
ชุมชนของชาวลาวแง้ว เดิมก่อนถูกกวาดต้อนมานั้นเป็นชุมชนใหญ่อยู่ใกล้เขตเมืองเวียงจันทน์เป็นบริเวณชานเมือง มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง เช่น ภาษา การแต่งกาย
สมัยนั้นมีต้น “ทอง” ขนาดใหญ่ต้นหนึ่งอยู่ริมฝั่งน้ำ ต่อมาตลิ่งถูกน้ำกัดเซาะ ต้นทองค่อย ๆ เอนลงมาพาดริมตลิ่งทั้งสองฝั่งเสมือนเป็นสะพานระหว่างชุมชนทั้งสองน้ำมีการสร้างบ้านเรือนมากขึ้นจนเป็นหมู่บ้านใหญ่ เรียกชื่อตามเหตุการณ์ของต้นทองว่า “ทอง”ภายหลังยกระดับเป็น “ตำบลทองเอน”
ชุมชนของชาวลาวแง้ว เดิมก่อนถูกกวาดต้อนมานั้นเป็นชุมชนใหญ่อยู่ใกล้เขตเมืองเวียงจันทน์เป็นบริเวณชานเมือง มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง เช่น ภาษา การแต่งกาย
บ้านทองเอนในตำบลทองเอนในอดีตกว่า 300 ยังมีสภาพเป็นป่า เริ่มแรกราษฎรจากบ้านสิงห์ วัดโพธิ์ศรี บ้านสาธุ และวัดม่วง เข้ามาจับจองถากถางพื้นที่เพื่อทำไร่ทำนา สมัยนั้นมีต้น "ทอง"ขนาดใหญ่ต้นหนึ่ง อยู่ริมฝั่งน้ำ ต่อมาตลิ่งถูกน้ำกัดเซาะ ต้นทองค่อย ๆ เอนลงมาพาดริมตลิ่งทั้งสองฝั่งเสมือนเป็นสะพาน ระหว่างชุมชนทั้งสองน้ำมีการสร้างบ้านเรือนมากขึ้นจนเป็นหมู่บ้านใหญ่ เรียกชื่อตามเหตุการณ์ของ ต้นทองว่า "ทองเอน" ภายหลังยกระดับเป็น "ตำบลทองเอน"
บ้านทองเอนในตำบลทองเอนมีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีหนองน้ำธรรมชาติหลายแห่ง พื้นที่เหมาะแก่การเกษตรกรรม อาชีพหลัก ทำนา ทำสวน ทำไร่ อาชีพเสริม เลี้ยงสัตว์ รับจ้าง มีเขตพื้นที่ที่ติดต่อคือ ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ทิศใต้ติดกับ ตำบลงิ้ว ราย อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรีทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลท่างาม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี มีเส้นทางการเดินทาง โดยใช้ถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) จากกรุงเทพฯ ไปทางนครสวรรค์ ถึงแยกสัญญาณไฟจราจร อำเภออินทร์บุรี ประมาณ หลักกิโลเมตรที่ 160 ทางเข้าตำบลทองเอนอยู่ทางด้านขวามือ
อาชีพที่เป็นเอกลักษณ์ คือ การสานงอบใบลานที่ทำใส่เองเพื่อกันแดดกันฝนในขณะทำงาน (ทำนาทำไร่) บางครั้งใส่เพื่อการเล่น เช่น ฟ้อน รำ เป็นต้น ในอดีตทำงอบกันเกือบทุกหลังคาเรือน แต่ด้วยภาวะที่การประกอบอาชีพทางการเกษตรเปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันจึงเหลือครัวเรือนที่ผลิตงอบใบลานอยู่ประมาณ 10 ครัวเรือน
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
1.การสานงอบ เป็นอาชีพที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวลาวแง้วตำบลทองเอนคือ "การสานงอบใบลาน" งอบ เป็นงานหัตถกรรมในครัวเรือนของชาวลาวแง้วทองเอนทำเองใส่เอง เพื่อกันแดดกันฝน ยามไปทำงาน ทำนา ทำไร่ บางครั้งใส่เพื่อการเล่น เช่น ฟ้อนงอบ เป็นต้น
2.ตะกร้า ฝีมือจากการสานของชาวบ้านที่ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อทำเวลาให้เกิดประโยชน์
3.ปลาร้ารำข้าว ที่หมู่ที่ 3 กลุ่มแม่บ้านได้รวมตัวกันในยามว่างนำปลา มาหมักและผลิตเป็นปลาร้ารำข้าวอันเป็นสูตรโบราณ อันเป็นส่วนหนึ่งการถนอมอาหารจากภูมิปัญญาชาวบ้าน การทำปลาร้ารำข้าว มีส่วนผสม ประกอบด้วย ปลา เกลือสมุทร และรำข้าว ซึ่งในขั้นตอนสุดท้าย ต้องหมักทิ้งไว้ประมาณ ๑๕-๓๐ วัน จึงจะนำมาประกอบอาหารทานได้ ส่วนเมนูอาหารที่ปลาร้านำมาประกอบนั้นสามารถใช้ในอาหารได้เกือบทุกชนิด ขึ้นอยู่กับความชอบและพอใจ โดยอาจจะต้มใส่แกงป่า แกงอ่อม จ่อม น้ำพริก ปลาร้าส้มตำ โดยเฉพาะใส่กับน้ำพริกปลาร้า แล้วจิ้มกับมะเขือเปราะจะแซ่บนัวร์เลยทีเดียว
4.ปลาส้ม การทำปลาส้มจากภูมิปัญญาลาวแง้วตำบลทองเอน มีส่วนประกอบสำคัญจากปลาตะเพียนเกลือ ข้าวสุก และกระเทียม มีขั้นตอนวิธีการทำปลาส้ม โดยเริ่มจากการล้างทำความสะอาดปลา เอาไส้ออกให้หมด ใช้มีดบั้งที่ตัวปลา ผสมเกลือกับน้ำเปล่า คนให้ละลาย นำปลามาแช่ในน้ำเกลือประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรือใช้มือจับดูปลาให้ปลามีลักษณะแข็ง ๆ พอแช่ได้ที่นำมาล้างน้ำเปล่าทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ คลุกกับข้าว กระเทียม นำไปบรรจุลงในถุงพลาสติก ทิ้งไว้ประมาณ 4-5 วัน จนมีรสเปรี้ยว ก็สามารถนำไปทอดก่อนรับประทาน
5.น้ำพริกปลาร้าสับกับน้ำพริกแดงสด กลุ่มสตรีแม่บ้านหมู่ 4 ได้รวมกลุ่มผลิตน้ำพริกปลาร้าสับกับน้ำพริกแดงสดออกท้องตลาดเป็นอาชีพเสริมหารายได้พิเศษ โดยร่วมกันออกแรงผลิตน้ำพริกสู้ชีวิต เพราะสุดทนกับสภาพความแห้งแล้งของหน้านา รับประทานกับมะเขือสด พร้อมกับข้าวหอมมะลิร้อน ๆ รสชาติอร่อย ตั้งร้านขายยามเช้าที่สะพานบริเวณหน้าวัดไผ่ดำและวางจำหน่ายที่ร้านขายของชำน้องตาลหน้าวัดไผ่ดำ ราคาจำหน่าย ทั้งเป็นกล่องและถุง
6.ขนมไทย ๆ แบบทองเอน
- ขนมโบราณ บ้านกลาง หมู่ 2 เส้นทางจากวัดกลาง ไปตลาดดงยางถนนเลียบริมคลอง ชลประทาน ขนมทำเองจากสูตรดั้งเดิม ตั้งแต่ยังรุ่นสาว ที่ต้องตั้งเตาก่อไฟทำขนม ณ บัดนี้ก็ยังคง เอกลักษณ์ขายแบบดั้งเดิม แม้แต่ชื่อของขนมที่นั่ง ๆ ทำขายอยู่ทุกวัน คนยังต้องมาบอกว่าเปลี่ยนชื่อ แล้วนะตามสมัยนิยม ขนมของยายที่ทำขาย เช่น ขนมอีตุย (ชื่อเดิม ) ชื่อใหม่ ซาลาเปาไข่หวาน ขนมไข่เหี้ย (ชื่อเดิม) ชื่อใหม่ ขนมไข่หงษ์ ขนมข้าวเม่า ขนมมันทอด
- ขนมหวานแปรรูปจากพืชผลทางการเกษตร เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2546 โดยสำนักงานเกษตรอำเภออินทร์บุรี ดำเนินการ แปรรูปอาหารจากผลิตผลทางการเกษตร เช่น เผือกฉาบ มันเทศฉาบ กล้วยฉาบ ฟักทอง ถั่วลิสง ลูกเดือย และอื่น ๆ โดยไม่ใช้วัตถุกันเสีย เป็น การถนอมอาหารแบบธรรมชาติแบบดั้งเดิม และได้พัฒนาเป็น "วิสาหกิจชุมชนขนมหวานบ้านทองเอน" ในวันที่ 11 ตุลาคม 2548
อาหารประจำถิ่นได้รับการถ่ายทอดต่อกันมาจากครอบครัว มีรสชาติจัด เผ็ด เปรี้ยว เค็ม นัว อาหารที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ ปลาส้ม ลาบ ก้อย ป่นปลาร้า ลาบมะเขือ ต้มส้มฟัก ปลาเห็ด น้ำพริกผักสดต้ม เป็นต้น ส่วนขนม เช่น ขนมปล้องแขน (ขนมวง) ขนมอึ่งอ่าง ข้าวเหนียวแดง เป็นต้น
การแต่งกาย : ในสมัยก่อนชาวล้าวแง้วผู้สูงวัยมักนุ่งซิ่นใส่เสื้อสีอ่อน ในปัจจุบันจะแต่งกายเหมือนชาวไทยภาคกลาง เว้นแต่ไปงานฉลองหรืองานเทศกาล หญิงจะใส่ผ้าซิ่นคือผ้าทอบ้านไร่ ใส่เสื้อมีแขนสีอ่อนๆ หรือผ้าลูกไม้ มีเครื่องประดับเป็นเครื่องทองหรือเงิน เพิ่มความสง่าด้วยผ้าสไบปักดิ้นทองดิ้นเงิน หรือผ้าฝ้ายทอลาย คาดเข็มขัดทับ ประดับผมด้วยดอกไม้หรือปิ่น หรือสวมงอบ ชายใส่เสื้อคอกลมสีอ่อนๆ แขนสั้นหรือแขนยาว นุ่งโสร่งหรือกางเกงขาก๊วย ทับด้วยเข็มขัดหรือคาดด้วยผ้าขาวม้า และอาจใช้ผ้าขาวม้าอีกผืนหนึ่งคาดผมกันผมปรกหน้าหรือกันแสงแดด
ประเพณี การเล่น การแสดง : ชาวลาวแง้วเป็นคนร่าเริง ชอบสนุกสนานและเล่นรวมกันเป็นกลุ่มในงานวันสำคัญ เทศกาล ตลอดจนงานประเพณีต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ คือ การทำบุญและการแห่ข้าวพันก้อน การทำบุญวันสารท (ที่ทำในวันเพ็ญกลางเดือนสิบ เรียกว่า สารทลาว) ส่วนการเล่นการแสดงที่เป็นอัตลักษณ์และได้ฟื้นฟูขึ้นในปัจจุบันนี้ เช่น การฟ้อนงอบ การฟ้อนเล็บและการเล่นเพลงลาวแง้วไปทุ่ง ซึ่งมีเครื่องดนตรี คือ แคน ระนาด กลอง ฉิ่ง ฉาบ กรับ เป็นหลัก
ตำบลทองเอนมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ได้แก่ วัด ในเขตตำบลทองเอนมี 8 วัด ได้แก่ วัดกษณเวฬุพุทธาราม (วัดไผ่ดำ มิตรภาพที่ 183) วัดกลาง วัดดงยาง วัดเซ่าสิงห์ วัดพระปรางค์สามยอด (วัดใหม่) วัดคลองโพธิ์ศรีวัดล่องกะเบา วัดเชียงราก
พระธาตุวัดกลาง ต้นลีลาวดี 2 ต้น ที่เกิดบนพระธาตุนี้ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า "เห็นมาแต่เด็ก จนแก่ ต้นก็โตได้เพียงเท่านี้ ไม่ใหญ่ขึ้นอีก" นับว่าเป็นเรื่องแปลกแต่ก็อยากเห็นรูปภาพเก่า ๆ ไว้พอเป็นหลักฐานยืนยัน ถ้ามีนักท่องเที่ยวมาชม จะได้พูดได้อย่างเต็มปากอย่างภูมิใจในแหล่งท่องเที่ยวทองเอน
พระธาตุบ้านกลาง ตั้งอยู่บริเวณหมู่ 3 ข้าง ๆ ศาลากลางหมู่บ้านผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังเสมอว่า "จะมีแสงไฟประหลาดพุ่งออกจากพระธาตุเก่านี้แล้วลอยตัวจากพระธาตุนี้ไปยังเจดีย์เก่าของวัดกลาง แล้วก็ลอยต่อไปยังวัดไผ่ดำ" จนเป็นที่เล่าขานของความศักดิ์สิทธิ์ในรูปแบบของอภินิหารเหนือสิ่งอื่นใด ก้อนอิฐ ก้อนหินเหล่านี้ เป็นเสมือนหนึ่งตัวแทนของคนยุคก่อนที่สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ และล้ำค่าให้กับลูกหลานไว้เป็นความทรงจำว่า "มีบรรพบุรุษเคยอยู่ที่นี่ เราพึงรักษาที่นี่ให้คงอยู่ตลอดไป"
พระธาตุบุญอยู่ พ่ออุทัย พรหมสโร ได้แนะนำพระธาตุโบราณที่ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งนาของหมู่ที่ 4 ในพื้นที่นาของคุณตา "บุญอยู่ บุญทัน" จากร่องรอยที่พบ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระธาตุในรูปแบบของเจดีย์ที่คนในอดีตได้ก่อสร้างขึ้นตามความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดถือและจากการสังเกตรอบ ๆ บริเวณเป็นลักษณะดินโพนที่มีขนาดใหญ่ ให้เห็นเป็นร่องรอยของเจดีย์เก่าแก่ มีต้นไม้ปกคลุมให้ความร่มเย็นท่ามกลางแสงแดด และน่าเสียดายพระธาตุโดนนักเลงของเก่ามาขุดหาพระหรือของเก่าไปขาย
ลาวแง้วทองเอนมีแต่ภาษาพูดไม่มีตัวเขียน ลักษณะเสียงจะแปร่งชาวลาวแง้วตำบลทองเอนใช้ภาษาแง้วในการติดต่อกับคนกลุ่มเดียวกัน แต่ถ้าพูดกับคนต่างกลุ่มจะใช้ภาษาไทยกลาง โดยจะสอนลูกหลานให้พูดภาษาลาวแง้ว ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยการที่ต้องติดต่อกับคนต่างกลุ่มมีมาก ลูกหลานได้รับการศึกษามากขึ้น ตลอดจนมีการแต่งงานกับคนไทย มากขึ้นจึงสอนลูกหลานและใช้ภาษาไทยกลางแพร่หลายขึ้น (นงนุช ปุ้งเผ่าพันธุ์ และปราณี บัวพนัส ,สัมภาษณ์, 2558)
นงนุช ปุูงเผ่าพันธุ์. (2554). ลาวแง้วทองเอน. อัดสำเนา.
พนิตสุภา ธรรมประมวล และคณะ. (2561). การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนบนฐานทุนทางวัฒนธรรมลาวแง้ว ตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี. รายงานฉบับวิจัยสมบูรณ์. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม