ชาวบ้านป่าคานอก มีรูปแบบการทำไร่หมุนเวียนโดยยึดโยงเอาคติความเชื่อ จารีต ประเพณีดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของวิถีการทำไร่
ชาวบ้านป่าคานอก มีรูปแบบการทำไร่หมุนเวียนโดยยึดโยงเอาคติความเชื่อ จารีต ประเพณีดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของวิถีการทำไร่
“กะเหรี่ยง” หรือ “ปกาเกอะญอ” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย มีข้อสันนิษฐานว่าชาวกะเหรี่ยงเดิมมีถิ่นฐานภูมิลำเนาอยู่บริเวณแถบมองโกเลีย-ธิเบต ก่อนเคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่อาศัยในดินแดนจีน เมื่อถูกจีนรุกรานจึงได้โยกย้ายมาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซี ยูนนาน แล้วถอยร่นมาอยู่ระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน สร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณภูเขาทางชายแดนตะวันออกของสหภาพพม่าและตะวันตกของประเทศไทย และขยายอาณาเขตที่ตั้งเข้ามาในอาณาจักรสยาม โดยอาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันตกของไทย หลักฐานทางประวัติศาสตร์มีการบันทึกเหตุการณ์การอพยพของชาวกะเหรี่ยงเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยครั้งแรกเมื่อประมาณ 600-700 ปี ในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยเข้ามาอยู่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกของไทยแถบชายแดนไทย-พม่า เช่น จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ ฯลฯ
บ้านป่าคานอกเป็นหนึ่งชุมชนที่ปรากฏการตั้งถิ่นฐานของชาวกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาจากพม่า โดยสันนิษฐานว่าอาจมีการตั้งถิ่นฐานมากว่า 300-350 ปี สังเกตจากบรรพบุรุษที่เกิดและตายในชุมชนไปแล้วหลายชั่วอายุคน ชาวกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาในชุมชนบ้านป่าคานอกนั้นมาจากหลายพื้นที่ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ พือลาโข่ป่า ซึ่งย้ายมาจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำแม่ลานและป่าคา และกลุ่มที่ 2 ย้ายมาจากอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ อพยพขึ้นไปที่อำเภอแม่ริม เข้ามายังอำเภอสะเมิง กระจัดกระจายตั้งถิ่นฐานในป่าแม่ลาน ต่อมาฮี้โข่ (ผู้นำชุมชน) ชื่อ พาตุ๊นุ ได้นำชาวกะเหรี่ยงเข้ารวมกลุ่มใหญ่ที่ “แดลอป่าคาปู” (แดลอ หมายถึง ชุมชนร้าง) บริเวณริมน้ำป่าคา ประมาณ 46 หลังคาเรือน แต่เมื่อพาตุ๊นุเสียชีวิตชาวบ้านได้แยกย้ายออกไปหาแห่งที่ตั้งชุมชนใหม่ เนื่องจากชาวปกาเกอะญอในยุคนั้นมีความเชื่อว่าหากผู้นำชุมชนเสียชีวิตลง คนอื่น ๆ ในชุมชนจะไม่สามารถอาศัยอยู่ในชุมชนได้อีกต่อไป กอปรกับที่ตั้งป่าคาปูเป็นที่ราบริมแม่น้ำ ในช่วงฤดูหนาวมีอากาศเย็นจัด ชาวบ้านแยกตัวกันออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพือตุ๊ตุ๊กับญาติพี่น้องแคนในชุมชนอื่น ๆ อีกประมาณ 26 ครัวเรือน ได้เคลื่อนย้ายไปอยู่บ้านเปาะคะโกล๊ะ ซึ่งตั้งอยู่หลังบ้านป่าคาในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลว่ามีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ และใกล้พื้นที่ทำกิน หนึ่งปีให้หลังพือพาเส่อเด๊ะ ญาติห่าง ๆ ของพือพาตุ๊นุ๊ ได้นำชาวบ้านขึ้นมาอยู่บริเวณ “ค่อส่าโจ๊ะ” หรือพื้นที่บ้านป่าคานอกในปัจจุบัน โดยให้เหตุผลว่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ดอนที่แสงแดดส่องลงมาได้อย่างทั่วถึง อยู่ไปได้ระยะหนึ่ง ชาวบ้านบางส่วนมองว่าที่ตั้งชุมชนอยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำและที่ทำกิน จึงตัดสินใจย้ายลงไปอยู่ที่ “แดลอผานี” ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน แต่อยู่ได้ไม่นานลูกชายและภรรยาของลุงพือพาเส่อเด๊ะเสียชีวิต ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเพราะการตั้งชุมชนที่ผิดขั้นตอนทำให้คนในชุมชนอยู่ไม่สุข เนื่องจากคนแรกที่มาบุกเบิกพื้นที่หมู่บ้านคือลุงของพือพาเส่อเด๊ะ แต่คนสร้างหมู่บ้านคือพือพาเส่อเด๊ะ ชาวบ้านในชุมชนมีความเห็นพ้องต้องกันว่าไม่สามารถอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้ได้อีกต่อไป พือพาเส่อเด๊ะจึงตัดสินใจพาชาวบ้านย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านป่าคานอกอีกครั้ง ช่วงแรกชาวบ้านมีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก เนื่องจากทำมาหากิน ปลูกพืชผักได้ผลผลิตไม่ดี คนในชุมชนจึงเชิญพระสงฆ์จากอำเภอสะเมิงชื่อหนานมูลมาทำพิธี “สกัดฮักบ้าน” หลังจากนั้นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเริ่มดีขึ้น ประจวบเหมาะกับขณะนั้นบ้านป่าคานอกได้รับอนุญาตแยกหมู่บ้านโดยไม่ต้องขึ้นกับหมู่บ้านแม่ลานคำ ในปี พ.ศ. 2540 พือพาเส่อเด๊ะผู้ดำรงตำแหน่งฮี้โข่ของหมู่บ้านได้เสียชีวิตลง พาจิปิ๊ลูกชายของพือพาเส่อเด๊ะจึงขึ้นมาทำหน้าที่ฮี้โข่แทนบิดามา
สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
บ้านป่าคานอกตั้งอยู่ในเขตตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ สภาพที่ตั้งชุมชนมีลักษณะเป็นที่ดอนบริเวณไหล่เขา พื้นที่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดชันตามสันเขา สลับกับพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา อยู่กึ่งกลางระหว่างดอยผาลาย ดอยเก้อจื่อโจ้ (ดอยวัดหลวง) และดอยม่อนเปี๊ยะ แหล่งน้ำที่สำคัญของหมู่บ้าน คือ ลำน้ำป่าคา ที่มีแหล่งต้นน้ำมาจากห้วยผาลาย และห้วยแม่ลาน ซึ่งจะไหลบรรจบกันเป็นลำน้ำแม่ขาน อันเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติและทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน สภาพป่าไม้ทางทิศเหนือและทิศใต้ของหมู่บ้านเป็นป่ากึ่งดงดิบและป่าดิบเขา มีต้นไม้ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กปกคลุมหลายชั้น โดยเฉพาะบริเวณป่าต้นน้ำที่มีสภาพภูมิอากาศชุ่มเย็นตลอดทั้งปี ส่วนป่าไม้ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นป่าดิบเขาและป่าเต็งรัง ต้นไม้ที่พบในป่าบริเวณนี้ส่วนใหญ่ เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้เหียง เป็นต้น สภาพภูมิอากาศมีความร้อนชื้นในเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม ฝนตกมากในเดือนมิถุนายน-ตุลาคม และสลับหนาวเย็นตามพื้นที่สูงในช่วงพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าคานอกมีวิธีการจำแนกจัดสรรพื้นที่ตามรูปแบบกฎจารีตประเพณี อันถือเป็นวัฒนธรรมร่วมของชาวกะเหรี่ยง โดยเรียกดินแดนทั้งหมดของหมู่บ้านว่า “ดูเสอะวอ” ซึ่งนับเอาสันเขาและลุ่มแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนหมู่บ้าน และจัดสรรพื้นที่ภายในหมู่บ้านออกเป็น 6 ลักษณะ ดังนี้
1. พื้นที่หมู่บ้าน เป็นพื้นที่สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย โดยจะตัดต้นไม้ในชุมชนออกไปส่วนหนึ่งเพื่อแบ่งเนื้อที่สร้างบ้านเรือน แต่จะมีการปลูกต้นไม้หรือผลไม้เพื่อทดแทนป่าไม้เดิมที่หายไป และเพื่อให้พื้นที่หมู่บ้านมีสีเขียวขจีร่มรื่นอยู่เสมอ การจัดการพื้นที่ชุมชนลักษณะนี้เป็นวิธีคิดดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง หากหมู่บ้านใดไม่สามารถจัดการพื้นที่ชุมชนนี้ได้อาจมีการกล่าวตำหนิเหล่าผู้นำชุมชน ว่าไม่สามารถทำให้หมู่บ้านร่มรื่นและน่าอยู่ได้ ชาวกะเหรี่ยงมีคำกล่าวบทหนึ่งที่กล่าวถึงการจัดสรรพื้นที่หมู่บ้านว่า “หากผู้เฒ่าผู้แก่ก่อตั้งหมู่บ้านกันไม่เป็น แม้หมู่บ้านจะใหญ่ก็กลายเป็นหมู่บ้านที่แตกสลาย”
2. พื้นที่ป่ารอบหมู่บ้าน หรือป่าแดง เนื่องจากบริเวณนี้ในตอนเช้าเป็นพื้นที่ที่จะมีแสงแดดสีแดงส่องถึงก่อนที่อื่น ป่ารอบหมู่บ้านถือสถานะเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับความเคารพยำเกรงจากชาวกะเหรี่ยงในชุมชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อต่าง ๆ เช่น พิธีการทิ้งกระบอกสายสะดือทารก ด้วยการนำไปผูกติดกับต้นไม้ในป่าแห่งนี้ โดยเชื่อว่าขวัญของเด็กจะผูกติดกับต้นไม้ต้นนั้น หากต้นไม้ถูกตัดจะส่งผลให้เด็กไม่สบาย เพราะขวัญของเด็กได้หนีไปแล้ว
3. ที่นา อยู่ถัดจากพื้นที่ป่ารอบหมู่บ้าน โดยปกติจะเลือกบริเวณที่อยู่ติดกับลำห้วยสายหลักที่จะสามารถทดน้ำเข้าไปได้ ที่นาของชาวกะเหรี่ยงจะมีลักษณะเป็นนาขั้นบันได เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดชัน นาแต่ละแปลงไม่สามารถอยู่ในระดับเดียวกันได้ จึงต้องทำนาเป็นขั้นบันไดลดหลั่นระดับ
4. พื้นที่สวนหัวไร่ปลายนา อยู่สูงจากที่นาขึ้นไปเล็กน้อย เป็นพื้นที่ที่น้ำไม่สามารถเข้าไปได้ โดยมากจะใช้สำหรับปลูกผลไม้ พืชผักสวนครัว พื้นที่สวนหัวไร่ปลายนาถือเป็นครัวแห่งที่สองนอกเหนือจากครัวบ้าน ในช่วงฤดูกาลทำนาบางครั้งต้องนอนนาเป็นเวลานาน ชาวบ้านมักจะเก็บพืชผักผลไม้จากสวนหัวไร่ปลายนามาบริโภค
5. พื้นที่ไร่หมุนเวียน คือพื้นที่ป่าที่ถูกจัดสรรสำหรับทำไร่หมุนเวียนโดยเฉพาะ ถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อการยังชีพที่สำคัญที่สุดของชาวกะเหรี่ยง
6. พื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยมากพื้นที่นี้จะเป็นป่าต้นน้ำลำธาร ป่าดงดิบที่มีภูมิอากาศชุ่มชื้นตลอดทั้งปี ห้ามใช้ประโยชน์ในรูปแบบที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน แต่สามารถเข้าไปเก็บของป่า ล่าสัตว์ และหาสมุนไพรได้
นอกจากการจัดสรรพื้นที่ป่าตามรูปแบบจารีตประเพณีดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ชาวบ้านป่าคานอกยังมีพื้นที่ป่าชุมชนอีกหนึ่งแห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญอย่างมาก คือ พื้นที่ไร่เหล่า ไร่เหล่าเป็นพื้นที่ที่ถูกปล่อยพักฟื้นเพื่อแผ้วถางเป็นไร่หมุนเวียนในแต่ละปี โดยปกติพื้นที่ไร่เหล่าจะมีอายุตั้งแต่ 1-7 ปี
ไร่เหล่าพักฟื้น 1 ปี หรือ “ไร่เหล่าข้าวกิน” คือไร่ที่ให้ผลผลิตข้าวที่กำลังบริโภคอยู่ในปีปัจจุบัน กล่าวคือข้าวที่กำลังรับประทานอยู่ในปีนี้คือข้าวที่ให้ผลผลิตปีที่แล้ว ซึ่งถูกปล่อยพักฟื้นมาแล้ว 1 ปี
ไร่เหล่าพักฟื้น 2 ปี หรือ “ไร่เหล่าขาว” ระยะนี้จะมีต้นหนาดหรือต้นสาบเสือขึ้นในไร่เป็นจำนวนมาก เมื่อถึงฤดูหนาวจะออกดอกสีขาวทั่วผืนไร่
ไร่เหล่าพักฟื้น 3 ปี หรือ “ไร่เหล่าอ่อน” ไร่เหล่าระยะนี้ต้นไม้ในผืนไร่จะเริ่มแตกหน่ออ่อนขนาดเท่าข้อมือกลบยอดต้นหนาด ไม่สามารถเดินผ่านไร่ได้เนื่องจากต้นไม้ที่ขึ้นใหม่ยังมีขนาดเล็กไม่สามารถเดินเหยียบได้ ไร่เหล่าระยะนี้จะมีสัตว์ป่าขนาดใหญ่หลายชนิดกลับอาอยู่อาศัย เช่น หมูป่า เก้ง กวาง หมูดิน เป็นต้น
ไร่เหล่าพักฟื้น 4 ปี หรือ “ไร่เหล่ากระทง” ระยะนี้เป็นช่วงที่บรรดาต้นไม้ในไร่กำลังเจริญเติบโต มีขนาดสูงพอที่จะเดินผ่านไปได้ หญ้าชนิดต่าง ๆ เหี่ยวแห้ง และตาย ไร่เหล่ากระทงมักเป็นที่นอนของนกหลายชนิด เช่น ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกเขา เป็นต้น
ไร่เหล่าพักฟื้น 5 ปี หรือ “ไร่เหล่าหนุ่ม” ระยะนี้เปรียบต้นไม้ที่กำลังเจริญเติบโตเหมือนคนวัยหนุ่มสาว พืชพรรณหลายชนิดเริ่มออกดอกออกผล เช่น มะขามป้อม ลูกหว้า เป็นต้น ไร่เหล่าหนุ่มจึงเป็นแหล่งอาหารของนก หนู และสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ บรรดาต้นไม้ที่ถูกริดกิ่งเริ่มแตกกิ่งใหม่จนกลับมาเป็นต้นเดิม และผสมกลมกลืนเข้ากับต้นไม้ที่ฟื้นขึ้นมาใหม่จนยากจะแยกออก
ไร่เหล่าพักฟื้น 6 ปี หรือ “ไร่เหล่าแก่” หมายถึงไร่ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ครบ 6 ปี ไร่เหล่าระยะนี้ถือเป็นระยะที่เหมาะสำหรับการถางไร่อีกครั้งมากที่สุดเมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 เพราะเมื่อถางไร่แล้วพืชผักที่หว่านเมล็ดจะเติบโตและอุดมสมบูรณ์ หญ้าจะไม่รก เบาแรงในการดายหญ้า หากไร่เหล่ามีอายุมากกว่านี้พืชผักจะงามเกินไป ทำให้เมล็ดข้าวลีบ เก็บเกี่ยวไม่ได้ผล เพราะพื้นที่มีความเย็นชื้นมากเกินไป แต่หากไร่เหล่าอายุต่ำกว่านี้จะมีปัญหาเรื่องพืชผักไม่งาม เนื่องจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องหญ้ารกด้วย
ไร่เหล่าพักฟื้นระยะ 1-3 ปี ทั้งไร่เหล่าข้าวกิน ไร่เหล่าขาว และไร่เหล่าอ่อน จะมีตอข้าวและเศษฟางซึ่งสามารถใช้ประโยชน์เป็นแหล่งอาหารให้วัวและควาย หากไม่มีไร่เหล่าทั้ง 3 ระยะ วัวควายจะไม่มีอาหารกิน เนื่องจากในพื้นที่ป่าใหญ่หญ้าไม่สามารถขึ้นได้ ฉะนั้นไร่เหล่าจึงเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะระยะที่ 1-3 หากไร่หมุนเวียนหรือไร่เหล่าหมดไปเมื่อใดศักยภาพความอยู่รอดของวัวและควายในพื้นที่ก้จะลดลงไปด้วย
สถานที่สำคัญ
วัดป่าคา เป็นพุทธศาสนสถานประจำชุมชน สำหรับพุทธศาสนิกชนบ้านป่าคานอกใช้เป็นศูนย์กลางการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พิธีกรรมทางความเชื่อของชาติพันธุ์ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชน
โรงเรียนบ้านแม่ลานคำ สาขาป่าคานอก หรือโรงเรียนบ้านป่าคานอก เป็นโรงเรียนสาขาของโรงเรียนบ้านแม่ลานคำ เนื่องจากในอดีตบ้านป่าคานอกเป็นส่วนหนึ่งของบ้านแม่ลานคำ แต่เมื่อบ้านป่าคานอกแยกตัวเอกมาเป็นเอกเทศ โรงเรียนบ้านแม่ลานคำ สาขาป่าคานอก จึงนับเป็นโรงเรียนประจำชุมชนบ้านป่าคานอก ปัจจุบันเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล-ระดับประถมศึกษา
ป่าช้า ป่าช้าถือเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ที่สมาชิกในชุมชนทุกคนต้องให้ความเคารพ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของดวงวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นสถานที่ฝังและเผาศพของคนในหมู่บ้าน ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “Pgaz lo pooz”
หมู่บ้านป่าคานอก ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนของชาวกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากประเทศพม่า มีประชากรทั้งหมด 66 ครัวเรือน แยกเป็นชาย 158 คน และหญิง 236 คน
ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าคานอก มีลักษณะที่ยังคงความสัมพันธ์แน่นแฟ้น ใกล้ชิด โดยปกติครอบครัวของชาวกะเหรี่ยงชุมชนบ้านป่าคานอกมีรูปแบบเป็นครอบครัวเดี่ยว ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก แต่ยังปรากฏลักษณะครอบครัวขยายในบางครัวเรือน เพราะมีพ่อแม่ภรรยาอาศัยอยู่ด้วย เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงมีการสืบสายโลหิตและนับญาติทางฝ่ายหญิง ลูกสาวคนสุดท้องจะต้องอาศัยอยู่บ้านกับพ่อแม่ไปตลอดแม้ว่าจะแต่งงานแล้วก็ตาม เพราะมีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ตราบจนวาระสุดท้ายของท่าน ดังนั้นลูกสาวคนสุดท้องจึงจะได้รับทรัพย์สินมรดกจากพ่อแม่มากว่าพี่ ๆ คนอื่น แต่หากครอบครัวใดไม่มีลูกสาว ลูกชายจะต้องทำหน้าที่นี้แทน ชาวกะเหรี่ยงมีเชื่อว่าหากครอบครัวใดที่แม่บ้านเสียชีวิต จะต้องรื้อบ้านสร้างใหม่ เพื่อที่ลูกสาวคนสุดท้องจะสามารถประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพบุรุษได้
ปกาเกอะญออาชีพหลัก : ทำไร่หมุนเวียน พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ เช่น ข้าว และข้าวโพด
อาชีพเสริม : ขายของป่า เลี้ยงสัตว์ รับจ้าง
การแลกเปลี่ยนภายในชุมชน : บางครอบครัวที่มีเงินทุน ได้ผันตัวเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กในชุมชน ดำเนินกิจการต่าง ๆ เช่น ร้านขายของชำ สินค้าที่นำมาขายส่วนใหญ่คือสินค้าอุปโภคบริโภคภายในครัวเรือน อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง แชมพู สบู่ ผงซักฟอก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสินค้าจำพวกเนื้อสัตว์ และพืชผักต่าง ๆ ที่ชาวบ้านในชุมชนนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน
การออกไปทำงานนอกชุมชน : รับราชการ และรับจ้างในเมือง
ขั้นตอนการจัดการไร่หมุนเวียน
ในรอบ 1 ปี ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าคานอกจะมีวิธีการจัดการกับพื้นที่ไร่หมุนเวียนตามลำดับขั้นตอน 7 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1. ขั้นตอนการเลือกถางไร่ พิธีกรรมการขออนุญาตสิ่งสูงสุดที่เชื่อว่าเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งอัญเชิญให้ออกไปอยู่ที่อื่นเป็นการชั่วคราวขณะแผ้วถางไร่เพื่อทำการเพาะปลูก การกระทำนี้เป็นการแสดงถึงความศรัทธาและความไว้วางใจที่มีต่อสิ่งสูงสุด รวมถึงการคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในพื้นที่
2. ขั้นตอนการถางไร่ ถางหญ้า และตัดต้นไม้ที่ขึ้นรกในไร่ การตัดต้นไม้จะไม่ตัดจนขาด แต่จะตัดเพียงครึ่งหนึ่งแล้วปล่อยให้ล้มพาดคาตอ เพื่อให้ต้นไม้สามารถแตกหน่อแตกกิ่งได้ใหม่ การถางไร่มีข้อห้ามว่าหากพบเต่าจะไม่จับมากิน หากพบรังต่อ รังแตน รังผึ้ง จะไม่ตีมากิน แต่จะปล่อยไวให้มันหนีไปเอง
3. ขั้นตอนการเผาไร่ โดยจะมีการทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟลุกลามออกนอกเขตขณะเผาไร่ ก่อนการเผาไร่ชาวบ้านจะมีการทำพิธี “เรียกลม” เพื่อเป็นการบอกกล่าวแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติว่าตนมีความจำเป็นต้องกระทำ อีกทั้งขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์โปรดประทานลมให้พัดโหมกระหน่ำขณะเผาไร่ ให้ไร่ไหม้ดี อันจะส่งผลให้ข้าวและพืชผักเจริญงอกงาม
4. ขั้นตอนการเก็บกวาดไร่ เป็นขั้นตอนการเตรียมดินเพื่อหว่านข้าวและพืชผัก มีการเก็บกวาดเศษไม้ที่ไหม้ไม่หมดมากองรวมกันแล้วเผาทิ้งอีกครั้ง เรียกว่า “เผากองเศษไม้” ขี้เถ้าที่ได้จากการเผาไหม้จะกลายเป็นธาตุอาหารบำรุงดินโดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีใด ๆ การเก็บกวาดไร่ของชาวกะเหรี่ยงมีหลักการสำคัญ คือ จะไม่มีการขุดพลิกหน้าดิน ไม่ขึ้นแปลง ไม่ขุดขอนไม้ รากไม้ออก เพื่อให้ตอไม้ที่ถูดตัดสามารถแตกยอดใหม่ได้อีกครั้ง
5. ขั้นตอนการปักไร่และหว่านข้าว จะใช้เสียมขนาดเล็กและสั้นที่ออกแบบมาเป็นการเฉพาะปักดินเป็นหลุม ๆ จากนั้นหยอดข้าวลงไป การใช้เสียมลักษณะนี้จะกินดินไม่ลึก ไม่ทำให้โครงสร้างของดินเสียหาย ถือเป็นการช่วยลดการพังทลายของหน้าดิน และป้องกันไม้ให้ตะกอนจากการขุดดินไหลลงสู่ลำห้วยลำธาร ในขั้นตอนการปักไร่และการหว่านข้าวจะมีการประกอบพิธีกรรมที่มีความสำคัญมาก เรียกว่า “การปลูกแม่ข้าว” เป็นการขอพรภาวนาจาก “นกขวัญข้าว” ให้นำความอุดมสมบูรณ์ลงมาสู่ข้าวในไร่ เมื่อปักไร่หว่านข้าวเสร็จจะมีพิธีกรรม “แช่ด้ามเสียม” โดยการนำขาด้ามเสียมแช่ลงไปในกระบอกไผ่จุน้ำ แล้วหันปลายขึ้นฟ้าให้ตรงกับตำแหน่งดาวไถ พิธีกรรมแช่ด้ามเสียมนี้มีความเกี่ยวโยงไปถึงความเชื่อเรื่องตำนานบรรพชนผู้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้เลือกดินแดนที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงให้ตรงกับตำแหน่งดาวไถ ด้วยเห็นว่าเป็นดินแดนที่อุมดมสมบูรณ์ที่สุด พิธีแช่ขาเสียมจึงเป็นสัญลักษณ์ของการมีที่อยู่อาศัย และที่ทำกินอันอุดมสมบูรณ์ที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรพชนผู้ศักดิ์สิทธิ์
6. ขั้นตอนการดายหญ้า มีการใช้เครื่องมือที่เรียกว่าขอดายหญ้า ซึ่งได้รับการออดแบบเป็นการเฉพาะให้มีลักษณะโค้งงอขึ้น ทำให้กินเนื้อดินไม่ลึก โครงสร้างหน้าดินไม่ถูกทำลาย การดายหญ้าเป็นการคัดพืชที่ไม่มีประโยชน์ออกมา แล้วปล่อยให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยให้กับพืชผักในไร่ โดยการฝังกลบกับกองดิน ภายหลังดายหญ้าเสร็จจะมีการทำพิธี “ตัดคอหญ้า” โดยการนำหญ้าที่อยู่ในมือกำสุดท้าย เดินไปวางบนท่อนไม้ริมไร่แล้วสับให้ละเอียด ระหว่างนั้นให้อธิษฐานไล่ศัตรูพืชทั้งหลายให้ออกไปให้พ้นจากไร่ อีกทั้งยังมีนัยในการโอนอ่อนต่อสิ่งสูงสุด และการยอมอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
7. ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว มีพิธีกรรม “กินหัวข้าว” โดยจะมีการกินข้าวใหม่ที่ได้จากไร่กับอาหารทุกชนิด อันเป็นการให้เกียรติและสรรเสริญข้าวว่าเป็นผู้มีบุญคุณหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน ในขณะเดียวกันอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกี่ยวข้าวทุกชนิด จะมีการมัดมือโดยนำมาผูกกับเถาวัลย์ แล้วอธิษฐานแสดงความความเคารพ และขออภัยที่เคยได้ล่วงเกินในบางครั้ง แสดงถึงจิตวิญญาณของผู้ทำไร่หมุนเวียนที่ไม่เพียงเคารพนอบน้อมต่อข้าวเท่านั้น แต่ยังต้องเคารพต่อธรรมชาติทุกอย่างที่เกี่ยวข้องด้วย ภายหลังเก็บเกี่ยวและนำข้าวกลับบ้านหมดแล้ว ช่วงนี้จะมี “พิธีกรรมอันเชิญสิ่งสูงสุดกลับเข้าไร่” เนื่องจากช่วงเวลาที่ลงถางไร่จะมีการอัญเชิญสิ่งสูงสุดให้ไปอยู่ที่อื่น แต่ในเวลานี้กระบวนการทำไร่ได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงได้มีการประกอบพิธีกรรมอัญเชิญให้สิ่งสูงสุด และวิญญาณธรรมชาติทุกสิ่งอย่างกลับคืนสู่พื้นที่ไร่
ปฏิทินไร่หมุนเวียน
ปฏิทินไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงจะเริ่มประมาณช่วงปลายเดือนมีนาคมไปจนถึงปลายเดือนเมษายน ในช่วงนี้พืชผักบางชนิดที่หว่านเมล็ดไว้หลังเผาไร่เสร็จใหม่ เริ่มแตกยอดสามารถเก็บมาประกอบอาหารได้ เช่น ต้นอ่อนผักกาด และยอดฟักทอง
- เดือนพฤษภาคม ก้าวเข้าสู่ฤดูฝน เป็นเดือนแห่งการแตกหน่อ แตกหัว แตกเมล็ดของพืชพันธุ์ทุกชนิด พืชผักต่าง ๆ ที่ถูกหว่านเมล็ดจะงอกต้นอ่อน และเริ่มเก็บมารับประทานได้ เช่น กะเพรา ผักชี ต้นหอม สะระแหน่ เป็นต้น
- เดือนมิถุนายน เป็นเดือนที่หน่อไม้ซึ่งเป็นอาหารธรรมชาติเริ่มแทงหน่อในเดือนนี้ อีกทั้งยังมีพืชผักอื่น ๆ ที่สามารถเก็บมาปรุงอาหารได้ เช่น ยอดอ่อนมันสำปะหลัง ต้นอ่อนเผือกป่า เห็ด ต้นอ่อนหอมซุง ยอดกระเจี๊ยบ เป็นต้น
- เดือนกรกฎาคม เป็นเดือนแห่งการเก็บยอดอ่อนและดอกผักกาด พืชตระกูลบวบ เช่น ลูกมะนอย บวบ บวบเหลี่ยม เริ่มให้ผลอ่อน นอกจากนี้ยังมีมะระ เผือกอ่อน และข้าวโพด ก็สามารถเก็บมารับประทานได้ในเดือนนี้ รวมถึงแมงกว่าง และหนอนรถด่วน ก็สามารถหาได้ในเดือนกรกฎาคมเช่นเดียวกัน ชาวกะเหรี่ยงมีคำกล่าวที่สัมพันธ์กับธรรมชาติในเดือนกรกฎาคมว่า “เดือนกรกฎาคม หน่อไม้เสียดฟ้า” หมายความว่าในเดือนนี้หน่อไม้จะเริ่มแก่ ยอดเสียดขึ้นเท่าต้นแม่
- เดือนสิงหาคม ถือเป็นเดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ มีการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงไร่ (ลาคุ) และฉลองกลางปีเพื่อขอบคุณสิ่งสูงสุดที่บันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ไร่ ทั้งยังถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้มีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ประมาณกลางเดือนจะเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวข้าวโพด
- เดือนกันยายน ถั่วกันยาเริ่มออกฝักอ่อน มันสำปะหลังเริ่มออกหัว สามารถขุดมากินได้ ฟักทอง ฟักเขียว เริ่มให้ลูกอ่อน มะเขือสายพันธุ์ต่าง ๆ พริกหนุ่ม รากหอมซุง สามาถเก็บผลผลิตได้แล้ว
- เดือนตุลาคม เป็นเดือนที่แตงกวาเจริญเติบโตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว เผือกและมันโตพอที่จะเก็บมารับประทานได้ แต่ยังไม่แก่เต็มที่ ถั่วชนิดต่าง ๆ เริ่มให้ฝักอ่อนในระยะหางหนู
- เดือนพฤศจิกายน แตงกวาแก่เต็มที่ เปลือกเริ่มมีสีเหลือง ชาวกะเหรี่ยงมีคำกล่าวว่า “เดือนพฤศจิกายน เปลือกแตงกวาออกไหม้ดั่งข้าวตัง” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเดือนที่พืชพันธุ์จากไร่ให้ผลผลิตสมบูรณ์ที่สุด
- เดือนธันวาคม เป็นหน้าตีข้าวและแบกข้าว อาหารที่สามารถเก็บกินได้ในเดือนนี้ ได้แก่ ฟักทอง ฟักเขียว แตงกวา เผือก มัน ถั่วพู ถั่วแปบ ถั่วชนิดต่าง ๆ อ้อย และยอดไม้ต่าง ๆ เนื่องจากหมดหน้าไร่แล้ว
- เดือนมกราคม-มีนาคม เป็นช่วงว่างเว้นจากการทำไร่ เนื่องจากหมดหน้าไร่ไปแล้ว แต่ยังมีพืชบางชนิดที่สามารถเก็บผลผลิตได้ เช่น ฝักถั่วแปบ เมล็ดถั่ว เผือก มัน ฯลฯ รวมถึงพืชอีกหลายชนิดที่สามากเก็บกินได้ตลอดฤดูร้อน เช่น ฟักเขียว ฟักทอง แตงกวา เป็นต้น
ศาสนา และความเชื่อ
ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าคานอกมีการนับถือผีและดวงวิญญาณเป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรมและค่านิยมหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ตายไปจะคอยตามปกป้องคุ้มครองลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดเวลา ให้ความเคารพผีไร่ผีนาที่คอยดูแลไร่นาให้มีความอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ การที่ชาวกะเหรี่ยงนับถือผีและดวงวิญญาณเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจนี้ เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดพิธีกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น พิธีการเลี้ยงผีไร่ พิธีการเลี้ยงผีบ้านผีเรือน พิธีการเลี้ยงผีน้ำ พิธีมัดมือปีใหม่ เป็นต้น แต่ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าคานอกบางส่วนหันมานับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดป่าคาเป็นศาสนสถานศูนย์กลางการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามวาระวันสำคัญต่าง ๆ อีกทั้งยังมีชาวบ้านบางส่วนที่นับถือศาสนาอื่น เช่น ศาสนาคริสต์ เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนมีอิสระในการนับถือศาสนาตามความต้องการ ทว่าการนับถือศาสนาของชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าคานอกดำเนินไปควบคู่กับการนับถือผีและดวงวิญญาณโดยไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ ยังคงเข้าร่วมพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงอยู่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี
ภาษาพูด : ภาษากะเหรี่ยง ภาษาไทย
ภาษาเขียน : ภาษากะเหรี่ยง ภาษาไทย
บ้านป่าคานอกเป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการปลูกป่าของหน่วยงานจัดการต้นน้ำที่ปลูกป่าทับไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน เมื่อหน่วยจัดการต้นน้ำได้มาตั้งหน่วยที่บ้านแม่ลานคำ เข้ามาติดป้ายเขตป่าสงวนแห่งชาติกระจายตามพื้นที่ป่า ไร่นาของชุมชน มีการตัดถนน สร้างโรงเรียน สร้างวัด อีกทั้งหน่วยจัดการต้นน้ำได้มาตั้งหน่วยที่บ้านแม่ลานคำ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเข้ามาปลูกป่า และดูแลต้นน้ำในเขตบ้านแม่ลานคำและบ้านป่าคานอก เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้นำไม้ยูคามาปลูกบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน และบริเวณใกล้เคียงแคมป์ป่าไม้ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่ป่าของรัฐ ต่อมาทางหน่วยงานจัดการต้นน้ำได้มีการว่าจ้างคนในหมู่บ้านให้มีการบุกเบิกที่นาของตนเองเพื่อขยายพื้นที่การปลูกป่ามากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่ง ช่วงชิง ต่อรองพื้นที่ไร่หมุนเวียนระหว่างชาวบ้านและหน่วยจัดการต้นน้ำ ชาวบ้านที่สูญเสียที่ดินทำกินได้มีการทักท้วงโดยการเข้าไปบอกกล่าวกับหน่วยจัดการต้นน้ำโดยตรง กระทั่งร้องเรียนให้นายอำเภอสะเมิงขึ้นมาตรวจสอบพื้นที่ ทว่าไม่เป็นผล ชาวบ้านบางคนได้รับการข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทั้งข่มขู่ดำเนินคดี และข่มขู่ทำร้ายร่างกาย ส่วนชาวบ้านบางรายที่ไม่มีพื้นที่ทำกินจึงใช้พื้นที่ต่อ ซึ่งทำให้เกิดข้อบาดหมางกับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ถูกกล่าวหาว่าทำลายต้นไม้ที่หน่วยงานรัฐปลูกจนพื้นที่ไร่หมุนเวียนในเขตหมู่บ้านสูญเสียไปกว่าครึ่งจนขาดพื้นที่ทำกิน ในที่สุดชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันสร้างพลังเจราต่อรองเข้าไปแย่งชิงพื้นที่ทำกินจากหน่วยจัดการต้นน้ำ ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ได้แสวงหาทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่น ๆ รวมถึงเริ่มปรับรูปแบบการทำไร่หมุนเวียนในลักษณะที่ประนีประนอมกับภาครัฐ เพื่อผ่อนปรนความขัดแย้ง และลดแรงกดดันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐลง การเจรจาต่อรองนี้เป็นเหตุให้ชาวบ้านบางส่วนได้ที่ทำกินคืน แต่ในขณะเดียวกันชาวบ้านต้องยอมสูญเสียพื้นที่ทำกินส่วนหนึ่งให้กลายเป็นพื้นที่ปลูกป่าของรัฐ
ประเสริฐ ตระการศุภกร และถาวร กัมพลกุล. (2548). ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน องค์ความรู้และปฏิบัติการของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอในภาคเหนือของประเทศไทย (รายงานการวิจัย). เครือข่ายภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองบนที่สูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IKAP).