
ร.5 ธารเสด็จ หลวงพ่อเพชรรวมใจ เกาะพะงัน พระจันทร์สวย น้ำใส หาดทรายขาว ปะการังแพรวพราว เพชรกลางอ่าว เมืองคนดี
สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “หลังงัน” เป็นภาษาถิ่น หมายถึง สันทรายที่โผล่พ้นน้ำเมื่อยามน้ำลง ภายหลังเติมสระ อะ เข้าไปเป็น “พะงัน”
ร.5 ธารเสด็จ หลวงพ่อเพชรรวมใจ เกาะพะงัน พระจันทร์สวย น้ำใส หาดทรายขาว ปะการังแพรวพราว เพชรกลางอ่าว เมืองคนดี
เกาะพะงัน เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ 100 กิโลเมตร มีเกาะย่อยน้อยใหญ่หลายเกาะซึ่งแต่ละเกาะมีความสมบูรณ์ของธรรมชาติทางทะเลและป่าไม้ มีชายหาดสวยงามที่มีชื่อเสียง และมีแหล่งดำน้ำที่สวยงาม เมื่อ พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสเกาะพะงันเป็นครั้งแรก และได้พระราชทานนามน้ำตกบนเกาะพะงันถึงสามแห่ง ได้แก่ น้ำตกธารเสด็จ น้ำตกธารประพาส และน้ำตกประเวศ โดยเฉพาะน้ำตกธารเสด็จ ทรงเป็นที่โปรดปรานพระราชหฤทัย พระองค์เสด็จประพาสถึง 14 ครั้ง (พ.ศ. 2431-2452) ซึ่งก็ได้มีหลักฐานจารึกเป็นพระปรมาภิไธยแบบย่อยบนก้อนหินอยู่ริมน้ำตกจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันเกาะพะงันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวในด้านความงามของธรรมชาติที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ น้ำตก ชายหาด และแหล่งดำน้ำรอบเกาะ (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย, 2559)
สำหรับการสร้างบ้านแปลงเรือนที่เกาะพะงันในช่วงแรกสันนิษฐานว่าอาจเป็นชาวมาเลเซียและชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ก่อน เช่นเดียวกับนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีบางคนที่เชื่อว่าคนกลุ่มแรกที่อพยพไปยังเกาะพะงันคือชาวเลยิปซีที่เป็นมุสลิม (Pygmy, Semung และ Proto-Malay) ที่เดินทางโดยเรือจากคาบสมุทรมลายู ปัจจุบันคนกลุ่มนี้บนเกาะพะงันยังมีอยู่ แต่ไม่กี่คนเท่านั้น ส่วนชาวจีนนั้นเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยตั้งรกรากอยู่แต่เดิม โดยเริ่มแรกว่ากันว่าผู้ที่เข้ามามาอยู่ที่เกาะพะงันนั้นมาเพื่อปลูกและเก็บมะพร้าว ไม่มีโรงเรียน ไม่มีสถานพยาบาล จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จเยือนเกาะพะงัน เมื่อนั้นเองที่เกาะพะงันได้รับการสนับสนุนเปิดโรงเรียนขึ้น รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านการดูแลสุขภาพต่าง ๆ ประชาชนเริ่มมีอาชีพทั้งการค้าขายและการประมง เมื่อเวลาผ่านไปธุรกิจท่องเที่ยวก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจในเกาะพะงัน กระทั่งกลายมาเป็นแหล่งรายได้ของชาวเกาะพะงันนับแต่นั้นเป็นต้นมา
เกาะพะงันเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากเกาะสมุยจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยอยู่ห่างจากเกาะสมุยไปทางทิศเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ 100 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 171.97 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 107,481.25 ไร่ (สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, 2559)
มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดชุมพร
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอเกาะสมุย จังหวัสุราษฎร์ธานี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลอ่าวไทย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอไชยา และอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เกาะพะงันมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาอยู่ตรงกลางเกาะ ทอดตัวจากเหนือจรดใต้ มีที่ราบบริเวณทางทิศตะวันตก ส่วนทางตะวันออกเป็นเทือกเขาจรดทะเล มีพื้นที่ราบและเป็นป่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ชายหาด มีสันทรายและแนวหินปะการังที่เรียกว่า “คันนา” รอบ ๆ เกาะ พื้นที่เป็นหินและดินที่พังทลายได้ง่าย มีภูเขาสูง ได้แก่ เขาไม้งาม เขาตาหลวง เขาไม้แก้ว และมียอดเขาหราที่มีความสูงถึง 636 เมตร ซึ่งสูงที่สุดในหมู่บรรดายอดเขาแถบอ่าวไทย ตั้งอยู่บริเวณกลางเกาะด้านทิศเหนือ แนวเขายาวจรดทิศใต้ นอกจากนี้ยังมีอ่าวเล็กอ่าวน้อยที่เรือสามารถเข้าจอดได้บางฤดู สภาพป่าไม้ยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก แม้ว่าจะมีการบุกรุกเข้าไปถือครองกรรมสิทธิ์เป็นจำนวนมาก
สภาพภูมิอากาศ ของเกาะพะงันมีลักษณะเป็นแบบมรสุมเขตร้อน ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ โดยลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดจากบริเวณทะเลอันดามันบ้างเป็นครั้งคราว แต่เนื่องจากมีแนวเทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขาภูเก็ต และเทือกเขานครศรีธรรมราชในแถบบริเวณจังหวัดระนอง ชุมพร พังงา ภูเก็ต และจังหวัดนครศรีธรรมราชทําหน้าที่เป็นแนวช่วยลดอิทธิพลของลมมรสุมดังกล่าว ดังนั้นเกาะพะงันจึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือปกติจะมีแหล่งกําเนิดจากบริเวณทะเลจีนใต้และอ่าวไทย ทําให้เกาะพะงันได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทย และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากที่พัดมาจากมหาสมุทรอินเดียนอกจากนี้ บริเวณเกาะพะงันยังได้รับอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ สําหรับในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมจะพัดเอาความแห้งมา ทําให้เกาะพะงันมีฤดูกาลที่เด่นชัดเพียง 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน และฤดูฝน
- ฤดูร้อน เริ่มเมื่อลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือสิ้นสุดลง คือ ประมาณเดือนมกราคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม ในระยะนี้เป็นช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วไป โดยอากาศร้อนจัดจะอยู่ในเดือนเมษายน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีอุณหภูมิเฉลี่ย 27.2 องศาเซลเซียส มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดประมาณ 33.7 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 22.8 องศาเซลเซียส
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม โดยช่วงนี้เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย ทําให้มีฝนตกในช่วงนี้ โดยตกชุกที่สุดในช่วงเดือนกันยายนและพฤศจิกายน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีจํานวนวันฝนตกเฉลี่ย 158 วันต่อปี มีปริมาณฝนตลอดปีแปรผันค่อนข้างมากในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉลี่ยจะอยู่ในระหว่างประมาณ 1,229-2,044 มิลลิเมตร และมีความชื้นสัมพัทธ์โดยเฉลี่ยร้อยละ 8
การคมนาคม
การท่องเที่ยวส่งผลให้เกิดการคมนาคมขนส่งที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เนื่องจากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีการเพิ่มเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ ดังนี้
1.การคมนาคมทางบก
1.1 รถประจําทาง ได้แก่ รถตู้ รถสองแถว โดยมีเส้นทางการเดินรถ 4 สาย คือ สายท้องศาลา-บ้านค่าย-หาดริ้น สายท้องศาลา-ธารเสด็จ-ท้องนายปาน สายท้องศาลา-โฉลกหลํา-แม่หาด และสายท้องศาลา-หาดยาว-หาดหลัก
1.2 รถเช่า ในชุมชนเกาะพะงันมีบริการรถเช่าที่หลากหลายกระจายอยู่ทั่วเกาะ ซึ่งมีทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนตร์ มีให้เช่าเป็นรายวัน รายเดือน รองรับนักท่องเที่ยวหลายรูปแบบ
1.3 รถส่วนบุคคล กรณีที่จะนํารถส่วนบุคคลเข้ามายังในชุมชนเกาะพะงัน สามารถนํารถขึ้นเรือเฟอร์รีมายังเกาะพะงันได้
2. การคมนาคมทางน้ำ
2.1 เรือหางยาว จะมีอยู่ในทุก ๆ หาดรอบเกาะ นักท่องเที่ยวนิยมใช้สำหรับเดินทางจากหาดหนึ่งไปยังอีกหาดหนึ่ง หรือนั่งชมวิวรอบเกาะ
2.2 เรือสปีดโบ๊ท มีค่าบริการที่สูงกว่าเรือหางยาวแต่สะดวกกว่าและเร็วกว่า ซึ่งมีทั้งรูปแบบประจําทางและไม่ประจําทาง สามารถเหมาได้
2.3 เรือเฟอร์รี เป็นเรือประจําทางขนาดใหญ่ สามารถนําคนและรถข้ามไปยังอีกเกาะได้ โดยมี 4 เส้นทาง ได้แก่ เกาะพะงัน-เกาะสมุย เกาะพะงัน-ดอนสัก เกาะพะงัน-เกาะเต่า และเกาะพะงัน-เกาะนางยวน
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเกาะพะงันเดิมประกอบอาชีพเป็นเกษตรสวนมะพร้าวและประมงเป็นหลัก แต่เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ และแหล่งธรรมชาติของเกาะพะงันได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาจนกลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม และเริ่มเปลี่ยนจากการทําสวนมาเป็นการประกอบกิจการร้านอาหาร ร้านค้า ร้านซักรีด บังกะโล ธุรกิจขนส่ง โรงแรม และรีสอร์ต ทําให้มีการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐาน มีโรงเรียน โรงพยาบาล เส้นทางถนนเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวได้ส่งผลให้สังคมและเศรษฐกิจของชุมชนเกาะพะงันดีขึ้นจากเดิม มีความหลากหลายทางสังคมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติและแรงงานต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่งผลให้การประกอบอาชีพของประชาชนในเกาะพะงันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่มีเพียงเกษตรกรรมและการประมง เมื่อมีการท่องเที่ยวเกิดขึ้นในเกาะจึงเป็นที่มาของการเกิดอาชีพที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น เกิดธุรกิจค้าขาย บริการด้านสุขภาพ ร้านซักรีด เรือโดยสาร รถโดยสารประจำทาง บริการรถเช่า ร้านอาหาร รวมถึงธุรกิจที่พักต่าง ๆ เช่น โรงแรม รีสอร์ต ที่กระจุกตัวอยู่บริเวณท้องศาลาซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของเกาะพะงัน
เกาะพะงันมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งกิจกรรมการสังสรรในยามค่ำคืน เช่น ฟูลมูนปาร์ตี้บริเวณหาดริ้น เป็นเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดขึ้นในคืนพระจันทร์เต็มดวง เป็นประสบการณ์ที่ตื่นเต้น เร้าใจ และน่าจดจำของเหล่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และถือเป็นไฮไลท์การท่องเที่ยวของเกาะพะงัน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสำหรับคนรักสุขภาพ โยคะ สปาบริเวณบ้านศรีธนู มีกิจกรรมตกหมึก ตกปลาบริเวณโฉลกหลํา มีกิจกรรมให้ชิมอาหารทะเลพื้นบ้าน หาของกินในตลาดบริเวณท้องศาลา รวมถึงกิจกรรมดําน้ำ ขับเจ็ตสกี บานาน่าโบ๊ท เซิร์ฟบอร์ด ขี่จักรยานยนต์รอบเกาะ ปีนเขา ให้อาหารช้าง และเที่ยวอุทยาน เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการด้านการท่องเที่ยวเกาะพะงันมีหลากหลาย เช่น โรงแรม รีสอร์ต บังกะโล ร้านค้า ร้านอาหาร โรงเรียนสอนดำน้ำ ร้านบริการเช่ารถ ครอบคลุมทั่วทั้งเกาะพะงัน แต่ทั้งนี้ สถานประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกาะพะงันจะกระจุกตัวอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวหลักตั้งแต่หาดท้องศาลาไปยังหาดริ้นและบริเวณเลียบชายทะเลเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหาดริ้นซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมฟูลมูนปาร์ตี้ที่จะคึกคักเป็นพิเศษทั้งจำนวนนักท่องท่องเที่ยว และความคึกคักทางเศรษฐกิจ
ในปัจจุบันเกาะพะงันกำลังได้รับความนิยมจากเหล่านักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะมีกิจกรรมฟูลมูนปาร์ตี้อันโด่งดังแล้ว เกาะพะงันยังมีชื่อเสียงในด้านการเป็นสถานที่ดำน้ำยอดนิยม มีทั้งชายหาดที่สวยงาม ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติน้ำตกธารเสด็จที่มีพื้นที่กว่า 41,250 ไร่
อย่างไรก็ดี การขายตัวของเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวได้เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของเกาะพะงันจากภาคการเกษตร (มะพร้าว) ไปเป็นการพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก นอกจากนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวยังทำให้รายได้ของประชาชนในเกาะพะงันดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามรายได้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่กับประชาชนในกลุ่มอาชีพธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจส่วนตัว เช่น โรงงานผลิตน้ำแข็ง โรงงานผลิตน้ำดื่ม ค้าขายเป็นหลัก ส่วนกลุ่มที่ยังประกอบอาชีพภาคการเกษตร (พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ เงาะ ทุเรียน ลองกอง) และเป็นลูกจ้างในภาคการท่องเที่ยวและบริการกลายเป็นผู้มีรายได้น้อย กล่าวคือ การเข้ามาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแม้จะสร้างรายได้และเงินหมุนเวียนมหาศาลแก่เกาะพะงัน ขณะเดียวกันก็เป็นเหตุปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชนในเกาะพะงันเช่นเดียวกัน
การท่องเที่ยวทำให้เกาะพะงันมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา ส่งผลให้เกาะพะงันมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย เกิดการแลกเปลี่ยนวิถีชีวิต ภาษา อาหาร และความเป็นอยู่ระหว่างกัน ทั้งนี้ เกาะพะงันมีประเพณีที่มีชื่อเสียงและเป็นที่สนใจของทั้งนักท่องเที่ยวและชาวเกาะพะงันเอง คือ ประเพณีชักพระทางทะเล เดิมทีนั้นมีการจัดงานอยู่บริเวณอ่าวบ้านใต้ อ่าวบ้านวกตุ่ม และอ่าวท้องศาลา แต่ปัจจุบันเหลือสถานที่จัดเพียงอ่าวท้องศาลาเท่านั้น โดยจัดขึ้นตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นการจำลองเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา เมื่อเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ชาวบ้านจึงแห่แหนกันไปเฝ้ารับเสด็จ โดยในประเพณีชักพระพุทธศาสนิกชนจะพร้อมใจกันอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่วางอยู่เหนือเรือ รถ หรือล้อเลื่อน แล้วทำการชักพระออกจากวัดไปสมโภช ระหว่างการชักพระจะมีการตีโพนไปตลอดทางเพื่อประกาศว่ามีการชักพระแล้ว นอกจากนี้ยังมีการละเล่นพื้นบ้านและมหรสพต่าง ๆ ขบวนเรือพระจะประกอบด้วยเรือพระจากหมู่บ้านต่าง ๆ มีการประกวดเรือพระ ประกวดเทพีชักพระ และประกวดขับร้องเพลงชักพระที่ถือเป็นหนึ่งศาสตร์และศิลป์ที่ชาวเกาะพะงันรับสืบทอดกันมาอย่างช้านาน โดยในคำร้องเพลงชักพระนั้นจะสื่อถึงวิถีชีวิตของของผู้คนบนเกาะพะงัน ประเพณีชักพระทางทะเลจึงเป็นประเพณีที่ชาวเกาะพะงันภาคภูมิใจนับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเกาะพะงัน เช่น
1. หาดริ้น เป็นชายหาดที่ได้ชื่อว่าสวยงามและมีชื่อเสียงที่สุดในเกาะพะงัน ความยาวของหาดประมาณ 2 กิโลเมตร นอกจากเป็นหาดที่สวยงามแล้ว หาดริ้นยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมมาชุมนุมกันอย่างเนืองแน่นในคืนที่พระจันทร์เต็มดวง (ขึ้น 15 ค่ำ) คือ ฟูลมูนปาร์ตี้ (Full Moon Party) ที่สำคัญบริเวณนี้ยังเป็นแหล่งรวมความเจริญที่มีทั้งที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร และบริษัทนำเที่ยวแบบ One Day Trip ต่าง ๆ ด้วย
2. น้ำตกธารเสด็จ เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเกาะพะงัน ชาวเกาะพะงันถือกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีเคยเสด็จประพาสหลายรัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสน้ำตกธารเสด็จรวม 14 ครั้ง ปรากฏตามหลักฐานพระปรมาภิไธยย่อที่ทรงจารึกไว้ที่ก้อนหินบริเวณใกล้ ๆ น้ำตกธารเสด็จ และพลับพลาที่ทรงประทับซึ่งได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมจากกรมศิลปากรให้เห็นเป็นหลักฐาน (สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ม.ป.ป.)
3. หาดท้องนายปาน เป็นหาดยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งบนเกาะพงัน และจัดเป็นชายหาดที่สวยอันดับสองรองจากหาดริ้น
4. หาดสลัด เป็นหาดที่มีตำนานมาจากกลุ่มโจรสลัดกลุ่มหนึ่งที่เคยมาจอดเรือซ่อนอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ จนกลายเป็นที่มาของชื่อหาดสลัด โดยหาดสลัดเป็นหาดที่เงียบสงบ นักท่องเที่ยวไม่เยอะมากนัก
5. อ่าวโฉลกหลำ เป็นที่ตั้งชุมชนประมงที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะพะงัน ขึ้นชื่อเรื่องน้ำทะเลสีสวยใสราวคริสตัล หาดทรายขาวละเอียดและทิวทัศน์ที่สวยงามของสภาพแวดล้อมโดยรอบ และด้วยพื้นที่ของหาด เป็นแนวเว้า มีภูเขาโอบ จึงทำให้ที่นีเป็นจุดที่ช่วยบังลม ของชาวบ้านที่ยังคงทำประมงท้องถิ่น
6. หาดยาว เป็นหนึ่งในหาดที่สวยงามเป็นอันดับต้น ๆ ของเกาะพะงัน
7. จุดชมวิวเขาหรา จุดชมวิวที่อยู่บนยอดเขาที่สูงที่สุดของเกาะพะงันด้วยความสูง 627 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติธารเสด็จ-เกาะพะงัน เส้นทางที่จะขึ้นไปบนจุดชมวิวเขาหราเป็นเส้นทางธรรมชาติเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบเดินป่า มีระยะทาง 3 กิโลเมตร ระหว่างทางจะได้พบกับผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อมาถึงปลายทางจะได้พบกับจุดชมวิวที่มองเห็นวิวได้ทั่วเกาะพะงัน
นอกจากนี้ บนเกาะพะงันยังมีชายหาด เกาะ และอ่าวอื่น ๆ ที่สวยงาม เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวอีกมากมาย เช่น อ่าวหินกอง อ่าวในวก อ่าววกตุ่ม หาดสน และหาดเทียน
กระทรวงมหาดไทย, กรมการพัฒนาชุมชน, สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสราษฎร์ธานี. (2559). ประวัติความเป็นมา. สืบค้น 5 ธันวาคม 2567, จาก https://district.cdd.go.th/kophangan/
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, สำนักอุทยานแห่งชาติ. (ม.ป.ป.). น้ำตกธารเสด็จ - อุทยานแห่งชาติธารเสด็จ – เกาะพะงัน. สืบค้น 5 ธันวาคม 2567, จาก https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=4169
เทศบาลตำบลเกาะพะงัน. (2566). ประวัติเทศบาล. สืบค้น 5 ธันวาคม 2567, จาก https://www.kohphangancity.go.th/front/menu/2/81
เทศบาลตำบลเกาะพะงัน. (ม.ป.ป.). แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเทศบาลตำบลเกาะพะงัน (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๖๔). [เอกสารที่ไม่ได้ตีพิมพ์]. เทศบาลตำบลเกาะพะงัน.
ธนสันต์ ปานแก้ว และ รงค์ บุญสวยขวัญ. (2558). ประเพณีชักพระทางทะเล อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี. วารสารสหวิทยาการวิจัย: ฉบับบัณฑิตศึกษา, 4(3), 114-116.
ปทิดา โมราศิลป์. (2562). การเติบโตของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและปัญหาการกระจายรายได้ในเกาะพะงัน. วารสารวิทยาการจัดการ, 6(2), 331-343.
พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ และคณะ. (2561). ศักยภาพทางการท่องเที่ยวและจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี. (2564). เกาะพะงัน เกาะพะงัน สุราษฎร์ธานี. สืบค้น 5 ธันวาคม 2567, จาก https://sruu2t.sru.ac.th/
วรพนิต สุขสวี. (2564). ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการท่องเที่ยวในบริเวณชุมชนเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี. มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ศูนย์การวางแผนการท่องเที่ยวและการแก้ไขปัญหาความยากจนแห่งเอเชีย. (2549). แนวทางการวางแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (ม.ป.ท.).
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (ม.ป.ป.). หาดริ้น. สืบค้น 5 ธันวาคม 2567, จาก https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/relattraction/content/965/
Bangkok Airways. (2564). สืบค้น 5 ธันวาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid
Mushroomtravel. (2568). ปฏิทิน ฟูลมูน 2025 เกาะพะงัน ปาร์ตี้กันให้มันส์ เที่ยวกันให้เพลิน. สืบค้น 5 ธันวาคม 2567, จาก https://www.mushroomtravel.com/page/full-moon-party-2018/
Phanganist. (ม.ป.ป.). ที่มาและความหมายของเกาะพะงัน. สืบค้น 5 ธันวาคม 2567, จาก https://phanganist.com/
Phanganist. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมาของเกาะพงันแบบย่อ. สืบค้น 5 ธันวาคม 2567, จาก https://phanganist.com/
Trueid. (2566). น้ำตกธารเสด็จ ที่เที่ยวธรรมชาติ สุราษฎร์ธานี น้ำตกขนาดใหญ่ที่สุดบน เกาะพะงัน. สืบค้น 5 ธันวาคม 2567, จาก https://travel.trueid.net/detail/bKvBbOnOpbxK