Advance search

บ้านแม่กาษา

ชุมชนบ้านแม่กาษามีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามโดยเฉพาะธรรมชาติ เป็นหมู่บ้านที่มีภูเขาล้อมรอบ และน้ำพุร้อนแม่กาษาที่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวดึงดูดคนภายนอกชุมชนให้มาสัมผัส มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ มีอาหารท้องถิ่นที่มีความโดดเด่น และมีที่พักที่น่าอยู่ สะอาด

หมู่ที่ 16
แม่กาษานุสรณ์
แม่กาษา
แม่สอด
ตาก
อบต.แม่กาษา โทร. 08 1379 1093
กัญญารัตน์ ใจดี, บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
31 ต.ค. 2024
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
14 ก.พ. 2025
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
16 ก.พ. 2025
บ้านแม่กาษานุสรณ์
บ้านแม่กาษา

บ้านเเม่กาษานุสรณ์เเยกออกจากบ้านแม่กาษา หรือหมู่ที่ 2 ของตำบลแม่กาษา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546 ในเวลานั้นชุมชนได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "กาษานุสรณ์" เนื่องจากต้องการให้เป็นที่ระลึกอนุสรณ์ของบ้านแม่กาษาเดิม ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของหมู่บ้านแม่กาษานั้นบันทึกโดยองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษา ระบุว่าแม่กาษาเป็นชื่อที่มาจากตำนานที่เล่าขานมากกว่า 100 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือมีครอบครัวเศรษฐีที่สามีภรรยามีลูกสาว 2 คน ชื่อนางบัวเหลียวและนางอุษา อาศัยอยู่ที่บ้านแม่วัง ตำบลวังหมั่น อำเภอสามเงา จังหวัดตาก แม้จะมีความร่ำรวยแต่ครอบครัวกลับไม่มีความสุข จนฝ่ายผู้เป็นแม่เสียชีวิตไป ทำให้ 3 คน พ่อลูกตัดสินใจหาที่อยู่ใหม่ และวางแผนเดินทางไปพม่าทั้งหมดพร้อมบริวารเดินทางด้วยช้าง แต่มีเหตุสลดใจเมื่อนางบัวเหลียวเกิดพลัดตกจากคอช้างเสียชีวิต ทำให้บริเวณนั้นมีชื่อตามตำนานว่าม่อนเหลียว การเดินทางของสองพ่อลูกและคณะต่อไปยังดอยหลวงที่เบื้องล่างมีปางควายอยู่ ซึ่งเป็นที่พักแรมของพ่อค้าวัวควายในสมัยนั้น จึงทำให้มีบ้านเรือนบางส่วนตั้งรกรากอยู่ เนื่องด้วยมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ทำให้เศรษฐีผู้นั้นต้องการสำรวจเส้นทาง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการคนเฝ้าทรัพย์สิน เศรษฐีผู้นั้นคิดอุตริว่าต้องการคนตายหรือผีมาเฝ้าซึ่งจะทำให้คนกลัว แต่ไม่มีข้าทาสบริวารคนใดเสียสละ แต่ลูกสาวของเขากลับยอมเป็นผู้เสียสละ ทำให้เศรษฐีผู้นั้นใช้ดาบฟันนางอุษาถึงแก่ความตาย ด้วยความโศกเศร้าที่ลูกสาวยอมเสียชีวิต จึงได้ตั้งชื่อถ้ำบริเวณนั้นว่า "ถ้ำแม่อุษา" ซึ่งติดอยู่กับลำห้วยแม่กาษา ต่อมานางอุษาเมื่อเสียชีวิตแล้วได้กลายเป็นเจ้าแม่เฝ้าถ้ำบริเวณปางควาย ซึ่งก็ถือชื่อหมู่บ้านแม่กาษาและชุมชนได้สร้างศาลเจ้าแม่อุษาไว้ใกล้กับน้ำพุร้อนใกล้กับถ้ำแม่อุษา

ขณะที่เพจศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม (2554) เจ้าอุษาเป็นบุตรีของเจ้าเมืองฉอด ในสมัยกรุงธนบุรี ก่อนปี พ.ศ. 2318 พม่าได้ยกกองทัพตีเมืองฉอด ผู้ซึ่งมีเจ้าพ่อพะวอ เชื้อสายกะเหรี่ยง เป็นบุตรเขยและเป็นขุนศึกสำคัญ เจ้าเมืองฉอดเห็นสถานการณ์ว่ายากที่จะต้านกองทัพพม่า จึงให้เจ้าพ่อพะวอนำเจ้าแม่อุษาพร้อมไพร่พลและทรัพย์สมบัติบางส่วนอพยพออกจากเมืองฉอดโดยยึดแนวภูเขาเป็นทางเดินทัพ โดยมุ่งหน้าไปทางเมืองตาก ขณะนั้นเจ้าแม่อุษาได้ตั้งครรภ์แล้ว การเดินทางเป็นไปด้วยความลำบาก ผ่านหลายหมู่บ้าน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 เดือน เพราะต้องทำการสู้รบกับกองทัพพม่าที่ไล่ติดตามมา หลังเจ้าแม่อุษาคลอดลูก เจ้าพ่อพะวอจึงให้ทหารสำรวจพื้นที่ พบถ้ำมีบ่อน้ำเย็นที่ผุดออกมาจากรูหิน และมีบ่อน้ำร้อนอยู่ใกล้ ๆ ถือเป็นสมรภูมิที่ดีเนื่องจากอยู่ติดดอย จึงหยุดพัก เจ้าแม่อุษาพร้อมไพร่พลขนทรัพย์สมบัติเข้าไปอยู่ในถ้ำ และได้ปิดปากถ้ำบางส่วน ส่วนเจ้าพ่อพะวอได้เดินทางต่อ ในเวลาต่อมาส่วนเจ้าแม่อุษาก็ได้เสียชีวิตในถ้ำ ด้วยแรงศรัทธานับถือของผู้คนในหมู่บ้าน จึงตั้งชื่อและให้ตั้งศาลเป็นที่สักการะของผู้คนจนถึงปัจจุบัน 


ชุมชนบ้านแม่กาษามีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามโดยเฉพาะธรรมชาติ เป็นหมู่บ้านที่มีภูเขาล้อมรอบ และน้ำพุร้อนแม่กาษาที่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวดึงดูดคนภายนอกชุมชนให้มาสัมผัส มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ มีอาหารท้องถิ่นที่มีความโดดเด่น และมีที่พักที่น่าอยู่ สะอาด

แม่กาษานุสรณ์
หมู่ที่ 16
แม่กาษา
แม่สอด
ตาก
63110
16.87475085135044
98.6238698535168
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษา

บ้านแม่กาษานุสรณ์เป็นหมู่บ้านที่แยกออกมาจากบ้านแม่กาษา หมู่ 2 ในวันที่ 9 ตุลาคม 2546 ดังนั้นจึงมีความใกล้ชิดและสัมพันธ์กับบ้านแม่กาษา ซึ่งเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมของตำบลแม่กาษา มีกลุ่มชาติพันธุ์ม้งและปกาเกอญอหรือกะเหรี่ยงที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานมาก่อนกว่าร้อยปีแล้ว เนื่องจากเป็นบริเวณที่ส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าชายแดนที่สำคัญในอดีตที่เชื่อมโยงไทยกับพม่าหรือเมียนมาด้วยมีดินแดนที่เชื่อมต่อกัน ทำให้คนฝั่งพม่าอพยพย้ายเข้ามายังแม่กาษากันอย่างต่อเนื่อง จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2468 มีกลุ่มคนอพยพมาจากภาคเหนือ ได้แก่จากจังหวัดลำพูนและลำปาง คนเหล่านี้ตั้งใจจะไปตั้งรกรากที่ประเทศพม่า เมื่อเดินทางมาถึงเมืองฉอด (แม่สอดปัจจุบัน) เจ้าเมืองฉอดไม่ให้คนเหล่านี้ไปตั้งรกรากที่พม่า แต่กลับมาดูสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่หนีไปเกือบหมด เหลือเพียงแค่ 2 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้ จึงได้มีการปรึกษาหารือกันที่จะตั้งรกรากบริเวณนี้ กลุ่มคนจากทางภาคเหนือจึงได้ลองพักอาศัยก่อนเพื่อความอยู่รอด อีกทั้งทางราชการได้มอบพื้นที่ทุ่งหลวงและทุ่งใต้ให้ไว้เป็นสมบัติของหมู่บ้าน ทำให้คนจากภาคเหนือตัดสินใจตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านแรกคือหมู่บ้านแม่กื้ดหลวง (กื้ด ในภาษาพื้นเมือง หมายถึง คิด ส่วน หลวง มาจากทุ่งหลวง) หรือหมู่ 1 ของตำบลแม่กาษาในปัจจุบัน

เริ่มแรกหมู่บ้านแม่กึ๊ดมีจำนวนครัวเรือนประมาณ 70 หลังคาเรือน โดยมีผู้นำคนแรก คือ กำนันจินะ ปันสา ได้ดำรงตำแหน่งจนถึงเกษียณอายุ ในระหว่างดำรงตำแหน่งได้สร้างวัด โรงเรียน และสิ่งปลูกสร้างมากมาย ชุมชนขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นชุมชนได้ขยายตัวและมีการแยกหมู่บ้านใหม่มาเรื่อย ๆ จนเป็นตำบลแม่กาษา ซึ่งมีทั้งหมด 16 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านแม่กื้ดหลวง หมู่ที่ 2 บ้านแม่กาษา หมู่ที่ 3 บ้านแม่กื้ดใหม่ หมู่ที่ 4 บ้านโกกโก่ หมู่ที่ 5 บ้านแม่กื้ดสามท่า หมู่ที่ 6 บ้านน้ำดิบ หมู่ที่ 7 บ้านห้วยบง หมู่ที่ 8 บ้านแม่กื้ดสามท่าใหม่ หมู่ที่ 9 บ้านไทยสามัคคี หมู่ที่ 10 บ้านใหม่ริมเมย หมู่ที่ 11 บ้านโพธิ์ทอง หมู่ที่ 12 บ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ 13 บ้านแม่กาษาใหม่ไหล่ท่า หมู่ที่ 14 บ้านแม่กาษาโพธิ์เงิน หมู่ที่ 15 บ้านแม่กื้ดใหม่ดอนสว่าง และหมู่ที่ 16 บ้านแม่กาษานุสรณ์ ปัจจุบันชุมชนตำบลแม่กาษายังคงมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตกับฝั่งเมียนมาอย่างต่อเนื่อง 

บ้านแม่กาษานุสรณ์นั้นแยกออกมาจากหมู่บ้านแม่กาษาในปี พ.ศ. 2546 โดยมีอาณาเขตทิศตะวันตกติดกับบ้านแม่กาษา หมู่ที่ 2 แม่กาษาใหม่ไหล่ท่า หมู่ 13 ส่วนทิศตะวันออกติดกับเทือกเขาถนนธงชัย ทิศเหนือติดกับบ้านโพธิ์ทอง หมู่ 11 และทิศใต้ติดกับบ้านแม่กึ๊ดสามท่า หมู่ 5 หมู่บ้านอยู่บนเส้นทางคมนาคมทางบก มีถนนสายหลักคือสายแม่สอดและแม่ระมาด โดยมีรถโดยสารประจำทางแม่สอด-แม่กาษา วิ่งผ่านทุกวันช่วงเวลา 06.00-12.00 น. แต่ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัวเป็นหลักเพราะอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองแม่สอด ใช้เวลาประมาณ 25 นาที

ตำบลแม่กาษามีองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษา หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลขนาดกลาง ได้รับการประกาศให้ "สภาตำบลแม่กาษา" จัดตั้งเป็น "องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษา" ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ประกาศ ณ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 113 ตอนพิเศษ 52 ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2539 องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษา อยู่ห่างจากแม่สอด 26 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 161.244 ไร่ เท่ากับ 258.93 ตารางกิโลเมตรมีอาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอแม่ระมาด ทิศใต้ติดต่อกับตำบลแม่ปะทิศตะวันออกติดต่อกับตำบลพะวอ ทิศตะวันตกติดต่อกับสาธารณรัฐเมียนมา

สภาพภูมิอากาศ

ลักษณะอากาศ โดยทั่วไปตำบลแม่กาษามีลักษณะพื้นที่ราบลุ่มห้อมล้อมไปด้วยภูเขารอบด้าน ทำให้อากาศเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ซึ่งจะมีอยู่ 3 ฤดู ดังนี้ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคมอากาศร้อน แต่บางครั้งอาจมีอากาศเย็น และบางครั้งมีพายุฝนฟ้าคะนองขึ้นอยู่กับกรมอุตุนิยมวิทยา ส่วนใหญ่อากาศ จะมีอุณหภูมิประมาณ 35-39 องศา ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม แต่อาจจะเกิดฝนทิ้งช่วงประมาณ 1-2 สัปดาห์หรืออาจจะเกิดฝนฟ้าคะนองรุนแรงและมีฝนน้อยนานนับเดือน ในช่วงเดือนกรกฎาคม ตำบลแม่กาษาเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมทุกปี ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ตอนเช้าอากาศเย็นและแปรปรวนไม่แน่นอน มีอากาศหนาวเย็นอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 10 องศา ในช่วงฤดูหนาวอากาศที่ชุมชนมีทัศนียภาพที่สวยงามเหมาะแก่การไปพักผ่อน เมื่อได้ไปท่องเที่ยวจะทำให้รู้สึกผ่อนคลายทั้งกายและใจ

จำนวนประชากรของหมู่บ้านแม่กาษาและหมู่บ้านแม่กาษานุสรณ์ที่มีการสำรวจโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในเดือนธันวาคม 2567 มีรายละเอียดดังนี้ บ้านแม่กาษามีประชากรรวม 892 คน จาก 520 หลังคาเรือน ส่วนบ้านแม่กาษานุสรณ์มีประชากร 419 คน จาก 186 หลังคาเรือน

อาชีพประชากร

ประชากรของบ้านแม่กาษา มีอาชีพหลักในการทำการเกษตรกรรม โดยเฉพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเช่น ข้าวโพด อ้อย ถั่วต่าง ๆ และสวนพืชผักผลไม้ อาชีพรอง หลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยวจะทำอาชีพค้าขายและรับจ้างทั่วไป ซึ่งสามารถแบ่งสัดส่วนของอาชีพได้ดังนี้ อาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 22.6 ของจำนวนประชากรทั้งหมดเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 2.75 รับจ้าง ร้อยละ 8 และค้าขาย ร้อยละ 9

นอกจากนี้ทั้งในระดับตำบลและหมู่บ้าน แม่กาษายังมีอาชีพที่เกิดจากการร่วมมือของชุมชน ในการสร้างโฮมสเตย์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสถานที่ท่องเที่ยวที่ชื่อว่า "ฮักนะแม่กาษา" เป็นการรวมตัวจัดสรรพื้นที่ในหมู่บ้านเพื่อตั้งกลุ่ม โดยรวมตัวคนในตำบลแม่กาษา เพื่อเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ภูมิปัญญาเหล่านี้จึงมีความสำคัญในการส่งต่อความรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่ได้รู้จักวัฒนธรรมและทรัพยากรที่อยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการละเล่น อาหารพื้นเมือง จักสาน ประเพณี เป็นต้น อีกทั้งยังมีสินค้าชุมชนที่คนสามารถซื้อเป็นของฝากที่ระลึกได้ ภูมิปัญญาเหล่านี้มีคุณค่าในแง่ของการอนุรักษ์ธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนสมัยก่อน หากนักท่องเที่ยวท่านใดเข้ามาเรียนรู้ในฮักนะแม่กาษา จะได้รับการต้อนรับเป็นการแสดงของชมรมผู้สูงอายุรวมใจ และการแสดงตีกลองสะบัดชัย ฟ้อนดาบ มีพิธีบายศรีสู่ขวัญ และได้เรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านต่าง ๆ

ปี 2559 มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์รวมทางมรดก วัฒนธรรมและธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวคงไว้ โดยให้ผู้สูงอายุที่ว่างจากการทำงานบ้านมาช่วยกันพัฒนาฮักนะแม่กาษาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งในการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงทำให้กลุ่มผู้นำชุมชนและชาวบ้านมีการปรึกษาหารือกันในการผลักดันชุมชนฮักนะแม่กาษาให้เป็นชุมชน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว ส่งผลให้มีการตอบรับที่ดีทุกคนต่างให้การสนับสนุน จึงเกิดการรวมกลุ่มเพื่อสร้างรายได้จากอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชน จนถึงปัจจุบันกลุ่มฮักนะแม่กาษาได้พัฒนาขึ้นจนเป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี มีโรงเรียนภายในแม่สอดและองค์กรต่าง ๆ จำนวนมากมาศึกษาดูงานการเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ซึ่งจะมีกิจกรรม 8 ฐาน โดยมีกลุ่มชาวบ้านมาให้ความรู้ในแต่ละฐานแตกต่างกันออกไป จนในวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 หมู่บ้านแม่กาษา กลุ่มฮักนะแม่กาษาได้รับรางวัลเครื่องหมายรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Standard) ของกรมการท่องเที่ยวประจำปี 2566 ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวในแก่ชุมชนมากขึ้น

กลุ่มผู้นำตำบลแม่กาษา และประธานกลุ่มแม่บ้านฮักนะแม่กาษา เป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับของชุมชนให้มีมาตรฐานมากขึ้น

ชื่อ-นามสกุล ตำแหน่ง
กำนันสมเกียรติ ทิยอด กำนันตำบลแม่กาษา
นายรุ่งศักดิ์ เถื่อนแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษา
นายสุรัตน์ชัย ใจดี รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษา
นายวิเชียร อุปรี รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษา
นายสมเกียรติ ใจดี เลขานุการองคฺการบริหารส่วนตำบลแม่กาษา
นางสาววรรณนิสา ใจเถิน ประธานกลุ่มแม่บ้าน ฮักนะแม่กาษา

(ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567)

นอกจากนี้ ชุมชนได้จัดตั้งกลุ่มฮักนะแม่กาษาขึ้นมา เพื่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่หมู่บ้าน และมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ โดยจะมีองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษาคอยทำหน้าที่สนับสนุน และจัดการความเรียบร้อยในชุมชนเป็นอย่างดี โดยการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนส่วนใหญ่มักจะได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี

ขนบธรรมเนียม ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญทั้งในหมู่บ้านแม่กาษานุสรณ์ แม่กาษา และหมู่บ้านอื่น ๆ ในตำบลแม่กาษาได้แก่

  1. เดือนกุมภาพันธ์ งานประเพณีเลี้ยงศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน
  2. เดือนเมษายน จัดงานประเพณีสงกรานต์
  3. ดือนมิถุนายน ประเพณีสือชะตาป่า
  4. เดือนกรกฎาคม แห่เทียนจำพรรษา
  5. เดือนกันยายน ประเพณีกวนข้าวทิพย์
  6. เดือนตุลาคม ประเภณีสลากภัต
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ผลิตภัณฑ์ และสินค้า OTOP จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของตำบลแม่กาษา ได้แก่

1.ข้าวกล้องหอมมะลิ เป็นข้าวที่ปลูกและเติบโตขึ้นในแปลงนาที่ปลูกด้วยธารน้ำแร่ ไหลจากน้ำพุร้อนแม่กาษา ซึ่งเป็น 1 ในไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่น้ำแร่ไม่มีกลิ่นฉุน สามารถปลูกนาข้าวได้ ชาวบ้านเล็งเห็นคุณค่าของธารน้ำที่บริสุทธิ์ และให้คุณค่าอาหาร ผลิตโดยหมู่บ้านแม่กาษาโพธิ์เงิน หมู่ที่ 14 สามารถติดต่อซื้อได้ที่เบอร์ 08 8239 0083

2.วิสาหกิจชุมชนแม่ละออ โดยกลุ่มสตรีหมู่บ้านแม่กื้ดหลวงทำผลิตภัณฑ์จากกล้วยน้ำว้า เนื่องจากกล้วยน้ำว้าคือผลไม้ที่มีส่วนช่วยในการบำรุงร่างกาย เป็นผลไม้ที่หาซื้อง่ายตามหมู่บ้านอีกทั้งยังช่วยคนในชุมชนมีรายได้ กล้วยทอดแม่ละออเป็นของว่างที่ได้รับความนิยมเนื่องด้วยรสชาติหวานอร่อย ทั้งยังใช้วัตถุดิบที่สดใหม่ทุกวัน ทอดในน้ำมันคุณภาพดี จึงทำให้กรอบอร่อยและไม่อบน้ำมัน ปัจจุบันสินค้าแม่ลออมีการจำหน่ายหลากหลายช่องทาง ทั้งในตลาด ร้านค้า และผ่านช่องทางออนไลน์ ผลิตโดยกลุ่มสตรีหมู่บ้านแม่กื้ดหลวง ติดต่อ 08 7212 8684

3.เครื่องจักสาน

ภาษาพูดในชุมชนเป็นภาษาเหนือที่ออกสำเนียงท้องถิ่นไม่เหมือนทางภาคเหนือหรือเมืองเชียงใหม่


จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม พบว่าชุมชนแห่งนี้มีสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลง ความท้าทาย และการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นความพร้อมของชุมชนบ้านแม่กาษาที่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบ ทั้งนักท่องเที่ยวที่ชอบธรรมชาติ ชอบผจญภัย และชอบเรียนรู้วิถีชีวิต โดยสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นจุดเด่นของบ้านแม่กาษาคือ บ่อน้ำพุร้อนแม่กาษา และ ยังมีสถานที่ที่สำคัญอีกมากมายทั้งน้ำตกแม่กาษาที่มีขนาดใหญ่ มีทางเดินขึ้นไปบนเขาสูง และธารน้ำไหลตลอดกว้างประมาณ 5 เมตร เป็นทางจากปากถ้ำถึงน้ำตกน้ำใสเย็นน่าเล่นอยู่ตลอด

อีกหนึ่งสถานที่สำคัญของคนบ้านแม่กาษาสักการบูชาคือถ้ำแม่อุษา เป็นแหล่งท่องเที่ยวไว้ศึกษาธรรมชาติและผจญภัยที่สนุกสนาน นอกจากตำนานถ้ำแม่อุษาจนกลายเป็นชื่อหมู่บ้านตามที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ลักษณะภาพของถ้ำอุษาเหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ ในถ้ำห้องมีขนาดใหญ่เป็นห้องโถง 13 ห้องที่เชื่อมถึงกันได้ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยมากมาย มีความสวยงามที่แตกต่างกัน แต่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวส่วนน้อยที่จะเดินขึ้นไปถ้ำแห่งนี้ รอบข้างถ้ำยังเต็มไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม มีพืชพรรณธรรมชาติของท้องถิ่น ซึ่งในบ้านแม่กาษานอกจากจะมี น้ำพุร้อนแม่กาษา ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อมาเนิ่นนานแล้ว ยังมีอโรคยาโป่งคำรามที่เป็นแช่น้ำออนเซ็นในถังไม้โอ๊คแบบญี่ปุ่น โดยใช้สายธารน้ำร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมาปรับปรุงเสริมแต่งเพื่อความเหมาะสม ใช้เป็นสถานที่บำบัดรักษาโรคสำหรับการแช่น้ำร้อนเพื่อสุขภาพ อีกทั้งยังช่วยผ่อนคลายและเพื่อการท่องเที่ยว เป็นบ่อน้ำแร่ที่มีคุณภาพที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีความเชื่อว่าสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอาการเมื่อยล้าต่าง ๆ ได้ 


ด้านวัฒนธรรมชุมชนมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นน่าเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิถีชีวิตของคนในชุมชน วิถีการทำการเกษตร ประเพณีของชุมชน และการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้การประกอบอาหารและขนมพื้นบ้าน เช่น ยำไก่ผีปูย่าหรือยำไก่สมุนไพร ขนมว้องในภาษาถิ่น (ขนมวง) และข้าวเเคบ เป็นต้น กิจกรรมที่กล่าวถึงนี้ได้หลอมรวมอยู่ในกลุ่มฮักนะแม่กาษา หากท่านใดสนใจเรียนรู้วิถีชีวิตภูมิปัญญาท้องถิ่นสามารถติดต่อได้ที่ประธานกลุ่ม

นอกจากนี้ พบว่าชุมชนได้สร้างการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพด้านการท่องเที่ยวของชุมชนและกิจกรรมต่าง ๆ บนสื่อโซเชียลที่ทันสมัย วิสาหกิจชุมชนก็สามารถติดต่อได้กับโดยตรงทั้งออนไลน์หรือโทรศัพท์ อีกทั้งยังมีช่องทางออนไลน์มาถ่ายคลิปรีวิวที่บ้านแม่กาษาค่อนข้างมากและได้รับกระแสตอบรับที่ดี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.). (ม.ป.ป.). อโรคยาศาลโป่งคำราม (บ่อน้ำแร่โป่งคำราม). สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2568, https://thai.tourismthailand.org/Attraction/

ศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2554). เจ้าอุษา บุตรีเจ้าเมืองฉอด”. สืบค้นเมื่อกุมภาพันธ์ 2568, http://www.m-culture.in.th/album/

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษา. (2562). ประวัติความเป็นมา. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2567, https://www.maekasa.go.th/home

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษา. (2562). ผลิตภัณฑ์. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2567, https://www.maekasa.go.th/home

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กาษา. (2562). สภาพทั่วไป. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2567, https://www.maekasa.go.th/home

ฮักนะแม่กาษา. (2567). ฮักนะแม่กาษา. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2567, https://ฮักนะแม่กาษา.ไทย/#6d

อบต.แม่กาษา โทร. 08 1379 1093