้ปลาลดลง เพราะปลาวางไข่ไม่ทัน ชาวบ้านเค้าชอบแบบสมัยก่อน เพราะพอถึงหน้าปลาก็หาปลาได้ เพราะชุมชนมีรายได้จากตรงนี้ ไม่ต้องไปรับจ้างใคร ....แต่หลังจากน้ำเปลี่ยนทิศทาง ชาวนาเค้าก็มีการปรับตัว แต่ก่อนเค้าทำนาปี แต่เดี๋ยวนี้พอน้ำเป็นแบบนี้ก็เปลี่ยนไปทำนาปรัง ถือเป็นข้อดีสำหรับชาวนา เพราะสามารถทำนาได้หลายรอบมากขึ้น รอบแรกเริ่มเดือนพฤศจิกายน อายุข้าว 100 วันขึ้นไป เกี่ยวเดือนเมษายน เกี่ยวเสร็จก็ปลูกต่อในเดือนเมษาเลย เอาข้าวเบาใส่ไม่ถึงร้อยวันก็ได้เกี่ยว จะไปเกี่ยวช่วงเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นก็ปล่อยให้น้ำเข้าทุ่ง ก็เริ่มทำอีกทีตอนเดือนพฤศจิกายน" (จำรอง ทองเชื้อ, สัมภาษณ์, 21 กรกฎาคม 2567)
สำหรับวิถีด้านประเพณีวัฒนธรรม คนไทดำบ้านน้ำเรื่องได้ให้ความสำคัญทั้งประเพณีไทยพุทธและประเพณีไททรงดำ ในปฏิทินของชุมชนบ้านน้ำเรื่องจึงมีทั้งการจัดงานประเพณีทั้งที่เป็นของไทยพุทธและไทดำ โดยมีความพยายามที่จะคงไว้ซึ่งแบบแผนดั้งเดิมเหมือนสมัยปู่ย่าตายาย ประกอบกับความร่วมมือกับเครือข่ายไทดำทั่วประเทศ ทำให้คนบ้านน้ำเรื่องเป็นตัวแทนคนไทดำของจังหวัดสุโขทัยในการรักษาและสืบทอดประเพณีดั้งเดิมของชาวไทดำ ในเดือนมีนาคมของทุกปีจึงได้มีการจัดงานประเพณีไทดำ ตำบลท่าฉนวน เป็นงานใหญ่ประจำปีที่จะมีคนไทดำจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศมาร่วมงาน ในขณะเดียวกัน เมื่อชุมชนไทดำที่อื่น ๆ จัดงานประจำปีเช่นนี้ คนบ้านน้ำเรื่องก็จะส่งตัวแทนชุมชนไปร่วมงานด้วยเช่นกัน
ตารางที่ 1 ปฏิทินชุมชนบ้านน้ำเรื่องเหนือ
เดือน | กิจกรรมภาคเกษตร | ประเพณีวัฒนธรรม |
มกราคม | ใส่ปุ๋ยนาข้าว | ทำบุญวันขึ้นปีใหม่, ทำบุญกลางบ้าน |
กุมภาพันธ์ | กำจัดวัชพืช/ศัตรูพืช | - |
มีนาคม | กำจัดวัชพืช/ศัตรูพืช, ใส่ปุ๋ยนาข้าว | งานประเพณีไทดำ ต.ท่าฉนวน จัด ณ บ้านน้ำเรื่องเหนือ |
เมษายน | เกี่ยวข้าวรอบ 1 และปลูกข้าวรอบ 2 | ประเพณีสงกรานต์, รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ, ร่วมงานประเพณีเครือข่ายไททรงดำ |
พฤษภาคม | กำจัดวัชพืช/ศัตรูพืช, ใส่ปุ๋ยนาข้าว | ร่วมงานประเพณีเครือข่ายไททรงดำ |
มิถุนายน | กำจัดวัชพืช/ศัตรูพืช | พิธีกรรมเสนเฮือนของแต่ละครัวเรือนร่วมงานประเพณีเครือข่ายไททรงดำ |
กรกฎาคม | ใส่ปุ๋ยนาข้าว | ทำบุญเข้าพรรษา, พิธีกรรมเสนเฮือนของแต่ละครัวเรือนร่วมงานประเพณีเครือข่ายไททรงดำ |
สิงหาคม | เกี่ยวข้าวรอบ 2 และปลูกข้าวรอบ 3 | พิธีกรรมเสนเฮือนของแต่ละครัวเรือน |
กันยายน | กำจัดวัชพืช/ศัตรูพืช | - |
ตุลาคม | ใส่ปุ๋ยนาข้าว | ทำบุญออกพรรษา |
พฤศจิกายน | เกี่ยวข้าวรอบ 3 และปลูกข้าวรอบ 1 | ประเพณีลอยกระทง |
ธันวาคม | กำจัดวัชพืช/ศัตรูพืช, ใส่ปุ๋ยนาข้าว | พิธีป้าดตง หลังเก็บเกี่ยวข้าว จะนำข้าวใหม่มาเลี้ยงผี |
บ้านน้ำเรื่องเหนือมีผู้นำชุมชนและปราชญ์ชาวบ้านหลายท่าน แต่ปัจจุบันได้เสียชีวิตลงเนื่องจากอายุมาก ทำให้ชุมชนเหลือผู้นำซึ่งเป็นผู้นำตามธรรมชาติและปราชญ์ชาวบ้านอยู่ไม่มากนัก ในจำนวนนี้มี 2 ท่านที่ผู้เก็บข้อมูลได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุย ท่านหนึ่งเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านซึ่งมีภูมิปัญญาดั้งเดิมและมีทักษะสมัยใหม่หลายอย่าง และอีกท่านเป็นหมอเสนหรือหมอทำพิธีไทดำที่มีความชำนาญ ทั้งสองท่านนี้มีประวัติความเป็นมาและมีประสบการณ์ความสามารถดังนี้
1.ผู้ใหญ่จำรอง ทองเชื้อ อายุ 62 ปี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านน้ำเรื่องเหนือ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2565 ผู้ใหญ่จำรองเกิดที่บ้านน้ำเรื่อง (ก่อนแยกเป็นบ้านน้ำเรื่องเหนือ) พ่อและปู่ของผู้ใหญ่จำรองเป็นคนไทดำที่อพยพมาจากสุพรรณบุรี ซึ่งอพยพมาจากเพชรบุรีอีกที ทั้งนี้ คนนามสกุลทองเชื้อถือเป็นคนกลุ่มแรกที่เจอบ้านน้ำเรื่องและบุกเบิกถางพงเพื่อปักหลักสร้างบ้านสร้างเรือนและจับนาปลูกข้าว ผู้ใหญ่จำรองเล่าว่าปู่พาลูกและเมียมาพร้อมกับพี่น้องของปู่อีก 7 คน และ 7 คนนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายได้ปักหลักสร้างครอบครัวอยู่ที่น้ำเรื่องจนแตกลูกแตกหลานอีกมากมาย
ผู้ใหญ่จำรองเป็นลูกคนที่ 5 ท่ามกลางพี่น้อง 8 คน แบ่งเป็นผู้หญิง 2 คน และผู้ชาย 6 คน เขาโตมากับการทำนาช่วยพ่อแม่ ท่ามกลางสภาพภูมินิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งข้าวและปลา เมื่อจบประถม 6 จากโรงเรียนบ้านน้ำเรื่อง เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนต่อ เพราะโรงเรียนไม่มีชั้นมัธยม หากต้องการเรียนต่อ ต้องเดินทางไปเรียนในอำเภอเมือง ซึ่งตอนนั้นยังมีความยากลำบากทั้งด้านการเงินและการเดินทาง ทำให้เด็กส่วนใหญ่อยู่บ้านช่วยพ่อแม่ทำนาจนกระทั่งโตเป็นหนุ่มจึงออกจากบ้านไปทำงานในกรุงเทพฯ ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดอุทกภัยต่อเนื่องหลายปี ชาวบ้านทำนาไม่ได้ข้าว จนข้าวในยุ้งฉางเริ่มหมด คนหนุ่มสาว รวมถึงผู้ใหญ่จำรองซึ่งตอนนั้นมีอายุ 16 ปี จึงตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ ไปทำงานโรงงาน ผู้ใหญ่จำรองได้เข้าทำงานทั้งในโรงงานทำปลาทู โรงงานทอผ้า โรงงานเย็บผ้า เป็นเวลาต่อเนื่อง 8 ปี จนแม่ของผู้ใหญ่เรียกให้กลับบ้าน และอีก 1 ปีต่อมา หรือในปี 2528 ผู้ใหญ่จำรองก็ได้แต่งงานสร้างครอบครัว
หลังจากแต่งงานมีลูกคนแรก ผู้ใหญ่จำรองกับภรรยาต้องทำนาและหารายได้เพิ่มจากการฝึกสอนคนในหมู่บ้านตัดเย็บเสื้อผ้า สำหรับคนที่ตัดเย็บเสื้อผ้าได้แต่ไม่มีงาน หางานไม่ได้ ผู้ใหญ่ก็ได้ติดต่อโรงงานที่เคยไปทำงานส่งคนจากหมู่บ้านไปทำงานที่โรงงาน ทำให้คนที่ไปทำงานมีความปลอดภัย ไม่ถูกหลอก และมีรายได้ดี คนในหมู่บ้านจึงไว้วางใจให้ผู้ใหญ่จำรองจัดการเรื่องนี้ให้ อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อโรงเรียนบ้านน้ำเรื่องได้เปิดชั้น ม.1-3 และต่อมาเปิดจนถึง ม.6 ทำให้วัยรุ่นในหมู่บ้านเรียนต่อมากขึ้นและสามารถหางานทำได้ดีขึ้น ทำให้ผู้ใหญ่ยกเลิกการสอนเย็บผ้าไปโดยปริยาย จากนั้นผู้ใหญ่จึงได้เปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าและขายเสื้อผ้าที่ตัดเย็บเองตามตลาดนัดต่าง ๆ ทำอย่างนี้อยู่ประมาณ 4-5 ปี จนกระทั่งปี 2544 ได้มีการแยกหมู่บ้านน้ำเรื่องเหนือออกจากหมู่บ้านน้ำเรื่อง คนในชุมชนได้เสนอให้ผู้ใหญ่จำรองเป็นผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านใหม่ เนื่องจากเป็นผู้มีประสบการณ์และความรู้ความสามารถหลายอย่าง ผู้ใหญ่จำรองจึงได้รับตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี 2544 จนถึง 2565
“พอแต่งงานปุ๊บผมก็มาซื้อจักรเย็บผ้าเล็ก ๆ มาฝึกสอน เก็บเงินค่าเรียนคนละ 1,500 บาท พอเย็บได้แล้ว ถีบจักรเป็นแล้ว ก็ส่งเข้าโรงงานที่กรุงเทพฯ มันมีโรงงานรับช่วงต่อเลย คือรับคนงานที่ผมสอนเข้าไปทำงาน เพราะแต่ก่อนผมไปตัดเย็บในโรงงานอยู่หลายปี มีประสบการณ์เพราะผมได้นั่งเย็บด้วย ได้ตัด ได้ออกแบบ ทำแพทเทิร์นเอง พอกลับมาอยู่บ้านผมก็เลยฝึกสอนและได้ส่งคนเข้ากรุงเทพฯ ชุดละ 10-20 คนต่อ 3 เดือน คนแต่ก่อนไม่รู้จะทำอะไร เค้าไม่อยากทำก่อสร้าง เค้าอยากได้งานสบาย ก็มาเลือกเย็บผ้า ตอนนั้นใครก็จะไปแต่โรงงานเย็บผ้าเพราะงานสบายกว่า ผมก็ส่งคนไปเยอะนะตั้ง 200-300 คนที่ผมส่งไป แต่ต่อมาก็ไม่ได้ส่งแล้วเพราะต่อมามันมีการเรียนต่อ ม.3 ต่อ ม.6 เด็กเรียนจบแล้วก็เรียนต่อปริญญาตรี หรือไปกรุงเทพฯ ไปสมัครงานกันได้เองเลย มันก็เปลี่ยนแปลง พอเงียบจากการสอน ผมก็เลยมาทำอาชีพตัดเสื้อผ้าขายตามตลาดนัดได้ 4-5 ปี แล้วก็มาเป็นผู้ใหญ่บ้าน มีงานเยอะก็เลยได้หยุดขายผ้า” (ผู้ใหญ่จำรอง ทองเชื้อ, สัมภาษณ์, 21 กรกฎาคม 2567)
ตลอดระยะเวลาการเป็นผู้ใหญ่บ้าน 21 ปี ผู้ใหญ่จำรองได้ปรับใช้วิชาความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในชีวิตเพื่อดูแลทุกข์สุขของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน การประสานงานกับหน่วยงานรัฐ การนำโครงการและนโยบายต่าง ๆ สู่การปฏิบัติในชุมชน การดูแลปัญหาปากท้องและการประกอบอาชีพ การแก้ปัญหาและเยียวยาทุกข์ยากจากการเผชิญปัญหาภัยพิบัติและการเผชิญวิกฤติต่าง ๆ เช่นในสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมไททรงดำ โดยการเข้าร่วมศึกษาเรียนรู้รากเหง้าความเป็นมาอย่างจริงจัง ไปจนถึงการศึกษาการอ่านและเขียนภาษาไททรงดำจนแตกฉาน และยังได้มีการรวมกลุ่มชาวบ้านทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ไททรงดำเป็นที่รู้จัก และให้คนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการสืบต่อประเพณีวัฒนธรรมไททรงดำต่อไป
2.พ่อเสริม ขังทัด อายุ 66 ปี เป็นคนบ้านน้ำเรื่องโดยกำเนิด พ่อเสริมเติบโตท่ามกลางญาติที่เป็นหมอเสนหลายคน เขาได้มีโอกาสติดตามญาติเวลามีการจัดพิธีกรรมต่าง ๆ ทำให้ได้เห็นกระบวนการ ได้คลุกคลีกับพิธีกรรมต่าง ๆ ของไททรงดำ จนเกิดความรักความสนใจในเสน่ห์ลี้ลับของความเชื่อความศรัทธาที่อบอวลอยู่รอบตัวพี่น้องไทดำ หลังจากพ่อเสริมแต่งงานมีครอบครัวและได้เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ พ่อเสริมได้ใช้เวลาว่างวันอาทิตย์เดินทางไปศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นหมอเสนที่จังหวัดนครปฐม โดยมีอาจารย์เป็นหมอเสนที่มีความชำนาญที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากหมอเสนที่อพยพมาจากเมืองแถงซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคนไทดำโดยตรง พ่อเสริมจึงได้เรียนวิชาที่มีรูปแบบดั้งเดิมซึ่งควรค่าแก่การรักษาและสืบทอดให้รุ่นลูกรุ่นหลานไทดำต่อไป พ่อเสริมและญาติที่เป็นหมอเสนเลือกทำหน้าที่นี้อย่างเห็นคุณค่าและเต็มไปด้วยความภูมิใจ
“น้องของพ่อหรืออา 3 คน ทุกคนเป็นหมอเสนหมดเลย แต่เค้าตายไปหมดแล้วทั้ง 3 คน ผมเป็นหลาน เป็นคนที่ 4 ที่เป็นหมอ พ่อของผมไม่ได้เป็นหมอ แต่อาเป็น พอคนนั้นเสียไปคนนั้นแทน คนนั้นเสียไปคนนั้นแทน มันเป็นอย่างนี้ ล่าสุดเสียไปเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ผมเป็นหลานก็ได้มาสืบต่อ มาเป็นแทน” (พ่อเสริม ขังทัด, สัมภาษณ์, 20 กรกฎาคม 2567)
พ่อเสริมใช้เวลาในการเรียนเป็นหมอเสนอยู่ 3 ปี เนื่องจากมีบทสวดบทคาถามากมายที่พ่อเสริมต้องจดจำ บางบทบางคาถาไม่สามารถจดลงสมุดได้ ต้องจดจำไว้ในสมองเท่านั้น เพราะเป็นกฎหรือเป็นข้อห้ามของการเรียน ถึงอย่างนั้นพ่อเสริมก็ตั้งใจเรียนด้วยความกระตือรือร้นจนกระทั่งเรียนจบและสามารถนำวิชามาใช้จริง พ่อเสริมเล่าถึงช่วงที่ไปเรียนว่า
“ไปนครปฐม ไปเรียนวันหยุด ทุกวันอาทิตย์ เรียนอยู่ 3 ปี เวลาอาจารย์ทำพิธีเราก็ต้องไปดู ไปอาทิตย์นึงได้มา 2 หน้ากระดาษ เราต้องจดตามอาจารย์ กว่าจะได้มาครบพิธีนึง มีทั้งหมด 40 หน้า ได้มาอาทิตย์ละ 2 หน้า ลองคิดดู บางคนไปเห็นว่าเรียนเยอะก็ท้อไปหลายคนแล้ว บางอันอาจารย์ให้จดได้ แต่บางอันอาจารย์ไม่ให้จดนะ ต้องจำอย่างเดียว กี่หน้ากระดาษก็ต้องจำให้ได้” (พ่อเสริม ขังทัด, สัมภาษณ์, 20 กรกฎาคม 2567)
หลังจากเกษียณอายุทำงาน 60 ปี พ่อเสริมกลับมาอยู่บ้าน และเป็นหมอเสนจัดพิธีต่าง ๆ ของไทดำ ได้แก่ การวางฤกษ์ยามตามปฏิทินคนไทดำ พิธีแต่งงาน พิธีเรียกขวัญต่าง ๆ การซ้อนขวัญ แปลงขวัญ พิธีขึ้นบ้านใหม่ การบอกทางคนตาย การเสนเฮือนตามแบบแผนขั้นตอนที่ถูกต้อง และพิธีเสนทุกอย่างตั้งแต่เกิดแก่เจ็บตาย เป็นต้น โดยจะรับงานในบ้านน้ำเรื่องเหนือ และในหมู่บ้านไทดำต่าง ๆ ในบริเวณจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และกำแพงเพชร นอกจากการเป็นหมอเสน พ่อเสริมกับแม่บุญเหลือซึ่งเป็นภรรยา ยังได้เป็นสมาชิกร่วมกิจกรรมกลุ่มศึกษาไทดำบ้านน้ำเรื่องอย่างสม่ำเสมอ แม่บุญเหลือถือเป็นเรี่ยวแรงหลักของกลุ่มในการจัดกิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงการเป็นวิทยากรให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมไทดำแก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนบ้านน้ำเรื่องมาอย่างต่อเนื่อง
บ้านน้ำเรื่องเหนือเป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยทุนหรือทรัพยากรที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้มากมาย ประการแรกคือความได้เปรียบของทำเลที่ตั้งและลักษณะภูมินิเวศของชุมชน ที่ตั้งชุมชนห่างจากตัวอำเภอเมืองสุโขทัยเพียง 20 กิโลเมตร และระยะทางที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากจังหวัดพิษณุโลกประมาณ 60 กิโลเมตร ทำให้หนุ่มสาวในชุมชนสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับสูงที่มีคุณภาพมากขึ้น ตลอดจนสามารถเข้าถึงงานที่หลากหลายมากขึ้น ขณะที่ชุมชนมีสภาพภูมินิเวศที่เป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือปลาจำนวนมหาศาล จนทำให้เกิดการผลิตสินค้าระดับโรงงาน นำมาซึ่งการจ้างงาน และความสะพัดของเงินที่หมุนเวียนในช่องทางต่าง ๆ อย่างคึกคัก แม้ในยามวิกฤติ เช่น ช่วงที่เกิดโควิด-19 หรือเมื่อเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมหรือน้ำแล้งติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่โรงงานผลิตปลาร้าและน้ำปลาก็ยังมีการสั่งซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโรงงานผ้าท่อผ้าใบ ทำให้โรงงานสามารถอยู่รอดได้ และคนงานของโรงงานสามารถมีรายได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสภาพภูมินิเวศได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปมาก ทำให้การเข้าถึงอาหารหรือรายได้ส่วนนี้มีข้อจำกัดมากขึ้น ครัวเรือนและสถานประกอบการต่างต้องปรับตัวต่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อยู่เสมอ
ทุนชุมชนที่โดดเด่นอีกด้านคือภูมิปัญญาความรู้ความสามารถในทางอาชีพและทางประเพณีวัฒนธรรม ในทางอาชีพ คนบ้านน้ำเรื่องเหนือมีความรู้ความสามารถหลายด้าน แต่ในด้านที่เป็นที่พูดถึงกันมากคือ ภูมิปัญญาความรู้ด้านการผลิตปลาร้าปลาจ่อมและน้ำปลาที่อร่อย มีคุณภาพ และปลอดภัย จนได้รับรางวัลและการยอมรับจากหน่วยงานและสถาบันด้านอาหารต่าง ๆ การทำปลาร้าปลาจ่อมและน้ำปลาถือเป็นภูมิปัญญาที่ทุกครัวเรือนได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน การผลิตจึงมีตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับโรงงานส่งขายทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น โรงงานปลาร้าแม่สุนธร/สุณธร โรงงานน้ำปลาตราเด็ดดวง และโรงงานอื่น ๆ
สำหรับทุนชุมชนด้านภูมิปัญญาทางประเพณีวัฒนธรรม นอกจากความรู้ที่สืบต่อกันภายในระดับครัวเรือนแล้ว คนบ้านน้ำเรื่องเหนือยังมีหมอเสนหรือหมอพิธีที่มีความรู้ความสามารถด้านแบบแผนและขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามประเพณีและวัฒนธรรมไททรงดำแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายผสมผสานกับความรู้ที่ได้มาจากการขวนขวายศึกษาเรียนรู้ ดังเช่นผู้ใหญ่จำรอง ทองเชื้อ พ่อเสริม ขังทัด และญาติ ๆ ที่ดั้นด้นไปเรียนการทำพิธีต่าง ๆ จากหมอพิธีรุ่นเก่าที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากรุ่นสู่รุ่นต่อจากคนที่อพยพมาจากเมืองแถง และได้นำความรู้มาใช้จริงจนเชี่ยวชาญ จนกระทั่งคนต่างพื้นที่ให้การยอมรับและว่าจ้างให้ทำพิธีในงานพิธีต่าง ๆ
นอกจากนี้ การจัดตั้งศูนย์ศึกษาไทดำบ้านน้ำเรื่อง นับเป็นการฟื้นฟูและรักษาสืบทอดทุนชุมชนด้านประเพณีวัฒนธรรม ทำให้คนไทดำบ้านน้ำเรื่องได้เชื่อมต่อและได้ทำกิจกรรมศึกษา แลกเปลี่ยน และเรียนรู้เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมไทดำหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาประวัติรากเหง้าของไทดำโดยการเดินทางไปเยือนเมืองสำคัญต่าง ๆ ของคนไทดำ ได้แก่ เมืองแถงและเมืองลอซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดคนไทดำ ที่เมืองเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม หรือการเดินทางไปร่วมงาน ไทดำระดับโลกที่ประเทศลาว และประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีชุมชนคนไทดำอยู่ด้วย การทำกิจกรรมเหล่านี้ทำให้คนบ้านน้ำเรื่องได้รับทั้งความรู้และประสบการณ์กว้างไกล และยังเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายที่เป็นพลังขับเคลื่อนการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมไทดำต่อไป นอกจากนี้ การเชื่อมต่อกับเครือข่ายไทดำยังทำให้คนบ้านน้ำเรื่องเหนือได้มีโอกาสศึกษาการอ่านและการเขียนภาษาไทดำจนแตกฉาน กระทั่งสามารถนำมาถ่ายทอดบอกต่อแก่คนในชุมชนและลูกหลานที่เป็นเด็กและเยาวชน ดังจะเห็นได้จากกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาไทดำในโรงเรียนบ้านน้ำเรื่องที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ปี และกำลังจะได้รับการพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นในไม่ช้า เป็นต้น
บ้านน้ำเรื่องเหนือเป็นชุมชนที่คนทุกกลุ่มยังสื่อสารกันด้วยภาษาไทดำเป็นหลัก แตกต่างจากชุมชนไทดำอื่น ๆ ที่มีปัญหากลุ่มเด็กและเยาวชนไม่สื่อสารด้วยภาษาไทดำ เนื่องจากบ้านน้ำเรื่องเหนือมีการส่งเสริมให้โรงเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงสถานที่ราชการต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านต่างเห็นคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทดำ การพูดคุยภาษาไทดำในโรงเรียนและหน่วยงานราชการจึงไม่ถูกห้ามปราม ทำให้คนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย กล้าที่จะใช้ภาษาไทดำซึ่งเป็นภาษาที่ตนเองมีความถนัดและคุ้นเคยมากที่สุด
นอกจากการพูด กลุ่มศึกษาไทดำบ้านน้ำเรื่องยังได้จัดกิจกรรมการเรียนอ่านและเขียนภาษาไทดำจากผู้ใหญ่จำรองซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ด้านภาษาไทดำ กิจกรรมนี้ได้จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ปี เป็นการสอนเด็กนักเรียนชั้นประถมตั้งแต่ ป.1-6 มีตารางเรียนทุกวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ กิจกรรมนี้ทำให้เด็กหลายคนสามารถอ่านและเขียนภาษาไทดำได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว ปัจจุบันทางโรงเรียนกำลังพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทดำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นประจำโรงเรียนบ้านน้ำเรื่อง
สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนมีหลายประการ แต่สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมี 2 ประเด็น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมินิเวศในพื้นที่โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้รับการออกแบบอย่างถูกต้องเหมาะสม ถนนที่ปิดกั้นการไหลหลากของน้ำ ทำให้น้ำไม่เข้าท่วมในพื้นที่ที่เคยท่วม ส่งผลต่อทรัพยากร โดยเฉพาะอาหารตามธรรมชาติ เช่น ปลา ปู กุ้ง หอย และผักพื้นบ้านต่าง ๆ ปัญหานี้ทำให้ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนลดลง รวมถึงรายได้ที่เคยได้จากการหาปลาส่งขายโรงงานก็ลดลงตามไปด้วย หน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่จึงควรให้ความสำคัญกับปัญหาปากท้องของชาวบ้านในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีการออกแบบถนนหนทาง รวมถึงการสร้างคันดินและการขุดลอกคูคลองต่าง ๆ ควรได้รับการออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีการคำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพภูมินิเวศด้วย
สถานการณ์ปัญหาประเด็นต่อมา คือการเบียดขับทางการค้าของร้านค้าออนไลน์และโมเดิร์นเทรดซึ่งเป็นทุนขนาดใหญ่ ทำให้ร้านค้าโชห่วยหรือร้านค้าปลีกรายเล็กในชุมชนได้รับผลกระทบทางธุรกิจอย่างมาก การไม่สามารถควบคุมธุรกิจของทุนใหญ่ได้เช่นนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจของชุมชนถดถอย การจ้างงานในชุมชนลดลง คนในชุมชนมีช่องทางหารายได้น้อยลง ทำให้คนต้องอพยพไปเป็นแรงงานในกรุงเทพฯ หรือเมืองเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งส่งผลเสียต่อสภาพครอบครัวและชุมชนที่เต็มไปด้วยครอบครัวแหว่งกลาง หรือครอบครัวที่ขาดกำลังหลักของบ้าน มีเพียงเด็กและคนชราที่รอคอยเงินจากลูกหลานที่ออกไปทำงาน ท่ามกลางการคุ้มครองดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการที่ยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร
“ถ้าด้านวัฒนธรรมก็คงที่แต่การทำมาหากินก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะ เศรษฐกิจตอนนี้ออนไลน์เยอะ การแข่งขันสูง ร้านค้าขายไม่ค่อยจะดี แล้วยังมีกลุ่มยักษ์ใหญ่มาแย่งลูกค้าอีก เช่น โกลบอล แมคโคร โลตัส มาหลายอย่าง จากที่เคยซื้อในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็วิ่งมอเตอร์ไซด์ไปซื้อที่แมคโครโลตัสได้เลย เค้าก็ได้ของถูกกว่า แต่ร้านค้ารายย่อยตายหมด เศรษฐกิจชุมชนก็แย่เลย” (ผู้ใหญ่จำรอง ทองเชื้อ, 21 กรกฎาคม 2567)
น้ำปลาเด็ดดวง. สืบค้น 21 กรกฎาคม 2567. Facebook. https://www.facebook.com/profile.
ปลาร้าแม่สุณธร ปลาร้าสุโขทัย. สืบค้น 21 กรกฎาคม 2567. Facebook. https://www.facebook.com/PlaraMaeSunthorn/
ศูนย์ศึกษาไทดำบ้านน้ำเรื่อง. สืบค้น 22 กรกฎาคม 2567. Facebook. https://www.facebook.com/profile.
เสริม ขังทัด, สัมภาษณ์, 20 กรกฎาคม 2567
บุญเหลือ ขังทัด, สัมภาษณ์, 20 กรกฎาคม 2567
จำรอง ทองเชื้อ, สัมภาษณ์, 21 กรกฎาคม 2567