Advance search

มีการแสดงหรือการละเล่นที่หลากหลาย ได้แก่ การแสดงมังคละ วงปี่พาทย์ วงกลองยาว บริเวณรอบ ๆ มีทิวทัศน์ที่สวยงามของภูเขาและป่าไม้ เหมาะสำหรับการเดินป่าและทำกิจกรรมกลางแจ้ง

หมู่ที่ 4
บ้านกกแรต
กกแรต
กงไกรลาศ
สุโขทัย
อบต.กกแรต โทร. 0 5561 1404-5
กัญญารัตน์ ประภัย
25 ก.ย. 2024
กมเลศ โพธิกนิษฐ
18 มี.ค. 2025
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
17 ก.พ. 2025
บ้านกกแรต

ตำบลกกแรตจะเป็นป่าทึบ และมีหนองน้ำขนาดใหญ่จะมีสัตว์ป่าต่าง ๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะแรด ซึ่งฝูงแรดจะเดินผ่านพื้นที่และจะหยุดพักอยู่เป็นเวลานานแล้วเดินทางต่อไป ผู้คนเห็นจึงได้ชื่อ "กกแรต" ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน


มีการแสดงหรือการละเล่นที่หลากหลาย ได้แก่ การแสดงมังคละ วงปี่พาทย์ วงกลองยาว บริเวณรอบ ๆ มีทิวทัศน์ที่สวยงามของภูเขาและป่าไม้ เหมาะสำหรับการเดินป่าและทำกิจกรรมกลางแจ้ง

บ้านกกแรต
หมู่ที่ 4
กกแรต
กงไกรลาศ
สุโขทัย
64170
16.98160549
100.0426117
องค์การบริหารส่วนตำบลกกแรต

ตำบลกกแรตเป็นตำบลหนึ่งในสิบเอ็ดตำบลของอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ในอดีตที่ผ่านมานั้น เมื่อประมาณ 100 กว่าปีได้ย้ายออกจากตำบลไกรนอก เดิมมีพื้นที่ของตำบลจำนวน 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านปรักทอง ปรักร้าง ป่ารัง และแก่งหลวง มีผู้นำคนแรกชื่อ ขุนศรหนูมาก และตำบลกกแรตจะเป็นป่าทึบ และมีหนองน้ำขนาดใหญ่ จะมีสัตว์ป่าต่าง ๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะแรด ซึ่งฝูงแรดจะเดินผ่านพื้นที่และจะหยุดพักอยู่เป็นเวลานานแล้วเดินทางต่อไป ผู้คนเห็นจึงได้ชื่อ "กกแรต" ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน 

ตำบลกกแรต อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ ประมาณ 11 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดสุโขทัยประมาณ 32 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 37.8 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 23,633 ไร่ การแบ่งเขตการปกครองมีทั้งหมด 12 หมู่บ้าน มีประชากร รวมทั้งสิ้น 5,253 คน จำนวน 1,530 ครัวเรือน

ลักษณะภูมิประเทศ สภาพโดยทั่วไปตำบลกกแรตเป็นพื้นที่ราบ ฤดูฝนเกิดภาวะน้ำท่วมขัง ส่วนใหญ่น้ำจะไหลมาจากอำเภอสวรรคโลก เข้าสู่หมู่ที่ 7 บ้านในดง ทางทิศเหนือของตำบลกกแรต ซึ่งเป็นเขตติดต่อตำบลไกรกลาง มีคลองธรรมชาติ หนอง และบึงหลายแห่งที่สำคัญ อาทิ คลองเหมืองยาง คลองตะเข้ คลองวังทอง คลองท้ายวัง คลองกกแรต คลองแก่งหลวง บึงปรึก เป็นต้น

อาณาเขตติดต่อพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อ ตำบลวังวน ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก 
  • ทิศใต้ ติดต่อ ตำบลบ้านใหม่สุขเกษม - ตำบลไกรนอก อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อ ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก
  • ทิศตะวันตก ติดต่อ ตำบลไกรนอก - ตำบลไกรกลาง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย 

การปกครอง แบ่งออกเป็น 12 หมู่บ้าน ประกอบด้วย 

  • หมู่ที่ 1 บ้านปรักทอง มีนายเอื้อน คงรอด เป็นผู้ใหญ่บ้าน
  • หมู่ที่ 2 บ้านปรักรัก มีนายเฉลิม ทับสุข เป็นผู้ใหญ่บ้าน
  • หมู่ที่ 3 บ้านป่ารัง มีนายสนิท กราบกราน เป็นกำนันประจำตำบล
  • หมู่ที่ 4 บ้านกกแรต มีนายอนันต์ ต้มกลั่น เป็นผู้ใหญ่บ้าน
  • หมู่ที่ 5 บ้านคลองตะเข้ มีนายจำเริญ จันเกษม เป็นผู้ใหญ่บ้าน
  • หมู่ที่ 6 บ้านแก่งหลวง มีนายเข็มทอง กุหลาบ เป็นผู้ใหญ่บ้าน
  • หมู่ที่ 7 บ้านในดง มีนายเข่ง เขียวเหลือง เป็นผู้ใหญ่บ้าน
  • หมู่ที่ 8 บ้านบ่อเพลา มีนายสุวิทย์ อ่องเกษม เป็นผู้ใหญ่บ้าน
  • หมู่ที่ 9 บ้านเกาะทับผึ้ง มีนายอนงค์ แก้วมี เป็นผู้ใหญ่บ้าน
  • หมู่ที่ 10 บ้านท่าพาย มีนายสุรเดช ปานเกิด เป็นผู้ใหญ่บ้าน
  • หมู่ที่ 11 บ้านโคกมะตูม มีนายลำดวน แสงเงิน เป็นผู้ใหญ่บ้าน
  • หมู่ที่ 12 บ้านคลองท้ายวัง มีนายสุรินทร์ เรืองรอง เป็นผู้ใหญ่บ้าน

สาธารณสุข สถานีอนามัยประจำตำบล จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สถานีอนามัยตำบลกกแรต (หมู่ 2) และ สถานีอนามัยบ้านกกแรต (หมู่ 4)

ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

  • ศูนย์บริการประชาชน จำนวน 1 แห่ง บ้านคลองท่าพาย หมู่ที่ 10
  • ผู้ช่วยฝ่ายรักษาความสงบ (ผรส.) จำนวน 222 คน
  • อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อป.พร.) จำนวน 92 คน

โครงสร้างพื้นฐาน

  • ถนนลาดยาง 3 สาย
  • ถนนคอนกรีต 15 สาย
  • ถนนดินลูกรัง 51 สาย

การโทรคมนาคม

  • สถานีวิทยุชุมชน 1 แห่ง

แหล่งน้ำธรรมชาติ

  • คลองธรรมชาติ 2 สาย
  • หนองน้ำสาธารณะ 3 แห่ง

แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น

  • ฝาย 2 แห่ง
  • บ่อน้ำตื้น 6 แห่ง
  • ประปา 10 แห่ง

จากการสำรวจในเดือนธันวาคม 2567 ประชากรบ้านกกแรตมี 705 คน เป็นชาย 258 คน และหญิง 347 คน มีครัวเรือน 278 หลัง

สภาพทางเศรษฐกิจ อาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพหลักด้านเกษตรกรรม โดยทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และรวมกลุ่มประกอบอาชีพเสริม ได้แก่ กลุ่มข้าวซ้อมมือ กลุ่มแปรรูปสมุนไพร กลุ่มน้ำพริกสมุนไพร

หน่วยธุรกิจในตำบล 

  • โรงอิฐ 2 แห่ง
  • โรงสีข้าวขนาดใหญ่ 1 แห่ง
  • โรงสีข้าวขนาดเล็ก 2 แห่ง
  • โรงเชื่อมเหล็ก 4 แห่ง
  • ร้านซ่อมจักยานยนต์ 2 แห่ง
  • ร้านขายของชำ / เบ็ดเตล็ด 53 แห่ง
  • ปั้มน้ำมันหัวจ่าย/ปั้มหลอด 5 แห่ง
  • เสาสัญญาณโทรศัพท์ 1 แห่ง
  • สถานีวิทยุชุมชน 1 แห่ง

สภาพสังคม

การศึกษา

  • โรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดปรักรัก (หมู่ 222) และ โรงเรียนบ้านคลองตะเข้ (หมู่ 5)
  • โรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาส จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดกกแรต (หมู่ 4 )
  • ศูนย์การเรียนชุมชน (ศรช.) จำนวน 1 แห่ง
  • ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์วัดกกแรต (หมู่ 4) ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์วัดใหม่สิงห์ทอง (หมู่ 1) และ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลกกแรต

สถาบันและองค์กรทางศาสนา

  • วัด 5 แห่ง ประกอบด้วย วัดใหม่สิงห์ทอง (หมู่ 1) วัดปรักรัก (หมู่ 2) วัดป่ารัง (หมู่ 3) วัดกกแรต (หมู่ 4) และ วัดคลองตะเข้ (หมู่ 5)
  • สำนักสงฆ์ 1 แห่ง ที่พักสงฆ์บ้านแก่งหลวง (หมู่ 6)

ประเพณีและวัฒนธรรม

ประชากรในตำบลกกแรต ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประเพณีที่สำคัญในพื้นที่ ได้แก่ บรรพชา อุปสมบท มงคลสมรส รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และสรงน้ำพระในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ รวมถึงการทำบุญในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 

ประเพณีการละเล่นตลอดจน วิถีชีวิตที่สำคัญที่ได้สูญหายไป เนื่องจากไม่ได้รับการส่งเสริมในพื้นที่ได้แก่ โกนจุก ตรุษไทย ลูกช่วง และซ่อนหา

1.นายเอ เพ็ชรี่ นักดนตรีมังคละอาวุโส จากชุมชนตำบลกกแรต อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ผู้ถ่ายทอดศิลปะการเล่นดนตรีมังคละ ให้เยาวชนโรงเรียนกงไกรลาศวิทยา

การแสดงในพื้นที่ตำบลกกแรต มีการแสดงหรือการละเล่นหลายอย่าง ได้แก่

1.การแสดงมังคละ มีจำนวน 1 วง ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล

กกแรต (นายอำภร รัดเลิศ) ให้สมาชิกขององค์การบริหารส่วนตำบลทุกหมู่ได้ฝึกหัด เป็นการแสดงตัวอย่างให้ลูกบ้านได้เห็นว่าการละเล่นหรือการแสดงมังคละมีความสำคัญของพื้นที่ตำบลกกแรต โดยเชิญคุณลุงเอ เพ็ชรี่ ปราชญ์ชาวบ้านด้านการแสดงมังคละของตำบลบ้านใหม่สุขเกษม อายุ 69 ปี มาสอน ซึ่งแต่เดิมอยู่ที่ตำบลกกแรตมีครอบครัวลูก หลาน แต่เมื่อปี พ.ศ. 2522 ได้มีการแยกตำบลใหม่จากตำบลกกแรต เป็นตำบลบ้านใหม่สุขเกษมและคุณลุงเอ เพ็ชรี่ ก็ได้ย้ายมาอยู่ที่ตำบลบ้านใหม่สุขเกษมเนื่องจากมีที่นาที่นั้น และได้สอน ฝึกหัดการเล่นมังคละจนสามารถเล่นเป็นพอออกงานรื่นเริงในพื้นที่ได้ เช่น เทศกาลกินปลาของอำเภอกงไกรลาศ เทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษา เทศกาลลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ตลอดจนกิจกรรมขององค์การบริหารส่วนตำบลและสมาชิก และได้ผสมวงเล่นกับนักเรียนโรงเรียนกงไกรลาศวิทยาจนทำให้ได้ชื่อว่า “วงตากับหลาน” และมีชื่อเสียงซึ่งในงานลอยกระทงเผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ประจำปี 2550 ได้ไปร่วมประกวดวงมังคละของจังหวัดสุโขทัย และได้รับรางวัลชนะเลิศกลับมา แต่ปัจจุบัน (พ.ศ.2551) คณะสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลชุดเดิมได้หมดอายุ จึงเลือกตั้งใหม่ผลการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลชุดเดิมได้หมดอายุได้รับการเลือกกลับมามีจำนวน 2 คน ส่วนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลยังคงได้รับเลือกเข้ามาบริหารคนเดิม คือ นายอำภร รัดเลิศ จึงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ซึ่งแนวทางแก้ไข คือ ในอดีตได้จัดทำแผนการพัฒนา 3 ปี ในงานวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้มีการเรียน การสอนเรื่องของการละเล่นมังคละ โดยกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ที่สนใจในตำบล ตลอดจนเชิญอดีตผู้ที่เล่นเป็นอยู่แล้วมารวมวงมังคละและฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2552

2.วงปี่พาทย์ ซึ่งในตำบลกกแรต มีจำนวน 2 วง ได้แก่ หมู่ 1 บ้านปรักทอง และหมู่ 2 บ้านปรักรัก

3.วงกลองยาว มีจำนวน 2 วง ได้แก่ หมู่ 5 บ้านคลองตะเข้ และหมู่ 11 บ้านโคกมะตูม

ความเป็นมาของมังคละจังหวัดสุโขทัย

มังคละ เป็นชื่อกลองชนิดหนึ่ง ขึงด้วยหนัง มีรูปร่างที่เล็กกลมรี หน้ากลองกว้างประมาณ 18 เซนติเมตร ยาวประมาณ 25 เซนติเมตร ใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นอันเล็ก ๆ หรือหวายน้ำยาว 14-15 นิ้ว จำนวน 2 อันตีหน้ากลอง เสียงกลองมังคละจะมีเสียงแหลมและดังมาก คำว่า “มังคละ” หมายถึง มงคล หรืองานที่เจริญก้าวหน้า มังคละจึงเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นมงคล

การเล่นมังคละหรือกลองมังคละ

การเล่นมังคละ มีการเล่นในจังหวัดสุโขทัยมาช้านาน ตั้งแต่สมัยโบราณกาล เนื่องจากเมืองสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย มีหลักฐานในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ว่า “เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน มีบริพารกฐิน โดยท่านแล้ปี แล้ญิบล้าน ไปสูดญัติกฐินถึงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียงวังเท้าหัวลานดํบงคํกลองด้วยเสียงพาดเสียงพิน เลื่อนขับ ใครจักมักเล่นเล่น ใครจักมักหัวหัว ใครจักมักเลื่อนเลือน…………..”

คำว่า ดํบงคํกลอง เป็นคำโบราณที่มีใช้ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีของไทย แปลว่า เป็นการประโคมกลอง หรือตีกลอง ดังนั้น คำว่า “ดํบงคํกลอง” จึงหมายถึงการตีกลองหรือประโคมกลองที่ขึงด้วยหนัง ซึ่งเป็นรูปกลมรี ๆ

การเล่นมังคละหรือกลองมังคละ มีการเล่นในจังหวัดสุโขทัยแล้ว ยังมีการเล่นที่จังหวัดพิษณุโลก และที่อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งก็ได้มีการเล่นการแสดงมาช้านาน เพราะทั้ง 3 จังหวัด คือ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดอุตรดิตถ์ มีเขตพื้นที่ติดต่อกัน วัฒนธรรมทางดนตรี โดยเฉพาะดนตรีมังคละซึ่งเป็นดนตรีที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย จึงได้แพร่หลายเข้าสู่ชาว จังหวัดพิษณุโลก และที่อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งประชาชนใน 3 จังหวัดได้ไปมาหาสู่กันเป็นประจำตั้งแต่สมัยโบราณกาลจนถึงสมัยปัจจุบัน

กลองมังคละนี้ ประชาชนซึ่งเป็นชาวจังหวัดสุโขทัยเรียกว่า “บังคละ” เหตุที่ชาวสุโขทัยเรียกมังคละเป็น “บังคละ” เพราะว่าดนตรีมังคละนี้มาจากอินเดีย คนอินเดียคนไทยชอบเรียกว่า “บัง” คำว่ามังคละ จึงกลายเป็น บังคละ

ไมเคิล ไรท์ ได้เขียนบทความในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 5 ประจำเดือนมีนาคม 2527 หน้า 98-99 “หลายรสหลายเรื่อง” “มีชื่อประจำฉบับว่า” “ตีกลองมังคละที่สุโขทัย” กล่าวถึงเครื่องดนตรีสมัยกรุงสุโขทัยที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันคือกลองมังคละ จึงเชื่อได้ว่าสมัยกรุงสุโขทัยได้รับอิทธิพลมาจากลังกา โดยการเผยแพร่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ นอกจากนี้ ไมเคิล ไรท์ ได้เขียนบทความในศิลปวัฒนธรรมปีที่ 7 ฉบับที่ 6 ประจำเดือนเมษายน 2529 เรื่องดนตรีและระบำ กลองมังคละเป็นดนตรีในลังกาที่ใช้ในพิธีมงคลทุกอย่าง และเชื่อว่ากลองมังคละนี้เข้ามาพร้อมพระศาสนาของลังกา ในสมัยกรุงสุโขทัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยพญาลิไท ดังนั้น “มังคละ” จึงมิใช่เป็นของใหม่ที่ชาวบ้านคิดมาเองแต่เป็นดนตรีหลักที่กลับกลายเป็นของเมืองสุโขทัย และเป็นศิลปะของคนเพศชาย

เมืองสุโขทัย ได้รับอิทธิพลจากลังกาเกี่ยวกับพุทธศาสนา กลองมังคละ จึงเชื่อได้ว่าเวลาเกิดศึกสงคราม การออกศึกจะต้องใช้กลองมังคละตี เพื่อให้ทหารฮึกเหิมในการทำศึกสงครามสู้รบกับศัตรู หรือใช้บรรเลง หรือตีในงานพิธีต่าง ๆ ดังคำที่กล่าวอ้างอิงในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่กล่าวถึง “ดํบงคํกลอง”

นอกจาก ไมเคิล ไรท์ ที่ได้กล่าวถึงกลองมังคละ ซึ่งไทยได้รับอิทธิพลจากลังกา โดยการเผยแพร่พุทธศาสนาแล้ว ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา กล่าวคือ

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้า เสด็จไปแสดงพระธรรมเทศนา (อภิธรรม) โปรดพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลา 3 เดือน แล้วได้เสด็จกลับลงมาที่เมืองลังกัสสะนครในระหว่างที่เสด็จจากเทวโลกลงมานั้น พระพรหม และพระอินทร์ ได้เนรมิตบันไดขึ้น 3 บันได ได้แก่ บันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้ว สำหรับเป็นที่ให้พระพุทธเจ้าเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาทางบันไดแก้ว ระหว่างที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมานั้น ได้มีเทวดาตามส่งเสด็จเป็นจำนวนมาก และด้วยพุทธาภินิหาร พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้โลกทั้ง 3 โลก คือ สวรรค์ มนุษย์ และนรก ได้มองเห็นกัน ขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาทางบันไดแก้ว ได้มีคนธรรพ์มาขับร้องและบรรเลงดนตรีเพื่อเป็นพุทธบูชา เนื่องที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ จากสาเหตุเรื่องราวที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าคนธรรพ์ได้นำดนตรีชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายปี่กลองชนิดหนึ่งของไทยเรา หรือของอินเดีย โดยเฉพาะตามกิจกรรมฝาผนังพระอุโบสถ หรือวิหารต่างๆ จะมีภาพวาดเกี่ยวกับคนธรรพ์นำดนตรีมาบรรเลง มีทั้งการขับร้องฟ้อนรำ ในขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (สัมภาษณ์ นายแฉ่ง มีเจริญ ,นายจรูญ กระแส 2509) (สภาวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย, (ม.ป.ป.). หน้า 2)

คำว่า “ปี่กลอง” ที่คนธรรพ์นำมาบรรเลงในขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ มีลักษณะเหมือนปี่กลองของไทย ที่ชาวจังหวัดสุโขทัยได้เล่นหรือบรรเลงได้แก่ “กลองมังคละ” ซึ่งเป็นดนตรีพื้นบ้านของชาวจังหวัดสุโขทัย ในตามชนบทหรือตามท้องถิ่นซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งจังหวัดสุโขทัย จะเรียนกลองมังคละว่า มังคละบ้าง บังคละบ้าง และปี่กลองบ้าง สาเหตุที่ประชาชนชาวชนบทเรียนกลองมังคละเป็นปี่กลองเป็นการเรียกชื่อตามดนตรีที่ใช้ในวงมังคละ คือ ปี่และกลอง เมื่อรวมคำแล้วก็เป็นปี่กลอง (สภาวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย, ม.ป.ป., หน้า 1-3)

ประวัติการเล่นมังคละของชาวจังหวัดสุโขทัย

ในปี พ.ศ. 2507 ขณะที่นายสำเนา จันทร์จรูญ ดำรงตำแหน่งครูโรงเรียนบ้านคลองตาล (กระจ่างจินดา) อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ได้ทราบว่า หลวงปู่แหยม จ่านาค ซึ่งมีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในการเล่นมังคละ และได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีนิโคตรธาราม (วัดกุฎีจีน) ซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียน นายสำเนา จันทร์จรูญ จึงได้ขอสมัครเป็นศิษย์ในการถ่ายทอดการเล่นมังคละพื้นบ้านสุโขทัย ขณะนั้นหลวงปู่แหยม จ่านาค มีอายุถึง 92 ปี พื้นเพเดิมเป็นคนบ้านศาลาแดง (วัดคลองโป่ง) ตำบลสามเรือน อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ต่อมาได้แต่งงานกับแม่อ่อน และได้มาอยู่กับแม่อ่อน ที่ตำบลบ้านนา อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย หลวงปู่แหยม จ่านาค ได้กรุณาถ่ายทอดการเล่นมังคละพื้นบ้านสุโขทัยให้ พร้อมทั้งเพลงและท่าร่ายรำบางท่า พร้อมกันนี้ หลวงปู่แหยม จ่านาค ได้ถ่ายทอดเรื่องราวการเล่นมังคละให้ฟังว่า ตัวท่านเองได้เริ่มฝึกการเล่นมังคละตั้งแต่สมัยยังไม่โกนจุก โดยโยมบิดา (พ่อฟัก จ่านาค) ได้เป็นผู้ฝึกการเล่นให้จนเกิดความชำนาญในการตีกลองมังคละจนมีชื่อเสียงโด่งดัง เมื่อเป็นหนุ่มเต็มตัวได้เป็นหัวหน้าวงมังคละแทนบิดา พร้อมทั้งได้ถ่ายทอดการเล่นมังคละให้แก่ลูกหลานและผู้ที่สนใจสืบทอดต่อไป ปัจจุบันเครื่องดนตรีที่หลวงปู่แหยม จ่านาค ซึ่งได้รับตกทอดมาจากพ่อฟัก บิดา ได้อยู่ที่ นายสำเนา จันทร์จรูญ รวมอายุของดนตรีมังคละชุดนี้ มีอายุประมาณ 160-180 ปี

จากการได้รับการถ่ายทอดการเล่นมังคละจาก หลวงปู่แหยม จ่านาค แล้ว นายสำเนา จันทร์จรูญ ยังได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องมังคละจากท่านที่มีความรู้ความสามารถอีกหลายท่าน ปี พ.ศ. 2508 ได้สัมภาษณ์ พ่อคำ จันทร์เดช พ่อแกละ กลอยเดช พ่อเบิก กลอยเดช พ่อโต๊ะ พูลรอด ชาวบ้านหนองรั้งใต้ ตำบลวังลึก อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย แต่ละท่านมีอายุตั้งแต่ 70-80 ปี (ปัจจุบันเสียชีวิตหมดแล้ว) ท่านเหล่านี้ได้ยืนยันว่าได้เล่นกลองมังคละมาตั้งแต่นมยังไม่แตกพาน เพราะทุกคนมีความผูกพันกับการเล่นกลองมังคละเป็นชีวิตจิตใจ ต่อมา ในปี พ.ศ. 2509-2510 นายสำเนา จันทร์จรูญ ได้ศึกษาเพลงกลองหรือไม้กลองมังคละ จากพ่อชู จุ่นคง ชาวบ้านวงฆ้อง ตำบลเกาะตาเลี้ยง อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย พ่อแฉ่ง มีเจริญ หัวหน้าวงกลองยาวและมังคละคณะ ฉ.มีเจริญ บ้านหนองรั้งเหนือ ตำบลวังลึก อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย คุณครู ประเสริฐ บุญกล่อม หัวหน้าวงปี่พาทย์และมังคละ บ้านท่าทอง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และนายจำเนียร จันทร์จรูญ พี่ชาย (ปัจจุบันบวชเป็นพระจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธาราม) ตำบลคลองตาล อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ท่านเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความสามารถเชี่ยวชาญในการเล่นมังคละ ได้กรุณาถ่ายทอดและกล่าวถึงประวัติความเป็นมา ของการเล่นมังคละให้เป็นอย่างดี ในปัจจุบันก็ยังให้ความร่วมมือในการถ่ายทอดสืบสานการเล่นมังคละอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันในอำเภอกงไกรลาศ มีวงมังคละที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา ได้แก่วงมังคละของชุมชนตำบลกกแรต โดยมีนายเอ เพ็ชรี่ และคณะ ได้รักษาไว้ และเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับวงมังคละโรงเรียนกงไกรลาศวิทยามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันยังคงรับงานแสดงเฉพาะงานที่ส่วนราชการขอความร่วมมือโดยผ่านทางองค์การบริหารส่วนตำบลกกแรต บางโอกาสหากแสดงร่วมกับวงมังคละโรงเรียน กงไกรลาศวิทยา จะใช้ชื่อวงว่า วงมังคละคณะตากับหลาน เช่น คราวที่จังหวัดสุโขทัย โดยสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัยจัดการประกวดวงมังคละ ในงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ปีพ.ศ. 2550 ได้รวมตัวกับวงมังคละโรงเรียนกงไกรลาศวิทยาลงแข่งขันในนาม วงมังคละคณะตากับหลาน และได้รับรางวัลชนะเลิศ

ความเป็นมาการแสดงมังคละขององค์การบริหารส่วนตำบลกกแรต

นายเอ เพ็ชรี่ ที่ถือเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการแสดงมังคละ ปัจจุบัน อายุ 69 ปี จบการศึกษา ป.4 วัดคุ้งยาง ต.ไกรนอก อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ได้รับการถ่ายทอดโดยการเล่นมังคละ เมื่ออายุ 12 ปี จากคนใกล้ชิด คือ คุณลุงพริ้ง เพ็ชรี่ แต่เดิมนั้นลุงพริ้งและปู่ตุ่ม ได้อพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 24...... โดยได้ติดตามลุงพริ้ง เพ็ชรี่ ในขณะนั้นอายุ 50-60 ปี ซึ่งในตระกูลนี้ได้มีวงมังคละเล่นอยู่ที่ ต.ไกรนอก ลุงเอ เพ็ชรี่ ซึ่งเป็นหลานก็ตามลุงพริ้งไปทุกที่และมีความสนใจในการเล่นมังคละและได้เริ่มหัดเล่นมังคละ เมื่อ อายุ 14 ปี ที่สำคัญในอดีตนั้นมีการเล่นมังคละในงานมงคล และ อวมงคล แต่งานอวมงคลจะมีอยู่จำนวนครั้งน้อยมาก ส่วนงานมงคลได้แก่งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานแต่งงาน (เพลงที่ใช้บรรเลงจะเป็นเพลงประเภทเดียวกันหมด) ไม่แยกว่างานอวมงคลเล่นเพลงเศร้า หรือทำนองผิดไป จึงถือได้ว่าในอดีตนั้นการเล่นมังคละในส่วนตำบลกกแรตหรือตำบลไกรนอกจะเล่นที่งานมงคล อวมงคล โดยทำนองการบรรเลงประเภทเดียวกัน

ในอดีตการที่จะจูงใจให้ผู้สนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมจะใช้ความสนุกสนานของการแสดงมังคละเป็นสิ่งที่จะก่อให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมกิจกรรมหรือการฝึกเล่นมังคละ ส่วนการเรียนการสอนถ่ายทอดในอดีตนั้นจะอยู่ในประเภท การที่ครูพักลักจำ โดยจำตัวเสียงทำนองการบรรเลง ใช้ความจำเป็นหลักไม่มีการจดบันทึกถอดตัวโน๊ตการเล่นหรือการบรรเลงเช่นในปัจจุบัน ขยันหมั่นฝึกซ้อม และครูที่สอนที่รับเป็นศิษย์ ก็จะสอนอย่างเต็มกำลังความสามารถ ดังคำกล่าวโบราณว่า “จับมือรำ จับบ่าสอน ขอให้ได้อย่างครู ผู้มีฤทธิ์อันแกล้วกล้า” และนักดนตรีไทยทั่วไปจะถือว่าเครื่องดนตรีที่ถือว่าเป็นครูใหญ่ คือ “ตะโพน” 

การแสดงของมังคละทั้งในงานมงคล อวมงคล เมื่อมีคนจ้าง ผู้รับการว่าจ้างในอดีตจะเป็นหัวหน้าวงหรือผู้ที่มีบทบาทรองลงมา อันเนื่องจากหัวหน้าวงมังคละต้องดูแลลูกวงหรือลูกหลานให้อยู่ในกรอบหรือสังกัดตลอดจนวางแผนที่จัดสรรผู้ใดได้ร่วมการแสดงมังคละ ซึ่งแต่ก่อนงานที่จ้างมังคละไปแสดงแต่ละครั้งจะต้องจ่ายค่าจ้างราคาสูงถึง 300 บาท ซึ่งถือว่ามีราคาที่สูงมาก (พ.ศ. 2501-2507) การแบ่งปันผลประโยชน์ที่จะได้รับในการตอบแทนจะอยู่ในส่วนของหัวหน้าวงมังคละจะเป็นผู้จัดสรรรายได้ให้สอดคล้องกับความสามารถในแต่ละคน ส่วนสถานที่ในการแสดงมังคละจะไม่เลือกสถานที่เล่นได้ทุกที่ไม่จำกัดการแสดง ส่วนเพลงที่ใช้ในการแสดงหรือบรรเลงจะเหมือนเดิมดังที่ได้รับการสืบทอดมาแต่โบราณ

ลุงเอ เพ็ชรี่ ได้เข้าเล่นในวงมังคละที่ ต.ไกรนอก เรื่อยมาและบุคคลที่เล่นในวงมังคละหรือ นักดนตรีส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลเชื้อสายในตระกูลหรือญาติพี่น้องกันหมด การที่เล่นมังคละในอดีตนั้นลูกหลานมีเป็นจำนวนมากหลังจากว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา จึงให้ลูกหลานได้เลือกที่จะเล่นดนตรี ได้ตามความสนใจของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นหรือประเภท แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเล่นได้เกือบทุกประเภท ซึ่งสามารถเล่นเครื่องดนตรีต่าง ๆ ทดแทนกันได้ และจะเป็นการถ่ายทอดทางสายเลือดเท่านั้นไม่มีบุคคล ในส่วนอื่นได้เข้ามาร่วมวงหรือกิจกรรมในด้านมังคละ อันเนื่องจากการรวมตัวกันของญาติพี่น้องสามารถทำได้ง่าย คนอื่นไม่สนใจหรือสนใจแต่ไม่มีโอกาสได้เข้ามาร่วมการฝึกหัดหรือบรรเลงมังคละ จากเหตุผลดังกล่าว จึงแสดงให้เห็นว่าข้อจำกัดในการร่วมการละเล่นมังคละในอดีตมีส่วนที่จำกัดบุคคลที่จะเข้ามามีส่วนร่วมเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าจำนวนวงของมังคละที่แสดงมีจำนวนจำกัด จะไม่แพร่หลายในการละเล่นทุกชุมชน หากแต่จะมีการละเล่นมังคละในชุมชนใหญ่ จึงมีส่วนสนับสนุนให้เหตุผลของการแสดงมังคละแต่ละครั้งมีราคาสูง ส่วนใหญ่ที่เล่นในอดีตจะเล่นในเทศกาลวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และงานมงคลอื่น ๆ ทั่วไป ในการเล่นมังคละครั้นเมื่อเยาว์วัยได้มีโอกาสเห็นหรือเจอวงมังคละของต่างถิ่นอยู่ 1 วง คือ วงมังคละจากอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก จึงสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ในจังหวัดพิษณุโลกก็ได้มีการสืบทอดการเล่นมังคละมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

การที่ลุงเอ เพ็ชรี่ ได้เล่นมังคละมีความภาคภูมิใจแก่ตนเอง และการที่ต้องการถ่ายทอดให้ผู้อื่นนั้น มีเหตุจากการที่อยากที่จะอนุรักษ์ดนตรีไทยที่เก่าแก่ และอยากสืบทอดวัฒนธรรมอันดีที่สืบทอดจากบรรพบุรุษของสายเลือดตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีความสนุกสนาน และปัจจุบันได้ถ่ายทอดการเล่นมังคละหรือเครื่องดนตรีไทยที่บ้านพัก ในตำบลบ้านใหม่สุขเกษม ซึ่งมีเยาวชนมาฝึกหัด ฝึกซ้อม ทุกวัน วันละ 4-6 คน และความสามารถของลุงเอ มิใช่จะเล่นได้แต่มังคละ แต่ยังสามารถเล่นเครื่องดนตรีไทยอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ปี่ ฆ้องวง เป็นต้น และตอนเย็นจะมาสอนให้กับ อบต.กกแรต จนปัจจุบันสามารถเล่นได้ระดับหนึ่ง 

ในส่วนของตำบลกกแรตนั้นได้จัดตั้งวงมังคละมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2507 โดยมีนายพัว หนูมาก เมื่อก่อนอายุประมาณ 50 ปี โดยมีแนวคิดที่จะรวบรวมและจัดทำเครื่องดนตรีมังคละเอง ทั้งขุดไม้เพื่อ ทำกลองมังคละ (โจ๊กโกรก) เอง และสอนเองทำทุกอย่างที่จะให้เห็นความสำคัญของมังคละ และต่อมาได้มีลุงส้มที่พิการมือและขา ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกับลุงพัว มีความสามารถเล่นมังคละเช่นเดียวกัน มีแนวคิดที่จะส่งเสริมและอนุรักษ์ความดีงามของการละเล่นมังคละได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจสอนลูกหลานไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยเน้นแสดงกิจกรรมการกุศล 

การเล่นมังคละในอดีต มีสิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติม เช่น เมื่อได้ทำหน้าที่ในการนำขบวนแห่นาคเข้าวัดแล้ว ช่วงระหว่างที่รอการบวชนั้นตัวผู้เล่นมังคละบางท่านที่มีความสามารถพิเศษจะออกมาแสดงความสามารถในการควงจาน การรำกระบี่กระบอง แทงจาน หรือ ปั่นจานโดยใช้ตะเกียบ เคาะจังหวะที่สอดคล้องและเข้าจังหวะกับการแสดงมังคละนั้น ๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสอดคล้องในส่วนของชาวไทยพวน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ในประเพณีบวชช้าง ในอดีตเมื่อนำนาคเข้าโบสถ์ระหว่างที่รอการบวชนั้นจะมีการโชว์ศิลปะการบังคับม้าในแต่ละแบบหรือขี่ม้าผาดโผน ประกอบการยิงธนู ซึ่งเป็นการแสดงความสามารถพิเศษเฉพาะตัวที่จะรอนาคออกจากโบสถ์ เป็นต้น 

การแต่งกายสำหรับรองรับการแสดงมังคละนั้น ครั้นในอดีตนักแสดงจะนุ่งจุงกระเบน เสื้อลายดอก ผ้าขาวม้าคาดเอว ปะแป้ง ในสมัยปัจจุบันจะใส่เสื้อม้อฮ่อมหรือเสื้อดอกลายสดใสและนุ่งกางเกงขาก๊วยสำหรับนักดนตรี ส่วนผู้ที่มีหน้าที่รำการแต่งกายมีด้วยกัน 2 แบบ

แบบที่ 1 ชาย นุ่งโจงกระเบน ไม่ใส่เสื้อ ใช้ผ้าแถบมัดเอว เกล้าผมทรงโองโขดง, หญิง นุ่งโจงกระเบน ห่มผ้าแถบ(ผ้าคาดอก) เกล้าผม หรือปล่อยผมสยาย ทัดดอกไม้ 

แบบที่ 2 ชาย นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าพาดไหล่ 2 ชาย ใช้ผ้าแถบ หรือผ้าขาวม้าคาดเอว, หญิง นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลม ใช้ผ้าสไบสะพายที่ไหล่ขวา มัดชายผ้าสไบบริเวณเอวด้านซ้าย โดยมัดเป็นโบว์หูกระต่ายเพื่อความสวยงาม

การเก็บรักษาเครื่องดนตรีมังคละ ในอดีตนั้นจะวางไว้เป็นระเบียบ เก็บไว้ในที่ร่ม ไม่ถูกแดด ไม่ถูกฝน ส่วนปัจจุบันนั้นต้องเก็บไว้ในตู้ให้มิดชิด เพราะแมลงและหนูชอบกัดแทะ อันเนื่องมาจากใช้งานหรือออกใช้งานของกลองมังคละแล้วต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อยโดยใช้ผ้าชุบน้ำที่สะอาดบิดพอหมาดๆ มาเช็ดทำความสะอาดบนหนังหน้ากลองมังคละไม่เช่นนั้นจะมีขี้กลองเศษขุยที่เกิดจากการตีและจะเป็นตัวล่อให้มดและแมลงตลอดจนหนูที่จะเข้าไปกัดแทะจึงก่อให้เกิดความเสียหายต่อหนังหน้ากลองมังคละในอดีตการทำกลองมังคละนั้นหนังที่ใช้ทำกลองมังคละ จะใช้หนัง โค หรือ กระบือ ที่ไม่ฟอก โดยการนำมาทุบนวดให้อ่อนโดยใช้สากตำให้เสมอและนำมาขึง เสียงที่ได้จะดังดี คงทน เหนียว ในปัจจุบันหนังที่ใช้ทำกลองเป็นหนังแกะ แพะ เป็นหนังที่ฟอกแล้ว อายุการใช้งานทนทานน้อย และเสียงที่ได้จะดังไม่ค่อยกังวาน

ความเชื่อในอีกกรณีหนึ่งคือ ถ้ายังไม่ได้ไหว้ครูจะแสดงไม่ได้ ค่าครู จำนวน 12 บาท ถือเป็นค่ายกครูชุดใหญ่ และมีอีกประเภทที่เรียกว่าการยกครูเล็ก จำนวน 1.50 บาท เจ้าภาพต้องเตรียมให้ได้แก่ หมาก 3 คำ ดอกไม้ 3 สี ธูป 5 หรือ 9 ดอก เทียนขี้ผึ้ง 1 เล่ม ยามวน 3 มวน เหล้า 1 ขวด ไม้ขีด 1 กลัก และกล้วยน้ำหว้า 1 หวี

ส่วน อบต. กกแรต ในปี พ.ศ. 2538 ได้ปรึกษาระหว่างผู้นำหลายคนทั้งนายก อบต. (นายอำภร รัดเลิศ), กำนันตำบลกกแรต (นายสนิท กราบกราน) และอดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 นายขำ สิงห์สนิท ว่าน่าจะหาแนวทางอนุรักษ์การแสดงมังคละที่มีแต่อดีตให้คงอยู่กับชาวตำบลกกแรต ทาง อบต.กกแรตจึงอนุมัติงบประมาณจัดซื้อเครื่องดนตรีมังคละจากบ้านกรับพวงเหนือ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเดิมมี 2 วง ขอแบ่งซื้อเครื่องดนตรีมา 1 วง เป็นเงิน 4,500 บาท โดยการถ่ายทอดเล่นมังคละจากคุณลุงส้ม คุณลุงพัว หนูมาก ที่เข้ามาถ่ายทอดและช่วยฝึกสอนอย่างต่อเนื่อง ต่อมานายขำ สิงห์สนิท ได้เสียชีวิต ปี พ.ศ. 2548 ทาง อบต.กกแรต จึงได้เชิญลุงเอ เพ็ชหรี่ มาร่วมสอนและสืบทอดการเล่นมังคละ

ปัจจุบันในตำบลกกแรต การแสดงมังคละมีปัญหาหนึ่ง คือ ขาดหมอปี่ที่มีความชำนาญซึ่งต้องหาจ้างในแต่ละครั้งมาร่วมการแสดง และในตำบลกกแรตยังมีบุคคลที่สามารถเป่าปี่หรือหมอปี่ มี 3 คน ประกอบด้วย ลุงเอ เพ็ชรี่ นายจเร พุ่มไม้ และนายปรีชา แก้วมี คนที่เล่นมังคละในส่วนของคนเป่าปีหรือหมอปี่ เมื่ออายุ 60 ปี ไม่เกิน 70 ปี โดยประมาณจะมีอาการแพ้ปี่ ลักษณะคล้ายเป็นโรคปอด จะเป่าปี่ไม่ได้คือไม่มีแรง สาเหตุเนื่องมาจากปี่หรือลิ้นของปี่อาจมีเชื้อโรค แต่ในกรณีนี้ลิ้นของปี่ที่ใช้เป่าจะหามาเป็นของส่วนบุคคลจะไม่ยืมลิ้นของปี่ของกันและกัน ซึ่งลิ้นของปี่ที่จะใช้ในการเป่าจะทำจากใบตาลที่หมอปี่แต่ละคนจะทำขึ้นมาเอง โดยเหลาใบตาลให้บาง ซึ่งใบตาลที่บางมากจะใช้ลมในการเป่าน้อยและจะไม่ค่อยเหนื่อยในการเป่าปี่แต่ละครั้ง

ท่ารำ

ลุงเอ เพ็ชหรี่ กล่าวว่า “ไม่รู้ว่ามีกี่ท่า และในอดีตก็รำกันไปไม่มีระเบียบอะไร” ในอดีตนั้นท่ารำได้มีการประยุกต์กันขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับสมัยนิยม โดยประมาณในปี พ.ศ. 2541-2542 ทางโรงเรียนกงไกรลาศวิทยา ได้เชิญลุงเอ เพ็ชรี่ ปราชญ์ชาวบ้านได้ไปสอนการเล่นมังคละในโรงเรียนกงไกรลาสวิทยา และทางโรงเรียนได้เข้าร่วมแห่ในวงมังคละกับอำเภอกงไกรลาศ โดยนายขำ สิงห์สนิท อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 แนะนำว่าน่าจะมีท่ารำวงและมีภรรยาของครูในโรงเรียนกงไกรลาศวิทยาได้ช่วยกันหาสื่อมาศึกษา และเริ่มฝึกหัดท่ารำกันมา ซึ่งไม่คิดว่าจะได้แบบอย่างที่ถูกต้องมากนัก

เดิมผู้รำตัวพระของฝ่ายชายไม่ค่อยมีใช้นางรำของฝ่ายหญิงแต่งเป็นชายแทน และในปี 2544 เริ่มมีนักเรียนชายเข้าร่วมการแสดงและได้รับความร่วมมือจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ในการส่งเสริมการประกวดที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับคำแนะนำจากวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย ในเรื่องท่ารำมีจำนวน 12 ท่า ทางโรงเรียนได้ปรับท่ารำตามคำแนะนำของวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัยให้ถูกต้องและสวยงาม

การประยุกต์จะมีอีกอย่างคือ การรำไม่มีท่าบังคับหรือจัดสำคัญท่าก่อน หลัง โดยจะดูภารกิจของงานที่จะไปร่วมว่าเป็นงานประเภทใด แล้วแต่งบทเพลงเนื้อร้องรองรับในแต่ละงานโดยได้รับการสอนการแนะนำจากนายเคียง ชำนิ ปราชญ์ชาวบ้าน และนายธนาดล อินทสูตร อดีตครูสอนด้านดนตรีของโรงเรียนกงไกรลาศวิทยา อีกท่านหนึ่ง ที่ได้ปรับประยุกต์ให้มังคละมีเนื้อหาเพลงเข้ามาร่วมการแสดงมังคละเช่นในปัจจุบัน ในการแสดงมังคละโดยทั่วไปเพลงที่ร้องและใช้บ่อยครั้งในการแสดงมังคละ คือ ประวัติความเป็นมาของมังคละที่นายเคียง ชำนิ ปราชญ์ชาวบ้านได้แต่งเนื้อร้องและทำนองไว้ให้ขับร้องและบรรเลง 

การรำมังคละของตำบลกกแรต

ในสมัยสุโขทัย ได้กล่าวถึงการฟ้อนรำ ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 8 ในสมัยพระมหาธรรม-ราชาลิไท ความว่า “ย่อมเรียงขันหมาก ขันพลู บูชาพิลม ระบำ – เต้น เล่นทุกฉัน… ด้วยเสียงอันดัง สาธุการบูชา อีกดุริยางค์ พิณ ฆ้อง กลอง เสียงดังสีพอดังดินจักหล่มอันไซร้ (ประชุม ศิลา จารึกภาคที่ 1. 2515 : 87)

นอกจากนี้ในหนังสือเตภูมิกถา ยังเล่าถึงการฟ้อนรำไว้ว่า “…บ้างเต้น บ้างรำ ซึ่งฟ้อนรำระบำบันลือเพลงดุริยางค์ดนตรี บ้างดีด บ้างสี บ้างเป่า บ้างขับสรรพสำเนียงเสียงหมู่ นักคนจุนกันไป เดียรดาษพื้นฆ้อง กลอง แตรสังข์ ระฆังกังสดาร มโหรทึกกึกก้องทำนุกดี…” (พญาลิไทย 2515 : 87)

การรำมังคละสุโขทัย เดิมทีการร่ายรำไม่มีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน เมื่อชาวบ้านได้ยินเสียงปี่เสียงกลองของวงมังคละที่ได้บรรเลงในงานต่าง ๆ เช่น งานบวชนาค งานโกนจุก งานทอดกฐิน-ผ้าป่า หรืองานตรุษ สงกรานต์ ตลอดจนงานขึ้นบ้านใหม่ จะพากันออกร่ายรำเพื่อความสนุกสนาน มีการออกลวดลายท่ารำต่าง ๆ โดยลักษณะท่ารำเหล่านั้นจะเป็นลักษณะวาดวงแขน ม้วนมือ และย้ำเท้าให้เข้ากับจังหวะดนตรี บางคนคิดลีลาท่ารำที่ ดีเด่นมาอวดกัน เมื่อผู้หนึ่งรำได้ คนอื่น ๆ ก็คิดลีลาท่ารำมาประชันกัน ผู้ดูและผู้รำก็จะ พยายามจดจำเพื่อนำไปร่ายรำต่อ ๆ กันไป โดยเฉพาะท่าร่ายรำของหลวงปู่แหยม จ่านาค ผู้เชี่ยวชาญการเล่นมังคละและหัวหน้าวงมังคละบ้านนา ตำบลบ้านนา อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย แม่ครูโล่ สุขภุมรินทร์ แม่ครูถม เกตุทอง และแม่ครูละครคณะ “ศรีไทย รุ่งเรือง” บ้านหลังวัดโพธิ์ ตำบลวังลึก อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย และแม่ครูเม้า แม่ครูละครชาตรี บ้านนามอญ ตำบลบ้านนา อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย

ท่าร่ายรำที่ดูเด่นของหลวงปู่แหยม จ่านาค แม่ครูโล่ สุขภุมรินทร์ แม่ครูถม เกตุทอง และแม่ครูเม้า ได้แก่ ท่าลิงอุ้มแตง ลิงขย่มตอ ท่านกกระเด้าดิน ท่านางอาย ท่ากวางเหลียวหลัง ท่ากาสาวไส้ ท่ามอญชมดาว เป็นต้น

จากท่ารำที่พ่อครู แม่ครู มังคละ และละคร ได้นำออกมาวาดลวดลาย จึงเป็นที่ประทับใจของประชาชนที่ได้ชม นายสำเนา จันทร์จรูญ ผู้เป็นลูกหลานของพ่อครู แม่ครู ที่กล่าวถึง จึงได้ขอต่อท่าร่ายรำ แล้วนำมาปะติดปะต่อให้เป็นท่ารำที่เป็นมาตรฐาน และพร้อมกันนี้ นายสำเนา จันทร์จรูญ ได้ทำการฝึกท่ารำเพื่อให้เกิดความแม่นยำ พร้อมทั้งได้ทำการจดบันทึกท่ารำต่าง ๆ เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อมิให้ท่ารำสูญหายไป

ท่ารำมังคละของตำบลกกแรต จังหวัดสุโขทัย เป็นท่ารำที่อ่อนช้อย งดงาม สนุกสนาน ท่ารำเป็นการรำในท่วงทีการเกี้ยวพาราสี การหยอกล้อระหว่างชาย–หญิง และจากท่าทางที่พ่อครู แม่ครู มังคละและละคร ได้จินตนาการท่ารำที่ออกมา จึงเป็นมรดกที่ตกทอดสืบกันมา โดยมีชื่อเรียกท่าต่าง ๆ ดังนี้

  1. ท่ากลองโยน หรือท่าตกปรัก
  2. ท่าช้างประสานงา
  3. ท่ากาสาวไส้
  4. ท่ากวางเดินดง (กวางเหลียวหลัง)
  5. ท่าแม่ม่ายทิ้งแป้ง
  6. ท่าลิงอุ้มแดง-ลิงขย่มตอ
  7. ท่านางอาย
  8. ท่าจีบยาว
  9. ท่าผาลา
  10. ท่ามอญชมดาว
  11. ท่านกกระเด้าดิน-ท่าหงษ์เหิน
  12. ท่าสอดสร้อยมาลาแปลง 

แนวทางการพัฒนาและบูรณาการ 

ของวงมังคละในปัจจุบัน ได้มีส่วนร่วมบูรณาการระหว่างพ่อเพลง คือลุงเอ เพ็ชรี่ ส่วนปราชญ์ชาวบ้าน, อบต.กกแรต และโรงเรียนกงไกรลาศวิทยา ได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นวงมังคละชื่อ “วงตากับหลาน” ในการส่งเข้าร่วมประกวดในงานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย ประจำปี 2550 ผลการประกวดได้รับรางวัลชนะเลิศ นำมาซึ่งความปลื้มปีติยินดีของทุกฝ่าย

การรวมวงดังกล่าวยังส่งผลให้เกิดความผูกพัน และถามถึงญาติตระกูลของแต่ละคนที่ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมการแสดงมังคละดังกล่าว น่าอัศจรรย์ คือ มี ด.ช.ณรงค์ฤทธิ์ พุ่มไม้ อายุ 13 ปี ชั้น ม.2 ได้มีโอกาสรู้จักปู่ที่เป็นญาติทางฝ่ายมารดา นั่นคือ ลุงเอ เพ็ชรี่ ซึ่งไม่เคยได้พบหน้าตากันมาก่อน และน้อง ณรงค์ฤทธิ์ พุ่มไม้ ที่เล่นในตำแหน่งตีกลองมังคละ ถือว่ามีบทบาทที่สำคัญมากของเครื่องดนตรีมังคละ ซึ่งตีได้อย่างดีมีพรสวรรค์ตามสายเลือดที่ได้สืบทอดมาอย่างแท้จริง ดั่งสุภาษิตที่ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น”หรือ “เชื้อไม่ทิ้งแถว” คำพูดเกี่ยวกับการคัดเลือกนักเรียนที่ต้องการเข้าร่วมการแสดงมังคละ “มีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่พยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการละแสดงมังคละของโรงเรียน และ ด.ช. ณรงค์ฤทธิ์ พุ่มไม้ ก็ได้ตีให้ครูได้เห็นว่ามีแววมีลูกเล่น และมีพรสวรรค์ ที่มีความหนักแน่นไม่เหมือนคนอื่น ๆ...” นายกิตติพันธ์ น้อยยม ครูดนตรีไทย โรงเรียนกงไกรลาศวิทยา 

แนวทางในการพัฒนาการแสดงมังคละของโรงเรียนกงไกรลาศวิทยา ที่บูรณาการให้เข้ากับบทเรียนในการจะประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับวิชาต่าง ๆ ที่สอนของครูที่สอนในแต่ละรายวิชา โดยส่งเสริมการที่ให้เด็กนักเรียนมีส่วนร่วมในทุกด้านโดยประกอบไปด้วย การมีส่วนร่วมที่จะวางแผนการทำงาน ว่าจะทำงานอย่างไร การส่วนร่วมในการลงมือปฏิบัติที่จะทำหาสูตร คิดคำนวณความเป็นไปได้กับแนวคิดของตนเองหรือกลุ่มของตนเอง มีส่วนร่วมในการตรวจสอบความถูกต้องตามความเป็นจริงหรือการประยุกต์ใช้ว่าคุ้มค่าหรือถูกต้องอย่างไร มีส่วนร่วมในการประเมินผลที่ดูได้จากการทำงานร่วมหรือส่งผลงานแล้วทำได้ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ครูแต่ละวิชาได้แนะนำหรือส่งเสริมมากน้อยเพียงใดออกมาเป็นคะแนนที่สมควรจะได้ตามความสามารถของตนเอง มีส่วนร่วมแก้ไขก็ได้มีโอกาสแก้ไขในที่จะปรับประยุกต์ผลการทำงานดังกล่าวได้ในงานอื่น ๆ ที่คุณครูในรายวิชานั้น ๆ หรือต่างรายวิชาได้ให้กรอบการทำงานใหม่ จึงนำข้อคิดเห็นข้อผิดพลาดในครั้งที่แล้วมาแก้ไขประยุกต์ใช้ในโอกาสต่อไป มีส่วนร่วมปรับปรุง การร่วมปรับปรุงนี้เพื่อการพัฒนาที่ดีขึ้น ทุกคนหรือทุกกลุ่มย่อมมีโอกาสได้แสดงออกในการปรับปรุงตามความสามารถของตนเองหรือกลุ่มอยู่แล้ว และมีส่วนร่วมรับผลประโยชน์รองรับการตัดสินใจเลือกว่าตนเอง หรือกลุ่มของตนจะนำแนวคิดของการใช้การแสดงมังคละมาปรับประยุกต์อย่างไร ผลที่ออกมาคือเกรดในแต่ละวิชาแต่ระดับความสามารถที่ควรได้รับว่าผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ใด และสิ่งที่ได้เพิ่มเติมจากผลประโยชน์ที่จะได้รับคือการที่มีรักชาติ รักท้องถิ่น รักความเป็นวัฒนธรรมไทยอันดีงามที่มุ่งเสริมให้เยาวชนได้เห็นคุณค่าของการแสดงมังคละในโรงเรียนกงไกรลาศวิทยา 

ความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อการเข้าร่วมแสดงมังคละ นั้นจะมีความรู้สึกภูมิใจและยังทำให้จิตใจแจ่มใส ตลอดจนจะมีรู้สึกประทับใจในการที่ตนเองได้มีโอกาสสืบทอดวัฒนธรรมไทยจากบรรพบุรุษที่เคยเจริญรุ่งเรืองครั้นในอดีต และการเล่นดนตรีทำให้มีสมาธิ ตลอดจนที่ส่งเสริมให้เยาวชนหรือนักเรียนได้กล้าแสดงออกในแนวทางที่ถูกต้อง

การมีส่วนร่วมของนักเรียน/เยาวชนกับการแสดงมังคละ

การมีส่วนร่วมถือเป็นแนวทางหนึ่งของการพัฒนาที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนในแต่ละเรื่อง ที่ทุกภาคส่วนได้พยายามส่งเสริมสนับสนุนตลอดจนกลุ่มเยาวชนหรือนักเรียนที่จะมีบทบาทโดยตรงต่อการพัฒนาที่จะนำไปสู่แนวทางที่ยั่งยืน ได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของการแสดงมังคละ

“ครูแต่งเนื้อหาให้ร้อง แต่หนูในฐานะผู้ร้องสามารถแก้ไขได้ตามความเหมาะสม..ครูไม่ว่าเพราะให้เกียรติเราที่เป็นคนร้องเพลง..บางครั้งหนูก็แต่งเพลงเองในการร้องเพลง โดยให้ครูเขาดูก่อน..ครูก็ยินดี..”

น.ส.จิตรา อัมพร นักเรียนชั้น ม.6 อายุ 18 ปี ฐานะนักร้องนำประกอบการแสดงมังคละ

นอกจากนี้ยังมีนักเรียนรุ่นน้องที่มีแววหรือพรสวรรค์ในการขับร้องของโรงเรียนในอนาคต คือ ด.ช.จักรพงษ์ ชำนิ นักเรียน ชั้น ม.1 ที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนกงไกรลาศวิทยาเทอมแรก และสนใจที่จะเข้ามาร่วมกิจกรรมในวงมังคละ 

ในส่วนของการมีส่วนร่วมของเยาวชนกับการแสดงมังคละนั้น มีขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 

การมีส่วนร่วมในการวางแผน นักเรียนจะมีส่วนร่วมตั้งแต่การขั้นเตรียมการไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเครื่องดนตรี เสื้อผ้า ซักซ้อมทั้งการบรรเลงมังคละและการรำ ซักซ้อมความเข้าใจ เตรียมบทเนื้อร้องที่จะแต่งให้ได้รับทราบถึงงานที่จะไปแสดงในแต่ละเจ้าภาพที่เชิญให้บุคคลทั่วไปที่ไม่เคยได้รับรู้รับทราบได้ทราบความเป็นมาหรือเหตุของการแสดงมังคละในงานวันนี้วัตถุประสงค์เพื่ออะไร เตรียมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

การมีส่วนร่วมในการลงมือปฏิบัติ นักเรียนนั้นจะทำตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยทุกกลุ่มทุกฝ่ายต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 

การมีส่วนร่วมตรวจสอบ นักเรียนและคณะครูหรือผู้เกี่ยวข้องจะใช้ตรวจสอบในส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้องว่ามีผลการแสดง บทบาทของตนเองได้แสดงออกไปนั้นมีข้อผิดพลาดอะไร การบรรเลงมีเครื่องดนตรีชนิดที่เล่นผิดเพี้ยนจากตัวโน้ต 

การมีส่วนร่วมในการประเมินผล จะดูได้จากผลการแสดงว่าเจ้าภาพหรือผู้ชมมีความสนุกสนานร่วม หรือเสียงปรบมือมากน้อยเพียงใด หากมองผิวเผินก็จะว่าดีแล้ว การมีส่วนร่วมการประเมินจะส่งผลให้มีการพัฒนาต่อยอดในอนาคตของการแสดงมังคละ 

การมีส่วนร่วมแก้ไข การแสดงของนักเรียนในการแสดงมังคละนั้น การแก้ไขเพื่อรองรับการพัฒนามาจากการที่ต้องตรวจสอบและการประเมินผล โดยคณะครู นักเรียนเองที่มีบทบาทโดยตรงกับการแสดงในแต่ละครั้ง ว่าจะพัฒนาต่อไปอย่างไร และสมควรจะพัฒนาเรื่องอะไร 

การมีส่วนร่วมในการปรับปรุง คณะครูและนักเรียนนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องหรือบทบาทในการปรับปรุงซึ่งถือว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเสนอความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางการพัฒนา 

การมีส่วนร่วมในได้รับผลประโยชน์ ผลประโยชน์นั้นหากมองในรูปของนามธรรมก็ได้แก่ การที่โรงเรียนกงไกรลาศวิทยามีความสำคัญที่จะส่งเสริมการแสดงมังคละอย่างต่อเนื่อง เป็นสถานศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการเรียนแบบประยุกต์นำเอาภูมิปัญญาด้านการแสดงมังคละมาเป็นตัวเชื่อมให้นักเรียนได้หัดปรับประยุกต์ใช้กับรายวิชาต่าง ๆ หรือกล่าวว่าฝึกให้นักเรียนมีแนวคิดที่จะคิดเป็นในแนวทางประยุกต์และโดยเฉพาะที่เรียกว่าการมีส่วนร่วมทุกระดับ ผลประโยชน์ในรูปธรรม คือ การที่นักเรียนมีโอกาสแสดงยังสถานที่ต่าง ๆ จะได้รับการตอบแทน หากเป็นสิ่งที่เพียงน้อยนิดแต่เป็นกำลังใจสำหรับบุคคลที่เสียสละในด้านการเรียน แต่หาเวลาเพิ่มเติมจากที่เพื่อนคนอื่นเรียนมาฝึกซ้อมที่เกี่ยวกับการแสดงมังคละ แต่ตนเองยังคงต้องคอยพึ่งให้เพื่อนได้จดบันทึกเพื่อติดตามงานการเรียนให้ทันของชั้นเรียนตนเอง 

สำหรับการใส่เนื้อร้องมาประกอบในการแสดงมังคละนั้น มีส่วนที่เกิดจากการที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) จัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรม-ราชกุมารี ที่ทรงมีพระชนมายุครบ 48 พรรษา เชิญชวนให้ร่วมกิจกรรมการประกวดมังคละและบังคับให้มีเนื้อร้องประกอบการบรรเลงเพลงมังคละ ซึ่งในอดีตนั้นการแสดงมังคละจะไม่มีเนื้อร้อง ประกอบการแสดง แต่ถือเป็นแนวทางหนึ่งของการพัฒนาที่ทำให้การแสดงมังคละตำบลกกแรต และโรงเรียนกงไกรลาศวิทยาได้พัฒนารูปแบบการแสดงมังคละไปในอีกแนวทางหนึ่งที่แตกต่างจากของเดิม

ความคาดหวังและบทบาทของการมีส่วนร่วมในแต่ละภาคส่วนที่มีต่อการแสดงมังคละ

ในความคาดหวังและบทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างมุ่งหวัง เพื่อให้การแสดงมังคละอยู่คู่จังหวัดสุโขทัยสืบไป โดยให้ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนสนับสนุน รองรับ และให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ตลอดหาแนวทางการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ตลอดจนสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เข้ารับรู้ และส่งเสริมให้เยาวชนทุกระดับได้เกิดความตระหนักในสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาในด้านการแสดงมังคละว่านี้คือความเป็นไทยควรที่จะอนุรักษ์ให้คงอยู่คู่สังคมจังหวัดสุโขทัย

นายอำภร รัดเลิศ นายก อบต.กกแรต ในฐานะบทบาทผู้นำฝ่ายบริหารท้องถิ่น กล่าวว่า

“จะสร้างเสริมกิจกรรมในนามของตำบลร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้กิจกรรมดำเนินไปได้อย่างดีและจัดตั้งงบประมาณสนับสนุนให้ตัวแทนได้สืบทอดการแสดงมังคละได้..จากท่ารำไทยเดิมเป็นเนื้อเพลงประยุกต์และถ่ายทอดเป็นภาษาต่างประเทศในนามของนายก อบต. จะไม่ทอดทิ้งเมื่อหมดวาระก็จะช่วยดูแลและส่งเสริมตลอดไปและคาดว่าคงจะเจริญรุ่งเรือง และขอฝากให้ลุงเอให้ช่วยด้วย”

ในส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมที่จะร่วมวางแผน ร่วมลงมือปฏิบัติ ร่วมตรวจสอบ ร่วมประเมินผล 

ร่วมแก้ไขร่วมปรับปรุงและร่วมได้รับผลประโยชน์ต่อการพัฒนาหาแนวทางในท้องถิ่น ให้มีแผนรองรับในงานด้านวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้ความสำคัญในจัดทำข้อบัญญัติรองรับแผนพัฒนาประจำปี หรือแผนพัฒนาสามปีให้การแสดงมังคละดังกล่าวได้มีการสนับสนุนงบประมาณเท่าที่สามารถทำได้และอย่างต่อเนื่อง 

ลุงเอ เพ็ชรี่ ปราชญ์ชาวบ้าน ในฐานะบทบาทพ่อเพลง แม่เพลง กล่าวว่า “ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็จะประสานงานกับ อบต. ,โรงเรียน ในการนำความรู้ที่มีไปถ่ายทอดให้ได้มากที่สุด ให้ อบต. และสถานศึกษาดำรงคงไว้ซึ่งการแสดงมังคละไว้อย่างยั่งยืน” 

ในส่วนบทบาทพ่อเพลง แม่เพลงผู้มีความรู้ ความสามารถที่ถือเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ปัจจุบันนับวันที่จะหายากและมีอายุมากหรือบางท่านก็เสียชีวิตไปตามกาลเวลา โดยที่ภูมิปัญญาที่สำคัญในด้านต่าง ๆ ไม่ได้รับการถ่ายทอดไว้ จึงเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นในส่วนฐานะพ่อเพลงแม่เพลงจึงต้องเสียสละกำลังกาย กำลังใจที่จะร่วมที่จะร่วมวางแผน ร่วมลงมือปฏิบัติ ร่วมตรวจสอบ ร่วมประเมินผล ร่วมแก้ไข ร่วมปรับปรุง และร่วมได้รับผลประโยชน์หาแนวทางการพัฒนาในท้องถิ่น ให้มีโอกาสได้ถ่ายทอดให้เยาวชนหรือผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการถอดบทเรียนในด้านวัฒนธรรมโดยเฉพาะการแสดงมังคละไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแทนการจำอย่างเช่นในอดีต ไม่ว่าจะเป็นตัวโน้ตเทียบเสียงของเครื่องดนตรีในการบรรเลงแต่ละชนิด และท่ารำ 

นางน้ำเงิน ศรีสุขวัฒนุกุล ในฐานะบทบาทอาจารย์ผู้สอน / ผู้ควบคุมดูแลนักเรียน กล่าวว่า 

“จะปลูกฝังให้นักเรียนรักโรงเรียน รักชาติ โดยเฉพาะวัฒนธรรมเรื่องของมังคละ เป็นวัฒนธรรมแขนงหนึ่งและนำมังคละเข้ามาบูรณาการเข้าประยุกต์ใช้แต่ละรายวิชา..หนทางที่เป็นไปได้อยากให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้จัดการศึกษา โดยกำหนดให้มังคละเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน..โรงเรียนกงไกรลาศวิทยายินดีที่จะสนับสนุนวิทยากร.. และชุดที่ใส่ออกงานโดยไม่คิดเงิน..ปัจจุบันมีสมาชิกในชุมนุมมังคละ จำนวน 50 คน และนักเรียน ม.1 จำนวน 300 คน ในโรงเรียนกงไกรลาศวิทยา” 

ในส่วนสถานศึกษาซึ่งถือว่ามีบทบาทสูงในการที่หาแนวทางการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้นั้นจะต้องมีแผนการเรียนการสอน หรือจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นที่จะส่งเสริมให้นักเรียนทุกระดับได้ศึกษา เรียนรู้ ฝึกหัดในแนวทางที่ถูกต้องที่จะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาในด้านการแสดงของจังหวัดสุโขทัย โดยที่จะส่งเสริมให้มีส่วนร่วมที่จะร่วมวางแผน ร่วมลงมือปฏิบัติ ร่วมตรวจสอบ ร่วมประเมินผล ร่วมแก้ไข ร่วมปรับปรุง และร่วมได้รับผลประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม นักเรียน ในฐานะบทบาทผู้รับการถ่ายทอดการแสดงมังคละ กล่าวว่า

“จะสืบสานวัฒนธรรมไทยให้ยั่งยืน..สร้างจิตสำนึกที่ดีต่อความเป็นไทย..สามารถปรับประยุกต์ใช้ได้ทั้งตลอดชีวิต ทั้งในการดำรงชีวิตและการศึกษา”

ส่วนบทบาทของนักเรียนเป็นผู้รับการถ่ายทอด หากจิตใจคิดว่างานวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาด้านการแสดง โดยเฉพาะการแสดงมังคละที่มีมาอย่างยาวนานนับตั้งอาณาจักรสุโขทัย สืบทอดเรื่องมา นักเรียนทุกคนคิดว่าดี คิดว่าสำคัญ ควรแบ่งจิต และความคิดที่จะให้นำสิ่งที่เป็นมงคล หรือมังคละมาอยู่ในใจบ้าง การไหลบ่าทางวัฒนธรรมของชาติตะวันตกที่จะนำมาสู่เยาวชน โดยเฉพาะจังหวัดสุโขทัยคงจะไม่สามารถทำลายความมีคุณค่าของวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการแสดงมังคละได้ เพียงแต่เยาวชน/นักเรียนนั้นยอมรับและเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการตั้งแต่การร่วมวางแผน ร่วมลงมือปฏิบัติ ร่วมตรวจสอบ ร่วมประเมินผล ร่วมแก้ไข ร่วมปรับปรุง และร่วมได้รับผลประโยชน์ต่อการแสดงมังคละ ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมก็จะบังเกิดขึ้นขอเพียงเปิดใจเท่านั้น ทำให้เต็มที่ และที่สำคัญต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดไป

แนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของการมีส่วนร่วมในการแสดงมังคละ

ในส่วนของ อบต.กกแรต ต้องรองรับด้วยการจัดตั้งข้อบัญญัติและจัดทำแผนโครงการเพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ในงานการละเล่นมังคละ ดังกล่าว จะได้ไม่เสียโอกาส คือ จะจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษา ตลอดจนจัดทำเป็นบทเรียน ถอดบทเรียนเป็นตัวโน๊ต เนื้อหา ท่ารำ ให้กับสถานศึกษาที่สนใจในเขต อบต. ซึ่งมีจำนวน ๓ แห่ง รวมทั้งจัดสรรงบประมาณรองรับ ตลอดจนควรจัดทำแผนการเรียนการสอนเพื่อถ่ายทอดให้เยาวชนได้ศึกษาสืบเนื่องต่อไปที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการแสดงมังคละ

ส่วนสถานศึกษาต้องจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่น และต้องได้รับการส่งเสริมจากผู้บริหารสถานศึกษา จะส่งเสริมให้เป็นหลักสูตรในโรงเรียนซึ่งเป็นหลักสูตรในวิชาเลือก มีเกรด ผ่าน (ผ) โดยต้องการให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสศึกษา เรียนรู้ และสถานศึกษาที่สนับสนุนในการแสดงมังคละในสถานศึกษาต้องพยายามยกย่องเชิดชู นักเรียนทุกกลุ่มที่เสียสละมาร่วมกิจกรรมของสถานศึกษานั้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การที่ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนกงไกรลาศวิทยา คนปัจจุบัน (ปี 2551) ดร.ดุษฎี สีตลวรางค์ มีนโยบายที่จะนักเรียนทุกคนรำมังคละเป็น และนำมังคละเป็นแกนที่จะให้มีการ บูรณาการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนแต่ละวิชาโดยส่งเสริมให้ครูผู้สอน และนักเรียน ได้ปรับประยุกต์แนวคิดให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ เป็นต้น

การพัฒนาต่อยอด ของการแสดงมังคละโรงเรียนกงไกรลาศวิทยา

  • ได้พัฒนาเนื้อร้องของเพลงการแสดงมังคละเป็นภาษาอังกฤษ ที่แต่งโดยอาจารย์สายทอง หลากจิตร ครูโรงเรียนกงไกรลาศวิทยา
  • ได้แสดงมังคละโชว์ในงานการประชุม Connecting Classrooms Asian Dialogues เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 ณ โรงแรมสุโขทัยเฮอร์ริเทช จังหวัดสุโขทัย ที่จัดในประเทศไทยที่ผ่านมา
  • ศิษย์เก่าโรงเรียนกงไกรลาสวิทยาที่เคยอยู่ในวงมังคละนำเอาท่ารำไปสอนและประยุกต์ต่อยอดให้กับมหาวิทยาลัยลุ่มน้ำปิง จังหวัดตาก
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี ได้พัฒนานำไปเป็นโครงงานการเรียนการสอน
  • ได้จัดทำงานวิจัย เรื่อง มังคละเภรีศรีสุโขทัย รองรับการจัดการเรียนรู้ บูรณาการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การแสดงมังคละ ในระบบการจัดการเรียนรู้ และระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนกงไกรลาสวิทยา ผลการศึกษาปรากฏว่า เด็กที่เข้ารับการฝึกมังคละแล้วจะมีจิตสำนึกที่ดีต่อสถานศึกษาและมีความรักในวัฒนธรรมไทยที่ดีและสวยงามมากขึ้น

การแสดงมังคละของวงมังคละโรงเรียนกงไกรลาศวิทยา แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

1.การแสดงนำขบวนแห่ต่าง ๆ เช่น การแห่ขันหมากในงานแต่งงาน การแห่นาค การบวชนาค ตลอดจนขบวนต่าง ๆ ผู้รำทั้งชายหญิง รำเป็นคู่ ๆ จำนวนคู่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม หรือความต้องการของเจ้าภาพ ตามด้วยนักดนตรีจำนวน 12-15 คน หากเป็นงานที่ไม่เป็นทางการนักชาวบ้านมักจะมาร่วมรำปะปนอยู่กับขบวนผู้รำทั้งชายและหญิง ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

2.การแสดงบนเวที หรือบนพื้นที่ลานกว้าง จะนำเสนอด้วยเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อให้ผู้ชมทราบประวัติความเป็นมาของมังคละ ต่อด้วยการแสดงที่เป็นการดำเนินเรื่องราวตามชื่อหรือวัตถุประสงค์ของงานที่ไปแสดง หรือ เป็นการรำที่นำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ เช่น งานลอยกระทง จะเป็นการรำประกอบเพลง ที่แต่งขึ้นมาสำหรับการงานลอยกระทง ฝ่ายหญิงจะรำออกมาก่อน ต่อมาฝ่ายชายจะรำออกมาขวางหน้า แล้วเกี้ยวพาลาสีกันด้วยท่ารำต่าง ๆ ฝ่ายชายจะตามง้อฝ่ายหญิง เมื่อไม่ได้ผลก็จะแกล้งทำทีใกล้จะหมดความพยายาม แล้วร่ายรำออกไปรวมกลุ่มวางแผนกันใหม่ด้วยการนำกระทงใบตองมาอวดฝ่ายหญิง จนกระทั่งฝ่ายหญิงใจอ่อน อาจจะมอบดอกไม้หรือของอื่น ๆ ให้ ฝ่ายชายก็จะมอบกระทงให้ฝ่ายหญิง แล้วจบด้วยการรำไปลอยกระทงด้วยกัน เป็นต้น ซึ่งการแสดงแต่ละครั้ง วงมังคละโรงเรียนกงไกรลาศวิทยา จะต้องขอข้อมูลเบื้องต้นของงานแต่ละงาน เพื่อให้จัดการแสดงและเตรียมอุปกรณ์สำหรับ ร้อง รำ เล่น เล่าเรื่องตามวัตถุประสงค์ของงานนั้น ๆ ได้ถูกต้อง เช่น งานรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร งานเทศกาลกินปลา หรืองานต้อนรับคณะนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ เป็นต้น

การบริหารจัดการวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมของชุมชน

โดยเฉพาะการแสดงมังคละที่ได้มีส่วนร่วมการวางแผน ร่วมลงมือปฏิบัติ ร่วมตรวจสอบ ร่วมประเมินผล ร่วมแก้ไข ร่วมปรับปรุง และร่วมได้รับผลประโยชน์ ในปัจจุบันสามารถสรุปในแต่ละด้าน ดังนี้ 

1.การวางแผน ของการมีส่วนร่วมในปัจจุบัน จะเน้นการมีส่วนร่วมทุกฝ่ายตั้งแต่ในฝ่ายการปกครองได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯ และฝ่ายท้องถิ่น ได้แก่ นายก อบต. สมาชิก อบต. รวมถึงพ่อเพลง แม่เพลง และสถานศึกษา ตลอดจนนักเรียนผู้สืบทอดได้มีแนวทางการดำเนินงานหรือวางแผนการพัฒนาให้เป็นไปตามความต้องการของชุมชน โดยพยายามให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม รวมถึงเยาวชนที่จะนำมาเป็นผู้ที่สืบทอดให้เป็นระบบและยั่งยืนได้ของการแสดงมังคละ ดังคำกล่าวของลุงเอ เพ็ชรี่ ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวถึง เสา 3 เส้าที่ค้ำยันไม่ให้ล้มในการแสดงมังคละประกอบด้วย 1.สถานศึกษา/ผู้สืบทอด 2.พ่อเพลง แม่เพลง 3.นายก อบต., กำนัน, ผู้นำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

2.การปฏิบัติ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นชุมชน ผู้นำ ครูเพลง สถานศึกษา และเยาวชนผู้สืบทอด ได้ร่วมกันปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อม การแสดง และการทำประชาคมเพื่อให้ทุกหมู่บ้านได้เข้าใจ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รองรับการทำแผนพัฒนาชุมชนในระยะ 3 ปี ของ อบต.กกแรต ซึ่งจะเห็นได้ถึงการให้ความสำคัญของนายก อบต. (นายอำภร รัดเลิศ) ในการที่จะส่งเสริมการละเล่นอย่างจริงจังทั้งในการจัดตั้งงบประมาณ การจัดทำข้อบัญญัติ การติดต่อครูเพลงมาสอนทำการฝึกหัด รวมถึงได้จัดซื้อเครื่องดนตรีมังคละจำนวน 1 วง ปัจจุบันอยู่ที่ อบต.กกแรต โดยให้ทุกส่วนในเขต อบต.กกแรต มีสิทธิขอให้วงมังคละไปร่วมแสดงในงานต่างๆ ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะไปช่วยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากแต่กรณีเดินทางไปร่วมการแสดงในที่ไกล ๆ ก็จะมีค่าเดินทางเพิ่มเติม ซึ่งแต่ละครั้งการจ้างจะอยู่ในเกณฑ์ราคาประมาณ 3,500-4,000 บาท ต่อครั้ง หากราคาแพงกว่านี้ จะไม่ได้รับการว่าจ้าง เนื่องจากมีราคาแพง

3.การตรวจสอบ การตรวจสอบถึงการมีส่วนร่วมของการแสดงมังคละจะยังไม่ค่อยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องมากนัก เนื่องจากการแสดงมังคละยังคงยึดอยู่กับความดั้งเดิม ผลประโยชน์ต่าง ๆ เข้ามายังมีอยู่จำนวนจำกัด 

4.การประเมินผล การประเมินผลของการมีส่วนร่วมของการแสดงมังคละจะอยู่ในภาพของการที่ทุกฝ่ายแนะนำกันเอง เช่น ครูผู้ควบคุมวงหรือนักเรียนจะดูการแสดงของนักเรียนของตนเองว่ามีข้อผิดพลาดแก้ไขประการใด เพื่อนำข้อผิดพลาดมาแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีกในการแสดงครั้งต่อไป 

ส่วนฝ่ายการละเล่นเครื่องดนตรีในแต่ละประเภทก็จะดูแลกันเอง โดยส่วนใหญ่จะมีความชำนาญการเป็นพื้นฐานหรือเล่นเก่งอยู่แล้ว ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจึงมีน้อย เป็นต้น

5.การแก้ไข การแก้ไขถึงการมีส่วนร่วมของการแสดงมังคละ หากจะกล่าวถึงการที่ได้นำการแสดงมังคละแบบประยุกต์หรือพัฒนาการแล้ว เช่น ของโรงเรียนกงไกรลาสวิทยาที่เคยได้รับการสอนจาก ครูเอ เพ็ชรี่ ปราชญ์ชาวบ้านนั้นก็จะมีการประยุกต์นำเนื้อเพลงมาร้องประกอบก่อนหรือระหว่างการบรรเลงเพลงมังคละ ซึ่งเนื้อหาของเพลงก็จะแล้วแต่งานหรือจุดมุ่งหมายของการจัดงานนั้น ๆ นักเรียนผู้เป็นนักร้องนำ จะแก้ไขเนื้อหาที่ครูแต่งเพลงให้ได้เพื่อปรับให้เข้ากับการร้องของตนเอง จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมของเยาวชน 

6.การปรับปรุง การมีส่วนร่วมในการปรับปรุงการแสดงมังคละ ส่วนใหญ่การปรับปรุงมุ่งส่งเสริมที่แก้ไขให้มีการพัฒนาที่ดีขึ้น ในแต่ละครั้ง ซึ่งรวมถึงการปรับปรุง ประยุกต์การแสดงมังคละ หรือการรวมกลุ่มระหว่างผู้สูงอายุกับนักเรียน ที่มีอายุน้อยกว่า เช่นในปี พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมา ได้มีการประยุกต์บูรณาการระหว่าง 2 วง คือ วงมังคละของ อบต.กกแรต กับวงมังคละของโรงเรียนกงไกรลาสวิทยา ในการเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดวงมังคละในเทศกาลลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ชื่อว่า “วงตากับหลาน” ซึ่งผลการประกวดได้รับรางวัลชนะเลิศ รวมถึงการปรับปรุงพัฒนาให้การแสดงมังคละมีเนื้อร้องประกอบการบรรเลงของการแสดงมังคละ ที่ทำให้ผู้ชมการแสดงมังคละมีความเข้าใจในเนื้อหาความเป็นมา หรืองานที่จัดว่ามีกรอบภารกิจอย่างไร โดยฟังจากนักร้องที่ได้ร้องกล่าวถึงงานนั้น ๆ ซึ่งที่สำคัญเป็นเยาวชนที่มีความสามารถอีกแนวทางหนึ่งที่ควรให้การส่งเสริมและสนับสนุน อีกประการหนึ่งการที่ก่อนการแสดงมังคละ ทางโรงเรียนกงไกรลาสวิทยาได้มีกลุ่มเยาวชน นักเรียนที่จะสื่อออกมาเป็นการแสดงละครก่อนการแสดงมังคละในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งการแสดงในแต่ละเรื่องเป็นแนวคิดที่เกิดจากกลุ่มเยาวชนล้วน ๆ ไม่มีคณะครู อาจารย์ เข้าไปบังคับหรือชี้แนะแต่อย่างใด 

7. การได้รับผลประโยชน์ การมีส่วนร่วมในการได้รับผลประโยชน์นั้น หากมุ่งเน้นในเรื่องของรายได้ของการแสดงมังคละแต่ละครั้งก็คงไม่มากนักเหมือนกับการแสดงอย่างอื่น แต่ทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคิดอยู่เสมอถึงความต้องการรักษาอนุรักษ์ความเป็นไทย วัฒนธรรมไทยอันดีและสวยงาม โดยเฉพาะการแสดงมังคละที่เป็นของท้องถิ่นจังหวัดสุโขทัยให้มากที่สุด ทุกคนที่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการแสดงมังคละจะตอบเป็นเสียงเดียวกันหมดคือ การรักษาไว้ซึ่งความเป็นวัฒนธรรมไทย ที่สำคัญเป็นการละเล่นที่เกิดจากจังหวัดสุโขทัย ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า “การรักษาวัฒนธรรม เป็นการรักษาชาติ”

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สภาวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย. (ม.ป.ป.). การแสดงพื้นบ้านจังหวัดสุโขทัย (มังคละ). อัดสำเนา.

สมศักดิ์ ลิขสิทธิ์. (2551). การบริหารจัดการวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมของชุมชนกับการแสดงมังคละ จังหวัดสุโขทัย กรณีศึกษา ตำบลกกแรต อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย. รายงานฉบับวิจัยสมบูรณ์. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย

อบต.กกแรต โทร. 0 5561 1404-5